fbpx
New Normal, Old Normal หรือ New Abnormal? การเมืองโลกบนขอบเหวของความปกติวิถีใหม่

New Normal, Old Normal หรือ New Abnormal? การเมืองโลกบนขอบเหวของความปกติวิถีใหม่

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

วันนี้ คำว่า ‘New Normal’ ดูจะกลายเป็น ‘แฟชั่น’ ใหม่ของการเมืองโลกยุค COVID-19 ที่ทุกคนต่างฉวยใช้ศัพท์นี้กันจนแทบไม่มีความหมายใดๆ คนส่วนใหญ่ทั้งนักวิชาการหรือสื่อจำนวนมากก็มักจะทึกทักเอาว่าโลกยุคหลัง COVID-19 จะไม่มีวันเหมือนเดิม และ business as usual แบบเดิมคงจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกครั้ง 

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเดินทางอย่างเสรี ชีวิตที่ต้องทำงานจากบ้าน (WFH) โดยปราศจากร้านตัดผม ร้านอาหาร ยิม ร้านหนังสือ โรงหนังหรือสปา รวมทั้งการงดไปนวด (ทั้งแบบนวดไทยและอาบอบนวด) นั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นภาวะความปกติวิถีใหม่ของโลก 

New Normal กำลังเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ ที่วางอยู่บนชุดของเกมภาษา (language game) ที่เราเคยทำหรือปฏิบัติมาอย่างคุ้นชินจนเป็นนิสัย หรือกติกาทางสังคมไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง New Normal เริ่มที่จะกำหนดและกำกับพฤติกรรมหรือแนวการปฏิบัติของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ภาษา ท่าทาง หรือแม้กระทั่งเรือนร่างในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การไอจามนั้นเดิมทีมักได้รับการอวยพร (bless you) แต่ถ้าเดี๋ยวนี้มีใครมาไอจามใส่หน้าอาจจะได้รับคำอื่นแทน (เช่น f**k you) เป็นต้น 

บทความนี้อยากชวนคิดและตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจาก New Normal เช่นนั้นหรือ? โดยบทความนี้จะเสนอว่าการตั้งคำถามใหม่ว่า Is there no alternative? ทำให้เราเห็นประเด็นปัญหาใหม่อย่างน้อย 4 ประการสำคัญที่ตามมาจากยุคสมัยแห่ง New Normal ดังนี้

 

Old Normal 

 

“What we call ‘normal’ is a product of repression, denial, splitting, projection, introjection and other forms of destructive action on experience.” — R. D. Laing

 

ในขณะที่สื่อกระแสหลักพูดถึง New Normal จนแทบเป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุด แต่ในมุมของคนชายขอบ เช่น คนผิวสี คนไร้บ้าน ผู้อพยพลี้ภัย แล้ว New Normal อาจเป็นเพียง Old Normal ของพวกเขา/พวกเธอทั้งหลายเหล่านี้มาตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ เพราะมาตรการข้อจำกัดต่างๆ การกดปราบและการสอดส่องควบคุมโดยรัฐ การพรากสิทธิ์หรือการส่งกลับประเทศต่างเป็นลักษณะพื้นฐานของชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ ซึ่งอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (state of emergency) ที่ดำรงอยู่อย่างถาวรมาโดยตลอด 

ยกตัวอย่างเช่น การไม่สามารถเดินทางไปไหนได้อย่างเสรี ความวิตกกังวลว่าลูกหลานจะไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือการไม่ได้เข้าร้านตัดผม ร้านอาหาร ยิม โรงหนังหรือสปา นี่เป็น Old Normal ของคนชายขอบ คนผิวสี หรือคนยากจนมาอย่างยาวนานแล้ว กล่าวคือ สภาวะดังกล่าวไม่ใช่ข้อยกเว้น หากแต่เป็นสภาพปกติธรรมดาสามัญของชีวิตของคนเหล่านี้ต่างหาก

อีกด้านหนึ่ง มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมเองก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับคนบางกลุ่มในบางพื้นที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในสลัม ค่ายผู้อพยพลี้ภัย คุก สถานกักกันหรือชุมชนเมืองที่แออัดมากๆ   

ดังนั้น New Normal จึงไม่ new หรือไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร หากแต่เป็น Old Normal ของคนบางกลุ่มบางพวกเสมอ ประเด็นนี้กลายเป็นโจทย์คลาสสิกของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เช่น Black Lives Matter! ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่ง New Normal ไม่เปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่การปลดแอกทางการเมืองดังกล่าว 

 

New Abnormal

 

“There are no norms. All people are exceptions to a rule that doesn’t exist.” – Fernando Pessoa

 

ประการต่อมา New Normal หลายอย่างยกระดับกลายเป็น ‘ความไม่ปกติใหม่’ (New Abnormal) เช่น ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น การเหยียดเชื้อชาติ การข่มเหงรังแกคนอื่น การที่ชุมชนรังเกียจและขับไสไล่ส่งคนติดโรค รวมทั้งแนวโน้มใหม่ของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า และความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในบางกรณี ‘บ้าน’ ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่สะดวกเหมาะสมสำหรับการทำงานจากบ้านของทุกคนเสมอไป   

ความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) ก็เป็น New Abnormal อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาและน่ากังวลที่สุดในปัจจุบันและอนาคต ความไม่มั่นคงทางอาหารได้กระทบต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติและความไม่เพียงพอของระบบการผลิตและการบริโภคอาหารสำหรับผู้คนทั่วโลก ตอนนี้ หลายบริเวณในโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหารและวิกฤตน้ำดื่มสะอาด

ประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารยังสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องเพศสภาพอีกด้วย กล่าวคือ วิกฤตอาหารมีแนวโน้มที่จะลุกลามไปสู่การคุกคามหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการเหยียดเพศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะในหลายสังคมการเมือง ผู้หญิงถูกกำกับด้วยปทัสถานทางสังคมว่าจะต้องเป็น ‘ผู้รับผิดชอบหลัก’ ในการหุงหาอาหารให้แก่ครัวเรือน วิกฤตอาหารจึงจะมีส่วนทำให้ความรุนแรงในครัวเรือนยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย 

อาจกล่าวได้ว่า เวลาเราพูดถึง New Normal เราต้องไม่ลืมประเด็นปัญหาของ New Abnormal ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมการเมืองโลกด้วยเช่นเดียวกัน 

 

New Normal ‘ซ่อนแอบ’ ประเด็นปัญหาโลก  

 

“The truth is that everyone is bored, and devotes himself to cultivating habits.” — Albert Camus, The Plague

 

เมื่อ New Normal ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่วัตรปฏิบัติเดิมของเรา อีกประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงกันน้อยลงมากก็คือ การก่อตัวของ New Normal ได้ละลืมและละเลยประเด็นปัญหาสำคัญอื่นในโลกไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ฝุ่น PM2.5 ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน วิกฤตของระบบทุนนิยม ไปจนถึงปัญหาชนกลุ่มน้อย วิกฤตผู้อพยพผู้ลี้ภัย หรือแม้กระทั่งปัญหาของระบอบการเมืองแบบเผด็จการ   

COVID-19 ไม่ได้ทำให้ประเด็นเหล่านี้หมดไปได้เอง แต่มันกลับ ‘ซ่อนแอบ’ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างปกปิดและมิดชิด เราเห็นปรากฎการณ์ที่รัฐบางรัฐมีแนวโน้มที่จะรวมศูนย์อำนาจเพิ่มมากขึ้น และฉวยโอกาสใช้อำนาจแบบพิเศษในสภาวะฉุกเฉินในการกระชับอำนาจและกีดกันศัตรูทางการเมืองหรือฝ่ายที่เห็นต่าง 

อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเรื่องการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก หลังจากการวิกฤต COVID-19 ประเด็นนี้แทบไม่ได้รับการพูดถึงหรือรณรงค์มากเท่าใดนัก การพึ่งพิงระบบการส่งของแบบ delivery service ทั้งการส่งไปรษณีย์ การส่งของและการส่งอาหารต่างๆ ในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์ มีแนวโน้มจะใช้ถุงและผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 

โจทย์ใหญ่ประการหนึ่งของคนในยุค (หลัง) COVID-19 คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ลืมปัญหาซ่อนแอบเหล่านี้ในโครงสร้างและความสัมพันธ์ของแนวปฏิบัติใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่ 

 

New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้  

 

“But in some great souls, who consider themselves as citizens of the world, and forcing the imaginary barriers that separate people from people…” — Jean-Jacques Rousseau

 

มโนทัศน์ ‘การรักษาระยะห่างทางสังคม’ (social distancing) เป็นการสื่อนัยความหมายผิดๆ เพราะมันทึกทักเอาว่าการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้นไม่มีความเป็นสังคม คำที่เหมาะกว่าคือ physical distancing ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เราไม่ละเลยความสำคัญของความเป็นสังคมและชุมชนทางการเมืองที่ยังวางอยู่บนพื้นฐานของภราดรภาพทางสังคม (social solidarity) และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน 

กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติ การรักษาระยะห่างทางสังคมกลับไม่ทำลายความเป็นชุมชนทางสังคมการเมืองลงไปทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์ เรายังพอเห็นการแสดงออกทางสังคมในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนในละแวกใกล้เคียงกันออกมาร้องเพลงหรือเล่นดนตรีร่วมกันจากหน้าต่างบ้านหรือหน้าบ้านของตนเอง การที่คนในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงออกมาอวยพรวันเกิดให้หญิงชราวัยเกือบ 100 ปี การที่ผู้คนช่วยเหลือบริจาคข้าวและอาหารให้กันและกัน หรือในอังกฤษ เราเห็นคนออกมายืนบริเวณถนนหน้าบ้านเวลาประมาณสองทุ่มทุกค่ำวันพฤหัสบดี เพื่อปรบมือแสดงความขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ  

การกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สำคัญที่ยังช่วยค้ำจุนภราดรภาพทางสังคม และการธำรงรักษาความเป็นชุมชนทางการเมืองเอาไว้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่เป็นรากฐานของชุมชนทางการเมืองที่ดีในยาม physical distancing โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างชุมชนให้เหนียวแน่นนั้นจะช่วยลดปัญหาการผลักภาระหรือโทษปัจเจกบุคคล โดยไม่ละเลยที่จะมองปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระดับมหภาค เช่น ความล้มเหลวของรัฐในการทำหน้าที่และความรับผิดชอบสาธารณะ  

บทความนี้เสนอว่า นี่อาจจะเป็น New normal ที่เราอยากจะเห็นในอนาคตของความสัมพันธ์ทางสังคมการเมือง กล่าวคือ การสร้าง New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้ขึ้นมาแทนที่ New Normal แบบที่รับรู้กันทั่วไป  

New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของ

  • การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้างของโลก ทั้งระบบทุนนิยมที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และระบบเผด็จการต่างๆ ที่กีดกันลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน  
  • การที่เราต่างอยู่ร่วมกันและพึ่งพาซึ่งกันและกันในสถานการณ์โรคระบาด 
  • การสร้างสังคมที่ลงทุนกับความเป็นธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมกัน และภราดรภาพนิยมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง   
  • การสถาปนาสังคมพลเมืองโลกหรือ Cosmopolitan World ที่มองคนเท่ากัน และมองคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก 

 

โลกยุค COVID-19: รับ ‘นม’ หรือ ‘น้ำตาล’ ดีครับ?

 

เราไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ หรือ? 

อุดมการณ์หลักของโลกยุค (หลัง) COVID-19 คือการบอกเรากลายๆ ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่  หรือ There is no alternative! 

เรากำลังตกอยู่ในกับดักของ ‘forced choices’ ที่บีบบังคับให้เราต้องเลือกระหว่าง ‘Old Normal’ กับ ‘New Normal’

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่มีทางเลือกที่แท้จริง ทั้งในแง่ของสถานการณ์ที่เราไม่อาจเลือกได้ (นั่นคือทั้งการระบาดของโรคและการควบคุมโรคไม่อนุญาตให้เรามีชีวิตบางแบบได้) และภาษาของ New Normal ก็ได้ปิดทางเลือกอื่นๆ หรือทำให้เราไม่คิดถึงทางเลือกใหม่ๆ ในการปฏิบัติตัวของเราและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นในสังคมโลก 

ซ้ำร้าย หากเราเลือกทางเลือกที่รัฐหรือทุนมองว่า ‘ไม่ใช่’ กับดักนี้ก็จะกลับมาทิ่มแทงทำร้ายผู้ที่ต้องการแสวงหาทางเลือกแบบอื่นที่ดีกว่าอีกด้วย หากมองแบบ Slavoj Žižek แล้ว เรามีเสรีภาพที่จะเลือก ตราบเท่าที่เราตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ ‘ใช่’ ในสายตาของรัฐและทุนนิยมโลกเท่านั้น  

ทางเลือกระหว่าง ‘New Normal’ หรือ ‘Old Normal’ จึงมีความแย่ไม่ต่างกันนัก (แม้ว่าอาจจะแย่มากกว่าหรือแย่น้อยกว่าก็ตาม) แต่ทั้งสองทางเลือกต่างไม่ใช่ทางเลือกที่ดีทั้งคู่ เพราะมันเป็นเป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ทางเลือก หรือ forced choices สำหรับประชาชน

ทางออกที่แท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องของ ‘เก่าไปใหม่มา’  แต่อยู่ที่การก้าวข้ามให้พ้นจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมต่างหาก ซึ่งนี่น่าจะนำเราไปสู่การตั้งคำถามขั้นพื้นฐานว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุค (หลัง) COVID-19 และเราจะสร้างสังคมอีกแบบที่เป็นไปได้อย่างไร 

หากเปรียบเปรยในเชิงอุปมาแล้ว บางครั้ง เราอาจจะไม่ต้องการรับ ‘นม’ หรือ ‘น้ำตาล’ เพราะเราอาจไม่ได้ต้องการจะรับกาแฟ แต่เรามีทางเลือกที่จะดื่มน้ำเปล่า ชา ชาดำเย็น ชามะนาวหรือโอเลี้ยง หรือแม้กระทั่งกาแฟดำเข้มๆ แทน ด้วยเหตุนี้ เรายังมีทางเลือกอีกหลากหลายรูปแบบในยุคสมัยที่ถนนทุกสายมุ่งตรงไปสู่ New Normal  

ในนวนิยายเรื่อง Quichotte (2019), Salman Rushdie นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อชาติอินเดียเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า 

“Normal doesn’t feel so normal to me,”

“It’s normal to feel that way”. 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save