fbpx
ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3 : “ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3 : “ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ”

ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“… เราเห็นบรรดานักกฎหมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหารและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และพร้อมที่จะละทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา เพื่อตอบสนองความต้องการของการทำรัฐประหาร  เราเห็นศาลยอมรับบรรดาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย โดยแทบจะไม่มีการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาของบรรดาประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้น  สิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีผลทำลายคุณค่าของวิชานิติศาสตร์ลงอย่างถึงรากแล้ว ในที่สุดยังเท่ากับเป็นการทำร้ายราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐด้วย 

เราเห็นว่าวิชานิติศาสตร์ในรัฐเสรีประชาธิปไตย ต้องเป็นศาสตร์ที่มุ่งตรงไปที่ความยุติธรรมและความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ที่สำคัญวิชานิติศาสตร์ต้องเป็นวิชาการที่เป็นไปเพื่อราษฎร … การศึกษาวิชานิติศาสตร์อย่างมีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และใช้กฎหมายโดยซื่อตรงต่อหลักวิชาที่ยอมรับกันเป็นยุติว่ามีเหตุผลอธิบายได้ ไม่คำนึงถึงหน้าคน ย่อมเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย”

ถ้อยความข้างต้นคือเจตนารมณ์ ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งแถลงไว้ในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 ในวันก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ 19 กันยายน 2553 คล้อยหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 เพียงไม่กี่เดือน

สปิริตแห่งการตั้งคำถาม, การวิพากษ์วิจารณ์, การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง, การถือ ‘เหตุผล’ มีคุณค่าเท่าเทียมกับ ‘ความดี’ และการสร้างชุมชนทางวิชาการสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตย นิติรัฐ และความยุติธรรมให้งอกงามในสังคมไทย เพื่อใช้ความสว่างไสวทางสติปัญญาก้าวข้าม ‘ยุคมืด’ คือเบื้องหลังตัวตนและความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำกลุ่มคนสำคัญ

ตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ‘เสียง’ เล็กๆ ที่ไร้อำนาจการเมือง แต่หนักแน่นด้วยอำนาจความจริงและหลักวิชาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์ เป็น ‘เสียง’ ที่ทุกคนรอฟัง ไม่ว่าคุณจะสังกัดขั้วการเมือง อุดมการณ์ ชนชั้น หรืออาชีพใดก็ตาม

การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร | การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 | การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ | กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย | การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ | การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงทางวิชาการเรื่องสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และองค์กรอิสระในสังคมการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง | การแถลงจุดยืนกรณีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ | แถลงการณ์เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สองวันก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ | ฯลฯ  คือ ‘เสียง’ ที่ผ่านมาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์

น่าเสียดายที่หลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ‘เสียง’ ของคณะนิติราษฎร์ต้องเงียบลง โดยเฉพาะวรเจตน์ที่โดนคดีในศาลทหารเป็นชนักปักหลัง

“ผมไม่ได้เสียดายอะไร เพราะในเวลาที่ควรทำ เราก็ได้ทำอะไรไว้เต็มที่เท่าที่เท่าที่ทำได้แล้ว” วรเจตน์กล่าวถึงชะตากรรมของเขาและคณะนิติราษฎร์

“หากกฎหมายที่ผมได้นำเสนอไปไม่ต้องตรงกับการปกครองในรัฐตุลาการที่อภิชนเป็นใหญ่ ปัญหาย่อมไม่ใช่อยู่ที่หลักกฎหมายที่ผมได้เสนอไว้ แต่อยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศว่าประเทศนั้นปกครองกันในระบอบอะไร มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้การปกครองในประเทศนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และทำอย่างไรที่จะให้ระบบการปกครองของประเทศ เป็นการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานของความยุติธรรม (นิติรัฐ) และเป็นการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ (ประชาธิปไตย) อย่างแท้จริง” วรเจตน์เคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ‘จุดไฟในสายลม’ ของเขา เมื่อปี 2552

สิบปีผ่านไป นิติรัฐและประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้นในชีวิตของสังคมไทยเสียที ส่วนชีวิตของวรเจตน์ก็ … “สอนหนังสือ ขึ้นศาลทหาร ไปโรงพยาบาล วนเวียนอยู่แบบนี้” เจ้าตัวเล่าให้เราฟัง

ในห้วงเวลาที่ปี 2562 เพิ่งเริ่มต้น ซีรีส์ ‘มอง 2019’ ของ 101 ชวน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลับมาเปิด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ อีกครั้ง เต็มอิ่มสามคาบเรียน เพื่อทบทวนว่า ผ่านทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาจนถึงวันนี้ ตัวเขามีมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง และมองอนาคตการเมืองไทยอย่างไร ทั้งโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยาวๆ ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร การฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทมติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคม

คาบที่ 3

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ศัพท์สำคัญคำหนึ่งในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งและเปลี่ยนผ่านทางการเมือง คือ ‘เนติบริกร’  นักกฎหมายอย่างอาจารย์คิดอย่างไรกับคนกลุ่มนี้

จริงๆ แล้ว คำว่า ‘เนติบริกร’ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ใช้เรียกนักกฎหมายที่ทำงานให้คุณทักษิณ แต่ต่อมาคำนี้ถูกใช้เรียกนักกฎหมายที่ทำงานให้กับคณะรัฐประหาร ซึ่งหลายคนก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน นี่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกนี้เป็นเนติบริกรจริงๆ

ผมไม่อยากใช้คำว่า ‘เนติบริกร’ มันเพราะเกินไป อยากเรียกว่า ‘บ๋อยกฎหมาย’ มากกว่า แต่ก็กลายเป็นจะไปดูถูกอาชีพของเขาไปอีก เอาเป็นว่าช่วงหลังคนกลุ่มนี้คือเนติบริกรรัฐประหาร ถ้าคุณเป็นเนติบริกรราษฎรหรือเนติบริกรประชาชน มันก็น่าชื่นชม แต่ไม่ใช่

 

ผลงานของเหล่าเนติบริกรรัฐประหารส่งผลต่อระบบกฎหมายไทยอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วเนติบริกรไม่ได้ทำกฎหมายด้วยหลักกฎหมาย เขาเอาวัตถุประสงค์ของผู้ถืออำนาจเป็นหลัก นั่นเท่ากับว่าเขากำลังละเลยหลักการสำคัญในตัวระบบกฎหมาย เขาเขียนกฎหมายเพื่อสนองผู้มีอำนาจในห้วงเวลาหนึ่งมากกว่าคำนึงว่าจะวางหลักวางฐานในระบบกฎหมายอย่างไรในระยะยาว ผมไม่ได้บอกว่าความประสงค์ของผู้ถืออำนาจไม่มีความสำคัญเลย สำคัญแน่ๆ ถ้าผู้ถืออำนาจมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจอย่างเดียวไม่พอ มันต้องไปด้วยกันได้กับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายด้วย

ที่น่าหัวเราะและขมขื่นคือ เนติบริกรจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมือกฎหมายชั้นนำ เขารู้สึกว่าผลงานการเขียนกฎหมายแบบพวกเขา มันสุดยอดและเป็นเลิศ พวกเรียนหนังสือแบบผมต่างหากเป็นพวกชอบลอกต่างประเทศมา แต่พวกนี้เขาคิดไปเอง พวกเขาต่างหากที่ลอกของต่างประเทศแล้วดัดแปลงโดยขาดความรู้หรือดัดแปลงโดยไม่สนใจว่าหลักเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นมีเหตุผลเบื้องหลังอย่างไร มุ่งแต่ตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มผู้ถือครองอำนาจในระยะสั้นเท่านั้น ผมไม่เคยเห็นนักกฎหมายประเทศไหนมาเลียนแบบการเขียนกฎหมายของพวกเขาไปใช้อย่างที่คุยเลย

ถ้าวิเคราะห์ผลงานของเนติบริกรเหล่านี้ และวิจารณ์อย่างเต็มที่ จะเห็นว่า การเขียนกฎหมายบางเรื่องสะท้อนว่าเขาไม่มีความรู้ บางคนคิดว่าขอแค่มีอำนาจอย่างเดียว แล้วจะเนรมิตทุกอย่างให้เป็นกฎหมาย ใช้อำนาจเสกกฎหมายขึ้นมา เขียนอะไรก็ได้ ถามว่าเราจะเรียกคนแบบนี้ว่าคนมีความสามารถได้อย่างไร เหมือนนนทกที่ได้นิ้วเพชรจากพระอิศวร ตัวนนทกไม่ต้องมีความสามารถ แต่ใช้อำนาจพิเศษชี้นิ้วเปรี้ยงไปที่ใครก็ตายได้

ทักษะการเขียนกฎหมายของเนติบริกรไทยก็เป็นแบบนี้ เขาเขียนกฎหมายแล้วมีผลบังคับใช้เพราะเขามีอำนาจ ถ้าเขียนเก่งเขียนดี ทำไมเขียนกฎหมายเอง สุดท้ายก็ต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ผลงานของตัวเองอีก นี่หากอยู่ในยุครัฐสภาปกติ ถ้าออกกฎหมายแบบนี้ ต้องแก้ใหม่ตลอด มันไม่ยุ่งหรือ

อาจารย์บอกว่าเนติบริการไม่ได้ใช้หลักเหตุผลในการเขียนกฎหมาย แล้วเขาใช้อะไร

ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเขียนจากความกลัว สังคมทั้งหมดถูกทำร้ายจากความกลัวการเปลี่ยนแปลง รัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาเกิดจากความพยายามในการทำให้ ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ดำรงอยู่ต่อ และแข็งแรงมากขึ้น เพราะเผชิญสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำร้ายตัวระบอบ เลยต้องยึดอำนาจเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลายระบอบ แต่ว่าวิธีการที่เขียนเพื่อป้องกันกลับทำร้ายสังคมทั้งหมด

มันเป็นการมองแบบคับแคบ เป็นความเห็นแบบคนแก่ที่กำลังจะจากโลกนี้ไป แล้วอยากให้โลกที่แม้ตัวเองตายไปแล้วก็ยังคงเป็นแบบนี้ แทนที่จะคิดในแง่ที่ว่าวางหลักไว้ในกฎหมาย แล้วปล่อยให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานปรับเปลี่ยนไป

ผมเคยคุยกับเนติบริกรบางคน บางครั้งได้ความรู้สึกว่าพวกเขาคิดคล้ายตัวเองเป็นพระเจ้าที่สามารถกำหนดความเป็นไปของสรรพสิ่งได้ตามใจตน

สำหรับเนติบริกรพวกนี้ เขารู้สึกว่าเขียนอะไรก็ได้ เขาถูกหมด เกณฑ์ต้องเป็นไปอย่างที่เขาเขียน บังเอิญว่าบ้านเรามีรัฐประหารเข้ามาสนับสนุนคนเหล่านี้เป็นระยะ บางคนเป็นเนติบริกรมาตั้งหลายสิบปีแล้วไม่เคยหยุด ทำงานสนองระบบรัฐประหารมาตั้งแต่วัยหนุ่ม บางคนก็สืบสายโลหิตมาจากรุ่นพ่อที่เคยเป็นเนติบริกรมาก่อน

ในแง่หนึ่งมันเป็นเทรนด์ของคนเรียนกฎหมายด้วย หลายคนอยากเป็นเนติบริกรเพราะดูเหมือนประสบความสำเร็จและมีอำนาจ  เราจะเห็นว่าวิชากฎหมายสัมพันธ์กับอำนาจ กฏหมายกับอำนาจมันอยู่ด้วยกัน ไม่มีหรอกกฎหมายที่ไม่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นวิชาชีพกฎหมายอาจจะเป็นวิชาชีพที่สง่างามที่สุดและอัปลักษณ์ที่สุดในเวลาเดียวกัน ปัญหาคือมันจะไปด้านสง่างามหรืออัปลักษณ์ สำหรับผม เรากำลังไปสู่ด้านอัปลักษณ์มากกว่า

มีคนบอกว่าคุณธรรมของนักกฎหมายจะช่วยให้นักกฎหมายป้องกันด้านอัปลักษณ์ต่างๆ ได้ มันไม่จริงหรอก เพราะต้องถามว่าชุดคุณธรรมของคุณเป็นแบบไหน มันมีการช่วงชิงการให้ความหมายตลอดเวลาว่าอย่างไรถึงเรียกว่าเป็น ‘คนดี’ หรือมีคุณธรรม

สังคมไทยให้ความหมายของคนดีแบบฉาบฉวยเกินไป ความดีของเราบางครั้งมีลักษณะของความเห็นแก่ตัว คือมองที่ตัวเองและการช่วยเหลือพวกพ้อง การเป็นคนดีกลายเป็นการเบียดขับคนอื่น เราไม่ค่อยนิยามคนดีในแง่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมหรือการมีจิตใจดูแลช่วยเหลือผู้อื่นที่ไม่ใช่พรรคพวกญาติพี่น้อง

นิยามคนดีของสังคมไทยหลายเรื่อง เช่น การดูแลพ่อแม่ในยามชรา ในสังคมที่ระบบสวัสดิการยังไม่ดีนักแบบบ้านเรา มันควรเป็นเรื่องปกติที่คนควรทำ ไม่จำเป็นต้องเชิดชูเป็นพิเศษ และควรหาทางทำให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสวัสดิการที่รัฐเข้ามาดูแล  การมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ อะไรพวกนี้ เป็นสิ่งที่พึงทำให้เป็นปกติธรรมดาที่สังคมอารยะไหนๆ เขาก็ทำกัน การยกย่องเชิดชูสิ่งเหล่านี้เป็นพิเศษ มันสะท้อนในมุมกลับว่าสังคมเราขาดหรือบกพร่องในสิ่งเหล่านี้ และบางครั้งมันเหมือนทำความดีเอาไว้โชว์

แกนกลางของคำว่า ‘คนดี’ ควรถูกให้ความหมายใหม่ ไม่ใช่ดีเพียงเพราะถือศีล ฟังธรรม แต่ต้องคิดถึงอะไรที่เป็นเรื่องส่วนรวม เห็นโครงสร้างของสังคมโดยเฉพาะในส่วนที่อยุติธรรม และพยายามช่วยลดทอนความอยุติธรรมเหล่านั้น พร้อมๆ กับมีคุณธรรมในทางประชาธิปไตยด้วย หมายความว่าคนที่ดีในทางส่วนตัว อาจจะเลวในทางส่วนรวมก็ได้ ถ้าไม่รู้จักการเคารพสิทธิเสียงของคนอื่น

ปัญหาของเราคือ ‘คนดี’ มีที่ทางเป็นสถานะพิเศษไปแล้วในระบบของเรา เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็จะบอกว่าคนนี้เป็นคนดี ไม่ว่าผู้พิพากษาหรืออาจารย์ แล้วกลายเป็นว่าการเป็นคนดีกลับไปสร้างความชอบธรรมในการกระทำต่างๆ ให้กับเขา หลงคิดกันว่าเพราะเป็นคนดีจึงไม่ควรถูกโต้แย้ง ตัวเองก็หลงคิดด้วยว่าเมื่อเราเป็นคนดีแล้ว ไม่ว่าจะให้เหตุผลอะไรก็ตาม ตัวเองก็จะถูกทุกอย่าง ทั้งๆ ที่คนๆ นั้นอาจไม่ใช่คนดีก็ได้ และต่อให้เป็นคนดีจริง ก็ผิดได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เรายังก้าวข้ามไปไม่ได้ ผมไม่ได้อยู่ในวงการอื่น จึงไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่วงการกฎหมายนี่ดูจะเยอะอยู่

ในทางกฎหมาย คุณธรรมจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาคนดีที่ปฏิบัติตัวดีมาเป็นผู้พิพากษา และด้วยเหตุนี้จึงอบรมธรรมะให้แก่ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับวินัยอยู่แล้ว สำหรับคุณธรรมนั้น หลายเรื่องซ่อนอยู่ในหลักกฎหมายนั้นเอง เช่น คุณต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการตัดสินคดี ถ้าคุณเคยแสดงความเห็นอันสะท้อนว่าคุณไม่เป็นกลางในเรื่องนั้นแล้ว คุณจะมาตัดสินคดีไม่ได้ แล้วเวลาเขียนคำพิพากษา คุณต้องแสดงเหตุผลทางกฎหมาย ไม่ใช่ยกเอาธรรมะตามคติความเชื่อของคุณมาตำหนิประณามบุคคล แต่สำหรับสังคมไทย เรามักจะให้คุณค่าเรื่องคนดีแบบง่ายๆ เป็นหลัก คิดว่าตีความไปตามความดีในตัวเราเอง แล้วผลก็จะออกมาถูกต้อง ระบบก็เลยเป็นแบบนี้ นับวันยิ่งแข็งและตึงมากขึ้น มีเหยื่อเข้ามารับบาปเคราะห์จากระบบแบบนี้มากยิ่งขึ้น

เท่าที่ผมเห็น ผมไม่คิดว่าระบบศาลไทยจะอนาทรร้อนใจเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ในแง่ตัวบุคคล ผมรู้จักผู้พิพากษาหลายคนที่เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้า เป็นคนดีในความหมายที่มีความคิดความอ่าน มีจิตใจในทางประชาธิปไตย คิดถึงส่วนรวม แต่กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก น้อยเกินไปที่จะกำหนดทิศทางใหม่ บางคนแต่เดิมตอนที่ยังไม่เข้าใจอะไรก็เป็นแบบที่เป็นกันส่วนใหญ่ แต่พอเข้าใจอะไรแล้วก็เปลี่ยน ซึ่งน่าชื่นชม ทีนี้ถามว่าคนเหล่านี้อยู่ในระบบได้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าไม่ถึงขนาดเป็นอันตราย ไม่แสดงออกมากนัก ระบบก็เหมือนปล่อยให้อยู่ไปนั่นแหละ การมีคนแบบนี้อยู่ในระบบอาจจะทำให้ระบบดูดีขึ้นมาบ้าง ให้คนคิดว่าระบบนี้ก็ไม่แย่ คนแบบนี้ก็ยังอยู่ในระบบได้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ถ้าเขียนประวัติศาสตร์ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ในช่วง 12 ปีแห่งความขัดแย้งทางการเมือง อาจารย์จะเขียนอย่างไร

ตุลาการภิวัตน์ถูกเสนอขึ้นมาในบริบทของการที่เห็นว่ามันมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามากระทบกับระบอบใหญ่ แล้วการจัดการสิ่งแปลกปลอมไม่ควรกระทำโดยกายภาพ กระทำโดยผ่านกลไกของการรัฐประหารโดยทันที แต่ควรกระทำผ่านอำนาจบางประการที่แนบเนียนและดูจะเบากว่า คืออำนาจตุลาการ

ผมมองว่า ตุลาการภิวัตน์อย่างน้อยที่เสนอขึ้นในบริบทการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเป็นการเสนอให้ศาลเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง เดิมทีศาลก็มีส่วนเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองอยู่แล้ว แต่อยู่ในวงนอก คำพิพากษาของศาลมีผลในทางการเมือง แต่ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง ตุลาการภิวัตน์คือการผลักศาลเข้ามาเป็นกลไกทางการเมืองโดยตรง แสดงออกผ่านคำพิพากษาของศาลในคดีสำคัญๆ ที่มีผลเปลี่ยนทิศทางหรือขั้วอำนาจทางการเมือง ทั้งๆ ที่ในหลายกรณี ผมเห็นว่าศาลไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ แต่แนวคิดตุลาการภิวัตน์สร้างความชอบธรรมให้ศาลขยายบทบาทเข้าไปในการเมืองมากขึ้น ผ่านข้ออ้างว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเอาศาลเข้ามา

นี่เป็นความชาญฉลาดของคนที่เสนอวิธีนี้ขึ้นมา แต่ความคิดนี้เป็นความคิดที่สั้น เพราะมุ่งขจัดคนหรือขั้วการเมืองที่ตนไม่ชอบให้พ้นไปจากการเมืองเท่านั้น การใช้วิธีการเช่นนี้ในระยะยาวจะเป็นการทำลายการปกครองโดยกฎหมายลงไป เพราะเมื่อศาลกลายเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง ก็จะมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน  สิ่งที่ต้องสูญเสียไปจากตุลาการภิวัตน์คืออะไร เท่าไหร่ และหลักการที่สูญหายไป จะเอาคืนกลับมาอย่างไร นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่คนเสนออะไรพวกนี้ขึ้นมาไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะไม่นานพวกเขาก็จะลาโลกไป แต่คนรุ่นหลังต้องรับมรดกปัญหาแบบนี้มาแก้ ซึ่งไม่ควรเลย

อีกประเด็นหนึ่ง ผมมองว่าตุลาการภิวัตน์ถูกเสนอขึ้นมาในตอนแรกเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองบางอย่าง ซึ่งแน่นอนว่ามันได้ดั่งใจบ้าง ไม่ได้ดั่งใจบ้าง เพราะว่าการกระทำของศาลโดยลักษณะของอำนาจนั้นเป็นการใช้อำนาจในเชิงรับ ซึ่งต้องมีการชงคดีเข้าไปให้ศาลตัดสิน แต่ที่สุดแล้วมันทำได้ไม่หมด ถึงต้องมีรัฐประหารในปี 2549

หลังรัฐประหารปี 2549 ปรากฏว่าสิ่งแปลกปลอมในระบอบกลับฟื้นขึ้นมาอีก ศาลก็ต้องกลับมาทำงานใหม่ พอถึงจุดหนึ่งมันไม่พออีกแล้ว ถึงต้องใช้กำลังทางกายภาพ ซึ่งก็คือทางทหาร ทหารกับศาลจึงเป็นตัวแสดงสำคัญในทางการเมืองในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาอย่างไม่มีข้อกังขาเลย

ศาลไม่เคยรับบทบาทหลักในลักษณะนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้บทบาทหลักเป็นหน้าที่ของทหารอย่างเดียวจนกระทั่งรัฐประหารปี 2549 แน่นอนว่ามันมีความสูญเสียทางหลักการ พร้อมๆ กับอีกด้านหนึ่งคือ มันเป็นการเพิ่มบทบาทอื่นๆ ของศาลในทางอ้อม

สิ่งที่เราเห็นคือ ศาลกลายเป็นกลไกทางการเมือง เพราะการใช้อำนาจทางกฎหมายขององค์กรอื่นมีการโต้เถียงกันได้ แต่การใช้กฎหมายของศาลแตกต่างจากองค์กรอื่นตรงที่ไม่มีการโต้เถียง มันจบ ใครที่จะวิจารณ์ศาลก็ต้องระวังเรื่องการละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นศาล เพราะฉะนั้น การตัดสินผ่านคำพิพากษาของศาลช่วยกดความไม่พอใจได้ในระดับหนึ่ง ไม่ให้ปะทุขึ้น และถ้าใครแสดงออกในลักษณะที่ถูกมองว่าล้ำเส้น ก็อาจจะต้องพบกับสภาพบังคับทางกฎหมายผ่านการฟ้องและการตัดสินคดี

ตุลาการภิวัตน์ทิ้งมรดกอะไรไว้ในสังคมการเมืองไทย

ผลที่ตามมาของตุลาการภิวัตน์ คือการขยายอำนาจของศาลในมิติอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน เราต้องไม่ลืมว่าศาลไทยเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การบริหารงานบุคคลเลยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผมไม่ได้บอกว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในเรื่องเหล่านี้เลย มีเหมือนกัน แต่ในภาพรวมมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และไม่ได้มีหลักคิดในแง่ของความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นฐาน  เหตุผลมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือคาถาเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ คณะราษฎรเองก็ไม่ได้แตะอำนาจตุลาการเท่าไหร่นัก อาจจะเพราะคิดว่าไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ซึ่งมันไม่ถูก อันที่จริงควรจะต้องปรับเปลี่ยนและปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยลงไปในวงการกฎหมาย รวมทั้งต้องปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการศึกษากฎหมายและการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนระบบบริหารบุคคลของผู้พิพากษาตุลาการด้วย

ศาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิด ซึ่งส่งผลต่อการตีความตัวบท  ตัวบทเป็นหนังสือ คุณจะตีความตัวบทอย่างไรขึ้นอยู่กับระบอบที่คุณสังกัดและความเชื่อของคุณ สิ่งเหล่านี้ไม่แสดงให้เห็นผ่านตัวบทหรอก แต่จะแสดงให้เห็นผ่านหลักการตีความ หลัง 2475 มันต้องเป็นกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่กฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ผมคิดว่าวิธีคิดของผู้พิพากษาจำนวนไม่น้อยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย ในข่วงแรกมันอาจจะไม่แสดงอะไรออกมามากนัก เพราะศาลจำกัดตัวเองอยู่ที่ข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเป็นหลัก แต่ในช่วงหลังเราจะเห็นได้ชัด

นอกจากนั้น วิธีคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก ทำให้ศาลถูกมองว่าเป็นของสะอาด ศาลสะอาดหรือเปล่า เราไม่รู้จริงๆ หรอก เราจะรู้ได้ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี แต่ในทางจิตวิทยา เมื่อการเมือง ซึ่งหมายถึงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารดูสกปรก สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือฝ่ายตุลาการที่ดูสะอาด มันเป็นธรรมชาติที่จะถูกมองแบบนั้น และศาลก็มองแบบนั้นด้วย มีการอบรมกล่อมเกลากันมาแบบนี้ในวงการ มันคือการกล่อมเกลากันมาว่า เราสะอาด บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน

นักกฎหมายมีชื่อบางคนถึงกับเคยพูดว่า ผู้พิพากษาแทบจะเป็นอรหันต์กันอยู่แล้ว มันคือการหลงตัวเองและการที่ไม่เคยถูกตรวจสอบ ในอดีตศาลได้รับเงินเดือนไม่สูงก็จะมีการครองตนอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สภาพนั้นเปลี่ยนไปมากแล้ว หลังจากมีการขึ้นเงินเดือนให้ศาล และเราจะเห็นว่าศาลไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น มันเกิดกรณีอย่างการสร้างบ้านพักผู้พิพากษาที่เชียงใหม่ เกิดกรณีการกำหนดเบี้ยประชุมศาล ถึงขนาดว่าออกระเบียบไปก่อนแล้วออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาทีหลัง และไม่มีใครตรวจสอบด้วยว่าตกลงระเบียบที่ออกไปก่อนแล้วนั้น มีฐานอำนาจในทางกฎหมายหรือไม่ หรือถูกต้องหรือไม่

ถามว่าอำนาจของศาลออกมาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร มันเกิดขึ้นพร้อมกับบริบทของตุลาการภิวัตน์ ในขณะที่คุณใช้ตุลาการภิวัตน์เป็นเครื่องมือทางการเมือง มันได้เกิดอำนาจอีกแบบหนึ่งที่มาด้วยกัน

เมื่ออำนาจศาลขยายออกไปตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ในขณะที่ไม่มีการตั้งคำถามถึงระบบตรวจสอบ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากยิ่งขึ้น ตอนนี้เรานึกอะไรไม่ออกก็ให้อำนาจศาลไปเลย เช่นอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่พยายามอธิบายกันว่ามันไม่มีแล้วการถอดถอน มีแต่การให้พ้นจากตำแหน่งโดยอำนาจของศาล ซึ่งเนื้อแท้ในความเห็นผม มันก็คือการถอดถอนนั่นแหละ แต่เปลี่ยนจากวุฒิสภามาเป็นศาล ถามว่าทำไมเป็นศาล ก็อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองว่าไม่มีใครกล้าเถียง พอศาลสั่งแล้วมันจบ อันนี้เราไม่รู้แน่นอนว่าผู้พิพากษาส่วนใหญ่คิดอย่างไร ศาลอาจจะไม่อยากได้อำนาจแบบนี้ก็ได้ แต่ในบริบททางการเมืองสิบกว่าปีมานี้ แม้หากไม่อยากได้ แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็อยากจะจัดให้

นี่เรายังไม่ได้พูดถึงมิติของประชาธิปไตย ซึ่งถ้ามองจากมิตินี้จะยิ่งเห็นปัญหามากขึ้นอีกว่า ขนาดศาลในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ผู้พิพากษาระดับล่างมาจากการเลือกตั้ง และให้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดมาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งให้การรับรอง การใช้อำนาจของผู้พิพากษายังไม่เป็นแบบนี้เลย ทั้งกรณีของสหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือญี่ปุ่น ก็มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าไทย ของเราเป็นระบบปิด อำนาจมาก ตรวจสอบยาก ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารของคณะนิติราษฎร์ จะสามารถเปลี่ยนวิธีคิดและแนวปฏิบัติของตุลาการได้หรือไม่

เรื่องผู้พิพากษากับรัฐประหารต้องพูดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ผมคิดว่าข้อเรียกร้องบางเรื่องที่มีต่อผู้พิพากษาหรือศาลเป็นข้อเรียกร้องซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผมเคยพูดเรื่องนี้แล้วมีคนมองว่าทำไมผมถึงพูดเหมือนช่วยปกป้องศาล นั่นคือกรณีการฟ้องศาลให้เอาผิดคณะรัฐประหารฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

เราลองดูในทางข้อเท็จจริง ตอนฟ้องคดีต่อศาล เราไม่ได้ฟ้องวันยึดอำนาจ แต่มันเกิดขึ้นหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีหลังจากนั้น ซึ่งการยึดอำนาจสำเร็จไปแล้ว และคณะรัฐประหารยังครองอำนาจอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าจะฟ้องวันยึดอำนาจเลยก็ตาม ก็ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องอีก ถามว่าถ้าศาลรับฟ้องจะเกิดอะไรขึ้น ศาลจะไปพิพากษาให้คนที่ปกครองประเทศอยู่เข้าคุกได้อย่างไร ทำอย่างนั้นศาลก็โดนปลดก่อน

การเรียกร้องให้ศาลลุกขึ้นสู้กับคณะรัฐประหาร ในสภาพความเป็นจริงที่อำนาจของศาลน้อยกว่าคณะรัฐประหาร จะให้ศาลลงโทษคณะรัฐประหารคงเป็นการยาก ผมก็เคยคิดว่าทำไมศาลไม่ทำอะไรบ้าง แต่เมื่อเห็นรัฐประหารสองครั้งหลัง ผมคิดว่าเราอาจจะต้องแยกกรณีที่ศาลทำได้และกรณีที่ศาลยากจะทำได้ ไม่ใช่ว่าผมเข้าข้างศาล แต่เราต้องสมมติตัวเราด้วยว่าถ้านั่งอยู่ในสถานะแบบนั้น เราจะทำได้ไหม

แน่นอนว่าเป็นไปได้ที่ผู้พิพากษาบางคนอาจจะคิดว่าถ้าคดีมาถึงตัวเมื่อไหร่ ตัวเองจะตัดสินลงโทษคณะรัฐประหารแม้คณะรัฐประหารจะครองอำนาจอยู่ก็ตาม ตัดสินเสร็จแล้วก็ลาออกเลย หรือไม่งั้นก็รอถูกปลด เพื่อปลุกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมก็ขออนุโมทนา แต่ในความเป็นจริงเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะแค่ศาลรับฟ้อง คณะรัฐประหารที่ครองอำนาจอยู่คงต้องทำอะไรบางอย่างแน่ๆ

นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่าศาลไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาเอง มันต้องใช้กลไกทางบริหาร เพราะฉะนั้น ส่วนนี้มันเป็นหน้าที่ของประชาชนในการต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือไม่อย่างนั้นก็ผลักดันให้เกิดการลบล้างผลพวงรัฐประหารก่อน ทำให้การนิรโทษกรรมเป็นโมฆะก่อน แล้วนำตัวผู้ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่จะให้ศาลเป็นฝ่ายทำเลย คงยาก เพราะในช่วงที่คณะรัฐประหารมีอำนาจ เขามีอำนาจน้อยกว่า

แต่ถ้าถามว่าศาลถึงขนาดทำอะไรไม่ได้เลยไหม ผมก็คิดว่าไม่ขนาดนั้น แม้ในสภาวะของการรัฐประหาร เราสามารถเรียกร้องจากศาลได้แน่ๆ ในบางเรื่อง

ถ้าคณะรัฐประหารใช้กลไกศาลเพื่อสร้างความชอบธรรม เช่น แจ้งความดำเนินคดีให้ความผิดตกอยู่กับคนที่ขัดคำสั่งของคณะรัฐประหาร ศาลอาจจะต้องพิจารณาว่าตัวเองสามารถผ่อนคลายผลของการรัฐประหารได้ขนาดไหน ในช่วงที่รัฐประหารสำเร็จทันที ศาลอาจจะขยับตัวยาก แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็อาจจะง่ายขึ้น และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ก็อาจจะยิ่งง่ายขึ้นอีก เพราะศาลมีเทคนิคในทางกฎหมายที่จะช่วยตีความลดทอนความอยุติธรรมที่เกิดจากคำสั่งของคณะรัฐประหารได้มาก นี่เป็นสิ่งที่เราต้องเรียกร้องให้ศาลทำ ยิ่งเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจไปแล้ว แต่ประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารยังอยู่ ศาลก็ต้องกล้าตัดสินว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารขัดรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้

แต่ถ้าศาลตัดสินว่า ถึงแม้คณะรัฐประหารซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์หมดอำนาจไปแล้ว แต่ประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารยังคงอยู่ และศาลบังคับใช้ประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารนั้นอย่างเต็มที่ ทั้งที่มีหนทางที่จะชี้ว่าประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีแบบนั้นควรถูกตำหนิ เว้นแต่ว่าการไม่บังคับใช้เลยจะก่อให้เกิดความวุ่นวายบางอย่าง ก็อาจจะยอมบังคับใช้ แต่ก็ควรบังคับใช้ให้เท่าที่ยุติธรรม หรือเพื่อขจัดความวุ่นวายจากการไม่มีกฎเกณฑ์ใช้บังคับเท่านั้น

อาจารย์เสนอยุทธศาสตร์อะไรที่ทำให้ศาลยอมเปลี่ยนจารีต ถอยห่างจากระบบรัฐประหารมากขึ้น 

บางท่านเสนอให้ออกกฎหมายว่า ถ้ามีการยึดอำนาจ แล้วมีคนไปยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลต้องรับฟ้อง แต่ผมคิดว่าวิธีนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ เขาก็จะฉีกกฎหมายที่คุณเขียนอยู่ดี รัฐธรรมนูญปี 2517 มาตรา 4 บัญญัติว่าการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ แต่พอยึดอำนาจได้ เขาก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญเสียก่อนเลย ถ้าเป็นแบบนี้แล้วใครเสนอให้ดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารซึ่งฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว คิดหรือว่าศาลจะกล้าเสี่ยงกับปืน

อย่าว่าแต่การเรียกร้องกับศาลเลย ดูนักการเมืองที่ถูกคณะรัฐประหารเรียกไปรายงานตัว เขายังไปกันเลย แล้วจะบอกให้ศาลไปสู้กับรัฐประหาร เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นไปได้ยาก ในแง่นี้เราต้องเห็นใจผู้พิพากษาซึ่งถึงแม้อาจจะต่อต้านคัดค้านรัฐประหารเช่นกัน ก็อาจไม่กล้าเสี่ยง  แต่เราสามารถเรียกร้องว่าผู้พิพากษาอย่าไปสนับสนุนส่งเสริมหรือสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร อะไรที่คุณตีความได้ ก็ช่วยตีความในทางผ่อนคลายความเข้มข้นในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารลง คุณอย่าไปสร้างความชอบธรรม อะไรที่คุณลดทอนความชอบธรรมได้ คุณก็ทำไป เพื่อช่วยให้สังคมกลับสู่หนทางแห่งสิทธิเสรีภาพได้เร็วขึ้น

ถ้าจะมีอะไรที่ผมรู้สึกแย่กับศาลหรือผู้พิพากษาบางท่าน ก็คือการเขียนคำพิพากษาสร้างความชอบธรรมว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรทำ หรือการทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีแล้วเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในอนาคตหากมีการลบล้างผลพวงรัฐประหารได้สำเร็จ ต้องเอาผู้พิพากษาเหล่านี้มาสอบและให้ท่านชี้แจงว่าทำไมถึงเขียนแบบนั้น ทั้งที่เห็นแล้วว่าการรัฐประหารเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา

ผมไม่ได้เรียกร้องให้ผู้พิพากษาตัดสินลงโทษคณะรัฐประหารหลังยึดอำนาจสำเร็จ โดยที่คณะรัฐประการยังครองอำนาจอยู่ แต่ถ้าคุณเขียนคำพิพากษาว่ามีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารและประเทศต้องการความสงบหรืออะไรก็ตามที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ผมเห็นว่ามันใช้ไม่ได้ เท่ากับว่าตัวคุณในฐานะที่เป็นผู้พิพากษา ซึ่งต้องรักษากฎหมาย กลับเห็นด้วยกับรัฐประหารและส่งเสริมให้การรัฐประหารเจริญงอกงามขึ้น ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

โดยสรุป ยุทธศาสตร์ของผมคือ การเรียกร้องการต่อต้านเชิงรุก (active resistance) จากศาลเป็นเรื่องยาก แต่เราร่วมกันเรียกร้องการต่อต้านเชิงรับ (passive resistance) จากศาลได้ นั่นคือ เรียกร้องให้ศาลตีความกฎหมายในแง่ของการพยายามคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้มากที่สุด ในการตัดสินคดีกรณีที่มีการฟ้องว่าการสั่งการของคณะรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีดังกล่าวเกิดมีรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความเป็นที่สุดของคำสั่งคณะรัฐประหารไว้ ถ้าไม่สามารถตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ ศาลก็อาจจะต้องจำหน่ายคดี แต่ก่อนจำหน่ายคดีควรให้เหตุผลไว้ในคำพิพากษาว่า ตกลงแล้วหากไม่มีรัฐธรรมนูญรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความเป็นที่สุดของคำสั่งคณะรัฐประหารไว้ การสั่งการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กล่าวคือ ผู้พิพากษาควรทิ้งอะไรไว้บ้างในคดี เพื่อหวังว่าในอนาคต เรื่องนี้จะถูกรื้อกลับมาอีก บางคดี เช่นคดีอาญา ศาลควรจะถือเป็นหลักว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนคำสั่งคณะรัฐประหาร ศาลจะให้ประกันตัวเป็นหลัก ถ้าคณะรัฐประหารไม่ชอบใจ เขาก็จะต้องตั้งศาลของเขาขึ้นมาเอง ซึ่งจะมีผลลดทอนความชอบของการบังคับใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารอีกทางหนึ่ง

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ผมไม่ได้เรียกร้องให้ศาลไปเป็นด่านหน้าในการสู้กับคณะรัฐประหาร โดยเอาหน้าที่การงานไปเสี่ยงกับอาวุธปืน แต่ศาลต้องคิดลงมือทำอะไรบ้าง ใช้เทคนิคทางกฎหมายผ่อนคลายความไม่ยุติธรรม ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย แต่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนอยู่ ศาลทำบทบาทตุลาการนั่นแหละ แต่ในทางที่ยึดมั่นในหลักกฎหมายที่เป็นธรรมและถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมอยากยกตัวอย่างคดี คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และต่อมาถูกจับและถูกดำเนินคดี คดีนี้ในชั้นศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 500 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน คดีนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้นำประกาศ คสช. ที่กำหนดโทษไว้หนักกว่ามาใช้บังคับ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเพิ่มเติมย้อนหลัง หลังจากที่ คสช. มีคำสั่งเรียกรายงานตัวแล้ว และมุ่งหมายใช้บังคับเฉพาะบุคคล เห็นได้ชัดว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพยายามใช้หลักกฎหมายลดทอนความรุนแรงของการกำหนดโทษของคณะรัฐประหารลง และมีเหตุผลในทางกฎหมายด้วย

ศาลอย่าเป็นเครื่องมือให้ระบบรัฐประหารนั่นเอง?

ผมเรียกร้องว่าศาลไม่ควรสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร และไม่ควรทำตัวเป็นเพียงเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายให้กับคณะรัฐประหารโดยที่ไม่คิดทำอะไร ผู้พิพากษาควรมีจิตใจที่พยายามผดุงความยุติธรรม ไม่ใช่แค่คิดว่านี่เป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ เขาออกประกาศและคำสั่งอะไรมา ศาลก็บังคับให้หมดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

สิ่งที่ผมกังวลคือ ในระบอบแบบนี้ ศาลจะทำตัวเป็นกลไกขับเคลื่อนรัฐประหารภายใต้การอ้างเหตุผลว่ากฎหมายคือคำสั่งรัฏฐาธิปัตย์ ในเงื่อนไขที่ว่าเมื่อมีการยึดอำนาจเสร็จแล้ว ศาลไม่ต้องทำอะไรเลย มิหนำซ้ำ สิ่งที่น่าห่วงก็คืออาจมีคนสงสัยว่าการที่ศาลยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้น ศาลได้ประโยชน์อะไรจากระบบรัฐประหารหรือไม่

สมมติว่า ศาลตัดสินว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารถือเป็นกฎหมายโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และการตัดสินนี้หรือโดยเหตุผลในคำพิพากษาผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าศาลค้ำยันสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร แล้วบังเอิญว่าศาลได้ประโยชน์จากกฎหมายที่ออกโดยเครือข่ายคณะรัฐประหาร เช่น การกำหนดเบี้ยประชุมให้ ถ้ามันเกิดลักษณะแบบนี้ขึ้น ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็จะตั้งคำถามว่านี่เป็นการกระทำต่างตอบแทนกันหรือไม่ เหมือนแนวคิดรากฐานของสัญญาต่างตอบแทนที่เป็นภาษาละตินว่า do ut des (ฉันให้ เพื่อที่คุณจะให้ตอบแทนฉัน) อันนี้เราห้ามความคิดคนไม่ได้ แน่นอนว่าเราห้ามไม่ได้อีกเช่นกัน ที่คนอาจจะนึกถึงการให้ทิปตอบแทนการให้บริการในร้านอาหาร คิดว่านี่คณะรัฐประหารให้ทิปหรือเปล่า คำถามและการนึกคิดเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อศาลแน่ๆ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ปัญหาเรื่องเนติบริกร เรื่องศาลรัฐประหาร เกิดขึ้นได้เพราะระบบกฎหมายไทยไม่สนใจเรื่องนิติปรัชญาหรือเปล่า ความรู้เรื่องนิติปรัชญาจะช่วยให้เราเป็นนักกฎหมายที่ดีขึ้นได้อย่างไร

กฎหมายมีความสัมพันธ์กับอำนาจในความเป็นจริง เราปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ โดยทั่วไปแล้วกฎหมายเป็นวิชาชีพที่เมื่อเรียนแล้วก็ต้องออกไปทำงาน ประเด็นคือวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์ หมอรักษาร่างกายคน แต่กฎหมายรักษาสิทธิเสรีภาพ ทีนี้ถามว่าการเรียนนิติปรัชญาช่วยไหม มันมีส่วนช่วยอยู่

การเรียนนิติปรัชญาทำให้เราเห็นถึงสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องในทางคดีโดยตรง แต่ช่วยทำให้เราคิดได้ลึกขึ้น กว้างขึ้น และได้เห็นคำตอบที่เคยเกิดขึ้นกับที่อื่นๆ ว่าเขาได้คำตอบมาอย่างไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร

ในส่วนของศาล นิติปรัชญาทำให้การตัดสินคดีไม่ทื่อเกินไป ไม่ใช่ว่าเคยตัดสินอย่างไร ก็ตัดสินอย่างนั้น แต่ชวนให้มีการกลับมาทบทวน หาเหตุผลและเปลี่ยนแนวการตัดสิน ผมคิดว่าประโยชน์อยู่ตรงนั้นมากกว่า สำหรับประเทศไทย ในยุคที่เราเผชิญกับรัฐประหาร นิติปรัชญายิ่งมีประโยชน์มากกว่าสิ่งอื่น เพราะเรากำลังเผชิญกับสิ่งที่กฎหมายมันไม่ควรจะเป็น เราจะยอมรับสิ่งที่ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายให้เป็นกฎหมายได้มากน้อยเพียงใด และเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

นิติปรัชญาจะเข้ามาตอบคำถามนี้ โดยเฉพาะคำถามที่ว่าเราจะทำลายประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร หลังจากที่พวกเขาสิ้นอำนาจลงแล้ว โดยวิธีการทางนิติบัญญัติหรือวิธีการทางตุลาการ หน้าที่นี้เป็นของฝ่ายนิติบัญญัติหรือเป็นของศาล หรือเป็นของทั้งสองฝ่าย บางเรื่อง อาจจะต้องเป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปทำและไปแก้ เพราะอำนาจศาลมีจำกัดกว่า และโดยหลักแล้วคำพิพากษาของศาลมีผลเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ที่เหลือต้องให้เป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติในอนาคตที่ต้องไปเปลี่ยน แล้วศาลจึงจะทำตามได้ แต่ในบางกรณีศาลอาจจะต้องปฏิเสธความเป็นกฎหมายของคำสั่งคณะรัฐประหารที่มีความอยุติธรรมอย่างรุนแรง หรือในแง่เทคนิคทางกฎหมาย ศาลอาจบอกว่าคณะรัฐประหารออกกฏหมายมาขัดกันเอง และอาจไม่บังคับให้

ผมคิดว่าศาลจะหมดหนทางหรือทำอะไรได้น้อยอย่างยิ่งก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญมีมาตราเดียว กล่าวคือรัฐธรรมนูญไม่มีการประกันสิทธิอะไรเลย เขียนแต่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้ทรงอำนาจ แต่สังเกตไหมว่ารัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับชั่วคราว ถึงจะไม่อยากเขียนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ในโลกสมัยนี้ ซึ่งการรัฐประหารเป็นสิ่งที่พ้นสมัยไปแล้ว เนติบริกรก็จะต้องเสริมหล่อหรือเสริมสวยให้กับรัฐธรรมนูญ หมายความว่าผู้ร่างต้องเขียนบทบัญญัติเรื่องสิทธิลงไปในนั้น ซึ่งเมื่อเขียนลงไปแล้ว ศาลที่ฉลาดก็สามารถหยิบเนื้อหาเหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการผ่อนคลายความแข็งกระด้างของอำนาจดิบเถื่อนได้

เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว ต่อให้เขียนเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเอาไว้ ในหลายกรณีศาลต้องตีความบีบให้มันชอบต่อเมื่อเนื้อหามันชอบ ไม่ใช่มองแต่ในแง่รูปแบบเท่านั้น เพราะมันขัดต่อสามัญสำนึกอย่างชัดแจ้งที่คุณจะกำหนดอะไรให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อนได้ แม้ยังไม่มีการกระทำก็ตาม นิติปรัชญาและนิติทฤษฎีเป็นวิธีคิดที่เข้ามาช่วยตรงนี้ ว่าเราจะให้เหตุผลอย่างไรในการปฏิเสธบทบัญญัติที่รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอาไว้ล่วงหน้าดังที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญไทยในเวลานี้.

…………………………

หมายเหตุ: อ่าน บทสัมภาษณ์ ‘มอง 2019’ ชุด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครบทั้งสามตอนได้ที่นี่

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 1 : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 2 : “ถึงเวลาหาคำใหม่ ใช้แทน ‘รัฐธรรมนูญ’ ”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3 : “ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save