fbpx

โลก 2019 : ก้าวต่อไปของ (ความไร้) ระเบียบโลกใหม่ บนสมรภูมิการแข่งขันของมหาอำนาจ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

International politics, like all politics, is a struggle for power”

Hans J. Morgenthau

 

สันติภาพอันยาวนาน หรือความไร้ระเบียบโลกครั้งใหม่?

 

ปลายปี 2018 จิตติภัทร พูนขำ ได้สรุปภาพการเมืองโลกตลอดปี รวมถึงฉายภาพแนวโน้มทิศทางในปี 2019 ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Brexit การเปลี่ยนแปลงในการเมืองยุโรป การเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก หรือการรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย เป็นต้น

ในภาพใหญ่ จิตติภัทรมองว่า การเมืองในหลายประเทศในปี 2019 จะยังเป็นการปะทะกันระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ในขณะที่การผงาดขึ้นของจีนในฐานะมหาอำนาจโลก จะทำให้ความพยายามในสร้างกลไกที่เปลี่ยนแปลงไปจากระเบียบโลกแบบเดิมเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การถ่วงดุลอำนาจและการแสวงหาพันธมิตรรูปแบบใหม่ โดยอินโด-แปซิฟิก (Indo – Pacific) เป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ต้องจับตามอง

“ถ้าจะกล่าวแบบ Gramsci ระเบียบเสรีนิยมแบบเดิมกำลังถูกท้าทายสั่นคลอน แต่ระเบียบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาก็ยังไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง การเมืองโลกหลังปี 2018-2019 จึงอยู่ในห้วงเวลาของ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ หรือ ‘interregnum’ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นหรือกินเวลายาวนาน” จิตติภัทรทิ้งท้ายบทความ

ปี 2019 ดูจะเป็นปีที่สถานการณ์หลายอย่างเหมือนจะไม่คลี่คลาย ซ้ำยังทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม – การเมืองโลกจะเป็นอย่างไร จะเป็นสันติภาพอันยาวนาน หรือความไร้ระเบียบโลกครั้งใหม่กันแน่ 101 ชวนคุณมองการเมืองระหว่างประเทศในรอบปีที่ผ่านมา และหาคำตอบไปพร้อมกัน

 

จากสงครามการค้า สู่สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21

 

สิ่งหนึ่งที่ตกค้างมาจากปี 2018 คือสงครามการค้า (Trade War) โดย ปิติ ศรีแสงนาม ได้เขียนบทความอธิบายที่มาของสงครามครั้งนี้ว่า เริ่มต้นจากสหรัฐฯ ที่กล่าวหาจีนว่าดำเนินการค้าและการลงทุนอย่างไม่เป็นธรรม โดยการลงดาบครั้งแรกของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนครั้งแรก ร้อยละ 25 ตามมาด้วยการประกาศรายละเอียดของรายการสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับอัตราภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในอีก 5 วันต่อมา ขณะที่ฝั่งจีนโต้ตอบโดยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน

นับตั้งแต่สงครามการค้านับหนึ่ง สหรัฐอเมริกาและจีน เข้าสู่วงจรการเจรจาและการใช้มาตรการตอบโต้กันไปกันมาหลายครั้ง เกิดความไม่แน่นอนจนกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่อันดับหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ในเดือนกรกฎาคม 2019 ปิติได้เขียนบทความเรื่อง 1 ปีสงครามการค้าสหรัฐจีน – ร้าวลึกลงรากหญ้าไทย ซึ่งสังเคราะห์ให้เห็นอย่างเป็นระบบว่า ภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สงครามการค้าของสหรัฐและจีนไม่ใช่แค่การทะเลาะกันระหว่างสองมหาอำนาจเท่านั้น แต่ยังมีผลทำให้ห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความตึงเครียดต่อกันด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ทรัมป์จะเริ่มสงครามการค้าโดยใช้ข้ออ้างด้านเศรษฐกิจ แต่เหตุผลเบื้องลึกนั้นเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองโลก ปิติชี้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีอยู่แต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษ 1990-2000 ทำให้เราเห็นการแสดงออกของผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรูปแบบที่คลั่งชาติ (Nationalism, เห็นว่าชาติของตนดีเด่นเหนือประเทศอื่นๆ), การเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia, Radicalism) และนำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) ซึ่งนำไปสู่ภาวะสงครามการค้าในที่สุด

ขณะที่ อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้นำเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ทฤษฎีหมูสามชั้น’ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจที่มาของสงครามการค้าได้ดีขึ้น สามชั้นที่ว่าประกอบด้วย (1) ชั้นการค้า คือมาตรการการขึ้นภาษี (2) ชั้นเทคโนโลยี ที่ฝั่งจีนก้าวหน้าขึ้นมาก และนำไปสู่ชั้นที่ลึกที่สุด คือ (3) ชั้นความมั่นคง ที่สหรัฐฯ หวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้กับการทหาร จุดเด่นของการมองสงครามการค้าด้วย ‘ทฤษฎีหมูสามชั้น’ คือการเผยให้เห็นมิติด้านความมั่นคงที่ซ่อนอยู่ในสงครามการค้า

ในบทความเรื่อง ความพิเศษของสงครามเย็น 2.0 อาร์มยังเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า จากสงครามการค้า อาจพัฒนาไปเป็นสงครามเย็น 2.0 หรือที่เรียกกันในแวดวงวิชาการว่า สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ได้ โดยอาร์มมองว่า จีนในยุคปัจจุบันมีลักษณะคล้ายสหภาพโซเวียตหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นมหาอำนาจที่ขึ้นมาท้าทายและเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ทั้งยังมีระบบการเมืองและค่านิยมที่แตกต่างจากสหรัฐฯ อย่างมาก อย่างไรก็ตาม กลุ่มชนชั้นนำในสหรัฐฯ มองว่า จีนในวันนี้ร้ายกว่าโซเวียตในวันนั้นเสียอีก

ภายใต้กรอบคิดของสงครามเย็น 2.0 อาร์มได้สังเคราะห์ลักษณะเด่นของจีนในฐานะคู่แข่งของสหรัฐอเมริกาไว้กลายประการ ได้แก่ (1) จีนมาจากอารยธรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างจากตะวันตกอย่างสิ้นเชิง (2) ขณะที่โซเวียตในยุคนั้นเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว จีนได้เชื่อมเศรษฐกิจของตนเข้ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในช่วงโลกาภิวัตน์ จนปัจจุบัน จีนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจต่อรองมหาศาลบนเวทีโลก ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯ ทุบจีนจนพัง ก็จะส่งผลเสียต่อตนเองและเศรษฐกิจโลกด้วย และ (3) จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโลก ได้เปรียบว่าจีนเป็น ‘เผด็จการที่ไฮเทค’ คือเป็นเผด็จการที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ควบคุมจัดการสังคมได้ ซึ่งเป็นเผด็จการที่ท้าทายทฤษฎีรัฐศาสตร์อย่างมาก โดยอาร์มได้ขยายความเพิ่มว่า จีนพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ของตนขึ้นมาชนิดหายใจรดต้นคอสหรัฐฯ และยังได้เข้ามามีอิทธิพลในแพลตฟอร์มเดิมของสหรัฐฯ รวมถึงพยายามสร้างแพลตฟอร์มของตนเองขึ้นมาแข่งด้วย

ในขณะเดียวกัน จีนเองก็มองว่า สงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นถือเป็นการคุกคาม และจีนพร้อมที่จะตอบโต้อย่างถึงที่สุด โดยส่งสัญญาณชัดเจนผ่านพาดหัวหนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ด้วยการใช้ประโยค ‘อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ (Don’t say we didn’t warn you)’

บทความของ แซนด์ ธรรมมงกุฎ วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่ ประโยคเช่นนี้ถูกใช้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และแต่ละครั้งก็ล้วนแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่รุนแรงทั้งสิ้น การใช้ประโยคนี้อีกครั้งในห้วงเวลาของสงครามการค้าจึงสะท้อนอารมณ์ทางการทูต และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลจีนในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนัยยะทางการเมืองที่ถูกสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ รัฐบาลจีนยังได้เผยแพร่หนังสือปกขาวว่าด้วย ‘จุดยืนของจีนในการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯ’ ซึ่งเป็นเหมือนการแสดงออกเชิงรูปธรรมที่สะท้อนความมั่นใจและจุดยืนของจีน ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ออกมา

สาระสำคัญของหนังสือปกขาวประกอบด้วย (1) จีนไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ กล่าวว่าตนเองเสียเปรียบจีนด้านการค้า (2) รวบรวมความ ‘กลับกลอก’ ของสหรัฐฯ ระหว่างการเจรจาหาทางออกของสงครามการค้า (3) จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่บอกว่า จีนได้นวัตกรรมมาจากการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และยืนยันว่าจีนได้นวัตกรรมมาด้วยตนเอง และ (4) ท่าทีในการเจรจาของจีน ซึ่งสรุปพอสังเขปได้ว่า  การเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกัน เอื้อประโยชน์เข้าหากัน และอยู่บนพื้นฐานของความสุจริต อีกทั้งจีนยังแสดงความมุ่งมั่นว่า ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งการพัฒนาของจีนได้ หากต้องการเจรจา ประตูเปิดกว้างไว้เสมอ แต่ถ้าจะรบ จีนก็จะรบด้วยจนถึงที่สุดเช่นกัน

แม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า สงครามการค้าจะคลี่คลายไปในทางใด และสหรัฐฯ กับจีนจะเข้าสู่สงครามเย็นเต็มรูปแบบหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างมหาอำนาจทั้งสองนี้มีโอกาสที่จะขยายตัวไปเป็นความขัดแย้งในแทบทุกมิติ และสร้างความเสี่ยงใหญ่ต่อเสถียรภาพในระเบียบการเมืองโลก

ในบทสัมภาษณ์ 30 ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย โลกเรียนรู้อะไร สุรชาติ บำรุงสุข ชี้ให้เห็นว่า โจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดกันหากเกิดสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ขึ้นมาจริงๆ คือ ทำอย่างไรที่จะควบคุมให้การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจไม่นำไปสู่สงครามใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกทางความคิดสำคัญที่สงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 ทิ้งไว้ให้

 

สหรัฐอเมริกา ความเป็นประธานาธิบดีแบบทรัมป์ และจุดสิ้นสุดของความคิด ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First)?

 

โดนัลด์ ทรัมป์ และความเป็นประธานาธิบดี (presidency) ของเขา มักถูกเปรียบให้เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงและความไร้ระเบียบของการเมืองระหว่างประเทศอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลา 3 ปีภายใต้สโลแกน ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ได้พิสูจน์แล้วว่า โลกปั่นป่วนเพียงใดและวุ่นวายแค่ไหน ดังนั้น นักวิเคราะห์หลายคนจึงมอง (และฝากความหวัง) ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาในปี 2020 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งสำหรับสหรัฐฯ และโลก

การเมืองสหรัฐฯ ในปี 2019 จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะเป็นการเมืองที่จะมีส่วนกำหนดการเลือกตั้งในปี 2020 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชุดบทความของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ช่วยให้เราเห็นพลวัตของการเมืองสหรัฐฯ ได้อย่างถึงแก่น เริ่มตั้งแต่ข่าวใหญ่สะเทือนวอชิงตันในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อไมเคิล โคเฮน ทนายความของทรัมป์ ออกมายอมรับว่า ทรัมป์และครอบครัวติดต่อกับรัสเซียในช่วงเลือกตั้งปี 2016 จริง แม้ว่าทรัมป์จะปฏิเสธแบบหัวชนฝา แต่ประเด็นนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นตลอดปี 2019

การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทรัมป์และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขา (ซึ่งนำโดยพรรคเดโมแครต แต่ก็มีผู้แทนพรรคริพับลิกันผสมโรงด้วยในบางประเด็น) ไม่ได้มีแต่เรื่องพฤติกรรมส่วนตัวของเขาเท่านั้น แต่ยังปะทะกันอย่างตรงไปตรงมาผ่านการเมืองเชิงนโยบายด้วย เช่น นโยบายการสร้างกำแพงที่ชายแดนเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) กับฝ่ายนิติบัญญัติ จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณจนนำไปสู่เหตุการณ์ปิดรัฐบาล (government shutdown) ธเนศมองว่า นอกจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งเป็นสไตล์ของทรัมป์แล้ว ความวุ่นวายในสภาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะทรัมป์ต้องการใช้เรื่องนี้ในการเบี่ยงความสนใจ จากกรณีที่เขาถูกสอบสวนว่ามีความเกี่ยวพันกับรัสเซีย

การสอบสวนทรัมป์กรณีรัสเซียมาถึงจุดสูงสุด เมื่อ โรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการหรือที่ปรึกษากฎหมายพิเศษ ที่ทำหน้าที่สอบสวนทรัมป์ ได้กล่าวปราศรัยต่อสาธารณะ แม้จะมีความยาวเพียงแค่ 8 นาที แต่เมื่อเป็นการให้ความเห็นต่อสาธารณะครั้งแรกและครั้งเดียว หลังจากที่เขาสืบสวนเรื่องนี้มีอย่างยาวนานจนปรากฏเป็นผลการสอบสวนกว่า 400 หน้า ก็ทำให้คำปราศรัยของเขามีความหมายอย่างยิ่งต่อการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ‘วรรคทอง’ ที่ปรากฏในรายงานว่า

“หลังจากการสอบสวนแล้ว หากว่าเรามีความมั่นใจว่าประธานาธิบดีไม่ได้กระทำการอันใดที่เป็นอาชญากรรมอย่างแน่ชัด เราก็คงกล่าวให้ปรากฏในรายงานนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะหาว่าประธานาธิบดีกระทำการที่เป็นอาชญากรรมหรือไม่”

ประโยคนี้ทำให้เกิดการวิเคราะห์ ตีความ และต่อยอดกันเป็นการใหญ่ ว่าทรัมป์ทำผิดจริงหรือไม่ เพราะถ้าย้อนกลับไปเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 ของรัสเซีย ทรัมป์หลุดจากข้อกล่าวหาเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ จึงมีผู้ถอดความวรรคทองของมุลเลอร์ออกมาว่า การที่รายงานไม่ได้ระบุว่า ทรัมป์ไม่มีมลทินในส่วนที่เกี่ยวกับการแทรกแซงและขัดขวางระบบยุติธรรม เพราะมีข้อมูลหลักฐานที่ ‘โยงใย’ ไปถึงทรัมป์ด้วย ทว่าหลักฐานนั้นยังไม่หนักแน่นพอในการดำเนินคดีอาญาเท่านั้น และการที่มุลเลอร์ไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ได้ เพราะติดเงื่อนไขของการเป็นอัยการพิเศษ ที่ไม่มีหน้าที่ในการฟ้องร้องต่อศาล

แม้ทรัมป์จะรอดตัวจากกรณีรัสเซียไปได้ แต่เขาก็พาตัวเองเข้าไปเจอกับวิกฤตอีกครั้ง จากการที่ทรัมป์บีบบังคับให้ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี หาหลักฐานการทำผิดกฎหมายของโจ ไบเดน และลูกชาย จนนำไปสู่การที่แกนนำและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเดโมแครตตัดสินใจประกาศดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดี (impeachment) ซึ่งธเนศได้เขียนบทความอธิบายว่า การยื่นถอดถอนครั้งนี้มาจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด (abuse of power) ของทรัมป์ในกรณีของผู้นำยูเครนดังที่กล่าวไปแล้ว โดยการประกาศการถอดถอนเกิดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน 2019 และนับเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ใครจะเป็นผู้หาหลักฐานมาช่วยในการถอดถอน เมื่อทำเนียบขาวส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการข่าวกรองว่า จะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น และอ้างว่าการถอดถอนครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังห้ามไม่ให้ใครหลายคนไปให้ปากคำ เช่น มารี โยวาโนวิตช์ อดีตนักการทูตประจำยูเครนที่โดนทรัมป์เรียกตัวกลับมา ส่วนสถาบันที่สามารถช่วยคณะกรรมาธิการสอบสวนการถอดถอนได้คือ ศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งมีเสียงข้างมากเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งแน่นอนว่า พรรคเดโคแครตยังไม่อยากไปถึงจุดนั้น

ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา และ ‘แฟนพันธ์ุแท้’ ที่ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกามาตลอด ธเนศสรุปว่า “บัดนี้การเมืองอเมริกาได้มาถึงจุดของวิกฤตรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่ออำนาจฝ่ายบริหารไม่ยอมให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเข้าตรวจสอบและลงโทษได้”

จากสถานการณ์ที่ว่ามา เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า การเมืองภายในสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด

การพินิจนโยบายระหว่างประเทศก็ทำให้เห็นมิติและพลวัตของการเมืองภายในประเทศได้อย่างน่าสนใจ เพราะในฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก คงไม่มีประเทศไหนในโลกที่การเมืองภายในประเทศส่งผลต่อการเมืองระหว่างประเทศเท่ากับสหรัฐอเมริกา

ในบทความเรื่อง เบื้องหลังนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ : เมื่อการเมืองภายในสหรัฐฯ สั่นสะเทือนการเมืองโลก ธเนศวิเคราะห์ว่า นโยบายระหว่างประเทศของทรัมป์มีลักษณะของการหาเสียงกับฐานเสียงชาตินิยมของตัวเองมากกว่าจะเป็นไปตามหลักการ ไม่ว่าจะเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการถอนตัวออกจากสัญญาลดโลกร้อนปารีส ขณะเดียวกันก็เพิ่มความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารกับซาอุดิอาระเบียขนานใหญ่ ประกาศย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปกรุงเยรูซาเล็ม ทำให้อิสราเอลยกฐานะเหนือกว่าปาเลสไตน์และประเทศอาหรับทั้งหลายในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ทำให้รัฐบาลทรัมป์เป็นรัฐบาลที่เอียงขวา และสนับสนุนยิวกับซาอุดิอาระเบียที่ขวาจัดเหมือนกัน

ในฝั่งเอเชีย นอกจากสงครามการค้ากับจีนแล้ว ทรัมป์สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลก เมื่อเขาเริ่มต้นด้วยการประณามและตอบโต้การทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ถึงกับขู่ว่าอเมริกาอาจใช้กำลังเข้าจัดการกับเกาหลีเหนือหากจำเป็น สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปทั่วโลก แต่ในที่สุด หนังสั้นเรื่องนี้ก็จบฉากแรกลงด้วยการที่ทรัมป์ยอมพบปะเจรจากับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการพบกันครั้งที่สองที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างประเทศแบบ American First กำลังต้องเผชิญกับบททดสอบสำคัญ ในบทความเรื่อง ความพ่ายแพ้ที่ฮานอย ธเนศได้ชี้ให้เห็นว่า หากทรัมป์สามารถเจรจากับคิมจองอึนได้สำเร็จ การเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของเขาจักประสบความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ “ความพ่ายแพ้ที่ฮานอยจึงทำลายความฝันอันสูงสุดของทรัมป์ลงไป และนั่นอาจเป็นโชคดีของคนอเมริกันและประชาชนทั่วโลกด้วย ที่ “อเมริกาที่หนึ่ง” (America First) อาจสะดุดลงในสี่ปีนี้เท่านั้น และจะไม่เดินหน้าหักล้างระบบเสรีนิยมทั้งหลายอีกต่อไป”

กล่าวโดยสรุป ความเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์และความวุ่นวายที่เกิดจากตัวเขาเอง และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศแบบอเมริกาต้องเป็นที่หนึ่ง คือสองตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ทรัมป์แพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020

ทว่าหากเขายังชนะ ย่อมเป็นการยืนยันว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว

 

จีน : เมื่อพญามังกรออกบิน

 

อีกหนึ่งตัวแสดงสำคัญในการเมืองโลกคือ จีน ที่นับวันจะยิ่งเข้ามามีบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลก การทำความเข้าใจจีนอย่างลุ่มลึก รอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่ปริศนาใหญ่ของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 คือ เราจะเข้าใจจีนได้อย่างไร

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง จีนสมัยใหม่ บนบันไดสู่มหาอำนาจในศตวรรษ 21 รานา มิตเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มองว่าทศวรรษที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับจีน เพราะมีความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองที่จีนมีต่อตัวเองอย่างสำคัญ กล่าวคือ ในช่วงปีก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 ประเทศตะวันตกยังครอบงำระเบียบการเงินและแนวคิดการพัฒนาของโลก และจีนเองก็ยังใช้แนวทางตามตะวันตกอยู่ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อจีนเห็นวิกฤตในตะวันตก จึงเริ่มเปลี่ยนทัศนะของตนเอง ทำสิ่งที่แตกต่างออกไป และเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ รูปธรรมสำคัญที่สามารถเห็นได้คือ การอัดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจนเกิดเป็นสาธารณูปโภคอย่างที่เราเห็นมากมายตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

อีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อจีนมากคือตัวผู้นำ โดย สี จิ้นผิง เริ่มรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 มิตเตอร์อธิบายว่า สี จิ้นผิง มีลักษณะที่มีอิทธิพลต่อผู้คน และพยายามเปลี่ยนจีนให้เข้ากับบุคลิกของเขา คือมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น และมีความเป็นเสรีนิยมน้อยลง ทำให้ทุกอย่างตึงเครียดและถูกควบคุมมากกว่าเดิม ซึ่งมุมมองนี้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของอาร์ม ในวาระครบรอบ 70 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนในรายการ 101 One-on-One ว่า พรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง กำลังกลายเป็นพรรคชาตินิยม โดยสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง สะท้อนว่า ความชอบธรรมของตัวเขาคือการเป็นตัวแทนชาติจีน และการพาจีนกลับมาแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่คือความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้สี จิ้นผิง และความเป็นผู้นำในแบบของเขายิ่งกลายประเด็นใหญ่ในการเมืองภายในของจีนคือ การที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนลงมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย เป็นดำรงตำแหน่งได้ไม่มีกำหนด การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สี จิ้นผิง สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยอาร์มมองว่า ในแง่ประวัติศาสตร์ การต่ออายุสี จิ้นผิง แบบไม่มีกำหนดเช่นนี้ เป็นเหมือนการพลิกกระแสของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เคยบอกว่าต้องบริหารเป็นทีม และผู้นำต้องมีวาระเกษียณ

คำถามที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนอะไร ในมุมหนึ่งนักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า การเมืองภายในของจีนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็มีเสียงแย้งว่า เสถียรภาพที่เกิดขึ้นจะเป็นเสถียรภาพระยะสั้นเท่านั้น เพราะเราไม่มีทางคาดการณ์ได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไป หรือคนที่อยากขึ้นมาก็อาจจะใช้วิธีที่ไม่ปกติ จนนำไปสู่ความวุ่นวายได้

การดำรงตำแหน่งแบบไม่มีกำหนดทำให้หลายคนเปรียบเปรยว่า สี จิ้นผิง เป็นจักรพรรดิใหม่ ซึ่งขัดกับทัศนะของมิตเตอร์ที่มองว่า จีนไม่ได้กลับไปหาอดีตดังที่หลายคนคิด เขาขยายความว่า ระบบจักรพรรดิจะปกครองผ่านทางแนวคิดโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) และใช้กลไกแบบรัฐโบราณในการปกครอง แต่สี จิ้นผิง คือผู้นำสูงสุดที่ใช้อำนาจโดยตรงผ่านทางพรรคคอมมิวนิสต์และระบบราชการ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกของรัฐจีนสมัยใหม่

แม้อนาคตข้างหน้าจะยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า สี จิ้นผิง จะสามารถทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่เหมือนครั้งอดีตได้หรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกภายนอกกำลังจับตาจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่อย่างใกล้ชิด และหนึ่งในคำถามที่หลายคนอยากรู้คือ จีนจะมีศักยภาพและอำนาจมากพอที่จะขึ้นมาเทียบชั้นหรือมาทดแทนสหรัฐฯ ได้หรือไม่

สำหรับเรื่องนี้มิตเตอร์ให้ความเห็นว่า จีนถือเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคแล้ว และยังมีความปรารถนาจะเป็นมหาอำนาจในระดับโลก แต่ก็ยังไม่รู้ขอบเขตความรับผิดชอบที่มหาอำนาจระดับโลกพึงมี และยังต้องพิสูจน์ตัวเองในอีกหลายด้าน พร้อมทิ้งคำถามสำคัญไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งจีนมีศักยภาพมากพอ จีนจะได้รับการตอบรับจากประชาคมโลกหรือไม่?

“หากต้องการเป็นมหาอำนาจของโลก จีนยังต้องพิสูจน์ตัวเองในหลายด้าน ตัวอย่างในเรื่องนี้ เช่น วิกฤตการณ์ในซีเรีย ซึ่งรัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย หรือสหภาพยุโรป อาจแสดงท่าทีบางอย่างกับเรื่องนี้ ถ้าจีนจะเป็นมหาอำนาจระดับโลกจริงๆ จีนจะต้องเริ่มแสดงความคิดเห็นในวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในละแวกใกล้บ้านเท่านั้น…

…ประเด็นนี้ยังไม่เป็นที่ถกเถียงมากนัก แต่ในอนาคตจะเป็นประเด็นใหญ่แน่นอน ประเด็นหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ เมื่อปีที่แล้ว นักการทูตจีน 4 คนถูกผู้ก่อการร้ายยิงจนเสียชีวิตที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เพราะพวกองค์การก่อการร้ายมองว่า จีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมา และเริ่มโจมตีสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของจีน เหมือนอย่างที่พวกผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ หรือพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ นี่คือเหตุผลว่าทำไมจีนกังวลเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายมาก แต่ตอนนี้ จีนยังไม่มีศักยภาพหรือกรอบแนวคิดที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้” มิตเตอร์ยกตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นความท้าทายของจีน

ขณะที่อาร์มได้ตั้งข้อสังเกตที่สอดคล้องกับมิตเตอร์ว่า จีนยังไม่แข็งแกร่งพอจะขึ้นมามีความสามารถในระดับเดียวกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทหาร หรือค่านิยม คุณค่าสากล แต่รัฐบาลจีนก็แสดงจุดยืนว่าไม่ได้ต้องการสากลนิยม เพราะแต่ละประเทศมีโมเดลของตัวเอง มีการปกครองของตัวเอง ซึ่งถ้ามองแบบนี้ จีนก็ไม่ได้เป็นมหาอำนาจแบบที่สหรัฐฯ เป็น

ถึงจีนอาจจะยังเทียบชั้นสหรัฐฯ ไม่ได้ในตอนนี้ แต่สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือ จีนกำลังพยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไป โดยเฉพาะการใช้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ในบทความ ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI และความเกี่ยวพันโยงใยกับไทย อักษรศรี พานิชสาส์น ได้นำเสนอเรื่องที่ชวนคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ BRI ว่าทำไมจีนถึงผลักดันยุทธศาสตร์นี้ แล้วทำไมต้องพานักลงทุนไปปักหลักลงทุนในต่างประเทศตามแนวทางเส้นทาง BRI

ประเด็นแรกที่อักษรศรีเสนอคือ จีนทำเช่นนี้เพื่อแสวงหาช่องทางกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเด็นที่สองคือ เพื่อแสวงหาแหล่งสร้างงานและแหล่งลงทุนในต่างประเทศให้กับทุนจีน ประเด็นที่สามคือ เพื่อแสวงหาตลาดส่งออกสินค้าและเทคโนโลยี และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากคือ BRI เป็นแนวทางแสวงหาพรรคพวกและแนวร่วม ซึ่งจีนพยายามแทรกตัวเข้าไปมีบทบาทและสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วม BRI ผ่านทางกลไก soft power

กล่าวโดยสรุปคือ จีนจะได้ประโยชน์จาก BRI ในหลายมิติ โดยเฉพาะโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อแสวงหาทรัพยากรและตลาดใหม่ๆ รวมถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายและขยายครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยลดต้นทุนและตอบสนองการสร้างเครือข่าย ซึ่งอักษรศรีเปรียบว่า นี่เป็นการติดอาวุธให้จีนสามารถรับมือกับการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ได้นั่นเอง

แม้ BRI ดูเป็นโครงการที่มีมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นหลัก แต่มิตเตอร์กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการขึ้นมามีอำนาจในเวทีโลกแล้ว นี่ยังเกี่ยวพันกับการเมืองภายในของจีนด้วย เพราะ BRI เป็นวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ คือแก้ปัญหาการว่างงานด้วยการเสนองานให้คนหนุ่มสาวทำในต่างประเทศ อีกทั้ง BRI ยังเหมือนถูกผูกติดอยู่กับวิสัยทัศน์เฉพาะตัวของสี จิ้นผิง ความสำเร็จของโครงการนี้จึงเกี่ยวพันกับเกียรติยศของประธานาธิบดีสีด้วยเช่นกัน

 

ความฝันของจีน ≠ ความหวังของฮ่องกง

 

หนึ่งประเด็นร้อนช่วงครึ่งปีหลัง คงหนีไม่พ้นการประท้วงในฮ่องกง โดย Podcast: 101 In Focus EP.5 “We Are Hong Kongers!” – จับตาฮ่องกง ได้เล่าถึงที่มาที่ไปเบื้องต้นว่า แรกเริ่มเดิมที ผู้ชุมนุมออกมาประท้วงต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของผู้นำฮ่องกง ด้วยเกรงว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการส่งตัวนักโทษการเมืองไปให้รัฐบาลจีน แต่ต่อมา การชุมนุมยกระดับขึ้นจนกลายเป็นการประท้วงดังที่เราเห็นกัน คำถามที่หลายคนคงสงสัยคือ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนี้?

หากจะมองให้ลึกถึงต้นตอของปัญหา ต้องย้อนกลับไปสมัยที่ราชวงศ์ชิงยังปกครองจีน ผ่านบทความขนาดยาวสองตอนจบของ ปิติ ศรีแสงนาม ที่พาเราย้อนไปตั้งแต่สมัย ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู’ ซึ่งเป็นช่วงที่จีนทำสงครามฝิ่นกับอังกฤษ และพ่ายแพ้อย่างหมดรูปจนต้องเสียเกาะฮ่องกงให้กับอังกฤษ ปิติอธิบายว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นของศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู ที่มีการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของจีนบนเกาะฮ่องกงเป็นสัญลักษณ์สำคัญ” ซึ่งอังกฤษมีสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงกับอังกฤษเป็นระยะเวลา 99 ปี ตั้งแต่ปี 1898-1997

ขณะที่จีนยังคงเผชิญหน้ากับความอัปยศอดสูของตนเองอย่างต่อเนื่อง เกาะฮ่องกงก็ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ พอถึงช่วงปลายทศวรรษ 1970 ฮ่องกงกลายเป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย ปิติขยายความว่า ตั้งแต่ ปี 1839 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 “ยิ่งจีนตกต่ำลงมากแค่ไหน ฮ่องกงก็ยิ่งพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น” จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เติ้ง เสี่ยวผิง นำฮ่องกงมาเป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจีน และกลายมาส่วนสำคัญในการค้าระหว่างประเทศของจีน ในช่วงที่จีนเปิดประเทศในทศวรรษ 1990 หลังจากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ฮ่องกงก็กลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่า นี่คือจุดสิ้นสุดอย่างแท้จริงของศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู

การกลับคืนสู่จีนของฮ่องกงได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของทศวรรษสุดท้ายแห่งศตวรรษที่ 20 นั่นคือ การนำแนวคิด ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ มาใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฮ่องกง ภายใต้ระบบนี้ ฮ่องกงจะยังมีอิสระในการมีกฎหมายและระบบเศรษฐกิจของตัวเองไปจนถึงปี 2047 หรือเพียงแค่ 2 ปี ก่อนความฝันของจีนในปี 2049

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีภายใต้ความสัมพันธ์แบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฮ่องถือว่าค่อนข้างราบรื่น แต่เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงทำให้คนจำนวนมากหันกลับมาตั้งคำถามว่า เหตุใดแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ จึงไม่สามารถทำงานได้ดีอีกต่อไป

ในรายการ 101 one on one ตอน “จับตาและทำความเข้าใจฮ่องกง กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์” วาสนาเปิดประเด็นที่แหลมคมชวนคิดว่า อันที่จริงแล้ว แนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบ อาจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เข้าใจกัน สิ่งที่ต้องคิดใหม่คือ ระบบดังกล่าวอาจมีปัญหาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ต้องใช้เวลาก่อนที่ปัญหารูปธรรมจะปะทุออกมา

วาสนายังชี้ให้เห็นถึงสถานะพิเศษของฮ่องกงที่มีต่อจีนในบริบทประวัติศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เห็นความซับซ้อนของกรณีฮ่องกงมากขึ้น กล่าวคือ ตลอดประวัติศาสตร์ ฮ่องกงมักเป็นพื้นที่ ‘สีเทา’ ที่พลังทางการเมืองภายในของจีนหลากหลายกลุ่มเข้ามาปฏิสัมพันธ์และต่อรองอยู่ตลอดเวลา การมองการเมืองฮ่องกงแบบขาวดำจึงอาจทำให้มองข้ามความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ วาสนายังกระตุกเตือนด้วยว่า การมองปัญหาฮ่องกง โดยเอาการเมืองไทยไปครอบ ก็เป็นจุดที่ต้องระวังเช่นกัน เพราะที่มาที่ไปและบริบทของการเมืองไทยกับฮ่องกงต่างกันอย่างมาก

นอกจกานี้ ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นลึกที่ซ่อนอยู่ในการประท้วงของฮ่องกง วาสนาอธิบายว่า การเจริญเติบโตและการขยายตัวของทุนนิยมได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างรุนแรง คนจีนและทุนจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาที่ฮ่องกง ทำให้คนจนจนลงมาก คนรวยก็รวยขึ้นมาก ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็พุ่งสูงขึ้น จนทำให้คนฮ่องกงที่ไม่ได้ร่ำรวยมีความเป็นอยู่ที่แย่ลง ส่วนผู้นำฮ่องกง (ที่คนฮ่องกงไม่มีโอกาสเลือก) ก็เอาใจแต่นายทุนและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งวาสนาสรุปว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องชนชั้น เป็นปัญหาคนจนเกลียดคนรวย ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้

จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของจีนและฮ่องกงมีความซับซ้อน และมีปัญหาที่หยั่งรากลึกกว่าที่เห็น และการที่คนฮ่องกงออกมาประท้วงจึงไม่ได้เกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียว อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าสิ่งใดที่ผู้ชุมนุมประท้วงต้องการมากที่สุด สิ่งนั้นย่อมคือ เสรีภาพ ดังที่บทความ “ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ?” ของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย แสดงให้เราเห็นความฝันและความหวังของคนฮ่องกง

“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้มั้ย การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จหรือ” ฉัน (ปาณิส) ถาม

“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”

ท่ามกลางฝนชุมฉ่ำ และเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า “You want freedom for Hong Kong, right?”

หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”

ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปีที่การประท้วงขยายตัวและยืดเยื้อ หนึ่งในคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและฮ่องกงทุกคนมักจะถูกขอให้ตอบ คือ สถานการณ์จะจบลงอย่างไร?

ในบทความ ฮ่องกง: จากจุดเริ่มต้นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ความฝันของจีน (2) ปิติอธิบายเป้าหมาย ‘ความฝันของจีน’ ของสี จิ้นผิงว่า มีข้อหนึ่งกล่าวถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอย่างสมบูรณ์ หรือนโยบายจีนเดียว ดังนั้น เรื่องจีนเดียวจึงเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นเรื่องที่จีนจะไม่มีวันเจรจาหรือต่อรองประนีประนอมด้วยเด็ดขาด การที่ฮ่องกงประท้วงเช่นนี้จึงอาจเป็นการท้าทายแนวคิดจีนเดียวของแผ่นดินใหญ่ และอาจทำให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลายได้

ส่วนวาสนาประเมินว่า ถ้าจีนถอยกลับในกรณีฮ่องกง จีนก็จะเสียฟอร์ม หรือถ้าจีนยอมฮ่องกง ก็จะดูอ่อนแอ และจะส่งผลกับคนจีนที่ต่อต้านรัฐบาลและอยากได้ประชาธิปไตยด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าจีนใช้ความรุนแรงปราบปรามจนเกิดการนองเลือด ก็จะถือเป็นจุดจบของฮ่องกงในฐานะ international hub ดังนั้นคำถามสำคัญที่รัฐบาลปักกิ่งต้องตอบคือ จีนพร้อมไหมหากจะไม่มีฮ่องกงในฐานะเมืองท่านานาชาติ

“ถ้าฮ่องกงรวมกันเป็นเนื้อเดียวกับจีน ฮ่องกงก็จะไม่มีค่าสำหรับจีน เพราะจีนอยากได้ฮ่องกงในความหมายที่มันเป็นเมืองท่านานาชาติ ฉะนั้นถ้าจีนจะใช้กำลังปราบปราม ก็จะพังหนักมาก มันเสียมากกว่าได้เยอะมาก” วาสนาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในอนาคต

ปลายปี 2019 การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดและมีพลวัตภายในสูง แม้ฮ่องกงจะเริ่มหายไปจากพื้นที่สื่อในเมืองไทย (และในระดับโลก) แต่เราไม่ควรที่จะละสายตาไปจากฮ่องกง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะว่า ฉากต่อไปของฮ่องกงจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองโลกเท่านั้น แต่ถึงที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายๆ มิตินั้น เราต่างตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน – We are Hongkonger!

 

ไทย อาเซียน และอินโด-แปซิฟิก

 

หากเราเปรียบปี 2019 เป็นปีแห่งการแข่งขันของสหรัฐฯ และจีน หนึ่งในอาวุธที่ทั้งสองมหาอำนาจใช้ฟาดฟันกันคือ สงครามการค้า ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศน้อยใหญ่ รวมถึงไทยและอาเซียนด้วย

เมื่อปลายปี 2018 ปิติ ศรีแสงนาม เขียนบทความคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นกับอาเซียนท่ามกลางสงครามการค้า โดยปิติเสนอว่า สถานการณ์มีตั้งแต่ไม่สามารถสรุปผลอะไรแน่นอนได้ อาจเป็นได้ทั้งสถานการณ์ทางบวกและทางลบ ทางบวกคือเมื่อสินค้าจากจีนและสหรัฐฯ ไม่สามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศของกันและกันได้ นักลงทุนก็อาจจะหันมาลงทุนที่อาเซียนแทน รวมถึงอาเซียนจะสามารถผลักดันข้อตกลงต่างๆ ผ่านทางกรอบการเจรจา เช่น ASEAN +3, +6 ของตนด้วย

ส่วนในทางลบ คือการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในตลาด หรือผลที่รุนแรงที่สุด สงครามการค้าในครั้งนี้อาจนำไปสู่กระแสการค้าแบบพาณิชย์นิยมใหม่ (Neo-Mercantilism) ที่ทุกประเทศหรือหลายๆ ประเทศ มุ่งสร้างความมั่งคั่งโดยทำลายผู้อื่น มุ่งตักตวงผลประโยชน์ผ่านทางมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรืออาจรุนแรงถึงขั้นห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น เพราะไม่ต้องการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า และต้องการตัดโอกาสประเทศอื่นในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อไปทำการผลิต

นอกจากสงครามการค้า การแข่งขันเพื่อขยายอิทธิพลของสองมหาอำนาจก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ในการเมืองโลก ซึ่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อยู่กึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นหนึ่งในทำเลที่ตั้งที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของทั้งสหรัฐฯ และจีน การวางตัวและท่าทีของอาเซียนจึงมีความสำคัญมาก โดยอาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนเกี่ยวกับการออกเอกสารว่าด้วยมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ซึ่งเสนอว่า การใช้คำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ เป็นลีลาการทูตของอาเซียนที่เลือกใช้คำที่สหรัฐฯ ชอบใช้ ผนวกกับการใส่เนื้อหาบางเรื่องตามแนวทางที่เป็นมิตรกับจีน

“…การที่อาเซียนเลือกใช้ศัพท์ ‘อินโด-แปซิฟิก’ จึงเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่า อาเซียนต้องการเพื่อนมาช่วยถ่วงดุลบทบาทเชิงรุกของจีนในภูมิภาค เพราะคำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ ย่อมหมายถึงบทบาทร่วมของอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ พูดง่ายๆ ก็คือ อาเซียนต้องการขยายกรอบความคิดเชิงพื้นที่ของเอเชียให้กว้างขึ้น”

“แต่ในขณะเดียวกัน อาเซียนเองก็ประกาศ ‘ทัศนะของตัวเอง’ (ASEAN Outlook) ต่ออินโด-แปซิฟิก ความหมายก็คือ ขอฉันเลือกตีความเอง แม้ว่าอาเซียนจะยืมคำศัพท์ที่สหรัฐฯ ชอบใช้ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความหมายของสหรัฐฯ ของอินเดีย หรือของออสเตรเลีย แต่เป็นมุมมองเฉพาะของอาเซียนเอง”

ทั้งนี้ แม้จะมีหลายคนมองว่า AOIP มีเนื้อหาไม่ชัดเจน แต่จริงๆ ความชัดเจนของ AOIP อยู่ที่การประกาศแนวทางไม่เลือกข้าง รวมถึงประกาศแนวคิด ASEAN Centrality และยังขยายภาพการมองภูมิภาคให้กว้างออกไป เพื่อเปิดให้มหาอำนาจเข้ามาคานและถ่วงดุลกันเพื่อผลประโยชน์ของอาเซียน

นอกจากเป็นการประกาศทัศนะของอาเซียนแล้ว เอกสาร AOIP ยังนับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียน ปี 2019 ซึ่งปิติได้เขียนบทความส่งท้ายปีด้วยการสรุปความสำเร็จของอาเซียนว่า นอกจากการรับรองเอกสารสำคัญต่างๆ การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของไทยสู่ประชาคมโลกแล้ว ยังมีความสำเร็จอีก 5 ข้อที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) การทำข้อตกลงอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงโดยจัดตั้งศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ (2) การออกเอกสาร 4 ฉบับเพื่อยืนยันการเดินหน้าพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน (3) การผลักดันให้เกิดการออกเอกสารสำคัญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (4) การวางตำแหน่งอาเซียน ณ จุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ด้วยการออกเอกสาร AOIP และ (5) การประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดข้อสรุปเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะนำไปสู่การลงนามในปีหน้า

ดังนั้น ในปี 2020 อาเซียนภายใต้การนำของเวียดนามจึงต้องเจอกับโจทย์ใหญ่หลายประการ นอกจากจะต้องผลักดันข้อตกลงและทำเรื่องที่ค้างคาให้ลุล่วงแล้ว อาเซียนยังต้องวางตัวให้ดี เล่นเกมให้เป็น และก้าวย่างอย่างระมัดระวังที่สุดในสมรภูมิของสองมหาอำนาจนี้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของอาเซียนเอง เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่ยั่งยืน

 

รอบโลก 2019

 

ขณะที่สหรัฐฯ กับจีนกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ยุโรปเองก็เจอกับความโกลาหลไม่แพ้กัน กระแสประชานิยมปีกขวาเกิดขึ้น และกำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น ฮังการี และอีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Brexit โดยคอลัมน์ของ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนหลายบทความที่แหลมคมเกี่ยวกับ Brexit ไล่เรียงตั้งแต่การทบทวนสถานการณ์ที่หยุดชะงักในการเจรจา Brexit ปมปัญหาการอยู่ร่วมกันของสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ไปจนถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับการทำประชามติ Brexit ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่า Brexit จะลงเอยอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อยุโรปและโลกอย่างไร

นอกจากยุโรปแล้ว 101 ยังพาคุณไปอ่านเรื่องราวการเมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกาในคอลัมน์ของ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ , สำรวจมหาอำนาจขนาดกลางในเอเชียใต้อย่างอินเดีย ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับอาเซียน จากคอลัมน์ของ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก และมองอินเดียในกระแสโลก กับ สุรัตน์ โหราชัยกุล รวมถึงการอ่านญี่ปุ่นสมัยใหม่ กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล

 

So, what’s next?

 

หากจะคาดการณ์ว่า โลกในปี 2020 เป็นโลกที่การแข่งขันทางการเมืองระหว่างประเทศจะรุนแรงและดุเดือดมากขึ้น ก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะสมรภูมิการแข่งขันของพญามังกรและพญาอินทรี ที่จะส่งผลกระทบต่อนานาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเมืองโลกในปี 2019 ทิ้งคำถามไว้มากมาย – สงครามเย็นจะเกิดขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 อีกครั้งไหม, อเมริกาที่หนึ่ง (America First) จะจบสิ้นลงในปีหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ถูกไต่สวนเพื่อถอดถอน (impeachment)

ขณะที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นที่น่าจับตามองว่า พญามังกรจะกางปีก (และเขี้ยวเล็บ) โบยบินไปในทิศทางใด การประท้วงในฮ่องกงจะจบลงหรือมีผลลัพธ์เช่นไร และอาเซียนจะเดินเกมในสมรภูมิของมหาอำนาจอย่างไร นี่ทำให้ทิศทางการเมืองระหว่างประเทศในปี 2020 เป็นสิ่งที่น่าจับตามองด้วยประการทั้งปวง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save