fbpx
ล้อมวงฟัง 'เยนา' เล่าเพลงคนเท่ากัน - "เธอและฉันส้นเท้าก็เหยียบบนพื้นดิน"

ล้อมวงฟัง ‘เยนา’ เล่าเพลงคนเท่ากัน – “เธอและฉันส้นเท้าก็เหยียบบนพื้นดิน”

ธิติ มีแต้ม และ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ธิติ มีแต้ม และ สุภาวดี กลั่นความดี ภาพ

“อยู่บนโลกเดียวกัน มีเพียงชั้นบรรยากาศเป็นหลังคา อยู่ในเช้าวันจันทร์เดือนพฤษภาเดียวกัน เธอและฉันส้นเท้าก็เหยียบบนพื้นดิน” จากเพลง โถขี้

“ฉันไม่อาจปฏิเสธคำสั่งจากท้องฟ้า เหนี่ยวไกปืนแนบตามแบบที่ฝึกมา ไม่หวาดผวาต่อเสียงกรีดร้อง กระสุนทะลุท้องของชายชรา” จากเพลง แกงไตปลา

“เจ้านายร่ำรวยเป็นพวกรัฐมนตรี มีลูกสาวสี่จากเมียทั้งสองคน สุขกันแบบงงๆ ขอเพียงไม่จนก็พอ เงินเดือนห้าพันทำทุกอย่างที่มี ล้างเยี่ยว เช็ดขี้ เจียวไข่ เปลี่ยนหลอดไฟ นี่แหละคนรับใช้ อาชีพซึ่งไร้คนแล” จากเพลง คนรับใช้

บทเพลงของวงดนตรีนาม ‘เยนา’ ได้รับการกล่าวขานถึงความเข้มข้นในการเล่าถึงเลือดเนื้อชีวิตและสภาพสังคม ซ้ำยังกรีดเข้าไปในจิตใต้สำนึก เสมือนเปิดแผลเพื่อสืบค้นดูว่า ผู้ฟังอย่างเราๆ ท่านๆ สมาทานความคิดความเชื่ออะไรในการสานสัมพันธ์กับผู้คนที่ปะปนอยู่ร่วมกัน

“เด็กชายหน้าตามัวเมา ใบหน้าดูเศร้าเปื้อนรอยบาทา มีใครที่รู้บ้างไหมน้าว่ารอยนี้มาจากพ่อของเขา” จากเพลง กรุงเทพฯ

“จากวันนั้นที่อุ้มลูกน้อยห้อยโตงเตง กล่อมบทเพลงแข่งเสียงหวูดรถไฟ สู่นมผงกล่องใหม่ แทนที่เต้านมไร้น้ำเหี่ยวแล้ง” จากเพลง Hi Hello

ดูจากเนื้อเพลง อ่านจากบรรทัด คงพออนุมานได้เบื้องต้นว่า หนึ่ง เยนาเป็นกวี ถ้อยคำในเพลงพวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่แค่ทางฉันทลักษณ์เท่านั้น แต่ยังฉุดเราเข้าไปในโลกของความคิดที่มีทำนอง สอง เยนาเชื่อเรื่องคนเท่ากัน และพวกเขาไม่ขวยเขินที่จะพยักรับและยืนยันด้วยน้ำเสียงของตัวเอง

ประเด็นคือ ‘โฟน อิงอมรรัตน์’ (มือเบส), ‘กุล พงศ์พิพัฒน์’ (ร้องนำและกีตาร์), ‘คึกฤทธ์ เยนา’ (มือกลอง) พวกเขาทั้งสามไม่ใช่คนเดือนตุลาฯ ไม่เคยเข้าป่าจับปืน และไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นสายเพลงเพื่อชีวิต

‘เยนา’ คือคนหนุ่มอายุสามสิบต้นๆ อยู่กับยุคสมัยที่เป็นไปตามบทเพลงของพวกเขาเอง

101 สัมภาษณ์ ‘เยนา’ ด้วยความเอ็นจอย ร้องร่ำ และฮัมเพลงไปพร้อมกับพวกเขาทุกบททุกตอน

 

เยนา

อยากชวนคุยตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า มารวมวงกันได้ยังไง

กุล : อย่างแรกก็ต้องเป็นเพื่อนกันก่อนเนอะ ตอนแรกผมเป็นเพื่อนกับโฟนก่อน เรียนด้วยกันตั้งแต่ม.2 ที่เตรียมพัฒนฯ ต่างคนก็ต่างเล่นเพลง cover กันไปตามประสา ยังไม่ได้รวมวงอะไรกัน พอช่วงมหาลัย เราอยากมีเพลงของตัวเองบ้าง ก็เริ่มแต่งเพลงเอง โฟนก็แต่ง ผมก็แต่ง แล้วก็แลกกันฟัง ซึ่งมันเริ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ตอนนั้น ผมเรียนศิลปากร โฟนเรียนม.กรุงเทพ แต่ยังเล่นดนตรีด้วยกัน เอาเพลงมาแลกกันฟังอยู่เรื่อยๆ

แล้วเยเข้ามาตอนไหน

โฟน : ช่วงที่จะเริ่มทำวง เป็นช่วงที่ผมเล่นดนตรีกับอาจารย์ที่มหา’ลัยอยู่ ก็ลองถามอาจารย์ว่ามีใครตีกลองได้ ซึ่งเราก็เจอหลายคนนะครับ หนึ่งในนั้นคือเย ผมกับกุลก็ไปคุยให้แต่ละคนฟังว่า เราจะทำเพลงแบบนี้นะ เนื้อหาประมาณนี้ สนใจกันมั้ย ปรากฏว่าสองในสามคนดูเหมือนจะไม่เอาด้วย สุดท้ายก็มาลงตัวที่เย

แล้วคำว่า เยนา มาจากอะไร

โฟน : มาจากเยนี่แหละครับ ตอนแรกจะใช้ชื่อวงว่า เย คำเดียวสั้นๆ เลย

กุล : เหมือนตอนนั้นเรายังคิดชื่อวงกันไม่ได้ แล้วเยก็เข้ามาพอดี คำว่า เย มาจาก เยนา ที่เป็นนามสกุลของเย

เย : จริงๆ แล้วผมไม่ได้ชื่อเยด้วยนะครับ แต่เพื่อนมันเรียกกันติดปากตั้งแต่เด็กๆ

โฟน : เราคุยกันว่า ชื่อนี้มันเพราะดี แล้วก็ดูเหมาะกับวงด้วย

กุล : ใช่ เรารู้สึกว่ามันเพราะมากๆ คือพูดปั๊บ เพราะเลย ก็เลยเอาชื่อนี้เลย

มีความหมายไหม

เย : ผมเคยพยายามไปหาว่ามันแปลว่าอะไร แต่ก็ไม่เจอนะ คือผมเป็นมุสลิมด้วยครับ เคยไปถามผู้ใหญ่ เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน  เข้าใจว่ามันอาจเพี้ยนมาจากคำอื่นอีกที

เมื่อพูดถึงเพลงของ เยนา สังเกตว่าพวกคุณทำเพลงที่มีเนื้อหาไม่เหมือนชาวบ้านเท่าไหร่ คือเพลงที่พูดถึงคนตัวเล็ก พูดเรื่องคนเท่ากัน พอมารวมวงกัน เช็คกันยังไงว่าสิ่งที่แต่ละคนเชื่อนั้น เหมือนหรือไม่เหมือนกัน

กุล : ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ คือแต่ละคนอาจโตมากับความคิดเรื่องคนเท่ากันอยู่แล้ว พอมาเจอกัน มันก็ไปด้วยกันได้ แทบไม่ต้องเถียงกันเรื่องนี้เลย

โฟน : อย่างผมกับกุล ถ้ามันไม่ใช่ หรือรู้สึกว่าความคิดไม่ตรงกัน เราก็จะรู้กันตั้งแต่ ม.2 แล้ว

กุล : ถูก แล้วเราไม่เคยพูดว่าควรมีใครที่ใหญ่กว่าใคร หรือมีใครที่ต้องถูกยกไว้เหนือคนอื่น เราไม่รู้สึกแบบนั้นเลย สำหรับเรายังไงคนก็ต้องเท่ากัน

งั้นขอถามแยกแต่ละคนเลยว่า วิธีคิดเรื่องคนเท่ากัน แต่ละคนได้รับการบ่มเพาะมายังไง

กุล : สำหรับผมน่าจะได้มาจากที่บ้านเป็นหลัก ที่บ้านผมจะไม่มีการประโคมว่าใครดีกว่าใครเลย เขาค่อนข้างจะมองทุกอย่างเท่าๆ กัน แม้กระทั่งสัตว์ ก็มองว่ามันมีชีวิตของมัน

ผมเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่สามารถพูดอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ไปหมิ่นประมาทใครนะครับ แต่วิจารณ์ได้ ที่บ้านผมค่อนข้างเปิดกับสิ่งนี้ ผมรู้สึกว่าควรวิจารณ์ได้ทุกคน แง่หนึ่งคำว่าคนเท่ากัน ก็คือการที่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เท่ากัน วิจารณ์โดยมารยาท ด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการด่าทอนะครับ

เย : ส่วนของผม มาจากชีวิตประจำวันทั่วไปเลย อย่างที่บ้านผมมีสวนลำไย แล้วผมก็ต้องดูแลพวกคนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชา เราเป็นนายจ้าง แต่บางทีเราเห็นเขาต้องทำงานหนัก ได้กินอาหารที่ไม่ค่อยดี บางทีเราถือโค้กไป แต่เขากินน้ำในกระติก ไม่มีน้ำแข็งด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าทำไมเขาไม่ได้กินเหมือนเรา บางทีเราก็ซื้อไปให้เขา ซึ่งมันเป็นแค่น้ำใจมากกว่า

แต่ว่านายจ้างบางคน เขาอาจไม่ซีเรียส หรือไม่รู้สึกอย่างเรา แต่เรารู้สึกว่าอย่างน้อยๆ ก็ต้องทำให้เขารู้ว่า เฮ้ย เราไม่ได้มองว่าเขาต่ำกว่าเรานะ ส่วนมากผมคิดกับเขาแบบเพื่อนมากกว่า ถ้าช่วยซับพอร์ตอะไรเขาได้ ก็จะช่วย

โฟน : ของผมก็คล้ายๆ กับทั้งสองคนครับ มาจากสิ่งแวดล้อมที่เราโตมา บ้านผมทำรับเหมา ออกแบบตกแต่ง ต้องคลุกคลีกับแรงงานเหมือนกัน พ่อผมก็พูดเลยว่า เรื่องค่าแรงงานขั้นต่ำ มันไม่พอสำหรับเขาจริงๆ เขาต้องเลี้ยงลูก ต้องจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ มันไม่พอสำหรับคนคนหนึ่งที่จะเลี้ยงครอบครัวได้

บางที 300 ยังน้อยไปเลย เทียบกับการทำงานทั้งวัน ตั้งแต่ 9 โมงจนถึง 4-5 โมงเย็น นี่คือสิ่งแวดล้อมที่ผมเจอมา ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดี ผมคิดว่าทุกคนรู้หมดแหละ อยู่ที่ว่าคิดกับมันแค่ไหน

วงดนตรี เยนา

เท่าที่ฟังมา ทุกคนได้รับการบ่มเพาะมาจากที่บ้านหมดเลย

กุล : ใช่ครับ

เย : แต่พอนึกดู ของผมจะมีอยู่ช่วงนึง ตอนมัธยม ที่บ้านจะให้ผมไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย ซึ่งผมก็ไม่ไป ผมรู้สึกว่าไม่ชอบระบบนั้นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ระบบที่มีคนสั่งคำสั่งบางอย่างมา แล้วเราขัดอะไรไม่ได้ ผมไม่ชอบให้ใครมาสั่ง มาบังคับ ในลักษณะที่ห้ามเถียง ห้ามตอบโต้ ผมก็เลยไม่ไปสอบ เพราะไม่โอเคกับระบบแบบนี้

แล้วการต้องอยู่ในสังคมที่มีการล่าแม่มด เคยเจอการปะทะกันทางความคิดกับคนอื่นๆ หรือถูกล่าแม่มดบ้างไหม

กุล : ปกติผมไม่ค่อยออกไปเคลื่อนไหว หรือแสดงความเห็นอะไรในเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ก็เลยยังไม่โดน เราค่อนข้างจะโฟกัสในเรื่องเพลงกันอย่างเดียว เพราะนี่คือสิ่งที่เราถนัด เรามีเป้าหมายชัดว่าจะทำเพลงเรื่องคนเท่ากันนี่แหละ พูดง่ายๆ ว่าพยายามจะสู้ด้วยเพลง นี่ถือเป็นจุดยืนของเราเลย

 

รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากไหม กับการพยายามสู้ด้วยเพลง ด้วยดนตรี มีวิธีบาลานซ์ความอึดอัดคับข้องของตัวเองไง ให้สามารถโฟกัสอยู่แค่การทำเพลงอย่างเดียวได้ โดยไม่ก้าวล้ำไปสู่การเคลื่อนไหวหรือต่อสู้รูปแบบอื่นๆ

กุล : สำหรับผมไม่ยากเลยครับ เพราะพอเราทำออกมา เราก็รู้สึกดีด้วย รู้สึกว่าเราได้พูดออกไปแล้วนะ ผ่านเพลงของเรา พวกผมเป็นคนทำเพลง ฉะนั้นเราก็ชัดเจนว่าจะทำแต่สิ่งนี้แหละ ส่วนเรื่องเนื้อหา ถามว่าต้องระวังมั้ย บาลานซ์ยังไง ก็แทบจะไม่ต้องบาลานซ์อีกเหมือนกัน เพราะมันออกมาเองเลย

โฟน : ผมก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรยุ่งยากเลย แล้วก็แทบไม่ต้องทำให้เนียนเลยนะ คือเพลงมันมายังไง เราก็ปล่อยออกไปแบบนั้น

กุล : ใช่ แทบไม่เคยแก้เลย ไม่เคยมีการมาแก้ว่าคำนี้มันแรงไป หรือเสี่ยงไป วงเราไม่เคยเจอภาวะแบบนั้นเลย อาจมีคำที่ดูหยาบนิดหน่อย แต่สุดท้ายเราก็ปล่อยออกแบบนั้น

โฟน : พอปล่อยออกไปแล้วมีคนฟัง มีคนชอบ มันก็สะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า คนเขาก็ฟังกัน เขามีความคิดบางอย่างที่คล้ายๆ กันกับเรา

เวลาจะเขียนแต่ละเพลง ต้องลงไปคลุกคลีหรือสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านั้นมาขนาดไหน ถึงเขียนออกมาได้แบบนี้

กุล : สำหรับผม ถ้าเกิดคิดถึงเรื่องๆ หนึ่งขึ้นมา ผมจะย้ำคิดอยู่ในหัวตลอดเวลา แล้วก็เขียน แล้วก็จมอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะเขียนเสร็จ ส่วนใหญ่คือการใช้เวลากับตัวเอง คิดซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน บางเรื่องเห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แล้วเอามาเขียน มาคิดต่อ ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับใครมาก แต่ผมค่อนข้างซีเรียสกับทุกๆ คำที่ออกไป จะคิดจนกว่าจะพอใจ

ขอเริ่มจากเพลง แกงไตปลา เลยละกัน อยากให้เล่าวิธีคิดว่าเกิดจากอะไร แลกเปลี่ยนกันยังไงจนได้เป็นเพลงนี้ขึ้นมา

โฟน : ช่วงนั้นผมอ่านหนังสือพิมพ์ ก็เห็นชีวิตของทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน เขาใช้ชีวิตในพื้นที่แบบนั้น เรารู้สึกว่าเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร ก็เลยเริ่มเขียนขึ้นมา ทีละท่อนๆ ใส่ทำนองเข้าไป แล้วก็เอามานั่งคุยกับกุล ซึ่งกุลก็มีความคิดอีกแบบหนึ่ง แต่พอมารวมกันแล้วมันไปในทิศทางเดียวกัน

ตอนที่กุลได้ยินเพลงนี้ คิดยังไง รู้สึกยังไง

กุล : พอโฟนร้องให้ฟังปุ๊บ ผมรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วเรื่องเกียรติยศมันแทบไม่มีความหมายเลย ในแง่ที่จะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกเสียใจน้อยลง เราคุยกันบ่อยมากเรื่องนี้ ว่าถ้าเราเป็นพ่อแม่ของทหารที่ตายไป การประดับเกียรติยศต่างๆ นานาหลังจากลูกเขาตายแล้ว หรือจะจัดงานศพให้อย่างดีแค่ไหน ก็ไม่น่าจะช่วยให้เขาเสียใจน้อยลงได้ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ควรคิดกันมากกว่าคือ จะทำยังไงให้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แต่แรก ไม่ใช่มาแก้กันตอนหลังด้วยการจัดงานศพให้ดี เพิ่มยศให้ทีหลัง ผมว่ามันไม่เวิร์คเลย

โฟน : อย่างคำที่บอกกันว่า ตายในหน้าที่ เรารู้สึกว่าถ้าเป็นคนขายบะหมี่อยู่ริมทาง แล้วเขาโดนรถชนตาย เขาก็ตายในหน้าที่เหมือนกัน

กุล : ใช่ แต่ผมก็เข้าใจนะว่าการเป็นทหารมันเสี่ยงกว่าคนอื่น แต่ถ้าในภาพรวม ทุกคนต่างก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนประเทศทั้งนั้น

นอกจากความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำหน้าที่อะไร ก็ไม่สมควรตาย มีบางท่อนที่น่าสนใจ เป็นต้นว่า “รถถังยานเกราะสั่งตรงจากเมืองนอก คือเครื่องบ่งบอกความพังพินาศ” “ผ้าเช็ดหน้าสร้างมาเพื่อซับน้ำตา แต่กี่ผืนล่ะจะซับเวลาทั้งหมดของสงคราม” ประโยคแบบนี้ได้มาจากไหน

โฟน : อย่างเรื่องรถถัง มันก็เป็นพาดหัวข่าวเลย ในรัฐบาลยุคหนึ่งที่เขาสั่งรถถังเข้ามา แต่อีกด้านก็พูดว่าจะหยุดสงครามที่ภาคใต้ด้วยสันติวิธี เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว นี่คิดแบบพื้นฐานเลย

แล้วประโยคที่ว่า “ฉันไม่อาจปฏิเสธคำสั่งจากท้องฟ้า” โผล่มาได้ยังไง

โฟน : อย่างแรกเลย ประเทศไทยเป็นประเทศที่พ่อปกครองลูก ผู้ใหญ่ปกครองเด็ก อันนี้ชัดเจน กระทั่งเวลาผมอยู่บ้าน พ่อก็ปกครองผม ท้องฟ้าก็หมายถึงอะไรที่อยู่ด้านบน อาจเปรียบเหมือนคนมีอำนาจที่สั่งคนที่อยู่ด้านล่างได้ อีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับทุกอาชีพที่มีลูกน้องกับเจ้านาย ทหารก็เป็นแบบนี้ เขาปฏิเสธคำสั่งไม่ได้แม้ว่าเขาไม่อยากทำตาม

กุล พงศ์พิพัฒน์ (ร้องนำและกีตาร์)
กุล พงศ์พิพัฒน์ (ร้องนำและกีตาร์)

เรื่องเนื้อเพลง หรือการใช้คำ มีการดีเบตกันแค่ไหนยังไง

เย : เอาจริงๆ เรื่องเนื้อเพลง เราไม่เคยขัดกันเลยนะครับ เพราะมุมมองของเราไปในทางเดียวกันอยู่แล้ว

กุล : ส่วนสำคัญคือเราสามคนมีความคิดไปในทางเดียวกันอยู่แล้ว หลักๆ เลยคือคนต้องเท่ากัน อย่างไม่มีข้อแม้ นี่เป็นเรื่องที่เราซีเรียสกันมาก

โฟน : เราคิดไปในทางเดียวกัน แล้วต่างคนก็ต่างยอมรับในความคิดของคนอื่นด้วย ทั้งในพาร์ทดนตรี พาร์ทเนื้อเพลง ทุกคนให้เกียรติกัน

อย่างเพลง พิราบ ใครเป็นคนแต่ง มีที่มาจากไหน

กุล : มาจากที่เห็นนกพิราบนี่แหละครับ เชื่อมไปถึงเรื่องคน เรื่องการตาย การให้ค่ากับชีวิต ผมเห็นว่านกพิราบนี่มีอยู่เต็มเลย แล้วเวลามันตายไปสักตัว มันเหมือนไม่มีค่าเลย ผมเลยรู้สึกว่าอะไรที่มันมีจำนวนเยอะ เวลาที่มันตายไป ค่าของมันจะถูกลดลง เหมือนว่าตายๆ ไปบ้างก็ดี ขณะเดียวกันสัตว์บางประเภทที่มีน้อย เช่นสัตว์สงวน กลับแตะต้องแทบไม่ได้ เพราะต้องสงวนไว้ เกิดคำถามว่าคุณค่าของมันไม่เท่ากันเหรอ

ประเด็นคือ เราทำแบบนี้กับคนไม่ได้นะครับ แต่ก็อย่างที่เห็นในสังคม บางคนเราก็แตะต้องไม่ได้ เพราะเขานามสกุลใหญ่มาก มีอิทธิพลมาก ถ้าเทียบเนื้อหาในเพลง เหมือนว่านกพิราบมันอิจฉา ประมาณว่ามันต้องเหลือจำนวนน้อยๆ ก่อนใช่มั้ย ถึงจะมีสิทธิ์มีชีวิตต่อได้ ทั้งที่แต่ละชีวิตควรมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าสายพันธุ์ไหน นามสกุลอะไร ก็เป็นหนึ่งชีวิตเหมือนกัน

เพลงไหนที่ใช้เวลาในการเขียนเนื้อนานที่สุด

กุล : น่าจะเป็น ชายเหวี่ยงแห ครับ เพลงนี้ค่อนข้างเอามาคิดต่ออยู่สักพักว่า จะเล่าอะไรดี แต่ตัวเหตุการณ์นั้นเราเห็นมาจริงๆ มีชายเหวี่ยงแหอยู่บนสะพาน แล้ววินมอเตอร์ไซค์ก็ยืนหัวเราะกัน ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่าจริงๆ เขาหัวเราะเรื่องอะไร แต่ผมเอามาคิดต่อ คิดแบบซีเรียสเลยนะครับ เพลงนี้คิดนานสุดเลย กว่าจะเขียนออกมา

ผมเกลียดมากเลย การที่คนเรามาดูถูกหรือหัวเราะเยาะอาชีพของคนอื่น วงเรามีหลายเพลงที่พูดถึงอาชีพเล็กๆ เช่น นรับใช้ รวมถึงชายเหวี่ยงแห ชายเหวี่ยงแหนี่ผมไปคุยกับเขามาด้วยนะครับ เขาว่าเขาจับไปขาย โดยที่มีคนมาคุมเขาอีกทีด้วยนะ ถ้าถามเรื่องอาชีพผมค่อนข้างอินมาก เวลาเห็นใครหัวเราะเยาะอาชีพใครนี่จะรู้สึกว่า แหม มันน่าเอามาแต่งเพลงเหลือเกิน

ถามเยบ้าง ในขณะที่เพื่อนสองคนเป็นคนแต่ง เวลาเพื่อนเอาเพลงมาให้ฟัง รู้สึกยังไง แล้วคิดออกมาเป็นดนตรียังไง

เย : ส่วนมากเยจะเอาไปฟัง จับอารมณ์เพลง แล้วก็คิดต่อว่า ถ้าเนื้อร้องมาแบบนี้ อารมณ์เพลงประมาณนี้ กลองควรเป็นยังไง เพื่อที่จะสื่ออารมณ์และเนื้อหาของเพลงออกมาให้ชัดที่สุด ส่วนมากเยจะรับเพลงมา แล้วก็ฟัง แล้วก็คิดว่าเพลงนั้นน่าจะเป็นแบบไหน บวกกับการเล่นเบสของโฟน และกีต้าร์ของกุล เราจะไม่ใส่กลองให้มันรกมากเกินไป จนคนไม่ได้ฟังเนื้อดีๆ ที่โฟนกับกุลแต่งมา

เวลาทำเพลง เราอาศัยการแจมกันมากกว่า ไม่ใช่ใครคิดมาเบ็ดเสร็จแล้วเอาแบบนั้นเลย อาจคิดจากบ้านมาบ้าง แต่พอเข้าห้องซ้อมแล้วเราก็มาหาจุดร่วมกันที่คิดว่ามันใช่ที่สุด

โฟน : อย่างเพลง แกงไตปลา ตอนแรกก็ไม่ใช่คอร์ดแบบเวอร์ชั่นล่าสุด ผมเขียนมาอีกคอร์ดหนึ่ง ถ้าเพลงนี้ไปอยู่ในยุค 30 ปีที่แล้วอาจดังมากก็ได้ แต่พอเราทำด้วยกัน เราก็เปลี่ยนให้สำเนียงมันดุขึ้น เป็นคอร์ด minor

ส่วนเนื้อหาเพลง คนฟังจะไปตีความทำนองแบบไหนก็แล้วแต่ เหมือนศิลปะที่เปิดให้คนตีความ ได้คิดต่อยอดโดยที่เราไม่ต้องไปบอกว่า เฮ้ย ต้องคิดแบบนั้นแบบนี้

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนยุคนี้ ทำไมแทนที่จะเล่าเรื่องตัวเอง เล่าโมเมนต์ส่วนตัวบางอย่างที่อยู่ในจิตใจ แต่กลับเลือกที่จะเล่าเรื่องที่ไกลตัวออกไป เคยรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองเรื่องนี้มั้ย

กุล : ถ้าในแง่ส่วนตัว ผมรู้สึกว่าเรื่องของตัวเองมันไม่มีอะไรที่น่าสนใจ หรือน่าเล่า แต่พอเห็นเรื่องคนอื่น เรารู้สึกว่าน่าเล่ามากเลย

โฟน : ผมว่าในช่วงอายุของคน มันจะมีช่วงชีวิตหนึ่งอยู่แล้วที่เราจะนึกถึงแต่เรื่องของตัวเอง อย่างช่วงที่ผมอยู่มหา’ลัย เรียนศิลปะ อายุประมาณ 18-22 ผมว่านั่นเป็นช่วงที่เราจะนึกถึงตัวเองเยอะมาก โดยเฉพาะคนที่เรียนด้านศิลปะมา เพราะมันง่ายต่อการที่เขาจะแสดงออกเป็นผลงานบางอย่าง แต่พอโตขึ้น เราได้เห็นอะไรเยอะขึ้น ยิ่งตอนนี้โลกเปิด ทุกอย่างมันเปิดหมดแล้ว ความคิดเราก็ใหญ่ขึ้น โลกทัศน์กว้างขึ้น สิ่งแวดล้อมที่เราเจอและคลุกคลี มันไม่ใช่แค่เรื่องของเราคนเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องของคนอื่นด้วย

แต่คนรุ่นสามสิบต้นๆ คนอื่น ที่อายุไล่เลี่ยกับพวกคุณ เขาก็โตมาในยุคสมัยนี้เหมือนกัน แต่ทำไมพวกคุณถึงเลือกเล่ามุมเหล่านี้ ที่ไกลออกไปจากตัวเอง

โฟน : จริงๆ มันไม่ไกลตัวเลยนะครับ ผมรู้สึกว่ามันใกล้ด้วยซ้ำ เพียงแต่บางคนอาจเพิกเฉย หรือรู้สึกว่าไม่สำคัญ หรืออาจรู้สึก แต่คิดอยู่ในใจ เพราะสุดท้ายก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ในมุมของเรา เราว่าเดือดร้อนนะ มันเป็นเรื่องคนอื่นก็จริง แต่เรารู้สึกว่าถ้าสามารถเอาชีวิตของพวกเขามาเล่าให้คนทั่วไปฟังได้ ก็น่าจะดี

ทั้งสามคนไม่อยู่ในสถานะหรือชนชั้นที่ถูกกดขี่ แต่กลับพูดถึงเรื่องคนที่ถูกกดขี่ ดูแล้วก็ขัดแย้งอยู่เหมือนกัน

กุล : เราไม่ถูกดขี่ก็จริง แต่เราชอบสังเกต มันเหมือนการอ่านโลกในแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ มีอะไรให้อ่านเยอะมากนะครับ เอาง่ายๆ เวลาเดินไปตามถนนแล้วลองสังเกตจริงๆ จะเห็นอะไรเยอะมาก แต่อย่างที่โฟนบอกไป บางคนก็เพิกเฉยกับมัน หรือเห็นแต่อาจไม่รู้สึกอะไร ประเด็นคือเราไม่เพิกเฉยไงครับ เราคิดว่าเราอาจเป็นเสียงหนึ่งที่ช่วยได้ด้วยซ้ำ แต่อีกมุมก็เข้าใจนะครับ ว่าเพลงอาจเปลี่ยนอะไรไม่ได้ขนาดนั้น

โฟน : แต่อย่างน้อยๆ ก็ให้เขาฉุกคิดขึ้นมาหน่อย

กุล : ใช่ แค่ฉุกคิดบ้างก็พอแล้วครับ เพราะถ้าจะไปเปลี่ยนเลย มันต้องทำอะไรอีกเยอะ ถ้าจะเปลี่ยนประเทศไทยจริงๆ ลำพังแค่เพลงคงเปลี่ยนไม่ได้

โฟน อิงอมรรัตน์ (มือเบส) 
โฟน อิงอมรรัตน์ (มือเบส) 

มีความคาดหวังไหมว่า อยากทำเพลงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

กุล : หวังอยู่แล้วครับ แต่เบื้องต้นคือหวังให้คนฉุกคิด ถ้าจะเปลี่ยนอะไรได้มากกว่านั้นก็ดี แต่อย่างที่บอกไป เราก็เข้าใจว่าความเป็นจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น แล้วเอาเข้าจริง พลังจากดนตรีแค่นี้คงไม่ไหว ยิ่งถ้าจะให้ไปสู้กับปืน สู้กับอำนาจอะไรต่างๆ ก็คงยาก แต่ถามว่าหวังมั้ย เราหวังอยู่แล้วครับ

โฟน : ความหวังมันมีพลังมากนะครับ มันทำให้คนที่กำลังจะตายสามารถมีชีวิตรอดต่อได้ด้วยซ้ำ

กุล : อย่างเพลง โถขี้ จะมีอยู่ท่อนนึงที่พูดถึงความหวัง คือท่อน “มีความฝัน ในยามคืนที่ยังมี ความหวัง…เหมือนกัน” ผมว่าเรื่องการมีความหวัง เป็นอีกเรื่องที่เราพยายามจะพูดอยู่เสมอเหมือนกัน

 

ในเพลง โถขี้ ท่อนที่ร้องว่า “อยู่ในเช้าวันจันทร์เดือนพฤษภาเดียวกัน” อยากรู้ว่าหมายถึงวันไหน พฤษภาปีอะไร

กุล : ถ้าตอบตามตรงคือไม่ได้เจาะจงเลยครับ เพลงนี้ผมเขียนไว้นานมากแล้ว ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ สิ่งที่อยากจะสื่อคือว่า ไม่ว่าใครจะใหญ่แค่ไหน ก็เปลี่ยนปฏิทินไม่ได้ ยังไงเราก็อยู่ในเช้าวันเดียวกันแหละ วันไหนเดือนไหนก็เหมือนกัน

แล้วทำไมถึงต้องเป็นพฤษภา ตั้งใจอิงสถานการณ์การเมืองรึเปล่า

กุล : ไม่เลยครับ แค่มันร้องแล้วเพราะดี คำนี้มันลงตัวกับทำนองที่สุด ผมคิดแค่ว่า เช้าวันจันทร์เดือนพฤษภา ทุกคนควรจะเท่ากัน ไม่มีใครหนีวันนี้พ้นหรอก คิดแค่นั้นเลย กลับมาเรื่องเดิมที่ว่าคนเท่ากัน

 

เรื่องแนวเพลง เยนา นิยามตัวเองว่าเป็นอะไร ถือเป็นเพื่อชีวิตไหม

กุล : ตอนแรกก็ไม่ได้นิยามว่าเพื่อชีวิต จริงๆ ไม่มีนิยามอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่พอทำออกมาแล้วคนบอกว่าเป็นเพื่อชีวิต เราก็ไม่ซีเรียสอะไร จะเรียกเพื่อชีวิตก็ได้

โฟน : หรือบางคนจะมองว่าเป็นเพลงรักก็ได้

กุล : เราแค่อยากให้คนฟังเพลงเรา แต่ฟังแล้วเขาจะมองว่าเป็นแนวอะไร ก็แล้วแต่เขา เราไม่ได้มีนิยามของเราตั้งแต่ต้น

โฟน : คือเราไปเล่นที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปเล่นที่ตะวันแดงอย่างเดียว

กุล : ใช่ เพราะเล่นที่ไหนผมก็พูดคำเดิมครับ

เย : ส่วนตัวผมคิดว่าการแบ่งแยก หรือให้นิยาม มันเป็นแค่การแบ่งเขตของดนตรีมากกว่า

แล้วพอเยนาถูกเรียกว่าเป็นแนวเพื่อชีวิต รู้สึกยังไง

โฟน : ก็ไม่รู้สึกอะไร เราฟังเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ถ้ามีคนจะบอกว่าป๊อป เราว่าเพลงของเราก็ป๊อปได้ อย่างน้อยผมว่าคนฟังเขาอิน เพราะเรื่องในเพลงมันจริง

กุล : เดี๋ยวคนมาฟังมากๆ ก็กลายเป็นป๊อปเองครับ (หัวเราะ) เพลงโถขี้มีคนดูล้านวิวนี่ผมว่าป๊อปแล้วนะ

เย : ส่วนตัวผมว่าเพลงแบบพี่ตูน บอดี้สแลม บางเพลงก็เพื่อชีวิตได้เหมือนกัน แต่น้ำเสียงไม่เหมือนเพลงเพื่อชีวิตสมัยก่อน เวลาผมฟังพี่ตูน ผมรู้สึกว่ามันเป็นเพื่อชีวิตแบบปัจจุบัน เป็นกระแสหลัก

โฟน : บางทีผมก็ไม่เข้าใจว่าเพื่อชีวิตเป็นยังไง สมัยก่อนผมว่าเขาร้องเพลงรัก แต่สำเนียงเขาเป็นแบบนั้น แต่คนก็เรียกเพลงเพื่อชีวิต ตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเพื่อชีวิตต้องเป็นแบบไหน

ถ้าพูดถึงเนื้อเพลงที่ปลุกเร้าเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีต เยนามองยังไงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แม้แต่คนทำเพลงสมัยก่อน วันนี้ก็เปลี่ยนไป

กุล : เขาเปลี่ยนก็เป็นเรื่องส่วนตัวเขา ผมเข้าใจนะ สิ่งที่เขาเป็นในปัจจุบันมันไม่เหมือนในเพลงที่เขาเคยแต่งในอดีต ผมฟังเพลงคาราบาวมาตลอด ผมชอบจริงๆ แบบโอ้โห มันมีน้ำเสียงของการต่อสู้ ไม่ว่าเขาจะเปลี่ยนไปยังไง ผมก็ฟังเพลงเขาได้ เพลงมันยังเล่าเรื่องได้อยู่ ทุกวันนี้ผมยังชอบฟังเพลง ‘วิชาแพะ’ อยู่เลย

นักร้องนักดนตรี ผมชอบแอ๊ด คาราบาว เพลง มหา’ลัย ผมยอมรับเลยว่าสุดยอด เหมือนหนังสือที่เราวางไม่ลง  เพลงของเขามันสะท้อนว่าเขาเข้าใจชนชั้นล่างหมดเลยนะ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน คนแต่งเพลงก็เปลี่ยน ถามว่าผมเสียดายไหม ก็เสียดายประมาณนึง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมแปลกใจจริงๆ

โฟน : ความคิดคนเรามันเปลี่ยนกันได้ ผมเคยฟังพี่แอ๊ด คาราบาว เขาบอกว่าใครจ้างเขาก็ไป เพราะเขาต้องเลี้ยงดูทีมงานและครอบครัวเขา เพลงคาราบาวฟังแล้วมันติดใจ ริฟกีตาร์ขึ้นมาเราก็ต้องเฮ เพลงมันคม อย่างลาวเดินดิน ถึกควายทุย กัมพูชา ผมชอบหมดเลย เราต้องแยกให้ออก ไม่งั้นทุกวันนี้เราคงไม่ต้องฟังเพลงกันแล้ว

ที่บอกว่าเล่นที่ไหนก็ได้ มีข้อแม้ไหมว่าเวทีหรือสถานที่แบบไหนที่จะไม่เล่นแน่ๆ

กุล : อาจมีบางกรณีนะ เช่น ถ้ามีเวทีไหนที่จัดเพื่อยกยอหรือสดุดีใครแบบเกินเหตุ เราคงไม่ไป เพราะเราเชื่อว่าคนเท่ากันไงครับ ซึ่งเราคงไม่เล่นในงานแบบนั้น งานไหนที่ดูแล้วเสี่ยงไปในทางที่มองว่าคนไม่เท่ากัน เราไม่อยากเล่น

เย : แต่งานวันเกิดแม่เพื่อนเราเล่นได้นะครับ (หัวเราะ)

กุล : หรือวันเกิดพ่อเพื่อนก็ได้ครับ (หัวเราะ) เพราะพ่อเพื่อนคงเห็นว่าผมเป็นคนเท่ากันแหละ

สมมติว่าถ้าถูกเชิญไปเล่นเวทีเสื้อแดงจะไปไหม เพราะอีกด้านหนึ่ง มีศิลปินจำนวนไม่น้อย ที่ไม่อยากเอาตัวเองไปแปดเปื้อนกับภาพลักษณ์ของกลุ่มการเมืองที่มีภาพด้านลบ เช่น กลุ่มเสื้อแดง

กุล : ถ้าให้ไปเล่นบนเวทีแดง เวทีเหลือง ผมไม่แน่ใจ แต่ถ้าให้ไปเล่นเวทีที่ประกาศว่าต่อไปนี้จะปล่อยนักโทษการเมืองที่ติดคุกเพียงเพราะการพูดในสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบ ผมไปแน่นอน ไม่ลังเลเลย ผมคิดว่าเราควรไปเล่นได้ เพราะมันเป็นหลักการว่าคนเท่ากัน

วงทั่วโลกหรือวงในประเทศพัฒนาแล้ว ผมว่าเขาไปเล่นแน่นอน ถ้ามีประเด็นแบบนี้ มันไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เบสิคสุดๆ ถ้ามีใครพูดถึง Queen Elizabeth แล้วติดคุก ผมเชื่อว่านักดนตรีทั่วอังกฤษเขาต้องจัดงานให้คนของเขาออกมาจากคุกแน่นอน

ไม่กลัวแปดเปื้อนหรือถูกโจมตีว่าเป็นพวกเคลื่อนไหวทางการเมืองเหรอ

โฟน : ผมเชื่อว่าคนเราต้องวิจารณ์กันได้ เราต้องมี Freedom of speech

กุล : เช่น ถ้าพูดถึงไผ่ ดาวดิน ผมว่าเราควรไปเล่นได้ เรารู้ในใจอยู่แล้วว่าเราไปเพราะอะไร ผมแทบไม่อยากเชื่อว่าเราอยู่ในประเทศที่มีกรณีแบบไผ่ มันไม่น่าเชื่อด้วยซ้ำว่าเราต้องกลัว

คึกฤทธิ์ เยนา (มือกลอง)
คึกฤทธิ์ เยนา (มือกลอง)

พอเยนาเลือกทำเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม ขณะที่วงส่วนใหญ่เลือกพูดถึงอารมณ์ภายใน พูดถึงความสัมพันธ์ รู้สึกว่าเพลงของเยนาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเชยไหม

กุล : ไม่เชยนะครับ ไม่รู้สึกเลย

โฟน : จะให้ล้ำกว่านี้ก็ไม่รู้จะล้ำยังไงแล้ว (หัวเราะ) อาจเป็นเรื่องของภาคดนตรีที่เราพัฒนาต่อได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้เก่งมาก แต่เราก็ทำให้มันเป็นตัวเองมากที่สุด เรามีทำนองช่วย มีเสียงร้องช่วย มันก็ไม่เชย แต่ถึงแม้ใครจะว่าเชยก็ไม่เป็นไร

เย : เพลงแบบนี้แม้ว่าจะเคยเฟื่องฟูมานานแล้ว แต่ผมว่ามันก็เฟื่องฟูได้อีกนะ เป็นไปตามยุคสมัย

โฟน : ใช่ รองเท้าวินเทจยังกลับมาฮิตได้เลย ถึงที่สุดมันก็อยู่ที่รสนิยมคนฟัง แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกฟังยังไง

เนื้อหาแบบที่อยู่ในเพลงของเยนา คนไม่น้อยอาจมองว่าเป็นเพลงคนแก่ เยนารู้สึกว่าแต่ละคนแก่กันไวไปไหม

กุล : ผมว่ายังไม่แก่นะ

เย : ส่วนตัวผมว่าเป็นแบบนี้ดีแล้ว ดีกว่าไปคิดได้เอาตอนแก่ (หัวเราะ)

เคยคิดจะทำเพลงที่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองไหม

กุล : คงไม่ได้คิดเฉพาะเจาะจงขนาดนั้น เยนาไม่ได้ทำเพลงสไตล์นั้น รู้สึกว่าไม่ถนัดด้วย ผมว่าเพลง โถขี้ ของเราก็เล่าได้นะ ฟังเพลงนี้ก็ได้

MV เพลง โถขี้ ลงทุนกันเองหรือมีสปอนเซอร์

กุล : ลงทุนกันเอง โชคดีที่มีน้องที่อยากทำให้

เย : เรามีรุ่นน้องเป็นผู้กำกับ เขาฟังเพลงเยนาแล้วเขาชอบ และเขาอยากทำ เขาบอกเรื่องเงินไม่ซีเรียส

โฟน : แต่เราซีเรียส น้องบอกจะไม่เอาเงินเลย

กุล : เราบอกไม่ได้ ถ้าไม่เอาเงินก็ไม่ต้องมาทำกัน ผมละอายใจ คนทำงานต้องใช้แรง ถ้าไม่มีเงินจะเอาที่ไหนกิน

 

สังเกตยังไงว่าคนฟังเข้าใจสิ่งที่เยนาคิด บางคนอาจเริ่มติดตามเพราะสมาชิกในวงหน้าตาดี แต่ไม่รู้เขาฟังเพลงจริงไหม หรือฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่อยากสื่อแค่ไหน

โฟน : ผมว่าเป็นความโชคดีมากกว่าครับ ที่เขาเข้ามาติดตามจากทางรูปลักษณ์ก่อน แล้วค่อยไปตามเพลง แต่ก็มีบางคนที่ฟังเพลงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจภาพลักษณ์พวกเราเลยด้วยซ้ำ

แต่เรื่องภาพลักษณ์ ถือเป็นความโชคดีที่ตั้งใจรึเปล่า

โฟน : เราไม่เคยคิดว่าจะต้องมีภาพลักษณ์พิเศษอะไร ทุกงานที่ไปเล่น เราแต่งตัวปกติไปเสมอ

กุล : ใช่ครับ เราไปเล่นที่ไหนก็เหมือนเดิมตลอด พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ เรามีเพลง 9 เพลง เราก็พูดแค่นั้น ไม่มีอะไรมากกว่านี้ เราไม่ใช่นักเอนเตอร์เทน เราเชื่อว่าคนฟังจะตั้งใจฟังเพลง

เย : บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำครับว่าเราเป็นใคร หน้าตายังไง แต่รู้จักเพลงของเรา

โฟน : ผมว่ามันดีหมดเลยครับ ไม่ว่าเขาจะเริ่มติดตามเราด้วยเหตุผลอะไร แต่สุดท้ายมันนำมาสู่การที่เขาฟังเพลงเรา อุดหนุนงานเราจริงๆ

เยนาทำความเข้าใจกันยังไง ที่มีคนไม่น้อยชอบเพลงของวง อย่าง MV เพลง โถขี้ ก็มียอดวิวเกินล้านวิวแล้ว

กุล : เราก็หวังไว้เยอะว่าจะมีคนฟังและชอบ ผมทำเพลงอย่างจริงจังและจริงใจ เป็นงานที่ถนัดด้วย ผมคิดว่าถ้ามันเวิร์ค คนต้องเห็น

โฟน : ผมไม่เคยคิดว่าคนฟังต้องมากขนาดไหน และเราก็ไม่ได้หวังถึงขั้นจะเป็นร็อคสตาร์ หรือหวังว่าจะต้องโด่งดังอะไรขนาดนั้นอยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่ายังไงก็ต้องมีคนฟังแน่นอน

เย : หรือกระทั่งคนที่ฟัง สมมติว่ามีอยู่ล้านคน เขาฟังแล้วอาจไม่เข้าใจ หรือไม่คิดเหมือนเราทั้งหมด แต่ถ้ามีคนคิดเหมือนเราสักครึ่งนึงก็โอเคแล้ว

 

แล้วเคยคิดไหมว่าจะมีคนฟังเยอะขนาดนี้

โฟน : ไม่เคยคิดว่าจะต้องมากขนาดไหน แต่ว่ามันต้องมี พอมันเริ่มมีหนึ่ง มีสอง เดี๋ยวมันก็ไปเรื่อยๆ จนถึงสิบ

กุล : แต่เราไม่เคยคิดนะครับว่า ถ้าไม่มีไม่เป็นไร เราคิดว่ายังไงก็ต้องมีคนเข้าใจเราแหละ

เยนาสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นวงดนตรีอาชีพได้หรือยัง เข้าใจว่าแต่ละคนมีงานประจำอยู่ด้วย เป็นไปได้ไหมที่จะเล่นดนตรีอย่างเดียว

เย : ยากมาก ตอนนี้ผมเปิดโฮมออฟฟิศทำงานออกแบบกับเพื่อน

โฟน : ผมทำ interior กับงานรับเหมาก่อสร้างกับที่บ้าน ผมว่าอยู่ที่คนจ้างด้วย พูดตรงๆ ว่าเล่นดนตรีอย่างเดียว มันยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้แน่ๆ

กุล : ผมสอนกีตาร์เด็กๆ แล้วก็ช่วยที่บ้านทำธุรกิจนิดหน่อย สิ่งที่เราคิดได้คือเราต้องทำเพลงต่อไป เราไม่ได้วางแผนธุรกิจ ถ้าเราเป็นคนทำเพลงเราก็ไม่ควรหยุดทำเพลง

คนที่ชวนเยนาไปเล่นสด เขาให้เหตุผลว่าอะไร ทำไมเขาเลือกเยนา

กุล : ผมว่าเราจริงใจที่จะเล่นเพลงของเรา จริงใจที่จะพูดเนื้อหาแบบนี้ ไม่ได้คิดว่าจะต้องเท่อะไร แล้วก็ cover เพลงคนอื่นได้ไม่ดี

โฟน : บางที่เขาไม่เคยฟังเลยก็มี บางจังหวัดเขาก็อยากลองให้ไปเล่นให้คนจังหวัดนั้นฟัง หรือทางเจ้าของร้านอยากฟังเองก็มี ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมการณ์อย่างเดียว บางร้านเขาอยากให้คนได้รู้จักว่าสมัยนี้มีเพลงแนวนี้ มีวงเยนาอยู่ด้วย

เย : อย่างจังหวัดอย่างจันทบุรีที่ผมเคยไปอยู่ ก็แทบไม่มีใครฟังเลย มีอยู่ร้านเดียวทั้งจังหวัดที่ฟังเพลงพวกเรา

การไปเล่นสดที่ผ่านมาถือว่ามากน้อยแค่ไหน สำหรับวงที่มีอัลบั้มเดียว และไม่ได้เล่น cover เลย

โฟน : เฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง สำหรับทั้งปีนะ บางเดือนก็เล่นไม่ได้ ถูกห้ามเล่น บางเดือนไม่มีใครจ้างเลยก็มี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน หน้าฝน ไม่ค่อยมีงาน

เข้าใจว่าเยนาทำเพลงกันเอง บันทึกเสียงกันเอง ขายกันเอง ไม่มีสังกัด เป็นความตั้งใจไหม

โฟน : มีคำเชิญบ้าง แต่ที่มักพูดกันว่าถ้าเซ็นสัญญาแล้วจะไม่ยุ่งอะไรเลยนั้นไม่เป็นจริงสักคน จริงๆ ผมว่าโดยทั่วไปวงดนตรีน่าจะไปอยู่ในกรอบให้รู้เรื่องก่อน แล้วค่อยออกมาอิสระ แต่เราเห็นตัวอย่างมาเยอะแล้ว ก็เลยไม่ขออยู่ในกรอบแล้วกัน อีกอย่างคือ 3 คนมันคุยกันรู้เรื่องที่สุดแล้ว มากกว่านี้เหนื่อย

กุล : ถ้ามีอีกคนมาสั่ง เราว่าไม่โอเคเลย ที่ผ่านมาก็โปรดิวซ์กันเอง

แล้วมันลำบากขนาดไหน พอเลือกความอิสระ

โฟน : เข้าเนื้ออยู่แล้ว ทั้งค่าห้องซ้อม ค่าอุปกรณ์ ค่ารถ ช่วงแรกๆ ลำบากมาก บางทีไปเล่นคอนเสิร์ต ผมว่าแทบจะทุกวงที่เริ่มต้นกันใหม่ๆ จะไม่ได้ค่าตัว บางคนได้แค่ 1,000-2,000 เท่านั้น บางคนเขาคิดว่าวงเพื่อชีวิตต้องมีอุดมการณ์ ช่วงแรกที่เราไปเล่นตามร้าน เราถูกขอให้เล่น cover ตลอด แต่เราก็ยืนยันด้วยความสุภาพไปว่าเราไม่ถนัด เล่นไม่ได้จริงๆ หลังๆ ก็ไม่มีคนถามอีก เขาก็ตั้งใจฟังเพลงเรามากขึ้น อาจมีคนเมาบ้างที่มาขอให้เล่น ‘สัญญาหน้าฝน’ (หัวเราะ)

ลองคิดง่ายๆ ว่า สมมติผมไปเล่นครั้งหนึ่งได้ 3,000 บาท หักแค่ค่ารถ ค่าห้องซ้อม ยังไม่พอเลย เราอยากบอกว่าถ้ามีวงใหม่ๆ เกิดขึ้นมา แล้วคุณชวนไปเล่นที่ไหน ช่วยให้ค่าตัวเขาหน่อย ไอ้แบบเลี้ยงเบียร์เลี้ยงข้าวนี่ผมก็ไม่โอเคนะ

กุล : บางทีเราก็ไม่ได้อยากดื่ม ร้านที่ให้ค่าตัวเราก็มี เพราะเขามองเราเป็นคน มันมีต้นทุนในการใช้ชีวิต เขาไม่ได้มองว่าเราเด็ดใบไม้มากิน

เย : ทุกวันนี้วงรุ่นใหม่ดีๆ เยอะ ที่ต้องพังไปเพราะอยู่ไม่ได้ เขาเจองานที่ต้องเล่นฟรีมากๆ เข้ามันก็ไปไม่รอด

โฟน : แต่ถ้ามองในมุมคนทำเพลง เราก็ต้องกัดฟันยืนยันว่าเราจะทำเพลง ไม่ว่าจะเจอปัญหาแบบไหน อย่าไปเสียเวลากับเรื่องอื่น อย่าไปเสียเวลากับการแต่งตัว เพลงที่ 1 ไม่มีคนฟัง เพลงที่ 2 คุณยังยืนยันความคิดเดิม เพลงที่ 3-4 คุณยืนยันเหมือนเดิม แบบนี้โอเค ผมว่าคนจะมองเห็นและนับถือ

อย่างงาน Grass Tone ที่โคราช เป็นงานใหญ่ ผมว่าดีมากและแฟร์ ผู้จัดถามว่าเราเล่น cover ได้ไหม เราบอกไม่เล่น แล้วช่วงแรกเรามีแค่ 2 เพลง ก็ทำข้อตกลงกัน เราไม่ได้ได้อะไรมาก มีค่าที่พักกับค่ารถ แต่เขาแฟร์เพราะเขาให้เกียรติเราขึ้นไปเล่น หลังจากนั้นก็มีคนรู้จักเรามากขึ้น หลายที่พอรู้ว่าเรามีแค่ 2 เพลงและไม่เล่น cover เขาก็ไม่ให้เราไป

เยนา

ที่มาของปกอัลบั้ม ดีไซน์กันยังไง ได้ไอเดียมาจากไหน

โฟน : ผมเป็นคนออกแบบ รูปคนบนปกก็เป็นคนที่ทำงานกับที่บ้านมานานมากแล้ว เขาเป็นช่างไม้ เสื้อที่ใส่ กุลเป็นคนไปหามา เป็นเสื้อกล้ามบัดดี้ ผมว่ามันแปลกอยู่คือเสื้อบัดดี้มันดึงมาเช็ดเหงื่อได้ดี มันยืดดี เราจะเห็นคนงานหรือกรรมกรใส่กันเยอะ มันมีความหมาย พอถ่ายเสร็จเราก็วาดกันขึ้นมาด้วยขี้ดินสอที่ไม่มีใครใช้

ปกติเวลาใช้ดินสอ เราจะเหลาให้มันแหลม แล้วใช้ส่วนไส้เขียน ส่วนที่เป็นขี้ดินสอก็ทิ้งไป แต่ปกอัลบั้มนี้เราเอาขี้ดินสอมาวาดทั้งหมด ทั้งตัวหนังสือ คำว่าเยนา รูปเราสามคน ปกติดินสอมันเขียนบนกระจกไม่ได้ แต่ขี้ดินสอเราเอามาเรียงเป็นตัวหนังสือ เรียงให้เป็นรูปได้ มันมีค่าสำหรับเรา แม้ว่ามันจะถูกทิ้ง พี่ช่างไม้ก็เช่นกัน ไม่มีใครรู้จัก แต่เขามีค่าสำหรับครอบครัวเขา เขามีค่ากับสิ่งที่เขาทำ

เย : คนงานหลายคนที่อยู่ต่างจังหวัดเขามีความรู้มากนะ เท่าที่ผมเจอ เขาพยายามส่งลูกเรียนเมืองนอกหมดเลย คนที่ผมรู้จักก็ส่งลูกเรียนญี่ปุ่นกับฝรั่งเศส แล้วผมยืนยันได้เลยว่าคนต่างจังหวัดไม่ได้โง่ หลายคนเขาเก่งกว่าพนักงานออฟฟิศในเมืองอีก เขามีความรู้ เพียงแต่เขาอยู่ชายขอบ

กุล : มันน่าโมโหมากเลยที่มีคนไปบอกว่าคนต่างจังหวัดเป็นคนโง่

อัลบั้ม เยนา

อัลบั้ม เยนา

กังวลไหมว่าวงจะถูกพิพากษาตัดสินจากแวดวงดนตรีว่าเป็นพวกหัวรุนแรง โดยเฉพาะการยืนยันเรื่องคนเท่ากัน

เย : นั่นก็ขึ้นอยู่กับความรู้กับมุมมองของเขาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจก แต่ในส่วนของเรา เรารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

กุล : ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแคร์ แล้วก็ไม่ต้องประนีประนอมด้วย เขาจะจ้างหรือไม่จ้าง ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนอะไร ผมว่าคนอาจจะอยากฟังเพลงเรามากขึ้นด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

โฟน : ถึงที่สุดเราก็รับฟังคำวิจารณ์ได้ ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

หลังจากมีอัลบั้มแรกออกมาแล้ว ต่อไปอะไรคือความท้าทายของวงเยนา

กุล : ผมอยากให้รอฟังเพลงชุดต่อไป เราทำเพลงแบบโตไปตามวัย และยังหยิบแง่มุมทางสังคมมาเล่าเหมือนเดิม ผมเป็นคนทำเพลง การทำเพลงได้อย่างตรงใจเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากๆ แล้ว ผมโฟกัสอยู่ที่เพลงเท่านั้น ถ้าเราไม่หยุดแปลว่าเยนาก็ยังเดินอยู่

โฟน : เพลงเป็นอย่างเดียวที่เราพูดได้ถนัดที่สุด

เย : ผมอยากให้คนได้ฟังเพลงที่เราทำ อัลบั้มแรกก็เหมือนเป็นไดอารี่เล่มนึง ถ้าผมเป็นคนฟังผมจะรอดูว่าไดอารี่ต่อไปจะเล่าอะไร

เยนาดูข่าวหรือติดตามโลกโซเชียลไหม มันมีผลต่อการทำเพลงไหม

กุล : ดูบ้าง แต่ก็มองอย่างอื่นด้วย สนใจทั้งหมดเลย ผมจะเน้นสิ่งที่เห็นด้วยตา แล้วนำไปคิดต่อ จินตนาการต่อ พูดตรงๆ ว่าส่วนใหญ่ผมนึกเอาในหัวหลังจากที่เห็นเรื่องนั้นๆ มา ผมจะคิดหมกมุ่นอยู่อย่างนั้นช่วงหนึ่ง แล้วคำมันก็ออกมาเอง บางครั้งก็ไม่จับกีต้าร์เลย เขียนเนื้อก่อนแล้วค่อยมาร้องทีหลัง

อย่างเพลง กรุงเทพฯ ผมรู้สึกว่าเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ไหนก็ตาม ต้องได้เล่น ได้กิน ได้นอน ห้ามเด็ดขาดเลยเมื่อถึงเวลานอนแล้วไม่ได้นอน มันแย่มาก

หรืออย่างเพลง Hi Hello ตอนพูดถึงผู้หญิงที่อุ้มลูกน้อยแล้วกล่อมบทเพลงแข่งกับเสียงหวูดรถไฟ ผมก็ไม่เคยเห็นหรอก แต่รู้ว่ามันมีจริงๆ ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง

เพลงนี้เหมือนทำความเข้าใจชีวิตคนๆ หนึ่งมากๆ

โฟน : ประเด็นของเพลงนี้คือ เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินการกระทำหรือการตัดสินใจของใคร

กุล : ผมเข้าใจว่าพอคนมีลูก เวลาเขาจะตัดสินใจอะไรในชีวิต มันต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ผมเข้าใจแบบนี้นะ

เพลง กตัญญู พูดถึงช้างที่ถูกควาญช้างพามาหากินในเมือง แต่ในเพลงไม่มีคำว่าช้างเลย

โฟน : ใช่ ประเทศไทยยกย่องช้างมาก แต่เป็นช้างเผือก ถ้าไปถามเมืองนอกเขาไม่เอา ไทยบอกว่าช้างเผือกสุดยอด เพราะเมื่อก่อนเราเอาช้างเผือกไปแลกกับทรัพย์สินเงินทอง แต่เมืองนอกเขารู้สึกว่ามันไม่ดี เพราะมันเป็นพวกยีนด้อย

เมืองไทยมีวัตถุดิบให้ทำเพลงเยอะมากเลย เรื่องทหารอย่างเดียวนี่ไม่รู้จะพูดได้อีกกี่เรื่อง เรามีเพลงที่ทำค้างไว้ยังไม่เสร็จ พูดถึงมุมมองของแม่ที่ภาคภูมิใจที่ลูกตายในหน้าที่ ส่วนตัวผมว่ามัน fake มากเลย เป็นไปได้ยังไงที่คนเป็นแม่จะภูมิใจกับการตายของลูก

เย : เรื่องเสือดำถูกฆ่าที่คนสนใจมากๆ แต่เราสนใจไก่ฟ้าที่โดนฆ่าเหมือนกันมากกว่า คนไม่ค่อยสนใจไก่ฟ้าเพราะราคามันน้อยกว่า เขาตีราคาเสือดำ 3 ล้านกว่า แต่ไก่ฟ้าตีราคา 2 หมื่นกว่า

มีโมเมนต์ที่อิจฉากันบ้างไหม เช่น เวลาที่เห็นสาวๆ กรี้ดแต่พี่โฟน กุลกับเยรู้สึกยังไง

กุล : จริงๆ เยก็มีไม่น้อยนะครับ (หัวเราะทั้งวง)

โฟน : ใช่ๆ อย่าไปเชื่อภาพที่เห็นครับ (หัวเราะ)

เย : (ยิ้ม) เดี๋ยวๆ เข้าเรื่องก่อน คือจริงๆ แล้วเราไม่เคยคิดว่าในวงสามคน จะต้องมีใครที่เด่นกว่าใคร หรืออะไรทำนองนี้เลยครับ

โฟน : ใช่ วงมันก็ควรจะเป็นวงถูกมั้ยครับ ไม่ควรจะแยก ถ้าไปดูข้างในปกอัลบั้ม จะเห็นว่าส่วนที่เป็นเนื้อเพลง ตามปกติต้องมีเขียนว่าใครแต่งเนื้อร้อง แต่งทำนอง แต่ของเราเขียนคำเดียวเลยว่า บทเพลงนี้มาจาก เยนา

เย : ถ้าเราไปคิดแต่ต้นว่า คนนั้นต้องเด่นกว่าคนนี้ เดี๋ยวก็วงแตกครับ เรารู้สึกว่าความเป็นวงแบบนี้มันดีมากแล้ว แล้วแต่ละคนก็รู้บทบาทของตัวเอง เพื่อทำให้เพลงออกมาดี ไม่ใช่ว่ากูอยากโซโล่ตรงนี้แล้วกูไม่แคร์คนอื่นเลย ถ้าคิดแบบนั้นก็ฉิบหายหมด

โฟน : ถ้าดังก็ต้องดังด้วยกันทั้งวงครับ เวลาทำเพลง เราจะค่อยๆ จูนเข้าหากัน สมมติกุลเขียนกีต้าร์มา ผมคิดเบสเสร็จปุ๊บ กลองต้องเข้าให้ได้ แต่สมมติถ้ากลองเข้ามาแล้วเรารู้สึกว่ามันดีจัง เบสต้องปรับตาม ผมก็ปรับ อย่างน้อยๆ มันต้องถอยได้คนละก้าว

เยนามีหัวหน้าวงมั้ย หรือถ้ามีกรณีต้องให้สัมภาษณ์ แล้วสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่ว่าง มีใครที่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ไหม

โฟน : ไม่มีครับ ถ้าตกลงว่าให้สัมภาษณ์ เราต้องอยู่ด้วยกันหมดสามคน อย่างวันนี้ ถ้ามีใครสักคนไม่ว่าง เราก็จะเลื่อนไปก่อน หรือถ้าปรึกษากันในวงแล้ว ใครคนใดคนหนึ่งไม่อยากสัมภาษณ์ เราก็ไม่เอา

เย : ใช่ครับ ทั้งวงด้วยต้องไปด้วยกัน

วงดนตรี เยนา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save