fbpx
“เรื่องเล่าคืออำนาจของมนุษย์” ถอดวิธีคิด ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ นักเขียนศิลปาธรคนล่าสุด

“เรื่องเล่าคืออำนาจของมนุษย์” ถอดวิธีคิด ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ นักเขียนศิลปาธรคนล่าสุด

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง/ภาพปก

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ภาพ

 

เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง ไปตามเส้นทางของเรา เศษทรายในกระเป๋า เสียงในความทรงจำ ที่เกิดเหตุ ความมืดกลางแสงแดด จุดเทียนทั้งปลายทั้งโคน ฯลฯ

ที่ว่ามาคือผลงานเขียนส่วนหนึ่งของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ คนล่าสุด

ในวัยย่าง 49 ปี เขาปักหมุดหมายในแวดวงหนังสือ-สื่อมวลชน จากการเป็น ‘นักสัมภาษณ์’ ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน-บรรณาธิการ บันทึกความเป็นไปของสังคมในมุมที่สื่อกระแสหลักละเลย ผ่านการสังเกตการณ์และการลงไปคลุกคลีในที่เกิดเหตุ เจาะความคิดและชีวิตของผู้คนผ่านบทสนทนาที่ลงลึกถึงเลือดเนื้อและจิตใจ

ผู้จัดการ, GM, Open, Image, Writer คือหลักไมล์สำคัญตลอดชีวิตการทำงานยี่สิบกว่าปี ที่บ่มเพาะเขาให้ปีกกล้าขาแข็งบนเส้นทางสื่อ

ในนามส่วนตัว เขาวางตัวเป็นสื่อมวลชนอิสระ ยืนหยัดบนหลักสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์

ทว่าไม่บ่อยครั้ง ที่เขาจะเปิดเปลือยความคิด เปลี่ยนบทบาทจากผู้สัมภาษณ์มาเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดงานพบปะพูดคุยกับวรพจน์ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ดำเนินการสนทนาโดย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ จาก The Standard

บทสนทนาออกรสออกชาติตลอดเวลาราวๆ ชั่วโมงครึ่ง ไล่ตั้งแต่สิ่งที่เขาหมกมุ่นสนใจในปัจจุบัน วิธีคิดในการทำงานเขียนและงานสัมภาษณ์ ไปจนถึงมุมมองต่อคนทำสื่อรุ่นใหม่ๆ

ต่อไปนี้คือบางช่วงบางตอนจากการเสวนา ว่าด้วยวิธีคิดในการทำสื่อตลอดการทำงานที่ผ่านมา พร้อมด้วยประสบการณ์และกลวิธี (ที่ไม่เคยบอกใคร) ในฐานะ ‘นักสัมภาษณ์แห่งยุคสมัย’​

 

นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร ประจำปี 2562 จัดแสดงถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

 

ทราบว่าล่าสุดคุณกำลังทำเรื่องผู้ลี้ภัย ทำไมถึงสนใจเรื่องนี้

ผมชอบดาราสวยๆ มากเลยครับ อะไรที่หอมๆ เย็นๆ นุ่มๆ ผมชอบ อะไรลำบากไม่ชอบ พวกเลือด พวกของร้อนๆ คนทะเลาะกัน ความขัดแย้ง ผมไม่ชอบ แต่ถ้ามันมีอยู่ และมันเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ค่อยมีคนทำ เราก็อยากจะทำ คล้ายๆ ตอนที่ผมลงไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำเรื่อง ‘ที่เกิดเหตุ’ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ค่อยมีคนทำ

 

วิธีเลือกเรื่องของคุณ คือเลือกจากเรื่องที่คิดว่าสำคัญในมุมของเรา แต่คนอื่นอาจมองไม่เห็นใช่ไหม

เขาก็อาจมองเห็นแหละ แต่เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนมันต่างกัน บางคนเขาอยู่ในพื้นที่หนึ่ง เวทีหนึ่ง เขาเป็นคอลัมนิสต์ฟุตบอล จะให้เขาไปสามจังหวัดฯ มันคงไม่ได้ และก็ไม่ใช่ความผิดเขา ไปว่าเขาไม่ได้ว่าคุณไม่สนใจสังคมเลย หน้าที่ของมนุษย์แต่ละคนมันต่างกัน

 

แล้วโดยส่วนตัว คุณคิดว่าเรื่องผู้ลี้ภัยมันสำคัญยังไง

คือคนเราก็ควรจะได้อยู่บ้านรึเปล่าวะ จะลี้ภัยไปทำไม (หัวเราะ) ถ้าเขาต้องลี้ภัย แปลว่ามันก็ต้องมีเหตุสำคัญมาก ใครจะอยากจากลูก จากเมีย จากความรัก จากอ้อมแขนอันอบอุ่น กระทั่งแมว ใครจะอยากจากแมว เขาก็ต้องอยากเลี้ยงแมวของเขาตามปกติ การที่ต้องจาก ต้องทิ้งไป แปลว่ามันมีเรื่องสำคัญ แล้วในเมื่อมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังไม่ถูกพูดเยอะ เราก็ต้องเอามาพูด

 

ที่ผ่านมา สังเกตว่าเรื่องที่คุณชอบทำ มักเป็นเรื่องราวที่สื่อหลักมองไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่หยิบมาเล่น โดยเฉพาะตัวละครต่างๆ ที่เลือกสัมภาษณ์ อยากรู้มีวิธีเลือกตัวละครยังไง

หลักๆ ก็อย่างที่ตอบไป ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่ยังถูกพูดถึงน้อยเกินไป ยกตัวอย่าง เรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ มันถูกพูดถึงเยอะนะ มีข่าวแทบทุกวัน แต่ปัญหาคือมันถูกพูดถึงอยู่มุมเดียว คือเกิดเหตุที่ไหน ยังไง มีกี่ศพ จบ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ลูกเขาหน้าตาเป็นยังไง พ่อแม่เขาเป็นยังไง สำหรับผมมันน้อยไปหน่อย

เหมือนเราฉายไฟไปเห็นแค่นิ้วก้อย เห็นเล็บเท้า มันเล่าเรื่องมนุษย์ได้ไม่ครบ พอเล่าได้ไม่ครบ มันก็มองความจริงได้ไม่ครบ พอทำไปนานๆ ก็กลายเป็นอคติ เป็นความไม่เข้าใจกัน นำไปสู่การพิพากษา คุณยังไม่ทันรู้จักเลย คุณก็เกลียดแล้ว ถ้ารักโดยไม่รู้จักนี่ผมเข้าใจได้นะ แต่เกลียดโดยไม่รู้จักนี่ไม่ไหว คนจะเกลียดกัน มันควรรู้จักกันหน่อย

 

เวลาทำงานสัมภาษณ์ หรือลงพื้นที่ มีวิธีการทำงานยังไง ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

มีหลายวิธีนะครับ บางเรื่องนี่ต้องเตรียมไปเยอะๆ ทำการบ้านให้เยอะที่สุด รู้ให้เยอะที่สุด ย่อมดีอยู่แล้ว ข้อสำคัญคือ เราจะได้รู้ว่ามันถูกพูดอะไรไปแล้วบ้าง เราจะได้ไม่พูดซ้ำ หรือถ้าเรื่องมันผ่านมาสามเดือนแล้ว เหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าเขาเคยพูดไปแล้ว ก็ดูว่าเขาได้พูดถึงใจกลางปัญหาอย่างแหลมคมมากน้อยแค่ไหน มีตรงไหนยังตกหล่นอยู่รึเปล่า ถ้าเราอ่านให้เยอะที่สุด ทำการบ้านให้เยอะที่สุด เราจะรู้ว่าอะไรที่มันขาด ควรเติม และอะไรที่มันช้ำ ไม่ควรซ้ำแล้ว

เหมือนอยู่ดีๆ คุณก็ตื่นเต้นตกใจว่ามันมีไฟแช็ก เฮ้ย มนุษย์มันคิดประดิษฐ์ไฟแช็กได้ตั้งนานแล้ว จะมาตื่นเต้นดีใจทำไม ถ้าคุณไม่ตามอัพเดตข้อมูลบางอย่าง คุณจะตื่นเต้นกับเรื่องที่คนเขารู้อยู่แล้ว แต่คุณน่ะไม่รู้ ถ้ามันซ้ำ คุณจะทำไปทำไม เปลืองกระดาษเปล่าๆ

นั่นคือแบบหนึ่ง คือทำการบ้านเยอะที่สุด รู้ให้เยอะที่สุด อีกแบบหนึ่งคือไปแบบใสๆ เลย ไม่ต้องรู้อะไร เหมือนเดินไปพร้อมกับคนอ่าน เจออะไรก็ค่อยๆ เล่าไป ผิดถูก ดีชั่ว โง่ฉลาด ก็ค่อยๆ ว่าไป

 

หลังจากหาข้อมูลแล้ว ทำการบ้านแล้ว พอลงไปพื้นที่ เริ่มสัมภาษณ์ ต้องเตรียมอะไรยังไงบ้าง

ส่วนใหญ่ก็เตรียมเงินครับ (หัวเราะ) พูดเล่นนะ โดยหลักที่สุดผมเป็นพวกทำงานใช้แรง อย่างเวลาสัมภาษณ์ ผมจะสัมภาษณ์นาน คุยให้นานที่สุด จนเขารำคาญ พูดง่ายๆ คือไม่ไล่ไม่เลิก (หัวเราะ)

จริงๆ มันคือหลักพื้นฐานเลยครับ ถ้าคุณไปสัมภาษณ์คน 20 นาที แล้วก็กลับ เทียบกับผม สัมภาษณ์ 4 ชั่วโมง ต่อให้ผมโง่ฉิบหายเลย โอกาสที่ผมจะได้งานดีกว่าคุณที่คุยแค่ 20 นาที ย่อมมีมากกว่า

ถามว่าคุย 20 นาทีมีโอกาสจะดีกว่าได้ไหม ได้ แต่ด้วยความน่าจะเป็น อาจมีแค่สัก 0.3 เปอร์เซ็นต์ที่ทำได้

 

คนที่คุณสัมภาษณ์นานที่สุดคือใคร ใช้เวลาเท่าไหร่

บ่ายสองถึงสี่ทุ่ม สัมภาษณ์คุณพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่เป็นนักร้องนักแต่งเพลง แต่คนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ก็ใช้เวลาเยอะหมดครับ อย่างตอนสัมภาษณ์คุณแดนอรัญ แสงทอง ก็นาน ประมาณบ่ายโมงถึงหนึ่งทุ่ม เรียกว่าช่างภาพนี่รอจนปวดหัว ต้องเอาตีนสะกิดผม ประมาณว่าขอกูบ้าง ให้กูถ่ายก่อน เพราะแสงมันจะหมดแล้ว หรือบางทีเขาอยากฟังมาก เรื่องกำลังสนุกมาก แต่เขาฟังมานานจนปวดหัวแล้ว อยากออกไปดูดบุหรี่แล้ว แต่เรื่องแม่งก็มันฉิบหาย ก็ยังอยากกลับมาฟังอีก ช่วยเบรคหน่อยได้มั้ย (หัวเราะ) มันจะมีเหตุการณ์แบบนี้อยู่เสมอ

 

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า ตอนไหนควรพอ ควรหยุด

ส่วนใหญ่ก็เอาจนหมดแรงแล้ว หมดเวลาแล้ว ต้องไปเลี้ยงลูกแล้ว อย่างนั้นมากกว่า เพราะคุยยังไงมันก็ไม่พอหรอกครับ มนุษย์น่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะบอกคนที่จะไปสัมภาษณ์ไว้เลยว่า ถ้าคราวนี้ยังไม่ดี ยังไม่พอ ผมขอซ้ำอีกนะ ขอนัดอีกรอบ

 

เคยโดนบ่นบ้างไหมว่าจะคุยอะไรเยอะแยะขนาดนี้

ก็มีครับ ส่วนใหญ่เขาก็ชวนนอนที่บ้านเลย (หัวเราะ)

 

 

สังเกตว่างานหลายๆ ชิ้น คุณใช้เวลาไปตามดูชีวิตเขา ไปที่บ้านเขา เข้าป่ากับเขา วิธีแบบนี้มันช่วยให้เห็นอะไรบ้าง

จริงๆ ผมคิดตั้งแต่ตอนนัดสัมภาษณ์แล้วครับ ว่าคนนี้เราควรนัดที่ไหน คิดตั้งแต่ตอนโทรไปนัดด้วยซ้ำว่าควรโทรกี่โมง คนนี้ต้องโทรไปตอนไหนเขาถึงจะให้เราสัมภาษณ์ ช่วงเวลาไหนของวันคือวันเวลาที่มนุษย์จิตใจผ่องใส ใจดี อยากจะคุย กระทั่งอนุญาตให้ไปหา ถ้าโทรติดแล้ว จะพูดจากับเขายังไง ต่อมาก็สถานที่ จะนัดเขาที่ไหน ควรเป็นบ้าน เป็นออฟฟิศ ในผับ หรือร้านกาแฟ มันต้องดูบริบทของคนนั้นๆ ด้วย

 

อย่างเรื่องสถานที่ มีวิธีการเลือกยังไง

ผมมองว่าชีวิตของมนุษย์มันเกี่ยวข้องกับ Space and time เวลาและสถานที่ที่เราผูกพัน นี่คือแกนหลักของมนุษย์ ที่แปลกสุดๆ ก็คือห้องผ่าศพ ตอนสัมภาษณ์คุณหมอพรทิพย์

ผมนี่ไม่ชอบเลือดเลย แถมกลัวผีด้วย แต่เราสัมภาษณ์คนผ่าศพ เราก็ควรจะไปเห็น อย่างหมอพรทิพย์เขาชอบแต่งตัว ผมก็ขอไปที่บ้านด้วย ไปดูตู้เสื้อผ้าของเขา ดูตู้เสื้อผ้าแล้ว ก็ควรจะไปดูห้องผ่าศพด้วย หมอเล่าให้ฟังว่า เคยมีพระมาขอดู เพื่อที่จะปลง ปรากฏพระเป็นลม ผมคิดในใจ ตอนกูเข้าไปนี่ก็เกือบไม่ไหวเหมือนกัน (หัวเราะ)

การได้เข้าไปเห็นฉากหรือสถานที่ของเขา มันช่วยเพิ่มมิติเรื่องเล่าให้เรา ไม่งั้นเราจะได้แต่วาจาที่เขาตอบ ซึ่งก็อาจจริงบ้างเท็จบ้าง เล่าได้ดีบ้าง เล่าได้ไม่ดีบ้าง แต่ถ้าเราเห็นฉาก ได้ไปเห็นพื้นที่ที่เขาอยู่ เราจะเห็นมิติอื่นๆ ของเขาด้วย เพราะลำพังแค่วาจามนุษย์ บางทีเขาไม่ได้อยากเสแสร้งหรอก แต่ใช่ว่าทุกคนที่ถามปุ๊บ แล้วจะตอบได้ดั่งใจทันที มันถึงเชื่อมโยงกับเรื่องเวลา ว่าทำไมต้องคุยนาน

บางทีชั่วโมงแรกนี่แทบจะโยนทิ้งเลย เอามาใช้อะไรไม่ได้เลย มันจะได้ประมาณชั่วโมงที่สาม ความไว้ใจของมนุษย์มันไม่ได้เกิดจากการแรกพบเสมอไป กว่าเขาจะไว้ใจให้เราเป็นผู้รับสาร ถ่ายทอดสาร เล่าเรื่องชีวิตเขา เขาต้องเอาชีวิตมาวางไว้กับเราซึ่งเขาแทบไม่รู้จักเลย การที่เขาจะไว้ใจได้ อย่างน้อยๆ ก็ควรต้องใช้วันเวลาร่วมกันสักหน่อย

แล้วการที่เราให้เวลากับใคร มันคือการมอบความสำคัญให้ แล้วเมื่อเราได้ใช้เวลาร่วมกัน เราก็ควรสร้างประสบการณ์ที่ดี สร้างความทรงจำที่ดีร่วมกัน

 

มีเทคนิคอะไรอยากแบ่งปันนักสัมภาษณ์รุ่นใหม่ๆ ไหม

เท่าที่ผมเคยได้ยินมา หลายคนจะพูดถึงผมทำนองว่า เราไม่ค่อยพูด หรือพูดน้อยแบบนี้ จะเป็นนักข่าว เป็นสื่อมวลชนได้ยังไง ผมอยากบอกว่าโคตรจะไม่จริงเลย เพราะหน้าที่ของนักข่าว สื่อมวลชน มันไม่ใช่การพูด หน้าที่เราคือไปถาม และฟังคำตอบ

เคยเจอมั้ยครับ พิธีกรที่พูดมากกว่าแขกรับเชิญ ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่านั้นแล้ว เพราะมันคือการไม่รู้สถานะ แค่คุณทำหน้าที่ฟัง คุณก็จะรู้เองว่าอะไรสำคัญ ไม่สำคัญ อะไรคือประเด็น แล้วมันก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปเอง ถ้าเราไม่ฟัง ถ้าเรามัวแต่ห่วงคำถามที่จดไป คำตอบที่เขาพูดมันก็ไม่มาถึงเรา เราก็ไม่เข้าใจเรื่อง เมื่อไม่เข้าใจก็แยกแยะความสำคัญไม่ถูก

แน่นอนว่าตอนทำงานใหม่ๆ ใครก็ต้องกังวล ผมก็เคยเป็น กลัวเดดแอร์ แต่ตอนหลังก็หน้าด้านขึ้น (หัวเราะ) เดดแอร์ช่างมัน หยุดพักเข้าห้องน้ำบ้างก็ได้ มนุษย์สามารถไปฉี่ได้ หรือถ้าคิดไม่ออก ขอพักได้ เบรกได้

 

พูดถึงการฟัง คิดว่าความสำคัญของมันคืออะไร ต้องฟังยังไงให้เข้าใจอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้

ผมเข้าใจว่ามนุษย์เกิดมาจากการมีความสามารถในการฟังเท่าๆ กัน แต่พออยู่ไป เราทำลายการฟังของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าใครทำลายมาก ทำลายน้อย ผมว่าผมมีอัตราการฟังปกติ ไม่ได้มีหูที่ดีกว่าใคร ไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าใคร แค่รักษาธรรมชาติของมนุษย์ มีความรู้สึก มีสมาธิ

เพียงแต่ทุกวันนี้ แต่ละวันที่ผ่านไป เราทำลายคุณสมบัติที่ดีของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการฟัง แต่รวมถึงการเห็น เรื่องความรู้สึกต่างๆ ด้วย

 

เคยมีโมเมนต์ที่คิดคำถามไม่ออกไหม หรือเวลาเจอเดดแอร์คุณทำยังไง

เจอประจำ ก็นั่งเงียบต่อไป เดี๋ยวเขาทนไม่ไหวก็พูดออกมาเอง (หัวเราะ) วิธีหนึ่งที่ง่ายสุดคือ ทวนคำพูดเขา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เหรอ น่าสนใจจัง ช่วยขยายความอีกหน่อยได้มั้ย ระหว่างนั้นก็คิดไปว่าจะถามอะไรต่อ

 

นอกจากทักษะการฟัง สิ่งที่สำคัญเหมือนกัน ก็คือการตั้งคำถาม คุณมีวิธีการตั้งคำถามยังไง

ลืมหมดแล้วครับ (หัวเราะ) ช่วงหลังๆ ผมแทบไม่คิดเรื่องพวกนี้เลย ออกจะรังเกียจด้วย คำถามเท่ๆ คำถามฉลาดๆ รู้สึกรำคาญด้วยซ้ำ

แล้วควรถามยังไง ก็ถามแบบปกตินี่แหละ ผมเชื่อว่าไม่มีหรอกคำถามที่โง่ สิ่งสำคัญคือกาละเทศะ ถามว่าชอบสีอะไร หรือชอบกินอะไร ก็ไม่ใช่คำถามที่โง่ แต่ ณ ตอนนั้นมันควรถามรึเปล่า แค่นั้นเอง ลูกเขาเพิ่งตายเมื่อกี๊ พ่อเขากลับบ้านไม่ได้ คุณไปถามว่าชอบสีอะไร มันก็ดูแย่ไปนิดนึง

เราทำงานกับมนุษย์ เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเขา เราต้องวิเคราะห์ว่ามนุษย์ที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา เรากำลังทำงานกับเขาอยู่ เราต้องให้เกียรติ ไม่ต้องถึงขั้นประจบสอพลอ ไม่ต้องพนมมือหรือคลานเข่าเข้าไป นั่งคุยกันปกตินี่แหละ แค่เราไม่ไปทำร้ายความเป็นมนุษย์ของเขา

 

ทำไมถึงชอบงานประเภทนี้ มันมีเสน่ห์ยังไง

ผมชอบฟังเรื่องเล่า สัตว์มันเล่าเรื่องไม่ได้ เรื่องเล่ามันเป็นอำนาจของมนุษย์ คนที่เปรู โบลีเวีย สามารถรับรู้เรื่องเล่าของเราได้ผ่านภาษาที่เราใช้ร่วมกัน คนอีกสองร้อยปีข้างหน้า ก็รับรู้เรื่องเล่า ณ ขณะนี้ได้ อำนาจของเรื่องเล่า อำนาจของตัวหนังสือ อำนาจของศิลปะวรรณกรรม มันแรง แล้วโดยอาชีพผม ผมอยู่กับเรื่องเล่า ได้ฟังเรื่องเล่าทุกวัน ของอาชีพนั้นอาชีพนี้ คนนั้นคนนี้ ผมชอบ พอทำแล้วสนุกมันก็ไม่อยากไปไหน

ถึงจะเป็นคนเดิม เวลาเปลี่ยน เรื่องมันก็เปลี่ยน เรื่องเล่าอำนาจมันสูง แล้วเราคิดเองทุกอย่างไม่ได้ ต่อให้คุณจะฉลาดแค่ไหน แต่คุณฟังเรื่องเล่าได้ แล้วเมื่อเรื่องของเขา มาปะทะกับเรื่องเล่าของเรา มันจะเกิดสิ่งใหม่ เกิดความคิดใหม่ๆ แล้วมันสามารถเปลี่ยนความคิดหรือชีวิตของคนได้เลย

 

 

มองคนทำสื่อรุ่นใหม่ๆ ยังไงบ้าง

ผมว่าคนรุ่นใหม่เก่ง แต่ปัญหาคือคนมันสัมพันธ์กับรัฐ กับประเทศ ความเห็นผมคือเราไม่ได้อยู่ในวันเวลาที่ดี ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าโพสต์เฟซบุ๊กแล้วติดคุก 70 ปี ลดโทษลงมาเหลือ 35 ปี อย่างกรณี 112 ที่เป็นข่าว หรืออีกหลายกรณี ที่เพื่อนพี่น้องของเรากลับบ้านไม่ได้เพียงเพราะเขียนหนังสือหรือแสดงความเห็น

สำหรับผม คนที่เขียนหนังสือจำเป็นต้องพูด ถ้าคุณไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขียน คุณก็เถียงมาสิ คุยกันก็จบ ผมไม่ได้ไปฆ่าคุณ คนไม่ควรมีความผิดจากการแสดงความคิดเห็น

มันลำบากเพราะเราอยู่ในวันเวลาที่เพดานสิทธิเสรีภาพต่ำ มันแทบจะใช้คำนี้ไม่ได้เลย นี่ไม่ใช่วันเวลาที่มีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นปัญหาพอสมควรกับวงการนี้ ที่มีหน้าที่เล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น อาชีพผมคือการเล่าเรื่อง และแสดงความเห็น คุณไม่ปล่อยให้ผมเล่าเรื่องและแสดงความเห็น แล้วผมจะอยู่ได้ยังไง

 

แต่กับบางเรื่อง คนอาจรู้สึกว่าอ่อนไหว ไม่ควรพูด

อ่อนไหวก็ทำให้มันแข็งแรงสิ คุณจะให้มันอ่อนไปทั้งชาติเลยหรือไง

เราเกิดมาไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ความต่างเป็นเรื่องปกติ ไม่มีมนุษย์คนไหนมีลายนิ้วมือเหมือนกันอยู่แล้ว การเถียงกัน ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องปกติมาก อย่างเวลาผมอยู่คนเดียว บางทีผมยังทะเลาะกับตัวเองเลย (หัวเราะ)

คำถามคือเราจะดีลกับความแตกต่างอย่างไรให้เหมาะสม การจะบอกว่าอันนั้นห้ามพูด ห้ามเถียง นั่นมันสัตว์ ไม่ใช่คน เราจะมาทำลายอำนาจสูงสุดที่เรามีอยู่ทำไม อย่างที่บอก อำนาจในการเล่าเรื่องมันเป็นอำนาจที่พิเศษมากของสิ่งมีชีวิตประเภทนี้ เป็นข้อที่พิเศษมากของความเป็นมนุษย์

 

คิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้นไหม

โดยธรรมชาติมันไม่มีใครอยากสนใจหรอก โดยธรรมชาติเขาก็อยากจะจูงมือกันไปนั่งใต้แสงเทียน กินเหล้า ฟังเพลงบอสซ่า ใครมันจะอยากเห็นการฆ่า โต้เถียง แต่สัจจะมันเป็นเช่นนี้ มันเกิดขึ้นตรงหน้าคุณ ตอนนี้ความขัดแย้งมันไปทุกบ้าน มันไปทุกครัวเรือน ฉะนั้นคุณเลี่ยงสิ่งนี้ไปไม่ได้

ถ้าคุณเกิดมาในยุคสมัยนี้ แล้วคุณเลี่ยง แปลว่าคุณเป็นคนปิดหูปิดตา ถ้าปิดหูปิดตาแล้วมาเขียนหนังสือ มันไม่รอดอยู่แล้ว คนจะอ่านไปทำไม ในเมื่อมันไม่มีอะไรเชื่อมกับสังคมเลย มนุษย์ที่เป็นสื่อ เป็นนักเขียน จะแนวโรมานซ์หรือแนวอะไรก็ตาม มันก็ต้องเกี่ยวกับสังคมอยู่ดี เรื่องเล่าคุณถึงจะมีน้ำหนัก มีพลัง น่าสนใจ

 


ชมคลิปการเสวนาฉบับเต็มได้ ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save