fbpx

จากซินเจียง ถึง SCO (ตอนที่ 1): จากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ สู่การก่อกำเนิด

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่การเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 2 ปี ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่จะเดินทางไปพบกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ณ การประชุมสุดยอดผู้นำองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ณ ประเทศอุซเบกิสถาน นักสังเกตการณ์หลากหลายประเทศจับจ้องตีความเหตุการณ์ครั้งนี้ จากมุมมองที่ยึดเอาเหตุการณ์ที่รัสเซียเข้าไปปฏิบัติการทางการทหารในลักษณะรุกรานประเทศยูเครนเป็นแกนกลาง แต่สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนพิจารณาว่า SCO (Shanghai Cooperation Organisation – องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้) เป็นเรื่องที่ฝ่ายจีนจำเป็นต้องเข้าร่วม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของจีน มากยิ่งกว่าเหตุผลเรื่องใดทั้งหมด และเพื่อจะให้เข้าใจเหตุการณ์ในครั้งนี้ เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์คือจุดเริ่มต้น

เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ มีพื้นที่ขนาดกว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีพื้นที่ราว 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่นี้เป็นพื้นที่พรมแดนใหม่ของจีนที่พึ่งจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยราชวงศ์ชิง แม้แต่คำว่าซินเจียงเองก็มาจากคำเรียกเต็มๆ ในสมัยราชวงศ์ชิงที่ว่า 西域新疆 (Xīyù xīnjiāng) ซึ่งแปลว่า ‘ภูมิภาคตะวันตก พรมแดนใหม่’ ดินแดนแห่งนี้คือพื้นที่ที่ทั้งสำคัญที่สุดและเปราะบางที่สุดสำหรับประเทศจีน

ในแง่ความสำคัญ พื้นที่ปลายสุดทางตะวันตกเฉียงเหนือแห่งนี้คือปากประตูสู่เส้นทางการค้า ‘เส้นทางสายไหม’ ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับจีนมาตลอดประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน ซินเจียงคือโรงไฟฟ้าของประเทศจีน เพราะหากเราแบ่งแผนที่ประเทศจีนออกเป็น 2 ส่วนตามเส้นสมมติที่เรียกว่า 黑河–腾冲线 (Hēihé–Téngchōng xiàn) หรือ Heihe–Tengchong Line ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่จะนิยมเรียกด้วยชื่อเล่นว่า Hu Line ซึ่งลากจากมุมขวาบนของแผนที่จากเมือง Heihe ในมณฑลอันฮุย ลงสู่ทางใต้ที่เมือง Tengchong ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีนซึ่งถูกแบ่งออกโดยเส้นสมมติจะมีพื้นที่ทางด้านซ้ายของเส้นที่กินพื้นที่กว่า 57% หากแต่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบางเพียง 6% เท่านั้น ในขณะที่ทางด้านขวาของเส้นสมมตินี้จะมีประชากรอยู่อาศัยอย่างแออัดถึงกว่า 94% ของประชากรกว่า 1.4 พันล้านคนที่เบียดกันอยู่ในพื้นที่เพียง 43% (พิจารณาแผนภาพ)

ด้านตะวันตกของ Hu Line นี้ประกอบด้วยมณฑลขนาดใหญ่ เพียง 2 มณฑลที่มีการปกครองในรูปแบบเขตปกครองตนเอง นั่นคือเขตปกครองตนเองทิเบตทางตอนใต้ และเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ทางตอนบน ซึ่งทิเบตคือหอคอยกักเก็บน้ำของประเทศ เนื่องจากที่ราบสูงทิเบตคือต้นกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญทั้ง 4 สายของประเทศจีน นั่นคือแม่น้ำเหลือง (黃河 Huáng hé) แม่น้ำแยงซีเกียง (扬子江 หรือ 长江 Cháng Jiāng) แม่น้ำจูเจียง (珠江 Zhū Jiāng หรือแม่น้ำกวางตุ้ง) และ แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง (澜沧江 (Láncāng Jiāng)

ในขณะที่ซินเจียงคือโรงงานไฟฟ้าของประเทศ เพราะเมื่อจีนคือประเทศที่มีเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่ก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งของซินเจียงจึงเหมาะสมที่สุดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมกระทั่งถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจีนเองก็ได้พัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าแบบ Ultra-high-voltage electricity transmission (UHV electricity transmission) ที่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์ระดับ 1,000 KV หรือ 1 ล้านโวลต์ มายังพื้นที่ทางตะวันออกของเส้น Hu Line เพื่อลดความสูญเสียของกระแสไฟฟ้าจากระยะทางที่ยาวไกลในการขนส่งพลังงาน รวมทั้งได้พัฒนาระบบการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีศักยภาพสูงในพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นซินเจียงคือหัวใจของประเทศจีนที่เป็นประเทศที่หิวกระหายพลังงานเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่ในขณะเดียวกัน ซินเจียงเองก็เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางความมั่นคงสูงสุดด้วย 2 เหตุผล นั่นคือความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นพื้นที่ใหม่ที่พึ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างแท้จริงก็เพียงภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในทศวรรษ 1950s เท่านั้น ดังนั้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่กับการตีความคำสอนตามหลักศาสนาแบบสุดโต่งและต้องการแบ่งแยกดินแดนที่มีความสำคัญนี้ออกจากประเทศจีนจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ประกอบกับปัจจัยที่ 2 นั่นคือ ซินเจียงมีดินแดนพรมแดนที่เป็นเขตต่อเนื่องกับอีกหลายประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย นั่นทำให้บางครั้ง กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้พื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านของจีนในการเป็นแหล่งกบดาน หลบหนีคดีออกจากพื้นที่หลังก่อเหตุการณ์ก่อการร้าย โดยเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งแรกๆ เริ่มจากการวางระเบิดโดยกลุ่ม East Turkestan Islamic Party ในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ในปี 1992 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก ไปจนถึงครั้งที่มีความรุนแรงอย่างยิ่ง อาทิตลอดปี 2014 มีการก่อการร้ายในพื้นที่กว่า 37 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 322 คน หรือครั้งที่อุกอาจที่สุดคือ การกราดยิงในปี 2013 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990s เป็นต้นมา รัฐบาลจีนจึงประกาศความชั่วร้าย 3 ประเภทที่จีนต้องการต่อต้าน นั่นคือ การก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และการตีความศาสนาอย่างสุดโต่ง

และเพื่อให้การควบคุมสถานการณ์เกิดความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางอย่างเขตปกครองตนเองทั้ง 2 แห่งนี้ การประชุมที่มหานครเซี่ยงไฮ้ในปี 1996 และการสร้างกลุ่ม ‘เซี่ยงไฮ้-5’ ประกอบไปด้วย จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน จึงเกิดขึ้น และในปี 2001 ก็มีการรับสมาชิกเพิ่มในลำดับที่ 6 นั่นคืออุซเบกิสถาน และมีการเปลี่ยนชื่อเรียกความร่วมมือนี้ใหม่ว่า องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation) หรือ SCO ซึ่งสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มิถุนายน 2001 หรือเพียงประมาณ 3 เดือนก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเริ่มต้นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001

เห็นได้ว่าความร่วมมือ SCO มีจุดกำเนิดจากการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อต่อต้านความเลวร้ายทั้ง 3 หรือ 三个势力 (Sān gè shìlì) ตามคำนิยามของจีน ในช่วงทศวรรษ 2000s ซึ่งก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกันกับความต้องการของสหรัฐฯ ในตอนนั้นที่ต้องการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

แต่ ณ ปัจจุบัน SCO ได้ขยายความร่วมมือออกไป ทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งมีจำนวนสมาชิก ผู้สังเกตการณ์และคู่เจรจาที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีกว่า 27 ประเทศแสดงความสนใจมีปฏิสัมพันธ์กับกรอบความร่วมมือนี้ในระดับต่างๆ

และในบทความตอนที่ 2 ผู้เขียนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะเหตุใด SCO จึงกลายเป็นความร่วมมือที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องจับตามากที่สุด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจและระเบียบโลก ณ ปัจจุบัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save