fbpx
Workplace Romance เอายังไงดี

Workplace Romance เอายังไงดี

ในยุค Modern Romance เรามี Romance Tech จำนวนมากที่ช่วยลดต้นทุนสำหรับสร้างความรักความสัมพันธ์ เป็นต้นว่า เรามี ‘Dating App’ อย่างเช่น Tinder หรือ OKCupid ที่ช่วยให้สามารถค้นหาคนที่ถูกใจได้ง่ายและรวดเร็ว (บางทีก็อาจเจอในที่ใกล้ๆ)

ด้วยความสะดวกสบายนี้เอง ‘Dating App’ จึงกลายเป็นใจกลางสำคัญของการสานความรักความสัมพันธ์ในสมัยใหม่

หลายคนยังเชื่อว่า พอคนเราใช้ Dating App แล้ว สถานที่สำหรับการนัดพบเจอส่วนใหญ่ จะเป็นผับ เป็นบาร์ หรือตามห้างร้าน ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะ User ส่วนใหญ่จะชอบนัดเจอที่ ‘ที่ทำงาน’ มากกว่า

 

ที่เราใช้สถานที่ทำงานเป็นที่นัดเจอ ส่วนหนึ่งเพราะถ้าเราอยากคบใครนานๆ เราก็ต้องรู้จักกันแบบเห็นหน้า และที่สำคัญ เราก็อยากใช้โอกาสนี้ในการรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขาด้วย ว่ามีหน้าตา ความคิด สถานะ และหน้าที่การงานอย่างไรบ้าง

‘ที่ทำงาน’ จึงเป็นสถานที่หนึ่งสำหรับการเริ่มต้นเรื่องราวความรักความใคร่ของคนในยุคสมัยนี้ – แต่ก็ใช่ว่าความรักความใคร่ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานจะเป็นสิ่งสวยงามเสมอไปนะคุณ

 

อะไรนะที่เรียกว่า Workplace Romance

หลายคนคงได้เจอกับ ‘Workplace Romance’ มากันบ้างแล้ว แต่อาจจะคิดว่ามันน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ เป็นไปได้ ว่าเพราะคุณไม่ค่อยสังเกตกัน

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องความรักความใคร่ในที่ทำงาน (Workplace Romance) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้พบเห็นอย่างดาษดื่น

ในปี 2015 บริษัท Vault Rankings ได้มอบแบบสอบถามไปยังพนักงานวิชาชีพตามแขนงต่างๆ ถึง 2,300 คน ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และพบว่ามากกว่าครึ่งเคยมีประสบการณ์เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในที่ทำงาน พนักงานทุก 10 คน จะมี 5 คนที่มี ‘ซัมธิง’ กับคนในที่ทำงานด้วยกัน

สำหรับประเทศไทย พบว่า จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บริษัทขนาดใหญ่) จำนวน 221 แห่ง มีบริษัทถึง 89.6% เคยรายงานว่าเคยปรากฏเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในที่ทำงาน (ในกรณีของไทย นี่เยอะมากเลยทีเดียว)

ถ้าเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียด รูปแบบความรักความใคร่ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้นมีความหลากหลายอย่างมาก มีตั้งแต่การจีบกันเพื่อเป็นแฟน การหาคู่เพื่อมี sex เป็นครั้งคราว การคบหาดูใจระยะยาว หรือการหาคู่ชีวิตเพื่ออยู่กินจนแก่เฒ่า

 

รักในแนวดิ่ง – รักในแนวราบ

ถ้าแบ่งความรักความใคร่ในที่ทำงานเป็นประเภทกว้างๆ เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ ความรักความใคร่ในแนวดิ่ง และความรักความใคร่ในแนวราบ

เรื่องโรแมนซ์แนวดิ่ง (Vertical Workplace Romance) คือ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักสองคนซึ่งอยู่ในตำแหน่งคนละระดับกัน เป็นต้นว่า ความรักระหว่างผู้บริหารกับผู้จัดการแผนก ความรักระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือ ความรักระหว่างพนักงานกับเด็กฝึกงาน

ส่วนเรื่องโรแมนซ์แนวราบ (Horizontal Workplace Romance) คือความรักความใคร่ที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานที่อยู่ในระดับงานเดียวกัน เช่น ความรักระหว่างพนักงานแผนกขายกับพนักงานแผนกผลิต หรือความรักระหว่างพนักงานระดับเดียวกันในแผนก

รูปแบบความรักความใคร่ในที่ทำงานมักถูกจำแนกเป็น 2 ประเภทข้างต้น อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นล่าสุดได้เปิดเผยว่า รูปแบบความรักความใคร่ในที่ทำงานที่เกิดขึ้นในองค์กรธุรกิจไทยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความรักความใคร่ระหว่างพนักงานระดับเดียวกัน ความรักความใคร่ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง ความรักความใคร่ระหว่างผู้บริหารและพนักงาน และความรักความใคร่ที่พัวพันไปยังพนักงานที่แต่งงานแล้ว (คือการนอกใจ) ซึ่งความรักความใคร่ประเภทแรกเป็นประเภทที่มีมากที่สุดนั่นคือ ร้อยละ 59.7

จะเห็นได้ว่าความรักความใคร่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรกติวิสัยในองค์กร ที่สำคัญก็คือ มันสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกหนทุกแห่งในที่ทำงานอีกด้วย

 

แล้ว Workplace Romance มันดีหรือไม่ดีกันล่ะ

แน่ล่ะ ถึงแม้ความรักความใคร่ในที่ทำงานจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน เพราะมันก็คือธรรมชาติของมนุษย์อ่ะเนาะ – ที่อยากมีความรัก

แต่ก็มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ความรักความใคร่ในที่ทำงานควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะมันมีข้อดีข้อเสียหลากหลายประการเหลือเกิน

ถึงตรงนี้ เราจะลองมาดูกันว่า ความรักความใคร่ในที่ทำงานนั้นสามารถสร้างผลดีและผลเสียต่อการทำงานขององค์กรอย่างไรได้บ้าง

สำหรับข้อดี ความรักความใคร่ในที่ทำงานสามารถทำให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พูดแบบให้เห็นภาพก็คือ หากเรามีคนที่แอบชอบอยู่ที่ทำงาน เราจะรู้สึกอยากไปทำงานเพื่อเจอเขาหรือเธอในทุกๆ วัน เราจะไปทำงานเช้าขึ้น และมีความกระปรี้กระเปร่าในการทำงานมากกว่าแต่ก่อน ที่สำคัญคือ เมื่อเรากับคู่รักได้มีโอกาสทำงานทีมเดียวกัน ก็จะมีโอกาสที่งานของเราจะมีคุณภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะได้มีโอกาสคุยกับคู่รัก (เพื่อนร่วมทีม) มากขึ้น และทุกครั้งที่คุย นอกจากจะคุยเรื่องทั่วไปแล้ว เราก็อาจแทรกเรื่องงานเข้าไปได้ด้วย งานของคู่รักจึงมักมีความสร้างสรรค์มากกว่าทีมอื่นๆ

นอกจากนี้ การที่เกิดเรื่องโรแมนซ์ในออฟฟิศนี่ ก็ไม่ได้ส่งผลดีแก่ผลิตภาพการทำงานของคู่รักเท่านั้น แต่สามารถเพิ่มบรรยากาศความน่าทำงานให้ทั้งออฟฟิศได้ด้วย

ส่วนหนึ่งเพราะว่า ความหวานอันเกินจากความรักของคู่หนุ่มสาวจะทำให้พวกเขารู้สึกอิ่มเอิบ ไม่อารมณ์เสีย พร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงพร้อมที่จะคุยกับเพื่อนๆ ร่วมงานคนอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรได้อีกด้วย

ดูรวมๆ แล้ว ความรักความใคร่ในที่ทำงานนี่ดูจะเป็นประโยชน์กับองค์กรไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ใต้ความงามก็มักมีสิ่งไม่ดีซ่อนไว้อยู่บ้างเหมือนกัน ความรักความใคร่สามารถนำมาสู่ปัญหาแก่คู่รักและองค์กรได้หลายประการ ประการแรก มันสามารถนำมาสู่ปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interests) เป็นต้นว่า ในบริษัทแห่งหนึ่ง มีการทำ project หนึ่งขึ้นมา ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบงานนี้มี 2 คน ซึ่งเป็นหัวหน้าที่มาจากแผนกขายและแผนกผลิต โดยทั้งสองคนนี้เป็นสามีภรรยากัน ในสถานการณ์การทำงานเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร เพราะสามีภรรยาทั้งคู่อาจตัดสินใจเพื่อเอาใจกันและกัน มากกว่าคำนึงถึงแผนกและตำแหน่งที่ตนสวมหัวโขนอยู่

(โดยธรรมชาติ ฝ่ายขายกับฝ่ายผลิตมักมีแนวคิดที่ขัดแย้งในการทำงาน เพราะฝ่ายขายต้องการได้สินค้าที่มีคุณภาพดี และปริมาณมากๆ แต่ฝ่ายผลิตมักต้องการทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำที่สุด)

ประการถัดมา คือ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในที่ทำงานก็สามารถทำให้บรรยากาศการทำงานย่ำแย่ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น คู่รักสองคนทำงานอยู่ในแผนกหนึ่งมานาน จนวันหนึ่งมีคนหนึ่งจับได้ว่า คู่ของตนนั้นแอบมีชู้ ก็เลยเกิดวิวาทะกันขึ้นในที่ทำงาน จนกลายเป็นการทะเลาะโหวกเหวกโวยวาย ซึ่งการทะเลาะที่ว่านี่ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่เขาทำงานอย่างสงบกันอยู่ – ทะเลาะเมื่อไหร่ ก็ไม่ต้องทำงานกันทั้งแผนก

หรือประการสุดท้าย ความรักความใคร่ในที่ทำงานสามารถสร้างความไม่เป็นธรรมในองค์กรได้ด้วย กรณีแรก ผู้บริหารอาจเลื่อนตำแหน่งให้กับผู้จัดการโดยไม่ดูว่าพวกเขานั้นมีความสามารถหรือทำงานได้ดีอย่างไร หากไปพิจารณาว่าผู้จัดการคนนั้นมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับผู้บริหาร มันก็คล้ายๆ กับเลือกที่รักมักที่ชัง หรือถ้ามองในมุมมองผู้น้อย กรณีแบบนี้ เราก็อาจเรียกว่าเป็น ‘การไต่เต้า’ นั่นเอง

อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริหารอาจตัดสินใจไม่เลื่อนตำแหน่งให้กับใครที่มีความรักความใคร่ในที่ทำงาน (กับคนอื่นๆ) ก็ได้ ทั้งที่เขาอาจทำงานได้ดี ทั้งนี้ เพราะผู้บริหารมักจะมองว่า คนที่มีความรักความใคร่ในที่ทำงาน มักไม่มีความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) ไม่สามารถแยกเรื่องงานออกจากเรื่องรักได้ ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่มีสิทธิที่ได้รับหน้าที่การงานที่ดีขึ้น การมีความรักความใคร่ในที่ทำงานโดยแสดงให้เจ้านายเห็นจึงเป็นการทำลายเส้นทางอาชีพของตน

และในบางกรณี การมีความรักความใคร่อาจเป็นไปโดยบังคับก็ได้ เป็นต้นว่า พนักงานต้องยอมมีความสัมพันธ์กับหัวหน้า เพราะเกรงกลัวว่าหากไม่เล่นด้วย หัวหน้าคนนั้นก็อาจจะกลั่นแกล้งตน ความรักความใคร่ในรูปแบบนี้จึงสามารถเปิดโอกาสผู้บังคับบัญชาสามารถลวนลามทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชาได้ง่ายๆ (Sexual Harassment)

ในอีกมุมหนึ่ง ความรักความใคร่ในที่ทำงานจึงสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ตัวพนักงานและองค์กรได้ไม่น้อยเลยละครับ

เราจะจัดการ Workplace Romance อย่างไร

จะเห็นได้ว่า เรื่องรักๆ ใคร่ๆ โดยเฉพาะในที่ทำงาน ถ้าจะว่าดีมันก็ดี ถ้าจะว่าไม่ดีมันก็ไม่ดี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่า ความสัมพันธ์นั้นๆ มันจะได้รับการประคับประคองไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หากไปไม่รอด ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเกิดผลเสียต่อตัวเอง คนรอบข้าง และบริษัท

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมาดูกันว่าวิธีการจัดการกับเรื่องความรักความใคร่นั้นสามารถมีได้กี่วิธีบ้าง

ในไทย บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีนโยบายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่พูดถึงเรื่องความรักความใคร่อย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่า เมื่อเกิดปัญหาอันเกิดจากความรักความใคร่ แผนกทรัพยากรบุคลากรก็จะมีแนวทางในการจัดการอยู่สองแบบ

แนวทางแรกคือ ‘การจัดการความรักความใคร่ในที่ทำงานเชิงลบ’ โดยแนวทางนี้จะมองว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่ควรมีขึ้นในที่ทำงานเพราะจะทำให้เสียการเสียงาน มัวแต่สนใจแฟน ไม่เอางานเอาการ เวลาออกไปกินข้าวกลางวัน ก็ไปกันนานสองนาน (ไม่รู้ว่าไปกินข้าว หรือกินตับกันแน่) บางทีมีปัญหาก็อาจทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ลง ดังนั้น เพื่อดับไฟแต่ต้นลม แนวทางนี้จึงเสนอให้มีนโยบายป้องปราม ไม่ให้มีเรื่องชู้สาวระหว่างพนักงานเกิดขึ้น และถ้ามีเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะมีการกำหนดโทษอย่างชัดเจน บางกรณีถึงขั้นไล่ออกเลยก็มี

สำหรับแนวทางที่สอง คือ ‘การจัดการความรักความใคร่ในที่ทำงานเชิงบวก’ แนวทางนี้ จะเชื่อว่าความรักความใคร่สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับองค์กรได้จริงๆ ดังนั้น ในแนวทางนี้ บริษัทจึงใช้มาตรการส่งเสริมให้เกิดความรักขึ้นในหมู่พนักงาน เช่น การให้คำปรึกษาเรื่องความรัก การให้คู่รักสามารถหยุดงานได้พร้อมกัน หรือการให้เงินสนับสนุนสำหรับคู่ที่จะแต่งงาน โดยเชื่อว่าจะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทต่างๆ มักจะผสมผสานแนวทางทั้งสองสำหรับการจัดการเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัท โดยส่วนมากนักทรัพยากรบุคคลมักจะโน้มเอียงไปใช้แนวทางเชิงบวกมากกว่าแนวทางเชิงลบ ด้วยสาเหตุที่ว่า เรื่องความรักความใคร่นั้นเป็นของที่ห้ามกันไม่ได้ มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ที่สำคัญ ลึกๆ แล้ว การปล่อยให้มีความรักเกิดขึ้นในบริษัทน่าจะสร้างความสุขมากกว่า (ลองคิดดูสิ หากบริษัทมามัวจับผิดว่าใครมีแฟน พนักงานคงเกิดความกลัว และหวาดระแวง สุดท้ายก็คงไม่มีกะจิตกะใจทำงานอะไร และลาออกในที่สุด บริษัทอาจเสียคนเก่งๆ แต่มีความรักไปก็ได้) โดยหากมีปัญหาที่เกี่ยวกับความรักเกิดขึ้น นักทรัพยากรบุคคลก็ใช้วิธีการจัดการเป็นรายกรณี (case by case) ตามความเหมาะสม

ในปัจจุบัน บริษัทในประเทศไทยเริ่มใช้วิธีการจัดการความรักความใคร่ในที่ทำงานชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘Love Contact’ ซึ่งหมายถึงการทำสัญญากันก่อนระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องที่เกี่ยวกับการมีความรักในที่ทำงาน

ส่วนมากนายจ้างมักกำหนดว่าลูกจ้างสามารถมีความรักได้ แต่ก็มีข้อแม้ว่าหากมีปัญหาอะไรขึ้นมาก ก็จะต้องปฏิบัติตามแนวทางของบริษัท ‘Love Contact’ นับเป็นเครื่องมือที่ดี เพราะได้เปิดโอกาสให้พนักงานมีความรักได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความชัดเจน และเปิดโอกาสให้บริษัทได้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยเช่นกัน

 

การมีความรักความใคร่จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียด หากแต่ต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี มิฉะนั้น แล้วก็อาจสร้างความเดือดร้อน ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเอง แต่อาจรวมถึงเพื่อนร่วมงาน และบริษัทได้ด้วย

สำหรับใครก็ตามที่รู้ตัวว่ากำลังมีความรักความสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งในที่ทำงาน โดยไม่อยากไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร (รวมถึงตัวเอง) แต่ไม่รู้จะเริ่มจัดการยังไง

ขอเสนอกฎเหล็กสองข้อ ข้อแรก หากอยากรักษาความรักไว้นานๆ ให้พยายามปิดเป็นความลับ

หากทำข้อแรกไม่ได้ ก็ต้องไปดูข้อสอง

นั่นคือ เมื่อความรักดันสร้างปัญหาให้กับคุณและที่ทำงานมากๆ หากคุณไม่รีบออกจากความสัมพันธ์นั้น คุณก็ต้องออกจากที่ทำงานครับ

เลือกเอา!

 

เอกสารอ้างอิง

บทความ How to Keep an Office Romance from Destroying Your Career โดย Donna Rosato จาก Time

บทความ Everything You Need To Know About Workplace Romances โดย WIL SPILLANE จาก Kin

บทความ Tips About Dating, Sex and Romance at Work: What to Know Before You Date a Coworker โดย Susan M. Heathfield จาก The Balance

บทความ Managing Workplace Romance of Private Organization in Thailand โดย Jirapong Ruanggoon จาก NIDA Development Journal

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save