fbpx
เพราะใฝ่ฝันหรือจำเป็น? เยาวชนไทยกับการเป็นผู้ประกอบการ

เพราะใฝ่ฝันหรือจำเป็น? เยาวชนไทยกับการเป็นผู้ประกอบการ

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“น่าอิจฉาที่คนไทยมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการสูงมาก”

นี่คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในวงการนโยบายของสิงคโปร์บอกผมในงานเลี้ยงเล็กๆ ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชนของสิงคโปร์

หนึ่งในประเด็นที่ถกกันวันนั้นก็คือการที่รัฐบาลสิงคโปร์ อยากสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นอยากจะเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) มากขึ้น แทนที่จะใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการและพนักงานบริษัทข้ามชาติอย่างที่เป็นกันอยู่

ผมฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าจุดนี้ช่างแตกต่างจากเยาวชนไทยที่ผมเคยสัมผัส ที่คุยกับใครก็มักจะได้ว่าเขาอยากทำธุรกิจส่วนตัว แม้คนที่ทำงานบริษัทใหญ่ก็มองว่าเป็นสะพานเพื่อวันนึ่งจะออกมาทำของตนเอง

ไม่นานมานี้ในการสำรวจเยาวชนอายุต่ำกว่า 36 ปีในอาเซียน 40,000 กว่าคน ผ่านทางแพลตฟอร์มการีนา (Garena) และ ช็อปปี้ (Shopee) โดยมีคนไทยถึง 10,000 คน ทีมเราพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนคนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการสูงที่สุดในภูมิภาค อยู่ที่ร้อยละ 36 เทียบกับร้อยละ 25 ในอาเซียน

แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอิจฉาจริงหรือไม่ มันเป็นจุดแข็งหรือความเสี่ยงของประเทศเรากันแน่? ก่อนอื่นเราคงต้องพยายามดูกันว่า ทำไมเยาวชนของเราถึงใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่าประเทศอื่น

จากการศึกษาและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ เหตุผลน่าจะแบ่งได้เป็นสามกลุ่มหลักคือ ความจำเป็น ความเชื่อ และความเป็นอิสระ

 

ความจำเป็น

 

ในการสำรวจของเราพบว่า เหตุผลหนึ่งที่สัดส่วนคนไทยที่อยากเป็นผู้ประกอบการสูงมาก มาจากกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี โดยร้อยละ 42 ของกลุ่มนี้ ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจตนเอง ทิ้งห่างอาชีพอื่นๆ อย่างชัดเจน ในขณะที่ในกลุ่มพวกที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีความต้องการที่ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งอยากเป็นผู้ประกอบการ พนักงานบริษัทต่างประเทศ ภาครัฐ ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า การที่คนเลือกจะเป็นผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งมาจากความจำเป็นเพราะตัวเลือกมีจำกัด มากกว่าความต้องการที่แท้จริงหรือไม่? อาจเป็นไปได้ว่า เขาคิดว่าอาจหางานดีเงินเดือนสูงยากหากไม่ได้จบปริญญาตรี จึงเลือกที่จะไปทำธุรกิจของตนเอง

คำพังเพยที่ว่า ความจำเป็นคือจุดกำเนิดของการประดิษฐ์สิ่งใหม่ (Necessity is the mother of invention) อาจต้องนำมาใช้กับการเป็นผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

 

ความเชื่อ (ที่อาจจะผิด?)

 

อีกความเป็นไปได้ คือคนรุ่นใหม่ของไทยมีภาพของการเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาจประเมินความเสี่ยงของการทำธุรกิจต่ำไป

จากบทสำรวจเยาวชนไทย ส่วนใหญ่ตอบว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการเลือกอาชีพคือความมั่นคงทางรายได้ (42%) ตามมาด้วย work-life balance (30%)

โดยมีส่วนน้อย (17%) ที่ตอบว่าการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ และเพียง 2% ตอบว่าการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งต่ำที่สุดในอาเซียน

ผลการสำรวจส่วนนี้เปิดประเด็นน่าคิดหลายข้อ ประการแรกคือน้อยคนมากที่ตอบว่าอยากทำงานเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งๆ ที่หากไปสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายคน มักจะตอบว่าความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกทำธุรกิจของตนเอง

นอกจากนี้ผลที่ว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางรายได้มากที่สุด ดูจะย้อนแย้งกันกับการที่คนส่วนใหญ่เลือกอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจตนเองที่มีความเสี่ยงทางรายได้สูง

จริงอยู่ว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สามารถนำรายได้มาให้เจ้าของมากมายมหาศาลพร้อมกับชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคม เช่นที่เราเห็นในโลกของสตาร์ทอัพที่สร้างบริษัทยูนิคอร์น (บริษัทมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขึ้นมาได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น อย่าว่าแต่เป็นยูนิคอร์นเลย การศึกษาใน Harvard Business Review (HBR) พบว่า 3 ใน 4 ของสตาร์ทอัพในอเมริกา ที่แม้จะได้รับเงินจากกองทุน venture capital แล้ว ก็มักไม่ประสบความสำเร็จ

จึงอาจต้องถามต่อว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการนั้นเข้าใจถึงความเสี่ยงเหล่านี้ดีพอหรือยัง และพร้อมหรือไม่กับการที่จะเผชิญต่อความล้มเหลวทางธุรกิจที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

หรืออันที่จริงพวกเขาเข้าใจทุกอย่างแล้ว เพียงแต่มีทางเลือกที่จำกัด?

 

ความเป็นอิสระ

 

ข้อสุดท้ายอาจเป็นประเด็นสำคัญที่สุด เยาวชนอาจอยากทำธุรกิจของตนเอง เพราะความเป็นอิสระที่มีหลายมิติ

ความอิสระในมุมที่ทำให้รู้สึกว่า ‘ไม่มีเจ้านาย’ ที่อาจสะท้อนวัฒนธรรมไทยที่อยากเป็น ‘เจ้าคนนายคน’ มากกว่าเป็นลูกน้องใคร

ความอิสระในมิติที่สามารถทดลองไอเดียและแนวทางธุรกิจอย่างที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องติดกรอบหรือให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจให้

ความเป็นอิสระในแง่ความยืดหยุ่นด้านเวลาการทำงาน โดยบางคนที่ตอบว่า work-life balance เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกงาน อาจหมายถึงอยากทำงานที่ตัวเองสามารถบริหารเวลาตนเองได้

นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอาจมีผลส่งเสริมให้การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตนเองนั้นเป็นเรื่องง่ายขึ้น และต้นทุนต่ำลง

จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ขายของบนแพลตฟอร์มอย่างช้อปปี้ (Shopee) พบว่ามีไม่น้อยที่เป็นแม่บ้าน ที่เดิมต้องออกจากตลาดแรงงานไปเลี้ยงดูลูก หรือคนที่ไม่สามารถทำงานประจำได้เพราะต้องดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ยกตัวอย่างผู้ประกอบการคนหนึ่งที่เราได้คุยด้วย เล่าให้ฟังว่า เริ่มธุรกิจจากสมัยยังเป็นแม่บ้าน ลองทำสบู่สำหรับคนผิวแพ้ง่ายเหมือนตนเอง โดยใช้สูตรธรรมชาติ ช่วงแรกก็ขายให้ญาติๆ เพื่อนๆ ที่รู้จักกันเอง ต่อมาลองขายในอีคอมเมิร์ซ และพบว่ามีตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แบบนี้มากกว่าที่ตัวเองเคยคิดไว้ จึงกลายมาเป็นธุรกิจสำคัญของที่บ้านที่แม้แต่สามีก็มาช่วยด้วย

 

เหตุผลของการเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ สำคัญไฉน

 

ในความเป็นจริง ปัจจัยทั้งสามกลุ่มคงมีบทบาทในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ของไทยใฝ่ฝันจะเป็นผู้ประกอบการ แต่การแยกแยะระหว่างแต่ละสาเหตุก็มีความสำคัญ เพราะมันบ่งชี้ถึงโจทย์ที่ไม่เหมือนกันสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน

หากเยาวชนต้องมาเปิดธุรกิจเองด้วยความจำเป็น เพราะไม่สามารถหางานบริษัทหรือในระบบราชการได้ เราคงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสหางานให้ผู้ที่เรียนไม่ถึงปริญญาตรี

หากเหตุผลคือความเชื่อที่ผิด การส่งเสริมให้คนทำสตาร์ทอัพมากขึ้นอาจไม่ใช่ทางที่ถูก แต่ควรเน้นที่คุณภาพ คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสของการทำสตาร์ทอัพ พร้อมกับการเน้นสร้างระบบช่วย ‘ซ่อมและฟื้นฟู’ เพื่อช่วยเจ้าของสตาร์ทอัพที่มีปัญหาหรือล้มเหลวให้สามารถลุกขึ้นใหม่ได้

ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะการสร้างเจ้าของธุรกิจที่มีประสบการณ์ แม้จะเริ่มจากความล้มเหลวนั้น มีส่วนสำคัญในการสร้างธุรกิจที่สำเร็จในอนาคต การศึกษาชิ้นหนึ่งจาก HBR พบว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ (ในแง่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก) มักจะมีเจ้าของที่อายุเฉลี่ย 45 ปี ไม่ได้เด็กอย่างที่หลายคนคิด

สุดท้ายหากเยาวชนไทยเลือกเป็นผู้ประกอบการ เพราะต้องการอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน นายจ้างทั้งหลายที่อยากดึงดูดคนรุ่นใหม่เก่งๆ มาทำงานในองค์กร อาจต้องถามตัวเองว่าเราจะปรับวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร ที่จะให้อิสระทางความคิด ไม่ใช่ต้องพยักหน้าตามนายทุกอย่าง รวมถึงมีความยืดหยุ่นสำหรับพนักงานที่ไม่อยากทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงในออฟฟิศ

สรุปว่าประเทศไทยน่าอิจฉาจริงไหมที่มีคนอยากเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าที่อื่น?

วันนั้นผมตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นด้วยรอยยิ้ม

“จริงครับ คนไทยมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการสูงจริงๆ”

แต่ในใจก็พลางคิดว่า เรื่องนี้อาจเป็นคำบอกใบ้สำคัญที่ชี้ทั้งโอกาสและปัญหา ซึ่งเราไม่ควรประมาทและรีบแก้ไข

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save