กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
ปัจจุบัน จำนวนเด็กและเยาวชนที่ข้องเกี่ยวกับความรุนแรง รวมถึงก่ออาชญากรรม มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ สาเหตุหลักๆ มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง และสภาพแวดล้อมในละแวกบ้านที่ไม่ดีนัก
นอกจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือ ร่างกายของเด็กมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า สมองคอร์เท็กซ์กลีบหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจ จะได้รับการพัฒนาในช่วงที่เด็กกำลังเจริญเติบโต ดังนั้น ถ้าเด็กเจออุปสรรคใดๆ ในช่วงที่กำลังเติบโต ก็ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาของสมองส่วนนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบในระยะยาวที่อาจเอื้อให้เด็กก่ออาชญากรรมได้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งข้อควรพิจารณาคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้ก่ออาชญากรรมไปแล้ว กล่าวคือ เมื่อพวกเขาพ้นออกจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกลับมาใช้ชีวิตของตนเอง หากไม่ได้รับการชี้แนะแนวทางที่ดี ก็มีโอกาสสูงที่เด็กกลุ่มนี้จะหันกลับไปเดินทางผิด
จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องทั้ง ‘ป้องกัน’ เยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรม และ ‘มอบโอกาส’ ครั้งที่สองให้เยาวชนที่เคยหลงผิดไปแล้ว ได้กลับมายืนในสังคมอีกครั้ง
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ดำเนินมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนใช้กีฬาเป็นเครื่องมือปกป้องและป้องกันตนเองจากความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม ดังจะเห็นจากงานวิจัยและโครงการต่างๆ จากนานาชาติที่กล่าวถึงความสำเร็จของการนำกีฬามาใช้ป้องกันอาชญากรรม
ขณะที่ในไทยก็มีความพยายามในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันและเยียวยาเยาวชนจากอาชญากรรม โดยได้มีการจัดตั้ง สโมสรกีฬา Bounce Be Good (BBG) ขึ้น จากพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ไม่ใช่แค่สโมสรฝึกสอนนักกีฬา แต่เป็นเหมือน ‘บ้าน’ ที่จะปกป้องและเยียวยาเด็กที่เคยเดินทางผิดให้ได้โอกาสครั้งที่สองอีกครั้ง
นอกจากนี้ ประเทศไทยที่นำร่องโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ยังได้เสนอร่างข้อมติเรื่อง ‘การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน’ (Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice) ในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) สมัยที่ 28 ที่กรุงเวียนนา เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ด้วยตระหนักถึงความสำคัญกับกีฬาต่อการต่อต้านการก่ออาชญากรรม
อีกทั้งยังก้าวไปอีกขั้น ด้วยการส่งเสริมให้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ยังไม่ได้รับการนำเสนอในเวทีระหว่างประเทศนัก โดยการนำกีฬามาใช้ต่อต้านอาชญากรรมจำเป็นจะต้องกระทำควบคู่กับการส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวด้วย
ข้อมติดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของกีฬาว่า เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และได้รับการรับรองแบบฉันทามติจากประเทศสมาชิก ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จหนึ่งของประเทศไทย ที่นำกีฬามาใช้บูรณาการทั้งเพื่อป้องกัน และริเริ่มนำมาใช้เพื่อเยียวยาเยาวชนที่เคยหลงผิดให้กลับเข้าสู่ทางที่ถูกที่ควรอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อทำความเข้าใจการใช้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น TIJ จึงได้จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับ ‘การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน’ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศร่วมอภิปรายเพื่อหามาตรการป้องกันและข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การจัดตั้งโครงการที่มีประสิทธิภาพ และร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
101 ชวนทำความเข้าใจและย้อนดูเส้นทางการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรม การมอบชีวิตใหม่ให้เยาวชนที่เคยหลงผิด ไล่เรียงตั้งแต่คำถามง่ายๆ ว่า ทำไมต้องเป็น ‘กีฬา’ มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงความพยายามของประเทศต่างๆ ในการนำกีฬามาใช้ป้องกันอาชญากรรม
ทำไมต้องเป็นกีฬา?
‘กีฬาเป็นยาวิเศษ’ คงเป็นวลีที่คนไทยได้ยินกันจนชินหู ขณะที่รายงานหรือการศึกษาหลายชิ้นก็ระบุไปในทางเดียวกันว่า กีฬามีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการพัฒนาการทางร่างกาย และเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการป้องกันอาชญากรรมในเยาวชน รวมถึงปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนตระหนักในเรื่องการพัฒนา ความยุติธรรม และสันติภาพ
กล่าวคือ ถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับการส่งเสริมให้เล่นกีฬา ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางสังคม สองสิ่งนี้จะช่วยเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการรับรู้ อคติ และพฤติกรรม รวมถึงช่วยทลายกำแพงของการแบ่งเชื้อชาติและการเมือง
ที่สำคัญไปกว่านั้น การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกีฬาหรือกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical activities) ยังเป็นหนึ่งในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) อีกด้วย
ปัจจุบัน องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งนำกีฬามาใช้เพื่อส่งเสริมเรื่องต่างๆ เช่น สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เริ่มสนับสนุนการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรม รวมถึงพัฒนาโปรแกรมฝึกฝน ‘LineUp, LiveUp!’ ที่เน้นการป้องกัน และฝึกฝนโค้ชหรือบุคลากรทางการศึกษาในการนำกีฬามาสนับสนุนทักษะที่จำเป็นของเด็ก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการก่ออาชญากรรม
กรณีศึกษา: สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสวีเดน
ในการประชุมผู้เชี่ยวชาญฯ ที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้กีฬาเพื่อป้องกันอาชญากรรม และเยียวยาผู้ที่เคยกระทำความผิด โดยศาสตราจารย์ Rosie Meek จาก UNODC เริ่มต้นด้วยการฉายภาพรวมว่า กีฬาเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งในปัจจุบัน เรือนจำในสหราชอาณาจักรกำหนดว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical activities) ควรถูกจัดเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำหรับผู้ต้องขัง ซึ่งจะเอื้อให้เกิดผลทางบวกกับทัศนคติและพฤติกรรม
นอกจากนี้ เรือนจำยังสนับสนุนให้ผู้ต้องขังเรียนต่อระดับอาชีวศึกษาจนได้วุฒิการศึกษา ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อนโยบายการกลับเข้าสู่ชุมชนด้วย
แม้จะมีนโยบายชัดเจน แต่ถ้ามองในทางปฏิบัติ การจัดให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการเล่นกีฬาในเรือนจำยังต้องเจอกับความท้าทายหลายประการ เช่น ทรัพยากรหรือระบอบเรือนจำ ปัจจัยเฉพาะ และภูมิหลังที่หลากหลายของผู้ต้องขังแต่ละคน
ดังนั้น สิ่งที่สหราชอาณาจักรทำคือ การทบทวนเรื่องกีฬาและกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใหญ่ในเรือนจำ โดยเป็นการทำงานระดับชาติในช่วงปี 2017-2018 ที่ผ่านมา กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่การเข้าไปยังสถานพินิจฯ 11 แห่ง และเรือนจำ 10 แห่ง ในอังกฤษและเวลส์ ทำการสัมภาษณ์ผู้ที่ออกกำลังกายในยิม เขียนคำแนะนำ และขอคำแนะนำจากสาธารณชนผ่านทางออนไลน์ จากนั้นจึงตั้ง focus group เพื่อเชิญผู้ปฏิบัติและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องมาร่วมอภิปราย จนได้ออกมาเป็นชุดคำแนะนำที่ Meek ได้นำมาแบ่งปันในการประชุมผู้เชี่ยวชาญ
กล่าวโดยสรุป คำแนะนำจากฝั่งสหราชอาณาจักรคือ เรือนจำควรจะบูรณาการกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย และวางแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง โดยร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ยิม นักจิตวิทยา ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการด้วย
นอกจากนี้ กีฬาที่เรือนจำนำมาใช้ยังควรจะตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะบุคคล เพราะผู้ต้องขังแต่ละคนมีความแตกต่างกัน รวมถึงเน้นในเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และการบำบัดฟื้นฟู
อีกหนึ่งกลุ่มสำคัญคือกลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในเรือนจำและสถานพินิจฯ ซึ่งศาสตราจารย์ Meek เสนอว่า กระทรวงยุติธรรมควรพัฒนายุทธศาสตร์กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายให้กลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิงในเรือนจำด้วย
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การร่วมมือกับชุมชนและกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งศาสตราจารย์ Meek ได้ทิ้งท้ายด้วยประเด็นสำคัญ 3 ข้อ คือ
“ข้อแรก ความร่วมมือนี้จะต้องเป็นความร่วมมือที่ ‘ยั่งยืน’ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่อยู่ในเรือนจำ หรือถูกปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตาม ข้อที่สองคือ จะต้องมีการสนับสนุนนอกเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬา คลับชุมชน หรือกิจกรรมอาสา และจะต้องหากลไกสนับสนุนที่กว้างกว่าเดิมด้วย”
“ข้อสุดท้ายคือ นอกจากเรื่องกีฬาแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจด้วย เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องเจอกับประเด็นที่ซับซ้อนหรือความชอกช้ำทางจิตใจ ที่อาจจะไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะต้องมีความแข็งแกร่งในด้านจิตใจด้วยเช่นกัน”
ขณะที่ฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำกีฬามาใช้ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดย Naoki Sugano จากกระทรวงยุติธรรม เล่าว่า ในปี 2016 ญี่ปุ่นมีอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงถึง 48.7% ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลอย่างมาก จึงเกิดเป็นความพยายามในการออกมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
“ในปี 2016 มีการออกพระราชบัญญัติเพื่อสนับสนุนการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ แต่เราก็ตระหนักถึงข้อจำกัดว่า เรื่องนี้ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยฝั่งกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่การปกครองในระดับชาติ ท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำเช่นเดียวกัน”
ต่อมา ในปี 2017 จึงมีการออกแผนปฏิบัติระดับชาติเพื่อสนับสนุนการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยเป็นความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสังคมที่ ‘จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ และเพื่อสร้างแนวทางและแรงสนับสนุนให้ผู้ที่เคยกระทำผิดด้วย
Sagano อธิบายว่า เป้าหมายของแผนนี้คือ ในปี 2021 อัตราของผู้กระทำผิดที่ต้องกลับเข้าเรือนจำภายใน 2 ปีหลังจากถูกปล่อยตัว จะต้องลดเหลือน้อยกว่า 16% เพื่อสร้างสังคมที่พลเมืองทุกคนอยู่ได้อย่างสงบสุขและปลอดภัย
เพื่อสนับสนุนความคิดดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สร้างโรงเรียนฝึกพลศึกษาให้แก่เยาวชน โดยมีประเภทกีฬาที่หลากหลาย ตั้งแต่กีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล บาสเกตบอล สกี หรือศิลปะการป้องกันตัวของญี่ปุ่นอย่างยูโดหรือเคนโด้ (Kendo)
อีกความคิดริเริ่มของญี่ปุ่นคือความร่วมมือ Big Brothers and Sisters หรือ BBS เป็นสมาคมเยาวชนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่เคยกระทำความผิด หรือเจอกับปัญหาในการปรับตัวเข้าสังคม โดย BBS จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติ (volunteer probation officers) ในการบูรณาการด้านกีฬาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงต่อการกระทำผิดให้กับเยาวชน
ประเทศสวีเดนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีนโยบายป้องกันอาชญากรรมที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ โดย Karin Svanberg หัวหน้าแผนกพัฒนาการป้องกันอาชญากรรม จาก Swedish National Council for Crime Prevention ได้กล่าวถึงกีฬาไว้ว่า กีฬาควร “เป็นประชาธิปไตย เท่าเทียม และเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้”
“เทศบาล (municipality) จะเป็นเจ้าของพื้นที่สำหรับเล่นกีฬา และเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ด้วย นอกจากนี้ เรายังมีเงินสนับสนุนกีฬาในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชน” Svanberg อธิบาย พร้อมทั้งเสริมว่า อย่างไรก็ดี การเล่นกีฬาในหมู่เด็กและเยาวชนยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศแทรกอยู่ประปรายเช่นกัน
โปรแกรมการป้องกันการก่ออาชญากรรมของสวีเดนชื่อว่า ‘Combating Crime Together’ เริ่มต้นในปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดอาชญากรรมและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยจะพัฒนาให้เกิดความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
Svanberg อธิบายว่า โปรแกรมดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันอาชญากรรมอยู่แล้ว หรือกลุ่มเทศบาลเมืองและสภาระดับมณฑล (county councils) ที่ทำการป้องกันในระดับท้องถิ่นเป็นหลัก และแต่ละเทศบาลเมืองยังร่วมมือกับกลุ่มบริการสังคม (social service) เพื่อตอบสนองความต้องการและให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลด้วย
นอกจากนี้ สวีเดนยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นำกีฬามาใช้ในเรื่องอาชญากรรม ทั้งเพื่อป้องกันและเยียวยา โดยในการป้องกันอาชญากรรม Svanberg ยกตัวอย่างองค์การ Svenska Innebandyförbundet ซึ่งเป็นองค์การฟุตบอลของสวีเดนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ #forALLball
โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำกีฬาให้กับคนในชุมชน และใช้ hashtag เพื่อเผยแพร่ตัวอย่างที่ดีใน social media เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น
อีกหนึ่งองค์การของสวีเดนที่น่าสนใจคือ Locker Room Talk ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการก่อความรุนแรงในหมู่เด็กชายโดยเฉพาะ วัตถุประสงค์ขององค์การดังกล่าวคือ สอนและเปลี่ยนแปลงเด็กผู้ชายที่เล่นกีฬาให้เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม มีทัศนคติที่ดีขึ้น และท้าทายแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ (masculinity)
“Locker Room Talk ต้องการหยุดหรือเปลี่ยนแปลงวิธีที่พวกเด็กผู้ชายคุยกันเกี่ยวกับเด็กผู้หญิง และสร้าง ‘ความเป็นชายรูปแบบใหม่’ ขึ้นมา รวมถึงสร้างโลกที่ทุกคนมีอิสระในการเป็นตัวของตัวเอง”
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นว่า กีฬาจะต้องเปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ในเรือนจำก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน Svanberg อธิบายว่า ในเวลาว่าง ผู้ต้องขังมักจะใช้บริการยิมหรืออุปกรณ์กีฬาได้เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิและสามารถเข้าถึงกีฬาได้
“สำหรับกลุ่มเปราะบางในสถานพินิจฯ อย่างเด็กผู้หญิง หนึ่งในวิธีบำบัดยอดนิยมคือการขี่ม้า และการดูแลม้า วิธีนี้จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกาย ทำให้เกิดความนับถือตนเอง (self-esteem) และช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบด้วย”
ในตอนท้าย Svanberg กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนา และความเป็นไปได้ในอนาคต โดยอาจสรุปได้ว่า องค์การ NGOs ในท้องถิ่นควรจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการระบุปัญหา และหาวิธีแก้เฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละที่ (tailor-made solution) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมแก่ NGOs รวมถึงสโมสรกีฬาต่างๆ ด้วย
“ประเด็นสุดท้าย แต่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นคือ สังคมจะต้องเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ หรือมีภูมิหลังเป็นอย่างไรก็ตาม” Svanberg กล่าวสรุป
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world