fbpx
ประเทศกูมีกวี : คุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้ร่วมบุกเบิกเทศกาล 'Nan Poesie'

ประเทศกูมีกวี : คุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้ร่วมบุกเบิกเทศกาล ‘Nan Poesie’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ตะวัน พงศ์แพทย์ ภาพ

ย่างเข้าเดือนพฤศจิกา ลมหนาวลอยมาตามนัด ใครหลายคนอาจกำลังเตรียมวางแผนขึ้นดอย เข้าป่า สัมผัสภูมิอากาศที่นานปีจะมีครั้ง และแต่ละครั้งก็มักไม่นาน

หากโชคดี กลางเดือนนี้ที่จังหวัดน่าน อุณหภูมิน่าจะกำลังดี เหมาะอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมใดๆ ที่สร้างสุนทรียะ ชุบชูใจ

ถ้ายังไม่รู้จะไปไหน ลองไปเทศกาลบทกวีที่น่านดูไหม ?

“มันไม่ได้ทำให้เงินเดือนคุณเพิ่มหรอก แล้วก็ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไร แต่การมาอยู่ในพื้นที่ที่สะอาดสะอ้านแบบนี้ มันจะพาคุณไปสู่ดินแดนใหม่ในหัวใจ ในรสสัมผัสของคุณ สิ่งเหล่านี้คุณหาไม่ได้ในสื่อกระแสหลัก หาไม่ได้ในทีวี และหาไม่ได้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ในฐานะคนต้นคิดของงานนี้ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ ผู้โลดแล่นอยู่บนถนนหนังสือ-สื่อมวลชนมาร่วมยี่สิบปี และเพิ่งย้ายจากเมืองกรุงไปปักหลักอยู่เมืองน่าน ชี้แจงว่านี่คืองานที่ทำเพื่อตัวเอง เพื่อพี่ๆ น้องๆ ศิลปิน และผู้สนใจศิลปะ ในประเทศที่ผู้มีอำนาจไม่ไยดีต่อความสุนทรีใดๆ

ซะการีย์ยา อมตยา, กฤช เหลือลมัย, อนุชา วรรณาสุนทรไชย, เรืองรอง รุ่งรัศมี, วาด รวี, สุมาลี เอกชนนิยม, สมพงค์ ศิวิโรจน์ คือศิลปินส่วนหนึ่งที่จะมาร่วมจัดแสดงงาน-อ่านบทกวี ในงานนี้ ภายใต้ชื่อเก๋ๆ ว่า ‘Nan Poesie’ (น่าน โปเอซี)

“เราเป็นนักเขียน เป็นกวี ถ้าไม่มีสนามให้เล่น ความสร้างสรรค์ก็ไม่เกิด” เขาเปิดเบียร์พร้อมบทสนทนา แล้วไล่เรียงถึงสาเหตุที่มาที่ไป

“หน้าที่ก็ไม่ใช่ ออร์กาไนเซอร์ก็ไม่เคยเป็น แต่เราเห็นอยู่ว่ามันไม่มีสนาม หมู่บ้านที่เราอยู่มีแต่ป่ารกร้าง แต่เราก็รู้อีกว่า มันมีวัยรุ่นอยู่จำนวนหนึ่ง ที่มีแรง ชอบเล่นบอล แต่มันไม่มีที่ให้เล่น”

“ปัญหาของแผ่นดินนี้คือ นอกจากไม่มีสนามบอลแล้ว ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ยังไล่เอาโซ่มาล่ามขานักบอลไว้ด้วย”

ก่อนที่งาน Nan Poesie จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ ที่ ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ เราชวนวรพจน์มานั่งคุยนอกรอบแบบสบายๆ ว่าด้วยเรื่องบทกวี ภาวะกวี ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของคำคล้องจอง แต่เกี่ยวข้องกับความจริงและความงามของชีวิต

วรพจน์ พันธุ์พงศ์, Nan Posie

ทำไมถึงไปจัดงานที่จังหวัดน่าน

ตอนนี้เราอยู่ที่จังหวัดน่าน วิธีคิดของเราคือ เราอยู่ที่ไหน เราทำอะไรได้ก็ทำ ไม่ใช่ว่าผมอยู่พิจิตรและมาทำที่น่านนะครับ (หัวเราะ) พูดง่ายๆ คือทำไปตามปัจจัยแวดล้อมของเรา คุณอยู่พิจิตร อยู่พิษณุโลก อยู่สงขลา คุณก็ทำไป ตามกำลังของแต่ละคน

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่เจ้าพ่อโปรเจ็กต์ ยังไม่อยากเปลี่ยนอาชีพมาเป็นออร์กาไนเซอร์ ผมเป็นนักเขียน เป็นนักสื่อสารมวลชน เมื่อได้มาอยู่ที่น่าน แล้วมองเห็นว่ามันยังไม่มี ก็ทำ ทำกับเพื่อนอีกคน คือคุณ ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ คิดกันอยู่สองเดือน ก็รู้สึกว่าลงตัว เราทำอาชีพเขียนหนังสือ เพื่อนมีห้องสมุด ก็ประสานกัน ช่วยกันคนละหน้าที่ แล้วก็มีน้องๆ ที่รู้จักกันมาช่วยเตรียมงานอีกส่วนหนึ่ง

ทำไมตั้งชื่องานว่า ‘Nan Poesie’ คำว่า Poesie มาจากไหน

เป็นภาษาฝรั่งเศส เราเลือกใช้คำว่า poesie ในความหมายของ ‘poetic’ ถามว่าทำไมใช้คำนี้ เพราะความเป็นฝรั่งเศสมันอธิบายรากเหง้า ทั้งเรื่องศิลปะวรรณกรรม ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราอยากเชื่อมโยงตรงนี้ไว้

คำว่า poetic เป็นคำที่สำคัญของมนุษยชาติ เช่น คนขับรถที่มัน poetic เนี่ย มันเท่นะ แต่ขณะเดียวกันก็ปลอดภัย มันนุ่มสบาย มันถึงที่หมาย มีความยั่วเย้าท้าทายประมาณนึง มีความอ่อนโยนบอบบางประมาณนึง นักบอลก็เหมือนกัน อย่างซีดาน (ซีเนอร์ดีน ซีดาน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส) นี่เล่นบอลแบบกวี มันสวยงาม มันสุนทรี

แต่อีกด้านนึง เวลาคุณบอกว่าคุณเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยาย หรือกระทั่งเขียนกวี ระดับของความ poetic หรือคุณค่าทางวรรณศิลป์ มันไม่เท่ากันนะ ยกตัวอย่างว่า ข่าวบางชิ้น ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน อาจมีความ poetic มากกว่าบทกวีบางบทก็ได้ การที่คุณเขียนนวนิยาย เขียนเรื่องสั้น หรือเขียนกวี ไม่ได้แปลว่าคุณจะเป็นผู้ถือครองศิลปะที่สูงกว่าศาสตร์อื่น ประเด็นมันอยู่ที่ชิ้นงานนั้นๆ

เราอยากชี้ชวนให้ทุกคนไปหาความหมาย poetic นอกจากถ้อยคำเดิมๆ ในชีวิตคุณ เช่นคำว่า ความมั่นคง เงิน ดอกเบี้ย กำไร คอนโด รถติด หรือกระทั่งคำว่า comfort zone เราอยากลองเสนอคำใหม่ให้กับชีวิตของคุณ คือคำว่า poetic อยากชี้ชวนคุณไปสู่อีกอารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง อีกคำถามหนึ่ง กระทั่งในความหมายของคำว่า ‘บทกวี’ ก็ไม่ได้ย่ำอยู่ในพื้นที่เดิมๆ

ความหมายของบทกวีแบบเดิมๆ เป็นยังไง

ที่ผ่านมา เท่าที่เห็นในเมืองไทย ความหมายของบทกวีสำหรับบุคคลทั่วไป โดยค่าเฉลี่ย บทกวีแปลว่าคำคล้องจอง ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ถามว่าบทกวีคล้องจองมีไหม มี แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยมาก เป็นแค่แขนงหนึ่งเท่านั้น บทกวีไม่ได้แปลว่าคำคล้องจองอย่างที่นักเรียนภาษาไทยทั่วประเทศเข้าใจ

แล้วบทกวีในแบบวรพจน์ คืออะไร

คำนี้น่าจะเป็นคำที่ถกกันยากคำหนึ่ง อาจคล้ายคำว่าความรัก เอาสั้นๆ เร็วๆ ก็คือภาวะของความละเอียดอ่อนหนึ่ง ภาวะของความรู้สึกหนึ่ง ภาวะของความจริงหนึ่ง ภาวะของความงามหนึ่ง ภาวะของความลึกซึ้งแบบหนึ่ง ภาวะของดินแดนหนึ่ง อิสรภาพหนึ่ง ค่อนข้างจะไร้รูป เหนือกาล ไม่เกี่ยงสถานที่

วรพจน์ พันธุ์พงศ์, Nan Posie, poetic

บางคนอาจรู้สึกว่า บทกวีเป็นอะไรที่เข้าถึงยาก ดูนามธรรม คำถามคือทำไมต้องมาเสียเวลาเสพอะไรแบบนี้ด้วย เสพอะไรที่มันง่ายๆ ไม่ดีกว่าหรือ

เอาจริงๆ ก็คงไม่มีใครเอาปืนไปจ่อหัวใครหรอกมั้ง (หัวเราะ) สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องรสนิยม ก็คงเหมือนถามว่า ทำไมต้องดูฟุตบอล ถึงที่สุดไม่ว่าจะด้วยปริมาณเท่าไหร่ มันก็เป็นเรื่องรสนิยมอยู่ดี คนในวงการฟุตบอลเขาก็ต้องพยายามเชียร์ให้คนมาดูฟุตบอล คนในวงการกอล์ฟเขาก็คงเชียร์ให้ดูกอล์ฟ คนในวงการแฟชั่นเขาก็ต้องเชียร์ให้ไปดูของเขา

ส่วนเรา เราอยู่ในพื้นที่ของคนทำงานศิลปะวรรณกรรม เราก็นับเป็นหน้าที่หนึ่งที่ต้องสร้างไดนามิก สร้างนวัตกรรมในวิชาชีพที่เราอยู่ เปรียบเหมือนว่าเราเป็นนักบอล เราเห็นอยู่ว่ามันไม่มีสนาม หมู่บ้านที่เราอยู่มีแต่ป่ารกร้าง แต่เราก็รู้อีกว่า มันมีวัยรุ่นอยู่จำนวนหนึ่งที่มีแรง ชอบเตะบอล แต่มันไม่มีที่ให้เล่น ฉะนั้นเราก็ต้องเริ่มหักล้างถางพงบ้าง

เราเชื่อมั่นในศิลปะ ศิลปิน เราเชื่อมั่นในอำนาจของหนังสือ เราเชื่อมั่นในการอ่าน ถ้าประเทศมีคนอ่านหนังสือจริงจัง มีคนเสพศิลปะวรรณกรรมอย่างจริงจัง มีคนสนใจบทกวีอย่างจริงจัง ประเทศที่มันมี poetic ไม่มีทางเป็นประเทศที่ล่มจม ต่อให้อยู่ในวันเวลาที่แย่ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิด ธุรกิจใหม่ๆ จะเกิด

ปัญหาของแผ่นดินนี้คือ นอกจากไม่มีสนามบอลแล้ว ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ยังไล่เอาโซ่มาล่ามขานักบอลไว้ด้วย นอกจากคุณไม่สร้างสนามบอลแล้วเนี่ย คุณยังมาทำลายอาชีพ ทำลายจินตนาการของนักบอล นอกจากคุณไม่ส่งเสริมแล้ว คุณยังมาไล่จับไล่ปิด ซึ่งทรรศนะของเรา เราไม่เห็นด้วยกับวิธีแบบนั้น

เราอยู่ฝ่ายที่ว่า เราชอบเล่นบอล เราเป็นนักบอล เราก็ต้องหาสนามเล่น เมื่อไม่มีสนาม เราก็ต้องสร้างสนามขึ้นมาใหม่ แม้ว่าโดยตัวเราเอง เราเป็นนักบอล ไม่ใช่คนสร้างสนาม ไม่ใช่ผู้จัดการทีม ไม่ใช่โค้ช

แต่ในเมื่อมันไม่มีคนทำหน้าที่เหล่านี้ ในนามของนักบอล บางทีมันก็ต้องยอมเปลืองเนื้อ เปลืองตัว เปลืองเวลา มาสร้างสนามฟุตบอลบ้าง เพื่อว่าความรักของเราจะได้ดำรงอยู่ ชุมชนของคนที่รักในสิ่งเดียวกัน จะได้ดำรงอยู่

เอาความกล้าหาญมาจากไหนในการจัด เทศกาลบทกวี ในประเทศที่คนไม่ค่อยอ่านบทกวี

จริงๆ งานนี้เป็นเทศกาลที่เปิดกว้างสำหรับศิลปะทุกสาขา ไม่ใช่กวีนิพนธ์เท่านั้น คำว่า poesie เป็นแค่ตัวแทน เรามองว่างานศิลปะทุกประเภทมีความเป็น poetic ได้หมด ตั้งแต่ภาพถ่าย ภาพวาด ดนตรี วรรณกรรม เราเปิดกว้างหมด โดยเรียกมันว่า poesie

ถามว่าทำไมต้องมีเทศกาลบทกวี แน่นอน กวีทุกคน นักเขียนทุกคน ถึงเวลาทำงาน ก็นั่งเขียนคนเดียวอยู่ที่บ้าน การเขียนเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องความโดดเดี่ยว นั่นคือเวลาคุณใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ประเด็นคือมันต้องมีวันเวลาสำหรับปาร์ตี้ ต้องมีวันเวลาที่จะได้มานั่งเผชิญหน้ากัน มาจับมือกัน มาสัมผัสกัน มาหายใจอยู่ตรงหน้ากัน มาสร้างไดอะล็อกต่อกัน

เราเชื่อในคำว่าไดอะล็อก นักดนตรีจะเก่ง ต้องมีไดอะล็อก คุณเล่นคนเดียวยังไงก็ไม่เก่ง นักบอลก็เหมือนกัน เตะอยู่คนเดียวก็เท่านั้น กวีก็เช่นเดียวกัน

ไม่ใช่ว่านั่งโซโล่อยู่ที่บ้านคนเดียว

ไม่ใช่ ไม่มีทางเก่ง ถามว่าเก่งมั้ย ก็อาจเก่งในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามันมีไดอะล็อก มาเล่นกับกีต้าร์ตัวอื่น มาเล่นกับกลอง มาเล่นกับคีย์บอร์ด มาเล่นกับแซ็กโซโฟน มันจะพัฒนาขึ้นไปอีกเยอะ ทุกอาชีพก็เหมือนกัน มันต้องมาแลกเปลี่ยนเผชิญหน้า มาสัมผัสมือ มาเจอตัวเป็นๆ

ยิ่งในโลกที่โซเชียลมีเดียทำงานสูงมาก ทุกคนใช้กันหมด ผมเองอยู่บ้านนอก อยู่ในป่า เราก็ใช้ แน่นอนว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้ แต่นั่นคือพื้นที่และเวลาแค่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือการออกมาเจอมนุษย์จริงๆ ตัวเป็นๆ ตรงหน้า และต้องมีสนาม มีพื้นที่ที่เหมาะสม

ปีนี้ผมอายุ 48 เดินทางมาทั้งประเทศ พบว่ามีน้อยมาก งานกวีแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี แต่ถือว่าน้อยและเบาบางมาก

แต่เมื่อเราเห็นคุณค่ามัน เรารักมัน เรารักวงการนี้ เราเป็นนักบอล เราอยากให้วงการฟุตบอลเติบโต เราเป็นนักเขียนเป็นกวี เราก็อยากให้วงการนี้เติบโต เมื่อเรากวาดสายตามองไปทั่วประเทศแล้วมันไม่มีคนทำ ตัวเราเอง แม้ว่าทุนน้อย กำลังน้อย ไม่ถนัด และก็มีงานของตัวเองที่ต้องทำอยู่ แต่ในเมื่อไม่มีใครทำเลย สนามบอลก็ไม่เกิด สนามกวีก็ไม่เกิด

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ความเสียสละ ไม่ได้อุทิศตัวเพื่อมวลชน และไม่ได้ทำเพื่อชาติ แต่ทำเพื่อตัวเอง ทำด้วยกิเลสตัณหาส่วนตัว ที่เห็นว่าพอจะทำอะไรได้ก็ทำ วิธีคิดส่วนตัวที่เรายึดถือ คือทำอะไรได้ก็ทำ ไม่งอมืองอเท้า แล้วเราอยากเชียร์เพื่อนพี่น้องจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ สิงห์บุรี ใครอยู่ในสนามไหน วงการไหน ถ้าทำได้ควรทำ ทุกๆ อาชีพมันควรมีเวที พื้นที่มันจำเป็น

เมื่อมีพื้นที่ มีเวลา แล้วคนออกมารวมกัน ความคิดสร้างสรรค์มันจะเกิด จากเดิมที่แต่ละคน ต่างคนต่างทำ สร้างสรรค์กันคนละแบบ ถ้าได้มาเจอกัน มันจะเกิดความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ ซึ่งถ้ามันผสมผสานกันได้ลงตัวเนี่ย มันกลายเป็นเครื่องบิน กลายเป็นยานอวกาศได้เลย กลายเป็นอินเทอร์เน็ตได้เลย

ขอบฟ้าของความคิดสร้างสรรค์มันกว้าง และเราอยากมีส่วนในการช่วยเปิดเพดาน เปิดพื้นที่ เปิดขอบฟ้าให้มันกว้างไกลที่สุด ตามกำลังที่เรามี

 

ที่บอกว่าทำตามกำลังที่มี คุณมีกำลังแค่ไหน พอได้ลงมือทำจริงๆ มีอะไรที่น่ากังวลมั้ย

แรงเรามีนะ แม้ว่าไม่เคยถางป่า เทปูนขาว วัดความยาวกรอบเขตโทษ แต่ถึงแม้ว่าแรงจะมี มันก็ยังไม่พอ เพราะสนามฟุตบอลมันใหญ่ แล้วมันเล่นกันหลายคน ตอนนี้แรงงานยังขาดอยู่ ส่วนเงินเนี่ย ไม่มีเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ต้องการเงินมาก ต้องการเงินจากผู้ที่มองเห็นความงดงาม เห็นคุณค่าในงานศิลปะ อยากให้มารวมกลุ่มกัน แล้วเดินไปด้วยกัน โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลางที่ไม่เคยช่วยอะไรเลย

ที่กังวลคือ ไหนๆ เชิญคนมาแล้ว ก็ควรหาที่พักให้เขาได้ เชิญกวีมาแล้ว ก็ควรมีเงินจ่ายค่ารถให้เขา แค่เขามาบ้านเรา เราก็ขอบคุณมากแล้ว เราอยากดูแลเพื่อนพี่น้องที่เชิญมา ให้เขาไม่ต้องลำบากกายใจ เราอยากทำหน้าที่ของเจ้าภาพ เจ้าบ้าน ให้เขามาถึงบ้านเราแล้ว สบายเนื้อสบายตัว สบายใจ เพื่อเขาจะได้แสดงผลงานของเขาอย่างเปล่งประกายที่สุด มีพลังสูงสุด

จริงๆ มันเป็นเรื่องของประเทศชาติที่ต้องเข้ามาซับพอร์ตเรื่องพวกนี้ กระทั่งว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของเรา มันเป็นหน้าที่ของสังคม ของประเทศ แต่ในเมื่อประเทศนี้ องค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ลุกขึ้นมาทำ ยังมองไม่เห็น เราก็ไม่งอมืองอเท้า เพราะถ้าเราเอาแต่นั่งรอ แล้วงอมืองอเท้า ไม่นานเราก็จะกลายเป็นนักบอลชราที่ได้แต่นอนมองลูกฟุตบอลเหี่ยวๆ อยู่ที่บ้าน แล้วเท้าเราก็จะถูกโซ่ล่ามไว้โดยไม่รู้ตัว ผมไม่อยากเป็นอย่างนั้น

ผมอยากเป็นนักบอลที่ได้วิ่งลงไปในสนาม ขนาดมาตรฐาน หญ้านุ่ม ตีเส้นชัดเจน มีกรรมการที่ซื่อสัตย์ยุติธรรม กรรมการที่ทำตัวเป็นกรรมการ นี่คือความหวัง ความฝัน แต่ในเมื่อมันไม่มี เราก็ทำเท่าที่ไหว

ตอนนี้มันยังแบเบาะมาก เป็น pilot project มากๆ แต่เราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำทุกปี และถึงแม้จะไม่มีจังหวัดไหนทำเลยก็ตาม ที่น่าน เราจะยืนยันว่าทำทุกปี และจะมองข้ามพรมแดน จะไม่เชิญแค่ศิลปินไทย แต่จะข้ามไปอินโดจีน ข้ามไปออสเตรเลีย ข้ามไปอเมริกา ข้ามไปยุโรป เราลบล้างพรมแดนทิ้ง โดยมองที่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นกวี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจเหมือนๆ กัน

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์, Nan Posie, poetic

คาดหวังอะไรจากงานในครั้งแรกนี้

เอาเข้าจริง งานนี้มันเล็กจ้อยมาก ถ้าเทียบในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจ แล้วก็อยู่ในดินแดนห่างไกล แต่ประเด็นที่อยากบอกคือ คุณอย่าประมาทสิ่งที่เล็กจ้อย ห่างไกล หรือดูไร้ค่าทางเศรษฐกิจ

บทกวีคือฤทธิ์มีดสั้น ถ้ามันปล่อยเข้าไปแล้วพุ่งเข้าคอเนี่ย จากเดิมที่มูลค่าหรือราคาของมัน บทนึงอาจได้สักสองสามร้อย หรือโชคดีหน่อยอาจได้พันนึง แต่ถ้ามันได้มาอยู่ในพื้นที่และวันเวลาที่เหมาะสม ได้มาเจอกับกลุ่มคนที่เหมาะสม อำนาจของมันคืออนันต์ ประเมินค่าไม่ได้ จากสามร้อย หนึ่งพัน มันกลายเป็นพันล้านหมื่นล้านได้

คนที่ไปงานนี้ จะได้ดู ได้เจออะไรบ้าง

เจอประสบการณ์ใหม่ เจอความรู้สึกใหม่ๆ เจอรสสัมผัสใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คุณหาไม่ได้ในสื่อกระแสหลัก หาไม่ได้ในทีวี และหาไม่ได้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แน่นอน มันไม่ได้ทำให้เงินเดือนคุณเพิ่ม ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไร แต่การมาอยู่ในพื้นที่ที่สะอาดสะอ้านแบบนี้ มันจะพาคุณไปสู่ดินแดนใหม่ในหัวใจคุณ ในรสสัมผัสของคุณ

คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงนักเขียน แต่อยากมีส่วนร่วม หรืออยากลองอ่านบทกวี จะเข้าไปแจมได้มั้ย

ยินดีมาก และขอบคุณมาก ที่เราวางไว้คือมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เราคัดเลือกและเชื้อเชิญมา อันนี้อยากเอ่ยไปถึงคนที่ไม่ได้รับการเชื้อเชิญนะครับ อย่าเพิ่งน้อยใจ เสียใจ เพราะเรามิอาจเชิญทุกคนได้ (หัวเราะ)

กลุ่มที่สองคือ เปิดรับสมัคร โดยให้ส่งบทกวีเข้ามา ไม่จำกัดประเภท ไม่จำกัดเนื้อหา แต่จะจำกัดเวลาเรื่องการอ่าน เพราะเราต้องบริหารเวที ถ้าคุณมาแล้วบอกว่าจะอ่าน 30 นาที เราคงให้ไม่ได้จริงๆ

เราอยากเชิญทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกอุดมคติทางการเมือง วงเล็บ ที่เคารพความเป็นมนุษย์ ย้ำนะครับว่า เปิดกว้างหมด แต่เราต้องวงเล็บไว้จริงๆ ว่า คุณต้องเคารพต่อความเป็นมนุษย์ ใครสนใจ สามารถส่งเข้ามาได้เลยครับ ที่เพจ Banban Nannan library and guest home หรืออีเมล [email protected] เปิดรับถึงวันที่ 7 พฤศจิกา

เรามองว่าสุดท้ายแล้วมันจะงดงาม ไม้ใหญ่ไม่เล็กมาอยู่ด้วยกัน มืออาชีพกับมือสมัครเล่นมาเจอกัน มันจะเกิดไดอะล็อกใหม่ๆ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ เราเชื่อเรื่องมนุษย์มาเจอกันจริงๆ

 

สมมติถ้ามีกวีที่สนับสนุนเผด็จการ เชียร์พลเอกประยุทธ์ พอจะรับพิจารณาได้มั้ย

ย้อนไปดูท่อนเมื่อกี๊ มีคำตอบชัดอยู่แล้ว สุดท้ายมันก็เชื่อมกับคำว่าสิทธิเสรีภาพ เชื่อมกับคำว่าคนเท่ากัน แต่เราเลือกใช้คำว่า ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ไม่เหยียบย่ำดูถูกความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

คุณน่าจะได้ฟังเพลง ประเทศกูมี แล้ว อยากรู้ว่าคิดเห็นอย่างไร

ดีใจที่วัยรุ่น คนหนุ่มสาวทำเพลงนี้ออกมา เนื้อหาไม่ใช่ว่าเยี่ยมหรือเลิศเลอทุกวรรค ทีเด็ดทีขาดของเพลงนี้คือการลุกขึ้นมาชนกับคนมีอำนาจ ด้วยมือเปล่าๆ ด้วยศิลปะ ด้วยเพลงเพลงเดียว ที่สำคัญ ทั้งเนื้อร้อง ดนตรี และการเพอร์ฟอร์ม รวมทั้งภาพในเพลง มันทำหน้าที่อย่างอัศจรรย์ ถูกที่ ถูกเวลา

เป็นหนึ่งในเพลงสังคมการเมืองที่มีพลังที่สุดในรอบทศวรรษ หลายๆ ครั้งฟังแล้วน้ำตาจะไหล ปีติที่พวกเขาทำงานศิลปะมาต่อสู้ หดหู่ที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่รู้ตัว ไม่ถอนตัว ไม่ยกปืนออกจากหัวประชาชน

แบบนี้ถือว่า poetic มั้ย

ถามอะไรแบบนั้น นี่คือโคตรของความ poetic และยืนอยู่บนพื้นฐานความจริง มีพลัง มีอำนาจ ขอคารวะในชั้นเชิงศิลปะ และความกล้าหาญของ RAD

ทิ้งท้าย ขอบทกวีสักบท แด่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ และแด่งาน Nan Poesie ที่กำลังจะมาถึง

ขนปืนมาทั้งกองทัพ

ขับรถถังบึ่งมาบดขยี้

กระหน่ำฟาดเก้าอี้เต็มเหนี่ยว

ฟาด ฟาด ฟาด ฟาด ร่างห้อยต่องแต่ง

ต่อให้คุณพยายามเข่นฆ่าเท่าไร

บทกวีก็ไม่มีวันตาย

ตัวมันเล็กจนแทบจะไร้รูป

เหนือกาล

ไม่เกี่ยงสถานที่

ปลุกขึ้นมาเมื่อไร ก็กลายเป็นยักษ์.

วรพจน์ พันธุ์พงศ์, Nan Posie, poetic


ติดตามรายละเอียดเทศกาล ‘Nan Poesie’ ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Banban Nannan library and guest home 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save