fbpx
Yold: เมื่อโลกจะถูก disrupt จากบูมเมอร์

Yold: เมื่อโลกจะถูก disrupt จากบูมเมอร์

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เคยเจอประกาศรับสมัครงาน หรือรับคนเข้าเวิร์กช็อป เข้าประกวดต่างๆ โดยมีการ ‘กำหนดอายุ’ ว่าไม่เกินเท่านั้นเท่านี้แล้วรู้สึกขัดใจไหมครับ

ที่ผ่านมา โลกเคยเป็นของ ‘คนหนุ่มสาว’ มาโดยตลอด เราเห็นจนคุ้นชินเลยว่า สิ่งเก่าๆ ถูก disrupt จากความต้องการของคนรุ่นใหม่เสมอ เรียกว่าอะไรเก่าก็ต้องตกเวทีไปนั่นเอง

แต่เชื่อไหมว่า ในปี 2020 ที่จะถึงนี้ มีการทำนายถึงปรากฏการณ์หรือเทรนด์ใหม่ในทิศทางตรงข้าม นั่นคืออาจเกิดการ disrupt จาก ‘คนแก่’ ขึ้นมาก็ได้

ก่อนอื่น อยากให้คุณสลัดภาพ ‘คนแก่’ ที่คุณคุ้นๆ ออกไปเสียก่อน คนแก่ประเภทที่ป่วยออดๆ แอดๆ ไปไหนมาไหนเองไม่ค่อยจะได้ ไม่ได้ทำงานอะไรแล้ว ส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านเลี้ยงหลานอะไรทำนองนั้น เพราะในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ ‘เด็กสมัยนี้’ จะเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ ‘คนแก่สมัยนี้’ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกด้วย

จอห์น พาร์คเกอร์ (John Parker) เขียนไว้ใน The Economist ถึงปรากฏการณ์ใหม่นี้ โดยบอกว่าปี 2020 คือจุดเริ่มต้น ‘ทศวรรษแห่ง Yold’

แล้วอะไรคือ Yold?

คำว่า Yold ก็คือ Young Old หรือคนแก่ที่อยู่ในวัย ‘เริ่มแก่’ จะเรียกว่า ‘แก่วัยกระเตาะ’ ก็น่าจะได้

ที่จริงคำนี้มีที่มาจากคนญี่ปุ่น ที่ใช้เรียกคนอายุระหว่าง 65 ถึง 75 ปี ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงเป็นคนแก่อย่างเต็มภาคภูมิได้ แต่ในปัจจุบัน คนวัย 65-75 ปีนั้น พูดได้เลยว่ายังแอ็คทีฟอยู่มาก

ถามว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นไหน คำตอบก็คือเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เต็มๆ ตัวเลยนะครับ โดยเฉพาะบูมเมอร์ในประเทศพัฒนาแล้ว คนเหล่านี้เกิดในช่วงปี 1955-1960 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะฉะนั้น พอถึงปี 2020 ก็จะมีอายุราวๆ 60-65 ปี พอดี เรียกได้ว่าเป็น ‘แก่รุ่นกระเตาะ’ ได้เต็มปาก และเนื่องจากเป็นคนรุ่นบูมเมอร์ (คือมีคนเกิดเยอะ) คนกลุ่มนี้จึงมีจำนวนมากตามไปด้วย ประมาณว่า ในปี 2020 ในประเทศร่ำรวย จะมีคนวัย 65-74 ปี อยู่ถึง 134 ล้านคน (หรือ 11% ของประชากร) เพิ่มจาก 99 ล้านคน (หรือ 8%) ในปี 2000 เรียกว่าเพิ่มขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว

แต่คนกลุ่ม Yold ไม่ได้แค่มีจำนวนมากเท่านั้นนะครับ พวกเขายัง ‘สุขภาพดีกว่า’ และ ‘มั่งคั่งกว่า’ คนรุ่นราวคราวเดียวกันในรุ่นก่อนหน้านี้อีกด้วย

แน่นอน เมื่อสูงวัยขึ้น สุขภาพของคนทั่วไปก็ต้องย่ำแย่ลง แต่ Yold สุขภาพย่ำแย่ลงน้อยกว่าที่คนแก่ทั้งหลายเคยเป็นมาในประวัติศาสตร์นะครับ องค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization ประมาณการเอาไว้ว่า สำหรับคนกลุ่มนี้ ในอายุขัยที่เพิ่มขึ้น 3.7 ปี (คืออายุยืนมากขึ้น 3.7 ปี) จะเป็นช่วงเวลาที่สุขภาพดีถึง 3.2 ปี คืออาจจะป่วยติดเตียงระยะสุดท้ายอยู่เพียง 0.5 ปี (คือครึ่งปีเท่านั้น) ก่อนหน้านั้นยังใช้ชีวิตลั้นลาได้สนุกสนานตามสะดวกเพราะสุขภาพไม่ได้แย่ลงมากนักเหมือนคนรุ่นก่อนๆ ที่อาจป่วยหรือสุขภาพย่ำแย่เป็นเวลานานก่อนวาระสุดท้าย

ส่วนเรื่องความร่ำรวย ก็พบอีกว่าในระหว่างปี 1989 ถึง 2013 ความมั่งคั่งเฉลี่ยของครอบครัวที่มีผู้นำครอบครัวอายุ 62 ปี ขึ้นไปในอเมริกานั้น เพิ่มสูงขึ้นถึง 40% (คือรวยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า) ทำให้มีรายได้เฉลี่ยราวปีละ 210,000 เหรียญ และที่น่าสนใจก็คือ ในคนกลุ่มอื่นๆ (ทั้งที่แก่กว่าและหนุ่มสาวกว่า) กลับเป็นกลุ่มที่มีรายได้หรือความมั่งคั่งลดลง

แต่แค่มีจำนวนมาก สุขภาพดี และร่ำรวยนั้นยังไม่พอ เพราะ Yold ยังเป็นกลุ่มคนที่ ‘ทำงานยุ่ง’ ไม่แพ้คนหนุ่มสาวด้วย

ในปี 2016 พบว่าในประเทศร่ำรวย คนที่อายุระหว่าง 65-69 ปี ยังคงทำงานกันอยู่มากกว่า 1 ใน 5 และตัวเลขนี้มีแนวโน้มพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนแก่ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ กัน แต่ยังออกมาทำงานกันอย่างแข็งขัน โดยพบด้วยว่า การทำงานนี่แหละ ที่ช่วยให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรงยาวนานขึ้น มีการศึกษาของเยอรมนี พบว่าคนที่ทำงานหลังเกษียณ มีความสามารถในการรับรู้ (Cognitive Capacity) ดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำงาน โดยความสามารถนี้มีพอๆ กับคนที่อายุน้อยกว่าตัวเองราว 1.5 ปี

แล้วคนเหล่านี้จะส่งผลต่อโลกและสังคมได้สักเท่าไหร่กันเชียว

จอห์น พาร์คเกอร์ บอกว่า จะเป็นคนกลุ่มนี้นี่แหละ ที่ก้าวเข้ามา disrupt ตลาดในหลายมิติ ทั้งในเรื่องการบริโภค การบริการ และกระทั่งตลาดการเงิน

ตัวอย่างเช่น มีการค้นพบว่า กลุ่มลูกค้าสายการบินที่เติบโตสูงสุดในระยะหลัง ก็คือกลุ่มคนอายุมากกว่า 60 ปี คนเหล่านี้มีต้นทุนสะสมมากกว่า มีเวลาว่างมากกว่าด้วย ดังนั้นจึงเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญมากขึ้นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ที่น่าสนใจมากๆ อีกอย่างก็คือ คนกลุ่มนี้ยังต้องการเติมความรู้ให้ตัวเองอยู่เสมอด้วย นั่นทำให้มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ หลายแห่ง เริ่มเปิดการเรียนการสอนสำหรับผู้สูงวัยและคนที่เกษียณแล้ว อย่างเช่นฮาร์วาร์ดมีแผนกที่เรียกว่า Division for Continuing Education คือต่อให้แก่แค่ไหนแต่ถ้ายังมีไฟอยู่ ยังอย่างเรียนรู้อยู่ ก็สามารถสอบหรือสมัครเข้าเรียนได้แบบเดียวกับเด็กๆ

คนสูงวัยที่เคยร้องเพลง I Wish I Could Go Back to College นั้น ต่อไปนี้ไม่ต้องทำแค่ร้องเพลงแล้วนะครับ แต่สามารถไป ‘เข้าเรียน’ ได้จริงๆ เลย และพบว่าแนวโน้มของนักศึกษากลุ่มนี้ก็พุ่งสูงขึ้นด้วย ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงอาจไป disrupt อุตสาหกรรมการศึกษาได้อีก

บางคนอาจคิดว่า คนแก่น่าจะงกๆ เงิ่นๆ ทำงานอะไรไม่ค่อยได้หรอก ดังนั้นผลิตภาพหรือ productivity ก็น่าจะต่ำลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่มีการศึกษาในเยอรมนี พบว่าในบริษัทผลิตรถยนต์และบริษัทประกันภัย ผู้สูงวัยกลับมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยซ้ำไป และทีมทำงานที่มีคนทำงานหลากหลายวัย ก็เป็นทีมที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย ดังนั้น การที่คนกลุ่ม Yold ยังทำงานอยู่ จึงไม่ใช่การเข้าไปขัดขวางประสิทธิภาพหรือผลิตภาพ แต่อาจส่งเสริมการทำงานให้สังคมโดยรวมได้ด้วยซ้ำ

ที่ดีไปกว่านั้นก็คือ ก่อนหน้านี้ สังคมต้องใช้เงินไปกับการเลี้ยงดูผู้สูงอายุในรูปของเงินบำนาญหรือ pension ต่างๆ แต่พอคนกลุ่ม Yold ยังทำงานอยู่ ความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินบำนาญก็ลดลง และอย่างที่บอกว่าการทำงานช่วยรักษาคุณภาพของสุขภาวะเอาไว้ด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลก็ลดลงด้วย สังคมโดยรวมจึงอาจประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับคนแก่ลงไปได้มากทีเดียว

แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาบ้างเพื่อตอบรับกับเทรนด์ Yold ที่ว่า

จอห์น พาร์คเกอร์ บอกว่ามีอยู่สามระดับที่ต้องเปลี่ยน ระดับแรกคือการรับรู้ของเราเอง พูดอีกอย่างคือเป็นเรื่องในระดับวัฒนธรรม เพราะคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการมองว่าคนแก่เป็นคนที่เลิกทำงานแล้ว ไม่ได้อยู่ในวัยที่สร้างผลิตภาพให้สังคมได้ จึงเกิดการ ‘จำกัดสิทธิ’ คนแก่ในหลายเรื่อง (เช่นการประกาศรับคนโดยจำกัดอายุ หรือการจำกัดอายุพนักงานที่สามารถทำพาร์ทไทม์ได้ – อะไรทำนองนี้)

ระดับที่สองคือระดับรัฐ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเหมือนกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายสาธารณะต่างๆ เพื่อตอบรับกับคนกลุ่มใหม่ (ที่เก๋าในเรื่องวัย) นี้ และสุดท้ายก็คือการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพของทั้งภาครัฐและประกันสุขภาพ ซึ่งในอดีตไม่ค่อยยอมจ่ายเงินให้กับการ ‘ป้องกัน’ เท่าไหร่ เช่น การฉีดวัคซีนเบิกไม่ได้ ต้องรอให้ป่วยก่อนถึงจะเบิกได้ พบว่าในประเทศส่วนใหญ่ การเบิกจ่ายในเชิงป้องกันมีเพียง 2-3% เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้น่าจะพุ่งขึ้นถึง 75% ในปี 2030 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพต่อสังคมโดยรวมมากกว่าเยอะ

Yold จึงเป็นเทรนด์สำคัญของทศวรรษที่จะมาถึงจริงๆ เพราะมันคือ ‘จุดตั้งต้น’ ของสังคมผู้สูงวัยแบบใหม่ ที่จะส่งต่อเป็นมรดกตกทอดไปยังคนรุ่นถัดๆ ไป ที่หากไม่ตายเสียก่อนก็จะต้อง ‘แก่’ ไปด้วยกันทั้งหมดนั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save