fbpx

การเมืองเรื่อง ‘พื้นที่’ : อำนาจ เครือข่าย และบารมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ไม่มีใครสนใจถนนราชดำเนินอีกต่อไปแล้ว เพราะมันเป็นอดีต ตอนนี้ศูนย์กลางได้เปลี่ยนไปเป็นสยามสแควร์ และราชประสงค์ เพราะว่าเป็นที่ที่เศรษฐกิจโลกมาบรรจบกัน (กับโครงสร้างทางอำนาจของไทย)” (สัมภาษณ์ กลุ่มเสื้อแดง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553)[1]         

ย่าน ‘สยาม-ราชประสงค์’ ถือเป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ และของประเทศก็ว่าได้ ในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง มีรถไฟฟ้าผ่านทำให้เข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย มีสินค้าและบริการที่หลากหลายและครบครัน ในวันหนึ่งๆ มีผู้คนเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งอาจถือเป็นส่วนหนึ่งของจักรกลทางเศรษฐกิจของประเทศ

กระนั้นอำนาจทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่อำนาจหนึ่งเดียวที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังมีอำนาจทางวัฒนธรรมและการเมืองที่แอบซ่อนอย่างเงียบเชียบเบื้องหลังตึกสูงและกำแพงที่ตั้งตระหง่านปิดกั้นพื้นที่ทางเศรษฐกิจกับอีกพื้นที่หนึ่งที่เปรียบเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงวังของเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับและอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์และโชคชะตาในช่วงไม่ถึง 100 ปีผ่านมา จากวังที่ประทับของเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งก็กลายเป็นวังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจและบารมี ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ ณ ริมคลองแสนแสบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2458 จนถึงปัจจุบัน และนั่นคือ ‘วังสระปทุม’

จากคำสัมภาษณ์ในปี 2553 ของคนเสื้อแดงคนหนึ่งข้างต้นของบทความที่ให้สัมภาษณ์กับ Serhat Ünaldi ผู้เขียนหนังสือชื่อ Working towards the monarchy: the politics of space in downtown Bangkok (2559) จะเห็นได้ว่าพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญแทนที่ถนนราชดำเนินที่ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจมาก่อน เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มาบรรจบกับโครงสร้างทางอำนาจของการเมืองไทย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ในหนังสือเล่มดังกล่าวของ Ünaldi เสนอคำตอบไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอำนาจจากถนนราชดำเนินมายังพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ นั้นมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับการขยายเมืองจากเกาะรัตนโกสินทร์ไปทางตะวันออกในสมัย ร.4 กับการปรากฏขึ้นของวังสระปทุมในฐานะศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่เริ่มสะสมอำนาจบารมีในช่วงหลังการสละราชสมบัติของ ร.7 เมื่อปี 2478 เป็นต้นมา

แล้วสายสัมพันธ์ที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในบทความนี้จะช่วยสรุปข้อเสนอดังกล่าวจากหนังสือของ Ünaldi เพื่อไขความกระจ่างถึงความสัมพันธ์ที่กล่าวไปข้างต้น การอธิบายดังกล่าวของ Ünaldi ช่วยทำให้เห็นถึงความสำคัญของมิติเชิงพื้นที่ (space) ในทางการเมืองของไทยที่ได้ให้มุมมองที่แตกต่างในเชิงคำอธิบายต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งสามารถนำมิติเชิงพื้นที่นี้ไปขยายต่อสำหรับการศึกษาการเมืองไทยในอนาคตได้อีกมาก

พื้นที่กับการเมืองไทย

Ünaldi เริ่มอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยการเล่าถึงกรอบเรื่องสังคมวิทยาพื้นที่ (sociology of space) สำหรับเป็นกรอบทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เมือง และสถาปัตยกรรมต่างๆ ความสัมพันธ์เหล่านี้ได้กำหนดและส่งผลต่อการกระทำและปฏิสัมพันธ์ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้เองก็ถูกกำหนดและเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของทั้งการกระทำและปฏิสัมพันธ์ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันด้วย

ดังนั้น สำหรับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หากเป็นไปตามกรอบความสัมพันธ์ข้างต้น การจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย ก็สามารถศึกษาผ่านมิติในเชิงพื้นที่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ (กินพื้นที่ตั้งแต่ BTS สนามกีฬา สยาม และชิดลม วังสระปทุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชกรีฑาสโมสร สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะย่านธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่สำคัญ และโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เมื่อกลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ชุมนุมใหญ่ ณ ที่ดังกล่าวเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราอาจเข้าใจง่ายๆ ว่าการที่ นปช. เลือกสถานที่นี้ก็ด้วยพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และการกดขี่ของชนชั้นนำในเมืองที่กระทำต่อชนชั้นล่าง

เอาเข้าจริงแล้วพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นพื้นที่ที่เพิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมขึ้นในช่วงระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงสมัย ร.4 เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เกิดการสร้างอาคาร ถนน และคูคลองต่าง ๆ มากมาย รวมถึงความหมายที่ติดไปกับอาคารและพื้นที่ต่างๆ ในนามของสถาบันกษัตริย์เข้าไปด้วย และใช้เวลาในการก่อร่าง ต่อสู้ ต่อต้าน และหยั่งราก โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวจึงมีเสน่ห์และประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจ อีกทั้งพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกกลุ่มต่างๆ ฉวยใช้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

พื้นที่กับการลงหลักปักฐานทางอำนาจ: ประวัติศาสตร์การเมืองของพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’

งานชิ้นนี้เริ่มจากการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่และการเมืองที่เข้ามามีผลต่อพื้นที่ดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นการปรากฏขึ้นของ ‘charisma’[2] (บารมีและความศักดิ์สิทธิ์) และเครือข่ายของราชสกุลมหิดลที่เริ่มขึ้นในพื้นที่เล็กๆ อย่าง ‘วังสระปทุม’ ย่านปทุมวันแห่งนี้ อันเนื่องมาจาก ร.4 ต้องการขยายการเติบโตของกรุงเทพฯ ไปทางเหนือและตะวันออกนอกกำแพงเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2400 เป็นต้นไป ตามการขยายตัวของชาวตะวันตกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามมากขึ้นและเพื่อรองรับการค้าขายที่เติบโตขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นอีกด้วย จึงได้เกิดการสร้างคลองและถนนต่างๆ มากมายไปทางตะวันออกไม่ว่าจะเป็นถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง คลองผดุงกรุงเกษม การพัฒนาบริเวณหัวลำโพงในปัจจุบันก็เพื่อการเชื่อมโยงระหว่างเกาะรัตนโกสินทร์กับพระโขนง โดยมีคลองหัวลำโพงเป็นตัวเชื่อมกับคลองแสนแสบ เป็นต้น และบริเวณเขตปทุมวันในปัจจุบันเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนดังกล่าว

หลังจากนั้นในช่วงสมัย ร.5 ก็ได้มีการสร้างถนนและขุดคลองต่างๆ ขยายออกมาจากทางหัวลำโพง ไม่ว่าจะเป็นถนนราชดำริ คลองราชดำริ การสร้าง ‘วังวินด์เซอร์’ หรือ ‘วังกลางทุ่ง’ ให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร การสร้าง ‘รอยัล สปอร์ต คลับ’ (Royal Sport Club) หรือราชกรีฑาสมโสรในปัจจุบัน ในปี 2443 ตามการร้องขอของชาวอังกฤษนามว่า Franklin Hurst ณ ช่วงเวลานี้เองที่ประวัติศาสตร์การเมืองของ ‘วังสระปทุม’ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อ ร.5 มอบที่ดินติดคลองแสนแสบเพื่อสร้างวังที่ประทับให้กับเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช (ภายหลังคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ผู้ให้กำเนิดสายราชสกุลมหิดล แต่ก็ยังไม่ได้สร้างอย่างจริงจังเนื่องจากเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา กว่าจะเริ่มสร้างอย่างเป็นทางการก็สมัย ร.6 ในปี 2458 ภายหลังจากสร้างเสร็จก็อยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (ภายหลังคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระมารดา

นอกจากนี้ในสมัย ร.6 ก็ได้มีการสร้างถนนและคลองเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในฝั่งตะวันออกเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นถนนพระรามที่ 1 ถนนเพลินจิต และจุดตัดของถนนสามสายตรงนี้เอง (ถนนพระรามที่ 1 ถนนเพลินจิต และถนนราชดำริ) ที่เป็นจุดกำเนิดของ ‘แยกราชประสงค์’ และมีการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2459

ภายหลังการปฏิวัติปี 2475 โดยคณะราษฎร พื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ ได้เปลี่ยนไป เมื่อคณะราษฎรสามารถกุมอำนาจของประเทศได้ ทำให้ในช่วงปี 2475-2490 เป็นช่วงที่คณะราษฎรพยายามวางรากฐานการปกครองสยามเสียใหม่เพื่อปูทางให้สยาม/ไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการวางรากฐานในเชิงวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ด้วย ตัวแทนสัญลักษณ์ในเชิงสถาปัตยกรรมถูกรื้อและสร้างทดแทนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแบบอุดมการณ์ของคณะราษฎร

ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ อย่างชัดเจน ก็คือเมื่อปี 2477 มีการรื้อวังวินด์เซอร์เพื่อสร้าง ‘สนามกีฬาแห่งชาติ’ หรือ ‘สนามศุภชลาศัย’ ในปัจจุบัน สร้างความเจ็บปวดให้พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาอย่างมาก การรื้อวังดังกล่าวพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาถือเป็นการลบความทรงจำของโอรสของพระองค์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชก็เพิ่งสวรรคตไป (พ.ศ. 2472) การรื้อวังดังกล่าวกลายเป็นการสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้กับพระองค์เจ้าสว่างวัฒนามากขึ้น แต่ภายหลังปี 2490 เป็นต้นไป อำนาจของคณะราษฎรก็เริ่มเสื่อมลง กลุ่มกษัตริย์นิยมและกลุ่มเจ้าก็กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง พร้อมกับอำนาจและบารมีของพื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ โดยมีวังสระปทุมเป็นศูนย์กลาง   

Ünaldi เสนอว่าประวัติศาสตร์การเมืองของวังสระปทุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 เมื่อมีการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกับนางสาวสังวาลย์ หรือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พิธีอภิเษกสมรสระหว่าง ร.9 กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก็จัดขึ้นที่วังนี้เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493) และจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นในปี 2478 เมื่อ ร.7 สละราชสมบัติ ทำให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้สืบราชสมบัติเป็น ร.8 เชื้อสายราชสกุลมหิดลก็ได้เป็นสายหลักของราชบัลลังก์สยาม

ในช่วงตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยึดอำนาจ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาควบคุมการปกครองทั้งหมด พร้อมกับการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อป้องกันอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ พื้นที่ ‘สยาม-ราชประสงค์’ ที่มีวังสระปทุมเป็นศูนย์กลางก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และจุดนี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มของความเรืองรองของพื้นที่ดังกล่าว และในเวลาต่อมาก็ได้ส่งต่อมาถึงทายาทคนปัจจุบัน คือ สมเด็จพระเทพฯ (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

พื้นที่กับความพยายามสถาปนา ‘charisma’ ให้เป็นสถาบัน

‘วังสระปทุม’ เริ่มสะสม charisma ทีละน้อย ตั้งแต่การขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และได้แผ่ขยายออกไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เมือง และสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกทั้งยังผลิตซ้ำความหมายและชุดคุณค่าต่างๆ ออกมา ด้วยอาศัยความร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ทำให้ charisma ได้ส่งผลให้อิทธิพลที่ประกอบด้วยบารมี (พุทธ) และความศักดิ์สิทธิ์ (พราหมณ์ฮินดู) ฝังลึกลงไปในสายราชสกุลมหิดล และแผ่ขยายอิทธิพลดังกล่าวนี้ไปกับศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับทหาร ข้าราชการ และกลุ่มทุนไทยเชื้อสายจีน Ünaldi เรียกกลไกการทำงานลักษณะนี้ว่า ‘การสนองพระราชดำริ’ (Working Toward the Monarchy)[3]

กระนั้นการแผ่ขยาย charisma ดังกล่าวก็ไม่ได้เรียบง่ายเสมอไป เกิดภาพสะท้อนถึงการกดขี่ ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำของพื้นที่นี้ ผ่านการแสดงออกของกลุ่มการเมืองอย่าง นปช. ชาวบ้านในชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบนทางเท้าบริเวณรอบสยาม-ราชประสงค์ และกลุ่มคนที่วาดภาพหรือเขียนข้อความบนกำแพงที่มีลักษณะต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ แม้ในท้ายที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม[4]

ในอีกด้านหนึ่งงานของ Ünaldi เผยให้เราเห็นบทบาทสำคัญของคนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือกลุ่มทุนในนาม ‘สยามพิวรรธน์’ ในฐานะเครือข่ายการทำงานทางธุรกิจร่วมกับสถาบันกษัตริย์สายราชสกุลมหิดล ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนสำคัญที่ไม่ใช่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อีกทั้งกลุ่มทุนสยามพิวรรธน์เป็นภาคธุรกิจเอกชนที่ทำให้เห็นว่าเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ไม่ได้จำกัดหรือขยายตัวผ่านกลไกของระบบราชการเท่านั้น

เครือข่ายของกลุ่มสยามพิวรรธน์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีบุคคลสำคัญ 2 คน ได้แก่ 1. พล.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คนแรกและผู้บริหารโรงแรมเอราวัณในขณะนั้นที่ได้ร่วมทุนกับสายการบิน Pan Am ของสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล (ปัจจุบันถูกรื้อและสร้างเป็นสยามพารากอน) และ 2. หลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ (แถม เพชรเกษม) อดีตอธิบดีกรมทางหลวง ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือสยามสแควร์ ทั้ง 2 คนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ในแถบปทุมวันและช่วยงานราชสกุลมหิดลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำทุนต่างชาติมาลงทุน หรือเจรจาเพื่อนำที่ดินบริเวณวังสระปทุมไปให้กลุ่มทุนเหล่านั้นเช่า[5] ในแง่นี้จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่วังสระปทุมนั้น มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม ‘สยามพิวรรธน์’ และความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองไทยตั้งแต่การขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้

ในแง่นี้เครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ไทยจึงไม่ได้มีอยู่แค่เพียงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สภาองคมนตรี กองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายของวังสระปทุมที่ขับเคลื่อนด้วย ‘royal charisma’ ผ่านผลประโยชน์ร่วมกันทางธุรกิจอีกด้วย และมีลักษณะตามแนวคิด ‘การสนองพระราชดำริ’ ในแง่นี้งานชิ้นนี้จึงช่วยชี้ให้เห็นถึงเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ตัวแสดงทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงตัวแสดงทางเศรษฐกิจอย่างภาคธุรกิจและเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงเครือข่ายทางอำนาจให้ดำรงอยู่ต่อไปผ่านการใช้เครื่องมือทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ผ่านตัวแสดงต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสนองพระราชดำริ [6]

Ünaldi ยกประเด็นว่าในช่วง ร.9 มีผู้นำอีกคนที่สั่งสม ‘charisma’ คือ ทักษิณ ชินวัตร แต่การสั่งสม charisma ของทักษิณนั้นมีลักษณะแตกต่างออกไป Ünaldi เรียกลักษณะผู้นำอย่างทักษิณว่าเป็น ‘Führerdemokratie’ หรือผู้นำแบบประชาธิปไตยที่ได้รับการรับเลือกตั้งจากประชาชน โดย charisma ของผู้นำลักษณะนี้จะอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนและนักการเมืองผ่านการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนเขา นอกจากนี้ผู้นำในลักษณะนี้จะใช้เครื่องมืออย่างกลไกระบบราชการในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารที่ได้สิทธิอันชอบธรรมจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย

ทักษิณพยายามสร้างความเป็น Führerdemokratie ผ่านนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด นโยบายประชานิยม รวมถึงเหตุการณ์อย่างการทำบุญในวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วเมื่อปี 2548 แต่ charisma ที่ทักษิณสร้างก็แตกต่างจาก royal charisma ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1. charisma ของทักษิณเกิดจากลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการที่ยังคงทำงานร่วมกับกลุ่ม royal charisma ซึ่ง charisma ลักษณะนี้ต้องการเงินทุนมหาศาลมาหล่อเลี้ยงและต้องการประชาชนผู้สนับสนุนขนาดใหญ่อีกด้วย 2. ด้วยการเป็น Führerdemokratie ทำให้การเป็นผู้นำในลักษณะนี้ต้องพึ่งพิงกับประชาชนผู้เลือกตั้งที่ไม่มีความแน่นอน ขณะที่ royal charisma สะสมบารมีและความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเวลานานจนสถาปนาเป็นสถาบันที่มั่นคงเหนือตัวบุคคล [7]

พื้นที่กับบทสรุป: มิติเชิงพื้นที่กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ในแง่นี้งานของ Ünaldi จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก ไม่ใช่ในแง่ของกรอบการศึกษาที่ประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องสังคมวิทยาของพื้นที่มาทำความเข้าใจการเมืองไทยเท่านั้นที่ช่วยให้เห็นภาพที่แตกต่างหลากหลายและมหัศจรรย์ แต่งานของ Ünaldi ทำให้เรามองเห็นอีกด้านหนึ่งที่ช่วยให้เห็นการเมืองไทยอย่างรอบด้านมากขึ้น รวมถึงการมองประวัติศาสตร์การเมืองผ่านการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ก็ช่วยทำให้เราเห็นพัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ก่อตัวขึ้นของกลุ่มก้อนทางการเมืองที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และยังช่วยให้เราเห็นสายสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมายที่มาสัมพันธ์กันผ่าน ‘พื้นที่’


[1] “Nobody is interested in Ratchadamnoen anymore because it is in the past. The center of the city now changed to Siam Square and Ratchaprasong because that is where the global economy intersects [with local structures]. (interview, 15 May 2010) (Ünaldi, 2016, 17.)

[2] ผู้เขียนใช้คำว่า ‘charisma’ ใน 2 ความหมายตามที่ Serhat Ünaldi ใช้โดยเสนอว่า charisma ในไทยนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ 1. บารมี เป็นคำในคติพุทธศาสนาที่หมายถึงผู้ที่สั่งสมและทำความดี หรือกรรมดีมาตั้งแต่ชาติก่อน และปัจจุบัน เป็นคนที่มีคุณธรรม 2. ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำในคติพราหมณ์และฮินดูที่หมายถึงผู้ที่ได้รับพลังอำนาจและเวทมนตร์คาถาจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านเครื่องลาง หรือพิธีกรรมบางอย่าง ฉะนั้นตลอดบทความผู้เขียนจะขอใช้ทับศัพท์คำดังกล่าวแทนการแปลเป็นไทย โปรดพิจารณาจาก Ünaldi, Serhat. (2016). Working towards the monarchy: the politics of space in downtown Bangkok. Honolulu: University of Hawaii Press, 42.

[3] แนวคิดนี้ Ünaldi นำมาจากงานของ Ian Kershaw ที่ใช้ศึกษาลักษณะความเป็นผู้นำของ Hitler ว่า ‘charisma’ ที่ Hitler สั่งสมมาได้ขยายตัวหรือสร้างเครือข่าย และกลุ่มก้อนต่างๆ ขึ้นมา ซึ่ง Kershaw เรียกลักษณะการทำงานร่วมกันดังกล่าวนี้ว่า ‘Working Towards the Führer’ แต่นัยของการทำงานร่วมกันนั้นไม่จำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดผู้นำหรือคนสนิท แค่เพียงคนเหล่านี้มุ่งมั่นทำตามเป้าหมายที่ผู้นำได้ตั้งเป้าไว้ก็ถือว่าเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้นำ โปรดพิจารณาจาก Ian Kershaw. (1993). ‘Working Towards the Führer.’ Reflections on the Nature of the Hitler Dictatorship, Contemporary European History, 2(2), 116-118.

[4] พิจารณาได้จาก อ้างแล้ว, Ünaldi, 2016, Chapter 6.

[5] เพิ่งอ้าง, 126-139.

[6] ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. (2554). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 17-21; พอพันธ์ อุยยานนท์. (2557). สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ. ใน ชัยธวัช ตุลาธน. (บก.). พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ: เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475, (245-331). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 330-331; Paul Chambers & Napisa Waitoolkiat. (2016). The Resilience of Monarchised Military in Thailand, Journal of Contemporary Asia, 46(3), 425-428; Duncan McCargo. (2005). Network monarchy and legitimacy crises in Thailand, The Pacific Review, 18(4), 449-511; Mérieau, Eugénie. (2016). Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015), Journal of Contemporary Asia, 445-447.

[7] อ้างแล้ว, Ünaldi, 2016, 75-76, 80, 85.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save