fbpx

เศรษฐกิจโยคะ เมื่ออินเดียส่งออกวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงอินเดีย นอกจากภาพความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรมแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้ใครหลายคนรู้จักประเทศแห่งนี้คงหนีไม่พ้นการออกกำลังกายในร่มที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลกอย่าง ‘โยคะ’

กิจกรรมลักษณะนี้เป็นที่รู้จักอย่างมากและเริ่มมีผู้คนให้ความสนใจกับการออกกำลังกายรูปแบบนี้มากยิ่งขึ้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโยคะได้รับความนิยมจากทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เราเริ่มเห็นโยคะเข้าไปอยู่ในทุกฟิสเนตชั้นนำทั่วโลก จนในปัจจุบันเราอาจเรียกได้ว่าโยคะกลายเป็นแบรนด์สำคัญที่ถูกพูดถึงเมื่อใครหลายคนนึกถึงประเทศอินเดีย ถึงขนาดที่ว่าผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเลือกที่จะเดินทางไปอินเดียเพื่อไปเรียนรู้วิถีที่แท้จริงแบบโยคะตามสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่มีวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับโยคะที่แตกต่างกัน

และนับตั้งแต่พรรคภารตียชนตา หรือ บีเจพี พรรคชาตินิยมฮินดูของอินเดียขึ้นมามีอำนาจปกครองประเทศ รัฐบาลอินเดียซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ยกระดับโยคะให้กลายเป็นวาระแห่งชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาพลักษณ์ของอินเดีย และในทุกๆ วันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี รัฐบาลอินเดียได้กำหนดให้เป็นวันโยคะสากล ครั้งนี้เลยอยากชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมามองเรื่องราวของ ‘โยคะ’ ที่เป็นมากกว่าการออกกำลังกาย ทั้งในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ

อะไรคือ ‘โยคะ’

ก่อนที่โยคะจะเป็นที่รู้จักในฐานะรูปแบบการออกกำลังกายหรือแนวทางบำบัดสุขภาพ โยคะได้รับความนิยมในอินเดียอย่างมากในฐานะ 1 ใน 6 ลัทธิปรัชญาทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบไปด้วย เวทานตะ สางขยะ ไวเศษิกะ นยายะ มีมางสา และโยคะ เชื่อกันว่าลัทธิปรัชญาเหล่านี้มีมานับตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาล นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาแขนงต่างๆ ในอินเดียระบุไว้ว่า ฤษีปตัญชลีคือบุคคลสำคัญที่รวบรวมและเรียบเรียงโยคสูตรขึ้น อันเป็นบ่อเกิดสำคัญของลัทธิโยคะ

ตำราต้นฉบับถูกวางกรอบและอาศัยแนวคิดของลัทธิปรัชญาสางขยะ แต่ทั้ง 2 ลัทธิมีความต่างที่สำคัญคือ ในขณะที่ลัทธิสางขยะปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า ลัทธิปรัชญาโยคะเพิ่มเติมการนับถือพระเป็นเจ้าเข้ามา แต่พระเป็นเจ้าตามลัทธิโยคะนั้นแตกต่างจากลัทธิฮินดูอื่น เพราะไม่ได้มองว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้สร้าง รักษา ทำลาย และมีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตในโลก แต่มุ่งเน้นไปที่สถานะความไร้ซึ่งกิเลสและความมีคุณธรรมเป็นสำคัญ

คำว่า ‘โยคะ’ หมายถึงความเพียรพยายาม หรือการประกอบ ฉะนั้นจุดมุ่งหมายสำคัญของลัทธิปรัชญานี้คือความพยายามในการผสานกายและใจเข้าด้วยกันเพื่อบรรลุความสมบูรณ์ในการควบคุมกาย ประสาทสัมผัส และใจ โดยเชื่อว่าการกระทำที่สำเร็จเหล่านี้จะนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่โมกษะ หรือความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

ฉะนั้นปรัชญาของลัทธิโยคะ ในฐานะหนึ่งในลัทธิสำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องการผสานกายและจิตให้มีสมาธิสูงสุด เพราะฝ่ายโยคะมองว่าการไปถึงจุดสูงสุดของธรรมคือ การมีสมาธิพร้อมของกายและใจ และเพื่อไปให้ถึงสิ่งเหล่านั้น ลัทธิโยคะจึงคิดค้นวิธิการต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมในสายนี้สามารถเข้าถึงสมาธิที่ทั้งกายและใจสามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้

แนวคิดและแนวปฏิบัติในอดีตเหล่านี้จึงกลายเป็นต้นธารสำคัญที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้แนวทางการบริหารร่างกายและการกำหนดลมหายใจสำหรับฝึกฝนโยคะตามแนวปฏิบัติมาตั้งแต่ในยุคสมัยเริ่มแรกจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะหนึ่งในเรื่องสำคัญในปรัชญาโยคะคือ ความพร้อมทางกายผ่านการบริหารจัดการสรีระ และการกระทำกายบริหารเพื่อให้สภาพร่างกายมีความพร้อมในการประกอบการเพื่อเข้าสู่สมาธินั่นเอง ที่มาต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้มีรูปแบบกายบริหารของตัวเองซึ่งส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพดี เพราะเมื่อกายพร้อมการบริหารจิตก็จะพร้อมตาม

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ลัทธิโยคะมีความแปลกและแตกต่างจากลัทธิในแขนงอื่นๆ ที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องคำสอนและการบริหารจิต และความพิเศษนี้ทำให้โยคะสามารถเข้าถึงง่าย เพราะแนวทางการบริหารร่างกายอาจไม่ได้ผูกโยงโดยตรงนักกับตัวคำสอนทางศาสนา แต่มุ่งเน้นสร้างความพร้อมและสุขภาพที่ดีให้กับผู้ที่ต้องการเข้าสู่การฝึกขั้นที่สูงขึ้นของโยคะ ลักษณะเช่นนี้ทำให้คนทั่วไปสามารถฝึกกายบริหารตามคติของโยคะได้ และไม่จำเป็นต้องไปไกลกว่าการฝึกกายบริหาร

มูลค่าของ ‘โยคะ’ ในทางเศรษฐกิจ

แม้ว่าแนวทางการบริหารกายและจิตของโยคะจะเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศอินเดียนับตั้งแต่อดีต เพราะเป็นพื้นฐานการบริหารร่างกายและบำบัดสุขภาพตามความเชื่อดั่งเดิมมานานแล้ว แต่แนวปฏิบัติเหล่านี้ก็ยังจำกัดอยู่เพียงในประเทศอินเดียเท่านั้น เป็นการปฏิบัติส่วนบุคคล หรือเรียนรู้กันเองผ่านฤษี ครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วอินเดีย

บุคคลสำคัญซึ่งนำพาแนวทางการบริหารร่างกายที่ผสานระหว่างกายและจิตเข้าด้วยกันให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกฝั่งตะวันตก คือ ‘สวามี วิเวกานันท์’ (Swami Vivekananda) แม้ว่าในช่วงแรกแนวคิดนี้จะแพร่หลายในเชิงการฝึกปฏิบัติทางด้านจิตวิญญาณเป็นหลัก แต่นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทัศนะของชาวตะวันตกต่อโยคะมีความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความนิยมของโยคะในฐานะแนวทางหนึ่งในการออกกำลังกาย

ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลอย่างสำคัญต่อการเข้าถึงโยคะ เมื่อตัดความเป็นศาสนาและปรัชญาซึ่งอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ออกไปการปฏิบัติโยคะจึงเป็นไปอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นจนก่อเกิดเป็นอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโยคะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถูกรัฐบาลอินเดียหยิบจับมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

มีการประเมินกันว่าผู้คนทั่วโลกที่ออกกำลังกายตามแนวทางแบบโยคะอาจมีมากถึง 300 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีปริมาณมหาศาล และจำนวนคนที่มากขนาดนี้ก็ย่อมหมายถึงการใช้จ่ายเกี่ยวกับโยคะที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับโยคะทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจด้านเภสัชกรรมทั่วโลกถึง 3 เท่า เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว การใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องโยคะมีมากถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ฉะนั้นอุตสาหกรรมโยคะจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่กับกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ กีฬาและฟิตเนส

ในขณะเดียวกัน เรื่องราวของโยคะที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ยังมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอินเดียอีกด้วย โดยตลอดหลายปีมา สำนักครูบาอาจารย์ด้านโยคะในอินเดียมีชาวต่างชาติผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาร่ำเรียนหรือลงทะเบียนเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองสำคัญอย่างฤาษีเกษที่มีผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาร่ำเรียนแนวทางการออกกำลังกายแบบโยคะ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมากภายในเมืองแห่งนี้ และเมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอินเดียอีกด้วย

ฉะนั้น ในปัจจุบัน ‘โยคะ’ ได้ไปไกลเกินกว่าความเป็นปรัชญาทางศาสนาแล้ว แต่ถือเป็นอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศอินเดีย และผู้คนต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้

‘โยคะ’ กับความเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์อินเดีย

ด้วยขนาดเศรษฐกิจของโยคะที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของอินเดีย ฉะนั้นหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี โยคะจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโมเดลสำคัญในการส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของอินเดีย และสร้างการมีส่วนร่วมของคนทั่วโลกให้มีความเชื่อมโยงกับอินเดียผ่านโยคะ จนเกิดเป็นวันโยคะสากลที่จะจัดในทุกวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี

แม้ว่านโยบายนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากนักวิเคราะห์บางส่วนว่าเป็นเพียงการจัดกิจกรรมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้มีความยั่งยืน หรือสร้างผลกระทบใดๆ ต่ออินเดีย แต่ต้องยอมรับว่าการจัดกิจกรรมนี้ในแต่ละปีมีผู้คนเข้าร่วมจากทั่วทุกมุมโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอินเดียยังสามารถใช้เวทีนี้ในการส่งเสียงของตัวเองต่อประชาคมโลกได้อีกด้วย

ต้องยอมรับว่าอินเดียหยิบยก ‘โยคะ’ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอิทธิพลด้วยอำนาจละมุน (Soft power) และที่ไปไกลกว่านั้นคือ โยคะถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอินเดียในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการส่งเสริมการบริการทางสุขภาพ โดยเชื่อมโยงเอาค่านิยมและจุดแข็งทางด้านปรัชญาและวัฒนธรรมของตนเองมาเป็นจุดขาย จนส่งผลให้ผู้คนมากมายทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับโยคะ และอายุรเวทของอินเดีย

ยิ่งไปกว่านั้น ‘โยคะ’ ยังมีส่วนสำคัญช่วยในการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียให้ประชาคมโลกรู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะในอดีต อินเดียอาจไม่ได้เป็นที่จับตามองจากหลายคนเท่าไหร่นัก แต่การส่งเสริมโยคะทำให้คนจำนวนมากเห็นเรื่องราวของอินเดียผ่านช่องทางต่างๆ ทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งอินเดียประสบความสำเร็จอย่างมากในการกลับขึ้นมาเป็นที่สนใจของประชาคมโลก หลังจากต้องใช้เวลายาวนานมากในการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง

อาจต้องบอกว่าในวันนี้อินเดียได้เปลี่ยนแปลง ‘โยคะ’ ให้เป็นมากกว่าปรัชญาทางศาสนาเพื่อการบรรลุธรรมะสูงสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  เพราะในทุกวันนี้เราทุกคนรู้จัก ‘โยคะ’ ในฐานะแนวทางการออกกำลังกายและบำบัดสุขภาพที่ใครหลายคนต้องจ่ายเงินรายเดือนเพื่อเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมตามฟิตเนสต่างๆ หรือจ่ายเงินเพื่อซื้อชุดโยคะ เสื่อโยคะ หรือแม้กระทั่งยาอายุรเวทที่เกี่ยวข้องกับกับกิจกรรมโยคะ

‘โยคะ’ ในวันนี้เข้าถึงง่ายและกำลังแทรกซึมเข้ามาสู่ชีวิตทุกๆ คน ทีละเล็กละน้อยแบบที่เราไม่รู้ตัว ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะได้มีโอกาสทดลองท่าทางของโยคะเบื้องต้นด้วยตัวเอง และผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายคนอาจจะได้เห็นท่าทางของโยคะเพื่อแก้ปัญหาปวดเมื่อยต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จของประเทศอินเดียในการส่งออกวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเมื่อเรานึกถึง ‘โยคะ’ คำว่า ‘อินเดีย’ ก็จะติดตามมาด้วยเสมอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save