fbpx
ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 2 : “ถึงเวลาหาคำใหม่ ใช้แทน 'รัฐธรรมนูญ' ”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 2 : “ถึงเวลาหาคำใหม่ ใช้แทน ‘รัฐธรรมนูญ’ ”

ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“… เราเห็นบรรดานักกฎหมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหารและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และพร้อมที่จะละทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา เพื่อตอบสนองความต้องการของการทำรัฐประหาร  เราเห็นศาลยอมรับบรรดาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย โดยแทบจะไม่มีการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาของบรรดาประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้น  สิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีผลทำลายคุณค่าของวิชานิติศาสตร์ลงอย่างถึงรากแล้ว ในที่สุดยังเท่ากับเป็นการทำร้ายราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐด้วย 

เราเห็นว่าวิชานิติศาสตร์ในรัฐเสรีประชาธิปไตย ต้องเป็นศาสตร์ที่มุ่งตรงไปที่ความยุติธรรมและความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ที่สำคัญวิชานิติศาสตร์ต้องเป็นวิชาการที่เป็นไปเพื่อราษฎร … การศึกษาวิชานิติศาสตร์อย่างมีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และใช้กฎหมายโดยซื่อตรงต่อหลักวิชาที่ยอมรับกันเป็นยุติว่ามีเหตุผลอธิบายได้ ไม่คำนึงถึงหน้าคน ย่อมเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย”

ถ้อยความข้างต้นคือเจตนารมณ์ ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งแถลงไว้ในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 ในวันก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ 19 กันยายน 2553 คล้อยหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 เพียงไม่กี่เดือน

สปิริตแห่งการตั้งคำถาม, การวิพากษ์วิจารณ์, การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง, การถือ ‘เหตุผล’ มีคุณค่าเท่าเทียมกับ ‘ความดี’ และการสร้างชุมชนทางวิชาการสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตย นิติรัฐ และความยุติธรรมให้งอกงามในสังคมไทย เพื่อใช้ความสว่างไสวทางสติปัญญาก้าวข้าม ‘ยุคมืด’ คือเบื้องหลังตัวตนและความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำกลุ่มคนสำคัญ

ตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ‘เสียง’ เล็กๆ ที่ไร้อำนาจการเมือง แต่หนักแน่นด้วยอำนาจความจริงและหลักวิชาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์ เป็น ‘เสียง’ ที่ทุกคนรอฟัง ไม่ว่าคุณจะสังกัดขั้วการเมือง อุดมการณ์ ชนชั้น หรืออาชีพใดก็ตาม

การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร | การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 | การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ | กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย | การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ | การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงทางวิชาการเรื่องสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และองค์กรอิสระในสังคมการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง | การแถลงจุดยืนกรณีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ | แถลงการณ์เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สองวันก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ | ฯลฯ  คือ ‘เสียง’ ที่ผ่านมาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์

น่าเสียดายที่หลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ‘เสียง’ ของคณะนิติราษฎร์ต้องเงียบลง โดยเฉพาะวรเจตน์ที่โดนคดีในศาลทหารเป็นชนักปักหลัง

“ผมไม่ได้เสียดายอะไร เพราะในเวลาที่ควรทำ เราก็ได้ทำอะไรไว้เต็มที่เท่าที่เท่าที่ทำได้แล้ว” วรเจตน์กล่าวถึงชะตากรรมของเขาและคณะนิติราษฎร์

“หากกฎหมายที่ผมได้นำเสนอไปไม่ต้องตรงกับการปกครองในรัฐตุลาการที่อภิชนเป็นใหญ่ ปัญหาย่อมไม่ใช่อยู่ที่หลักกฎหมายที่ผมได้เสนอไว้ แต่อยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศว่าประเทศนั้นปกครองกันในระบอบอะไร มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้การปกครองในประเทศนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และทำอย่างไรที่จะให้ระบบการปกครองของประเทศ เป็นการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานของความยุติธรรม (นิติรัฐ) และเป็นการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ (ประชาธิปไตย) อย่างแท้จริง” วรเจตน์เคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ‘จุดไฟในสายลม’ ของเขา เมื่อปี 2552

สิบปีผ่านไป นิติรัฐและประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้นในชีวิตของสังคมไทยเสียที ส่วนชีวิตของวรเจตน์ก็ … “สอนหนังสือ ขึ้นศาลทหาร ไปโรงพยาบาล วนเวียนอยู่แบบนี้” เจ้าตัวเล่าให้เราฟัง

ในห้วงเวลาที่ปี 2562 เพิ่งเริ่มต้น ซีรีส์ ‘มอง 2019’ ของ 101 ชวน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลับมาเปิด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ อีกครั้ง เต็มอิ่มสามคาบเรียน เพื่อทบทวนว่า ผ่านทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาจนถึงวันนี้ ตัวเขามีมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง และมองอนาคตการเมืองไทยอย่างไร ทั้งโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยาวๆ ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร การฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทมติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคม

คาบที่ 2

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อะไรคือโจทย์ของการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง

ผมคิดว่าคุณค่าบางอย่างของสังคมต้องถูกปลุกขึ้นมา เพื่อเป็นหลัก เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของสังคม ประเทศในโลกตะวันตก รวมทั้งโลกตะวันออกที่พัฒนาแล้ว ไม่ได้ยึดถือตัวบุคคล แต่เขายึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศไทย รัฐธรรมนูญถูกทำให้เสียความหมายไป

จะว่าไป สิ่งที่สูญเสียมากที่สุดของสังคมไทยคือรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเป็นกฎหมายสูงสุดกลับไม่มีความหมาย ไม่ได้เป็นแหล่งรวมคุณค่าพื้นฐานที่สังคมยอมรับร่วมกัน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ปัญหานั้นจะถูกแก้ได้ด้วยตัวระบบและคุณค่าในรัฐธรรมนูญเอง

เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของสังคมก็คือ เราจะแสวงหาคุณค่าอะไร ซึ่งเป็นคุณค่าร่วมกันให้คนในสังคมยึดถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด สุดท้ายต้องตั้งคำถามว่า สังคมนี้มีหลักการอะไรบ้างที่ทุกคนยอมรับว่าจะไม่ก้าวข้าม ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เราก้าวข้ามหลักการหลายเรื่อง ระบบเลือกตั้งเราก็ไม่รับ ระบบตรวจสอบ เราก็พยายามสร้างขึ้นมาด้วยการให้อำนาจองค์กรตรวจสอบมหาศาล โดยไม่เคยดูปัญหาของตัวระบบตรวจสอบเอง เช่น รูปแบบและวิธีการตรวจสอบองค์กรอื่น แล้วก็ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจองค์กรตรวจสอบ หรือไม่ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จนตอนนี้ ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ ทำงานไปวันๆ อยู่แบบเพลย์เซฟ ไม่ตัดสินใจ ไม่ลงมือทำอะไร เพราะกลัวระบบตรวจสอบภายใต้การตีความกฎหมายที่มีความไม่แน่นอน ผันแปรไปตามอำนาจทางการเมือง

นี่คือราคาอันมหึมาของระบบราชการและสังคมไทย เป็นราคาที่ต้องจ่ายโดยที่เรามองไม่เห็นเลย คนเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบราชการและขับเคลื่อนสังคม ถ้าระบบทำให้คนไม่คิดอยากทำอะไร ทำแค่พอเสมอตัว ประคองตัวไปวันๆ เลี่ยงการตัดสินใจ กลัวถูกฟ้อง เพราะถ้าถูกฟ้องแล้ว เอาแน่ไม่ได้ว่าคดีจะออกทางไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมก็เคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้

ถามว่าเรื่องนี้เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 12 ปีมานี้หรือไม่ ใช่ครับ เพราะกฎหมายของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เต็มไปด้วยการตีความที่ไม่แน่นอน มันทำให้ปัญหาที่เคยมีอยู่แล้ว ยิ่งหนักขึ้นไปอีก

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่คุณยึดอำนาจได้แล้ว เขียนอะไรขึ้นมาก็กลายเป็นกฎหมายได้ มันทำให้กฎหมายถูกดูถูกดูแคลนอย่างยิ่งจากผู้คนจำนวนมาก จนไม่มีคุณค่าอีกต่อไป คนรู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการอะไรเลย แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจในทางข้อเท็จจริง ใครมีอำนาจจะเขียนอะไรอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ผู้มีอำนาจเลย พอคนรู้สึกแบบนี้ก็จะเลิกเชื่อกฎหมายที่มีหลักการบางอย่างอยู่ข้างหลัง

ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียหายมากต่อพัฒนาการความก้าวหน้าของสังคม นี่คือราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายจากปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งแพงกว่าที่คิดเยอะ

ความป่วยไข้ในระบบกฎหมายไทยที่ต้องเร่งรักษาคืออะไร

ผมเป็นนักกฎหมาย เรารู้ว่ากฎหมายไม่ใช่สิ่งเดียวของสังคม จริงๆ แล้ว กฎหมายควรจะมาทีหลังด้วยซ้ำ คือมันควรจะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้อีกแล้ว ไม่มีใครอยากมีคดีต้องขึ้นศาล เวลาเรามีเรื่องขัดแย้งก็ไม่ได้เริ่มด้วยการใช้กฎหมายพูดกัน เราใช้วิธีอื่นแบบคนพูดกับคนกันก่อน จนถึงที่สุดจริงๆ ถ้ายังคุยกันไม่รู้เรื่อง คุณก็ใช้กฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปใช้กำลัง ซึ่งสังคมที่เป็นอารยะพยายามหลีกเลี่ยง

ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นขั้นต่ำที่สุด มันไม่ใช่สิ่งเดียวที่มีอยู่ แต่พอมันเกิดมีขึ้นแล้ว ก็ต้องทำงานให้ได้ เพราะถ้ากฎหมายทำงานไม่ได้ก็แปลว่าหลักประกันขั้นต่ำที่สุดไม่สามารถทำงานได้ ทุกอย่างก็จบ สังคมไทยกำลังสูญเสียสิ่งนี้ เรากำลังทำลายวัฒนธรรมบางอย่างทางกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

กฎหมายที่เขียนออกมาหลังรัฐประหารหลายเรื่องมีผลเป็นการทำร้ายระบบกฎหมายในภาพใหญ่

พวกเขาบอกให้เราเคารพกฎหมาย แต่กฎหมายที่ว่าคือสิ่งที่ออกมาจากการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศหรือคำสั่ง คสช. การออกพระราชบัญญัติผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ในเรื่องนี้ เราต้องมองย้อนกลับไปที่ตัวระบอบใหญ่ มันคือระบบทำเทียมการแบ่งแยกอำนาจ คือเป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบเทียมหรือปลอม เมื่อยึดอำนาจได้ เขาก็ทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมาเลียนแบบการแบ่งแยกอำนาจ โดยให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีคณะรัฐมนตรี ส่วนศาล หากไม่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐประหาร ก็คงไว้แบบเดิม

ดูผิวเผินเหมือนมันมีการแบ่งแยกอำนาจอยู่จริง แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ มันเป็นเปลือกหุ้มที่ทำเทียมเลียนแบบขึ้นมา พูดภาษาชาวบ้านก็คือของเก๊  สนช. คือคนที่คณะรัฐประหารตั้งเข้ามา คุณทำตามนโยบายของคนที่ตั้งคุณเข้าไป แน่นอนว่าในหมู่คนที่ถูกตั้งเข้าไปอาจจะมีความขัดแย้งกันบ้างในบางเรื่อง แต่นั่นเป็นภาพเล็ก ภาพใหญ่คือคณะรัฐประหาร ซึ่งอาจแปลงกายเป็นองค์กรในระบบกฎหมายที่ทำอะไรก็ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ สามารถกุมสภาพได้

ระบบแบ่งแยกอำนาจแบบทำเทียมยังทำงานได้อยู่ ก็เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งจนทำให้เกิดความเคยชินและเคยตัว ใครที่อยากมีอำนาจก็ต้องภาวนาให้มีรัฐประหาร คุณจะได้สอดแทรกตัวเองเข้าสู่วงอำนาจได้ กลุ่มชนชั้นนำจึงได้ประโยชน์จากการมีรัฐประหาร มีเรื่องเล่าว่านักกฎหมายคนหนึ่งซึ่งเอ่ยชื่อมาคนจำนวนไม่น้อยน่าจะรู้จัก เมื่อทราบข่าวผ่านไลน์ว่าเกิดการรัฐประหารแล้ว ถึงกับดีใจจนออกนอกหน้า

รัฐประหารไม่ได้ทำให้เกิดการเสียประโยชน์อย่างเดียว แต่ทำให้เกิดการได้ประโยชน์ด้วย เพียงแต่คนได้ประโยชน์คือคนกลุ่มเล็กมาก แต่คนเสียประโยชน์คือคนกลุ่มใหญ่มาก ขนาดมันใหญ่มากและเล็กมากจนเทียบสเกลกันไม่ได้เลย คนที่วิ่งเข้าไปหาอำนาจ ได้ตำแหน่ง ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้งานวิจัย และสร้างความเจริญเติบโตให้ตัวเองในระบบรัฐประหาร มีจำนวนน้อยนิดเล็กจิ๋วมากเลย แต่ได้ผลประโยชน์ใหญ่โตมาก

ยกตัวอย่าง กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมร่างรัฐธรรมนูญ คุณได้เบี้ยประชุมวันละ 9,000 บาท รวมทั้งกระบวนการแล้ว ได้เบี้ยประชุมกันหลายล้านบาท มันกลายเป็นมรดกที่เก็บสะสมไว้ส่งต่อให้ลูกหลานได้ แต่คุณทำลายโอกาสของลูกหลานคนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ที่เสียประโยชน์จากการทำรัฐประหาร

การกระทำหลายอย่างของคนเหล่านี้ ที่บางครั้งผมรู้สึกว่ามีลักษณะเป็นการทำลายประโยชน์ส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตน กลับถูกทำให้มองว่าเป็นการทำเพื่อชาติ ทุกอย่างมันกลับตาลปัตรไปหมด

ทีนี้ถ้าสังคมไทยจะเดินต่อไปข้างหน้า ก็ต้องรื้อกฎกติกาจากการรัฐประหาร และต้องฟื้นฟูคุณค่าหลายเรื่อง เช่น การทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย รวมถึงการทำสัญญาประชาคมใหม่ การแสวงหาฉันทมติใหม่ในสังคม อาจารย์พอมองเห็นทางไหม

ผมเคยพูดในช่วงรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ มันจะกลายเป็นตราสังมัดสังคมไทย มันแก้ยาก คือไม่ถึงขนาดแก้ไม่ได้เลย แต่แก้ยากมากถึงยากที่สุด จนเกือบจะเรียกว่าแก้ไม่ได้

เอาเข้าจริง ในระยะสั้นเฉพาะหน้า เรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นใหญ่หลังเลือกตั้ง (ถ้าหากมี) ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอาจจะทำงานลำบาก แน่นอนขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้ง เป็นฝ่ายไหนด้วย ถ้าเป็นฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับผู้ยึดอำนาจและบรรดาองค์กรที่ผู้ยึดอำนาจทิ้งไว้ในระบบกฎหมาย การบริหารประเทศก็จะเหมือนเดินไปท่ามกลางกับระเบิดที่ถูกวางไว้เต็มไปหมด ในนามของการตรวจสอบ มาตรฐานทางจริยธรรม วินัยงบประมาณและการคลัง อะไรทำนองนี้

โดยภาพรวมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความยากลำบากด้วยระบบตรวจสอบต่างๆ รวมถึงระบบที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ความตึงเครียดในสังคมที่ไร้เสรีภาพในการวิจารณ์จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่การเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คือรูระบาย คนเถียงกันได้อย่างมีอารยธรรมโดยไม่ต้องใช้กำลัง สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็มีการโห่ใส่นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงการใช้กำลัง สังคมที่มีรูระบายจะไม่ตึงเครียดจนถึงกับระเบิดออกมา สังคมที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่กดคนไปทั่วทุกที่ โอกาสที่จะระเบิดออกจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถูกเขียนขึ้นมา เพื่ออุ้มชูและรักษา ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ นี้ ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ กล่าวคือสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในอดีตอาจจะเป็นดักแด้ที่กำลังจะแปลงและเข้าไปสู่สภาวะใหม่ โดยจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นตัวควบคุมมากขึ้น ด้านหนึ่ง สังคมก็จะถูกกดจนซึมไปเลย อาจจะซึมยาว อีกด้านหนึ่ง มันจะเกิดความพยายามในการต่อสู้ขึ้นมา เกิดความขัดแย้งไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา

แต่ไม่ว่าทางไหน มันก็ไม่ทำให้สังคมดีขึ้นหรอก ทางที่ดีคือต้องปรับเปลี่ยน ในที่สุดฝ่ายที่ได้รับความมั่นคงจากรัฐธรรมนูญต้องยอมเปลี่ยน ต้องยอมรับว่ากติกาที่คุณตรามา ไม่สามารถใช้ได้อย่างถาวรภายใต้ความคิดเบื้องหลังแบบนี้ เพราะมันไม่รับกับพัฒนาการทางสังคมหลังปี 2540 ซึ่งสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว ในทางนโยบาย คนได้รับประโยชน์จากนโยบายทางการเมืองโดยตรง ไม่ว่าคุณพยายามอย่างไร คุณก็ฆ่าพรรคการเมืองที่ทำนโยบายที่อาจเรียกว่าประชานิยมหรืออะไรก็ตามไม่ได้ มันไม่มีทางตาย พรรคหนึ่งตายก็มีพรรคใหม่เกิดขึ้นไม่มีวันหมด

ถ้าผู้มีอำนาจตัวจริงมองเห็นประเด็นเหล่านี้ แล้วยอมปรับตัว มันก็ยังพอมีโอกาสอยู่ แต่ผมไม่แน่ใจ เพราะพัฒนาการเรื่องนี้ค่อนข้างตึงมาตลอด

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ในแง่การเมืองเชิงวัฒนธรรม เราจะสร้างคุณค่าหรือวัฒนธรรมประชาธิปไตย นิติรัฐ การเคารพรัฐธรรมนูญ ให้กลับฟื้นคืนมาในสังคมได้อย่างไร

ผมคิดว่ายาก และไม่แน่ใจว่าในความเป็นจริงจะใช้คำว่า ‘ให้กลับฟื้นคืนมา’ ได้ไหม เพราะสังคมไทยไม่ได้มีโอกาสสร้างคุณค่าและวัฒนธรรมเหล่านี้เลยตั้งแต่แรก เช่น ระยะเวลาที่เราใช้รัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง มันสั้นมาก ยาวที่สุดก็แค่ประมาณ 15 ปีเท่านั้น

ฉันทมติแรกในสังคมการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือรัฐธรรมนูญสยามปี 2475  รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือความพยายามประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาฉันทมตินี้ก็เกิดรอยร้าว รัชกาลที่เจ็ดสละราชสมบัติ ในตอนนั้นรัฐธรรมนูญมีโอกาสที่จะเดินไปข้างหน้าต่อในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ถูกเบรกในช่วงปี 2489-2490 ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

หลังจากนั้น คุณค่าทางรัฐธรรมนูญของบ้านเราก็ไม่เคยมีเลย ประเทศอื่นแม้จะใช้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะคงรูปและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญไว้ ส่วนประเทศไทยใช้วิธีการทำลายและเขียนใหม่

ผมคิดด้วยซ้ำว่า แม้แต่คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เราควรหาคำใหม่มาใช้เรียกแทนดีหรือไม่ อันนี้มองในทางภาษาเลยนะ บางทีการสร้างชุดคำใหม่มาใช้เรียกกฎหมายสูงสุดแทน ‘รัฐธรรมนูญ’ อาจจะง่ายกว่าในการสร้างคุณค่าความหมายให้มัน

ตั้งชื่อใหม่เลย?  

จริงๆ แล้ว คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ก็ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำนี้ยังไม่มี สิ่งที่ผมเรียกในภายหลังว่า ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกทำให้ลืม สมัยนั้นเรียกว่า ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475’ เห็นไหมว่าไม่ได้ใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา 2475 เกิดการประนีประนอมระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายรัชกาลที่เจ็ด คณะราษฎรได้ทำร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้น เพื่อให้รัชกาลที่เจ็ดลงพระปรมาภิไธย สุดท้ายรัชกาลที่เจ็ดทรงลงพระปรมาภิไธยให้ แต่ให้ใช้เป็นการชั่วคราว ซึ่งคณะราษฎรก็ยอม แล้วตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนของฝ่ายอำนาจเก่า ฝ่ายคณะราษฎรมีเพียงผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในเจ็ดคน และต่อมาตั้งเพิ่มอีกสองคนเป็นเก้าคน สุดท้ายจึงเกิดรัฐธรรมนูญสยามปี 2475

คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ถูกใช้เป็นครั้งแรกในฉบับนั้นเอง โดยมีพระองค์วรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นผู้บัญญัติคำนี้แทน ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน’ ซึ่งท่านเห็นว่ายาวเกินไป จึงนำคำว่า ‘รัฐ’ มาเติมหน้า ‘ธรรมนูญ’ ซึ่งเป็นคำเก่าที่น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ถ้าสังเกตดู ในการยึดอำนาจในอดีต คณะรัฐประหารก็พยายามเลี่ยงใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ โดยใช้คำว่า ‘ธรรมนูญการปกครอง’ แทน เพื่อแยกระหว่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ถาวรกับสิ่งที่ใช้ชั่วคราว เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ปี 2502) จอมพลถนอม กิตติขจร (ปี 2515) คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ปี 2520) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ปี 2534) ในยุคต้นๆ มีแค่รัฐประหารปี 2490 ที่ใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)’

จะเห็นว่าคณะรัฐประหารในอดีต แม้จะยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีแก่ใจสงวนคำ ‘รัฐธรรมนูญ’ เอาไว้ สมัยจอมพลสฤษดิ์ที่มีมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ไม่ได้อยู่ใน ‘รัฐธรรมนูญ’ แต่อยู่ใน ‘ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร’ จนกระทั่งปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเริ่มเพี้ยน มีการออกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2519 (ไม่ใช้คำว่า ‘ชั่วคราว’ ด้วย) หลังจากยึดอำนาจ โดยกำหนดให้มีแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี

ต่อมาหลังจากรัฐประหารปี 2520 และ 2534 จึงกลับไปใช้ ‘ธรรมนูญการปกครอง’ จวบจนเกิดรัฐประหารปี 2549 และ 2557 จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว’ มิหนำซ้ำฉบับหลังยังกำหนดบทบัญญัติมาตรา 44 ลงไปด้วย รวมถึงให้มีศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ด้วย มีข้อสังเกตว่าในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 มีบทบัญญัติคล้ายมาตรา 44 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็หมดลงเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ในปัจจุบัน หัวหน้า คสช. ก็ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต่อไปอีก  ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะประกาศใช้แล้วก็ตาม

12 ปีมานี้ คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ จึงถูกทำลายความหมายไปหมดแล้ว ในแง่นี้ คุณมีทางออกสองทาง หนึ่ง สร้างความหมายให้คำนี้ใหม่ ภายใต้คำเดิม สอง ใช้คำใหม่เลย เรียกกฎหมายสูงสุดของประเทศด้วยชื่อใหม่ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ขึ้น

ในประเทศเยอรมนี กฎหมายสูงสุดของประเทศถูกเรียกว่า ‘กฎหมายพื้นฐาน’ (Basic Law หรือ Grundgesetz) ไม่ได้เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ (Constitution หรือ Verfassung) ตอนแรกเขาตั้งใจให้เป็นกฎหมายที่ใช้ไปก่อนจนกว่าจะรวมชาติสำเร็จ และมีรัฐธรรมนูญจริงๆ แต่คำว่า ‘กฎหมายพื้นฐาน’ มันฝังลงในสำนึกของคน คนยอมรับในคุณค่าของกฎหมายนี้ พอรวมประเทศได้สำเร็จ เขาก็ยังเรียกว่ากฎหมายพื้นฐานอยู่เหมือนเดิม ความหมายทางภาษาได้กลายเป็นที่รวมของคุณค่าพื้นฐานให้คนใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ประเทศเยอรมนีจึงไม่ได้ทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หลังรวมชาติ แต่ใช้กฎหมายพื้นฐาน (ของอดีตเยอรมนีตะวันตก) เป็นกฎหมายสูงสุดของเยอรมนีหลังรวมชาติแล้ว

นอกจากเยอรมนีแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้เรียกกฎหมายสูงสุดที่เป็นหลักในการปกครองประเทศว่า Constitution แต่ใช้คำว่า Basic Law แถมบางประเทศก็ไม่ได้รวมอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกันด้วย เช่น บรรดากฎหมายพื้นฐานหรือกฎหมายมูลฐานสี่ฉบับที่ถือว่ามีฐานะเป็นรัฐธรรมนูญของสวีเดน

สำหรับสังคมไทย ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องเรียกว่า ‘กฎหมายพื้นฐาน’ แบบเยอรมัน และถ้าเราจะใช้คำใหม่แทนที่คำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ก็ด้วยเหตุผลและสำนึกที่แตกต่างไป และด้วยบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ถ้าจะเปลี่ยนชื่อเรียก คนในสังคมควรจะต้องมาร่วมกันคิดหาคำใหม่เพื่อเรียกกฎหมายสูงสุด เราอาจจะประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นมาใหม่ เพราะคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มันช้ำ จนแทบจะไม่เหลือสภาพความเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นแหล่งรวมคุณค่าพื้นฐานของสังคมแล้ว

กิจกรรมหนึ่งในช่วงเวลาที่เรายังทำอะไรมากไม่ได้ อาจจะจัดประกวดตั้งชื่อเรียกกฎหมายสูงสุด หรือกฎหมายหลัก หรือกฎหมายมูลฐานของราษฎร  ‘รัฐธรรมนูญ’ มาจากคำว่า ‘Constitution’ ซึ่งหมายถึงการสถาปนา การก่อตั้ง ดังนั้นคุณจะไปผสมคำอย่างไรให้มีความหมายเกี่ยวกับการสถาปนาอำนาจ การสร้างกฎกติกาที่เป็นกฎหมายสูงสุดให้ผู้คนยึดถือร่วมกัน เช่นอาจเรียกว่า ‘ราษฎร์สถาปนา’ อะไรทำนองนี้ แล้วให้คุณค่าความหมายใหม่ คือแปลคำว่า Constitution ใหม่นั่นเอง

จากนั้นต้องทำอะไรต่อเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์

ในสมัยคณะราษฎร มีความพยายามสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้รัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน แต่เป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบไทย โดยเชื่อมโยงกับความขลัง เช่น การเขียนลงไปในสมุดไทย การนำรัฐธรรมนูญวางบนพาน รวมถึงพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ นี่ถ้ามีการทำพระไว้ห้อยคอ แล้วเรียกว่าพระธรรมนูญหรือพระรัฐธรรมนูญ จะพีคที่สุดเลย ซึ่งความพีคแบบนี้อาจไปด้วยกันไม่ได้กับการสถาปนาสิ่งใหม่ที่เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน

ประเด็นก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ แต่รัฐธรรมนูญควรเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากมันหลอมรวมคุณค่าพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติในประชาคมการเมืองหนึ่ง รัฐธรรมนูญควรจะต้องสื่อความหมายแบบนี้ คุณจะเรียกว่าเป็น ‘กฎหมายสูงสุด’ ก็ได้ แต่คำว่า ‘สูงสุด’ ต้องมีประชาชนเจ้าของอำนาจอยู่ในนั้น อำนาจของประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเองโดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ ศาสนา หรือความขลัง ตอนนี้เราไม่เชื่อในอำนาจของประชาชนต่างหาก รัฐธรรมนูญของเราเลยไม่ขลัง

เวลาพูดถึงความขลัง เรามักนึกถึงความเหนียว ฟันไม่เข้า ยิงไม่เข้า ทำลายไม่ได้ ตามนิยามนี้ รัฐธรรมนูญไทยไม่มีความเหนียวเลย การที่เราใช้คำว่า ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ มันเห็นภาพเลย มันไม่เหนียวไงเลยฉีกง่าย บางครั้งผมรู้สึกว่าฉีกง่ายกว่ากฎกระทรวงอีก

ถ้าเราหันไปดูรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญของเขาปักหลักลงในจิตใจคนจนคล้ายกับเป็นคัมภีร์ไบเบิลเลย เพราะบรรดาบิดาผู้ก่อตั้งประเทศมีวิสัยทัศน์ในการสร้างกฎกติกาที่มีความยั่งยืนถาวร โดยผ่านการถกเถียงด้วยมันสมองอันเลิศของพวกเขา ผ่านหลักคิดที่มีเหตุผล และผู้คนมีส่วนร่วม มีการออกแบบระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร กับตุลาการ และระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐไว้ดีพอสมควร

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีปัญหามากมาย แต่ปัญหาสามารถแก้ได้ในตัวระบบของเขา มันเป็นความมหัศจรรย์มากที่เอกสารทางการเมืองอายุ 200 กว่าปี ยังคงอยู่และใช้การได้ ทั้งที่โครงร่างหลักๆ ยังเหมือนเดิม นี่คือสุดยอดของการเขียนกฎหมาย แน่นอนว่า หลายเรื่อง คนร่างก็คิดไม่ถึง แต่มันมีกลไกในการปรับตัวและแก้ไขของมันได้ จนมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว

รัฐธรรมนูญไทยไม่มีลักษณะแบบนี้ ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่เลย

การเปลี่ยนชื่อเรียกอย่างเดียวคงไม่ใช่ยาวิเศษ มันคงต้องมีปัจจัยอะไรทำงานหนุนเสริมเพื่อให้หลักกฎหมายสูงสุดลงหลักปักฐานในสังคมได้จริง

การเรียกชื่อใหม่มันคือสัญลักษณ์ของการตัดขาดจากของเดิม พ้นจากยุค ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ให้ความหมายไปในแง่ของการถูกฉีก แต่แน่นอนว่า หากจะใช้ได้ผล ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการกำเนิดของมัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เข้ามาตกลงหาคุณค่าพื้นฐานร่วมกัน เจตจำนงเป็นของประชาชน ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมีหน้าที่ช่วยเขียนช่วยปรับทางเทคนิคเท่านั้น

เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ต้องเขียนยาว ส่วนรายละเอียดไปเขียนเพิ่มในกฎหมายลำดับต่ำลงมา เนื้อหาเน้นแต่หลัก แล้วให้มันบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ มีเหตุมีผล ไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางการเมืองบางอย่างเฉพาะหน้า ถ้าคุณเขียนเรื่องสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องเขียนอย่างสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้ เอาให้เมื่อคุณถูกจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พอคุณยกรัฐธรรมนูญมาอ้าง คนที่จับคุณต้องถอย หรือถ้าคนจับไม่ถอย ก็มีระบบตรวจสอบเพื่อประกันสิทธิของบุคคลได้ รัฐธรรมนูญถึงจะศักดิ์สิทธิ์จริง

เราไม่ได้อาศัยเพียงการเปลี่ยนชื่อเรียกเท่านั้น มันมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาประกอบกัน โดยเฉพาะบริบททางการเมือง เช่น การกำเนิดของมัน การบังคับใช้ รัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นมาแล้วต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าบังคับใช้อย่างไร

คนทำรัฐธรรมนูญทุกคนในโลกก็อยากให้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองทำอยู่ได้นาน แต่การอยู่ได้นาน มันต้องทนทาน คนทำต้องมีวิสัยทัศน์ว่าจะใส่อะไรให้รัฐธรรมนูญสามารถรับแรงกระแทกและแรงเสียดทานได้ เขียนอย่างไรให้ปรับตัวได้ตามสภาพปัญหาใหม่ๆ ในอนาคต

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อะไรคือหลักการ ขั้นต่ำที่ต้องอยู่ในสัญญาประชาคมใหม่ในแบบที่เราคุยกัน

รัฐธรรมนูญต้องมีกรอบที่เป็นหลักการพื้นฐาน ต้องได้ฉันทมติในสังคม โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยและสถานะทางรัฐธรรมนูญของประมุขของรัฐ ซึ่งในสภาวะความขัดแย้งแบบนี้ดูจะไม่ง่ายนัก

ถ้าจะยึดถือหลักประชาธิปไตย ซึ่งปกติก็ควรเป็นแบบนั้น ก็ต้องยอมรับความชอบธรรมทางประชาธิปไตย กำหนดให้องค์กรของรัฐต้องสืบสาวฐานแห่งความชอบธรรมกลับไปหาประชาชนได้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม วางระบบถ่วงดุลอำนาจ เรื่องไหนควรตรวจสอบโดยวิถีทางการเมือง เรื่องไหนควรตรวจสอบโดยวิถีทางกฎหมาย เรื่องระบบเลือกตั้ง อาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนรายละเอียดของรูปแบบวิธีการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ต้องเขียนหลักการเลือกตั้งว่ามีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม รับประกันความเสมอภาคของแต่ละคน

นอกจากนั้น ควรยึดถือหลักนิติรัฐ หมายถึง การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม ควรบัญญัติหลักสำคัญไว้ เช่น ไม่มีการออกกฎหมายย้อนหลังที่เป็นผลร้ายกับบุคคล การกำหนดหลักแห่งความพอสมควรแก่เหตุในการใช้อำนาจรัฐ การประกันความเป็นอิสระของตุลาการแต่ต้องมีความพร้อมรับผิด อะไรต่างๆ เหล่านี้

อีกสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องกฎอัยการศึกใหม่ อาจจะเปลี่ยนรูปไปเป็นกฎหมายที่เรียกชื่ออย่างอื่นก็ได้ เพราะในทางปฏิบัติ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น บางครั้งมีผลเป็นการทำลายตัวรัฐธรรมนูญเอง ในบ้านเราที่มีปัญหาการล้มล้างกฎหมายหลักของประเทศบ่อย อาจจำเป็นที่จะต้องพูดถึงหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร รวมทั้งการปรับยุบองค์กรอิสระบางองค์กร และสร้างองค์กรอิสระบางองค์กรใหม่ที่ยึดโยงกับประชาชน เช่น ผู้ตรวจการกองทัพ

ส่วนเรื่องที่ผมคิดว่าอาจไม่จำเป็นต้องเขียน คือเรื่องสิทธิในการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี เพราะเขียนไปก็ไม่มีประโยชน์ หากทหารตัดสินใจทำรัฐประหารจริงแล้วทำสำเร็จ แต่ถ้าจะเขียนในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ก็ควรจะต้องเขียนให้ต่อต้านรัฐประหารด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้

ข้ออ่อนประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎร ซึ่งเป็นกฎหมายมูลฐานที่ผมเห็นว่าดีมากฉบับหนึ่ง คือไม่มีการเขียนหลักการเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ในรัฐธรรมนูญ มีแต่เนื้อหาเรื่องสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก

จริงๆ แล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญมีแค่สองเรื่องที่สำคัญ หนึ่ง คือเรื่องโครงสร้างของรัฐ ระบบการปกครอง หลักการพื้นฐาน สอง คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ป้องกันไม่ให้รัฐก้าวล่วงเข้ามา เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง เป็นต้น

คุณวางโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญไว้สักร้อยมาตราก็เหลือเฟือแล้ว ที่เหลือก็ไปเขียนไว้ในกฎหมายอื่นๆ เช่น คุณสมบัติของรัฐมนตรี จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทำไม เขียนไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติก็พอแล้ว ถ้าคุณอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับรัฐมนตรีก็ไปเขียนไว้ในพระราชบัญญัติรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเมื่อไหร่ อย่างไร มันไม่จำเป็นที่จะต้องบรรจุในกฎหมายหลักที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่รัฐธรรมนูญของเรายิ่งเขียนยิ่งยาว อ้างมาตราโยงไปโยงมาจนอ่านยาก

ประชาชนจึงไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเขา.

หมายเหตุ: อ่าน บทสัมภาษณ์ ‘มอง 2019’ ชุด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครบทั้งสามตอนได้ที่นี่

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 1 : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 2 : “ถึงเวลาหาคำใหม่ ใช้แทน ‘รัฐธรรมนูญ’ ”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3 : “ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save