fbpx
Youth Manifesto: นโยบายเยาวชนใหม่เพื่อการเมืองของคนหนุ่มสาว

Youth Manifesto: นโยบายเยาวชนใหม่เพื่อการเมืองของคนหนุ่มสาว

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

นโยบายเยาวชนของประเทศย่อมเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมองคนหนุ่มสาวของประเทศตนเองอย่างไร”

 

สภายุโรป

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนเป็นความคาดหวังของ ‘ผู้ใหญ่’ ในแทบทุกสังคม นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นอย่างน้อย เยาวชนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกสนใจแต่ตัวเอง แต่ไม่เอาสังคม และไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง ข้อวิจารณ์นี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้นกับคนที่เกิดหลังปี 2000 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับดิจิทัลเทคโนโลยีจนทำให้ดูเผินๆ พวกเขาสนใจและจดจ่ออยู่กับเฉพาะสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าตนเอง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน ฮ่องกง สวีเดน รวมถึงไทย คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่าการเมืองกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ‘คนรุ่นใหม่’ ทั่วโลก ในช่วง 10 ปีหลัง คนอย่างเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักกิจกรรมภูมิอากาศชาวสวีเดน โจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฮ่องกง หรือมะลาละห์ ยูซัฟซัย (Malala Yousafzai) นักกิจกรรมที่เรียกร้องสิทธิสตรีจนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ล้วนแต่มีชื่อติดอยู่ในลิสต์ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและแรงบันดาลใจ ในช่วงอายุที่เราเรียกกันอย่างคุ้นปากว่า ‘วัยรุ่น’

ควบคู่ไปกับปรากฏการณ์ในระดับโลก การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในเมืองไทยก็กำลัง ‘เขย่า’ สังคมอย่างรุนแรง คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า การประกาศเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ (Youth Manifesto) ในครั้งนี้ทำให้งานด้านเด็กและเยาวชนมีความน่าตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทยสมัยใหม่

ในทางทฤษฎี แม้การมีส่วนร่วมทางการเมืองและขับเคลื่อนสังคมของเยาวชนจะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แต่ก็นับเป็นความท้าทายของสังคมด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุด (เด็กและ) เยาวชนถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง (vulnerability) มากกว่าผู้ใหญ่ กิจกรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้มีส่วนสำคัญในการกำหนด (shape) ช่วงชีวิตที่เหลืออย่างมีนัยสำคัญ

คำถามท้าทายสำคัญคือ รัฐและสังคมควรมีวิธีคิดในการจัดการความท้าทายนี้อย่างไร

แน่นอนว่าคำตอบในเรื่องนี้ยังไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ตัวแบบด้านนโยบายเยาวชนที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงมาโดยตลอดคือตัวแบบของสภายุโรป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสภายุโรปให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยถือโอกาสนี้ในการทบทวนและคิดใหม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับนโยบายเยาวชนได้อย่างน่าสนใจ

 

นักเรียนผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ

 

นิยามใหม่ของ ‘เยาวชน’: ช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่การเป็นอิสระ

 

คำถามพื้นฐานที่สุดของงานด้านเยาวชนคือการหานิยามว่า ใครคือเยาวชน?

โดยนิยามที่ยอมรับโดยทั่วกัน เยาวชนหมายถึง “ช่วงอายุระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่” ซึ่งในแต่ละสังคมอาจระบุช่วงอายุที่ชัดเจนแตกต่างกันไป เช่น กฎหมายไทยระบุว่าเยาวชนหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 15 -18 ปี ในขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดช่วงอายุเยาวชนไว้ที่ 15 – 24 ปี ส่วนสหภาพยุโรปกำหนดช่วงอายุไว้ที่ 15 – 29 ปี จุดเด่นของการนิยามเยาวชนโดยใช้ช่วงอายุคือความเข้าใจง่าย มีความยืดหยุ่นพอสมควร (เพราะแต่ละสังคมสามารถกำหนดช่วงอายุได้เอง) และความสะดวกในการนำไปต่อยอดในการทำงานเชิงนโยบาย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเยาวชนศึกษาจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การนิยามโดยใช้ช่วงอายุเป็นนิยามที่ค่อนข้างคับแคบเกินไปและทำให้มองไม่เห็นบทบาททางสังคมที่เป็นไปได้ของเยาวชน Marina Galstyan ผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนศึกษา (Institute for Youth Studies) และนักวิจัยด้านเยาวชนชั้นแนวหน้าของยุโรปเสนอว่า แว่นตาสำคัญในการทำความเข้าใจเยาวชนคือการมองว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่กำลัง ‘เปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่การเป็นอิสระ’ (transition from dependency to independence)

การนิยามเยาวชนโดยใช้การเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่การเป็นอิสระทำให้กรอบคิดในเรื่องการพัฒนาเยาวชนยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้มองเห็นปัจจัยเชิงโครงสร้างและสถาบันต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมเยาวชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดภาวะพึ่งพิงของเยาวชนได้ชัดเจนมากขึ้น มุมมองเช่นนี้ทำให้เห็นในเบื้องต้นว่า เยาวชนที่เติบโตในศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เยาวชนในศตวรรษที่ 20 อยู่ภายใต้เงื่อนไขของครอบครัว ชนชั้น เชื้อชาติ เพศภาพ และกรอบประเพณีที่คับแคบ ล้วนแต่เป็นข้อจำกัดของความเป็นไปได้ในกระบวนการเป็นผู้ใหญ่ (adulthood) แต่ในสังคมปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางสังคม เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้เปิดความเป็นไปได้ให้เยาวชนสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตตัวเองได้อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน อาหาร ไลฟ์สไตล์ รสนิยม ฯลฯ เยาวชนยุคปัจจุบันจึงมีความคุ้นชินกับความเป็นอิสระ ทว่าก็ยังต้องพึ่งพิงครอบครัวและกลุ่มทางสังคม (social group) ในระดับสูง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือสภาวะอึดอัดและคับข้องใจกลายเป็นสภาวะร่วมของ ‘คนรุ่นใหม่’ โดยธรรมชาติ

ดังนั้น แนวคิดพื้นฐานของ Galstyan ในการจัดทำนโยบายด้านเยาวชนคือ การสร้างตัวเร่ง (catalyst) เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่ความเป็นอิสระอย่างราบรื่น

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในฐานะตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นอิสระ

  

Galstyan มองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญของอิสระของเยาวชน กล่าวคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะส่งเสริมให้เยาวชนเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองเร็วขึ้น ในทางกลับกัน หากเยาวชนมีอิสระและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและเรียนรู้การใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

ในทำนองเดียวกัน Rys Farthing นักวิจัยอิสระผู้ร่วมเขียนหนังสือ ‘The Precarious Generation: A political economy of young people’ ก็สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวอย่างแข็งขัน โดยมองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็น ‘เครื่องมือ’ (instrument) ชั้นดีในการพัฒนาเยาวชน เพราะเยาวชนไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้กระบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับสังคมสมัยใหม่เท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะและคุณลักษณะจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองในโลกใหม่ เช่น การเจรจาต่อรอง การใช้ดุลยพินิจเพื่อตัดสินใจ การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ความมั่นใจ ฯลฯ

ควรกล่าวด้วยว่า นอกจากเหตุผลเรื่องการเป็น ‘ตัวเร่ง’ ในการพัฒนาเยาวชนแล้ว การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังมีความชอบธรรมจากเหตุผลอื่นอีก ได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิทธิ์พื้นฐานของเยาวชนอยู่แล้ว ดังนั้น เยาวชนจึงสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้อย่างเต็มที่ 2. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนจะทำให้เสียง ความต้องการ และผลประโยชน์ของพวกเขาถูกมองเห็นมากขึ้นจากเดิมที่มักจะถูกผลักให้อยู่ชายขอบของระบบการเมือง 3. การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนจะทำให้ระบบการเมืองมีประสิทฺธิภาพมากขึ้น เพราะในระบอบประชาธิปไตย การมองเห็นความต้องการและผลประโยชน์ที่หลากหลายของผู้คนย่อมทำให้ระบบการเมืองสามารถพัฒนาการผลิตนโยบายที่ตอบโจทย์

 

เฟมทวิต

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน: แนวโน้มระดับโลก

 

ในเดือนกันยายน 2019 Galstyan ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘Youth Political Participation’ ต่อสหภาพยุโรป โดยเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสังคมการเมืองในระดับโลกส่งผลให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนกำลังเปลี่ยนโฉมไปอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่รูปแบบ เป้าหมาย ความเข้มข้น รวมถึงมีลักษณะเฉพาะใหม่ที่แตกต่างไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองในอดีต ดังนี้

  • เยาวชนมีแนวโน้มจะมีส่วนร่วมกับการเมืองนอกระบบและการเมืองอย่างไม่เป็นทางการมากกว่าการเมืองในระบบ
  • เยาวชนที่ให้ความสนใจการเมืองในพื้นที่เฉพาะ (เช่น โรงเรียน) ท้องถิ่น และระดับภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่มักจะสนใจแต่การเมืองระดับชาติเพียงอย่างเดียว แนวโน้มเช่นนี้ทำให้เยาวชนสามารถตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น
  • การเมืองของเยาวชนทำให้เส้นแบ่งระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์พร่าเลือน และมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบไม่มีช่วงชั้น (non-hierarchic relations) ระหว่างคนในขบวนการด้วย
  • ความพร่าเลือนของโลกออนไลน์และออฟไลน์มีผลทำให้พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะพร่าเลือนตามไปด้วย ในแง่นี้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนจึงมีลักษณะของกระบวนการที่ทำให้การเมืองไม่เป็นทางการ (informalisation of politics) ค่อนข้างมาก
  • เยาวชนมองเห็นข้อจำกัดของประชาธิปไตยในฐานะระบอบการเมืองมากขึ้น และหันมาใช้การศึกษาว่าด้วยความเป็นพลเมือง (civic education) เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจปัญหาทางสังคมการเมือง
  • งานของเยาวชน (youth work) กำลังกลายเป็นสนามใหม่ของการเมืองเชิงนโยบาย เพราะแรงงานที่เป็นเยาวชนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ส่งสารทางการเมืองระหว่างเยาวชนด้วยกันเองมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

แม้จะตระหนักดีว่า ลักษณะของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนยากที่จะระบุแนวโน้มในระยะยาวได้ แต่ Galstyan มองว่า อย่างน้อยที่สุด ลักษณะเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการออกแบบนโยบายเยาวชนใหม่ที่จะมีส่วนช่วยให้เยาวชนสามารถบรรลุศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และสามารถเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่ความเป็นอิสระได้อย่างราบรื่น

 

กลุ่มนักเรียนเลว

 

นโยบายเยาวชนเพื่อการเมืองของคนหนุ่มสาว

 

แม้การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเยาวชน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ทักท้วงว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอาจมิใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะการเมืองไม่ได้มีแต่คุณค่าเชิงบวกอย่างสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และความหลากหลายเท่านั้น แต่สามารถนำไปสู่สิ่งที่ไม่พึงปราถนาได้ เช่น ความสุดขั้ว การเกลียดคนต่างเชื้อชาติ กระทั่งการก่อการร้าย

จริงอยู่ว่า สิ่งที่ไม่พึงปราถนาทางการเมืองข้างต้นอาจช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่ความเป็นอิสระได้เช่นกัน แต่คงยากที่จะพูดว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ราบรื่น พูดให้ถึงที่สุด การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนจำเป็นที่จะต้องถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี

ในปี 2019 สภายุโรป (Council Europe) ได้ปรับปรุงคู่มือในการจัดทำนโยบายเยาวชนใหม่เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เยาวชนที่เกิดขึ้นทั่วยุโรป โดยสภายุโรปยืนยันอย่างหนักแน่นที่จะสนับสนุนนโยบายเยาวชนที่อยู่บน “พื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการสร้างโอกาสให้กับเยาวชน” เพราะเชื่อว่าแนวนโยบายเช่นนี้จะช่วยให้เยาวชนตระหนักถึงความฝันและศักยภาพของตัวเองได้อย่างดีที่สุด

สภายุโรปเชื่อว่า การออกแบบนโยบายเยาวชนไม่ใช่แค่เรื่องของการกำหนดกรอบการใช้ทรัพยากรสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของหลักคิดและกระบวนการในการออกนโยบายด้วย ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย หลักคิดในการออกแบบนโยบายเยาวชนควรรวมถึงความก้าวหน้าทางสังคม (social progress) ความเป็นธรรม ภราดรภาพ และการให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจ (social and economic integration)

ความน่าสนใจอย่างยิ่งของโมเดลที่สภายุโรปนำเสนอคือ การจัดวางน้ำหนักบทบาทของภาครัฐในแบบที่เชื่อใจประชาชน โดยให้น้ำหนักกับการปลดปล่อยมากกว่าการควบคุม (emancipation > regulation) เป็นผู้สนับสนุนมากกว่าผู้ริเริ่ม (reactive > proactive) เน้นการเปิดกว้างมากกว่าปกครอง (open > paternalistic) ควรกล่าวด้วยว่า โมเดลนี้ไม่ได้ปฏิเสธการควบคุม การสอดส่อง การบังคับ และการลงโทษ เพียงแต่ต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวัง

ภายใต้กรอบนี้ Galstyan เสนอแนวนโยบายเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมไว้ 3 ประการ

ประการแรก รัฐจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าการมีส่วนร่วมนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐใช้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนจะต้องออกแบบมาโดยคำนึงถึงรูปแบบและความต้องการเฉพาะของเยาวชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีความหลากหลาย

ประการที่สอง รัฐควรเปลี่ยนแนวคิดจากการเน้นการแก้ปัญหาให้กับเยาวชนมาเป็นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชน (from problem oriented to opportunity focused)

และประการสุดท้าย รัฐจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมในด้านเยาวชนศึกษา เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านจากภาวะพึ่งพิงไปสู่ความเป็นอิสระอย่างลุ่มลึกและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

กล่าวให้ถึงที่สุด หัวใจของแนวนโยบายเยาวชนที่เสนอโดยสภาพยุโรปคือการกลับไปทบทวนมาตรการและแนวปฏิบัติต่างๆ ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น แม้จะมีรายละเอียดในการปรับเปลี่ยน แต่หลายคนก็อด ‘แซะ’ ไม่ได้ว่า ข้อเสนอของสภายุโรปไม่มีอะไรใหม่ เป็นแผ่นเสียงตกร่องที่พูดแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยซ้ำๆ เพียงแต่เอามาประยุกต์ใช้กับนโยบายเยาวชนเท่านั้น

แต่ใช่หรือไม่ว่า การที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาประกาศข้อเรียกร้องทางการเมืองอย่างแหลมคมและทรงพลัง แต่กลับถูกตอบโต้จาก ‘ผู้ใหญ่’ ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าจะในฐานะ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ หรือผู้บริหารบ้านเมือง ที่ใช้อำนาจในการกดปราบ กำราบ โดยปราศจากความเข้าใจ ไม่เพียงแต่ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายเท่านั้น แต่ยังเสียโอกาสในการพัฒนาเยาวชนซึ่งประเมินค่าไม่ได้ด้วย

ในห้วงเวลาที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้ประกาศเจตจำนงอย่างชัดเจนแล้ว คงมีแต่การกลับไปทบทวนคุณค่าพื้นฐานเท่านั้นที่จะทำให้สังคมตั้งหลักและเดินหน้าไปต่อได้

 

คนรุ่นใหม่

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save