fbpx
เมื่อกฎหมายยังไม่ยอมอยู่เงียบใต้เสียงปืน : คุยกับ "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ในวันที่สถานการณ์สิทธิและเสรีภาพของไทยตกต่ำที่สุด

เมื่อกฎหมายยังไม่ยอมอยู่เงียบใต้เสียงปืน : คุยกับ “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ในวันที่สถานการณ์สิทธิและเสรีภาพของไทยตกต่ำที่สุด

ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ภาพ

 

“เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง”

แม้จะสั้นเพียงแค่สองประโยค แต่ภาษิตโบราณข้างต้นกลับอธิบายสถานการณ์ในประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ชี้ว่า ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2560

มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน

มีคนถูกจับกุม อย่างน้อย 595 คน

มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 82 คน

มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 64 คน

พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 300 คน

อาจถือว่านี่คือความตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งของสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของการเมืองไทย

หากจะมีใครสักคนที่สามารถประเมิน ‘ความตกต่ำ’ ครั้งนี้อย่างเจาะลึก  ‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) น่าจะเป็นคนนั้น

ยิ่งชีพเป็นหนึ่งในคนที่ใกล้ชิดกับ ‘ความตกต่ำ’ หนนี้มากที่สุด  คสช. ทำให้เขาต้องรับหลายบทบาท ตั้งแต่เป็นทนายความให้กับผู้ต้องหาในคดีที่ไม่มีใครกล้ารับ เป็นเอ็นจีโอที่นำทีมทำงานรณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพอย่างแข็งขัน กระทั่งแกล้งเป็นญาติผู้ต้องหาด้วยกลัวว่าจะมีคนถูกอุ้มไปแบบเงียบๆ – เขาก็ทำมาแล้ว

ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี ชวนยิ่งชีพมาพูดคุยและวิพากษ์สารพัดเรื่อง ตั้งแต่สถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของสังคมไทยในยุค คสช. จนถึงโลกของกระบวนการยุติธรรมไทย โลกของนักกฎหมายไทย และโลกของเอ็นจีโอไทย

เป็นบทสัมภาษณ์เรื่องใหญ่ (มาก) ขนาดยาว (มาก) ที่กลั่นจากประสบการณ์ตรง 4 ปีในโรงเรียนกฎหมาย และ 8 ปีในการทำงานเป็นเอ็นจีโอ

ท่ามกลางความสงัด เราพบว่า ในบางมุมของสังคม (นัก)กฎหมายยังไม่ยอมเงียบภายใต้เสียงปืนเสียทีเดียว

 ………………..

สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในยุค คสช.

การทำงานของทหารเหมือนจะไม่เป็นระบบ แต่ที่จริงแล้วมีระบบ รูปแบบ และวัตถุประสงค์อยู่ … ปฏิบัติการสำคัญของวิธีการแบบนี้คือ การสร้างความไม่รู้ เมื่อเราไม่รู้เราจะกลัว และเมื่อกลัว เราจะเงียบ”

สามปีที่ผ่านมากับรัฐบาล คสช. ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของสังคมไทยเป็นอย่างไร เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ท้าทายมากครับ นอกจากปิดกั้นมาก จับกุมมาก ดำเนินคดีมาก ยังมีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ หลายอย่างในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การทำงานของทหารเหมือนจะไม่เป็นระบบ แต่ที่จริงแล้วมีระบบ รูปแบบ และวัตถุประสงค์อยู่ ในช่วงสองสามเดือนแรกของการรัฐประหารจะเห็นว่า การเรียกรายงานตัวจะประกาศออกทางโทรทัศน์ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เลยว่าใครจะโดนบ้าง ซึ่งวิธีการแบบนี้มีระบบของตัวเอง คือประกาศเรียกอย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่บอกชัดเจนว่าเรียกไปทำไม เพราะเหตุใด ทหารมีอำนาจควบคุมตัวได้เจ็ดวัน คนที่เดินเข้าไปไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะต้องอยู่นานเท่าไหร่ บางคนกลับเลย บางคนอยู่สองวันสามวัน เจ็ดวัน หรือเกินบ้างไปก็มี ปฏิบัติการสำคัญของวิธีการแบบนี้คือ การสร้างความไม่รู้  เมื่อไม่รู้เราจะกลัว และเมื่อกลัว เราจะเงียบ

ตั้งแต่ปี 2558 รูปแบบการประกาศเรียกตัวถูกใช้น้อยลง คนส่วนใหญ่ไม่ต้องไปนอนค้างแล้ว แต่เขาใช้การไปที่บ้านแทน แบบนึกจะไปก็ไป ไม่บอกก่อนว่าจะไปเมื่อไหร่ บางครั้งแจ้งว่าจะมาคุยเรื่องอะไร บางครั้งไม่ชัด ครั้งหนึ่งคุย 20-30 นาทีก็กลับไป แล้วมีการพัฒนาเป็นชวนกินข้าว ชวนกินกาแฟ กระทั่งไปร่วมงานบุญบ้านนั้นบ้านนี้  จะเห็นว่า เขายังใช้ความไม่รู้กับความกลัวเป็นเครื่องมืออยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่า วิธีการนี้ได้ผล เพราะคนที่โดนก็ขยับตัวลำบากจริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2558 ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 หรือการใช้ กสทช. เป็นเครื่องมือในการควบคุมสื่อ เป็นต้น อันที่จริงไม่ใช่แค่ใช้กฎหมายใหม่ แต่กฎหมายเก่าที่ไม่ค่อยถูกใช้ ก็มีการเอามาใช้มากขึ้น

 

เท่าที่เคยคุยกับคนที่โดนเรียกไปในค่ายทหาร เขาเล่าให้ฟังว่าโดนทำอะไรบ้าง กระบวนการสร้างความไม่รู้ สร้างความกลัว สร้างความเงียบ เขาทำกันอย่างไร

มีหลายแบบ บางคนไปนอนเฉยๆ เจ็ดวันแล้วไม่ได้คุยอะไร แล้วปล่อยออกมา บางคนมีนายทหารเข้ามาคุย มาสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวบ้าง หว่านล้อมไม่ให้เคลื่อนไหวบ้าง

คนที่เป็นเป้าหมายหลักจะถูกสอบสวนโดยทีมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง บางคนเล่าว่า เจ้าหน้าที่จะนั่งล้อมเป็นสิบคนเลยก็มี มีการใช้กระบวนการเชิงจิตวิทยา เช่น หน่วยว๊ากที่คอยตะโกนใส่สลับกับหน่วยปลอบที่คอยพูดดีด้วย บางคนถูกสอบสวนหลายครั้งด้วยคำถามเดิมๆ ส่วนใหญ่จะถูกเอาไปสอบกลางดึก ตอนที่เหนื่อยมากแล้ว เป็นต้น

เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล คนที่เคยโดนเรียกหลายคนเล่าให้ฟังว่า ทหารจะขู่เลยว่า เขารู้ว่าเราเคยไปทำอะไร มีความสัมพันธ์กับใครบ้าง เขามีแฟ้มมีรูปเก่าว่า เราเคยไปร่วมกิจกรรมที่ไหน การที่ทหารใช้วิธีบอกว่าฉันรู้เรื่องของคุณจำนวนหนึ่ง มันทำให้กลัวได้ และสิ่งที่ทหารทำมาตลอดในยุค คสช. คือ การยึดมือถือไปค้นหาข้อมูลเมื่อถูกเรียกไปรายงานตัว ซึ่งการทำอย่างนี้ต่อให้เราไม่ได้ทำผิดอะไร เราก็รู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว

 

คสช. ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการคุกคามสิทธิเสรีภาพอย่างไร

อันแรกเลย คือ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ใจความหลักคือห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน คำสั่งนี้ใช้จับคนแบบไม่มีหลักเกณฑ์อะไร บางครั้งใช้จับคนที่แค่ไปประชุมกัน บางครั้งใช้ห้ามจัดงานเสวนาวิชาการ นอกจากนี้ ทหารยังใช้วิธีนี้ขู่การชุมนุมที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองด้วย เช่น เรื่องที่ดิน เรื่องสิ่งแวดล้อม

อันที่สองเป็นกฎหมายที่เพิ่งออกมาคือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่หลายคนผลักดันนานแล้ว แต่มาสำเร็จในรัฐบาลนี้ ใจความหลักของกฎหมายนี้คือ ถ้าจะชุมนุมต้องขออนุญาตล่วงหน้า โดยตำรวจจะให้หรือไม่ให้ชุมนุมก็ได้ ที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ห้ามการชุมนุมเป็นหลัก เมื่อมีการขออนุญาตชุมนุมจะถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดจัดชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตก่อน ผู้ชุมนุมจะถูกตั้งข้อหา “ชุมนุมโดยไม่แจ้ง” ซึ่งโดนมาแล้วหลายคน

 

บางคนบอกว่า ต่างประเทศก็มีกฎหมายที่กำหนดให้การชุมนุมต้องแจ้งทางการเหมือนกัน ไม่ใช่ใครจะชุมนุมก็ทำได้เลย ข้ออ้างแบบนี้ฟังขึ้นไหม

ตัวบทกฎหมายของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไม่ได้แย่จนเกินไป แต่ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ในเมืองไทยคือ การบังคับใช้ในยุค คสช. เป็นไปเพื่อปิดกั้นความเห็นต่างที่มีต่อคสช. เวลาใช้กฎหมายมักจะตีความกฎหมายเกินขอบเขตและให้ข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล

ตัวอย่างรูปธรรม เช่น ตอนที่เครือข่ายทำงานเรื่องผังเมืองจะจัดการชุมนุมเพื่อคัดค้านการใช้มาตรา 44 ยกเลิกการใช้ผังเมือง ตำรวจไม่อนุญาต โดยอ้างว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือตอนที่เครือข่ายประมงพื้นบ้านไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ตำรวจก็บอกว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องแจ้งก่อนถ้าไม่แจ้งก็จะมีความผิด จะเห็นว่า การตีความกฎหมายเป็นไปเพื่อปิดกั้นความเห็นที่ต่างจาก คสช. อย่างชัดเจน

 

เมื่อช่วงต้นบอกว่า รัฐบาลใช้ กสทช. ในการควบคุมสื่อ เขาใช้องค์กรที่ควรจะเป็นอิสระอย่าง กสทช. อย่างไร

มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่ต่อมาแก้ไขด้วยฉบับที่ 103/2557 ที่ห้ามไม่ให้สื่อกระแสหลักนำเสนอเนื้อหาไปในทางยั่วยุ หรือเกิดความแตกแยกปลุกปั่นกับประชาชน หากใครฝ่าฝืนจะเท่ากับฝ่าฝืนมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ นั่นเท่ากับว่า ประกาศ คสช. ให้อำนาจกับ กสทช. สั่งปรับหรือสั่งปิดสถานีได้

ไอลอว์เคยทำบันทึกเมื่อปลายปี 2558 พบว่า มีหลายกรณีที่ กสทช. เรียกสื่อเข้าไปพูดคุยเพื่อตักเตือน ในบางกรณีเราได้เห็นการลงโทษเลย เช่น รายการ Wake Up Thailand ทางว๊อยซ์ ทีวีที่โดนสั่งปิดไปหลายวันและหลายรอบ ต้องจอดับไปช่วงหนึ่ง 

 

อยากให้ยกตัวอย่างกฎหมายเก่าที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ใช้ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในรัฐบาลชุดนี้

กฎหมายที่โดดเด่นมีอยู่สองตัว ตัวแรกได้แก่ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 กฎหมายนี้เขียนว่าห้ามปิด โปรย หรือทิ้งใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะโดนโทษปรับ 5,000 บาท  คสช.ใช้กฎหมายนี้ในการควบคุมการติดป้ายผ้าและแจกใบปลิวที่เป็นการแสดงออกทางการเมือง

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เด่นคือ กฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ซึ่งตัวบทกำหนดไว้ว่า ห้ามยุยงให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาล เดิมทีกฎหมายนี้มีการใช้น้อยมาก เท่าที่ไอลอว์ทำงานตั้งแต่ปี 2553 – 2557 พบว่า มีอยู่ 4 กรณีเท่านั้นที่โดนฟ้องด้วย ม.116 แต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา มาตรา 116 ถูกตีความออกไปกว้างมาก มีคดีเกิดขึ้นหลายสิบคดี รัฐไม่รู้จะตั้งข้อหาอะไรก็ตั้งตาม ม.116 ไว้ก่อน เพราะถือว่าเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงที่ต้องขึ้นศาลทหาร

 

“ศาลทหารเป็นองค์กรทางการเมือง ทำหน้าที่รับสนองนโยบายทางการเมืองของ คสช. ถ้า คสช. อยากจะสั่งขังใคร ศาลจะสั่งขัง ถ้า คสช. อยากจะปล่อยใคร ศาลจะสั่งปล่อย ถ้า คสช. อยากดำเนินคดีอะไรเพื่อส่งสัญญาณบางอย่างต่อสังคม ศาลทหารจะทำอย่างนั้น” 

ในยุค คสช. เราได้ยินเรื่องเกี่ยวกับศาลทหารมาไม่น้อย เท่าที่ทำงานติดขอบสนาม เห็นอะไรในศาลทหารบ้าง 

ศาลทหารเป็นองค์กรทางการเมือง ทำหน้าที่รับสนองนโยบายทางการเมืองของ คสช. ถ้า คสช. อยากจะสั่งขังใคร ศาลจะสั่งขัง ถ้า คสช. อยากจะปล่อยใคร ศาลจะสั่งปล่อย ถ้า คสช. อยากดำเนินคดีอะไรเพื่อส่งสัญญาณบางอย่างต่อสังคม ศาลทหารจะทำอย่างนั้น

คดี ’14 นักศึกษา’ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะถ้าเปรียบเทียบเงื่อนไขการสั่งขังหรือสั่งปล่อยนักศึกษาจะเห็นว่าไม่ได้มีองค์ประกอบใดที่แตกต่างกันเลย นอกจากกระแสสังคม หรือคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ของจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมือง) ตอนศาลปล่อยก็ปล่อยเฉยๆ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมายเลย

 

หลักกฎหมายของศาลทหารคืออะไร และการที่พลเรือนต้องไปขึ้นศาลทหารส่งผลกระทบอะไรบ้าง

ศาลทหารถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีของทหารเป็นการเฉพาะ ซึ่งเถียงกันได้ว่า ทหารควรต้องมีศาลแยกเฉพาะหรือไม่ เช่น ในภาวะสงครามหากมีทหารหนีทัพ ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา หรือไม่ตามวินัยทหาร การให้ทหารด้วยกันตัดสินก็อาจฟังดูมีเหตุมีผลอยู่

แต่หลังรัฐประหาร คสช. ประกาศว่า ถ้าพลเรือนถูกตั้งข้อหาเรื่องความมั่นคง หรือข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. จะต้องถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหาร เรื่องนี้สร้างปัญหาหลายอย่าง เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่เป็นปัญหาอย่างมากคือ ศาลทหารไม่ได้มีความพร้อมในการรับคดีแบบนี้มาก่อน มีคดีจำนวนมากวิ่งไปทีนี่ แต่ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้พิพากษาไม่ได้มีความพร้อมเลย ตุลาการศาลทหารไม่ได้เรียนกฎหมายทุกคน บางคนเป็นทหารยศนายพลที่ถูกแต่งตั้งมาให้เป็นตุลาการศาลทหาร พอต้องมาเจอคดีพลเรือนที่มีความซับซ้อน ศาลทหารจึงรับมือไม่ได้

 

แล้วกระบวนการพิจารณาของศาลทหารเหมือนหรือต่างจากศาลทั่วไปอย่างไร

กฎหมายกำหนดให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความความอาญาเป็นหลักเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น การนัดพิจารณาคดี มักนัดไม่ต่อเนื่อง นัดสืบพยานวันละคน หากไม่เสร็จจะเลื่อนไป ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า ถ้าเป็นศาลพลเรือน การนัดพิจารณาจะทำกันแบบต่อเนื่อง เช่น สมมติถ้ามีพยาน 20 ปาก เขาจะนัดต่อกันสี่วันห้าวันให้เสร็จไปเลย

แต่ถ้ามองกระบวนการทั้งหมดจะน่าห่วงกว่า ในระบบศาลทหาร ทหารเข้ามามีบทบาทหมดทุกขั้นตอน เพราะเจ้าหน้าที่ในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และศาล ทุกคนเป็นทหาร หรือไม่ก็มีทหารเข้ามาอยู่ในทีม ดังนั้น ถ้าเกิดคดีความขึ้นกับคนที่ต่อต้านทหาร หรือเกิดคดีที่ทหารเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง คนที่สู้คดีไม่มีทางรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม ต่อให้ศาลยกฟ้องก็ตาม

 

ศาลทหารให้ยื่นอุทธรณ์ ฎีกาได้ไหม หรือว่ากันศาลเดียวไปเลย

ถ้าเป็นคดีในช่วงกฎอัยการศึกจะมีแค่ชั้นเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้  แต่หลังยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์และฎีกาได้

 

บรรยากาศในศาลทหารเป็นอย่างไร

ค่อนข้างน่ากลัว ทุกคนเป็นทหารหมด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รับยื่นเอกสาร และตุลาการ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต่อให้พูดจาดีแค่ไหน แต่ถ้าแต่งชุดทหารมา คงไม่มีใครรู้สึกดี เช่น เวลาเข้าไปต้องสั่ง “เคารพศาล” จะต้องมีการยืนตรง ซึ่งศาลปกติมีเหมือนกัน แต่ไม่ดุขนาดนี้

 

วัฒนธรรมของศาลทหารเปิดโอกาสให้โต้แย้งซักค้านอย่างเต็มที่ไหม

เรื่องนี้ตลกมาก เหมือนละครเลย คือคดีที่มีคนไปดูกับไม่มีคนไปดูจะต่างกัน คดีที่มีคนไปดูจะมีลักษณะของการโชว์ เคยมีคดีหนึ่ง มีคนต่างชาติไปดูด้วย วันนั้นฝ่ายโจทก์สืบพยานที่เป็นตำรวจว่าได้ทำบันทึกจับกุมจำนวน 1 แผ่น พยานก็ส่งบันทึกนี้ให้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษารับมาแล้วนั่งพลิกซ้ายขวา พยายามแสดงให้เห็นว่า เขาพิจารณาอย่างละเอียด ทั้งที่บันทึกจับกุมไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ มันเขียนเหมือนๆ กันหมด ซึ่งในกระบวนการปกติไม่จำเป็นต้องดูเลย แค่ปั๊มรับรองเท่านั้น ในแง่นี้มันเลยเหมือนเป็นละครฉากหนึ่ง

วันที่เขาอยากจะสั่งปล่อย เขาก็เปิดห้องพิจารณาโชว์ทุกคน แต่ในวันที่เขาอยากจะขัง เขาจะไม่เล่นละคร เช่น คดีที่สั่งพิจารณาลับ เขาจะไล่ทุกคนออก โดยไม่ถามสักคำว่าจำเลยจะค้านหรือเปล่า

 

แสดงว่าศาลทหารไม่มีมาตรฐาน

ไม่มีมาตรฐาน แต่ไม่ได้แย่ไปกว่าศาลพลเรือน ด้วยความเคารพ ศาลพลเรือนก็มีปัญหาเหมือนกัน

 

ทำไมทหารต้องมีเครื่องมือหลายแบบในการจัดการกับคนเห็นต่าง ทั้งที่ตัวเองกระชับอำนาจได้อยู่แล้ว

ทหารคงไม่อยากให้ภาพตัวเองดูแย่ เลยต้องพยายามอ้างกฎหมาย ทำอะไรที่ดูมีหลักการ มีกระบวนการยุติธรรมรองรับ แม้จะเป็นศาลทหารก็ตาม

การที่รัฐบาลทหารต้องหาความชอบธรรมบางอย่างหนุนหลังตัวเอง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ใส่ใจความนิยมจากประชาชนค่อนข้างมากเหมือนกัน

 

วิธีการแบบนี้ได้ผลจริงหรือ

ในสังคมมีคนหลายเฉด สมมติเราแบ่งคนแบบหยาบๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเชียร์ทหาร กลุ่มตรงกลาง และกลุ่มเกลียดทหาร คนกลุ่มแรกไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไร เขาก็จะเชียร์ ส่วนคนเกลียดทหาร จะอ้างกฎหมายอะไรเขาก็เกลียดอยู่ดี แต่สำหรับคนตรงกลางที่ไม่ได้ติดตามการเมืองเป็นประจำ หรือไม่ได้สนใจมาก การที่รัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลทำตามกฎหมายก็เป็นข้ออ้างที่พอฟังได้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้อยากจะไปค้นคว้าต่อว่า “กฎหมาย” ที่ว่านี้ คสช. เขียนเอง ประกาศเอง ใช้เอง

พูดอีกอย่างคือ เขาไม่ได้สื่อสารกับคนทุกกลุ่ม แต่เขาเลือกสื่อสารกับคนบางกลุ่ม ในการแบ่งแบบนี้ และเขาซื้อคนสองกลุ่มแรกได้ ก็โอเคแล้ว แต่แน่นอนว่า คนกลุ่มหลังจะไม่ชอบเขามากขึ้น (หัวเราะ)

 

จากไอลอว์ถึงวงการเอ็นจีโอ

 

“ถ้าลองไปเทียบกับการที่รัฐบาลออกทีวีทุกวันศุกร์ หรือออกในสื่อที่เขาคุมไว้หมดแล้ว จะเห็นเลยว่า เราเล็กมากในแง่ของการส่งสัญญาณต่างๆ ออกไปสู่สังคม”

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไอลอว์ก็สู้ในสนามเดียวกันกับรัฐบาล พยายามสื่อสารกับคนตรงกลางเพื่อชี้ให้เห็นว่า การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลมีปัญหาอย่างไร อะไรคือวิธีคิดหลักของไอลอว์

ไอลอว์พยายามเล่าข้อเท็จจริงเชิงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ชี้นำ เราจะไม่โพสต์เฟซบุ๊กว่า คสช. เลว หรือเรียกร้องให้คนมารวมตัวไล่ทหารกันเถอะ แต่ไอลอว์จะนำเสนอว่า วันนี้มีคนโดนจับกี่คน ศาลพิพากษาว่าอะไร ศาลพิจารณาคดีลับกี่คดี เป็นต้น จากนั้นอยากให้คนอ่านคิดเอง และตัดสินใจเอง

ในช่วงหลัง สิ่งหนึ่งที่ไอลอว์พยายามทำเพิ่มเติมคือ การสื่อสารเพื่อบอกเล่าในเชิงอารมณ์ความรู้สึก พยายามทำให้เห็นชีวิตและความเป็นมนุษย์ของคนที่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในยุค คสช. โดยหวังว่าจะซื้อใจคนกลุ่มตรงกลางได้บ้าง แต่ยังไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่

 

ทำไมการสื่อสารของเราถึงไม่ค่อยได้ผล

เราเล็กมาก ถ้าลองไปเทียบกับการที่รัฐบาลออกทีวีทุกวันศุกร์ หรือออกในสื่อที่เขาคุมไว้หมดแล้ว จะเห็นเลยว่า เราเล็กมากในแง่ของการส่งสัญญาณต่างๆ ออกไปสู่สังคม

นอกจากนี้ สื่อออนไลน์ยังมีลักษณะของการคุยกับพวกเดียวกันค่อนข้างมาก คนที่ตามเฟซบุ๊กเรา คุยกับเรา และแชร์งานเรา เป็นกลุ่มคนที่เห็นคล้ายกับเราอยู่แล้ว หรือบางทีนำหน้าเราด้วยซ้ำ ดังนั้น การแพร่กระจายของสื่อที่เราทำจะวนอยู่ในแวดวงคนกลุ่มนี้ แต่ยากที่จะไปถึงกลุ่มตรงกลางที่เราตั้งเป้าหมายไว้

หลายเรื่องที่ไอลอว์ทำแล้วคนแชร์มากระดับ 900 – 1000 แชร์ ตอนแรกเราเข้าใจว่าสังคมรู้แล้ว แต่ไม่ใช่เลย เชื่อไหมว่า กระทั่งคนที่ติดตามเรา เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำ เช่น ไอลอว์เคยทำข้อมูลเรื่องเรือนจำพิเศษในค่ายทหารไปหลายครั้ง แต่พอได้คุยกับคนที่ติดตามเราเป็นประจำ ปรากฏว่าเขาไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำว่ามีกรณีนี้อยู่

อีกปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องมันเยอะมาก เราทำไม่ทัน เอาจริงๆ ทำได้ไม่ถึงครึ่งของประเด็นที่อยากจะทำ แต่เท่านี้คนเสพก็เสพไม่ทันแล้ว ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่า เรายังมีจังหวะในการเขียนที่ไม่ดี เพราะไปเขียนเรื่องหนักออกมาทุกวัน คนอาจจะอ่านไม่ไหว

 

ตั้งแต่ที่ทำงานสื่อสารมา ประเด็นไหนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

เรื่องรัฐธรรมนูญมีคนเข้าถึงเยอะ แต่อยากพูดว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรดีมาก มันเป็นจังหวะที่ต้องมีประชามติ คนมีสิทธิที่จะร่วมตัดสินใจได้ ก็เลยมีบรรยากาศที่สังคมสนใจอยู่แล้ว เลยมีคนเห็นเยอะเฉยๆ

อีกกรณีคือ เรื่อง “หมอหยอง” (สุริยัน สุจริตพลวงศ์) ซึ่งค่อนข้างฟลุค เพราะก่อนจะเกิดเรื่องหมอหยอง มีกรณีของ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนประมาณอาทิตย์หนึ่ง ตอนนั้นไอลอว์เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการตายในค่ายทหารเอาไว้เพื่อจะโพสต์กรณีของปรากรม แต่เผอิญว่าพอเตรียมเสร็จแล้วเกิดกรณีหมอหยองพอดี เราเลยเอาเนื้อหามาปรับให้เป็นกรณีหมอหยอง ซึ่งเราพูดได้ทันวันที่เกิดเรื่องพอดี

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการสื่อสารในกรณีความตายของหมอหยองชวนคิดว่า แม้คนจะสนใจเยอะ รู้ข้อมูลเยอะ แต่อาจจะเปลี่ยนอะไรได้ไม่มากนัก

 

อะไรคือจุดอ่อนของงานไอลอว์

ส่วนใหญ่เรื่องที่ทำ เราจุดกระแสสังคมไม่ค่อยติด เราทำงานไม่ค่อยทัน เวลาที่เกิดเรื่อง กว่าเราจะออกมาพูด มันก็ช้าไปแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เราขยับช้า คิดช้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะนึกไม่ออกว่าต้องเล่นประเด็นอะไร ณ ตอนนั้น หรือพอคิดได้ ก็ต้องใช้เวลาอีกสักพัก กว่าจะเริ่มค้น กว่าจะเสร็จ คอมเมนต์กันเอง แก้งาน ต้องยอมรับว่า ทีมไม่ได้ทำงานเร็วมากพอ

 

“ไม่ใช่ว่าคนไม่สนใจเสรีภาพนะ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องซ้ำๆ เป็นรูปแบบเดิม ความเจ็บปวดก็แบบเดิม มันทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือเปลี่ยนอะไรไม่ได้ อ่านไปก็เท่านั้น แชร์ไปก็เท่านั้น แถมเสี่ยงอีกต่างหาก”

คุณวิจารณ์ตัวเองเยอะมาก เคยมองบ้างไหมว่า เป็นเพราะสังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่าหรือสนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างหาก

ไม่ใช่ว่าคนไม่สนใจเสรีภาพนะ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องซ้ำๆ เป็นรูปแบบเดิม ความเจ็บปวดก็แบบเดิม มันทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือเปลี่ยนอะไรไม่ได้ อ่านไปก็เท่านั้นแชร์ไปก็เท่านั้น เสี่ยงอีกต่างหาก

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่ไอลอว์เขียนงานเชิงอารมณ์ความรู้สึก โพสต์ไปหนึ่งเรื่องอย่างน้อยต้องได้ 200 – 300 แชร์ แต่ในปี 2559 งานคุณภาพเท่ากัน แต่โพสต์ไปแล้วได้ 50 แชร์นี่ถือว่าดีมากแล้ว เรื่องนี้บอกกับเราว่า คนอยากเสพเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่ แต่ว่าเขาเบื่อ เขารู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลทหารทำอะไรแบบนี้ ขนาดคนที่ทำงานอยู่บางทีก็ยังเบื่อเลย

คนต้องการอะไรใหม่ กิจกรรมออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ คือ กิจกรรมที่ทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของเขาและเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น กรณีการกดเอฟห้า เพื่อต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์

 

ในโลกที่ต้องหาอะไรใหม่อยู่ตลอด มีการปรับกระบวนการทำงานยังไง

เท่าที่คิดได้ อย่างน้อยเราไม่ได้พูดเรื่องเดิมทุกวัน และเราทำอะไรมากขึ้นตลอด เวลาทำงานสื่อสารเราจะไม่คิดใหญ่ ไม่คาดหวังว่าคนจะโกรธแค้นไปกับเราทุกครั้ง แต่เรื่องที่เลือกมาสื่อสารจะต้องมีการคัดสรรมากขึ้น หรือบางทีก็เปลี่ยนไปทำรูปแบบอื่นบ้าง เช่น การ์ดเกม หรือหนังสือเล่ม

อีกส่วนที่เราพยายามทำงานหนักขึ้นคือ การทำข้อมูลหลังบ้าน โดยบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง คนโดนกระทำไปแล้วกี่คน ให้ความสำคัญกับเรื่องสถิติ ข้อมูลเหล่านี้เราอดทนทำเก็บสะสมไว้ เผื่อโอกาสและจังหวะในการสื่อสารมาถึง เราจะได้มีพร้อมใช้

 

ทีมไอลอว์ท้อกันบ้างไหม เวลาพูดประเด็นเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่คนก็ไม่สนใจเท่าที่ควร

เป็นความเบื่อมากกว่า ช่วงที่แพ้ประชามติอาจมีท้อบ้าง แต่ก็เป็นช่วงไม่นาน โดยภาพรวมทีมไม่ท้อกันเพราะมีเรื่องใหม่ กฎหมายใหม่ คดีแบบใหม่ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ถึงกับย่ำอยู่กับที่เสียทีเดียว ถ้าเราไปตั้งเป้าหมายว่าทำงานเพื่อจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน เราก็ท้อง่าย แต่เราพยายามจะคิดเป้าหมายสั้นๆ แล้วทำไปทีละจุด-ทีละจุด

อีกอย่างที่มีส่วนคือ เวลาเลือกคนทำงาน เราจะไม่เลือกคนที่อินการเมืองมาก เพราะคนแบบนี้จะอยู่กับมันไม่ได้ คนที่อินมากจะเจ็บมากและเผาผลาญตัวเองไปเรื่อยๆ ทีมไอลอว์ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนสายการเมืองจ๋า ไม่ใช่นักกิจกรรมเข้มข้น แต่เป็นคนที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจว่ามันเป็นความผิดปกติ แล้วค่อยๆ ลงมือทำงานกันไป

 

“ปัญหาของวงการเอ็นจีโอไทยคือ ความน่าเบื่อ เราทำอะไรซ้ำเดิม ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราไม่สื่อสารกับสังคม คุยแต่กับคนในวงการเดียวกัน

อยากชวนมองภาพใหญ่ของวงการเอ็นจีโอบ้าง ทำงานมา 8 ปีในวงการนี้ อะไรคือด้านบวกและอะไรคือปัญหาของเอ็นจีโอไทย

ผมยังภูมิใจที่เป็นเอ็นจีโอ และมักพูดเสมอว่าการเป็นเอ็นจีโอมีข้อดี สังคมยังต้องการคนที่ลงมือทำอะไรอยู่ ต้องการอาสาสมัครจำนวนมาก แต่ก็ต้องการคนทำงานเต็มเวลาด้วย แม้ว่าสิ่งที่ทำมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ (หัวเราะ) สมมติว่ามีคนถูกซ้อมทรมาน อย่างน้อยเราต้องการคนเก็บข้อมูลและพูดแทนพวกเขา แม้เราไม่อาจเปลี่ยนหรือหยุดการซ้อมทรมานนั้นได้ในวันนี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาของวงการเอ็นจีโอไทยคือ ความน่าเบื่อ เราทำอะไรซ้ำเดิม ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราไม่สื่อสารกับสังคม ชอบคุยแต่กับคนในวงการเดียวกัน

สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอ็นจีโอไทยขาดคนรุ่นกลาง เรามีคนรุ่นอายุ 50 – 60 ปี กับรุ่นเด็กไปเลย โดยคนแก่เป็นบอร์ดบริหารและคนทำงานเป็นเด็กใหม่อายุ 23 – 25 ทำงานได้สักพักก็ลาออก ดังนั้นเอ็นจีโอไทยเลยไม่ค่อยมีความเชื่อมต่อระหว่างรุ่น และความคิดอ่านก็ขาดช่วง

 

คนรุ่นกลางหายไหน

หายไปไหนไม่รู้ หายไปเฉยเลย ถ้าให้มองไปที่รากของปัญหา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเอ็นจีโอไม่ค่อยมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพที่ชัดเจนเท่าไหร่ เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทดลองในสิ่งที่เขาอยากทำ ทำได้สักพักเขาก็ลาออกไปทำอย่างอื่น ที่ค่าตอบแทนชัดเจนกว่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง

แต่อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นก่อนไม่ยอมปล่อยมือ ซึ่งเขาก็ไม่ผิด แต่โครงสร้างงานแบบเอ็นจีโอ ทำให้เมื่ออายุเยอะแล้วมีทางเลือกในชีวิตน้อยมาก เพราะต่อให้ทำงานนานแต่ก็สะสมทรัพย์สินไม่ได้มาก จะเกษียณตัวเองนอนอยู่บ้านเลยก็ไม่ได้ ในทางกลับกัน เมื่อทำงานมาแล้ว 30 ปีจะให้ไปนั่งสัมภาษณ์ผู้เสียหายเพื่อทำบันทึกข้อมูลทีละคนก็คงไม่อยากทำแล้ว แต่จะให้ไปทำอาชีพอื่นก็ทำไม่ได้ เพราะประสบการณ์และบารมีที่ตัวเองสั่งสมมาเอาไปใช้ที่อื่นไม่ได้ เลยต้องนั่งค้ำฟ้าอยู่ตรงนี้ คนกลุ่มนี้ก็มีเยอะไปหมด และความคิดแบบใหม่ๆ ก็ไม่มีพื้นที่ให้เติบโต

ต้องย้ำก่อนนะว่า คนรุ่นก่อนไม่ได้แย่ หลายคนยังคงทำงานหนัก ทุ่มเท แต่ถึงจุดหนึ่งคนเราก็น่าจะต้องขยับขยายตัวเองบ้าง บางคนสะสมประสบการณ์และชื่อเสียงมาตั้ง 30 – 40 ปี เห็นทั้งปัญหา ข้อจำกัด ทั้งยังมีเครือข่ายเส้นสายมากมาย ก็น่าจะสร้างแนวทางใหม่ๆ ได้บ้าง

 

เป็นเพราะเรามองเขาจากสายตาที่ของ ‘เด็กกว่า’ หรือเปล่า เลยอาจไม่เข้าใจ

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ทำงานมา ผมแทบไม่เห็นพัฒนาการของวงการเลย ในปีแรกที่ทำงาน เวลาได้ยินคำนินทาหรือวิจารณ์ต่อเอ็นจีโอ ผมก็ไม่เข้าใจ แต่พอทำงานไปได้หลายปี เริ่มเห็นแล้วว่า การทำงานของเอ็นจีโอยังคงใช้วิธีการเดิมที่ทำกันมาตลอด เช่น จัดประชุมที่โรงแรม ทำความเห็นไปยื่นหน่วยงานราชการ ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล จัดทำรายงานประจำปี ไม่ใช่ไม่ควรทำ แต่มันก็วนอยู่แบบนี้

 

อยากเห็นเอ็นจีโอปรับตัวอย่างไร

เท่าที่คิดอะไรได้บ้างก็ได้พยายามทำไปแล้ว แต่ที่บ่นคนรุ่นเก่าๆ มาตลอดก็เพราะเชื่อและคาดหวังในประสบการณ์ของเขา หลายคนเห็นโลกมาก่อนเราตั้ง 30 – 40 ปี เราเลยคาดหวังว่า เขาจะแนะนำอะไรที่ดีให้กับเราได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาประชุม พอมีคนรุ่นใหญ่เดินเข้ามา บางครั้งเนื้อหาในห้องประชุมเป็นแบบเดิมเลย ทิศทางการทำงานไม่เคยเปลี่ยน คำตอบไม่มา ไม่มีอะไรใหม่

 

มีตัวอย่างที่ดีของกลุ่มรุ่นใหญ่บ้างไหม 

มีหลายคน แต่ผมไม่ได้สนิทกับทุกคน เช่น คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ถ้านับว่าท่านเป็นเอ็นจีโอนะ หรือว่า พี่ปุ่ม สารี อ๋องสมหวัง แห่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ข้อสังเกตที่ใช้วัด คือ เวลาประชุมถ้ามีคนเหล่านี้นั่งหัวโต๊ะ ผลลัพธ์จะแตกต่างจากตอนที่ไม่มี

อยากพูดถึง อ.จอน อึ๊งภากรณ์ หน่อย พูดแบบนี้กลายเป็นว่าชมเจ้านายตัวเองอีก (หัวเราะ) แต่คนอย่างอาจารย์จอนคิดทำอะไรใหม่ตลอดเวลา ตอนที่ อ.จอนทำประชาไทเสร็จ มันอยู่ได้แล้ว อ.จอนก็ลาออกมาตีโจทย์สังคมใหม่ มาตั้งไอลอว์ ระหว่างทำงานเมื่อโจทย์ที่อาจารย์ตั้งไว้ไปไม่ถึงเป้าหมาย อาจารย์ก็เปลี่ยนโจทย์ เปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานใหม่ เช่น ช่วงทำประชามติ ก็ผลักดันเว็บประชามติออกมา สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ถือว่าได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อรองรับเรื่องใหม่ๆ ให้ทัน

เอ็นจีโอไทยต้องตีโจทย์สังคมใหม่ แล้วทำสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา พูดอีกแบบคือ เอ็นจีโอต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากกว่านี้

“เอ็นจีโอไทยเป็นองค์กรเล็ก แต่มักฝันใหญ่กันทุกองค์กร เราชอบตั้งเป้าสูง ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย แต่โครงสร้างมันไปไม่ถึง”

หลายปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอไทยโดนวิจารณ์ค่อนข้างเยอะถึงความล้มเหลวในการทำงาน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

เวลาเอ็นจีโอไทยจะทำอะไร มีวัฒนธรรมที่ต้องชวนหลายๆ เครือข่ายมาร่วมมือกัน คนนู้นว่ายังไง คนนี้ว่ายังไง ทุกคนมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมกันไปหมด ทำให้งานเดินช้า พอเอาความต้องการทุกคนมารวมกัน ประเด็นของงานก็เลยไม่คม และยังต้องเอาเวลาไปลงกับการประสานงานกันมากกว่าการทำงาน

อีกเรื่องคือ โครงสร้างของเอ็นจีโอไทยเป็นองค์กรเล็ก แต่มักฝันใหญ่กันทุกองค์กร เราชอบตั้งเป้าสูง เช่น อยากสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคม อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ซึ่งฝันไกลมาก แต่โครงสร้างมันไปไม่ถึง เทียบไม่ได้กับทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ ดังนั้นพอลงมือทำก็จะได้ผลงานลอยๆ มีหลักการสวยหรู แต่จับต้องไม่ได้ สื่อสารกับสังคมไม่ได้

แหล่งทุนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอีกปัญหาหนึ่งของเอ็นจีโอไทย เอ็นจีโอไทยไม่มีแหล่งทุนภายในประเทศ ส่วนใหญ่เลยต้องไปขอแหล่งทุนภายนอกประเทศ แค่ต้องเขียนโครงการเป็นภาษาอังกฤษไปขอคนที่ไม่เคยเข้าใจปัญหามาก่อนก็ยากแล้ว ทำให้ทุนของเอ็นจีโอถูกจำกัดให้มีคนแค่ไม่กี่คนเข้าถึงได้ ปัญหาของแหล่งทุนยังเกี่ยวพันกับเรื่องการดึงคนด้วย เพราะถ้าไม่มีเงิน องค์กรก็ไม่สามารถจ่ายสูงเพื่อให้คนรุ่นกลางอยู่ทำงานได้

 

ทำงานเอ็นจีโอมา 8 ปีแล้ว ฝันอยากเห็นเอ็นจีโอไทยเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการทำงานด้านสิทธิและเสรีภาพ

อันดับแรก ต้องเลิกพูดภาษาแบบเก่า ถ้าอยากคุยกับสังคมต้องหาวิธีการใหม่ๆ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องปฏิญญาสากล หรือกติกาที่ประเทศไทยเป็นภาคี เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือเก่า โอเค! จริงอยู่ว่ามันเคยมีประสิทธิภาพในสมัยที่มีกติกาสากลขึ้นมาใหม่ เป็นความหวังให้เราในอดีต แต่เรากลับอ้างกติกาเหล่านี้จนเป็นเพียงวาทกรรม ทั้งที่ภาษาที่ใช้ในกติกาเหล่านั้นไม่ค่อยคุยกับคนทั่วไปเท่าไหร่

สอง คาดหวังให้ต่ำแล้วทำงานให้หนักขึ้น เรามักจะเห็นว่าเวลาเอ็นจีโอออกแถลงการณ์จะเรียกร้องสูงมาก แต่ข้อเรียกร้องนั้นไม่มีใครจัดหามาให้ได้ ผมเชื่อว่า การตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่เป็นไปได้ และทำให้มันไปถึงทีละก้าว สนุกกว่ามาก

 

นักกฎหมาย ศาล และกระบวนการยุติธรรม

 

“คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า คนที่ถูกฟ้องมาตรา 112 เป็นพวกด่าเจ้า ดูหมิ่นเจ้า ให้ร้ายเจ้า แต่ว่าในความเป็นจริง มีหลายคดีที่เขาไม่ได้พูดจาทำนองนี้ บางคนไม่ได้พูดถึงเรื่องเจ้าเสียด้วยซ้ำ เขาพูดเรื่องอื่นแต่ถูกโยงเข้ามา”

โจทย์สำคัญที่ไอลอว์ทำงานหนักมาโดยตลอด คือเรื่อง ‘ม.112’ หรือที่ไอลอว์เรียกว่า ‘กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ’  ในยุคที่กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากที่สุด ถ้าจะสื่อสารกับคนกลุ่มตรงกลาง อยากเล่าอะไรให้เขาฟัง

คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า คนที่ถูกฟ้องมาตรา 112 เป็นพวกด่าเจ้า ดูหมิ่นเจ้า ให้ร้ายเจ้า แต่ว่าในความเป็นจริง มีหลายคดีที่เขาไม่ได้พูดจาทำนองนี้ บางคนไม่ได้พูดถึงเรื่องเจ้าเสียด้วยซ้ำ เขาพูดเรื่องอื่นแต่ถูกโยงเข้ามา บางคนพูดเรื่องเจ้าจริง แต่พูดในแง่ประโยชน์สาธารณะ คนกลุ่มนี้มีความเชื่อของว่า ประเด็นถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะในบางมุม

แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า คนที่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 มากกว่าครึ่งจะเปลี่ยนใจ ถ้ารู้ว่าคนที่โดนคดีนี้เขาพูดอะไร และที่เขาพูดเพราะเขาเชื่ออะไร ผมเคยคุยกับคนรักเจ้ามากๆ คนหนึ่ง ในตอนแรกเขาจะมาด่านั่นแหละ แต่พอได้คุยกันและเขาได้รู้ว่า มีหลายกรณีที่คนโดนคดีไม่ได้ด่าแบบเสียเทเสีย แต่เป็นการพูดเรื่องประโยชน์สาธารณะ เขากลับบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้เขารับได้นะ

 

อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการสื่อสารเรื่องนี้

ปัญหาใหญ่คือ เราผลิตซ้ำข้อความเหล่านี้ไม่ได้เลย เราทำได้แค่บอกว่า คนนี้ถูกดำเนินคดีจากการพูดเรื่องพระมหากษัตริย์ในบริบทสังคมการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา

 

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมได้ไหม

ผมเล่าให้ฟังได้ แต่สุดท้ายมันเอาไปลงไม่ได้อยู่ดี เพราะมันผลิตซ้ำไม่ได้ นี่ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งไหม

 

ปัญหาของ ม.112 อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย หรือตัวเนื้อหาของกฎหมาย

เรื่องนี้อาจมีคนเห็นต่าง แต่ส่วนตัวผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายมากกว่าตัวเนื้อหา

 

เราคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมได้ไหมในคดี 112

ในสถานการณ์แบบนี้ทุกคนกลัวกันหมด มีอยู่กรณีหนึ่ง คนที่โดนคดีมีอาการทางจิต ถามว่าตำรวจและอัยการรู้ไหมว่า ผู้ต้องหามีอาการ ทุกคนเห็นกันหมด แต่ไม่ฟ้องไม่ได้ ยังไงก็ต้องทำ แล้วไปเสี่ยงเอาข้างหน้าว่าผลจะเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วทุกคนกลายเป็นเหยื่อของโครงสร้างแบบนี้

ในส่วนของศาล ในกรณีที่มีอาการทางจิต ผมให้เครดิตกับศาลทหาร เพราะถ้ามีใบรับรองแพทย์เขาจะให้ประกันตัว แต่ศาลพลเรือนไม่กล้าให้ เขาจะตัดสินแล้วพิพากษาลงโทษกันไปตามนั้น

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่สะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมือง คือ ก่อนรัฐประหาร เรายังสามารถเข้าไปฟังศาลพลเรือนตัดสินคดี ม.112 ได้ จดบันทึกได้ แต่ในช่วง คสช. เป็นต้นมา ศาลพลเรือนสั่งพิจารณาลับตลอด และศาลหลายคนมีท่าทีกลัวเป็นพิเศษ คอยตวาดทนาย คอยตวาดคนที่จะมาเข้าฟัง

 

เขากลัวอะไรกับการทำตามหลักการที่ควรจะเป็น

ไม่รู้เหมือนกันว่าเขากลัวอะไร บางทีสิ่งที่พวกเขากลัวอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ มันมีอยู่หรือคนที่จะมาไล่ตรวจสอบว่า ตำรวจคนนี้สั่งไม่ฟ้อง ศาลคนนี้สั่งไม่ลงโทษ แล้วไปตามเล่นงานทีหลัง มันเป็นบรรยากาศของสังคมการเมืองมากกว่าที่ทำให้พวกเขากลัวไว้ก่อน

มีกรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี ผมเคยเป็นทนายให้จำเลยคนหนึ่งที่โดนคดี ม.112 ศาลพิพากษาให้ลงโทษ แต่หลังตัดสินเสร็จศาลมากระซิบผมหลังไมค์ว่า ทนายทำหน้าที่ได้ดีนะ ถ้าไม่พอใจคำพิพากษาก็อุทธรณ์ได้ ผมมองว่า ศาลกำลังบอกผมโดยนัยว่า เขาคิดว่าคดีควรยกฟ้อง แต่ตัวเขาเองยกไม่ได้ เลยต้องลงโทษ

อีกตัวอย่างหนึ่ง ผมเคยไปยื่นประกันชั้นตำรวจ ซึ่งตามกฎหมายเรามีสิทธิ แล้วตำรวจจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ แต่ในกรณีนี้เขาบอกเลยว่าอย่ามายื่นประกันที่นี่ เห็นได้ชัดเลยว่า เขาไม่อยากยุ่ง ไม่อยากรับผิดชอบอะไรเลย

 

ถ้าจะปฏิรูป ม.112 เราต้องทำอย่างไร

ต้องปฏิรูปความรู้ความเข้าใจ  ต้องทำให้คนเข้าใจถึงผลเสียของการใช้กฎหมาย ม.112 ทั้งต่อตัวผู้ที่ติดคุกเอง ทั้งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่คนที่สุดโต่งยังมีอยู่ไม่น้อย และคนกลุ่มนี้มักจะเข้าใจผิดมากที่สุดด้วย

พูดแบบนี้อาจถูกด่าว่าเป็น ‘พวกโลกสวย’  แต่การแก้ตัวบทมันไม่ใช่ทางออก เพราะต่อให้แก้รัดกุมแค่ไหน ถ้าทุกคนยังอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ ยังกลัวกันขนาดนี้ แก้ไปสถานการณ์อาจไม่ดีขึ้น

 

“องค์กรที่ถูกออกแบบมาให้สวนกระแสอำนาจหรือวัฒนธรรมก็คือสถาบันตุลาการ ถ้ามีอะไรผิดไปจากสิ่งที่หลักกฎหมายเขียนไว้ แต่มันไปสนองอำนาจ ไปสนองวัฒนธรรมสังคม ศาลต้องไม่ไหลไปตามนั้น แต่ทุกวันนี้ศาลไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง”

ทำไมการบังคับใช้กฎหมายในบ้านเราถึงมีปัญหา อะไรคือปัญหาใหญ่ของนักกฎหมายไทย

นักกฎหมายไม่มีความกล้าที่จะยึดหลักการอะไร

 

กฎหมายน่าจะมีหลักชัดเจน แต่ทำไมกฎหมายจึงเป็นหลักให้กับทุกคนไม่ได้

กฎหมายเป็นพื้นที่สีเทา การใช้กฎหมายจึงต้องตีความเสมอ พื้นที่สีเทาของกฎหมายเป็นพื้นที่ที่ถกเถียงกันได้ สีเทาจะเข้มหรืออ่อนขึ้นอยู่กับว่านักกฎหมายจะยึดอะไรเป็นหลัก เช่น ยึดประโยชน์ของคู่ความเป็นหลัก ยึดประโยชน์ของสาธารณะ เป็นต้น

แต่ในกรณีของไทย นักกฎหมายจะกลัวผิด กลัวที่จะต้องมาถกเถียงกันเลยใช้วิธีอ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลในคดีก่อนเป็นหลักยึด ซึ่งวิธีการนี้มีปัญหา เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการใช้กฎหมายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องยึดตาม ปัญหาคือ ถ้าตีความไม่ตรงฎีกาแล้ว คุณไม่แก่พอ คุณไม่เจ๋งพอ คุณจะโดนผู้พิพากษาที่แก่กว่าตั้งคำถาม เมื่อเป็นแบบนี้คนส่วนใหญ่เลยยึดตามศาลฎีกาไป

 

การยึดคำพิพากษาศาลฎีกามีปัญหาอะไร

ฎีกาทุกฎีกาไม่ได้ถูกเสมอไปตามหลักกฎหมาย เราต้องเข้าใจว่าฎีกาหนึ่งๆ ถูกตีความเพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่คดีหนึ่งๆ สมมติมีบางคดีที่ศาลพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วเห็นว่า จำเลยมีเจตนาร้าย อยากลงโทษจำเลยให้ได้ จึงพัฒนาการตีความบางอย่างขึ้นมาเพื่อขยายความกฎหมายให้ลงโทษคนนี้จนได้ แต่เวลาเรียน เราจะเรียนฎีกาแบบย่อมาแค่ 3 บรรทัดที่สรุปว่ากฎหมายตีความว่าอย่างนี้ แล้วเดินตามกันจนหมด ระบบเลยเพี้ยนไปทั้งระบบ และจะเป็นแบบนี้ไปจนกว่าจะมีผู้พิพากษาศาลฏีกาคนใหม่ที่กล้าหาญมากลับหลัก แต่ถ้ายังไม่มี ศาลชั้นต้น ศาลอุทรณ์ ศาลอะไรทุกศาล ก็ตีความแบบนั้นหมดเลย

 

นอกจากความไม่กล้าในการตีความกฎหมายแล้ว วัฒนธรรมของผู้พิพากษายังมีปัญหาอะไรอีก

ผู้พิพากษาไม่ได้ทำตัวเป็นไม้บรรทัดทางหลักการให้กับสังคม แต่ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสังคม เช่น ตอนที่รัฐดำเนินนโยบายประหารผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงกับสิ่งที่สังคมคิด ศาลควรจะเป็นองค์กรที่ออกมาคานการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งไม่ได้ทำ

ผมพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทำนองนี้ ทุกคนที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม นอกจากตำแหน่งงานของเขาแล้ว เขายังเป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมด้วย เมื่อสังคมตกอยู่ในความเชื่อบางอย่างหรือตกอยู่ใต้ความหวาดกลัว ส่วนที่เป็นมนุษย์จึงบอกให้เขาทำงานเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ปัญหาอีกอย่างคือ องค์กรศาลเป็นองค์กรที่ตรวจสอบไม่ได้  เขาถูกสอนกันมาว่า ถ้าศาลผิด การตรวจสอบศาลทำได้ผ่านการอุทธรณ์และฎีกาเท่านั้น ผู้พิพากษาไม่ได้ถูกสอนมาว่าตัวเองถูกวิจารณ์ได้เลย

 

เรื่องแบบนี้เขาสอนกันตั้งแต่ตอนไหน

ในขั้นตอนการอบรมผู้พิพากษาใหม่ เขาจะสอนกันเลยว่า ผู้พิพากษาต้องอยู่เหนือคนอื่น มหาวิทยาลัยอาจมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้อยู่บ้าง เช่น การสอนวิจารณ์คำพิพากษาจะต้องขึ้นต้นว่า “ด้วยความเคารพ ข้าพเจ้าเห็นต่างดังนี้” แล้วความเห็นนั้นต้องเป็นแบบวิชาการเท่านั้น

 

เมื่อการวิจารณ์จากภายนอกทำไม่ได้ แล้วภายในแวดวงผู้พิพากษามีการตรวจสอบกันเองไหม มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาระหว่างกันบ้างหรือเปล่า

สำหรับผู้พิพากษา เขาจะให้เกียรติกันระดับหนึ่ง ในคดีหนึ่งจะมีองค์คณะผู้พิพากษา 2-3 คน คนหนึ่งจะเป็นคนร่างสำนวน เมื่อร่างเสร็จจะเอาไปปรึกษาคนอื่น โดยวัฒนธรรมแล้ว ถ้าไม่ผิดหรือว่าแย่จริงๆ เขาคงไม่บอกว่าอีกคนผิด

ส่วนในวงการกฎหมาย อัยการและทนายมักจะเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ตรวจสอบและวิจารณ์ศาล ทั้งที่การออกมาวิจารณ์ในทางสาธารณะว่าคำพิพากษาผิดไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เขาเลือกไว้ก่อนแล้วที่จะไม่วิจารณ์ เพราะกลัวกฎหมายละเมิดอำนาจศาลอีก จนเรื่องนี้กลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว

“เมื่อวิจารณ์ไม่ได้ ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ปรับตัว มีคำพูดหนึ่งในหมู่ผู้พิพากษาคือคำว่า ‘ผีบัลลังก์สิง’ หมายความว่า เมื่อเป็นผู้พิพากษามานาน ได้ขึ้นบัลลังก์บ่อยๆ จะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรถูกต้องเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจผิดได้”

ระบบนิเวศในกระบวนการยุติธรรมดูไม่สมบูรณ์เอาเสียเลย?

เมื่อวิจารณ์ไม่ได้ ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ปรับตัว มีคำพูดหนึ่งในหมู่ผู้พิพากษาคือคำว่า ‘ผีบัลลังก์สิง’ หมายความว่า เมื่อเป็นผู้พิพากษามานาน ได้ขึ้นบัลลังก์บ่อยๆ จะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรถูกต้องเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจผิดได้

สมมติถ้าทนายไม่เห็นด้วยกับศาล เถียงศาล ศาลมักจะไม่ชอบ และมองว่าทนายคนนั้นไม่น่ารัก กลายเป็นว่าเถียงมากเข้าเดี๋ยวมีผลกับรูปคดี นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทนายไม่อยากเถียงศาลเท่าไหร่

 

วงการทนายมีปัญหาบ้างไหม แตกต่างจากแวดวงนักกฎหมายอื่นอย่างไร

มีสิครับ (ทำเสียงจริงจัง) วงการทนายไม่มีความน่าเชื่อถือ สังคมไทยไม่เคยให้เกียรติทนาย อาจเป็นเพราะทนายที่ไปหลอกลูกกความมีมาก ปัญหาหลักของวงการทนายกลายเป็นว่า ‘คนดี’ ไม่อยากเป็นทนายกัน สุดท้ายเลยทำให้ทนายดีมีน้อยลงไปอีก

 

‘ทนายดี’ ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร

ทนายที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ อยากจะทำเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อยากปกป้องลูกความให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งทนายแบบนี้ไม่ใช่ไม่มี มี-แต่ว่าหายาก ส่วนใหญ่คนเก่งๆ ที่มาเป็นทนายก็เพราะอยากรวยกัน และพร้อมจะใช้ความรู้กฎหมายเพื่อเอาใจลูกความ

 

การที่สังคมขาด ‘ทนายดี’ ส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร

เราไม่มีคนช่วยปกป้องชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมาย คำที่ชอบบอกกันว่า ‘ในคุกมีแต่คนจน’ เรื่องนี้เป็นความจริง แต่ที่มันจริงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรวยสามารถมีทนายเก่งได้ ในการสู้คดีเวลามีทนายกับไม่มีทนายจะคนละแบบเลย

ไม่ได้จะบอกว่าไม่มีคนรวยติดคุกเลย มีบ้างแหละ แต่พอคนรวยโดนคดีจะมีโอกาสรอดสูงกว่า ยิ่งรวยยิ่งได้ทนายเก่ง ในขณะที่คนจนที่ไม่รู้กฎหมายจะหาที่พึ่งไม่ค่อยได้

 

วงการนักกฎหมายไทยเป็นแบบนี้แสดงว่าการเรียนการสอนกฎหมายของไทยน่าจะมีปัญหาหนักเอาเรื่องเหมือนกัน 

เรื่องนี้แยกเป็น 2 ประเด็น คือ การเรียนการสอนระดับปริญญาตรีกับการเรียนเนติบัณฑิต

ปัญหาของการเรียนกฎหมายในระดับปริญญาตรี คือ เน้นเรียนเพื่อเป็นนักกฎหมายธุรกิจมากเกินไป ผมจบมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เน้นธุรกิจน้อยลงบ้างแล้ว แต่ในรายวิชาหลัก ยังต้องเรียนประมวลกฎหมายแพ่ง 20 กว่ารายวิชาจาก 32 รายวิชา ซึ่งเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งหมด

ไม่ปฏิเสธว่า กฎหมายธุรกิจสำคัญสำหรับการทำงาน เอาไปประกอบอาชีพได้ แต่ว่ากฎหมายเหล่านี้ไม่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเอาไปใช้แก้ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ประสบพบเจอได้ เช่น ปัญหาสิทธิผู้บริโภค ปัญหาจราจร กฎหมายพวกนี้แทบไม่ได้เรียนเลย ใครที่จบออกมาทำงานเฉพาะประเด็นต้องไปค้นประเด็นนั้นต่อเอาเอง สุดท้ายกลายเป็นว่า นักกฎหมายไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับกฎหมายในชีวิตประจำวันเลย

ส่วนปัญหาของการเรียนเนติบัณฑิต สถาบันนี้ทำลายวงการกฎหมายมาก เพราะคนที่ไปเรียนจะต้องท่องจำกฎหมายไปสอบ ต้องจำเยอะมาก แล้วเวลาออกข้อสอบก็เอาคำพิพากษาศาลฎีกามาออกข้อสอบ เวลาตรวจก็ตรวจตามคำพิพากษาศาลฎีกา นักเรียนที่ทำข้อสอบจะรู้เลยว่าตอนทำข้อสอบต้องเขียน ‘คีย์เวิร์ด’ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้ได้ ถ้าเห็นต่างได้คะแนนศูนย์ทันที ไม่ว่าจะมีเหตุผลแค่ไหนก็ตาม

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

สาเหตุเป็นเพราะอาจารย์และคนออกข้อสอบไม่สามารถคิดโจทย์ได้เอง ซึ่งเป็นปัญหามาจากการที่นักศึกษามีจำนวนมากจึงต้องใช้คนตรวจข้อสอบหลายคน ถ้าปล่อยให้ตรวจตามการใช้เหตุผล หรือตามความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นว่าการตรวจข้อสอบไม่มีมาตรฐาน

ในด้านหนึ่งการวัดว่าคนจำคำพิพากษาศาลฎีกาได้ไหมอาจจะเป็นมาตรวัดที่นิ่งและยุติธรรมที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่งการสอบและการเรียนเนติบัณฑิตได้ตัดคนออกจากการตั้งคำถามไปเลย

 

การเรียนการสอนที่เน้นเฉพาะเทคนิคทางกฎหมาย ท่องฎีกาท่องมาตราแบบที่เป็นอยู่ ส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงการกฎหมาย

นักกฎหมายไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถามว่ากฎหมายนี้ดีหรือไม่ กฎหมายที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ทั้งที่ในโลกจริง กฎหมายหลายฉบับออกมาเพื่อสนองนโยบายและวิธีคิดของผู้มีอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ในกรณีของประเทศไทย กฎหมายมากกว่าครึ่งถูกออกในรัฐบาลทหารทั้งนั้น อาจด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือเพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจก็ตาม คนที่เรียนกฎหมายจะท่องจำได้ว่ากฎหมายเหล่านี้เขียนว่าอะไรบ้าง ศาลฎีกาตีความอย่างไร แต่จะไม่ได้เรียนเลยว่าทำไมถึงมีการออกกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมา เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนเลยไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่า กฎหมายนี้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และกฎหมายที่จำเป็นควรจะเป็นอย่างไร

เมื่อการเรียนการสอนทำนองนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ประเทศไทยเลยไม่มีองค์ความรู้ชุดนี้ กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ว่า ไม่สอนเพราะไม่มีความรู้ หรือเพราะไม่มีความรู้เลยไม่ได้สอน

 

เคยคุยกับคนรู้จักที่เป็นนักกฎหมาย ทนาย หรือผู้พิพากษาบ้างไหมว่า เขามอง ม.44 อย่างไร เพราะนี่คือสิ่งที่อยู่เหนือหลักกฎหมายที่พวกเขาร่ำเรียนกันมาคนละโลกเลย

เขารู้นะว่ามันผิด แต่ไม่อยากพูดอะไรให้เปลืองตัว เพราะเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องการเมือง

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของการใช้ประกาศคณะปฏิวัติมาเป็นกฎหมาย เอาเข้าจริง ประกาศคณะปฏิวัติถูกเอามาใช้ในการเรียนการสอน หรือเอามาใช้ทำคดีกันอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้น สำหรับนักกฎหมาย การใช้มาตรา 44 จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือผิดปกติจนเกินไป ถึงแม้จะบอกได้ว่ามันผิดก็ตาม

 

นักกฎหมายไทยคุ้นชินและยอมรับการใช้อำนาจที่อยู่เหนือหลักกฎหมายอย่างนั้นหรือ

นักกฎหมายไทยไม่ได้ถูกสอนมาให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจหรือโครงสร้างวัฒนธรรม เราเรียนมาแค่กฎหมายเขียนว่าอะไร ใช้กันอย่างไร เราจึงถูกสอนมาเพียงวิธีการ กลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน รับใช้มัน และทำตามมันไปเท่านั้น

องค์กรที่ถูกออกแบบมาให้สวนกระแสอำนาจหรือวัฒนธรรมก็คือสถาบันตุลาการ ถ้ามีอะไรผิดไปจากสิ่งที่หลักกฎหมายเขียนไว้ แต่มันไปสนองอำนาจ ไปสนองวัฒนธรรมสังคม ศาลต้องไม่ไปตามนั้น แต่ทุกวันนี้ศาลไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save