fbpx
"ม.112 คดีการเมือง และความเป็นธรรม" กับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์

“ม.112 คดีการเมือง และความเป็นธรรม” กับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์

มาตรา 112 กลับมาเป็นโจทย์ทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีการใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมร่วมกับคดีทางการเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันกฎหมายนี้ก็ถูกวิพากษ์ทั้งจากสังคมไทยและในเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

112 ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ส่งผลแค่ไหนต่อกระบวนการยุติธรรม และเราจะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันได้อย่างไร

101 ชวน เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คุยถึงข้อสังเกตในการดำเนินคดี 112 ผลกระทบที่มีต่อสังคมและการเมือง และสาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายนี้

:: สี่ยุคของมาตรา 112 นับแต่รัฐประหาร 2557 ::

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีเหตุผลหนึ่งคือมีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาจึงใช้ ม.112 มากวาดจับและดำเนินคดีอย่างเข้มข้น จากหลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งการใช้ ม.112 ออกเป็น 4 ยุค

ยุคแรก คือ ยุคคสช. มีการใช้ ม.112 อย่างเข้มข้นและมีการนำพลเรือนขึ้นสู่ศาลทหาร จากที่เราติดตามสถานการณ์ในช่วง 5 ปีเศษของระบอบคสช. พบคดี ม.112 ทั้งหมด 160 คดี แบ่งเป็นกลุ่มเสรีภาพในการแสดงออก 100 คดี และ กลุ่มแอบอ้างสถาบัน 60 คดี ซึ่งหากเราดูตามหลักกฎหมาย การแอบอ้างสถาบันไม่เข้าข่าย ม.112 แต่ก็มีการดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ 

ยุคที่สอง ยุคหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เป็นช่วงที่เกิดการล่าแม่มดขึ้น ตอนนั้นประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่น่าสะพรึง ไม่นึกว่าคนจะเกรี้ยวกราด โกรธแค้น คลุ้มคลั่งได้ถึงขนาดนั้น ยุคนั้นต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บอกให้คนกลับมาตั้งสติ เช่น คดีโพสต์ขายเหรียญที่มีคนไม่เข้าใจและลากน้องคนนั้นมาทำร้ายต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ แต่สุดท้ายคดีนี้ศาลก็ยกฟ้อง 

ยุคที่สาม เป็นยุคที่ไม่ใช้ม.112 โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ยุคนี้ไม่มีการดำเนินคดี ม.112 แม้กระทั่งคดีตกค้างที่จำเลยยอมรับสารภาพ ศาลก็ยกฟ้อง เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ไม่ปรากฏคดี ม.112 ในคำพิพากษา แต่ก็ยังแฝงอยู่ เขาอาจไม่ฟ้องด้วย ม.112 ก็จริง แต่ก็ไปฟ้องด้วยม.116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แทน เรื่องนี้ก็มีปัญหาในทางกฎหมาย

ยุคที่สี่ คือ ยุคปัจจุบัน เริ่มนับตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ถ้าจะให้ชัดเจนขึ้นคือในเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนพูดเองว่าพระองค์ทรงมีเมตตาไม่ใช้ ม.112 แต่ปรากฏว่าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์กลับบอกว่าให้ใช้กฎหมายทุกมาตราทุกฉบับ นับจากวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกหมายเรียก ม.112 หมดเลย ในเวลาแค่ 4 เดือน มีการดำเนินคดี ม.112 ไปแล้วทั้งหมด 60 คดี 73 คน 

ฉะนั้น ม.112 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการเมืองและนโยบาย จะเห็นเลยว่าหลังรัฐประหารปี 2557 การใช้ม.112 พุ่งสูงขึ้นมา แต่พอมีนโยบายไม่ให้ใช้ เขาก็ไม่ใช้ ปัจจุบันก็เป็นเรื่องทางการเมือง ม.112 เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการเมืองโดยตรง ฉะนั้นเมื่อเขากลับมาใช้มันจึงเข้มข้น 

:: ปัญหาของม.112 และความผิดปกติ
ในกระบวนการยุติธรรม ::

สำหรับปัญหาของม.112 เราสรุปออกมาได้เป็น 3 ข้อ 

1. ตัวบทกฎหมายไปอยู่ในหมวดความมั่นคง พอถูกจัดให้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงส่งผลให้ไม่มีการประกันตัวและไม่มีเหตุที่จะพิสูจน์หรือมีข้อยกเว้นในการที่จะต่อสู้คดีได้ ฉะนั้นเมื่อไม่มีเหตุยกเว้น ใครที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะพูดถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ก็ไม่สามารถพูดได้ และกลับกลายเป็นว่าถูกแจ้งความดำเนินคดี ม.112 เช่น กรณีคุณธนาธรพูดเรื่องวัคซีนพระราชทาน สุดท้ายกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ไปแจ้งความดำเนินคดีม.112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อีกส่วนคือตัวบทกฎหมายมีโทษร้ายแรงมาก โดยอัตราโทษขั้นต่ำของ ม.112 อยู่ที่ 3-15 ปี อย่างในกรณีของคุณอัญชัญแชร์คลิป 29 กรรม เมื่อศาลจะวางโทษก็ต้องวางไว้อย่างต่ำ 3 ปี พอเขารับสารภาพ ศาลก็ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน ก็ถ้าลองคูณไป จาก 87 ปี ก็เหลือ 43.5 ปี เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของตัวบทโดยตัวของมันเอง 

2. ปัญหาการตีความ ม.112 ถูกตีความอย่างกว้างมากและไร้ขอบเขต ในยุคปัจจุบันเป็นการง่ายมากที่จะถูกดำเนินคดีตาม ม.112 อย่างคดีของศูนย์ทนายฯ มีหลายคดีที่เราก็แปลกใจว่าคดีนี้เข้าข่าย ม.112 ได้อย่างไร เวลาคุยกับเจ้าพนักงานตำรวจ เขาก็ตอบไม่ได้ เขาตอบแค่ว่านายสั่งมา เช่น คดีกล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ เขาก็ให้เหตุผลว่าเพราะไปเลียนแบบคำพูดขององค์พระมหากษัตริย์ หรือ คดีปฏิทินเป็ด ใช้คำว่า ‘เป็ดพระราชทาน’ ก็โดนม.112 กลายเป็นว่าตอนนี้ม.112 ถูกตีความกว้างมากและไม่มีความชัดเจนแน่นอน จนส่งผลให้คนไม่รู้เลยว่าความหมายของมาตรานี้คืออย่างไร 

3. ปัญหาของการบังคับใช้ อย่างการเปิดช่องให้คนทั่วไปสามารถแจ้งความได้

นอกจากนี้เรื่องรูปแบบการดำเนินคดี ม.112 ก็ยังเป็นรูปแบบไม่ให้ประกันตัว อย่างคดีแกนนำกลุ่มราษฎร 7 คน เขาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาและไม่ได้มีการหลบหนี แต่เราพบว่าตำรวจเร่งรัดคดีมากและรีบส่งให้อัยการ กรณีทนายอานนท์ใช้เวลาเพียง 9 วัน นับจากวันส่งสำนวน ก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้อง ซึ่งเรารู้สึกว่ากระบวนพิจารณามันเร่งรัดมากและเมื่อส่งตัวไปที่ศาล ศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุว่า พฤติการณ์ร้ายแรง เกรงจะหลบหนี และจะไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งสามข้อนี้สะท้อนให้เห็นเลยว่าไม่ใช่หลักกฎหมาย ถ้าบอกว่าพฤติการณ์ร้ายแรง คดีฆ่าหรือพยายามฆ่าก็ยังได้รับสิทธิการประกันตัว หรือถ้าบอกว่าจะกระทำผิดซ้ำ แสดงว่าคุณวินิจฉัยแล้วว่าคดีนี้ผิด ไม่ใช่หลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว หรือเกรงจะหลบหนี ถามว่าจะหลบหนีได้อย่างไร เพราะอานนท์ก็เดินทางไปรายงานตัวต่อตำรวจอัยการตลอด 

เรารู้สึกว่ามันมีลักษณะที่ผิดปกติ มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม มันมีอะไรหรือเปล่า

:: เมื่อตุลาการกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ::

เดิมทีกลุ่มชุมนุมที่เรียกร้อง 3 ข้อ คู่ขัดแย้งของเขาคือรัฐบาล ปรากฏว่าครั้งนี้คู่ขัดแย้งของเขาคือสถาบันตุลาการ

อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย เวลาคนหมดหวังหมดหนทาง เขาจะพึ่งสถาบันตุลาการ แต่หลังจากที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญออกมา จากที่เราเคยประเมินกันว่าปกติสถาบันตุลาการต้องตรวจสอบและควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องคุ้มครองสิทธิประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่ตอนนี้มันผิดฝาผิดตัว องค์กรอัยการซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาลซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของไทย ที่ควรจะตรวจสอบถ่วงดุลการกระทำของฝ่ายบริหาร กลับไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันผิดปกติ 

อำนาจสามขาที่มีอยู่ เราไม่ต้องพูดถึงนิติบัญญัติหรือบริหารแล้ว ตอนนี้ทุกคนหวังพึ่งตุลาการเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ปรากฏว่าตอนนี้มันไม่ใช่ ศาลกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายประชาชน อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ควรเอากฎหมาย ไม่ควรลากกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรลากศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าตอนนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นและตั้งคำถามกับสถาบันตุลาการว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้น่ากังวล 

องค์กรตุลาการต้องกลับมายืนยันและยืนหยัดในหลักกฎหมาย แต่เรายังเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไรต้องมีบุคคลในองค์กรศาลที่ยืนยันหลักกฎหมายและเคารพหลักวิชา อย่างเราเห็นคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ให้ประกันตัว ‘อนุชา’ ผู้ต้องหาคดี ม.112 ทุกคนก็รู้สึกมีความหวัง หลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลธัญบุรี ไม่ให้ประกันคดีม.112 เราก็เลยยังเชื่อว่าไม่ใช่หมดหวังไปเสียทีเดียว อย่างไรต้องมีบุคลากรในองค์กรศาลที่ยืนยันหลักกฎหมายเพื่อรักษาระบบกฎหมายไว้ 

:: มาตรา 112 ควรจะไปต่ออย่างไร :: 

หลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน มีหลักไว้ชัดเจน ถ้าได้อ่านคดีสิทธิมนุษยชนของทางยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปก็วางหลักไว้ดี อย่างคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์สเปน ศาลสเปนลงโทษสั่งปรับอย่างเดียว แต่ศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรปกลับบอกว่าคดีนี้ไม่ผิด ไม่ใช่คดีที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรปเหมือนกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติช่วงหลังรัฐประหาร ตอนนั้นมีหลายคนถูกดำเนินคดี ม.112 ศาลชั้นต้นลงโทษ แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง บอกว่าไม่ใช้คดีม.112 เขามุ่งประทุษร้ายต่อทรัพย์ ไม่ได้ประทุษร้าย อาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระวรกาย ฉะนั้นถ้าเทียบเคียงกับคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรปและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีแอมมี่ไม่ควรถูกดำเนินคดีตาม ม.112

เรามองว่าต้องปรับทั้งระบบ คนไม่ควรติดคุกจากการพูดและการใช้เสรีภาพการแสดงออก ฉะนั้นกลุ่มคดีพวกนี้ต้องไม่มีโทษทางอาญา เวลาที่เราจะแก้ไขยกเลิกก็ต้องมองทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ม.112 กฎหมายประมุขแห่งรัฐ กฎหมายหมิ่นประมาททั้งหมดต้องถูกแก้ไข

:: ถึงเวลาที่รัฐต้องกลับมาฟังเสียงประชาชน ::

ถ้ายังมีการใช้ ม.112 สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและผู้คนก็จะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ณ ตอนนี้ลูกความเราหลายคนเขางง เขาตั้งคำถามกับ ม.112 เขารู้สึกว่า ม.112 ไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลยเหรอ และทำไมศาลถึงไม่ให้ประกัน คนรุ่นใหม่เองก็ตั้งคำถามถึงศาล อย่างที่บอกว่าตอนนี้คู่ขัดแย้งเปลี่ยนมาเป็นศาลกับประชาชน จากประสบการณ์ที่เราเป็นทนายความมา นอกจากการชุมนุมรำลึกคดีอากงที่หน้าศาล ครั้งนี้เป็นครั้งแรกๆ ที่มีการไปศาลเพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรม ฉะนั้นเรามองว่าเรื่องนี้จะส่งผลให้สถาบันตุลาการสั่นสะเทือน 

ที่ผ่านมาฝ่ายประชาชนเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่ารัฐไม่ได้ตอบสนอง รัฐใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ ฉะนั้นทางออกคือต้องมีการเจรจา ต้องคุยถึงปัญหาที่แท้จริงว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน เพราะถ้าไม่แก้ปัญหา ถ้ารัฐไม่เปิดรับคำเจรจาหรือไม่เปิดทางให้กับประชาชน ไม่ฟังเสียงประชาชน ทางออกคือความรุนแรงแน่นอน แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นทางเลย เราอยู่หน้างาน มีหมายตำรวจมาทุกวัน ปีที่แล้ว ม.112 ไม่มีการออกหมายจับเลย แต่ปีนี้มาออกหมายจับแล้ว ตอนนี้รัฐใช้กฎหมายมากวาดจับ ทางออกมันจะอยู่กับใคร ก็ต้องฝากรัฐไว้ 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save