fbpx
ไม่มีใครควรเป็นเจ้าของแม่น้ำเพียงผู้เดียว : เขื่อนไซยะบุรี หายนะของแม่น้ำโขง ?

ไม่มีใครควรเป็นเจ้าของแม่น้ำเพียงผู้เดียว : เขื่อนไซยะบุรี หายนะของแม่น้ำโขง ?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ภาพ

เขื่อนไซยะบุรี แม่น้ำโขง

ธารน้ำแข็งละลายจากเทือกเขาหิมาลัย ต่อสายทอดเป็นแม่น้ำยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร คนไทยรู้จักกันในชื่อแม่น้ำโขง คนจีนเรียกแม่น้ำหลานชางเจียง ส่วนคนลาวเรียกว่าแม่น้ำของ — แม่น้ำของที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว

หลายชั่วอายุคนที่แม่น้ำโขงหล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มแม่น้ำ ไหลผ่าน 6 ประเทศ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และไหลลงปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม เปลี่ยนจากความหนาวเย็นของธารน้ำแข็งให้กลายเป็นความชุ่มชื่น ไหลตัดผ่านไปเลี้ยงพืชผักในชุมชน และเป็นสายน้ำที่โอบอุ้มการวางไข่ของปลาอพยพกว่า 400 สายพันธุ์ มีประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องประมง น้ำ และข้าว

เมื่อไม่นานมานี้ การปรากฏตัวของเขื่อนไซยะบุรีสร้างผลกระทบไปทั่วแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต นับเป็นเขื่อนแรกจาก 11 เขื่อนในโครงการของแม่น้ำโขงตอนล่าง

ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ทำข้อตกลงเรื่องการพัฒนาแม่น้ำโขงร่วมกันตั้งแต่ปี 2538 กล่าวคือ หากประเทศไหนจะทำอะไรกับแม่น้ำโขง ต้องยื่นเรื่องให้ผ่าน MRC ก่อน โดยมีขอบเขตความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การวางแผนคุ้มครองแม่น้ำ ความเสมอภาค การใช้น้ำอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม และการป้องกันและยับยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย

รัฐบาลลาวเสนอจะสร้างเขื่อนไซยะบุรีในปี 2553 ตั้งห่างจากแขวงหลวงพระบาง 80 กิโลเมตร หมายมั่นให้เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ โดย 95% ส่งออกขายให้ประเทศไทย และส่วนที่เหลือใช้ในลาว

ในกรณีเขื่อนไซยะบุรีต้องผ่านระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation, and Agreement – PNPCA) ก่อน โดยมีกระบวนการหาข้อมูลผ่านการประชุมระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ศึกษาผลกระทบของโครงการ แล้วนำข้อมูลนี้ไปประชุมกับชาวบ้าน นักวิชาการทุกระดับในแต่ละประเทศ แล้วหลังจากนั้นจึงมีการประชุมกันโดยตัวแทนของ 4 ประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การให้ความเห็นหรือตัดสินใจร่วม

ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวถึงความย้อนแย้งในกระบวนการเหล่านี้ว่า ในปี 2553 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพิ่งออกรายงานเรื่องการประเมินยุทธศาสตร์ของการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง แต่ผ่านไปเพียง 3 สัปดาห์หลังจากประกาศออกไป รัฐบาลลาวก็ยื่นเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรีขึ้นมา

“จากการศึกษาพบว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 11 แห่งตามแผนแล้ว แม่น้ำกว่า 2,000 กิโลเมตรจะต้องกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ การไหลของน้ำเปลี่ยนแปลง และการประมงจะลดลง 40-50% รวมถึงพื้นที่ริมน้ำที่เป็นป่าไม้ สิ่งมีชีวิต พืชพรรณต่างๆ จะตกอยู่ใต้น้ำ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียมาก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจึงเสนอให้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศชะลอเรื่องการตัดสินใจสร้างเขื่อนทั้ง 11 แห่งนี้ออกไปก่อนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อให้มีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อน

“แต่หลังจากที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประกาศรายงานออกไปเพียง 3 สัปดาห์ รัฐบาลลาวก็ยื่นขอเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรีขึ้นมา เราก็เห็นความย้อนแย้งเรื่องงานวิชาการกับการตัดสินใจเรื่องการพัฒนาในภูมิภาคนี้”

ในเชิงภูมิศาสตร์ 25% ของลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสำคัญอย่างมากในเชิงนิเวศ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้น พื้นที่ชายแดนระหว่างกัมพูชากับลาว ที่อยู่ใต้พื้นที่สี่พันดอนลงไป นับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก (Ramsar Site) รวมถึงเป็นพื้นที่ทำประมงที่สำคัญมากในทางเศรษฐกิจ

“ตลอดแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งแต่ลาวไปจนถึงเวียดนาม เราจะพบชุมชนที่พึ่งพาประมงเยอะมาก เช่น ตลาดปลาที่เมืองสตึงเตร็ง ของกัมพูชา ถ้าเราเดินเข้าไปในตลาด เราจะเจอแม่ค้าประมาณ 100 กว่าคนที่ขายปลาแบบนี้ ประชาชนประเทศกัมพูชาบริโภคโปรตีนจากปลามากที่สุดในภูมิภาคนี้ และพึ่งพาเรื่องประมงมากที่สุด”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องดอนกลางแม่น้ำโขง ที่เป็นพื้นที่ให้นกมากกว่า 30 ชนิดมาวางไข่และขยายพันธุ์ทุกปี แต่เมื่อช่วงหน้าแล้งมีการระบายน้ำออกจากเขื่อน ในช่วงที่เขื่อนไซยะบุรีกำลังสร้าง จึงเกิดน้ำท่วมในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งผิดธรรมชาติจนมีนกจำนวนมากตายไปและขยายพันธุ์ไม่ได้

ปัญหาจากการสร้างเขื่อนยังลากยาวไปถึงพื้นที่ปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม พื้นที่ที่ถูกขนานนามว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนเวียดนาม ที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ และส่งออกทั่วโลก แต่เมื่อมีการพัฒนาบนแม่น้ำโขง พื้นที่ตรงนั้นก็มีความเสี่ยงต่อการรุกรานของดินเค็ม ตะกอนดินที่ไหลไปกับแม่น้ำโขงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลง ส่งผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่

ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)

เมื่อถอยฉากขึ้นไปมองด้านบนแม่น้ำโขงทั้งสาย ในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนจากจีน มีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 11 แห่ง ทั้งหมดเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยกักน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งหมดกว่า 22,000 เมกะวัตต์ โดยปริมาณน้ำที่เขื่อนทั้ง 11 แห่งกักไว้มีประมาณ 47,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแม่น้ำตอนล่าง ก็มีการเสนอสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่ง ณ ปัจจุบันที่สร้างเสร็จแล้วคือเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮง ส่วนที่เหลืออีก 9 แห่งคือ เขื่อนปากแบง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เขื่อนสตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ

คำถามสำคัญก็คือ เรามีความจำเป็นต้องสร้างเขื่อนจำนวนมากขนาดนั้นเลยหรือ ?

ณ ปัจจุบัน เขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งานและส่งจ่ายไฟฟ้าเรียบร้อย ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบก็ตั้งคำถามว่า การดำเนินการสร้างเขื่อนไซยะบุรีโปร่งใสและเป็นธรรมแค่ไหน และความเสียหายที่คนลุ่มแม่น้ำเผชิญอยู่นั้นจะเยียวยาอย่างไร

หากย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วในตอนที่รัฐบาลลาวเริ่มเสนอการสร้างเขื่อนไซยะบุรี มีลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อน และพบว่ามีปัญหาหลายจุด ทั้งการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมแค่รัศมี 10 กิโลเมตรจากเขื่อน โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน หรือไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงตลอดสาย เป็นต้น

ในท้ายที่สุดแม้กระบวนการ PNPCA ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะยังไม่มีการตกลงอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลลาวก็ยังเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีต่อ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของไทยคือ ช.การช่าง และได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินของประเทศไทย 6 แห่งได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.ทิสโก้ และเอ็กซิมแบงค์  แม้รายงาน Council Study จากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 11 โครงการของแม่น้ำโขงตอนล่าง คุกคามอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค

“เขื่อนแจ้งว่ามีการใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการอพยพปลา เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของคนลุ่มน้ำโขง แต่ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2555-2562 ไม่มีการเปิดเผยเรื่อง re-design ของเขื่อนไซยะบุรีในทางสาธารณะ

“ประเด็นที่พวกเรากังวลก็คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท เราเห็นอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง เห็นว่าระบบนิเวศของแม่น้ำโขงกำลังกลายเป็นห้องทดลองเทคโนโลยีของเขื่อน เขาพูดเรื่องทางปลาผ่าน เรื่อง run of the river ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจะได้ผลมั้ย สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลการ operate เขื่อนว่าแต่ละวันคุณ operate เท่าไหร่ สาธารณะรับรู้แค่ไหน ตอนนี้เขื่อนเหมือนเป็นห้องทดลอง แล้วประชาชนใน 4 ประเทศก็เป็นผู้แบกรับภาระและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น” ไพรินทร์กล่าว

โครงการใหม่หลายโครงการถูกออกแบบเพิ่มเติมจากเขื่อนไซยะบุรี เช่น มีการสร้างทางปลาผ่านเพิ่มเติม และดัดแปลงการออกแบบทางปลาผ่านให้เปลี่ยนไปจากเดิม การเพิ่มอุปกรณ์ทางเรือผ่าน (navigation facilities) การเพิ่มอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการไหลของตะกอน (sediment facilities) โดยเฉพาะการติดตั้งประตูน้ำ และการศึกษาเพื่อสำรวจความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว เป็นต้น

ทั้งนี้ไพรินทร์ยังมองว่า การสร้างเขื่อนคือการใช้ทรัพยากรร่วมของคนลุ่มน้ำโขง โดยเอาไปสร้างกำไรให้บริษัทเดียว

“ผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนตกอยู่ที่ผู้ลงทุนและผู้ให้กู้ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็สูญเสียมากกว่าประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะเรื่องการประมงและตลิ่งพัง

“มีคนที่รักษาดูแลแม่น้ำแห่งนี้อยู่ แต่แม่น้ำกลับถูกเอาไปสร้างกำไรให้บริษัท ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้ถูกรวมอยู่ในมูลค่าการสร้างเขื่อน รายได้จากการขายไฟฟ้าตลอดสัญญา 31 ปี คิดเป็น 4 แสนกว่าล้านบาท เงินเหล่านี้ตกอยู่กับแค่คนกลุ่มเดียว แต่ประชาชนริมโขงต้องหาหาหนทางแก้ปัญหานี้” ไพรินทร์กล่าวสรุป

จับปลา แม่น้ำโขง

เสียงจากคนริมโขง

“ผมอยู่กับโขงมาทั้งชีวิต ไม่เคยเห็นโขงเป็นแบบนี้” ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินทางมาจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อมาบรรยายในประเด็นผลกระทบของเขื่อนไซยะบุรีต่อแม่น้ำโขง

นิวัฒน์เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนแรกในจีนช่วงปี 2539-40 จนถึงปัจจุบันที่เขื่อนไล่ลงมาที่แม่น้ำโขงตอนล่าง เขาใช้คำว่า แม่น้ำโขงเกิดการผันผวน น้ำไม่ขึ้นลงตามฤดูกาล

“เดือนเมษายนน้ำจะแห้งที่สุด พฤษภาฯ ฝนใหม่มา น้ำก็ยกระดับขึ้น พฤษภาฯ – สิงหาฯ น้ำโขงจะขึ้นสูงที่สุด น้ำโขงเคยท่วมใหญ่เมื่อปี 2509 ผมยังเด็กอยู่ นั่นเป็นการท่วมใหญ่ที่สุดแล้ว แต่เมื่อมีเขื่อนตั้งแต่ตัวที่ 5 จนถึงปัจจุบันนี้ แม่น้ำโขงผันผวน

“เขื่อนจีนจะกักน้ำในฤดูน้ำหลาก แล้วปล่อยน้ำในฤดูแล้ง นี่คือหลักการของจีน จีนบอกว่าเขื่อนจีนให้ประโยชน์กับคนท้ายน้ำ คือไม่ให้น้ำท่วมคนท้ายน้ำ ในฤดูน้ำหลากกักน้ำไว้ แล้วไม่ให้น้ำแล้งในฤดูแล้ง โดยการปล่อยน้ำมา แต่ในมุมมองชาวบ้านอย่างพวกเรา คนที่ใช้แม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ในวิถีวัฒนธรรมของเรา แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ฤดูน้ำหลาก น้ำต้องหลาก หลากเข้าไปในแม่น้ำสาขา ปลาจะขึ้นวางไข่ สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติก็มีวงจรของมัน แต่คุณไม่ปล่อยน้ำมา คุณกักน้ำไว้ น้ำไม่หลากนั่นคือเรื่องใหญ่แล้ว หน้าฝนไม่ใช่ฝนแล้ว ส่วนในฤดูแล้ง น้ำสมควรแห้ง หาดดอนที่เคยเกิดขึ้นในฤดูแล้งโผล่ขึ้นมาเพื่อเป็นที่วางไข่ของนก มีพืชหลายพันธุ์ที่ได้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อยที่อยู่น้ำตื้น พอปล่อยน้ำท่วมหมดก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้

“ที่เรามองก็คือคุณกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า คุณปล่อยน้ำในฤดูแล้งก็เพื่อเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ของคุณ แต่สิ่งที่คุณทำ ขัดกับวิถีชีวิต ขัดกับความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำ นั่นคือแม่น้ำโขงผันผวน สิ่งมีชีวิตต่างๆ ส่งผลกระทบหมด ตั้งแต่สัตว์มาถึงคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” นิวัฒน์กล่าว

ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

นอกจากนิวัฒน์จะเป็นตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแล้ว เขายังเป็นผู้ฟ้องศาลปกครองคนที่ 1 โดยฟ้องอยู่ 5 หน่วยงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้อนุมัติให้มีการซื้อขายไฟฟ้า

ช่วงปี 2555 มีการฟ้องให้เพิกถอนเรื่องคำร้องสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า และฟ้องหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล PNPCA ที่ให้ข้อมูลไม่ครบทุกจังหวัด ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องการให้ข้อมูลข่าวสาร ในครั้งแรกศาลไม่รับฟ้อง เพราะมองว่าประชาชนไม่ได้เป็นคู่ความ ณ ปัจจุบันมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอยู่

“ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในศาลปกครองสูงสุด แต่เขื่อนเสร็จแล้ว มีผลกระทบแล้ว ศาลก็ยังไม่พูดอะไร แต่เราในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้ตลอด เรารู้เลยว่ากฎหมายไปไม่ถึง เงินไปแล้ว ทุนข้ามแดนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อศาลยกฟ้อง เรามองเห็นเลยว่า ปัญหาเป็นอย่างนี้ เราก็อุทธรณ์ ซึ่งการอุทธรณ์มาถึงตอนนี้ เขื่อนก็ทำงานแล้ว ศาลก็ยังไม่ตัดสินอะไร เป็นเรื่องคาราคาซังมาก”

นิวัฒน์ยังกล่าวถึงประเด็นที่กลุ่มทุนไม่เคยเข้ามาคุยหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทั้งยังมีความพยายามจะโฆษณาเขื่อนด้วยนวัตกรรมแบบใหม่ เช่น เป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ไม่กักเก็บน้ำ หรือทำทางปลาผ่าน เป็นต้น นิวัฒน์ตั้งคำถามสั้นกระชับว่า

“ปลาบึกหนัก 200 กว่ากิโลฯ ยาว 3 เมตร จะผ่านอย่างไร” ก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผมคิดว่าเขื่อนคือตัวทำลายแม่น้ำที่อันตรายที่สุดแล้ว เขื่อนไซยะบุรีน่าจะเป็นเขื่อนสุดท้ายของโขงตอนล่างได้แล้ว ถ้าคุณยังคิดจะสร้างเขื่อนหลวงพระบางอีก เรื่องใหญ่มากเลย ผมว่านี่ไม่ใช่แม่น้ำโขงแล้ว”

แม่น้ำโขง

[box]

เนื้อหาจากงาน Media Briefing เรื่อง Sustainable Banking กรณีศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

[/box]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save