fbpx
You Are How You Eat

You Are How You Eat

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างเกี่ยวกับความเชื่อนี้ นั่นคือ “เราจะเป็นตามสิ่งที่เรากิน” เช่น หากเรากินแฮมเบอร์เกอร์ เราก็จะเป็นแฮมเบอร์เกอร์นั่นเอง – เอ๊ย! ไม่ใช่

 

จริงๆ แล้ว มันหมายความว่า หากเรากินของที่มีไขมันมากๆ อย่างเช่น แฮมเบอร์เกอร์ เราก็จะเป็นคนที่มีไขมันเยอะ และสุดท้ายก็จะกลายเป็นคนอ้วนต่างหากล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง – นอกเหนือจากอาหารที่เราจะกิน – ที่สามารถกำหนดให้เราเป็นอะไรได้ นั่นคือ ‘วิธีการกิน’ ครับ

วิธีการกินในที่นี้ก็หมายถึง ท่วงท่าหรือสไตล์การขยับปากระหว่างการกินอาหารของพวกเรานั่นเอง

 

สไตล์การกินอาหาร 4 ประเภท   

ในปี 2013 นักวิจัยด้านโภชนาการจากบริษัท Ingredion บริษัทด้านอาหารชั้นนำระดับโลก ออกมาพูดว่าวิธีการกินอาหารมีความสำคัญมากๆ พอกับอาหารที่เราเลือกกินเลยทีเดียว

พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ วิธีการกินอาหาร สามารถบอกได้ว่า ในระหว่างมื้ออาหาร พวกเราจะมีความรู้สึกอาหารที่เรากินอย่างไร เป็นต้นว่า อาหารที่เรากินอยู่นั้นจะมีรสชาติอย่างไร หยาบหรือละเอียด หรือแม้กระทั่งระดับความพอใจจากอาหารในมื้อนั้น และเหนือสิ่งอื่นใด วิธีการกินอาหารยังสามารถบอกได้ว่า เราจะมีแนวโน้มเลือกซื้อและกินอาหารแบบไหนได้อีกด้วย

อะไรจะขนาดนั้นนะครับ

อย่างไรก็ดี นักวิจัยจำแนกสไตล์การกินอาหารของมนุษย์โดยทั่วไปเป็น 4 ประเภท ดังนี้

พวกกินแหลก (Crunchers) – พวกนี้จะเป็นมนุษย์ที่เวลากินอาหาร ก็สามารถกินได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าอาหารจะเป็นอะไร พวกเขาสามารถจัดการมันได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น พวกกินแหลกจึงกินอาหารแบบมูมมาม ขยับกามเพื่อฉีกเนื้ออาหารอย่างรุนแรง และเสียงดัง แต่ไม่เน้นเคี้ยวอย่างละเอียด โดยปกติ พวกนี้จะสามารถจัดการกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า ชนิดที่เรียกว่าไม่ถึง 10 นาทีก็หมดแล้ว

พวกเคี้ยวพอดีปากพอดีคำ (Chewers) – พวกจะเน้นจะกินอาหาร อาจจะเรียกว่ามีความเร่งปกติ กล่าวคือ สามารถเคี้ยวได้แบบนานๆ หรือสั้นๆ ก็ได้ แต่จะไม่ถึงขนาดเคี้ยวจนกระทั่งอาหารละลายในปากหรอกนะครับ พวกนี้จะเคี้ยวแบบพอหอมปากหอมคอ ให้อาหารที่อยู่ในปากแยกออกจากกัน จนมีขนาดที่สามารถกลืนลงกระเพาะได้อย่างลื่นคอเท่านั้น พวกนี้สามารถกินอาหารเสร็จโดยไม่เกิน 15 นาทีได้

พวกเน้นละลายในปาก (Smooshers) – มนุษย์จำพวกนี้จะชอบอาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวก็สามารถกลืนลงคอได้ เช่น ช็อคโกแลต (ที่ไม่ต้องมีธัญพืชหรืออะไรอย่างอื่นสอดไส้) หรือขนมปังแบบอ่อนๆ พวกนี้จะชอบเอาอาหารเข้าปาก จากนั้นก็จะอมและใช้ลิ้นซึมซับถึงสุนทรียะด้านรสชาติของอาหารนานจนกว่ามันจะหมดรส และสุดท้ายก็จะกลืนลงท้องไปในที่สุด พวกนี้จะใช้เวลากินอาหารที่ยาวนานมาก อาจจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 40 นาทีต่อมื้อเลยก็ว่าได้

และ พวกเน้นดูด (Suckers) – พวกนี้จะแตกต่างจากพวกอม ตรงที่ว่าเมื่ออาหาร – ไม่ว่าจะแข็งหรืออ่อน – เข้าปากแล้ว พวกเขาจะดูด จากนั้นพอดูดจนได้ที่ ก็จะเริ่มเคี้ยวและกลืนลงคอ แน่นอนว่าหากใครที่ต้องร่วมโต๊ะกับนักกินประเภทนี้ ก็อาจต้องทำใจในการรอหน่อย เพราะก็มีความสามารถในการกินช้าไม่แพ้พวกเน้นละลายในปากเลยทีเดียวล่ะครับ

จะเห็นได้ว่า สไตล์การกินอาหารของพวกเรานั้นก็มีความแปลกพิสดารไม่น้อยเลยทีเดียว (ผมเองยังไม่เชื่อเลยว่า พวกที่ชอบกินอาหารแบบดูดนี่จะสามารถจัดประเภทเป็นสไตล์การกินได้) อย่างไรก็ตามหากให้แบ่งแบบหยาบๆ เราก็พอมองออกว่า เรามีวิธีการกินอยู่ 3 ประเภท นั่นคือ พวกกินเร็ว (ประเภทแรก) พวกินปกติ (ประเภทสอง) และ พวกกินช้า (ประเภทสามและสี่) นั่นแหละครับ

 

วิธีการกินบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราได้บ้าง

ดังที่บอกไปครับว่า วิธีการกินนั้นสามารถบอกหลายสิ่งเกี่ยวกับตัวเราได้ ตรงนี้ เราลองมาดูกันครับ

ในด้านสุขภาพ เราคงรับรู้กันอยู่แล้ว ว่าการกินจุกินเร็วนั้นจะทำให้อ้วนง่าย (ซึ่งจะตามมาด้วยโรคร้ายแรงมากมาย) กว่าการกินช้าๆ แต่ถ้าในด้านวัฒนธรรมล่ะ?

Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เคยเสนอไว้ในหนังสือ Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste (1979) ว่าวิธีการกินสามารถบ่งบอกได้ว่าพวกเรานั้นมีรสนิยม (taste) อย่างไร พูดให้ชัดก็คือ พวกกินเร็วอย่าง crunchers จะเป็นพวกที่มีรสนิยมการกินอาหารแบบ fast food หรืออาหารที่มีเนื้อชิ้นหนาๆ พวกนี้จะเน้นการกินอาหารที่ไว ไม่สนใจรสชาติ แต่ขอให้ได้สารอาหารครบถ้วนไว้ก่อน

ส่วนอีกพวกหนึ่งก็คือ พวกกินช้า เช่น Smooshers Suckers หรือ Chewers (แบบมีอัตราการเคี้ยวช้าๆ) พวกนี้จะมีรสนิยมการกินอาหารแบบอ่อนๆ และต้องการเวลาในการกินอาหารมากๆ เพราะต้องการรับรสถึงอาหารได้อย่างครบถ้วน อาหารของพวกเขาจึงมักจะเป็นอาหารที่กินง่ายๆ ไม่ค่อยเน้นเนื้อที่มีความเหนียวมากเท่าไหร่นัก

จะเห็นได้ว่า รสนิยมทั้งสองแบบมีความต่างกันมาก ทั้งนี้ Bourdieu ได้กล่าวอีกว่ารสนิยม (และวิธีการกินอาหาร) ดังกล่าวยังสามารถบ่งบอกถึงสถานะทางทางสังคมและเศรษฐกิจของพวกเราได้ด้วยนะครับ

สำหรับพวกเคี้ยวเอื้อง เขามองว่ามันคือ รสนิยมของพวกชนชั้นกลางขึ้นไป ส่วนหนึ่งเพราะว่าพวกชนชั้นกลางจะมีเวลาในการกินอาหารมาก และได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กไม่ให้บริโภคอาหารที่ย่อยยาก อย่างเช่นเนื้อ จริงๆ แล้ว เนื้อเป็นอาหารสำหรับชนชั้นแรงงานมากกว่า เพราะชนชั้นแรงงานต้องการสารอาหารในปริมาณที่มากเพื่อใช้ในการทำงานที่เน้นการใช้กำลัง ดังนั้น พวกแรงงานจึงต้องการเนื้อมากกว่า และที่สำคัญ เพื่อทำงานให้ทัน พวกเขาก็ต้องกินอาหารให้เร็วด้วย ดังนั้น ใครที่กินเร็วก็เลยมีแนวโน้มที่มาจากคนชนชั้นนี้เสียเยอะ

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าคนที่กินเร็วทุกคนจะเป็นชนชั้นแรงงาน และคนที่กินช้าจะเป็นคนชนชั้นกลางขึ้นไปทุกคนนะครับ ต้องดูเป็นแบบ case by case ไปนะครับ – โดยเฉพาะยุคนี้ที่สังคมมันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

 

สไตล์การกินกับความคิดทางการเมือง

มาในเรื่องการเมือง วิธีการกินอาหารของเราก็สามารถบอกอะไรได้เยอะเลยแหละ

ในปี 2011 เว็บไซต์ได้ส่งแบบสอบถามไปยังชาวอเมริกันกว่า 347,949 คน เพื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการกินอาหารและทัศนคติทางการเมืองของพวกเขา ผลปรากฎว่า ดูในแง่ตัวเลข 65% ของพวกอนุรักษ์นิยมจะชอบกินอาหาร Fast Food 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่ 92% ของพวกเสรีนิยมบอกว่า พวกเขาจะกินอาหารประเภทนี้นานๆ ครั้ง นอกจากนี้ หากดูในเรื่องความพิถีพิถัน พวกเสรีนิยมจะมีความละเอียดอ่อนในการเลือกอาหาร กล่าวคือ พวกเขาส่วนใหญ่ (70%) สามารถแยกได้ว่าอะไรเป็นอาหารออแกนิก หรืออาหารจากโรงงาน ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของพวกอนุรักษ์นิยมจะแยกไม่ออกเลย

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า พวกอนุรักษนิยม (conservative) จะมีแนวโน้มเป็นพวกกินเร็ว ไม่ค่อยพิถีพิถันกับเรื่องการกิน ส่วนพวกเสรีนิยม (Liberal) จะมีแนวโน้มเป็นพวกกินช้า แต่เป๊ะกับเรื่องกินอย่างมาก[1]

 

เห็นไหมครับว่า วิธีการกินอาหารของพวกเราสามารถบอกอะไรเหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเราได้ แม้กระทั่งแนวคิดทางการเมืองของเราเอง

คุณผู้อ่านลองตรวจสอบโดยไวครับว่า ตัวเองมีวิธีการกินแบบไหน

 

เอกสารอ้างอิง

บทความเรื่อง Conservatives and Liberals Make Different Food Choices จาก Diet in Review

บทความเรื่อง New report shows you are ‘how’ you eat จาก Ingredion

บทคามเรื่อง Eating Fast May Make You Fat จาก Livescience

หนังสือ Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste (1979) จาก Pierre Bourdieu

 

[1] หมายเหตุ ควรพิจารณาด้วยว่า ความหมายของ อนุรักษนิยมและเสรีนิยมทั้งในสหรัฐอเมริกาและไทย มีความแตกต่างกัน ฉะนั้น การนำผลการศึกษาของจากสหรัฐอเมริกามาอธิบายปรากฎการณ์ในไทยจึงต้องใช้ความระมัดระวัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save