fbpx
เจ็บ แต่... “ไม่จบ”

เจ็บ แต่… “ไม่จบ”

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย, อดิศร เด่นสุธรรม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

หลายคนคงคุ้นเคยกับสำนวนไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

แต่เชื่อหรือไม่ว่า วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ภายใต้สำนวนนี้ นอกจากจะทำให้เกิดแผลทางกาย อาจนำมาซึ่งบาดแผลที่ประทับลงในใจของคนที่ถูกตี ความรักความหวังดีอาจบ่มเพาะเป็นปมชีวิตของคนที่คุณรักโดยไม่รู้ตัว

จากผลสำรวจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเด็กและเยาวชน ซึ่งทำการสำรวจประสบการณ์การประสบความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ที่เข้าสู่สถานพินิจฯ 75 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 1,195 คน พบว่าในปี 2560 เด็กและเยาวชนจำนวน 638 คน เคยถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการถูก ตบ ต่อย เฆี่ยน ตี บีบคอ กดน้ำ ใช้มีด หรืออาวุธอื่นๆ

รูปแบบการทำร้ายร่างกายที่พบมากสุดคือการถูกเฆี่ยนตี โดยการกระทำ 64% เกิดขึ้นที่บ้าน และ 37% ผู้กระทำคือพ่อแม่ ที่สำคัญมีเด็กจำนวนถึง 58% ยังเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้ ไม่เล่าให้ใครฟัง

ยังไม่นับการใช้ความรุนแรงประเภทอื่นๆ ทั้งความรุนแรงทางเพศ เช่น การลวนลาม ทำอนาจาร หรือความรุนแรงทางอารมณ์ เช่น การที่พ่อแม่ขู่ว่าจะลงโทษ กระทั่งพูดว่าไม่สนใจหรือรักคนอื่นมากกว่า

101 ขออาสาพาไปสำรวจเรื่องราวของ ‘ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน’ ในมุมที่ลึกลงไป โดยเฉพาะในมุมของผู้ถูกกระทำ ทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ

คำว่า “เจ็บแต่จบ” อาจใช้ได้กับความเจ็บปวดบางกรณี แต่ไม่ใช่กับกรณีต่อไปนี้อย่างแน่นอน

เจ็บ แต่... “ไม่จบ” เจ็บวันนี้ ...ปัญหาทางกายและจิตใจในวันข้างหน้า

1. การกระทำที่ทำให้เกิดความรุนแรง สร้างแผลเป็นทั้งทางร่างกายและทางจิตใจกับเด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง และพวกเขามีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือส่งต่อความรุนแรงไปให้กับผู้อื่นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ความรุนแรงในเด็ก

2. ในปี 2560 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ทำการสำรวจประสบการณ์การประสบความรุนแรงครั้งแรกในเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจฯ 75 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 1,195 คน (มีนาคม-เมษายน 2560) โดยแบ่งนิยามความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนเป็น 3 ประเภท ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention of the Rights of the Child)

1. ความรุนแรงทางร่างกาย

ความรุนแรงในเด็ก ทางร่างกาย

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อาจเป็นจุดริเริ่ม สร้างปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

เด็กและเยาวชน จำนวน 638 คน หรือ 54% เคยถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการถูก ตบ ต่อย เฆี่ยน ตี บีบคอ กดน้ำ ใช้มีด หรืออาวุธอื่นๆ

รูปแบบการทำร้ายร่างกายที่ไม่รุนแรงมาก พบมากสุดคือการถูกเฆี่ยนตี โดยการกระทำ 64% เกิดขึ้นที่บ้าน และ 37% ผู้กระทำคือพ่อแม่

ที่สำคัญมีเด็กจำนวนถึง 58% ยังเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นไว้ ไม่เล่าให้ใครฟัง

2. ความรุนแรงทางเพศ

ความรุนแรงในเด็ก ทางเพศ

ในกลุ่มตัวอย่าง มีเด็กถึง 50 คน เคยถูกลวนลาม และอนาจาร ผู้กระทำมีทั้งคนไม่รู้จัก เพื่อน คนในครอบครัว และผู้อื่น โดยเหตุการณ์ครั้งแรก เหยื่อส่วนใหญ่จะมีอายุ 15-16 ปี และเกิดที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 52%

3. ความรุนแรงทางอารมณ์

ความรุนแรงในเด็ก ทางอารมณ์

“ติเพื่อก่อ” “ชมมากเดี๋ยวเหลิง” คำพูดเหล่านี้อาจสร้างทัศนคติด้านลบต่อเด็กและสังคม

การที่พ่อแม่พูดขู่จะลงโทษ การพูดว่าไม่สนใจหรือรักคนอื่นมากกว่า พูดเปรียบเทียบกับคนอื่น

ไปจนถึงการที่เพื่อนพูดจาดูถูก ล้อเลียน ด่าด้วยคำหยาบ ปล่อยข่าวลือ

สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างบาดแผลให้กับเด็ก ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ ไปจนถึงพัฒนาการทางร่างกายและทางสังคมของเด็ก

และจากกลุ่มตัวอย่างมีเด็กจำนวนถึง 165 คน ส่งต่อความรุนแรงทางอารมณ์ต่อผู้อื่น โดยให้เหตุผลว่าต้องการระบายอารมณ์

3. ความรุนแรงส่งผลต่อสภาพจิตใจ

ความรุนแรงส่งผลต่อสภาพจิตใจ

เด็กและเยาวชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรง บางคนอาจเกิดอาการ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือที่เรียกว่า ภาวะผิดปกติทางจิตใจหลังเหตุการณ์รุนแรง โดยจะมีอาการทั้งระยะสั้นและระยะยาว

อาการ PTSD

อาการ PTSD จะแสดงอาการออกมาเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ (ณ ปี 2560 ที่ทำการสำรวจ) คือ

เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกหลอน

1. เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกหลอน : ผู้ประสบเหตุ นึกถึงหรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลต่ออาการทางร่างกาย เช่น เหงื่อออก หายใจถี่ มีความทุกข์ทรมานจิตใจอย่างรุนแรง และจากการสำรวจพบว่า เด็ก 37.7% ยังมีหวนนึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาซ้ำๆ

คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์

2. คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ หรือมีอารมณ์เฉยชา : ผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงบางคนไม่กล้าไปในสถานที่เกิดเหตุ เพราะเมื่อเห็นสถานที่แล้วจะรู้สึกกระวนกระวาย โดยพบเด็กมีประสบการณ์กับความรุนแรง 31.6% ที่มีอาการเช่นนี้ ขณะที่บางคนอาจอยู่ในสถานที่เกิดเหตุได้ แต่ไร้ความรู้สึก เฉยชา ไม่ร่าเริง

อารมณ์และความคิดเปลี่ยนไปในทางลบ

3. อารมณ์และความคิดเปลี่ยนไปในทางลบ : ผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับทั้งตัวเองและผู้อื่น รู้สึกผิด อับอาย โกรธ โทษตัวเองและผู้อื่น มองทุกอย่างในแง่ร้าย จนบางคนเริ่มมีการทำร้ายตัวเอง โดยพบเด็กที่ประสบกับความรุนแรง 20% ที่เคยคิดโทษตัวเองหรือบุคคลที่สามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตื่นตัวมากเกินไป

4. ตื่นตัวมากเกินไป : ผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงมีปัญหาด้านการนอนหลับ รู้สึกใจสั่น ตกใจง่าย ระแวง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว โดยพบเด็ก 21% นอนหลับยากหรือไม่สนิท และ 20% ระบุว่ามีอาการหงุดหงิดและโกรธง่าย

4. บาดแผลที่ลามไปยังผู้อื่น : เมื่อคนทำผิดก็เคยเป็นเหยื่อมาก่อน

บาดแผลที่ลามไปยังผู้อื่น : เมื่อคนทำผิดก็เคยเป็นเหยื่อมาก่อน

เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ เขาอาจมีอาการก้าวร้าว ชอบรังแกเพื่อน ทำร้ายคู่ครอง มีพฤติกรรมรุนแรงกับลูก ทำให้เกิดการถ่ายทอดพฤติกรรมรุนแรงจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อไป

นอกจากนี้ ปัญหาด้านจิตใจของเด็กก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้สารเสพติด ไปจนถึงการเข้าร่วม หรือกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรม

(ที่มา : รายงานขององค์การยูนิเซฟเรื่อง “การเลี้ยงดูโดยมิชอบต่อเด็ก”)

5. เจ็บ ต้อง… “จบ”

เจ็บ ต้อง... “จบ”

“อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคม”- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีผู้พบเห็นหรือได้ยิน แต่ไม่ได้ยื่นมือเข้าไปช่วย

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะแก้ปัญหาความรุนแรง ด้วยการมองถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีส่วนต่อการกระทำความรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน สภาพแวดล้อม รวมถึงตัวพวกเราเองที่จะต้องไม่เงียบและพร้อมช่วยเหลือหากพบเห็นเหตุการณ์รุนแรง


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save