fbpx
You must stay at home: มองสังคมอังกฤษผ่านมรสุม COVID-19

You must stay at home: มองสังคมอังกฤษผ่านมรสุม COVID-19

ชลิดา หนูหล้า เรื่องและภาพ

 

1

 

วันที่ 14 มีนาคม หรือเกือบหนึ่งสัปดาห์ก่อนเดินทางออกจากสหราชอาณาจักร ผู้เขียนถูกชักชวนให้ดูวิดีโอสั้นๆ ความยาว 16 วินาทีบนอินสตาแกรม ชื่อ ‘The 4 stages of the UK plan for coronavirus’

วิดีโอที่ว่ามีที่มาจากฉากหนึ่งในซิตคอมเสียดสีการเมืองอังกฤษ Yes, Prime Minister ตอน A Victory for Democracy ซึ่งออกอากาศใน ค.ศ. 1986 เป็นฉากตัวละครผู้คร่ำหวอดในการเมืองให้คำแนะนำแก่รุ่นน้องผู้ไม่ประสา

 

ในขั้นแรก… พวกเราจะบอกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก ขั้นที่สอง… พวกเราจะบอกว่า อาจมีบางอย่างเกิดขึ้นนะ แต่ไม่ต้องทำอะไรหรอก ในขั้นที่สาม… พวกเราจะบอกว่า คงต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่มีอะไรที่พวกเราทำได้นี่นา และในขั้นที่สี่… พวกเราจะบอกว่า คงมีบางอย่างที่ควรทำจริงๆ แหละ แต่สายเกินไปแล้วละ[i]

 

YouTube video

 

ผู้เขียนหัวเราะขณะดูวิดีโอนั้น และคิดว่าหลายคนซึ่งกำลังเผชิญมรสุมเดียวกันคงหัวเราะด้วย เพราะมุกตลกที่ว่าช่างเหมาะเจาะแก่สถานการณ์โรคในสหราชอาณาจักรขณะนั้นเหลือเกิน

ครูคนหนึ่งของผู้เขียนบอกว่า มุกตลกคือรูปร่าง (embodiment) ของวัฒนธรรมในสังคมหนึ่งๆ ณ เวลานั้นๆ การจะเข้าใจ (หรือ ‘เก็ต’) เรื่องขำขันเรื่องหนึ่งจนหัวร่องอหายได้ จึงต้องอาศัยทั้งความเข้าใจภาษา ทั้งวัจนและอวัจนภาษา ค่านิยม และบริบททางสังคมซึ่งแวดล้อมเรื่องขำขันนั้น

แล้ววิดีโอสั้นๆ แสนยียวนจากซิตคอมอายุกว่า 30 ปีซึ่งถูกเผยแพร่เพื่อเสียดสีการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน บอกอะไรเกี่ยวกับ ‘สังคมอังกฤษ’ ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้บ้างหนอ?

 

2

 

วิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในสัปดาห์เดียวกันกับที่หนังสือพิมพ์ในสหราชอาณาจักรต่างออกบทความเกี่ยวกับ ‘four stages’ หรือ ‘four phases’[ii] ในแผนการรับมือการระบาดที่ออกโดยรัฐบาลอังกฤษและถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ซึ่งประกอบด้วย การควบคุม (contain) หรือการตรวจจับ เฝ้าระวังและติดตามผู้มีเชื้อ เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อการควบคุมล้มเหลวจึงจะใช้การชะลอ (delay) หรือการชะลอการระบาดในวงกว้างจนกว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ติดตามด้วยการวิจัย (research) เพื่อหาวิธีรักษา และการเยียวยา (mitigate) ผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีจุดประสงค์ให้ผลกระทบของการระบาดต่อสังคมมีความรุนแรงน้อยที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นมาตรการที่จะถูกบังคับใช้เมื่อไม่อาจจำกัดวงหรือชะลอการระบาดนี้ได้แล้ว

เหตุผลที่หนังสือพิมพ์เหล่านั้นออกบทความเกี่ยวกับแผนการนี้ในสัปดาห์เดียวกัน คงเพราะท่าทีของรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม หรือราวหนึ่งเดือนหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในสหราชอาณาจักร (วันที่ 31 มกราคม)[iii] โดยวันที่ 5 มีนาคม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังมีผู้เสียชีวิตรายแรกว่า แม้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในระยะที่หนึ่ง (contain) ของแผนการรับมือ แต่ผู้เชี่ยวชาญได้เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระยะที่สอง (delay) แล้ว ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง หรือวันที่ 12 มีนาคม นายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่าโรงเรียนต่างๆ ‘อาจถูกปิด’ ด้วย[iv]

การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีเป็นทั้งผลสะท้อน และมีผลกระทบโดยตรงต่อความตื่นตัวของชาวอังกฤษต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้เขียนคงไม่อาจพูดได้ว่าเห็นความตระหนกและการรับมือของชาวอังกฤษทุกคน แต่ด้วยการทำงานในร้านอาหารเกือบใจกลางเมืองซึ่งต้องพบผู้คนมากหน้าหลายตา และได้เห็นผลกระทบของความหวาดกลัวต่อยอดจำหน่ายของร้านอย่างชัดเจน จากวันแรกที่มีข่าวการระบาดในอู่ฮั่น ถึงวันที่ 19 มีนาคมซึ่งผู้เขียนเดินทางออกจากสหราชอาณาจักรได้ฉิวเฉียดก่อนการบังคับใช้ประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งบังคับให้ผู้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิมีใบรับรองแพทย์และใบรับรองการเดินทางเพียงหนึ่งวัน[v] ผู้เขียนคิดว่าได้เห็นการเติบโตของความสับสน ความตระหนก และการรับมือการระบาดนี้แล้วพอสมควร

เมื่อแรกข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อนี้มาถึงสหราชอาณาจักร ข่าวนั้นยังเป็นเรื่อง ‘ไกลหูไกลตา’ ไม่ได้รับความสนใจนัก ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานก็ไม่แตกต่างจากชาวอังกฤษส่วนใหญ่ ที่ต่างวิจารณ์การ ‘เปิบพิสดาร’ ในอู่ฮั่นอย่างออกรส และเชื่อว่าการระบาดที่ว่าคงไม่รุนแรงกว่าการระบาดอื่นที่โลกเคยเผชิญในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าการระบาดของโรคซาร์ส เมอร์ส ไข้หวัดหมู และไข้หวัดนก พูดอย่างกระชับคือ พวกเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา 2019 น้อยมาก หรือเกือบไม่มีเลย ขณะนั้น ถนนยังคลาคล่ำด้วยผู้คนทุกสุดสัปดาห์ ฤดูใบไม้ผลิจวนจะมาถึง ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่ง ความคับคั่งนี้จะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

ราวปลายเดือนมกราคมที่กลิ่นความกลัวเริ่มกรุ่น โดยในสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม นักศึกษาต่างชาติซึ่งจะเดินทางมาร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา ระหว่างวันที่ 23-25 มกราคมที่เมืองของผู้เขียน (ยอร์ก) หลายคนประสบปัญหาเที่ยวบินล่าช้า หรือถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานเพื่อตรวจจับเชื้อ แต่ทุกคน (เท่าที่ผู้เขียนรู้) มาถึงและร่วมพิธีได้ในที่สุด ผู้ปกครองของนักศึกษาหลายคนที่ร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาต่างแสดงความกังวลที่บุตรหลานต้องร่วมพิธีกับนักศึกษาชาวจีนจำนวนมาก ใครหนอจะเชื่อว่า เพียง 2 เดือนก่อนประโยค ‘You must stay at home’ เด่นหราบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังเป็นเพียงการระบาดของโรคเฉพาะถิ่น และเป็นปัญหาเฉพาะ ‘ชาติพันธุ์’ เท่านั้น

 

บรรยากาศช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ Kings Square ผู้คนยังออกมารวมตัวในที่สาธารณะ ในภาพ ผู้คนกำลังชมนักแสดงเร่อย่างคึกคัก
บรรยากาศช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ Kings Square ผู้คนยังออกมารวมตัวในที่สาธารณะ ในภาพ ผู้คนกำลังชมนักแสดงเร่อย่างคึกคัก

 

กว่าหลายสัปดาห์ที่สถานการณ์การระบาดค่อนข้างสงบ ไม่มีการตรวจจับที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ไม่มีความซบเซาผิดปกติในเมือง แอลกอฮอล์เจลและสบู่ล้างมือยังไม่ขาดตลาด ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่างหากที่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมาถึง ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานถูกกำชับให้ทำความสะอาดร้านอาหารอย่างพิถีพิถันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ก่อนความตระหนกของผู้คนจะเผยโฉมหลังความตายของผู้โดยสารชาวอังกฤษบนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซส โดยบอริส จอห์นสันกล่าวในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ว่า ขณะนี้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสนใจสูงสุด และประชาชน ‘จงล้างมือ’

ตั้งแต่นั้น ร้านรวงเกือบทุกแห่งในเมืองติดประกาศว่าไม่มีแอลกอฮอล์เจลและแอลกอฮอล์ล้างแผลจำหน่ายแล้ว ขวดสเปรย์เปล่าและขวดเปล่าขนาด 100 มิลลิลิตรหายวับจากชั้น เช่นเดียวกับความคึกคักบนถนนแม้ในคืนสุดสัปดาห์

ในสองสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม หรือหลังนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญได้ ‘เตรียมความพร้อม’ เพื่อเข้าสู่ระยะที่สอง (delay) ถนนจึงเงียบเชียบกระทั่งผู้เขียนและผู้ขับแท็กซี่ในเมืองต้องปรับทุกข์กันระหว่างเดินทางกลับที่พักในคืนวันที่ 6 และ 7 มีนาคม

“รายได้น้อยลงมาก” หนึ่งในนั้นบอกผู้เขียน “ผู้คนกำลังกลัวมาก ฉันคิดว่ากลัวเกินไป”

ไม่รู้ว่าขณะนี้เขายังคิดว่าผู้คนกลัวเกินไปหรือเปล่า

ค่าโดยสารปกติไม่เคยเกิน 6 ปอนด์เศษ ทั้งสองวันผู้เขียนจ่ายค่าโดยสาร 8 ปอนด์ และบอกพวกเขาว่าไม่ต้องทอน หนึ่งในนั้นบอกผู้เขียนว่า ‘เธอใจดีมาก ทั้งที่เรากำลังแย่เหมือนกัน’ แม้ขณะนั้น ผู้เขียนก็ยังไม่รู้ว่านั่นเป็นสัญญาณแรกของความมืดมนทางเศรษฐกิจซึ่งยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด

ล่วงสู่ปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม การตรวจจับเชื้อและคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ท่าอากาศยานนานาชาติก็ยังไม่เข้มงวดนัก หลังความตระหนกและสับสนซึ่งนานกว่า 2 สัปดาห์ ในที่สุด ภาคเอกชนจึงตัดสินใจโดยพลการ ร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่งในเมืองปิดให้บริการชั่วคราว และร้านอาหารที่ผู้เขียนเป็นพนักงานซึ่งมียอดจำหน่ายต่ำลงมากก็ต้องประกาศลดจำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

เมื่อความเครียด ความสับสน และความไม่พอใจของผู้คนสุกงอม ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม มาตรการที่เด็ดขาดกว่าปกติจึงถูกบังคับใช้ โรงเรียนและร้านรวงถูกปิด พร้อมค่าจ้างชดเชย[vi] ก่อนประโยค You must stay at home ถูกกล่าวในวันที่ 23 มีนาคม ส่งผลให้สหราชอาณาจักรเข้าสู่ภาวะ ‘ปิดเมือง’ (lockdown) อย่างเกือบสมบูรณ์

 

บรรยากาศที่ St. Helen's Square เงียบเหงาหลังมาตรการล็อคดาวน์
บรรยากาศที่ St. Helen’s Square เงียบเหงาหลังมาตรการล็อคดาวน์

 

เช่นเดียวกับที่ The Shambles ถนนก็ร้างผู้คน
เช่นเดียวกับที่ The Shambles ถนนก็ร้างผู้คน

 

3

 

เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว สังคมอังกฤษจึงไม่แตกต่างจากสังคมที่พวกเราคุ้นเคยนัก ครั้งหนึ่ง ไวรัสโคโรนา 2019 เป็นทั้งเรื่อง ‘ไกลหูไกลตา’ และเป็นเรื่องของ ‘ผู้อื่น’ ที่คงไม่อาจสร้างผลกระทบรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ใครเล่าจะรู้ว่าฉากอันหดหู่เหมือนกระโดดจากภาพยนตร์หรือนวนิยายแนวดิสโทเปีย (Dystopia) จะเป็นความจริงในเวลาอันสั้น

พวกเราต่างสับสนและหวาดกลัว ในที่สุด ท่ามกลางความอลหม่าน เมื่อคำมั่นของ ‘ผู้มีอำนาจ’ ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่น พวกเราจึงกระเสือกกระสนช่วยเหลือตนเอง กระทั่งมาตรการที่เด็ดขาดกว่ามาถึง และคำมั่นถูกแทนที่ด้วยการ ‘ขอความร่วมมือ’ อย่างไรก็ตาม การขอความร่วมมือนี้เองที่เผยความแตกต่างสำคัญ

ด้านล่างคือป้ายรณรงค์ในสหราชอาณาจักร เพื่อกระตุ้นให้ผู้คน ‘อยู่ที่บ้าน’ โดดเดี่ยวตนเองเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ‘อยู่ที่บ้าน ปกป้องระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) รักษาชีวิต’

 

 

เปรียบเทียบกับป้ายรณรงค์ในไทย

 

 

การโดดเดี่ยวตนเอง จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบต่ออะไรอื่น นอกจาก ‘ชีวิต’ ของผู้คน ‘stay at home’ จึงมีจุดประสงค์หลักเพื่อปกป้องชีวิตของผู้อื่น ของผู้ที่กำลังปกป้องชีวิตเหล่านั้น และของส่วน ‘รวม’ อันหมายถึงชีวิตอันหลากหลายในสังคมเดียวกัน

จากการขอความร่วมมือนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ‘อะไร’ ถูกให้ความสำคัญในสังคมนั้นๆ หรืออย่างน้อยที่สุด คือถูกให้ความสำคัญอย่างเป็นทางการและในวงกว้าง ซึ่งหาก ‘อะไร’ ที่ว่าคือชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และการขอความร่วมมือเพื่อสนับสนุนสิ่งนั้นเป็นการขอความร่วมมือโดย ‘ผู้มีอำนาจ’ ก็แทบไม่ต้องสงสัยว่า ‘อำนาจ’ นั้นเป็นอำนาจของผู้คน เป็นอำนาจที่ผู้คนมอบให้ จึงเป็นอำนาจที่ควรถูกใช้เพื่อผู้คนด้วยนั่นเอง

และในสังคมที่อำนาจเป็นของผู้คนเท่านั้น ที่มุกตลกซึ่งถูกกล่าวถึงเมื่อต้นบทความจะสร้างความบันเทิงแก่ผู้คนได้ แม้ผ่านการท้าทายด้วยเวลากว่า 30 ปี

ในเสียงหัวเราะด้วยวิดีโอความยาว 16 วินาทีนั้น สังคมอังกฤษกำลังแสดงความเชื่อมั่นต่อนักการเมืองและรัฐบาลหรือ — ไม่ พวกเขาเชื่อว่านักการเมืองและรัฐบาลที่ตนเองพอใจจะเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้สถานการณ์หรือ — ไม่ พวกเขาคิดว่าการเมืองระดับประเทศเป็นกีฬาสกปรกที่ไม่ควรข้องเกี่ยวหรือ — ก็ไม่

ในเสียงหัวเราะนั้น การเมืองระดับประเทศไม่ใช่อะไรนอกจากงานชนิดหนึ่งซึ่งว่าด้วยการต่อรองเพื่อรักษาประโยชน์ระหว่างมนุษย์ แม้ไม่สะอาดเอี่ยมหรือหมดจดก็เป็นธุระของมนุษย์ เป็นธุระซึ่งธรรมดา และเป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์ การสามารถหัวเราะแก่ความฉ้อฉลในวิดีโอนั้น จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเชื่อ และการรับรู้ของพวกเขา — ในฐานะมนุษย์เช่นกัน ว่าพวกเขามีอำนาจเหนือความฉ้อฉลนั้น และพวกเขาควบคุมความฉ้อฉลที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้เติบโตเป็นความสิ้นหวังจนหัวเราะไม่ออกได้

คงไม่มีอะไรพิสูจน์ความเชื่อมั่นนี้ได้ดีกว่าปฏิกิริยาของผู้คนต่อประโยค ‘You must stay at home’ ในวันที่ 23 มีนาคม ข้อความของชาวอังกฤษซึ่งตอบกลับทวีตของบอริส จอห์นสันมีหลากหลายจนเกินนับ ทั้งการค่อนแคะว่าคณะรัฐมนตรีตัดสินใจช้าเกินไป การตำหนิว่าบอริสกำลังลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การเรียกร้องข้อปฏิบัติที่ชัดเจน การขอความกระจ่างแก่บางมาตรการ และการชี้แนะว่ามาตรการที่บังคับใช้ยังมีช่องโหว่ใดบ้าง

ระหว่างที่ผู้เขียนร่างบทความฉบับนี้ หลายคำถามซึ่งปะปนในข้อความเหล่านั้นได้รับคำตอบแล้ว โดยในวันที่ 24 มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมพร้อมผู้เชี่ยวชาญได้แถลงข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชนซึ่งออกอากาศโดยสำนักข่าวบีบีซี[vii] พวกเขาตอบคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความแออัดของระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวง การรักษาความสัมพันธ์ของคู่รักที่ไม่อาจแสดงความรักระหว่างมาตรการนี้ (ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตอบว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะทดสอบความแข็งแรงของความสัมพันธ์) กระทั่งคำถามชวน ‘กระอักกระอ่วน’ เช่นคำถามว่าการ ‘ฮั้ว’ กันระหว่างพรรคอนุรักษนิยมและกลุ่มทุน ส่งผลหรือไม่ต่อการดำเนินงานตามปกติของพื้นที่ก่อสร้างหลายแห่ง แม้พนักงานก่อสร้างควรหยุดงานได้เช่นกัน

แน่นอน คำตอบของพวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผู้คนบ้างพอใจ บ้างคิดว่าคำตอบเหล่านั้นยังกำกวมและเรียกร้องข้อปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผู้เขียนไม่รู้และไม่มีคำตอบชัดเจนว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรต่อไป ทว่าตราบที่ผู้คนยังถามไถ่ ค่อนแคะ และเรียกร้องเพื่ออุดช่องโหว่ของมาตรการซึ่งออกโดยผู้มีอำนาจได้ คงมีความหวังที่มาตรการในอนาคตจะมีประสิทธิภาพและเป็นที่พอใจ

จุดเริ่มต้นของการรับรู้ว่าพวกเขาเป็น ‘เจ้าของอำนาจ’ จึงอาจเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี และการถาม-ตอบอย่างเป็นอิสระนี้เอง เมื่อผู้คนสามารถบอกได้ว่าพวกเขาต้องการและไม่ต้องการอะไร ว่าพวกเขาเป็นทุกข์ สับสน และเป็นกังวล กระทั่งโมโหโกรธา เมื่อนั้นเท่านั้นที่พวกเขาจะเชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนั้น สถานที่ซึ่งพวกเขาจะไม่ถูกทอดทิ้งอย่างสมบูรณ์ และไม่ว่าข้อเรียกร้องของตนเองจะได้รับการตอบสนองที่น่าพอใจหรือไม่ ก็จะไม่ถูกเพิกเฉยจนไม่อาจลืมตาอ้าปาก

เมื่อพวกเขาเรียกร้องได้ พวกเขาจึงเป็นเจ้าของอำนาจนั้น และเมื่อพวกเขาเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ความฉ้อฉลในรัฐสภาจึงเป็นเรื่องชวนหัว

ในระยะยาวที่สุด ความไม่สิ้นหวังต่อความหวังว่าจะมีความเป็นอยู่ที่ดีอีกครั้ง หลังควันแห่งความอลหม่านนี้จางในอนาคต คงหล่อเลี้ยงหัวใจได้ดีกว่าความมืดมนและสับสน ที่ไม่ว่าจะตัดพ้ออย่างไร เสียงของตนเองก็ไร้ความหมาย และไม่มีใครรับฟัง

หรือไม่จริง?

 

 

 

 

[i] ตัวอย่างวิดีโอ: The 4 stages of the UK plan for coronavirus

[ii] ตัวอย่างบทความ

[iii] อ้างอิง: Timeline: How the new coronavirus spread

[iv] อ้างอิง: How coronavirus advice from Boris Johnson has changed

[v] อ้างอิง: ไวรัสโคโรนา: ใบรับรองแพทย์สำหรับผู้โดยสารก่อนเข้าไทย สกัดโควิด-19 ได้จริงหรือ

[vi] อ้างอิง: ไวรัสโคโรนา: สหราชอาณาจักรจ่ายคนตกงานสูงสุด 1 แสนบาท/เดือน หลังรัฐสั่งปิดแหล่งพบปะทุกแห่ง

[vii] อ้างอิง: Coronavirus: UK to open temporary hospital with military help

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save