fbpx
Just Do It : สุขภาพดีเป็นเรื่องส่วนตัวจริงหรือ?

Just Do It : สุขภาพดีเป็นเรื่องส่วนตัวจริงหรือ?

กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ แต่คุณเชื่อไหมว่า อุตสาหกรรมกีฬาที่ก้าวหน้าถึงขีดสุดอาจทำให้คนเราออกกำลังกายได้ยากขึ้น

 

เราอยู่ในยุคที่กีฬาเฟื่องฟูมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ อุตสาหกรรมกีฬากลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล กีฬาแทบทุกประเภทเข้าถึงผู้ชมได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นักกีฬาระดับโลกกลายเป็นไอดอลที่คนรู้จักมากกว่าดาราฮอลลีวู้ดเสียด้วยซ้ำ

ไม่ต้องแปลกใจ หากมองไปรอบตัวแล้วเราจะรู้สึกว่าคนออกกำลังกายมากขึ้น ซื้ออุปกรณ์กีฬามากขึ้น ดูถ่ายทอดสดกีฬา และคุยกันเรื่องกีฬามากกว่าที่เคยเป็น

แต่ท่ามกลางปรากฏการณ์นี้ มนุษย์เรากลับอ้วนที่สุด นับตั้งแต่มีวิวัฒนาการเป็นมนุษย์มา!

ทำไม?

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความอ้วนเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนไป – ลักษณะการทำงานที่ใช้แรงงานน้อยลง ความรุ่งเรืองของร้านฟาสต์ฟู้ด ทางเลือกในการกินที่น้อยลง ความห่วยของระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่ทำให้การปั่นจักรยานและการเดินเป็นไปไม่ได้ การขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกาย ฯลฯ – เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพูดคุยกันอยู่เรื่อยๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมกีฬานั่นเองที่อาจส่งผลลบต่อการออกกำลังกายของผู้คนได้อย่างคาดไม่ถึง

เดวิด โกลบลัทท์ (David Goldblatt) ผู้เขียนหนังสือ “The Ball Is Round: a Global History of Football” และหนังสือ “The Game of Our Lives” ตั้งข้อชวนคิดว่า ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมกีฬาอยู่ภายใต้ตรรกะการทำงานของตลาดและระบบบริโภคนิยม และไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวกับรัฐเท่าไหร่ เช่น อุตสาหกรรมฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาของชนชั้นล่างมูลค่านับแสนล้านบาทนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มักเป็นเอกชนมากกว่ารัฐ ไม่ว่าจะเป็น สโมสร สถานีโทรทัศน์เอกชน กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ รวมไปถึงนักกีฬา

ตรรกะแบบนี้ซึมลึกลงไปในวิธีคิดของเราแบบไม่รู้ตัว มันทำให้เราคิดว่า ‘ความเก่ง’ ของนักกีฬาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐสักเท่าไหร่ ตำนานของซูเปอร์สตาร์ระดับโลกมักเป็นเรื่องราวของเด็กน้อยผู้มีชีวิตวัยเด็กยากลำบาก เคี่ยวกรำฝึกฝนตัวเอง ใช้ความสามารถผลักดันตัวเองไปสู่จุดสูงสุด กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่เดินตามเส้นทางนี้ และผลิตซ้ำเรื่องราวแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ความรุ่งเรืองของการบริโภคนิยมทางกีฬาก็ตอกย้ำความเชื่อแบบนี้ หากมองลึกๆ แล้ว ม็อตโตสุดเท่อย่าง ‘Just Do It’ หรือ ‘Next Level’ ก็คือการสื่อสารกับปัจเจกบุคคล กระตุ้นให้คนเชื่อมั่นในตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเล่าทำนองนี้มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย แต่บางทีมันอาจไม่ใช่เรื่องปกติ

โกลบลัทท์บอกว่า ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมกีฬาที่มุ่งสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ อย่างล้นเกิน มีส่วนบั่นทอนบทบาทของรัฐในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเล่นกีฬา เพราะเมื่อความสำเร็จเป็นเรื่องปัจเจกเสียแล้ว รัฐก็ไม่เห็นต้องทำอะไรอีกนี่นา

มากไปกว่านั้น ไม่ใช่คนทุกคนที่อยากจะเล่นกีฬาเพื่อก้าวไปสู่ความสุดยอด อันที่จริงคนส่วนใหญ่เล่นกีฬาด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลายกว่านั้น เช่น ความบันเทิง การรวมกลุ่มเพื่อสังสรรค์กับเพื่อน พูดง่ายๆ คือ ‘เล่นเพื่อเล่น’ นั่นเอง แต่การที่อุตสาหกรรมกีฬาครอบงำความเชื่อเกี่ยวกับ ‘เป้าหมาย’ ของการเล่นกีฬากลับมีส่วนทำให้พื้นที่ของการเล่นเพื่อจุดหมายอื่นหดแคบลงไป

โกลบลัทท์อธิบายว่า เหตุผลทั้งสองข้อข้างบน ทำให้สังคมขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านกีฬา พานทำให้คนออกกำลังกายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

ข้อสังเกตของโกลบลัทท์สอดคล้องกับไซมอน คูเปอร์ (Simon Kuper) และสเตฟาน ไซมานสกี (Stefan Szymanski) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘เศรษฐฟุตบอล’ (Soccernomics) อยู่ไม่น้อย ทั้งสองคนเห็นว่า นโยบายของรัฐเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้คนออกกำลังกาย โดยรัฐจะต้องส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มในสังคมมีสิทธิที่จะเล่นกีฬาได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน ชอบเล่นกีฬาประเภทใด และเล่นด้วยจุดประสงค์อะไรก็ตาม

ไซมอน และไซมานสกี อธิบายโดยยกตัวอย่างประเทศสแกนดิเนเวียที่รัฐสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทางด้านกีฬาไว้เป็นอย่างดี ประเทศอย่างฟินแลนด์และนอร์เวย์มีสนามกีฬาหลายๆ แบบไว้ในแทบทุกมุมเมืองและชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเล่นกีฬาที่ตนเองชอบได้ง่าย

นอกจากสนามกีฬาแล้ว อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บของที่ปลอดภัย ห้องน้ำที่สะอาด ที่สำคัญคือ ในทุกสนามกีฬา จะมีผู้ฝึกสอนที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและฝึกสอนผู้มาใช้บริการ โดยผู้เข้ามาใช้สนามรับร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายด้วย แต่ก็เป็นราคาที่ไม่สูงมากนัก

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมทั้งสองประเทศนี้จะอยู่ในลิสต์ประเทศที่คนออกกำลังกายมากที่สุดในโลก ในปี 2010 ฟินแลนด์เป็นชาติที่ออกกำลังกายมากที่สุดในโลก โดยคนฟินนิชออกกำลังโดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมงนิดๆ ต่อวัน ส่วนนอร์เวย์อยู่อันดับสิบ  ด้วยสถิติเกือบ 1 ชั่วโมงต่อวัน (ควรบอกกันไว้สักนิดว่า แม้สถิตินี้ค่อนข้างเก่าสักหน่อย – ปี 2010 แต่ก็เป็นสถิติที่ใช้อ้างอิงกันในปี 2016 นี่เอง)

 

จะว่าไป รัฐไทยก็ ‘ไม่ธรรมดา’ เพราะเรามีการส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังมาสักพักแล้ว

ทุกวันพุธไง!

MOST READ

Life & Culture

31 Mar 2024

ประเทศไทยจะแต่งตัวยังไง? ขายรสนิยมแบบไหน?  คุยกับ ‘กมลนาถ องค์วรรณดี’ ถึง 3 เดือน ในตำแหน่งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น

101 สนทนากับ กมลนาถ องค์วรรณดี ถึงประสบการณ์ 3 เดือนของการทำงานในฐานะคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น และอนาคตของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย

กองบรรณาธิการ

31 Mar 2024

Life & Culture

26 Mar 2024

ไม่ยาก ถ้าอยากเป็น ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ : เข้าใจจักรวาลซื้อขายรูป กับการพยายามอยากเป็น ‘คนอื่น’ บนโลกออนไลน์

101 พาเข้าใจจักรวาลซื้อขายรูป ‘เทสต์ดี’ จักรวาลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนซื้อและขายรูป ‘ชีวิตดีย์’ ทุกรูปแบบ พร้อมชวนตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนสังคมอย่างไร

ชลธิชา ทักษิณาเวศน์

26 Mar 2024

Life & Culture

1 Apr 2024

ซุปเปอร์บอน เนื้อตัวกับหัวใจของนักชกไทยและการ ‘สิ้นสงสัย’ ต่อตัวเอง

กล่าวกันว่ามวยรุ่น 155 ปอนด์ในไทยถือเป็นพิกัดที่ ‘แข็ง’ ที่สุดรุ่นหนึ่ง แง่ที่ว่ามันเป็นน้ำหนักที่เต็มไปด้วยนักกีฬาลำดับต้นๆ ของประเทศ

‘ซุปเปอร์บอน’ คือหนึ่งในผู้เล่นหลักของพิกัดนี้ 101 สนทนากับเขาตั้งแต่วันที่เขา ‘ล้มยักษ์’ ไปจนถึงวันที่เสียเข็มขัดและแมตช์ต่อไปที่กำลังจะมาถึง

พิมพ์ชนก พุกสุข

1 Apr 2024

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save