fbpx
ปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเคลื่อนไหว

Youth Activist Toolkit: คู่มือปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเคลื่อนไหวที่มหา’ลัยไม่มีสอน

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Third Eye View ฉบับที่ผ่านมา เราชวนผู้อ่านไปดูสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการประท้วงจากทั่วโลกผ่านนิทรรศการ Disobedient Objects โดยตั้งคำถามกลับมายังบ้านเราว่า ช่วงเวลานี้ที่การประท้วงของเยาวชนมีรูปแบบที่เผ็ดและสร้างสรรค์เป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ เราจะมีแพลตฟอร์มใดช่วยรวบรวมและส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คนที่จะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางสังคมในอนาคตสามารถศึกษาและหยิบนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้ได้

ในฉบับนี้เรายังคงมองปรากฏการณ์การประท้วงในบ้านเราผ่านแว่นของการออกแบบกันต่อ นอกจากรูปแบบการประท้วงที่สร้างสรรค์อันเหมือนเป็นผลผลิตหน้าฉากที่เราได้เขียนไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและแตกต่างจากการเคลื่อนไหวในอดีตที่ผ่านมาคือคน’ – ผู้นำการชุมนุมและทีมงานผู้วางกลยุทธ์ในการประท้วงครั้งนี้ ไม่ใช่วัยกลางคนอย่างที่เราคุ้นเคยในภาพการประท้วงในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นทุกคนล้วนเป็นเด็กและวัยรุ่น

เมื่อถอยออกมามองกว้างกว่าแค่ในบ้านเรา จะพบว่านี่คือช่วงเวลาที่มีแอคทิวิสต์เด็กเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก บ้านเรามี เพนกวินพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ รุ้งปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้ขับเคลื่อนมวลชนเรือนแสนในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา, การประท้วงเล็กๆ เกิดขึ้นตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทั่วประเทศโดยปราศจากแกนนำ, ผู้นำการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกงอย่างโจชัว หว่อง อยู่ในวัยเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหมาดๆ หรือในอีกซีกโลก ผู้นำการต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก มีอายุเพียง 17 ปี

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า เด็กและวัยรุ่นในวันนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงลูก นักเรียน หรือเด็กดีตามกรอบของผู้ใหญ่อีกต่อไป ทุกคนพร้อมที่จะเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นที่ตัวเองให้ความสำคัญ

จากปรากฏการณ์นี้ Advocates for Youth องค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเคียงข้างและเสริมพลังให้เยาวชนที่ต่อสู้เรื่องเพศ สิทธิ และความยุติธรรมในสหรัฐอเมริกาจึงเกิดคำถามว่า เมื่อวิชาการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้มีสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เด็กๆ จะสามารถเรียนรู้เพื่อจะเติบโตไปเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมได้จากแหล่งความรู้ไหน และเราจะเตรียมพร้อมให้เด็กในอนาคตเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ดีได้อย่างไร?

 

ปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเคลื่อนไหว

 

‘Youth Activist Toolkit’ อีบุ๊กที่ผมขอเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่าคู่มือปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเคลื่อนไหวจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้ ด้วยจุดประสงค์ตรงตามชื่อคือการแบ่งปันความรู้และฮาวทูอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า หากเด็กคนหนึ่งอยากลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางสังคม อะไรคือสิ่งที่เขาควรคิดและทำ ตั้งแต่ระดับกลยุทธ์ไปจนถึงลงมือปฏิบัติ

หนังสือออกตัวไว้ตั้งแต่คำนำว่า เนื้อหาในนี้ไม่ได้เป็นทั้งหมดของความรู้ เพราะการสร้างความเปลี่ยนแปลงมีได้ร้อยพันวิธี คู่มือนี้จึงเป็นเพียงการถอดบทเรียนจากสิ่งที่ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในอดีตเคยทำ ให้กลายเป็นชุดเครื่องมือให้เด็กๆ นำไปใช้เพื่อค้นพบเส้นทางของตัวเอง

Youth Activist Toolkit แบ่งขั้นตอนการสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมออกเป็น 6 ขั้นตอนใน 6 บท คือ ริเริ่ม วางกลยุทธ์ ออกแบบการสื่อสาร สร้างพลังกลุ่ม ปล่อยพลัง และ รักษาพลังให้ยั่งยืน

ในบทแรกอย่างริเริ่มคู่มือให้ลองเริ่มต้นด้วยการมองหาสิ่งที่เรียกว่าวิสัยทัศน์หรือ ‘Vision’ โดยหนังสือนิยามว่าวิสัยทัศน์คือโลกที่เราอยากสร้าง’ ผ่านชุดคำถามที่ชวนให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวร่วมกันตอบ ได้แก่

  1. ปัญหาอะไรที่พวกคุณโกรธที่สุด?
  2. มีใครอีกไหมที่ร่วมโกรธกับคุณ?
  3. นึกทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมสำหรับปัญหานี้ออกบ้างมั้ย?
  4. ทางแก้ที่ว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและอิมแพ็กกับชีวิตคนแค่ไหน?

การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้แบ่งปันความโกรธที่แต่ละคนกำลังเผชิญ ยังทำให้ทุกคนมองเห็นปัญหารอบด้าน เพราะแต่ละคนต่างเผชิญกับปัญหาในมิติที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญมันยังช่วยให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวไม่หลุดแทร็กเพราะเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าการเคลื่อนไหวกำลังหลงประเด็น เราสามารถกลับมาย้อนดูวิสัยทัศน์ที่เคยสร้างไว้ร่วมกันได้เสมอ

จากนั้น คู่มือชวนให้ทำความเข้าใจปัญหาที่พวกเราเผชิญอยู่ โดยแนะนำวิธีคิดที่เรียกว่า ‘Root cause tree’ คือมองปัญหาเหมือนกับต้นไม้ความโกรธและปัญหาที่เรากำลังเผชิญเปรียบเหมือนกับใบไม้ที่อยู่ยอดบนสุด ซึ่งใบไม้ไม่สามารถตั้งอยู่เดี่ยวๆ แต่ถูกค้ำไว้ด้วยลำต้นซึ่งหมายถึงกฎหมาย วัฒนธรรม วิถีปฏิบัติของสังคมที่ค้ำจุนให้ปัญหายังคงอยู่ สุดท้ายคือการย้อนกลับไปดูที่รากว่าอะไรคือต้นกำเนิดที่แท้จริงของปัญหาซึ่งบ่อยครั้งเราสามารถเจอรากของปัญหาได้จากการย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์หรือโครงสร้างสังคมในอดีต

Root cause tree

 

การคิดแบบ ‘Root cause tree’ ทำให้เด็กๆ นักเคลื่อนไหวมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ไม่คิดแต่จะพุ่งชนกับปัญหาที่เจออย่างเดียว แต่ย้อนกลับไปแก้ไขที่รากเพื่อให้ปัญหาถูกแก้อย่างยั่งยืน

คู่มือเสนอต่อว่า สิ่งที่นักเคลื่อนไหวต้องทำหลังจากเข้าใจปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งคือการกำหนด ‘demand’ – ความต้องการ หรือพูดอีกอย่างคือข้อเรียกร้องที่อยากจะได้จากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยให้ทิปส์ที่จะช่วยตรวจสอบว่าข้อเรียกร้องของเราแข็งแรงพอหรือไม่ ด้วยสูตร S.M.A.R.T คือ Specific – เฉพาะเจาะจง Measurable – วัดผลได้ Attainable – มีแนวโน้มจะไปถึง Realistic – ตั้งอยู่บนความเป็นจริง และ Timely – อยู่บนกรอบเวลาที่ชัดเจน

หากถามว่าอะไรคือคุณสมบัติของนักเคลื่อนไหวทางสังคม คำตอบแบบไวๆ อาจเป็นใจกล้า พูดน่าฟัง ซื้อใจมวลชนได้ ฯลฯ นั่นอาจเป็นแค่ภาพภายนอกที่ทุกคนเห็น แต่คุณสมบัติภายในที่นักเคลื่อนไหวทุกคนมีเหมือนกันคือ ความคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ ‘Strategic Thinking’ ในบทที่สอง Youth Activist Toolkit เสนอเครื่องมือที่จะทำให้ข้อเรียกร้องบรรลุผลด้วยการวางกลยุทธ์คล้ายกับที่วงการธุรกิจหรือการตลาดทำ Business canvas หรือ Marketing canvas 

 

ความคิดเชิงกลยุทธ์

 

ชุดเครื่องมือในบทนี้คือ Strategy chart ตาราง 5 ช่องที่เหล่านักเคลื่อนไหวต้องร่วมกันเติมให้เต็ม ได้แก่

Demands : ข้อเรียกร้องหรือชัยชนะที่เราอยากให้เกิด

Targets : กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร? โดยแบ่งออกเป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง การชูสามนิ้วและติดโบว์ขาวในโรงเรียนมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นรัฐบาล แต่กลุ่มเป้าหมายรองอาจเป็นครูผู้ใช้อำนาจเผด็จในโรงเรียนก็ได้ ช่องนี้นอกจากจะเขียนเป้าหมายของเราลงไป สิ่งที่ต้องมาพร้อมกันคือความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเรา เข้าใจว่าเขามีความคิด ทัศนคติ และความต้องการอะไร คล้ายกับเวลานักการตลาดต้องเข้าใจคนซื้อสินค้านั่นเอง

Current Resources : เรามีทรัพยากรอะไรในมือ เช่น ข้อมูลที่แน่น คนที่มีความสามารถด้านต่างๆ หรือหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุน และทรัพยากรอะไรที่เราต้องการ เช่น สื่อที่จะช่วยกระจายข่าว หรือทุนสนับสนุน

Potential Supporters : ใครพร้อมจะสนับสนุนเราบ้าง และวิธีการเข้าถึงพวกเขาต้องทำอย่างไร

Tactics : รูปแบบหรือวิธีการเคลื่อนไหวของเรามีอะไรบ้าง

การวางกลยุทธ์นอกจากจะทำให้คนในกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้วยกันรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำต่อไป Strategy chart ยังช่วยตรวจสอบได้ว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีแนวโน้มจะสำเร็จมากน้อยขนาดไหน

หลังจากที่นักเคลื่อนไหววางกลยุทธ์แล้ว คู่มือบทต่อไปว่าด้วยการออกแบบการสื่อสารเพราะการสื่อสารคือวิธีที่เราจะส่งต่อข้อความของเราไปยังผู้คน การสื่อสารที่ดีจะกระตุ้นอารมณ์ร่วม สร้างการจดจำ และยิ่งทำให้ข้อความของเรากระจายไปได้ไกลด้วยการส่งต่อ

ในบทนี้เล่าหลักการที่ช่วยทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นปรับข้อความให้เจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมายของคุณ”  “ดูว่าอะไรคือเรื่องที่ทั้งคุณและผู้ฟังให้คุณค่าร่วมกัน”  “ใช้ป็อปคัลเจอร์ให้เป็นประโยชน์

ข้อหนึ่งที่อ่านแล้วชอบเป็นพิเศษคือจงเชื่อมเรื่องราวของคุณให้เข้ากับบริบทที่กว้างขึ้นเพราะบางครั้งข้อความเดียวอาจไม่โดนใจทุกคน การจั่วหัวด้วยคำว่าการเมืองโต้งๆ อาจทำให้คนบางกลุ่มหันหน้าหนี ฉะนั้นการหาจุดเชื่อมจึงสำคัญ ข้อนี้แคมเปญอย่าง #ให้มันจบที่รุ่นเรา และ #ถ้าการเมืองดี เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทุกคนสามารถเชื่อมโยงได้ว่าปัญหาการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องในสภา แต่ทุกปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะครูตี โดนเหยียดเพศ หรือฟุตบาธแย่ ก็ล้วนเป็นเรื่องการเมืองด้วยกันทั้งนั้น และเรื่องเหล่านี้ควรจบที่รุ่นเรา

หลายครั้งการสื่อสารเรื่องสังคมและการเมืองเต็มไปด้วยข้อมูลหนักๆ แข็งๆ ชวนเบื่อ เรื่องเล่า เรื่องราว หรือศิลปะจึงเป็นเครื่องมือช่วยเปลี่ยนเรื่องชวนเบื่อให้ย่อยง่ายขึ้น โรแมนติกขึ้น กระแทกใจขึ้นได้ 

 

Headache Stencil
Facebook:  Headache Stencil

 

เมื่อได้ข้อความและการสื่อสารที่ทรงพลัง ภารกิจในบทที่สี่คือการสร้างพลังร่วม

เมื่อเราเจอว่าใครคือ ‘Potential Supporters’ หรือมวลชนที่พร้อมสนับสนุนเรา และอยากจะชวนให้คนเหล่านั้นเอาด้วยคู่มือบอกว่าให้ใช้เคล็ดลับเป็นสมการ Anger + Hope = Action

การทำให้มวลชนรู้สึกโกรธปัญหาที่เผชิญอยู่เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาลุกขึ้น จากนั้นทำให้พวกเขารู้สึกถึงความหวังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนมันให้ดีขึ้นได้ ความโกรธและความหวังเป็นอารมณ์ที่ต้องมาคู่กัน เพราะความโกรธอย่างเดียวอาจมีจุดจบที่การฆ่าฟัน และความหวังเพียงอย่างเดียวก็ไม่มีพลังขับเคลื่อนมากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีมวลชนร่วมด้วยก็ต่อเนื่องไปยังบทที่ 5 ว่าด้วยการเคลื่อนไหว โดยเริ่มจากแท็กติกที่การเคลื่อนไหวที่คนนิยมใช้ 12 รูปแบบ วิธีการรบกวนการทำงานของภาครัฐเพื่อการเรียกร้อง ไปจนการลงมือแบบที่ไม่เกิดความรุนแรง ซึ่งรวบรวมความเป็นไปได้มากว่า 198 วิธี !

หากถามว่าบทไหนที่ชอบที่สุด คงเป็นบทสุดท้าย การรักษาพลังให้ยั่งยืน หรือ ‘Sustaining your movement’ ในขณะที่ 5 บทแรกเป็นเรื่อง Hard skills เรื่องทักษะหรือเทคนิค บทสุดท้ายนี้ว่าด้วย Soft skills หรือทักษะด้านสังคมและฐานใจ เนื้อหาในบทนี้เสนอว่า นักเคลื่อนไหวทางสังคมควรดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อฟื้นฟูพลังที่สูญเสียไปจากการต่อสู้ วิธีการเคลียร์ปัญหาใจที่เกิดขึ้นในกลุ่ม ไปจนถึงทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวของเราเติบโตอย่างยั่งยืน

เพราะการเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม อาจไม่ยากเท่าการรักษาพลังของตัวเองไว้ให้ได้ด้วย

‘Youth Activist Toolkit’ ความยาวเพียง 60 หน้านี้ อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่ามันคือชุดเครื่องมือจึงสามารถนำไปประยุกต์กับการเคลื่อนไหวได้หลายระดับ ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตระดับประเทศ การเคลื่อนไหวเล็กๆ ระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือละแวกบ้าน คู่มือนี้ก็สามารถเป็นไกด์ไลน์ให้ได้

ในยุคนี้ที่เด็กทุกคนพร้อมจะเป็นแอคทิวิสต์ เอาเข้าจริงความรู้ชุดนี้ไม่ควรเป็นแค่ทางเลือก แต่ควรมีสอนในวิชาสังคมศึกษาควบคู่ไปกับการสอนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสิ่งที่เด็กได้เรียนในตอนนี้ดูเหมือนจะขาดตอนเราได้เรียนว่าสิทธิของเราคืออะไร แต่ไม่มีสอนว่าหากอยากเรียกร้องสิทธิที่ขาดหายไปเราต้องทำอย่างไร เราไม่เคยได้เรียนรู้ว่าการประท้วงทำอย่างไร ภาพจำที่เด็กมีต่อการประท้วงจึงมีเพียงภาพหน้าฉากที่ดูรุนแรงและน่ากลัว การประท้วงสำหรับเด็กจึงดูเป็นเรื่องต้องห้ามและอย่าหาทำ การมีคู่มือแบบนี้จึงทำให้เด็กเข้าใจว่าการประท้วงคืออะไร ทำอย่างไร และที่สำคัญคือ ทำไมเราต้องประท้วง

ลึกๆ อยากเห็นเหมือนกันว่า ถ้ามีคู่มือปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักเคลื่อนไหวในบริบทแบบบ้านเราที่ต้องดีลกับอำนาจนิยมแบบไทยๆ จะต้องมีเนื้อหาอะไรอยู่ในเล่มบ้าง

***ดาวน์โหลด ‘Youth Activist Toolkit’  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save