fbpx
บอลโลก 2018 ฉบับนอกสนาม

บอลโลก 2018 ฉบับนอกสนาม

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

 

ใครว่าฟุตบอลไม่เกี่ยวกับการเมือง?

 

การจับสลากรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ถูกจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติในเคปทาวน์ สี่ปีต่อมา บราซิลเจ้าภาพจัดการจับสลากที่รีสอร์ทหรูริมทะเล ขณะที่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้นั้น การจับสลากกลับถูกจัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาเครมลิน (State Kremlin Palace) ในกรุงมอสโก แค่การเลือกสถานที่จับสลากก็อาจบอกใบ้ได้แล้วว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกในคราวนี้นั้นเกี่ยวพันกับการเมืองมากกว่าครั้งใดๆ

นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้เมื่อต้นปี 2010 เส้นทางสู่การลงเตะนัดเปิดสนามในฐานะเจ้าภาพของรัสเซียมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การใช้กองกำลังทหารของรัสเซียในช่วงวิกฤตการณ์ไครเมียในช่วงต้นปี 2014 ทำให้นักการเมืองของหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้ฟีฟ่าเปลี่ยนประเทศเจ้าภาพ และแบนรัสเซียออกจากการแข่งขันเหมือนดังเช่นกรณียูโกสลาเวียที่ถูกแบนจากฟุตบอลยูโรรอบสุดท้ายเมื่อปี 1992 นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MH 17 ถูกยิงตกเหนือน่านฟ้ายูเครน ชาติตะวันตกต่างมุ่งเป้าว่าเป็นฝีมือของทางการรัสเซีย นักการเมืองของทั้งเยอรมนีและสหราชอาณาจักรต่างเสนอให้ถอดรัสเซียออกจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ด้วยเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อรัสเซียยิ่งกว่าการคว่ำบาตรด้วยวิธีอื่น

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังคงได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ และแม้ว่าคำขู่บอยคอตต์ของนานาประเทศจะชวนให้นึกถึงการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงมอสโกในปี 1980 ที่หลายชาติต่างปฏิเสธการเข้าร่วม แต่ในที่สุดแล้ว ประเทศที่ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายก็เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ครบถ้วนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทีมชาติอังกฤษด้วย

 

รัสเซีย vs อังกฤษ

 

ทีมหมีขาวกับทีมสิงโตคำรามอาจจะไม่ได้ปะทะแข้งกันในฟุตบอลโลกหนนี้ แต่นอกสนามนั้น ความขัดแย้งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ย้อนกลับไปในปี 2010 อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปีนี้ แต่กลับต้องพบกับความผิดหวังครั้งใหญ่เมื่อได้คะแนนโหวตจากกรรมการในรอบแรกเพียง 2 คะแนนจาก 22 คะแนน ขณะที่รัสเซียได้ถึง 9 คะแนนและชนะการคัดเลือกในเวลาต่อมา ท่ามกลางคำครหาเรื่องการคอร์รัปชันและการติดสินบน สื่อหลายสำนักทั้งอังกฤษเองและของประเทศอื่นๆ พากันรายงานถึงความไม่ชอบมาพากลในการลงคะแนน หนังสือพิมพ์บางฉบับอ้างว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเรียกกลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจชาวรัสเซียที่ทรงอิทธิพลมาพบ และสั่งว่าให้ทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อให้ประเทศของพวกตนได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก รวมถึงการเจรจารายตัวกับกรรมการผู้ลงคะแนน แต่แน่นอนว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานชัดเจน

เรื่องที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนยังคงตามมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่เป็นเรื่องที่ใหญ่โตกว่าเดิมมาก ตั้งแต่ปลายปี 2012 เป็นต้นมา มีนักธุรกิจชาวรัสเซียสามคนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในลอนดอน ซึ่งทั้งสามรายนั้นได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลปูติน ขณะที่อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานลับชาวรัสเซียอีกรายหนึ่งพร้อมทั้งลูกสาวเพิ่งรอดชีวิตจากการถูกวางยาพิษเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในกรณีล่าสุดนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรปักใจเชื่อว่าทางการรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง จากนั้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศก็แย่ลงโดยทันที และนำไปสู่การที่ต่างฝ่ายต่างขับไล่นักการทูตของอีกฝ่ายออกนอกประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตกต่ำลงนี้ทำให้เกิดกระแสว่า อังกฤษจะถอนตัวจากการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าแกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษจะยังคงพาลูกทีมไปร่วมทัวร์นาเมนต์ที่รัสเซีย แต่เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีตัวแทนรัฐบาล หรือกระทั่งสมาชิกราชวงศ์คนใดที่จะร่วมเข้าชมการแข่งขัน พร้อมทั้งเตือนแฟนบอลชาวอังกฤษให้ระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีโดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านชาวบริติช (Anti-British) ความกังวลดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะในการแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2016 นั้น แฟนบอลของทั้งสองประเทศเคยปะทะกันอย่างรุนแรงจนกลายเป็นจราจลขนาดย่อมๆ หลังจบแมตช์ในรอบแรกที่ทั้งสองชาติเสมอกันไป 1-1

 

“Welcome to Russia!”

 

เมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ทางการรัสเซียเพิ่งเสนอคลิปกล่าวต้อนรับแฟนบอลและเหล่านักเตะเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในคลิปดังกล่าวนั้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินลงท้ายว่า “เราเปิดทั้งประเทศและหัวใจให้โลกแล้ว” แต่ที่หลายคนกังวลคือ รัสเซียเปิดทั้งประเทศและหัวใจให้อาคันตุกะทุกกลุ่มจริงหรือ

แฟนบอลของชาติเจ้าภาพมีชื่อเสียงที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ ทั้งทางเชื้อชาติและเพศสถานะ ในประเด็นการเหยียดเชื้อชาตินั้น งานวิจัยของ Arnold และ Veth (2018) พบว่า ในฟุตบอลลีกของรัสเซียช่วงฤดูกาล 2012-2017 นั้น มีแฟนบอลที่แสดงพฤติกรรมส่อไปในทางเหยียดผิวมากกว่า 400 กรณี ทั้งที่เป็นข้อความบนป้ายผ้าหรือการตะโกนร้องเพลง ขณะที่การแข่งขันในระดับนานาชาตินั้น นักเตะผิวดำทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งรวมถึงปอล ป็อกบา ยอดกองกลางสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพิ่งโดนเหยียดสีผิวจากแฟนบอลรัสเซียระหว่างแมตช์อุ่นเครื่องระหว่างทีมหมีขาวและทีมตราไก่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เจ้าภาพกลับโดนฟีฟ่าสั่งปรับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเพศนั้น การต่อต้าน LGBT อย่างรุนแรงในรัสเซียเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองสหรัฐฯ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเสนอให้ถอดรัสเซียออกจากการเป็นประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลกคราวนี้ นับจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น เพราะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงชาวรัสเซียบางส่วนออกมาขู่ว่าจะ ‘กำจัด’ แฟนบอล LGBT และแฟนบอลข้ามเพศทุกคนที่สมาชิกกลุ่มพบเห็น ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการแสดงออกว่าเป็น LGBT นั้นผิดกฎหมายรัสเซีย หลายฝ่ายจึงยิ่งกังวลว่า แฟนบอล LGBT เหล่านี้อาจไม่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐของรัสเซีย

 

ผลประโยชน์ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก

 

รัฐบาลรัสเซียคาดการณ์ว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้จะอยู่ที่ประมาณ 26-31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ อาร์คาดี ดวอร์โควิช รองนายกรัฐมนตรีสรุปไว้ในรายงานของทางการว่า การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว และการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาว่ารัสเซียลงทุนไปอย่างมโหฬารถึง 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ยังไม่นับการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานและสนามแข่งขัน (เพราะรัสเซียอ้างว่าจะดำเนินการอยู่แล้วแม้ไม่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก) ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจึงตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม

บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของ World Economic Forum เห็นว่า การลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ นั้นมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สำคัญในการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่อาจจะจำเป็นมากกว่า ทั้งนี้ หากเจาะลงไปที่เรื่องสนามแข่งขันจะพบว่า รัสเซียมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสนามแข่งขันแห่งใหม่และปรับปรุงสนามเดิมที่มีอยู่รวมทั้งสิ้น 12 สนามคิดเป็นมูลค่าสูงเกินกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หนึ่งในนั้นคือสนามที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีของปูติน งบประมาณสำหรับสนามแห่งนี้นั้นสูงกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแพงกว่าที่คาดไว้ตอนแรกถึงเจ็ดเท่า นักวิชาการบางรายเชื่อว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ชาวรัสเซียคงไม่เห็นด้วยนักกับการทุ่มทุนลงไปกับสนามแข่งขันที่ราคาแพงเกินจริง ขณะที่สื่อบางรายเห็นว่า หากจะมีใครได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน

ผลประโยชน์ที่รัสเซียต้องการอาจเป็นผลประโยชน์ด้านอื่นๆ มากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คอลัมนิสต์บางคนวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีปูตินคาดหวังให้รัสเซียผงาดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนี้ เหมือนกับที่จีนเคยทำได้จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2008 และมองโอกาสจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นโอกาสในการนำเสนอรัสเซียในแบบที่เขาอยากให้โลกเห็น ขณะที่ NGO ด้านสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า รัสเซียพยายามใช้ฟุตบอลโลกคราวนี้เพื่อถ่วงดุลภาพลบของประเทศที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการใช้กำลังทหารในยูเครนและซีเรีย การแทรกแซงการเลือกตั้งในต่างประเทศ การสนับสนุนให้นักกีฬาทีมชาติใช้สารกระตุ้น และการเสียชีวิตของผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล

 

ในสนามคือการแข่งขัน นอกสนามคือการรบ

 

ฟีฟ่ารายงานว่า ในฟุตบอลโลกที่บราซิลเมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นมีผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วโลกกว่า 2.3 พันล้านคน ส่วนทัวร์นาเมนต์ที่รัสเซียในปีนี้นั้นมีการคาดการณ์ว่า ผู้ชมน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.4 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรรวมทั้งโลก แน่นอนว่าจำนวนผู้ชมมหาศาลนี้คือโอกาสสำคัญในการโฆษณาสินค้าของแบรนด์ดังระดับโลก โดยเฉพาะบริษัทเครื่องกีฬายักษ์ใหญ่อย่างอาดิดาสและไนกี้

เกจิฟุตบอลหลายสำนักทายว่า เยอรมนีน่าจะได้เข้าไปป้องกันแชมป์ โดยพบกับบราซิลในนัดชิงชนะเลิศที่กรุงมอสโก หรือไม่ก็อาจจะเป็นอาร์เจนตินาเจอกับฝรั่งเศส แต่ไม่ว่าคู่ชิงชนะเลิศจะเป็นคู่ใดข้างต้นก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างอาดิดาสและไนกี้ทั้งสิ้น ในเชิงการตลาดนั้น ยิ่งทีมที่ตนเองเป็นสปอนเซอร์เข้ารอบลึกเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีกับแบรนด์มากเท่านั้น ดังนั้น ทั้งสองยี่ห้อต่างก็ต้อง ‘วางเดิมพัน’ ด้วยการสนับสนุนสมาคมฟุตบอลของชาติต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากเยอรมนีและอาร์เจนตินาแล้ว สัญลักษณ์ของค่ายสามแถบยังอยู่บนหน้าอกของนักเตะสเปนและเบลเยี่ยม ขณะที่ฝั่งไนกี้ก็ยังมีทั้งโปรตุเกสและอังกฤษ รวมแล้วทั้งสองแบรนด์มีชุดแข่งในมือรวมกันถึง 22 ทีมจากจำนวนทั้งหมด 32 ทีมที่เข้าถึงรอบสุดท้าย

ในการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้น อาดิดาสออกจะได้เปรียบในการโฆษณาอยู่บ้าง เพราะเป็นพันธมิตรทางการกับฟีฟ่ามาอย่างยาวนาน ทั้งการโฆษณาผ่านลูกบอลที่ใช้ในการแข่งขัน หรือชื่อรางวัลต่างๆ ที่มอบให้แก่นักเตะหลังจบทัวร์นาเมนต์ กระนั้นไนกี้ก็ท้าชนอย่างต่อเนื่องด้วยเซ็นสัญญามูลค่าปีละ 43 ล้านยูโรกับสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสเมื่อปี 2011 ก่อนจะพยายามเซ็นสัญญากับสมาคมฟุตบอลเยอรมนีในเวลาต่อมา จึงทำให้แบรนด์เจ้าถิ่นอย่างอาดิดาสต้องยอมเสนอสัญญามูลค่า 50 ล้านยูโรเพื่อต่อสัญญากับสมาคมฟุตบอลเยอรมนีในที่สุด

ขณะที่สมรภูมิอื่นก็ดุเดือดไม่แพ้กัน สำหรับการต่อสู้ในตลาดน้ำดำนั้น โคคาโคลาเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการโฆษณาโดยใช้เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก เป๊ปซี่คู่แข่งจึงจำเป็นต้องแก้เกมด้วยการจ้างนักเตะชื่อดัง เช่น ลิโอเนล เมสซี่ กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา โทนี่ โครส มิดฟิลด์ทีมแชมป์เก่า และมาร์เซโล แบ็คซ้ายชาวบราซิลเลี่ยน เพื่อออกแคมเปญต่างๆ ในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก ส่วนในตลาดสายการบินนั้น หลังจากฟีฟ่ามีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสในกระบวนการคัดเลือกให้รัสเซียและกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เอมิเรตส์แอร์ไลน์จึงปฏิเสธการต่อสัญญาการเป็นพันธมิตรทางการกับฟีฟ่าในปี 2014 ส่วนพันธมิตรผู้มาแทนจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจากกาตาร์แอร์เวย์ส

 

เมื่อไหร่ไทยจะได้ไปฟุตบอลโลก?

 

มองออกนอกสนามกลับมาที่ไทย คำถามที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำคือ เมื่อไหร่ทีมชาติไทยจะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย หากดูจากการจัดอันดับโดยฟีฟ่าจะพบว่า โอกาสของไทยน่าจะยังอยู่อีกห่างไกล เพราะชาติโซนเอเชียที่ได้ไปร่วมทัวร์นาเมนต์ที่รัสเซียนั้น ทีมที่อยู่อันดับต่ำที่สุดคือ ซาอุดิอาระเบียซึ่งอยู่อันดับที่ 67 ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 122 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2026 ที่แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกันนั้น ไทยอาจมีหวังมากขึ้น เพราะชาติโซนเอเชียจะได้สิทธิ์เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 8 ทีม

การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนพูดถึง แต่เนื่องจากกาตาร์กำลังจะได้จัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2022 ดังนั้น เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 จึงเป็นโควตาของประเทศอื่นนอกโซนเอเชีย และทำให้ไทยจำเป็นต้องรอถึงปี 2034 เป็นอย่างน้อย

รออีก 16 ปีอาจฟังดูเหมือนยาวนาน แต่อย่าลืมว่าเมื่อถึงเวลานั้น ยุทธศาสตร์ชาติอาจจะยังเป็นฉบับนี้อยู่เลย.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save