*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
อันที่จริงมันว่าด้วยเด็กสาวฝาแฝดสองคนในไม่กี่เดือนก่อนวันสิ้นโลก
มันคือ พ.ศ. 2542 หรือ ค.ศ. 1999 ตามคำทำนายของนอสตราดามุส โลกจะจบสิ้นหลังมีอายุสองพันปี ความวิตกของผู้คนร่วมสมัยใน พ.ศ. นั้นคือเรื่องที่ว่าภาษาของคอมพิวเตอร์ในขณะนั้นไม่ได้ออกแบบให้ถูกใช้ได้หลังปี 2000 ที่ลงท้ายด้วย 00 เมื่อสิ้นปี คอมพิวเตอร์ทั้งโลกจะรวน โลกจะถล่มทลาย ปรากฏการณ์นั้นมีชื่อว่า Y2K
ในปีนั้นเด็กสาวฝาแฝดสองคนก็กำลังเผชิญกับวันสิ้นโลกด้วย ไม่ใช่แค่โลกข้างนอก แต่เป็นโลกภายในครอบครัวของเธอเอง พวกเธอเติบโตมาด้วยกันในบ้านชานเมืองกรุงเทพฯ รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน ต่างกันเพียงคนหนึ่งมีไฝตรงแก้ม ขณะที่อีกคนไม่มี อยู่กับพ่อและแม่ที่กำลังระหองระแหงกัน พ่ออาจเป็นหนี้นอกระบบ หมุนเงินไม่ทัน และแม่กำลังตัดสินใจจะกลับไปอยู่กับยายที่บ้านนอก ปิดเทอมฤดูร้อนปีนั้นพวกเธอ-ยูและมี จึงติดสอยห้อยตามแม่กลับนครพนม บ้านเกิดของแม่
ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเรื่องรักและเรื่องการเติบโตก้าวพ้นวัยในชั่วเวลาหนึ่งฤดูร้อนก่อนโลกแตก ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนฝาแฝดสองคนจะฉีกขาดออกจากกัน ซึ่งอาจจะเริ่มจากการชอบผู้ชายคนเดียวกัน แต่คิดอีกทีอาจจะเป็นเรื่องที่คนหนึ่งกำลังเติบโตไปจากอีกคนหนึ่ง ความว้าเหว่และความกลัวการสูญเสีย เรื่องของครอบครัวที่กำลังจบสิ้น นั่นต่างหากโลกแตกที่แท้ของเด็กสาวสองคนที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น
หลังจากเริ่มต้นสั้นๆ ที่กรุงเทพฯ หนังใช้เวลาส่วนใหญ่เชื่องช้านุ่มนวลเลียบลำน้ำโขงอยู่ในนครพนม ชีวิตของยูกับมีในบ้านยายที่จากดาดฟ้ามองเห็นหอนาฬิกาประจำเมือง เลยออกไปก็คือลำโขง ชีวิตเรียบง่ายดูไม่มีอะไรให้ต้องกังวล มีอยู่บ้านช่วยยายขายของ ส่วนยูออกไปเรียนดีดพิณและได้พบกับหมากที่เคยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนในกรุงเทพฯ หมากเคยเจอยูมาก่อน แต่ไม่รู้ว่ายูที่เขาพบคือมี ทั้งคู่เริ่มชอบพอกัน ขณะที่มีรู้สึกเหมือนยูกำลังรักคนที่เธออาจจะแอบรัก หรือที่จริงการรักผู้ชายคนเดียวกันอาจเป็นแค่ข้ออ้างของความกลัวที่ลึกลงไป
เรื่องเล่าหลักจริงๆ ของหนังคือความสัมพันธ์ของฝาแฝดที่มีทุกอย่างเหมือนกัน แต่จะไม่เหมือนกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันช่วยไม่ได้เลยที่ทั้งสองคนจะต้องแข่งขันกันโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งความรู้สึกถูกรักจากพ่อแม่ที่ไม่เท่ากัน (น่าเสียดายที่หนังคลี่คลายฉากแม่เลือกลูกได้ไม่ค่อยดีนัก จนไม่อาจเข้าใจแม่ได้เท่าที่ควร) ไปจนถึงการที่คนหนึ่งมีประจำเดือนก่อน การมีแฟนไม่ใช่การมีแฟน แต่คือการยืนยันว่าเธอเองก็เป็นที่รักของใครสักคนมากกว่าอีกคนที่เหมือนเธอ นำไปสู่ฉากขอจูบที่งดงาม และเศร้ามากๆ อีกคนก็รู้สึกถูกทอดทิ้ง การแย่งผู้ชายเลยเป็นภาพแทนของการพยายามยื้อคู่แท้ของตนซึ่งคือแฝดอีกคนกลับคืนมา เกมของเด็กๆ ที่ประหวั่นพรั่นพรึงกับความสูญเสียนี้เองที่ทำให้พวกเธอเติบโตขึ้นและยอมรับว่าเราทุกคนต่างโดดเดี่ยว และโลกก็ล่มสลายลง แต่ไม่ใช่จาก Y2K ที่พวกเธอจู่ๆ ก็กลัวจนไปซื้อหาอาหารมาสต็อก เพื่อทดแทนความกลัวโลกล่มสลายที่แท้จริง นั่นคือการที่พ่อแม่เลิกกันต่างหาก
ทั้งหมดถูกเล่าอย่างไม่รีบร้อน หนังมอบความรู้สึกที่ละมุนละไมให้กับผู้ชม ซึ่งกลายเป็นจังหวะที่หาได้ยากในหนังเล่าเรื่องกระแสหลักของไทยซึ่งมักมุ่งเน้นไปที่ความเอะอะมะเทิ่ง หรือความรวดเร็วฉับไวในการเล่า หากจะเรื่อยเปื่อยหนังก็ต้องคอยหยอดมุกตลกเพื่อประคับประคองความสนใจของผู้ชมเอาไว้ จึงเป็นเรื่องดีที่หนังเรื่องนี้ปล่อยจังหวะของเรื่องราวให้เดินช้าลงเล็กน้อย เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รื่นรมย์กับการจีบสาวของหนุ่มน้อยโรงเรียนสอนพิณ การเดินเล่นในงานวัดประจำปี หรือเฝ้ามองกิจกรรมของคนแตกเนื้อหนุ่มสาวในต่างจังหวัดอย่างการหัดขี่มอเตอร์ไซค์ ในขณะเดียวกัน การสร้างความคลุมเครือของความสัมพันธ์ของตัวละคร ความลังเลไม่แน่ใจและความอิจฉาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไร้สาระก็ทำให้หนังเข้าใกล้ชีวิตมากขึ้นนิดหน่อย
จังหวะที่ทอดช้าลงทำให้เราเห็นว่าอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของหนังคือจังหวัดนครพนม หนังเล่าชีวิต ‘ปิดเทอมในต่างจังหวัด’ ในปีสุดท้ายของศตวรรษที่แล้ว มันไม่ปิดบังตัวเองทั้งจากการเป็นหนังย้อนยุคและเป็นหนังปิดเทอม ว่า ‘ต่างจังหวัด’ ที่เรากำลังดูอยู่เป็นเพียงภาพฝัน เป็นเพียงการหวนรำลึกวันชื่นคืนสุขที่สังคมยังปราศจากปัญหาการเมือง และความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสามัญราวกับว่ามันก็เป็นเช่นนั้นเอง หนังไม่ปิดบังตัวเองว่า ‘ต่างจังหวัด’ ในตัวนี้เป็น ‘ภาพฝัน’ มากกว่าภาพจริง
เราจึงไม่ได้เห็นว่าความเข้ากันไม่ได้ของฝาแฝดที่เป็นเด็กในเมืองกับต่างจังหวัดที่แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย หนังทำราวกับว่าฝาแฝดคุ้นเคยกับสถานที่และผู้คนเป็นอย่างดี ต่างจังหวัดเป็นบ้านพักตากอากาศที่วิวสวย อากาศสดชื่น เมืองน่าอยู่ผู้คนน่ารัก ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพวกเธอมีปัญหาหัวใจ ปัญหาก็ไม่ได้เกิดระหว่างพวกเธอกับหนุ่มต่างจังหวัด หมากก็เป็นหนุ่มกรุงที่ย้ายมาอยู่ที่นี่เหมือนพวกเธอ เรื่องทั้งเรื่องจึงเป็น ‘เรื่องของคนกรุงเทพฯ’ ที่ใช้ต่างจังหวัดเป็นฉากหลัง
เราจะเห็นว่าต่างจังหวัดของ ‘เธอกับฉันกับฉัน’ เป็นโลกคนละใบกับต่างจังหวัดของ ‘เบลล์’ กับ ‘ซู’ ใน Where We Belong (2019, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) และต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ ของเอกับแพร ใน Blue Again (2022, ฐาปณี หลูสุวรรณ)
ในหนังเรื่องแรกเล่าเรื่องของเด็กสาวสองคนในจังหวัดจันทบุรี ที่คนหนึ่งพยายามจะทำอย่างไรก็ได้ที่จะออกไปจากที่นั่น ซูสอบชิงทุนได้ไปฟินแลนด์ทั้งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ตลอดทั้งเรื่องหนังคือการที่เบลล์จับซูซ้อนท้ายไปไหนมาไหนเพื่อเคลียร์เรื่องต่างๆ ก่อนเดินทางโดยมีเป้าหมายว่า “จะไม่กลับมาอีก” อดีตสั้นๆ ของซูค่อยๆ เปิดเผยเชื่องช้าในเมืองเล็กๆ ที่เงียบเหงา ทั้งความรักที่เก็บงำไว้ บาดแผลที่แก้ไม่หาย หรือความคิดถึงคนที่ตายไปแล้ว อดีตและปัจจุบันเปิดเผยตัวตน บ้านเหนี่ยวรั้งผู้คนจากการออกเดินทาง ขังเราไว้ในมิตรภาพ ความอบอุ่นคุ้นเคย หรือเรียกร้องลำเลิกบุญคุณที่เคยทำให้เราเติบโต โยนแอกของความรับผิดชอบให้เราแบกไว้ บ้านที่ต้องการให้เราอยู่เพราะเราต้องอยู่ ต่างจังหวัดของซูกับเบลล์ในหนังเป็นกรงขังที่คนหนึ่งดิ้นรนเพื่อให้ได้ออกไป อีกคนถูกผูกติดเอาไว้ด้วยความผูกพันของครอบครัว
ในหนังอีกเรื่อง เอกำลังกลับบ้านในช่วงงานแห่ดาวของสกลนคร มันเป็นปีสุดท้ายในชีวิตนักศึกษาของเธอ เธอตัดสินใจเข้ามาเรียนแฟชั่นในกรุงเทพฯ ตั้งใจว่าจะสืบทอดโรงย้อมครามของที่บ้าน แต่ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้เธอกำลังเจอปัญหาหนัก ทั้งไร้เพื่อน ธีสิสย้อมครามของเธอก็ทำท่าจะล่ม เธอต้องกลับบ้านไปย้อมครามด้วยตัวเองเพราะแม่ใจลอยเกินกว่าจะช่วย และมันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนอากาศจะเย็นลงจนไม่สามารถเลี้ยงครามได้อีก แพร เพื่อนคนเดียวของเอ เป็นเด็กกรุงเทพฯ เติบโตมาอย่างคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหน และดูเหมือนจะไม่มีเพื่อนเพราะที่บ้านเลี้ยงอย่างเคร่งครัด เอเป็นเพื่อนคนแรกของแพรในมหาวิทยาลัย แต่แพรอยากมีเพื่อนคนอื่นนอกจากเอด้วย ขณะที่เอไม่ได้อยากมีใคร
เหล่าเด็กสาวที่อยู่บนเส้นทางไปและกลับของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดนี้ ในที่สุดก็เชื่อมโยงถึงกันโดยไม่ได้ตั้งใจ Where We Belong ฉายภาพต่างจังหวัดในฐานะของดินแดนเหลื่อมล้ำที่แร้นแค้นต่อความฝันใฝ่ของคนหนุ่มสาว และเอช่วยตอกย้ำภาพนี้เมื่อเธอต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ในที่ที่ดินดีกว่าสำหรับครามอย่างเธอ เส้นทางของซูกับเอจึงสวนทางกับยูกับมี ต่างจังหวัดในสายตาของเด็กมัธยมต้นยังทำหน้าที่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ที่ไร้พิษภัย สายตาของผู้มาเยือนไม่ใช่ผู้ติดอยู่ การกลับต่างจังหวัดของยูกับมีจึงต่างกันกับการอยู่ต่างจังหวัดของซูกับเบลล์ และการกลับต่างจังหวัดและไปกรุงเทพฯ ของเอ กรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางของความรู้ ความทันสมัย งานและความใฝ่ฝัน ซึ่งไม่ได้ได้มาเพียงเพราะมันเป็นเมืองหลวง แต่ได้มาเพราะความพิกลพิการของการกระจายอำนาจ ได้มาเพราะสูบกินเอาคนต่างจังหวัดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแรงงาน
ในแง่นี้ รถทัวร์ใน เธอกับฉันกับฉัน จึงกลายเป็นจุดที่น่าสนใจที่สุด รถทัวร์ที่นำพาเด็กสาวจากจันทบุรี สกลนคร และนครพนม ไป-กลับกรุงเทพฯ ใน Where We Belong เบลล์กับซูนั่งรถทัวร์ไปเยี่ยมแม่ของเบลล์ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เบลล์รู้ว่ากรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ที่ของเธอ หาก Blue Again เปิดตัวด้วยฉากเอนั่งรถทัวร์กลับบ้าน ขณะที่ เธอกับฉันกับฉัน พลิกคว่ำหนังด้วยข่าวรถทัวร์ และใช้รถทัวร์เป็นฉากสำคัญของการเดินทางโดยลำพังของสองพี่น้อง การเดินทางกลายเป็นการค้นพบตัวเอง ไม่ได้พบว่าชอบอะไร แต่พบว่าไม่ชอบอะไร
ต่างไปจากรถไฟหรือเครื่องบิน รถทัวร์เป็นเครื่องหมายการเดินทางของคนชั้นล่างในส่วนที่รถไฟชั้นสามไปไม่ถึง รถทัวร์เป็นกิจการขนส่งสาธารณะที่ซอกซอนลงไปได้ในเส้นเลือดฝอยของจังหวัด พื้นที่ชุมชน จอดในทุกที่ที่จอดได้โดยไม่ต้องพ่วงอยู่กับสถานี ในขณะเดียวกันการเดินทางโดยรถทัวร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเอาแน่เอานอนได้ ทั้งการยุบเที่ยวไปเฉยๆ การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเกินกำหนด หรืออาการตีนผีของคนขับรถทัวร์ รถทัวร์เป็นตัวเชื่อมเมืองกับบ้านนอก กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด รถทัวร์ใน เธอกับฉันกับฉัน เป็นทั้งเครื่องมือในการเชื่อมและตัดขาด เมื่อภาพข่าวเหตุการณ์รถทัวร์คว่ำตายยกคันเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง (ที่อาจจะรุนแรงเกินพลังแห่งความอ่อนโยนที่มีมาก่อนหน้า) รถทัวร์คว่ำเป็นหนึ่งในข่าวสามัญและความสยดสยองประจำยุคสมัยสหัสวรรษใหม่ ซึ่งทุเลาลงไปหลังการขนส่งหลากหลายขึ้น ถนนที่พัฒนาขึ้น ข่าวรถทัวร์คว่ำอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตต่างจังหวัดอย่างเดียวที่เราเห็นในหนัง แต่มันยังเป็นสัญญาณกลายๆ ถึงชีวิตต่างจังหวัดที่ไม่ได้เป็นแค่สนามเด็กเล่นหรือฉากหลังอีกต่อไป ในฉากต่อมา หนังตามถ่ายฉากการขึ้นรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ ของสองคน ถ่ายการจอดพักกินข้าวต้มตอนกลางคืน การหลับไปกับผ้าห่มแจก การเดินทางด้วยรถทัวร์ไม่เคยเป็นความสะดวกสบาย หรือปลอดภัย มันคือวิธีที่ฉีกต่างจังหวัดออกจากกรุงเทพฯ สำหรับหลายๆ คน (อย่างน้อยก็ในสมัยนั้นที่เครื่องบินยังราคาแพงกว่านี้) ถึงที่สุดรถทัวร์จะฉีกยูกับมีออกจากกัน และชีวิตในต่างจังหวัดจริงๆ จะเริ่มต้นขึ้นหลังจากหนังจบลง
เช่นเดียวกับชีวิตในกรุงเทพฯ ชีวิตของแพร ที่ Blue Again ไม่ได้พูดถึงมากนัก ชีวิตแม่ของเบลล์ที่กลายเป็นคนกรุงเต็มตัว และอาจจะเป็นชีวิตในเวลาต่อมาของซู ถึงที่สุดกรุงเทพฯ กลายเป็นปลายทาง เป็นตัวขีดแบ่งของคนที่ไปกับคนที่อยู่ กรุงเทพฯ ยืนอยู่เหนือทุกอย่างและทุกต่างจังหวัด สกลนคร นครพนม หรือจันทบุรีก็กลายเป็นเพียง ‘ที่อื่น’ ถึงที่สุดเมื่อฝาแฝดสองคนตัดสินใจจะแยกจากกัน พวกเขาจะค่อยๆ กลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน ไม่ใช่เพียงเพราะระยะทางแต่เพราะสถานที่ทั้งสองแห่งไม่มีอะไรเหมือนกันในประเทศแห่งความเหลื่อมลำ้นี้ ในแง่หนึ่งหนังทั้งสามเรื่องจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ฉายภาพของประเทศที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางและที่อื่นเป็นแค่ที่อื่นซึ่งไร้หน้าไร้นามออกมา
และยังมีเด็กสาวอีกคนที่กำลังรอรถทัวร์ ฉากเล็กๆ จากหลายๆ ฉากเล็กๆ ของคนตัวเล็กในหนังเรื่อง ฉากและชีวิต (2018, บุญส่ง นาคภู่) เด็กสาวคนนั้นเป็นเด็กสาวยากจนจากจังหวัดสักแห่งในภาคกลาง อาจจะเป็นสุโขทัย บ้านเกิดของผู้กำกับ มันเป็นคืนที่อ้างว้างในจุดรอรถที่ไม่ใช่ บขส.ประจำเมือง ชายอีกคนขี่มอเตอร์ไซค์มาส่งเด็กสาว และเด็กสาวบอกว่าพ่อกลับบ้านไปเถอะ ทั้งคู่นั่งลงคุยกัน ผู้ชมจึงข้าใจว่าเด็กสาวกำลังจะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานในโรงงาน ทิ้งบ้านเกิดถิ่นฐานไปในยามกลางคืนเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ให้กับครอบครัว ฉากนี้จบลงด้วยกล้ำกลืนของพ่อที่ขี่อมเตอร์ไซค์จากไป และเด็กสาวโดดเดี่ยวบนม้านั่งรอคอยรถทัวร์ที่จะพาเธอไปจากต่างจังหวัด โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับมาอีกหรือไม่