fbpx
สหรัฐอเมริกากับการสร้างระเบียบโลกใหม่อันไร้ระเบียบ

สหรัฐอเมริกากับการสร้างระเบียบโลกใหม่อันไร้ระเบียบ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

บนเครื่องบินระหว่างเดินทางไปกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ผมได้ดูหนังเรื่อง ‘Vice’ ซึ่งเป็นประวัติจริงของดิก เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2009 ในส่วนของชีวประวัติ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแปลกใจหรือลึกซึ้งที่เราควรรู้ ถือว่าเป็นชีวิตของนักการเมืองธรรมดาคนหนึ่ง

เชนีย์มีพื้นฐานทางสังคมที่เข้ากันได้กับความคิดอนุรักษนิยมมาแต่แรก หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเยล เขาเริ่มฝึกงานและทำงานในทำเนียบขาวสมัยประธานาธิบดีเจอร์รัล ฟอร์ด ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐไวโอมิง สังกัดพรรครีพับลิกัน

หนังพยายามวาดภาพการเป็นนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม จากการเข้าร่วมกลุ่มปีกขวาของพรรคแต่ต้น สังสรรค์อยู่กับนักการเมืองฝ่ายเอียงขวามาตลอดจนได้รับตำแหน่งฝ่ายบริหาร เข้าร่วมรัฐบาลของจอร์จ บุช ผู้พ่อ โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาประธานาธิบดีบุชคนลูกทาบทามให้เชนีย์มาเป็นรองประธานาธิบดี จุดนี้เองที่เป็นหัวใจของหนัง เมื่อเชนีย์เป็นผู้วางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ทางการทหารในการต่อสู้กำจัดขบวนการก่อการร้ายมุสลิมที่ทำการโจมตีถล่มสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่เรียกว่า ‘9/11’

หนังพูดราวกับว่าเชนีย์เป็นผู้คิดแทนบุช ครอบงำความคิดและกำหนดให้ประธานาธิบดีปฏิบัตินโยบายตามความคิดเห็นและความเชื่อของเชนีย์ทั้งหมด ซึ่งดูเหลือเชื่อเกินไป แต่ในแง่ของหนังก็ทำให้ตื่นเต้นและอยากติดตามดูจนจบว่าจะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่ผมสนใจในประวัติของเชนีย์ คือเขาเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาในการเมืองอเมริกันที่ชัดเจนและมีอิทธิพล ไม่ใช่แค่พวกอยากเห็นคนดีปกครองพวกคนเลว หรือต่อต้านฝ่ายก้าวหน้าที่มักเป็นพวกซ้ายทั้งหลาย แน่นอนว่าเขาไม่เห็นด้วยกับขบวนการนักศึกษาต่อต้านสงครามเวียดนามในทศวรรษ 1960 ต่อต้านวัฒนธรรมของฮิปปี้และพวกต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก (counter-culture) เชนีย์มีวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ที่มุ่งรักษาและปกป้องค่านิยมและโครงสร้างอำนาจสังคมเศรษฐกิจที่เรียกว่า status quo หรือสถานะดั้งเดิมของสังคมอเมริกันเอาไว้

แต่ที่มากไปกว่านั้น คือความมุ่งมั่นที่แน่นเหนียวในการพิทักษ์รักษาวิถีชีวิตแบบอเมริกันและประเทศที่เป็นจักรวรรดิ (Empire) อันหมายความว่าคนอเมริกัน (ขาว) จะต้องมีวิถีชีวิตที่มั่งคั่ง สะดวกสบาย และยืนยงตลอดไปโดยไม่เสื่อมคลาย แน่นอนว่าการจะทำอย่างนี้ได้ อเมริกาต้องมีบริวารในบรรดาประเทศที่เป็นผู้ป้อนทรัพยากรและความมั่งคั่งให้อย่างไม่สิ้นสุด อุดมการณ์แบบนี้ว่าไปแล้วถ้าเชื่อจริงๆ ก็มีอะไรให้ทำในชีวิตและการงานได้มากมหาศาล เพราะมันเท่าๆ กับการปกครองและจัดการประเทศ รวมถึงคนทั้งโลกเลย

ผมตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า ทำไมประเทศอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีระดับการพัฒนาและเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง คนมีระดับการศึกษาก็สูง ถึงมีคนและนักการเมืองระดับแถวหน้าเป็นอนุรักษนิยม?

 

ผมคิดว่าอนุรักษนิยมน่าจะมีแต่ในประเทศที่ตกต่ำหรือถดถอยจากความเป็นใหญ่ในอดีตเช่นอังกฤษ แต่อเมริกาเป็นประเทศที่เกิดมาด้วยอุดมการณ์และวัฒนธรรมกระฎุมพีที่ไม่เคยแปดเปื้อนวัฒนธรรมฟิวดัลเลย ทั้งที่อเมริกาไม่เคยมีอดีตกาลที่เป็นอาณาจักรเก่าแก่อะไรที่ทำให้ภูมิใจและหลงใหลได้ นอกจากภาคใต้ในสมัยที่มีระบบทาส ก่อนที่ ‘วิมานทลาย’ (Gone With the Wind) ในสงครามกลางเมือง ทำไมถึงมีคนที่มีความรู้แต่กลับอยากเป็นอนุรักษนิยม

บรรดาคนมีฐานะและการศึกษาสมัยก่อนสงครามกลางเมืองที่เป็นอนุรักษนิยม ก็มีแต่ในภาคใต้ที่มีระบบทาสเป็นฐานเศรษฐกิจและการเมือง ความเป็นอนุรักษนิยมแบบคนใต้สมัยโน้นอธิบายได้ว่ามาจากเหตุผลของการรักษาระบบทาส ความสัมพันธ์แบบนายทาส เพื่อไม่ให้สังคมล้มเหลว จนไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงสร้างเหตุผลรองรับความชอบธรรมของระบบทาส อันนำไปสู่การยอมรับมโนทัศน์ของความเป็นอนุรักษนิยมที่ตรงข้ามกับเสรีนิยม เช่นที่คนเหนือบอกว่า คนเกิดมาเท่าเทียมกัน ตามที่เจฟเฟอร์สันเขียนในคำประกาศเอกราช แต่คนใต้เถียงกลับว่า ไม่จริง คนเราเกิดมาก็ไม่เท่ากันแล้ว บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนเข้มแข็ง บางคนอ่อนแอ

ผมแปลกใจมากเพราะเป็นการเถียงด้วยเหตุผลที่เหมือนกับคนไทยเลย แม้จะห่างกันเกือบร้อยปีก็ตาม นักประวัติศาสตร์อเมริกันที่ศึกษาเรื่องภาคใต้ ยอมรับในความซื่อตรงและความถูกต้องที่มาจากคัมภีร์ไบเบิลที่พวกคนใต้ศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง ว่าทาสคือคนที่พระเจ้ามอบให้พวกเขาดูแล ดังนั้นพวกเขาจึงดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ยอมให้พวกภาคเหนือมาทำลายยกเลิกระบบทาสไปเสีย ความคิดอนุรักษนิยมภาคใต้เก่าจึงพอเข้าใจและยอมรับได้ในสมัยใหม่ว่าเป็นการรักษาวิถีชีวิตและอารยธรรมภาคใต้ที่ไม่ได้ไปรุกรานคนอื่นเอาไว้

แต่เชนีย์กับพวกที่เข้ามายึดอำนาจรัฐได้ในสมัยประธานาธิบดีบุช มีอุดมการณ์ใหม่ที่เรียกกันว่า ‘นีโอคอน’ หรืออนุรักษนิยมใหม่ ซึ่งเพิ่มมิติของโลกยุคโลกาภิวัตน์และระเบียบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย กล่าวคือ สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการจัดระเบียบประเทศที่ท้าทายความมั่นคงและการเป็นเจ้ามหาอำนาจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเข้าไปด้วย แม้ศัพท์นีโอคอนจะมีการใช้มาก่อนตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความหมายของการต่อต้านฝ่ายซ้ายและเสรีนิยม แต่สิ่งใหม่ในทศวรรษ 1990 คือการตอกย้ำมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย นั่นคือหากจำเป็น สหรัฐฯ ก็จะใช้กำลังทหารเข้าจัดการและกำจัดพวกที่เป็นศัตรูกับวิถีชีวิตและความเป็นอเมริกันให้สิ้นซาก

สิ่งที่คนอย่างเชนีย์ทำ คือการยกระดับความคิดของฝ่ายอนุรักษ์เสียใหม่ ให้ไปสนองความต้องการอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาในทำเนียบขาวอย่างไม่มีความเมตตา แผนยุทธการถล่มอิรัก และการเปิดฉากสงครามด้วยการที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายบุกเขาก่อนทั้งที่ยังไม่มีสภาวะสงครามอะไรทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ ทำไม่ได้ นอกจากสหรัฐฯ ในยุคนีโอคอน

ดิก เชนีย์ ประกาศนโยบายหรือหลักการที่เรียกว่า ‘หนึ่งเปอร์เซ็นต์’ กล่าวคือถ้าหากอิรักสามารถเข้าถึงและใช้อาวุธทำลายล้างมหาศาลได้ (Weapon of Mass Destruction – WMD) เพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็มีความชอบธรรมแล้วที่สหรัฐฯ จะใช้กำลังเข้าจัดการ พูดใหม่คือ แค่มีความจริงเพียง 1% เท่านั้นก็บุกอิรักได้แล้ว กระนั้น หลังจากหมดสมัยประธานาธิบดีบุชและเชนีย์แล้ว จะพบว่าคำอ้างทั้งหมดของอเมริกาในการบุกอิรักนั้นโกหก เป็นสร้างข้อมูลเท็จโดยสิ้นเชิง ไม่มีแม้แต่หนึ่งเปอร์เซ็นต์

มองกลับไป สงครามอิรักของอเมริกาไม่มีความหมายทางอุดมการณ์และยุทธศาสตร์อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ถึงขนาดที่ต้องใช้กำลังและอาวุธทันสมัยนานาประการเข้าโจมตี นอกจากเป็นการสนองความอยาก ความกระหาย และความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของคนอย่างเชนีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่นายหน้าในสงครามอิรักด้วย นั่นคือฮาลิเบอร์ตัน ทำให้ราคาหุ้นทะยานพุ่งขึ้นกว่า 200%

ฉากสุดท้ายตอนจบเมื่อนักข่าวสัมภาษณ์เชนีย์หลังหมดอำนาจว่า เขารู้สึกอย่างไรที่สงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก แต่สงครามก็ยังไม่ยุติ สถานการณ์ก็ยังไม่สงบเสียที เชนีย์ตอบด้วยหน้าตาไม่พอใจว่า “ผมจะไม่กล่าวคำขอโทษสำหรับการกระทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อทำให้คนที่คุณรักสามารถนอนหลับได้อย่างสันติในเวลากลางคืน”

 

ความคิดและการปฏิบัติของอนุรักษนิยมแบบอเมริกาคงไม่เหมือนกับกรณีของไทยและที่อื่นๆ กรณีของสหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่าความคิดอนุรักษนิยมถูกนำไปใช้ในการขยายอำนาจรัฐของสหรัฐฯ ในการต่อต้านและปราบปรามคนนอกประเทศ ส่วนอนุรักษนิยมแบบไทยคงคิดไม่ถึงและยิ่งทำได้ยากมาก นอกจากมุ่งโจมตีฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของประเทศ และปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอันเป็นคนในประเทศเป็นหลัก

เมื่อมองไปที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนี้ เห็นได้ชัดว่าฝ่ายอนุรักษนิยมแบบเชนีย์เข้ามามีฐานะและบทบาทในสภาความมั่นคงและที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีมากขึ้น ล่าสุดคือ จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติคนล่าสุด ที่มีทัศนะสายเหยี่ยวและต้องการรักษาความเป็นอเมริกันจากการทำลายและท้าทายของคนนอก อันได้แก่พวกมุสลิมหัวรุนแรง เขาเคยเสนอให้ใช้กำลังทหารถล่มเกาหลีเหนือก่อน แต่เมื่อทรัมป์หันมาเดินหมากแบบไม้นุ่ม โบลตันก็ต้องเงียบไป รอเวลากลับมาใหม่ในอีกไม่นาน ส่วนอีกจุดหนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเอียงขวาของทรัมป์เข้าแทรกแซงคือเวเนซุเอลา

เมื่อมองภาพรวมของนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์และพรรคพวกอนุรักษนิยมแล้ว สรุปได้ว่าคือการมุ่งหน้าไปสู่การรักษาฐานอำนาจและบทบาทของสหรัฐฯ ในโลกเอาไว้ เพื่อรักษาและเพิ่มความมั่งคั่งสถาพรอยู่ดีกินดีแก่คนอเมริกันแท้ที่ไม่ใช่พวกผู้อพยพและลี้ภัยมาจากต่างประเทศ แม้การกระทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องบั่นทอนกระทั่งทำลายพันธมิตรเก่าแก่เช่นยุโรปและเอเชียบางประเทศลงก็ตาม ก็ต้องทำ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะรักษาให้ ‘อเมริกายิ่งใหญ่’ ไว้ได้ต่อไป

นี่คือความเป็นมาของลัทธิชาตินิยมคนขาว (White Supremacist) ของโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์เก้าชีวิตผู้ผันตัวเองขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในช่วงเวลาที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและขวาสุดกู่ทั้งหลายกำลังรวบรวมพลังในการตอบโต้อยู่ แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสทอง อาจมีหนเดียวในประวัติศาสตร์ของขบวนการชาตินิยมขาวเป็นใหญ่ที่มีประธานาธิบดีเป็นเสาหลักและหัวหน้ากองเชียร์ให้ด้วย ถ้าไม่สำเร็จในตอนนี้ ก็ยากจะสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งสมาชิกเลือดใหม่ ‘อนาคตใหม่’ ของพรรคเดโมแครตกำลังเติบโตและเรียกคะแนนเสียงได้ดีกว่าพวกรุ่นเก่า

 

กลับมาที่ประวัติของเชนีย์และพวกอนุรักษนิยมอเมริกัน จุดที่ทำให้ผมนั่งดูหนังเรื่องนี้ไปจนจบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นหนังที่มีคุณค่าอะไรมากขนาดนั้น ก็ด้วยความคิดว่า เป็นเพราะนโยบายของสหรัฐฯ ในยุคนั้นหรือเปล่า ที่นำไปสู่การจุดระเบิดให้คนรุ่นใหม่เกิดสำนึกใหม่ โดยเฉพาะนักกิจกรรมและนักต่อสู้ที่เป็นมุสลิมทั่วโลก ให้เข้าร่วมการทำสงครามเหนือชาติ คือการก่อการร้ายที่ตรงไหนก็ได้ เพื่อจุดหมายของการทำลายเครือข่ายและอำนาจของจักรวรรดิอเมริกาไม่ให้ดำเนินและดำรงอยู่ต่อไปได้

ผมคิดถึงการระเบิดฆ่าตัวเองในโบสถ์คาทอลิกที่ศรีลังกา และการกราดยิงผู้คนในมัสยิดที่เมืองไครสต์เชิร์ช  นิวซีแลนด์ ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลปกติทางการเมืองได้เลย ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะและสถานการณ์อะไรของโลก นอกจากภาพของระเบียบโลกใหม่ที่อเมริกาสร้างกำลังปั่นป่วน และจะยิ่งทวีความไร้ระเบียบมากขึ้นต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save