fbpx
ฟุตบอลโลกในฐานะมหกรรมของชนชั้นกลาง

ฟุตบอลโลกในฐานะมหกรรมของชนชั้นกลาง

สมคิด พุทธศรี เรื่องและภาพ

ช่วงระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผม ‘โชคดี’ มากที่มีโอกาสได้บินไปดูฟุตบอลโลก 2018 ที่มอสโค ประเทศรัสเซีย โดยผมเข้าไปดูการแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายสองคู่ คู่แรกเป็นการดวลแข้งกันระหว่างเจ้าภาพรัสเซียและสเปน ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายเอาชนะจุดโทษไปได้ ส่วนคู่ที่สองเป็นการพบกันระหว่างอังกฤษและโคลัมเบีย และก็เป็นอังกฤษที่เอาชนะจุดโทษไปอีกเช่นกัน

การดวลแข้งกันระหว่างเจ้าภาพรัสเซียและสเปน ฟุตบอลโลก
การดวลแข้งกันระหว่างเจ้าภาพรัสเซียและสเปน

โดยไม่ได้คาดคิดล่วงหน้าว่าจะได้ไป ผมจึงอยู่แต่เพียงแค่มอสโคและใช้เวลาแค่ 3 วันครึ่งในการดูฟุตบอลทั้งสองคู่ที่ฟาดแข้งกันในเมืองหลวงของมหาอำนาจโลกแห่งนี้ แม้เวลาจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ผมมีข้อสังเกตที่คิดว่าน่าสนใจพอจะเอามาเล่าสู่กันฟังได้

ในช่วงเวลาที่อยู่ในกรุงมอสโค ผมรู้สึกว่า คนรัสเซียไม่ได้ให้ความสนใจกับฟุตบอลโลกมากนัก วันแรกที่ไปถึงเป็นวันที่รัสเซียลงสนามเจอกับสเปนพอดี อีกทั้งยังเป็นเป็นวันอาทิตย์ ผมคาดหวังว่า กองเชียร์รัสเซียน่าจะออกมาร้องรำทำเพลงกันตั้งแต่หัววันเป็นแน่ ทว่าตลอดทั้งวันพบการรวมกลุ่มของแฟนบอลรัสเซียแบบประปรายเท่านั้น มีช่วงที่คึกคักอยู่บ้างคือระหว่างเดินทางไปสนามและดูบอลในสนาม แต่โดยรวมรู้สึกว่าบรรยากาศไม่ได้พีคอะไรมาก

ตรงกันข้าม ในแทบทุกที่ที่ผมไป (ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นย่านท่องเที่ยว) กลับเต็มไปด้วยแฟนบอลจากหลากหลายชาติ แฟนบอลสเปนรวมกลุ่มรวมกลุ่มกันร้องเพลง ถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน ในขณะที่แฟนบอลชาติอื่นที่เดินผ่านไปผ่านมาก็ขอถ่ายรูป แฟนบอลส่วนใหญ่มักแต่งตัวแสดงสังกัดที่ชัดเจน ถ้าธรรมดาทั่วไปก็ใส่เสื้อทีมชาติ แต่จำนวนไม่น้อยก็แสดงความพิเศษในหลายรูปแบบ เช่น ถือธงชาติ เอาธงชาติมาคลุมตัว เพนท์หน้า หรือไม่ก็สวมใส่เครื่องประดับพิเศษอย่างวิกผมสีสัน หมวก และหน้ากาก

แฟนบอลจากหลากหลายชาติ ฟุตบอลโลก ฟุตบอล

ยิ่งเข้าไปบริเวณที่จัดอีเวนต์ฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็น Football Park พื้นที่ออกบูธของสปอนเซอร์หลัก มีกิจกรรมให้แฟนบอลทำมากมาย ซึ่งตั้งอยู่กลางจตุรัสแดง หรือ FIFA Fan Fest พื้นที่ดูบอลจอยักษ์นับ 10 จอ รองรับคนได้กว่า 25,000 คน ยิ่งรู้สึกชัดเจนขึ้นว่า ผมกำลังมาร่วมงาน ‘เทศกาลนานาชาติ’ สักงานหนึ่ง เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เป็นคนรัสเซียแล้ว ผู้คนรอบตัวผมน่าจะมาจากนอกรัสเซียเสียเป็นส่วนใหญ่

แฟนบอลจากหลากหลายชาติ ฟุตบอลโลก ฟุตบอล

อันที่จริง ผมไม่แน่ใจนักว่า ข้อสังเกตข้างต้นเป็นเพราะอคติหรือไม่ เพราะผมมาในฐานะ ‘นักท่องเที่ยว’ และ ‘แฟนบอล’ ดังนั้น เมื่อไปที่ไหนก็ย่อมแต่เจอกับพวกเดียวกัน แต่เมื่อได้คุยกับพนักงานโฮสเทล ซึ่งดูแล้วน่าจะอายุไม่เกิน 30 และเอเยนต์ขายตั๋วฟุตบอลอายุน่าจะใกล้ 50 ก็พบว่าข้อสังเกตของตัวเองนั้นมีทั้งถูกและผิด ทั้งสองคนให้ข้อมูลคล้ายกันว่า คนส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมกับฟุตบอลโลกยังคงเป็นคนรัสเซีย เพราะอย่างไรเสียก็เป็นเจ้าภาพและมีต้นทุนที่ถูกกว่าคนชาติอื่นในการเข้าชม อย่างไรก็ตาม สำหรับคนรัสเซียส่วนใหญ่แล้ว ฟุตบอลโลกนั้นราคาแพงเกินไป มีเฉพาะคนชั้นกลางระดับบนและคนรวยของรัสเซียเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าร่วม ‘มหกรรมแห่งมวลมนุษยชาติ’ ครั้งนี้

เอเยนต์ขายตั๋วเล่าให้ผมฟังว่า คนรัสเซียคือคนที่ถือตั๋วมากที่สุด เพราะได้โควตาในการกระจายตั๋วมากกว่าชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ประมาณ 30-40% ของตั๋วที่อยู่ในมือแฟนบอลชาติอื่นๆ จริงๆ แล้วเป็นตั๋วที่คนรัสเซียเอามาปล่อยต่อทั้งนั้น

ถ้ายึดตามเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสหพันธ์ฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่า ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่อยู่เบื้องหลังการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมด ตั๋วฟุตบอลสำหรับรอบคัดแบ่งกลุ่มที่ไม่ใช่นัดเปิดสนาม (ซึ่งเป็นรอบที่ราคาถูกที่สุด) ที่ขายกันในทัวร์นาเมนต์นี้คือ 1,280–12,600 รูเบิล (แล้วแต่ที่นั่ง) หรือคิดเป็นเงินไทยราว 700-6,800 บาทเท่านั้น แต่ผู้ชมในสนามจำนวนไม่น้อยน่าจะต้องจ่ายกันที่ราคา 4,000–40,000 รูเบิล หรือราว 2,000–22,000 บาทเลยทีเดียว

ยิ่งถ้าเป็นตั๋วนัดชิงชนะเลิศฟีฟ่าเปิดราคามาที่ 7,040–66,000 รูเบิล หรือคิดเป็นเงินไทยราว 3,800–35,000 บาท แต่ที่ซื้อขายกันจริงน่าจะอยู่ที่ราว 280,000 รูเบิล หรือเกือบ 150,000 บาทสำหรับที่นั่งราคาถูกสุด ส่วนที่นั่งดีๆ ราคาน่าจะพุ่งทะลุไป 1,500,000 รูเบิล หรือ 8 แสนบาทแล้ว และต่อให้มีเงินจ่ายก็ใช่ว่าจะหาตั๋วได้ง่ายๆ

“ผมมีตั๋วในมือแทบทุกนัด แต่ยังเข้าไปดูแค่นัดเดียวเอง อย่างน้อยก็พอบอกคนอื่นได้ว่าได้ดูฟุตบอลโลก ที่เหลือปล่อยต่อหาเงินเก็บไว้ให้ลูกดีกว่า” เอเยนต์เล่าให้ผมฟัง

เอเยนต์คนเดิมยังเล่าต่อว่า เหตุที่ราคาปล่อยต่อของตั๋วฟุตบอลโลกทะยานขึ้นไป เพราะคนจีน เวียดนาม รวมถึงคนไทยนี่แหละ แฟนบอลจากประเทศกลุ่มนี้สู้ทุกราคา แถมชอบซื้อกันเป็นกรุ๊ปใหญ่นั่งติดกันหลายคน ยิ่งทำให้ราคาขายต่อแพงขึ้น

พนักงานโฮสเทลเล่าให้ผมฟังว่า เขาไม่เคยคิดที่จะไปดูบอลโลกในสนามอยู่แล้ว เพราะไม่คิดว่าจะหาตั๋วได้ อย่างไรก็ตาม เขากับเพื่อนไปดูบอลจอยักษ์ที่ FIFA Fan Fest ครั้งหนึ่ง และพบว่าของทุกอย่างที่อยู่ที่นั่นแพงเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เบียร์ และน้ำอัดลม ส่วนของที่ระลึกก็แพงเกินไปจนจับต้องไม่ได้

ในฐานะที่ไปต่อแถวซื้อเสื้อกับเขาบ้างเหมือนกัน ผมเองก็เห็นเป็นจริงดังว่า เสื้อผ้าและของที่ระลึกที่ขายกันร้าน FIFA official shop นั้นราคาสูงมากจริงๆ หากใครอยากได้เสื้อทีมชาติสักตัว ต้องยอมควักประมาณ 6,000 รูเบิล หรือประมาณ 3,400 บาทไทยเลยทีเดียว ตามประสาคนเคยซื้อเสื้อฟุตบอลอยู่บ้าง ผมแอบหวังว่าการมาซื้อถึงที่แถมมาในช่วงเทศกาลแบบนี้จะเจอของลดราคาบ้าง แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“เสื้อยืดโง่ๆ ที่สกรีนสัญลักษณ์ฟุตบอลโลกแบบนั้นก็ตกตัวละ 1,500–2,000 รูเบิลแล้ว ราคาแบบนี้มี มีแต่คนรวยเท่านั้นที่ซื้อแบบไม่คิดอะไร” พนักงานโฮสเทลพูดติดตลกพร้อมกับชี้ไปยังเสื้อที่ระลึกฟุตบอลโลกสีขาวที่แขวนโชว์อยู่ในล็อบบี้

ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับคนรัสเซียที่ได้ฟังมาถูกต้องแค่ไหน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับข้อมูลเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการเชื่อว่า เรื่องเล่าของทั้งสองคนคงสะท้อนความจริงอยู่ไม่น้อย ในปี 2017 รัสเซียมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 10,743 เหรียญสหรัฐ หรือราว 350,000 บาทต่อปี แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศรายปานกลางค่อนไปทางสูง แต่ปัญหาสำคัญของรัสเซียคือความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก รายงาน Credit Suisse’s Global Wealth Report พบว่า กว่า 89% ของความมั่งคั่งในรัสเซียอยู่ในมือคนรวยที่สุด 10% เท่านั้น ดังนั้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้สูงเท่าที่ตัวเลขแสดงไว้ ว่ากันว่าตัวเลขรายได้ 350,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 30,000 บาท เป็นรายได้ของแรงงานทักษะสูงที่ทำงานในเมืองใหญ่อย่างมอสโคเท่านั้น ประชากรส่วนใหญ่รายได้น่าจะต่ำกว่านั้น

เงินที่ได้จากการปล่อยตั๋วจึงอาจเทียบเท่ากับรายได้หลายเดือนของคนรัสเซีย ในขณะที่รายจ่ายเพื่อของที่ระลึกก็คิดเป็นเงินก้อนใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือน

ข้อเท็จจริงข้างต้นทำให้ผมนึกถึงค่ำคืนที่รัสเซียชนะสเปน หลังจบการแข่งขันคนรัสเซียหลายหมื่นคนได้ออกมาฉลองใหญ่กันทั้งคืน ณ จัตุรัสแดงกลางเมือง ตามถนนหนทางต่างๆ เต็มไปด้วยรถบีบแตรโบกธง ผู้คนตะโกน ‘รอส ซิ ยา’ กันตลอดอื้ออึง สื่อหลายสำนักบอกตรงกันว่า นี่เป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่รัสเซียชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 นี่แทบจะเป็นเหตุการณ์เดียวที่ผมรู้สึกว่า คนรัสเซียอินกับบอลโลก

และบางทีอาจมีแค่โมเมนต์แบบนี้แหละที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ (ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง) พอจะมีส่วนร่วมและเฉลิมฉลองกับฟุตบอลโลกได้

แฟนบอลจากหลากหลายชาติ ฟุตบอลโลก ฟุตบอล

มีอีกประเด็นเกี่ยวเนื่องผมคิดว่าน่าสนใจและสามารถสะท้อน ‘ความเป็นชนชั้นกลาง’ ของฟุตบอลโลกได้ดีคือเรื่อง ความรู้สึกปลอดภัย

การไปดูฟุตบอลโลกหนนี้ให้ความรู้สึกปลอดภัยอย่างน่าประหลาด ก่อนที่จะมาผมมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่อง การโดนมิจฉาชีพเล่นงานและการทะเลาะวิวาทของแฟนบอล เพราะแฟนบอลรัสเซียขึ้นชื่อเรื่องความโหดอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป แต่ความที่ฟุตบอลโลกเป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางนี่แหละครับที่ทำให้ข้อกังวลเหล่านี้เบาบางลง

อันที่จริงผมมีประสบการณ์ไปชมเกมฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศอยู่บ้าง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นลีกนอกหรือไทย ใหญ่หรือเล็ก ล้วนแต่มีความเข้มข้นของการเชียร์และความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างแฟนบอลสูง ซึ่งคุณอาจินต์ ทองอยู่คง นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องฟุตบอลกับสังคมมาอย่างยาวนานเคยวิเคราะห์ไว้ว่า เพราะฟุตบอลเป็นพื้นที่ของผู้ชายและส่วนใหญ่มักจะมาจากชนชั้นล่างหรือชนชั้นกลางระดับล่างเป็นหลัก

แต่ประสบการณ์กับฟุตบอลโลกกลับให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป เพราะไม่ว่าจะเป็นการเชียร์ในสนามหรือนอกสนาม แฟนบอลล้วนเชียร์แบบปะปนกันไป การกระทบกระทั่งกันระหว่างกองเชียร์มีน้อยมาก (มีข่าวอยู่บ้างว่าแฟนบอลอังกฤษและโคลัมเบียทะเลาะวิวาทกัน แต่ก็เป็นกรณีที่เล็กมาก) เท่าที่เห็น แฟนบอลทั้งหลายทีม คือไม่ใช่เฉพาะทีมที่มีแมตช์แข่งขัน เชียร์แบบร่วมสนุกกันเสียด้วยซ้ำ การขอถ่ายรูปด้วยกัน จับมือกัน แหย่หยอกล้อ กลายเป็นภาพปกติที่มีให้เห็นทั่วไปทั้งก่อนเกมและหลังเกม

ภายใต้บรรยากาศความเป็นมิตรข้างต้น องค์ประกอบของแฟนบอลก็มีความน่าสนใจ โดยอาศัยการประเมินด้วยสายตาและความจำของตนเอง ผมพบว่าแฟนบอลที่ร่วมสนุกในอีเวนต์ฟุตบอลโลกและที่เข้ามาชมเกมในสนามมีสัดส่วนผู้หญิงและเด็กมากกว่าฟุตบอลลีกอย่างเห็นได้ชัด และส่วนใหญ่มักมากันเป็นครอบครัว

ทั้งหมดนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คนชั้นกลางที่มาดูฟุตบอลจากทั่วโลกน่าจะเป็น แฟนบอล ‘ขาจร’ มากกว่า ‘ขาประจำ’ ที่คิดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่สนใจดูฟุตบอลเลยนะครับ ไม่มากก็น้อยคงสนใจบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่ตัดสินใจลงทุนมาดู แต่ที่กำลังจะบอกคือ การมาดูฟุตบอลโลกมีมิติของการมาเฉลิมฉลองเทศกาลอยู่มากทีเดียว ถ้าจะบอกว่า ‘ไปดูบอลเอาบรรยากาศ’ มากกว่าไปดูการแข่งขันก็พอจะบอกได้

จะว่าไป ผมเองก็จัดได้ว่าเป็นแฟนบอล ‘ขาจร’ สำหรับฟุตบอลโลกหนนี้อยู่เหมือนกัน เพราะในบรรดาสองคู่สี่ทีมที่ผมเข้าไปดู ผมไม่ได้เป็นแฟนทีมไหนเลย (ผมเชียร์อิตาลีเหมือนลุงตู่ครับ ฮ่าๆ) กระนั้นความเป็นฟุตบอลโลกและเสน่ห์รอบตัวของงานก็ทำให้ ‘ขาจร’ อย่างผมสนุกกับเกมในแต่ละแมตช์ได้

คนที่ไปดูฟุตบอลโลกเป็นจำนวนมากคงไม่ต่างจากผมเท่าไหร่ โดยเฉพาะ กลุ่มแฟนบอลที่ประเทศตัวเองไม่ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อนคือ ‘ทัวร์จีน’ ที่เดินมาร่วม 100,000 คนในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกนี้ ประเมินกันว่าแฟนบอลจากแผ่นดินใหญ่เดินทางมารัสเซียเพื่อดูบอลมากกว่าแฟนบอลจากอังกฤษที่กำลังมีลุ้นเข้ารอบชิงชนะเลิศกว่า 3 เท่า (รายงานจากฟีฟ่าชี้ว่า คนจีนที่ซื้อตั๋วโดยตรงมีเพียงประมาณ 40,000 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่า มากกว่าครึ่งของแฟนบอลชาวจีนต้องหาซื้อตั๋วผ่านเอเยนต์)

ไม่ใช่เฉพาะคนจีนเท่านั้นนะครับ คนอเมริกันก็เดินทางมาร่วมสนุกกับฟุตบอลโลกที่รัสเซียอย่างไม่น่าเชื่อ โดยฟีฟ่าขายตั๋วโดยตรงให้กับคนอเมริกันมากกว่า 80,000 ใบ หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของคนอเมริกันที่เดินทางมาเที่ยวรัสเซียตลอดปี 2017 ตัวเลขข้างต้นทำให้คนอเมริกันซื้อตั๋วอย่างเป็นทางการกับฟีฟ่ามากเป็นอันดับที่สอง รองจากรัสเซียเจ้าภาพ ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ผ่านเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเช่นกัน

แฟนบอลจากหลากหลายชาติ ฟุตบอลโลก ฟุตบอล

นอกจากเสน่ห์ในตัวเองของฟุตบอลโลกแล้ว ความสำเร็จในการดึงดูดแฟนบอล ‘ขาจร’ ต้องยกเครดิตให้กับการจัดการของเจ้าภาพรัสเซีย นับตั้งแต่ถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกท่ามกลางเสียงครหาว่าติดสินบนและคอร์รัปชันคณะกรรมการ รัสเซียถูกตั้งคำถามถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพมาโดยตลอด ยิ่งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศมีความตึงเครียดหลังวิกฤติการณ์ไครเมียในปี 2014 และการลอบสังหารอดีตสายลับในอังกฤษ ประชาคมโลกต่างพากันจับผิดและกดดันรัสเซียมากยิ่งขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดโดยเปรียบเทียบ และมีหลายพื้นที่ซึ่งโลกยังเข้าไม่ค่อยถึงนัก เช่น เมือง Kaliningrad ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือขนาดใหญ่แทบไม่มีคนต่างชาติได้เข้าไปเลยนับตั้งแต่ปี 1945 แต่ต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวนับแสนคนเมื่อถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในเมืองที่เป็นสนามแข่งขัน ที่สำคัญไปกว่าพื้นที่คือ ‘คน’ ในด้านหนึ่ง คนท้องถิ่นซึ่งไม่มีความคุ้นชินจากชาวต่างชาติเลยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดพอสมควรในการต้อนรับคนนอก ในด้านกลับกัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้จักนิสัยใจคอคนรัสเซียสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็แสดงศักยภาพในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการรับแขก แม้จะถูกวิจารณ์ว่า ‘ผักชีโรยหน้าก็ตาม’ รูปธรรมที่โดดเด่นที่สุดคือ การงดเว้นวีซ่าชั่วคราวให้กับคนที่มีบัตรประจำตัวแฟนบอล (Fan ID) ถ้าหากข้อมูลและเอกสารพร้อม การสมัครแฟนไอดีใช้เวลาเพียง 10 นาที ในการลงทะเบียนออนไลน์ และใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงในการอนุมัติ ระบบแฟนไอดีตอบโจทย์เรดเทปในกระบวนการขอวีซ่าของรัสเซียได้อย่างชะงัดเลยทีเดียว

นอกจากนี้ แฟนไอดียังเสมือนบัตรอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น สามารถใช้ขึ้นระบบขนส่งมวลชนได้ฟรีทุกอย่างในวันที่มีฟุตบอลแข่ง อีกทั้งเมื่อไหร่ที่ห้อยแฟนไอดี เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานห้างร้านต่างๆ จะรู้ทันทีว่าคุณเป็นแขกคนสำคัญ และจะคอยอำนวยความสะดวกเพิ่มให้โดยอัตโนมัติ Simal Carlder ผู้สื่อข่าวด้านการเดินทาง (travel correspondent) ของหนังสือพิมพ์ The Independent ก็ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า นักท่องเที่ยวในช่วงฟุตบอลโลกได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบที่ยืดหยุ่นและได้รับการให้เกียรติเป็นพิเศษ

การดูแลรักษาความปลอดภัยก็ทำกันอย่างเข้มงวดและเต็มที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายอยู่ทั่วเมืองและมีมากเป็นพิเศษในจุดที่นักท่องเที่ยวและแฟนบอลหนาแน่น เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน จััตุรัสแดง ชอปปิ้งสตรีท ฯลฯ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมแฟนบอลจึงรู้สึกค่อนข้างปลอดภัย

ผมเชื่อว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่เปิดโอกาสให้รัสเซียได้ต้อนรับชนชั้นกลางจากทั่วโลกเป็นระยะเวลาเต็ม 1 เดือนจะเป็นหมุดหมายสำคัญของรัสเซียทั้งในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ในวันเดินทางกลับ พนักงานโฮสเทลเข้ามาทักทาย ถามไถ่ และร่ำลา เขาถามผมว่า ใครจะเป็นแชมป์โลก?

“รัสเซีย” ผมตอบเขา แล้วพวกเราก็หัวเราะ

อันที่จริงแล้วผมหมายถึง รัสเซียของวลาดิเมียร์ ปูติน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save