fbpx
เจาะสนามเกมการเมืองโลก เมื่อวัคซีนกลายเป็นอาวุธการทูต

เจาะสนามเกมการเมืองโลก เมื่อวัคซีนกลายเป็นอาวุธการทูต

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลายชาติยักษ์ใหญ่ทยอยประกาศความสำเร็จในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ตามมาด้วยดีลการซื้อขายวัคซีนของประเทศต่างๆ ที่แพร่สะพัด อย่างไรก็ตามการกระจายวัคซีนไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการซื้อขาย การให้เปล่า หรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ล้วนไม่ได้เป็นการดีลแบบตรงไปตรงมา หากแต่เป็นภาพสะท้อนระเบียบการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างน่าสนใจ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 นานร่วมปี และยังไม่เห็นวี่แววจบสิ้น ‘วัคซีน’ จึงเป็นของล้ำค่าที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องการเหนือสิ่งอื่นใด หากประเทศใดเข้าถึงวัคซีนได้ย่อมกลับมาใช้ชีวิตปกติ และเดินหน้าเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ชาติที่สามารถผลิตวัคซีนของตัวเองได้จึงเป็นชาติที่เนื้อหอม และมีอำนาจที่จะใช้วัคซีนของตัวเองเป็นใบเบิกทางเข้าไปจัดการความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ รวมไปถึงการแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยการบริจาควัคซีน หรือรูปแบบใดก็ตาม

‘การทูตวัคซีน’ จึงเป็นสมรภูมิของการเมืองโลกในปี 2021 เมื่อแต่ละขั้วอำนาจต่างใช้วัคซีนสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองกันอย่างเข้มข้น คล้ายเป็นภาคต่อของสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

บทความนี้พาไปเจาะลึกว่าเกมการทูตวัคซีนกำลังเดินหน้าไปทางใด ชาติมหาอำนาจชาติไหนกระโดดเข้าร่วมการแข่งขันนี้บ้าง อะไรคือแรงจูงใจ ยุทธศาสตร์ และหมัดเด็ดของแต่ละชาติ

 

3 ฉากทัศน์ของการทูตวัคซีน

 

เอียน เบรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ เคยเขียนไว้ใน TIME ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีวัคซีนว่า การเมืองวัคซีนโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ 3 ฉากทัศน์

 

ฉากทัศน์ที่ 1: ชาตินิยมวัคซีนเต็มรูปแบบ

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของไวรัส H1N1 ในปี 2552 หรือเชื้อร้ายแรงอื่นๆ อย่าง HIV และโปลิโอ ประเทศมหาอำนาจมักใช้ทั้งอำนาจทางวิทยาการ เศรษฐกิจและการเมืองที่จะผลิตหรือหาทางครอบครองวัคซีนให้ได้ รวมทั้งพยายามกีดกันการส่งออกวัคซีนไปให้ประเทศอื่นๆ เพื่อที่จะให้คนในประเทศตัวเองได้รับวัคซีนครบทั้งหมดก่อน เป็นการให้ความสำคัญเพียงชาติของตัวเอง ไม่สนใจชาติอื่นๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘ชาตินิยมวัคซีน’ (Vaccine Nationalism) ส่งผลให้ชาติรายได้น้อย-ปานกลาง เข้าถึงวัคซีนได้ยากและช้า และกรณีของวัคซีนโควิด-19 ก็เป็นไปได้ที่จะเข้าตำรานี้

การผูกขาดวัคซีนโดยชาติมหาอำนาจไม่กี่ชาติส่งผลให้ชาติเจ้าของวัคซีนเหล่านั้นสามารถใช้วัคซีนเป็นเครื่องสร้างอำนาจต่อรองเหนือชาติอื่นๆ ได้สูง การแข่งขันในเกมการทูตวัคซีนบนเวทีนานาชาติก็จะเป็นไปอย่างเข้มข้นมาก

อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์นี้ไม่ได้เป็นผลดีกับโลกมากนัก เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่นตรงที่มีความสัมพันธ์กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก และเกิดขึ้นในยุคที่ห่วงโซ่สายใยเศรษฐกิจของแต่ละประเทศผูกกันอย่างเหนียวแน่น เพราะฉะนั้น ต่อให้ชาติไหนจะฉีดวัคซีนประชาชนได้ครบก่อนชาติอื่น ก็ใช่ว่าชาตินั้นจะกลับมาเดินหน้าเศรษฐกิจได้เต็มสูบทันที หากแต่จะกลับมาฟื้นได้ ก็ต่อเมื่อชาติอื่นๆ ต้องฟื้นได้ด้วยเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น Vaccine Nationalism ยังซ้ำเติมเศรษฐกิจหนักขึ้นไปอีก เพราะทำให้การกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทั้งโลกยิ่งช้าลง

 

ฉากทัศน์ที่ 2: วัคซีนคือสมบัติของทั้งโลก

ฉากทัศน์นี้ตรงข้ามสุดขั้วกับฉากทัศน์แรก ซึ่งก็คือสถานการณ์ที่วัคซีนไม่ได้มีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่เป็นสินค้าสาธารณะของทุกประเทศทั่วโลก โดยที่รัฐบาลจากแต่ละประเทศทั่วโลกอาศัยความร่วมมือแบบพหุภาคีจัดสรรวัคซีนให้ทุกประเทศอย่างเท่าเทียม โดยไม่เกี่ยวว่าชาติไหนร่ำรวยกว่าหรือมีอำนาจการเมืองมากกว่า

แนวคิดนี้ได้นำไปสู่การริเริ่มโครงการ COVAX ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) และองค์กรพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) เป็นการสร้างความร่วมมือในระดับโลก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในฉากทัศน์แรกโดยเฉพาะ

COVAX รวบรวมข้อมูลการพัฒนาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตและกลุ่มวิจัยวัคซีนต่างๆ ไว้มากที่สุดในโลก รวมถึงคอยประเมินศักยภาพของวัคซีนจากแหล่งต่างๆ เพื่อเพิ่มเข้าสู่โครงการ หลังจากที่วัคซีนของบริษัทหนึ่งได้รับการผลิตและรับรองประสิทธิภาพออกมาแล้ว COVAX จะใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกัน ซึ่งเป็นการรวบรวมกำลังซื้อและอำนาจการต่อรองจากประเทศที่เข้าร่วม ก่อนที่จะนำวัคซีนมาทยอยจัดสรรแก่ประเทศที่เข้าร่วมอย่างเท่าเทียม โดยแบ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากร และให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นสูงสุดก่อน COVAX ตั้งเป้าว่าจะต้องส่งมอบวัคซีนให้ได้เป็นจำนวนถึง 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 นี้ นอกจากนี้ COVAX ยังเข้าไปให้การสนับสนุนโดยเฉพาะในด้านเงินทุนแก่บรรดาผู้ผลิตและวิจัยวัคซีนเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มากขึ้นด้วย

จนถึงตอนนี้ COVAX มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 180 ประเทศ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่กลุ่มประเทศที่สามารถจ่ายเงินค่าวัคซีนที่ได้รับจัดสรรภายใต้ COVAX ได้ และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลางที่อาจไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะจ่าย COVAX จึงมีการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกประเทศไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อย มีเงินทุนเพียงพอจะซื้อวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร

 

ฉากทัศน์ที่ 3: การกระจายวัคซีนแบบลูกผสม

เบรมเมอร์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นรูปแบบการกระจายวัคซีนเป็นฉากทัศน์ที่ 1 และ 2 ผสมกัน โดยจะยังคงมีประเทศจำนวนหนึ่งสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ก่อนประเทศอื่นๆ ด้วยการใช้ทั้งอำนาจทางการเงินและการเมือง แต่ขณะเดียวกัน องค์กรพหุภาคี อย่างเช่น WHO ก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยจัดสรรวัคซีนให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกให้เท่าเทียมและรวดเร็วมากที่สุดด้วย

ถึงแม้จะมีการจัดตั้งโครงการอย่าง COVAX ขึ้นมา แต่ COVAX ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรที่จะบังคับให้ทุกประเทศในโลกเข้าร่วม บางประเทศได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าเป็นสมาชิก หนึ่งในนั้นคือชาติพี่ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ เอง สหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในชาติตัวเองให้ครบถ้วนให้เร็วที่สุดก่อน โดยทุ่มลงทุนผลิตและวิจัยวัคซีนร่วมกับหลายบริษัท พร้อมกว้านซื้อวัคซีนไปครอบครองหลายล้านโดส และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับ WHO ในการช่วยเหลือให้นานาประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีน

ถึงแม้ชาติร่ำรวยหลายชาติจะตัดสินใจต่างจากสหรัฐฯ โดยเลือกเข้าร่วม COVAX แต่ขณะเดียวกัน ชาติเหล่านี้กลับพยายามกว้านซื้อวัคซีนไปด้วย โดยเฉพาะบรรดาชาติร่ำรวยในโลกตะวันตก เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ และออสเตรเลีย ที่ซื้อและจับจองวัคซีนได้แล้วเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะที่แคนาดาได้กว้านซื้อไปมากเกินจำเป็นถึง 5 เท่าของจำนวนประชากร โดยที่ COVAX ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะห้ามไม่ให้ประเทศเหล่านี้กว้านซื้อวัคซีน แถมยังเปิดช่องอย่างชัดเจนว่าประเทศที่เข้าร่วม COVAX มีสิทธิที่จะเจรจาจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตแบบทวิภาคีได้โดยตรงไปด้วยก็ได้เหมือนกัน

ข้ออนุญาตนี้ของ COVAX ทำให้บรรดาประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือยากจน ต่างก็เลือกที่จะจัดหาวัคซีนจากทั้งสองทางควบคู่กัน เหตุผลหลักเป็นเพราะวัคซีนที่ COVAX หาได้ยังมีจำกัด ในเบื้องต้น COVAX อาจแจกจ่ายวัคซีนให้แต่ละประเทศทั่วโลกครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากแต่ละประเทศพึ่งพาแต่ COVAX เพียงทางเดียว ก็อาจต้องใช้เวลานานมากกว่าที่ประชากรทั้งประเทศจะได้รับวัคซีนครบ

แต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องเจรจาจัดหาวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ คู่กันไปด้วย เพื่อที่จะให้ประชาชนตัวเองได้รับวัคซีนครบ 100 เปอร์เซ็นต์เร็วที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น COVAX ก็กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระสาย สำนักข่าว Reuters ได้เปิดเผยข้อมูลในเอกสารชุดหนึ่งของหน่วยงานภายใต้โครงการ COVAX โดยมีใจความระบุว่า COVAX มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวสูงมาก เพราะยังขาดเงินทุนในการดำเนินการอยู่อีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการจัดหาวัคซีนก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากบางบริษัทที่เคยเจรจากันไว้ต้องประสบกับความล่าช้าในการทดลองวัคซีน ทำให้ COVAX อาจได้รับวัคซีนไปแจกจ่ายที่ช้ากว่ากำหนดเดิมอีก เอกสารระบุด้วยว่าความล้มเหลวของ COVAX อาจทำให้ชาติยากจนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อีกนานจนถึงปี 2567

นอกจากปัญหาที่ถูกระบุในเอกสารชุดดังกล่าวแล้ว เทดรอส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ยังพูดถึงประเด็นการกว้านซื้อวัคซีนของชาติร่ำรวยที่ทำให้ปริมาณวัคซีนขาดแคลนและราคาสูงขึ้น จนทำให้ COVAX หาวัคซีนยากขึ้นไปอีก

สถานการณ์นี้ตอกย้ำว่าแต่ละประเทศไม่สามารถพึ่งพากลไก COVAX ได้เพียงทางเดียว แต่ต้องอาศัยการเจรจาจัดซื้อกับบริษัทผู้ผลิตอีกช่องทางหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น รูปแบบการกระจายวัคซีนของโลกในตอนนี้จึงเป็นลักษณะของลูกผสม มีความสอดคล้องกับฉากทัศน์ที่ 3 มากที่สุด

ภายใต้ฉากทัศน์แบบที่ 3 นี้ ชาติมหาอำนาจเจ้าของวัคซีนยังคงมีอำนาจต่อรองเหนือชาติอื่น โดยใช้การเจรจาซื้อขายวัคซีนของบริษัทที่ชาติตัวเองสนับสนุนอยู่เป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของชาติมหาอำนาจเจ้าของวัคซีนเหล่านี้ได้เข้าเป็นสมาชิกโครงการ COVAX และยังมีการเสนอที่จะนำวัคซีนเข้าร่วมโครงการเพื่อแจกจ่ายประเทศอื่นๆ ด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบและให้ความสำคัญต่อประชาคมโลก โดยไม่ได้สนใจเพียงแค่ชาติตัวเอง ถือเป็นการสร้างบารมีและการเป็นที่ยอมรับชื่นชมบนเวทีโลก นี่เป็นเกมการทูตอีกรูปแบบหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราจะได้เห็นบรรดาชาติเจ้าของวัคซีนเล่นเกมการทูตวัคซีนกันบนขา 2 ข้าง ทั้งในข้างของการเจรจาตรงกับแต่ละชาติหรือแต่ละภูมิภาค และขาของความร่วมมือพหุภาคีระดับโลกอย่าง COVAX สมรภูมิการทูตวัคซีนโควิด-19 จึงยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น

 

ผ่ากลยุทธ์ 4 ขั้วอำนาจ
บนสมรภูมิการทูตวัคซีน

 

ในสนามเกมการทูตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ขั้วอำนาจที่กระโดดเข้าร่วมเล่นเกมมีอยู่ 4 ขั้วหลัก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐฯ-พันธมิตร และอินเดีย แต่ละขั้วเข้าสู่สมรภูมิด้วยแนวคิด แรงจูงใจเบื้องหลัง และกลยุทธ์ที่ต่างกันไป 

 

จีน

จีนเป็นชาติที่รุกหนักที่สุดในสมรภูมิการทูตวัคซีน รอยเท้าของจีนได้ย่างกรายเข้าไปเหยียบถึงทุกภูมิภาครวมเกินกว่า 100 ประเทศทั่วโลก กว้างขวางยิ่งกว่าชาติไหนๆ

จีนสามารถผลิตวัคซีนได้ ภายใต้การดำเนินงานของหลายบริษัท โดยบริษัทที่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เป็นรูปเป็นร่างแล้วก็คือ Sinovac และ Sinopharm

จีนใช้กลยุทธ์การทูตวัคซีนหลักๆ อยู่ 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือการทำข้อตกลงกับบางประเทศเพื่อใช้ประเทศนั้นเป็นแหล่งผลิตและทดสอบวัคซีน แลกกับสิทธิพิเศษบางประการเช่น สิทธิในการได้รับวัคซีนจากจีนเป็นกลุ่มแรกๆ และสิทธิในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน รูปแบบต่อมาคือการเสนอว่าจะกระจายวัคซีนให้เป็นกลุ่มแรกๆ หรือบริจาควัคซีนให้ และรูปแบบสุดท้ายเป็นการเสนอให้เงินกู้หรือเงินบริจาคเพื่อให้ไปหาซื้อวัคซีน

การรับบทเป็นพี่ใหญ่ใจดีในเกมการทูตวัคซีนของจีนถูกมองว่าเป็นความต้องการที่จะกู้ภาพลักษณ์เชิงลบ จากการเป็นประเทศต้นตอของการแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนที่จะมีการทูตวัคซีน จีนก็ได้ใช้กลยุทธ์การแจกหน้ากากและอุปกรณ์การแพทย์กับประเทศที่เจอปัญหาการแพร่ระบาดมาก่อน ซึ่งก็ถูกมองตั้งแต่ตอนนั้นว่าเป็นการสร้างภาพนักบุญลบล้างความผิดเช่นกัน

นอกจากการเจรจาทวิภาคีกับแต่ละประเทศหรือกลุ่มประเทศแล้ว จีนยังยืนอีกขาหนึ่งคือการแสดงออกถึงการให้ความร่วมมือพหุภาคีกับประชาคมโลกในการจัดการโควิด-19 ในหลายโอกาสโดยประกาศออกมาตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าวัคซีนของจีนจะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก รวมทั้งยังเข้าร่วม COVAX ประกาศจะให้ความร่วมมือกับ WHO ในหลายเรื่อง ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ของจีนในการเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมนานาชาติ

หากมองลึกไปกว่านั้น จีนใช้เกมการทูตวัคซีนสร้างอิทธิพลบนเวทีโลก โดยการพยายามช่วงชิงโอกาสนี้ในการสร้างบารมีแข่งกับโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังขับเคี่ยวกับจีนอย่างดุเดือดมาหลายปี ขณะที่สหรัฐฯ มุ่งที่จะแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในประเทศตัวเองมากกว่าที่จะออกไปช่วยเหลือนานาชาติ จีนได้พยายามเล่นบทตรงกันข้าม การเข้าร่วม COVAX การแสดงบทบาทมากขึ้นใน WHO และการออกตัวช่วยเหลือนานาประเทศมากขึ้นของจีน ได้แสดงความหมายโดยนัยว่าจีนเข้าไปเป็นพี่ใหญ่แทนที่สหรัฐฯ ในเวทีสาธารณสุขโลก

จีนยังสามารถชิงความได้เปรียบเหนือโลกตะวันตก ตรงที่สามารถจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของประเทศตัวเองได้ก่อน จนทำให้จีนสามารถออกไปช่วยเหลือโลกภายนอกได้ และสามารถเสนอแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศอื่นๆ ได้ ขณะที่ชาติตะวันตกพยายามเก็บวัคซีนให้คนในประเทศตัวเองก่อน นี่ทำให้วัคซีนของจีนเข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับหลายประเทศทั่วโลก แม้จะยังมีข้อเคลือบแคลงเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน

การทูตวัคซีนยังช่วยให้จีนรุกขยายอิทธิพลในหลายพื้นที่ของโลก ส่งเสริมนโยบายเดิมที่เคยทำไว้โดยเฉพาะโครงการเส้นทางสายไหม เราจะสังเกตได้ว่าหลายประเทศที่จีนได้เข้าไปให้ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีน ก็คือประเทศที่อยู่ในโครงการเส้นทางสายไหม หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นประเทศที่จีนเข้าไปทำโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การทูตวัคซีนจึงอาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้จีนในการเจรจากับโครงการลงทุนต่างๆ กับแต่ละประเทศได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังเป็นใบเบิกทางที่จะเข้าไปสานสัมพันธ์กับประเทศใหม่ๆ เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปเพิ่มเติมได้ด้วย และที่สำคัญ นี่เป็นโอกาสที่จีนจะได้แผ่อิทธิพลเข้าไปแทนที่กลุ่มชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม วัคซีนของจีนถูกตั้งคำถามมาตลอดในเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการวิจัยวัคซีน หากในที่สุดแล้ว วัคซีนจีนไม่สามารถใช้ได้ดีจริง เกมการทูตวัคซีนของจีนก็จะพลิกจากหัวเป็นก้อยทันที

 

รัสเซีย

รัสเซียเป็นอีกชาติหนึ่งที่รุกหนักบนเวทีการทูตวัคซีนตีคู่มากับจีน รัสเซียประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีน โดยให้ชื่อว่า Sputnik-V รัฐบาลรัสเซียชิงประกาศอนุมัติการใช้งานจริงของ Sputnik-V ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกของโลก ท่ามกลางความกังขาถึงประสิทธิภาพ เพราะเป็นการอนุมัติทั้งที่ยังไม่ผ่านการทดลองเฟสสุดท้ายในตอนนั้น

การเร่งรัดอนุมัติวัคซีนแบบผิดวิสัยนี้ถูกมองว่าเป็นเพราะความพยายามที่จะประกาศศักดาเหนือชาติอื่น อีกทั้งการตั้งชื่อวัคซีนก็เป็นการล้อชื่อของดาวเทียมที่รัสเซียสร้างออกมาสำเร็จเป็นดวงแรกของโลก เป็นการตั้งชื่อเอาฤกษ์เอาชัยในสมรภูมิการแข่งขันวัคซีน เหมือนกับที่เคยขึ้นนำชาติอื่นในการแข่งขันด้านอวกาศยุคสงครามเย็นมาแล้ว

รัสเซียได้เจรจาซื้อ-ขายวัคซีนสำเร็จแล้วกับหลายชาติ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาจากหลากหลายภูมิภาคของโลก โดยให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับประเทศยุโรปตะวันออก อดีตสหภาพโซเวียตเก่า ซึ่งรัสเซียมีความพยายามมานานที่จะแผ่ขยายอิทธิพลกลับเข้าไปอีกครั้ง และประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งรัสเซียกำลังคานอำนาจกับสหรัฐฯ อยู่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัสเซียไม่ได้มีเงินทุนหนาเหมือนจีน การทูตวัคซีนของรัสเซียจึงเข้าถึงพื้นที่ไม่ได้มากและไม่ได้มีรูปแบบที่หลากหลายมากเท่าจีน

 

สหรัฐฯ และพันธมิตร

สหรัฐฯ และพันธมิตรจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในชาติในโลกตะวันตก ประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีนเป็นชาติแรกๆ อีกทั้งยังขึ้นชื่อว่าสามารถผลิตวัคซีนได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าชาติกลุ่มอื่นๆ แต่ประเทศในกลุ่มโลกตะวันตกกลับแทบไม่ได้เล่นบทบาทอะไรที่ชัดเจนในสมรภูมิการทูตวัคซีน เพราะแต่ละประเทศต่างง่วนอยู่กับการจัดการการแพร่ระบาดในประเทศตัวเอง และพยายามกันวัคซีนให้คนในประเทศตัวเองมากกว่า วัคซีนที่ผลิตโดยกลุ่มชาติตะวันตกจึงกระจุกตัวอยู่กับชาติตะวันตกเองเป็นส่วนใหญ่

ถึงแม้ชาติในขั้วอำนาจนี้ส่วนใหญ่จะเข้าร่วม COVAX เพื่อแสดงถึงการให้ความร่วมมือกับนานาชาติ แต่การกระทำหลายอย่างของชาติเหล่านี้กลับไม่ได้ส่งผลดีนักต่อ COVAX อย่างเช่นการกว้านซื้อและกักตุนวัคซีนเกินจำนวนประชากรของหลายชาติ ที่ทำวัคซีนขาดตลาดและราคาแพงขึ้น จนลำบากต่อ COVAX ในการจัดหาวัคซีน หลายฝ่ายโดยเฉพาะ WHO ออกมาเรียกร้องให้ชาติเหล่านี้ช่วยบริจาควัคซีนที่เหลือเข้า COVAX บางชาติได้รับปากที่จะแบ่งปันวัคซีนส่วนเกิน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่ใช่การนำเข้าสู่ COVAX แต่เป็นการเจรจาแบบประเทศต่อประเทศมากกว่า การบริจาควัคซีนส่วนเกินจึงอาจถูกใช้เป็นกลยุทธ์การทูตวัคซีนของประเทศในซีกโลกตะวันตกในอนาคตอันใกล้ โดยการเลือกว่าจะบริจาควัคซีนหรือไม่บริจาคให้ใคร

ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรจึงไม่ค่อยดูดีเท่าไหร่ในสายตาประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนเมื่อเทียบกับขั้วอำนาจอื่นๆ

สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออก ไม่ได้มีนโยบายการทูตวัคซีนที่ชัดเจนมากนัก ส่วนมากมักจะทำเพียงให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เข้าไปเจรจาสานความร่วมมือและถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาและผลิตวัคซีน หรือให้คำมั่นว่าจะแบ่งปันหรือบริจาควัคซีนที่ตัวเองจัดหามาให้ชาติอื่นๆ บ้าง ชาติที่มีนโยบายลักษณะนี้ได้แก่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต่างก็มีจุดประสงค์เบื้องหลังหลักๆ คือต้องการคานอิทธิพลของขั้วอำนาจอื่นโดยเฉพาะจีนที่รุกเกมการทูตวัคซีนหนัก

ขณะที่แกนนำอย่างสหรัฐฯ เองก็เน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคนิคเช่นเดียวกัน แต่สหรัฐฯ ก็ต่างจากชาติอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้เข้าร่วม COVAX แต่การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจากโดนัลด์ ทรัมป์เป็นโจ ไบเดน ก็มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับนโยบายวัคซีน เพราะไบเดนให้คำมั่นที่จะพาสหรัฐฯ กลับสู่ WHO และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่างๆ กับนานาชาติ เราจึงมีโอกาสเห็นสหรัฐฯ กระโจนเข้าสู่สมรภูมิการทูตวัคซีน แม้จะช้ากว่าประเทศอื่นไปหลายขุมแล้วก็ตาม

ถึงชาติกลุ่มนี้จะไม่ได้รุกในเกมการทูตวัคซีนมากเท่าไหร่ และวัคซีนของชาติกลุ่มนี้ก็ยังเข้าถึงยากเมื่อเทียบกับวัคซีนชาติอื่นๆ แต่หลายชาติก็ยังคงมองหาวัคซีนจากบริษัทสัญชาติกลุ่มนี้กันมาก ไม่ใช่แค่เพราะว่ามีประสิทธิภาพสูง แต่ยังเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพึ่งพาแต่เพียงวัคซีนจากจีนหรือรัสเซียเพียงอย่างเดียว ตามสูตรของเกมถ่วงดุลอำนาจที่หลายประเทศมักทำอยู่เสมอ

 

อินเดีย

อินเดียก็สามารถผลิตวัคซีนของตัวเองได้ในชื่อ Covishield รวมถึง Covaxin ที่ร่วมมือกับบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษ ถึงแม้อินเดียจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ แต่รัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้เก็บกักวัคซีนไว้ให้คนอินเดียก่อน แต่มีความตั้งใจที่จะขายหรือแจกจ่ายวัคซีนไปให้ชาติอื่นๆ ด้วย รัฐบาลอินเดียเสนอที่จะบริจาควัคซีนจำนวนมหาศาลให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเขตเอเชียใต้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามรักษาดุลอำนาจของอินเดียในภูมิภาค หลังจากที่จีนได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาพักใหญ่ รวมถึงเป็นความต้องการที่จะเร่งแก้ปัญหาการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่ติดขัดเพราะการแพร่ระบาดในประเทศกลุ่มนี้

อินเดียยังเจรจาซื้อ-ขายวัคซีนกับอีกหลายประเทศจากหลายภูมิภาคทั่วโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ถูกเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางเข้าไปสร้างอิทธิพลและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ กับประเทศเหล่านั้นด้วย โดยอินเดียมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งคือสามารถผลิตวัคซีนได้ในราคาที่ถูกกว่าชาติอื่นๆ

 

เราได้เห็นกันแล้วว่าแต่ละขั้วอำนาจใหญ่ของโลกมีแนวคิดเบื้องหลังและกลยุทธ์กันอย่างไรในสมรภูมิการทูตวัคซีนโลก บทความหน้าจะพาไปสำรวจแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ว่าชาติมหาอำนาจเหล่านี้เข้าไปฟาดฟันเกมการทูตวัคซีนแต่ละพื้นที่กันอย่างไร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save