fbpx
ร่วมสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งการป้องกัน’ อาวุธสำคัญในยุคดิจิทัลไร้พรมแดน

ร่วมสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งการป้องกัน’ อาวุธสำคัญในยุคดิจิทัลไร้พรมแดน

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

ปัญหา ‘เยาวชนกับภัยทางไซเบอร์’ ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีให้หลัง เพราะขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด เยาวชนที่เติบโตมาก็มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น โลกส่วนใหญ่ของพวกเขาเริ่มย้ายจากออฟไลน์ไปอยู่บนออนไลน์ และการใช้ social media ก็แทบจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่บางคนต้องรีบทำทันทีที่ลืมตาตื่น

เรื่องนี้ มองมุมหนึ่งก็ดูเป็นเรื่องปกติ และเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ถ้าเรามองให้ลึกกว่านั้น เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดสามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ชนิดที่เราอาจคาดไม่ถึง เพราะแม้เยาวชนจะเกิดมาพร้อมกับโลกดิจิทัล แต่พวกเขาอาจยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ และไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมที่มาพร้อมกับอาชญากรไซเบอร์ หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่ง พวกเขาอาจรู้สึกคุ้นเคย ทำให้ไว้เนื้อเชื่อใจโลกออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 2 (ACCPCJ) ได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของการประชุมได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างวัฒนธรรมแห่งการป้องกันในอาเซียนให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในกลุ่ม ‘เยาวชน’ เพื่อจะปกป้องพวกเขาจากภัยทางไซเบอร์

นอกจากความคิดเห็นของผู้ใหญ่แล้ว การประชุมดังกล่าวยังเปิดเวทีการเสวนาเยาวชน (TIJ Youth Forum) คู่ขนานให้กลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในเรื่องนี้ ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น คาดการณ์หน้าตาของโลกไซเบอร์ในปี 2050 รวมถึงหาวิธีป้องกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนพร้อมรับมือภัยทางไซเบอร์ด้วย

 

2nd ACCPCJ The Second ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice TIJ

 

‘สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ชุมชน’ แก่นหลักของวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน

 

“สิ่งที่ผมอยากจะเน้นก็คือ เราอยากให้ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมไปถึงองค์กรต่างๆ มีความร่วมมือกัน เพื่อที่เราจะได้สร้างชุมชนอาเซียนที่มีความยืดหยุ่นได้” Mr. Christoph Sutter หัวหน้าคณะผู้แทนส่วนภูมิภาค คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กล่าวนำในการเสวนาหัวข้อการส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรมด้วยวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและทางสายกลาง (Promoting Prevention through a Culture of Peace and Moderation) พร้อมทั้งเสริมว่า ในทุกวันนี้ ทุกหน่วยงานควรจะมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพราะไม่มีใครที่จะสามารถมีบทบาทนำได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกัน

“เมื่อเราพูดถึง ‘วัฒนธรรมการป้องกัน’ ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับการสนับสนุนเรื่องความพร้อม และการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาเวลาเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ หรือการค้ามนุษย์ เพราะเมื่อมีการสร้างวัฒนธรรมแห่งการป้องกันแล้ว สมาชิกจะมาช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เคารพซึ่งกันและกัน ให้การสนับสนุนและปรึกษา เพื่อนำไปสู่ทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”

“วัฒนธรรมแห่งการป้องกันต้องสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ต้องเป็นแก่นหลักและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ทุกชุมชน เป็นการรับประกันโครงสร้างพื้นฐานและวางโครงสร้างไว้ 3 ระดับ”

Mr. Sutter อธิบายว่า โครงสร้าง 3 ระดับที่ว่า เริ่มตั้งแต่ระดับการป้องกันในเวลานั้น เพื่อลดและป้องกันเกิดการวิกฤตต่างๆ สองคือการป้องกันในระดับโครงสร้าง เพื่อทำให้เกิดทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และโครงสร้างระดับสามคือ การมีอิทธิพลต่อนโยบายการบริหารประเทศ

“ตอนนี้ เรากังวลเรื่องการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ มา ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น เราเห็นการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้ง การโจมตีพวกนี้จะกระทบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ชุมชน ธนาคาร และก่อให้เกิดวิกฤตในแต่ละประเทศด้วย”

ในความคิดของ Mr. Sutter ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ภาครัฐจะรับมือกับศัตรูที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นช่องทางก่อเหตุอย่างไร เพราะโครงสร้างพื้นฐานหลายประการล้วนเชื่อมกับโครงสร้างทางไซเบอร์ด้วย ซึ่งนี่เป็นจุดที่อาชญากรทางไซเบอร์รู้ดีเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นประเด็นท้าทายต่อไปว่าจะป้องกันเรื่องนี้อย่างไร

 

เสริมสร้างการป้องกันด้วย ‘โรงเรียนแห่งความสุข’

 

สำหรับการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการป้องกันในมุมมองของ ดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียน (SOMED) วัฒนธรรมการป้องกันต้องได้รับการสนับสนุนผ่านทางประเด็นด้านการศึกษา การไม่ใช้ความรุนแรง และสันติภาพในสังคม

“ถ้าเรามองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ (SDGs) จะพบว่า ข้อ 16 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหัวข้อของเราที่สุด ทุกคนต้องคำนึงว่า การศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน หลายประเทศก็มีวิชาพลเมืองและจริยธรรม ซึ่งเราจะใช้วิชานี้เป็นการสร้างรากฐานวัฒนธรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้น”

ในฐานะคนที่ทำงานในแวดวงการศึกษา ดุริยาอธิบายว่า เมื่อเราให้โอกาสเด็กได้ฝึกฝนทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง การฝึกฝนจะพัฒนาเป็นพฤติกรรมของเด็กในที่สุด ซึ่งเธอเห็นว่า เราต้องเริ่มสร้างพฤติกรรมที่ดีให้เด็กรุ่นใหม่ตั้งแต่แรกเริ่ม

“ถ้าคุณบอกให้เขาทำโดยไม่ได้ฝึกฝน ทักษะก็จะไม่ถูกบ่มเพาะขึ้นมา เราจึงต้องให้เยาวขนทำกิจกรรมเพื่อจะได้ฝึกฝน ทั้งในและนอกห้องเรียน” 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดุริยายกตัวอย่างโครงการ ‘โรงเรียนสีขาว’ ในประเทศไทย ที่มุ่งให้เยาวชนหลีกเลี่ยงการข้องเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งโรงเรียนก็รู้สึกดีที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ และได้รับการรับรองว่า เป็นโรงเรียนปลอดยาเสพติด

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ โรงเรียนแห่งความสุข (Happy School) ที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (UNESCO) ได้เข้ามาร่วมมือด้วย โดยดุริยาอธิบายว่า มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดว่า ถ้าเด็กมีความสุข เด็กจะอยากอยู่ที่โรงเรียน แต่ถ้าพวกเขาไม่มีความสุข เขาก็จะไม่อยากทำอะไรเลย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ใหญ่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข เพื่อให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อันจะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกันให้เกิดขึ้นได้ในอนาคตต่อไป

 

เริ่มต้นด้วยการสร้าง ‘ความเคารพ’ ซึ่งกันและกัน: กรณีศึกษาจากประเทศลาว

 

“ประชาคมอาเซียนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบให้เกิดความสงบสุขในสังคมเช่นกัน ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องเพิ่มความร่วมมือ โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐบาลอาเซียน รวมถึงขอความร่วมมือจากเอกชนในการสร้างช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย” 

Mr. Soudsakhone Phommachanh รองอธิบดี กระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมของประเทศลาว และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) กล่าวนำ พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ว่า ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความพยายามต่อสู้เรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้ครอบคลุมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นทางออนไลน์และใน social media

“ปัญหาที่เราเจอคือ การใช้ social media แบบผิดๆ ที่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในลาว เราพยายามนำเรื่องระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ควบคุมและตรวจสอบเรื่องนี้”

สำหรับเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทั้งเปราะบางและมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องไซเบอร์และวัฒนธรรมการป้องกัน Mr. Phommachanh มองว่า เราต้องตั้งต้นจากการสร้างให้เยาวชนเคารพซึ่งกันและกันก่อน ซึ่งในประเทศลาวได้ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมให้เยาวชนเคารพกันและกันมากขึ้น รวมถึงให้ข้อมูลผ่านทางการโฆษณาหรือแผ่นพับ เพื่อให้เยาวชนรู้วิธีการใช้ social media ที่ถูกต้อง

 

ร่วมฟังเสียงจากเยาวชน โลกจะเป็นอย่างไรในปี 2050?

 

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การประชุมดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมาร่วมอภิปรายด้วยภายในกิจกรรมคู่ขนาน ‘การเสวนาเยาวชน (TIJ Youth Forum)’ โดยมีเยาวชนจำนวน 19 คนจากทั่วภูมิภาคอาเซียน มาร่วมจับกลุ่มอภิปราย และนำเสนอภาพโลกที่เป็นไปได้ในปี 2050 รวมถึงเสนอแนะวิธีการป้องกันแก้ไขภัยที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งตัวแทนเยาวชนได้กล่าวว่า “พวกเราไม่ได้มาทำนายอนาคต แต่มาร่วมมือกันเพื่อหาว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแย่ๆ ในปี 2050”

 

กลุ่ม A: ทางแพร่งระหว่างความเป็นส่วนตัว (privacy) กับความมั่นคงทางไซเบอร์ (cyber security)

คำถามสำคัญที่เยาวชนกลุ่มแรกได้รับคือ “เราจะทั้งได้รับข้อมูล และปกป้องตัวเองจากอาชญากรรมในปี 2050 ได้อย่างไร?” ซึ่งตัวแทนเยาวชนมองว่า ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลไหลแบบไม่มีข้อจำกัด และข้อมูลต้องมีความเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกัน การที่ข้อมูลเกือบทุกอย่างอยู่บนออนไลน์อาจหมายถึงการเปิดช่องทางให้มีการเจาะข้อมูล เพื่อชิงโอกาสในการเอาเปรียบและหาประโยชน์จากข้อมูลนั้น

“เราพบปัญหาว่า เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปทั่วโลก คนทั่วโลกก็ติดและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เหมือนเวลาเราดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ เราก็โหลดไปโดยไม่ได้อ่านอะไรเลยใช่หรือไม่ ความเสี่ยงคือ เรายอมให้ข้อมูลกับโลกไซเบอร์โดยไม่กังวลอะไร ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์แสวงหาผลประโยชน์จากเราได้”

ทางแก้จากเยาวชนกลุ่มนี้คือ ต้องให้ ‘การศึกษา’ ผ่านทางโครงการต่างๆ ที่กระจายออกไปในสังคม ทางแรกคือทาง social media ซึ่งเยาวชนมองว่า พวกเขาสามารถใช้สื่อ นิตยสาร หรือแม้กระทั่งคอร์สเรียนออนไลน์เพื่อให้ความรู้ได้ หรือถ้าขยับไปในระดับที่กว้างกว่านั้นคือระดับภาครัฐ หากรัฐบาลสามารถส่ง SMS หาประชาชนแต่ละคนโดยตรงได้ในยามจำเป็น ก็อาจจะประยุกต์ตรงนี้มาใช้กับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ได้เช่นเดียวกัน

“ตัวอย่างหนึ่งที่เราประทับใจคือ ในประเทศญี่ปุ่น ภาครัฐจะช่วยตรวจเช็กอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของประชาชนว่าปลอดภัยไหม พวกเขาพยายามจะปกป้องประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ตรงนี้เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก ทำให้เราอยากต่อยอดไปสู่การสร้าง ‘โรงพยาบาลคอมพิวเตอร์’ ที่เราสามารถส่งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ดิจิทัลไปยังโรงพยาบาลเพื่อเช็กสุขภาพด้วย”

อีกหนึ่งประเด็นที่เยาวชนกลุ่มนี้เห็นคือ หากใช้วิธีให้ความรู้โดยการอธิบายข้อมูลข่าวสารต่างๆ คนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้วจะไม่สนใจ พวกเขาจึงเห็นว่า เราควรใช้ช่องทางใหม่ และให้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า อันตรายของไซเบอร์คืออะไร เช่น การส่งอีเมลฟิชชิง (phishing) ไปยังกลุ่มเป้าหมาย และมีทีมงานคอยรับบทบาทเป็นอาชญากรเพื่อคอยล่อลวง ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่า การหลอกลวงให้ไว้เนื้อเชื่อใจกันในไซเบอร์ (cyber grooming) เป็นอย่างไรและมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

แต่ลำพังเพียงการให้การศึกษาอย่างเดียวอาจไม่พอ เยาวชนกลุ่มนี้จึงได้เสนออีกหนึ่งทางแก้คือ การสร้าง ‘GitHub’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้เหล่าผู้ใช้ได้เข้าสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ผ่านทางระบบบริการที่มีความมั่นคง ซึ่งอาจจะให้ภาครัฐหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย

“ปัจจุบัน โลกเราใช้เทคโนโลยีอย่างมาก เราก็ใช้ได้ แต่ต้องตระหนักด้วยว่า ยิ่งเทคโนโลยีไปไกลเท่าไร อาชญากรทางไซเบอร์ก็ยิ่งไปไกลเท่านั้น เราหยุดยั้งการก้าวไปข้างหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้ แต่เราสามารถใช้อย่างฉลาดและปลอดภัยได้” ตัวแทนเยาวชนกลุ่มแรกปิดท้าย

 

2nd ACCPCJ The Second ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice TIJ

 

กลุ่ม B: บทบาทของการศึกษาในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ในปี 2050

สำหรับเยาวชนกลุ่มที่สอง พวกเขาเน้นไปที่เรื่องของ ‘ทรัพยากร’ และ ‘แรงกระตุ้น/แรงจูงใจ’ กล่าวคืออันดับแรก ดูว่าเรามีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญอะไรบ้าง และดูเรื่องแรงจูงใจว่า เยาวชนตั้งใจและมีแรงจูงใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน

“ถ้าเราวาดแผนผังคร่าวๆ เราจะแบ่งเยาวชนออกได้เป็น กลุ่มที่มีทั้งทรัพยากรและแรงจูงใจ กลุ่มที่มีอย่างหนึ่งและขาดอีกอย่างหนึ่ง และกลุ่มที่ไม่มีทั้งสองอย่างเลย ซึ่งกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาชญากรเข้าถึงพวกเขาและขโมยข้อมูลไปได้ สุดท้ายคนที่แพ้ก็คือเยาวชน”

เมื่อมองให้ลึกลงไปกว่านั้น เขาพบว่า บ่อยครั้งที่เยาวชนซึ่งมาจากครอบครัวที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์ได้โดยง่าย กลุ่ม B จึงเสนอทางแก้ไว้หลายแนวทาง ทางแรกคือ การจัดเวิร์กช็อปหรือชั้นเรียนให้สื่อการเรียนการสอนฟรี เปิดให้ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วม โดยอาจจะจัดในรูปแบบคล้ายกับ TED Talk คือมีผู้ดำเนินรายการอยู่ตรงกลาง และมีผู้เข้าร่วมนั่งอยู่รอบๆ เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรมากขึ้น

ทางที่สองคือ การเปิดให้คนในสังคมเข้ามาแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในหลายรูปแบบ ทั้งสารคดี นิทรรศการออนไลน์ หรือในสื่อ social media ต่างๆ เป็นการผลักดันทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ทางกลุ่มได้ยกตัวอย่าง ‘ห้องสมุดมนุษย์’ ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่า คนเรามักรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อเราได้ฟังเรื่องเล่าสักเรื่อง ประสบการณ์ของเราก็จะเชื่อมโยงเราเข้ากับเรื่องนั้น และอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในท้ายที่สุด

ทางสุดท้ายคือ การจำลองสภาพแวดล้อมจริงในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality – VR) โดยเยาวชนกลุ่มนี้มองว่า เทคโนโลยี VR เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน และน่าจะกลายเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีในอนาคต จึงอาจจะมีการจับมือกับสถาบันวิจัยหรือกลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี ทำแพ็กเกจออกมาให้ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้ต่อได้ ซึ่งพวกเขามองว่า “เราจะได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง แต่ไม่มีความเสียหายทางกายภาพเกิดขึ้นจริง เหมือนกับว่าเราได้ประสบการณ์บางอย่าง และจะทำให้เราค่อนข้างมีความรู้สึกแรงกล้ากับประสบการณ์นั้น”

 

กลุ่ม C: บทบาทของ social media ที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์

“ปัจจุบัน เราเห็นคนมาโพสต์ต่อว่าผู้อื่นใน social media หรือแสดงความเกลียดชังเยอะมาก ซึ่งมันค่อนข้างอันตราย เพราะการใช้คอมพิวเตอร์อาจเลยเถิดไปถึงการคุกคามบุคคลทั้งทางกาย จิตใจ เพศ หรือเศรษฐกิจได้ และยังมีปัจจัยเอื้ออีกมาก เช่น การเข้าถึง social media ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะเป็นช่องให้คนที่ไร้เดียงสาในเรื่องนี้โดนโจมตีได้”

“ยิ่งไปกว่านั้น คนเรายังปกปิดตัวตนทางออนไลน์ได้ ทำให้ยิ่งหาตัวคนทำผิดยากเข้าไปอีก ถ้ายังเป็นแบบนี้ ในอนาคต เราจะเห็นการใช้ข้อมูลแบบฮึกเหิมมากขึ้นและควบคุมได้ยากขึ้น”

เยาวชนกลุ่มนี้มองว่า ‘ความรุนแรง’ จะกระจายไปทั่วในปี 2050 คนจำนวนหนึ่งจะตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่มีความอ่อนไหว และรู้สึกแบ่งแยก ถูกกีดกัน ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องให้โอกาสเขาขอความช่วยเหลือ

“เราต้องสร้างสังคมที่มีเอกภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นสังคมที่เราสามารถปกป้องความศรัทธาและความเชื่อของตัวเองเอาไว้ได้ เราไม่อยากเห็นสังคมที่มีความรุนแรง คนเกลียดกัน ด่ากันได้อย่างง่ายดาย นี่จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับเยาวชนรุ่นหลังจากเรา”

เยาวชนกลุ่มนี้ได้เสนอวิธีลดความรุนแรงและความเกลียดชังว่า “เราต้องสนับสนุนให้ทุกคนเข้าใจและมีความคล่องแคล่วในการใช้ดิจิทัล และเข้าใจว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะพูดอะไรก็ได้ เพราะไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงคนอื่น เราต้องให้ทุกคนรู้ว่า social media ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรได้บ้าง และต้องเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย”

ในตอนท้าย ตัวแทนเยาวชนทิ้งท้ายว่า การสร้างสังคมที่ปลอดภัยเป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะอาชญากรรมสามารถเกิดได้ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ในกรณีของโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ social media สามารถเอื้อให้เกิดการก่ออาชญากรรมได้มากขึ้น

“เราควรเริ่มต้นลงมือวันนี้ เพื่อให้อนาคตข้างหน้าออกมาดี ลำพังคนๆ หนึ่งอาจจะช่วยคนทุกคนไม่ได้ แต่เราทุกคนร่วมกันช่วยคนๆ หนึ่งได้”

 

Group Discussion กิจกรรมระดมสมอง 2nd ACCPCJ The Second ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice TIJ

 

กลุ่ม D: การมีส่วนร่วมอย่างมีจริยธรรมของพลเมืองในปี 2050

ในมุมมองของเยาวชนกลุ่มนี้ ‘พลเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างมีจริยธรรม’ หมายถึง คนในทุกภาคส่วนมีจริยธรรม รู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่สามารถส่งผลกระทบต่อสังคมได้ และตัวเขาจะส่งผลกระทบต่อสังคมได้อย่างไรบ้าง

“ตอนนี้ คนในอาเซียนเข้าถึงโลกออนไลน์ได้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพราะยังมีคนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตด้วย เราจึงได้จำลองสถานการณ์ทางสังคมออกมา สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือ อินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ สังคมมีความประนีประนอมกัน ช่วยกันแก้ปัญหาได้ ส่วนสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดี คนที่จะเข้าถึงได้คือคนที่สามารถจ่ายได้ หรือเป็นแบบ zero-sum (ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งเสีย)”

สำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ พวกเขาอยากสร้างความมั่นใจว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทำให้เราเข้าถึงเสรีภาพ และแสดงออกในเรื่องมุมมองหรือความเชื่อได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อสิ่งใด พวกเขามองว่า ควรจะมีกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งกลุ่มจากอาเซียน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นการรวมเอาทุกคนเข้ามาไว้ด้วยกัน และให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญคือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตย่อมนำมาซึ่งโอกาสในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ประชาชนจึงจำเป็นต้องรู้วิธีป้องกันตัวเองด้วย ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้เสนอว่า ให้สร้างเป็นโมเดลที่ยั่งยืน มีการออกแบบตัววัดค่าความสำเร็จ ตรวจตรา ทบทวนผล และเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย 

“การจะให้พลเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีจริยธรรมจะขึ้นอยู่กับแนวทางทางการเมืองโดยรวม เยาวชนในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในปี 2050 เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่สงบสุข ให้สิทธิทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทำงานประสานร่วมกับหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนด้วย ถ้าเราทำได้ตามนี้ ทุกอย่างก็จะยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ตัวแทนเยาวชนปิดท้าย

 

กลุ่ม E: บทบาทของผู้ให้บริการ social media ในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์

สำหรับเยาวชนกลุ่มสุดท้าย โลกในอนาคตอาจเป็นโลกที่ประชาชนถูกจับตาดูอยู่ตลอดเวลา และไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป ข้อมูลในโลกออนไลน์สามารถถูกใช้เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าของข้อมูลได้หมด และหลายๆ คนก็ถูกแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง

“ผู้ชนะในเกมนี้คือผู้ให้บริการ social media เพราะพวกเขามีทั้งอำนาจและกำลัง ส่วนผู้แพ้คือผู้บริโภค ที่มาใช้บริการ social media แต่ก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังโดนละเมิดและถูกนำข้อมูลไปใช้งาน”

เยาวชนกลุ่มนี้คาดการณ์ว่า ในอนาคต เด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่จะมีความคุ้นเคยกับการใช้ social media อยู่แล้ว ทำให้พวกเขายอมให้ข้อมูลได้ง่ายๆ และเป็นช่องให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

“social media เป็นตัวปฏิวัติการรับข้อมูลของเรา ทำให้ข้อมูลมีลักษณะข้ามพรมแดน และประชาชนก็ไม่ได้กังวลเรื่องการให้ข้อมูล ทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหานี้ เราจึงควรเสริมสร้างขุมกำลังให้ผู้บริโภครับมือสถานการณ์เหล่านี้”

การเสริมสร้าง ‘ขุมกำลัง’ ที่ว่ามีหลายประการ ประการแรกคือ การให้การศึกษา เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องไซเบอร์มากขึ้นผ่านการสนับสนุนทางสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการป้องกันด้วย ประการที่สองคือ การให้แรงกระตุ้น ช่วยกันพยุงและร่วมมือกัน ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และประการสุดท้ายคือ ความโปร่งใส ให้มีการออกกฎควบคุมผู้ให้บริการ social media เพื่อป้องกันการเหมารวบ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น

“ในอนาคต คนที่มีข้อมูลอยู่ในมือคือคนที่มีอำนาจ แต่อำนาจไม่ควรถูกใช้ในทางที่ผิด ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกัน และที่สำคัญคือ ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

“สิ่งที่ตรงข้ามกับความรักคือความเกลียดชัง การแบ่งแยก ที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้น คนในสังคมต้องร่วมมือกันเพื่อคอยสอดส่องผู้ให้บริการ social media ด้วย” ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่มสุดท้ายปิดท้าย

 

2nd ACCPCJ The Second ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice TIJ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save