fbpx
ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 1 : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 1 : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้”

ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“… เราเห็นบรรดานักกฎหมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่พร้อมจะรับใช้คณะรัฐประหารและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และพร้อมที่จะละทิ้งหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา เพื่อตอบสนองความต้องการของการทำรัฐประหาร  เราเห็นศาลยอมรับบรรดาประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย โดยแทบจะไม่มีการตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาของบรรดาประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้น  สิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีผลทำลายคุณค่าของวิชานิติศาสตร์ลงอย่างถึงรากแล้ว ในที่สุดยังเท่ากับเป็นการทำร้ายราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจรัฐด้วย 

เราเห็นว่าวิชานิติศาสตร์ในรัฐเสรีประชาธิปไตย ต้องเป็นศาสตร์ที่มุ่งตรงไปที่ความยุติธรรมและความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ที่สำคัญวิชานิติศาสตร์ต้องเป็นวิชาการที่เป็นไปเพื่อราษฎร … การศึกษาวิชานิติศาสตร์อย่างมีจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ และใช้กฎหมายโดยซื่อตรงต่อหลักวิชาที่ยอมรับกันเป็นยุติว่ามีเหตุผลอธิบายได้ ไม่คำนึงถึงหน้าคน ย่อมเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย”

ถ้อยความข้างต้นคือเจตนารมณ์ ‘นิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งแถลงไว้ในประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 ในวันก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ 19 กันยายน 2553 คล้อยหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 เพียงไม่กี่เดือน

สปิริตแห่งการตั้งคำถาม, การวิพากษ์วิจารณ์, การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง, การถือ ‘เหตุผล’ มีคุณค่าเท่าเทียมกับ ‘ความดี’ และการสร้างชุมชนทางวิชาการสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตย นิติรัฐ และความยุติธรรมให้งอกงามในสังคมไทย เพื่อใช้ความสว่างไสวทางสติปัญญาก้าวข้าม ‘ยุคมืด’ คือเบื้องหลังตัวตนและความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำกลุ่มคนสำคัญ

ตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ‘เสียง’ เล็กๆ ที่ไร้อำนาจการเมือง แต่หนักแน่นด้วยอำนาจความจริงและหลักวิชาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์ เป็น ‘เสียง’ ที่ทุกคนรอฟัง ไม่ว่าคุณจะสังกัดขั้วการเมือง อุดมการณ์ ชนชั้น หรืออาชีพใดก็ตาม

การลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร | การขับเคลื่อนข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 | การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ | กระบวนการยุติธรรมไทยกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้เสียหาย | การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ | การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงทางวิชาการเรื่องสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และองค์กรอิสระในสังคมการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง | การแถลงจุดยืนกรณีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ | แถลงการณ์เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สองวันก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ | ฯลฯ  คือ ‘เสียง’ ที่ผ่านมาของวรเจตน์และคณะนิติราษฎร์

น่าเสียดายที่หลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ‘เสียง’ ของคณะนิติราษฎร์ต้องเงียบลง โดยเฉพาะวรเจตน์ที่โดนคดีในศาลทหารเป็นชนักปักหลัง

“ผมไม่ได้เสียดายอะไร เพราะในเวลาที่ควรทำ เราก็ได้ทำอะไรไว้เต็มที่เท่าที่เท่าที่ทำได้แล้ว” วรเจตน์กล่าวถึงชะตากรรมของเขาและคณะนิติราษฎร์

“หากกฎหมายที่ผมได้นำเสนอไปไม่ต้องตรงกับการปกครองในรัฐตุลาการที่อภิชนเป็นใหญ่ ปัญหาย่อมไม่ใช่อยู่ที่หลักกฎหมายที่ผมได้เสนอไว้ แต่อยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศว่าประเทศนั้นปกครองกันในระบอบอะไร มีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้การปกครองในประเทศนั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และทำอย่างไรที่จะให้ระบบการปกครองของประเทศ เป็นการปกครองโดยกฎหมายบนพื้นฐานของความยุติธรรม (นิติรัฐ) และเป็นการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ (ประชาธิปไตย) อย่างแท้จริง” วรเจตน์เคยเขียนไว้ในคำนำหนังสือ ‘จุดไฟในสายลม’ ของเขา เมื่อปี 2552

สิบปีผ่านไป นิติรัฐและประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้นในชีวิตของสังคมไทยเสียที ส่วนชีวิตของวรเจตน์ก็ … “สอนหนังสือ ขึ้นศาลทหาร ไปโรงพยาบาล วนเวียนอยู่แบบนี้” เจ้าตัวเล่าให้เราฟัง

ในห้วงเวลาที่ปี 2562 เพิ่งเริ่มต้น ซีรีส์ ‘มอง 2019’ ของ 101 ชวน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลับมาเปิด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ อีกครั้ง เต็มอิ่มสามคาบเรียน เพื่อทบทวนว่า ผ่านทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาจนถึงวันนี้ ตัวเขามีมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง และมองอนาคตการเมืองไทยอย่างไร ทั้งโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยาวๆ ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร การฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทมติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคม

คาบที่ 1

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อาจารย์มองอนาคตสังคมไทยข้างหน้า เห็นหรือไม่เห็นอะไรบ้าง

ไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก ความรู้สึกของผมที่มีต่อสังคมไทยในตอนนี้เหมือนกับเรากำลังขับรถไปข้างหน้าท่ามกลางหมอกหนา ทำให้ไม่รู้ว่ากำลังจะเจอกับอะไร เอาแค่ระยะสั้นไม่กี่เดือนข้างหน้า เรายังไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ หรือการเลือกตั้งจะนำเราไปสู่อะไร นี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นแบบนั้น

ในประเทศที่มั่นคง การเลือกตั้งคือการเปลี่ยนรัฐบาล อันนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบาย เราสามารถคาดเดาได้ว่าถ้าพรรคนี้ชนะการเลือกตั้ง นโยบายจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับประเทศไทย เราพยากรณ์ไม่ได้กระทั่งว่าการเลือกตั้งจะผ่านไปอย่างราบรื่นไหมด้วยซ้ำ หรือเลือกตั้งแล้วจะจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในกี่เดือน รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน

ในระยะสั้น เราไม่มีความมั่นคงใดๆ เลย มีแต่ความไม่แน่นอน

 

ความไม่แน่นอนที่ปกคลุมสังคมไทย เป็นความไม่แน่นอนตามธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติ

ความไม่แน่นอนมีอยู่ในทุกสังคมการเมืองของโลกอยู่แล้ว แต่ความไม่แน่นอนในสังคมไทยมีค่อนข้างมากกว่าสังคมอื่นๆ จะพูดว่าผิดธรรมชาติก็ไม่เชิง แต่เราสามารถทำให้พัฒนาการของสังคมถูกพยากรณ์ได้มากกว่านี้ หรือมีความมั่นคงกว่านี้ได้

ถามว่าอะไรเป็นเหตุที่นำมาสู่ความไม่แน่นอนในพัฒนาการของสังคม คำตอบหนึ่งก็คือการต่อสู้ทางความคิดในทางการเมืองระหว่างความคิดหลายแบบภายใต้กรอบกติกาที่ไม่ประกันความแน่นอนให้ หมายความว่าทุกสังคมควรมีกติกาบางอย่างที่ประกันความแน่นอนให้ได้ระดับหนึ่ง เป็นฐานของสังคม แต่ในสังคมไทย ตัวกติกาที่เป็นพื้นฐานของสังคมไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณค่าที่จะช่วยให้สังคมเกิดความแน่นอน โดยหากเกิดความขัดแย้ง ก็จะสามารถแก้ให้ทุกอย่างผ่านไปได้อย่างสันติพอสมควร

 

หลักประกันที่ว่าคือกฎหมาย คือรัฐธรรมนูญ ?

รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเป็นหลักอย่างหนึ่งที่กำหนดโครงสร้างพื้นฐานของการแข่งกันในการเข้าสู่อำนาจ แต่ผมยังหมายถึงกติกาอื่นๆ ด้วย เช่น กรอบขนบธรรมเนียมประเพณี กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่อยู่ในสังคม หลักปฏิบัติของสถาบันทางจารีตต่างๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย จึงทำให้เราไม่อาจคาดเดาความเป็นไปของสังคม แม้ในระยะเวลาอันใกล้ได้มากนัก

ในฐานะนักกฎหมายมหาชน อาจารย์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเกี่ยวกับกฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกฎกติกาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น วัฒนธรรม ประเพณี ในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งและเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

หากนับการก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ของสังคมไทย เราอาจจะเริ่มต้นที่ปลายปี 2548 ตั้งแต่เกิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จนในที่สุดเกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภาต้นปี 2549 จนถึงปัจจุบันก็เกินหนึ่งรอบแล้ว

เราต้องไม่ลืมว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐประหารสองครั้ง มีการสูญเสียที่เรียกว่าเป็นการสังหารหมู่กลางเมืองครั้งใหญ่หนึ่งครั้ง คือเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ไม่นับการปะทะครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้ง แสดงว่ากลไกที่เป็นอยู่ตามปกติไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายลงได้โดยสงบสันติ จึงเกิดวิธีการที่ต้องใช้กำลังทางกายภาพเข้าจัดการปัญหา ซึ่งหมายถึงการชุมนุมของมวลชนทั้งสองฝ่าย  และเราเห็นได้ชัดว่าการชุมนุมของมวลชนฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐในทางบริหารผ่านกลไกการเลือกตั้งมีผลเป็นการเปิดทางให้เกิดการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลด้วย

การกระทำรูปแบบนี้ส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะตัวกฎกติกาเป็นผลมาจากอำนาจแห่งความเป็นจริง นั่นคือใครที่สามารถกุมสภาพของการกำหนดกฎกติกาได้ ก็สามารถเปลี่ยนกฎกติกาได้

ถ้าเราเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2548 ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เทียบกับฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงรัฐธรรมนูญอยู่มากพอสมควร ในเรื่องหลักนิติรัฐ เราถอยหลังจากฉบับปี 2540 ลงไปมาก กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ควรจะก้าวหน้าขึ้นไป กลับถดถอยลงเรื่อยๆ ฉบับปี 2560 ก็ยิ่งถอยหลังลงกว่าฉบับปี 2550

การถอยหลังลงไปแบบนี้แสดงว่าฝ่ายผู้กุมอำนาจ กุมกลไกในการกำหนดกฎกติกาเหล่านี้ พยายามสร้างความมั่นคงแน่นอน ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าฝ่ายผู้กุมอำนาจพยายามที่จะสร้างความแน่นอนให้มากที่สุด ทั้งเรื่องการพยายามให้อำนาจสืบต่อไปผ่านสมาชิกวุฒิสภา มีการออกแบบการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ประหลาดที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าคนของตนเองจะนั่งอยู่ในนั้น รวมถึงบทบัญญัติเรื่องการนิรโทษกรรม และการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ผมก็รู้สึกว่า ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ความมั่นคงอยู่ดี

เป็นความมั่นคงของชนชั้นนำ ไม่ใช่ของสังคมส่วนรวม ?

ถูกต้อง ความมั่นคงที่ถูกทำขึ้นเป็นความมั่นคงเพื่อคนกลุ่มเดิม ซึ่งก็ไม่แน่ใจด้วยว่าจะมั่นคงหรือไม่ แต่คนเขียนกติกาเชื่อว่าถ้าพยายามทำให้คนกลุ่มนี้มั่นคง แล้วสังคมก็จะมั่นคง ถ้าคุณใช้อำนาจจัดการตรงนี้ได้ ก็จะทำให้สังคมเดินไปได้

แต่ผมกลับคิดว่ามันอาจจะไม่เป็นแบบนั้น ซึ่งผมอาจจะคิดผิดก็ได้ บางคนอาจคิดว่าตอนนี้มันมั่นคงจริงๆ แต่ถ้าเราดูในภาพใหญ่ มีกี่คนที่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้บังคับไปได้อีกนาน ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ตอบได้แน่นอนคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่อยู่ยืนยาวไป ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงในภายภาคหน้าอาจจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ

ผมถือว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้คือความไม่แน่นอน เพราะการที่คุณไปเขียนมอบความมั่นคงอย่างแข็งมากๆ ให้กับชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง มันไปเบียดทับความมั่นคงของกลุ่มอื่นออกไป จนทำให้ไม่เกิดความมั่นคงของสังคม เพราะการกระจายผลประโยชน์หรือการสร้างความยุติธรรมในคนกลุ่มอื่นย่อมน้อยลง

ส่วนในแง่ของขนบธรรมเนียมประเพณีจารีต เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย ความคุ้นเคยที่มีอยู่ตลอดระยะเวลายาวนาน 70 ปี เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่

สิ่งใหม่นี้อยู่ในห้วงเวลาที่เราต้องติดตามดูว่าจะนำมาซึ่งอะไรบ้าง ถ้าเราดูโดยทั่วไปในตอนนี้ มีความพยายามเหมือนจะย้อนอดีตกลับมาให้กับปัจจุบัน แต่การเอาอดีตกลับมาปัจจุบันแบบนี้จะรับกับยุคสมัยขนาดไหน จะไปได้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่หรือไม่ เพียงใด ยังเป็นคำถามตัวโตอยู่ หรือมันจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่ในที่สุด ก็จะหายไป เหมือนตอนที่คณะราษฎรพยายามสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาช่วงหนึ่ง แล้วเมื่อคณะราษฎรสิ้นอำนาจก็หายไปในที่สุด ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับพลังอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ

ถ้าถามว่าการเปลี่ยนแปลงในแง่ของขนบธรรมเนียมประเพณีจารีตจะไปได้ดีขนาดไหน ยังเป็นคำถามตัวใหญ่ซึ่งเร็วเกินไปกว่าที่จะตอบตอนนี้

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

12 ปีผ่านไป อาจารย์มีความคิดใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จแล้วถือเป็นการสถาปนาระบอบรัฐประหาร การที่ศาลพูดถึงระบอบแห่งการรัฐประหาร เหมือนกับบอกเราว่าเมื่อยึดอำนาจแล้ว ผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จสั่งอะไรมาก็เป็นกฎหมายทั้งสิ้น

ถึงวันนี้ ผมอยากโต้แย้งถ้อยคำที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ใช้สักหน่อยว่า รัฐประหารไม่ใช่ ‘ระบอบ’ (regime) รัฐประหารเป็น ‘ระบบ’ ใน ‘ระบอบ’ ต่างหาก ถ้าถามต่อว่า แล้ว ‘ระบอบ’ ที่สังคมไทยใช้ชีวิตอยู่ในตอนนี้เป็นระบอบอะไร ก็สุดปัญญาที่จะอธิบาย ผมขอเรียกระบอบนี้ว่า ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ เพราะเราไม่สามารถอธิบายตัวระบอบได้ภายใต้กฎกติกาในระบอบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ คุณมองเห็นแต่คุณพูดได้ไม่หมด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้มีอยู่จริง

ในวันข้างหน้า อาจจะอีกหลายปี เราอาจจะหันกลับมาตั้งชื่อให้มันได้ รวมถึงทำความเข้าใจระบอบนี้ได้มากขึ้น จนเห็นชัดขึ้นว่าการรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ฟันเฟืองของระบอบนี้หมุนไป

อะไรคือเนื้อหาสาระของ ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’

เนื้อหาของระบอบคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพหรือความขัดแย้งในลักษณะที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถตอบสนองระบอบนี้ได้ จะเกิดการรัฐประหารขึ้น

รัฐประหารเป็นสิ่งที่พร้อมจะเกิดขึ้น เพราะระบอบนี้โดยตัวของมันเอง ยอมรับระบบรัฐประหารด้วย ระบบรัฐประหารก่อรูปในทางปฏิบัติจนกลายเป็นแบบแผน และมีกลไกบังคับทางกฎหมาย คือทั้งฝ่ายที่ถืออาวุธและฝ่ายที่ถือกฎหมายต่างพร้อมกันดำเนินการให้เป็นไปตามการสั่งการ นักกฎหมายและศาลต่างก็ปรับตัวจนคุ้นชินกับการรัฐประหาร ระบบรัฐประหารมีการพัฒนาตัวเองจากช่วงแรกที่เน้นกำลังของฝ่ายถืออาวุธ มาเป็นการใช้อำนาจในนามของสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘กฎหมาย’ มากขึ้น เพราะระบบนี้พัฒนาจนถึงระดับที่นักกฎหมายเริ่มคุ้นชินแล้ว

การยึดอำนาจในปี 2549 มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา นี่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในการเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ  นั่นคือ เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีก โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกยุบ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่รัฐประหารคราวนั้นไม่ได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญเฉยๆ แต่มีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้น คือสร้างคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมารองรับ นำคดีในศาลรัฐธรรมนูญเดิมส่งต่อมาให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิน

นักกฎหมายบางท่านพยายามอธิบายว่าการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องน่าขันและน่าอาย เพราะเห็นได้ชัดว่าพยายามอธิบายสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร อันที่จริงแล้วการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหารครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นไปเพื่อให้ภารกิจบางประการของคณะรัฐประหารสามารถบรรลุได้โดยที่คณะรัฐประหารไม่ต้องใช้อำนาจเอง ถ้าเราย้อนไปดูการรัฐประหารในอดีต การยุบพรรคการเมืองจะทำโดยคณะรัฐประหารเองในรูปของคำสั่งคณะรัฐประหาร แต่พอถึงรัฐประหาร 2549 การทำแบบนั้นอาจดูโจ่งแจ้งเกินไป และดูไม่เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะยุบพรรคก็ไม่ควรทำให้โจ่งแจ้งและควรจะต้องให้ดูเป็นธรรม ซึ่งอันนี้มีเนติบริกรสนองอยู่

ดังนั้นจึงเกิดการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ให้คดียุบพรรคที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปด้วย ให้โอนมาที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ และให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อ พร้อมกับการออกประกาศคณะรัฐประหารให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ทำให้ในที่สุดแล้วก็บรรลุเป้าหมายได้เหมือนกัน และดูชอบธรรมกว่า

ไม่ว่าในความเป็นจริงจะชอบธรรมหรือยุติธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษายุบพรรคโดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็เป็นการกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อว่าทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นการตัดสินบนฐานของกฎหมายแล้ว แม้ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม การยุบพรรคโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคราวนั้น ผมมองว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการของระบบรัฐประหาร

ต่อมา รัฐประหารปี 2557 ได้ทำเรื่องนี้ต่างออกไปจากเดิม เราเห็นการกำหนดกติกาหลังรัฐประหารที่ไม่สนใจหลักการอะไรในทางกฎหมายชัดเจนขึ้น และเห็นการกำหนดกติกาที่พยายามพรางตัวให้ในทางรูปแบบรับกับสิ่งที่เป็นสากลมากขึ้น แม้ว่าในทางเนื้อหาไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างเช่นการไม่ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่บทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็ต่างจากศาลอื่นๆ เช่น ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เพราะศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเกิดจากกฎหมายจัดตั้งของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญโดยตรง

ความน่าพิศวงคือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับดำรงอยู่ต่อไปได้แม้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเอง จะถูกฉีกไปแล้ว เราจะอธิบายมันได้อย่างไร จะอธิบายว่าเพราะคณะรัฐประหารเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่ขัดขวางความต้องการของคณะรัฐประหารแน่ๆ จึงไม่จำเป็นต้องยุบ หรือจะอธิบายว่าจริงๆ แล้ว ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

เป็นอันว่าระบอบนี้ก็เผยตัวออกมาว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้มีคุณค่าความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐประหารสองครั้งล่าสุดทำให้ผมมองเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยหลักคิดในทางกฎหมาย ว่าในที่สุดแล้วในบ้านเรามันเป็นไปได้ทั้งสิ้น บรรดาสถาบันทางการเมืองที่เรารับมาจากตะวันตก พอมาอยู่ในเนื้อดินของสังคมไทย มันก่อตัวขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดบางอย่างในบริบทการเมืองไทยแท้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ตั้งอยู่บนคุณค่าที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับนับถือได้

แนวคิดที่ว่า ‘ระบบรัฐประหารทำงานอยู่ในระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยชัดขึ้นอย่างไร

พอเรามองว่ารัฐประหารเป็นส่วนย่อยของระบอบใหญ่ที่ทำงานของมันไป ก็ช่วยทำให้เรามองเห็นบรรดาตัวละคร ซึ่งปกติมองเห็นไม่ชัด ได้ชัดเจนขึ้น ถ้าเปรียบเทียบสิ่งที่ผมเรียกว่า ระบบรัฐประหารในระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้ กับ แนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ อาจจะพอทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง

แนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ที่ยอมรับนับถือกันว่าเป็นแนวความคิดที่อธิบายสภาพความเป็นไปของการเมืองไทยได้ดี คือ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล เกิดวิกฤตการณ์ ทหารยึดอำนาจ ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญ วนลูปไปแบบนี้ แม้จะทำให้เราเห็นสภาพทั่วไปของการเมืองไทย แต่ก็จำกัดความขัดแย้งเอาไว้ที่นักการเมืองกับกองทัพเป็นหลัก ซึ่งผมเห็นว่าไม่เพียงพอในการอธิบายการเมืองไทยจริงๆ เพราะมีสถาบันและปัจจัยอื่นๆ อีกที่ไม่ถูกผนวกเข้ามาในแนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ แต่ถ้าเรามองรัฐประหารในฐานะที่เป็นระบบของระบอบอะไรที่ใหญ่กว่า แม้ยังตั้งชื่อไม่ได้ บางทีเราอาจจะเห็นสถาบันต่างๆ ที่เข้าพัวพันกับการรัฐประหารได้ชัดเจนกว่า ถึงแม้ว่าเราจะพูดไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม

ถ้าเราทำความเข้าใจเฉพาะรัฐประหารแต่ละครั้ง ก็จะเห็นแค่รูปแบบของมันในแต่ละครั้ง ไม่เห็นภาพใหญ่ แต่ถ้าเรามองในลักษณะที่การรัฐประหารเป็นตัวระบบอะไรบางอย่างซึ่งทำให้ระบอบคงอยู่ได้ จะทำให้เราเห็นว่ามีตัวละครและองค์กรอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวพันเพื่อให้ตัวระบอบนี้อยู่ได้

เรายังไม่รู้แน่ว่า รัฐประหารคือการทำให้เกิดความมั่นคงหรือการดิ้นรนให้อยู่รอด ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ อาจจะไม่ได้เกิดด้วยความตั้งใจที่จะสร้างมันขึ้นมา แต่มันเป็นไปโดยสภาวะของการต่อสู้ทางการเมือง จนค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยคนในระบอบนี้ค่อยๆ สร้างกฎกติกาบางอย่างไปเรื่อยๆ โดยสภาพของการมีรัฐประหารขึ้นมา

‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ เกิดขึ้นในการเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมไม่อยากจะพูดว่ามันเกิดขึ้นในช่วงไหนในทันที เหตุการณ์ทั้งหมดค่อยๆ ก่อรูปขึ้น แต่มันชัดเจนขึ้นในการรัฐประหารสองครั้งหลัง  ที่น่าสนใจก็คือระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้นี้จะดำรงอยู่ต่อไปอีก หรือจบลงแล้วและกำลังแปลงร่างเป็นอีกระบอบหนึ่งซึ่งอาจไม่ต้องมีรัฐประหารเป็นระบบในระบอบนี้แล้ว

ในช่วงที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2530 หลายคนก็มั่นใจว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เราผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มานานพอสมควร แม้จะมีความพยายามในการยึดอำนาจซึ่งกลายเป็นกบฏไปสองครั้งในยุครัฐบาลเปรม แต่สุดท้ายก็กลับมามีรัฐประหาร 2534 ตามมาด้วยเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 และการปฏิรูปการเมืองปี 2540 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บังคับใช้ ก็ไม่มีใครคิดแล้วว่าทหารจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก แต่แล้วรัฐประหาร 2549 ก็เกิดขึ้น

ถามว่าตอนนี้มีใครเชื่อไหมว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีกเหมือนความรู้สึกสมัยปี 2530 หรือ 2540 ผมคิดว่าน่าจะหาได้ยาก รัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก สิ่งที่ไม่ปกติเริ่มกลายเป็นความปกติทีละเล็กทีละน้อย ระบบรัฐประหารกำลังก่อรูปอะไรบางอย่าง หรืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรบางอย่าง แต่เราอาจจะยังสรุปได้ไม่ชัดว่ามันคืออะไร

ความแตกต่างของรัฐประหารปี 2549 กับ 2557 ภายใต้ระบอบใหญ่เดียวกัน คืออะไร

รัฐประหารปี 2549 เป็นเหมือนปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในระบอบ นั่นคือ รัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าคุณทักษิณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาทำส่งผลให้เกิดการปะทะต่อตัวระบอบที่ดำรงอยู่

ถ้าพูดง่ายๆ ในทางหนึ่ง สำหรับระบอบที่ดำรงอยู่มา คุณทักษิณอาจเปรียบเสมือนเชื้อโรคบางอย่าง ตัวระบอบนี้สร้างแอนติบอดี ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อสู้ อันนี้เป็นการมองระบอบนี้ในแง่ดี โดยเรากำลังบอกว่าทักษิณเป็นเชื้อโรค แต่ในทางกลับกัน เราอาจมองว่าทักษิณเป็นสิ่งที่ดี และสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ตัวระบอบอยากจะฝืนอยู่แบบเดิมก็ได้

หลังรัฐประหารปี 2549 แม้จะสู้กับสิ่งแปลกปลอมด้วยการยุบพรรค แต่สิ่งแปลกปลอมก็พัฒนาตัวเองต่อ สร้างพรรคใหม่ ไม่ได้ตายจากไปอย่างสิ้นเชิง ในมุมของระบอบก็มองว่านี่เป็นเชื้อโรคที่ไม่ยอมตาย ยังกลับมาได้อีก ดังนั้นจึงต้องจัดกำลังที่มีเข้ามาต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ให้เด็ดขาดขึ้น

แล้วตัวระบอบก็เผยตัวออกมาใสขึ้น ก่อนหน้าปี 2549 หลายคนอาจมองไม่เห็น แต่ในช่วงวิกฤตการเมือง เรายิ่งมองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 และการมองเห็นโครงสร้างของระบอบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงวิชาการ แต่ลามไปถึงคนทั่วไปในสังคมด้วย

เราพูดถึงเรื่องรัฐพันลึก หรือ deep state แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่ deep แล้ว ทุกอย่างมันปรากฏตัวขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เพราะสิ่งแปลกปลอมในระบอบมีความแข็งแรงขึ้น ตัวระบอบจึงต้องออกแรงมากขึ้น การจัดการแบบลึกๆ ไม่สามารถจัดการได้ คุณต้องโผล่ขึ้นมาปริ่มผิวน้ำ กระทั่งเหนือผิวน้ำ

แน่นอนว่าในการโผล่ขึ้นมาจัดการ คุณก็ต้องพยายามพรางตัวอยู่บ้าง โดยใช้สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโลกตะวันตกตามหลักนิติรัฐประชาธิปไตยมาเป็นป้ายปัก แต่การโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำทำให้ไม่สามารถพรางตัวได้อีกต่อไป

ถามว่ากองเชียร์แต่ละฝ่ายรู้ไหม ทั้งสองฝ่ายรู้ แต่ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะสนับสนุน และไม่ปฏิเสธ รัฐประหารปี 2557 เลยทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างมากกว่ารัฐประหารปี 2549  เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ารัฐประหารครั้งหลังเป็นภาคต่อของครั้งแรก ในรูปแบบที่หนักและรุนแรงกว่าเดิม เป็นความพยายามในการรักษาระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้เอาไว้

พอเข้าใจแบบนี้แล้ว เปลี่ยนวิธีมองการเมืองไทยจากเดิมอย่างไร 

ในภาพหลัก มันทำให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นกว่าสมัยเรียนหนังสือ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการเมืองโดยตรงและส่วนที่เป็นองค์กรต่างๆ ในระบบกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นสมัยที่ผมเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย เราถูกสอนว่าระบบบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมไทยดีที่สุดในโลก เราไม่เคยตั้งคำถามกับมัน แต่พอได้มองเห็นมันชัดขึ้นก็พบว่าไม่ใช่ เราก็เปลี่ยนทัศนะไป

12 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นว่า คำอธิบายเดิมที่เคยเข้าใจมา มันไม่ถูก สิ่งที่เคยเรียนกันมา มันใช้ไม่ได้ หลายเรื่องมันผิด

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมเห็น ‘คน’  ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การที่เราจะนับถือหรือเคารพใครเป็นเรื่องสำคัญ การเมืองไทยในช่วง 12 ปีมานี้ ทำให้ผมเห็นคนและเข้าใจว่าคนก็เป็นแบบนี้  คนที่ผมเคยเคารพนับถือ ตอนนี้ผมไม่ได้เคารพนับถือเขาเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในช่วงที่ระบอบผลุบๆ โผล่ๆ เป็นช่วงที่ต้องใช้กฎหมายเป็นแกนหลัก ตัวผมเรียนกฎหมาย และเป็นกฎหมายมหาชนจากประเทศที่พัฒนาไปในทางทิศทางประชาธิปไตย มันจึงเห็นอะไรมากและกระทบกับชีวิตผมเยอะ

มันเป็นทั้งความโชคดีและโชคร้าย ผมเคยพูดกับกลุ่มคนรักประชาธิปไตยถึงการเปลี่ยนแปลง ผมบอกเขาว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะเกิดในชีวิตของเราหรือไม่ เราไม่รู้ เพราะชีวิตคนมันสั้น แต่หน้าของประวัติศาสตร์นั้นยาว เรามีชีวิตอยู่แค่ช่วงหนึ่งในบริบทการเมืองหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดวันนี้ คนฮือฮามากที่สุด วันหน้าก็เป็นได้เพียงแค่เชิงอรรถในประวัติศาสตร์ ไม่แม้แต่จะขึ้นไปปรากฏอยู่ในเนื้อหา หรืออาจจะไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์เลยก็ได้ เราลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อาจจะไม่ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงของมันเลยก็ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ยอมอย่างแน่นอนคือ เราจะไม่ตายอย่างโง่ๆ เราจะไม่ตายแบบไม่รู้อะไร สำหรับผมนี่คือคุ้ม เราจะตายไปโดยรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงเราอาจจะพูดได้ไม่หมด อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ว่ามันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้

ถ้าอย่างนั้นบทบาทของคนที่อยากเปลี่ยนสังคมควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าเขาต้องเห็นและรู้ นอกจากนี้ควรมีหลักคิดบางอย่างที่รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

การตัดสินใจว่าจะลงมือทำหรือไม่ ทำอะไร เป็นเรื่องของปัจเจกที่แต่ละคนต้องวินิจฉัยเอง แต่ถ้าถามว่ามีข้อเตือนใจอะไร ผมคิดว่าเราอย่าเล็งผลเลิศ

การทำแบบเล็งผลเลิศต่างจากการทำโดยรู้ถึงข้อจำกัด การกระทำโดยเห็นข้อจำกัดของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่เราเจออุปสรรคที่ทำให้การกระทำยังไม่สำเร็จ มันทำให้เราไม่หมดกำลังใจ หากคุณทำแบบเล็งผลเลิศแล้วไม่สำเร็จ คุณจะหดหู่และหมดความหวังไปเลย

ผมสนับสนุนให้คนลงมือทำ ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงโลกได้สำเร็จ แต่เราต้องลงมือทำ มันถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่าเล็งผลเลิศ อย่าคาดหวังว่าจะต้องมองเห็นความสำเร็จในชั่วชีวิตเรา และการลงมือทำนั้นขึ้นอยู่กับคนแต่ละคนว่าถนัดแบบไหน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องลงมือทำในแบบเดียวกัน

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ขอชวนคุยถึงตัวอย่างรูปธรรม ตอนอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ศิษย์รักและเพื่อนร่วมความคิดในกลุ่มนิติราษฎร์ มาบอกว่าจะไปทำงานการเมือง อาจารย์บอกเขาว่าอย่างไร 

ผมก็ไม่ถึงกับเชียร์และไม่ถึงขนาดห้าม ตอนที่เขาเริ่มทำพรรค เขาไม่ได้คุยกับผม มาคุยกับผมตอนที่ตัดสินใจแน่นอนแล้ว เขาเพียงแต่ถามผมว่า ถ้าจะทำพรรค ควรลงเลือกตั้งในครั้งนี้เลยหรือรอไปก่อน ผมก็บอกว่า ถ้าตัดสินใจว่าจะทำพรรคการเมือง คุณไม่ลงเลือกตั้งไม่ได้ แน่นอนว่าภายใต้กฎกติกาแบบนี้มีข้อจำกัดเยอะ ให้คิดให้ดี ถ้าจะทำพรรคการเมืองก็ต้องทำให้คนเลือก การเป็นพรรคการเมืองคือการแสวงหาอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะการลงเลือกตั้งคือการที่คุณต้องการอำนาจเพื่อไปเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งสำคัญคือคุณได้อำนาจแล้วใช้เปลี่ยนแปลงอะไรต่างหาก

ผมแค่ถามเขาว่าเป็นอิสระหรือเปล่า หากไม่เป็นอิสระก็อย่าทำ เขาบอกว่าอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร ผมก็บอกว่า ตามสบาย ทำในสิ่งที่อยากทำ ผมรู้ว่าเขามี passion ทางการเมือง ผมไม่ได้มี passion ทางการเมืองเหมือนเขา อันนี้อาจเพราะวัยที่ต่างกัน อีกอย่างหนึ่งผมไม่ได้มีความถนัดทางการเมือง แม้ว่าจะติดตามการเมืองอยู่ ผมมีโลกส่วนตัวพอสมควร ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับการทำงานทางการเมือง ไม่นับว่ายังมีภาระในทางส่วนตัวอีกด้วย แน่นอนว่าบางคนอาจมองว่านี่คือโอกาสทางประวัติศาสตร์ในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ทำตอนนี้อาจเสียโอกาสไป ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ อันนี้เป็นการประเมินต่างกัน

ข้อปฏิบัติของผมในฐานะอาจารย์คือการให้ข้อคิดและให้เขาตัดสินใจเอง นี่เป็นชีวิตของเขาที่ต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ชีวิตของเรา ผมคุยกับปิยบุตรว่าบทบาทในอดีตของเขาทุกๆ ด้านอาจจะเป็นราคาที่เขาต้องจ่ายในอนาคต เขาเป็นคนที่แสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย เคยเป็นนิติราษฎร์ ซึ่งหลายอย่างอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต คงหนีไม่พ้นที่เรื่องในอดีตจะถูกนำมาพูดถึง

หมายถึงเรื่องข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

112 เป็นเรื่องหนึ่งแน่ๆ สำหรับเรื่อง 112 หลักของผมคือว่า เขาเป็นคนเล่น เป็นคนเสี่ยง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้วเขาจะรับความเสี่ยงแค่ไหนเป็นเรื่องที่เขาต้องประเมิน และเขาทำได้แค่ไหนก็คือแค่นั้น ตอนที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็มีคนถามว่าทำไมไม่เสนอให้ยกเลิก ผมมีเหตุผลของผมที่เสนอว่าทำไมจึงควรเป็นเพียงแค่การแก้ไขในห้วงเวลานั้น แล้วยังมีอะไรข้างหลังอีกหลายอย่างที่ทำให้ตัดสินใจแบบนั้น

เวลาที่คุณต้องนำในทางความคิด ไม่มีหรอกที่ทุกคนจะคิดเหมือนกัน แม้แต่ในระนาบของนิติราษฎร์เองก็ไม่มีหรอกที่ระดับความเห็นของแต่ละคนจะเท่ากันหรือเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาเท่าไหนที่เหมาะสมที่สุด แน่นอนว่าคุณต้องคำนึงถึงคนที่จะมาร่วมด้วย และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมยอมรับได้โดยไม่เสียหลักการ เพราะบางคนต้องการมากกว่าที่เสนอ บางคนต้องการน้อยกว่าที่เสนอ

ผมก็รู้ตั้งแต่ตอนทำแล้วว่ามันมีความเสี่ยง แต่ถามว่าคุ้มไหมที่ได้เปิดประเด็นนี้ออกไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง มันก็คุ้มอยู่ในแง่ประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้ว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจก็ตาม เพราะคนอีกไม่น้อยก็เห็นว่ามันมีปัญหาเรื่องนี้จริงๆ

ผมเคยอธิบายว่ามาตรา 112 มีปัญหาอยู่สามระดับ คือตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์เบื้องหลังตัวบท มันมีสามระดับชั้นซ้อนกัน ในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องการบังคับใช้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มาตรา 112 ถูกใช้น้อยลง และมีลักษณะการใช้เปลี่ยนไปจากเดิม มีการให้ประกันตัว มีกระบวนการกรองเรื่องก่อนฟ้องคดี แต่ถามว่ามันเป็นการคลายลงจนถึงระดับที่จะไม่มีการบังคับใช้เลยหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เราเห็นกรณีของไผ่ ดาวดิน เป็นตัวอย่าง และอย่าลืมว่ามีรูปจำแลงของมาตรา 112 ขึ้นมา เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และแน่นอน โดยที่ตัวบทยังไม่ได้รับการแก้ไข เราจึงไม่มีทางที่จะแน่ใจได้ว่าเมื่อไหร่ที่การบังคับใช้จะกลับไปเป็นในลักษณะเดิมอีก

ส่วนในแง่ของตัวบทกับอุดมการณ์เบื้องหลังยังคงเป็นปัญหาอยู่เหมือนเดิม มาตรา 112 เป็นหนึ่งในมาตราที่ผมเรียกแบบลำลองว่าเป็นกฎหมายอาญาตระกูลหมิ่น ไล่ตั้งแต่การดูหมิ่นบุคคลธรรมดา เจ้าพนักงาน ศาล ประมุขรัฐต่างประเทศ การทบทวนกฎหมายตระกูลนี้ควรต้องทำทั้งระบบ เช่น ไม่ควรกำหนดให้โทษหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาที่ต้องมีการติดคุกกัน แต่ควรกำหนดเป็นการปรับ และการจ่ายค่าเสียหายในอัตราที่สูงแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็ควรที่จะอภิปรายถกเถียงกัน ไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้ามที่แตะต้องไม่ได้

ในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ สุดท้ายเขาก็ต้องตัดสินใจ โดยประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ผมเข้าใจเขานะในแง่ของการทำให้พรรคเกิดขึ้น แต่เสียดายที่ดรอปเรื่องมาตรา 112 เร็วเกินไป คือสุดท้ายอาจจะได้ข้อสรุปแบบนี้ก็ได้ แต่หากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องนี้กันบ้างในพรรคก่อน หมายถึงหลังจากตั้งพรรคแล้วน่าจะดีกว่า คือทำให้ประเด็นนี้เป็นเรื่องของพรรค ไม่ใช่ของหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค จากนั้นถ้ามีเหตุผลว่าทำไมในขณะนี้ยังไม่ควรเป็นนโยบายของพรรคก็ว่ากันไปในชั้นของการทำนโยบาย แต่ผมคิดว่าที่เขาดรอปเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ก็คงด้วยเหตุผลเพื่อให้การตั้งพรรคและงานการเมืองเดินไปได้ ซึ่งมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย จะคุ้มหรือเปล่าในระยะยาวผมก็ไม่แน่ใจ เพราะถึงที่สุดแล้ววันหนึ่งก็จะมีคนถามว่าการตั้งพรรคการเมือง ตั้งมาเพื่ออะไร แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างไร ซึ่งอันนี้ก็คงต้องดูกันไป วันนี้อาจจะยังเร็วไปที่จะประเมิน

ถ้าโจทย์ของปิยบุตรในการลงมือเปลี่ยนประเทศคือการเล่นการเมือง โจทย์ของวรเจตน์คืออะไร อาจารย์วางตัวเองอยู่ตรงไหน

จริงๆ ผมก็ไม่มีโจทย์อะไร ถ้าไม่มีเหตุการณ์การใช้กฎหมายที่ผิดหลักการ การขยายอำนาจศาลในนามตุลาการภิวัตน์ การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ และการทำลายประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ ก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงลงไปจนถึงรากเท่าไหร่ ผมก็คงเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทำงานวิชาการไปเงียบๆ ในสาขาของตัวเอง แล้วก็เกษียณอายุราชการไป การออกมามีบทบาทในห้วงเวลาหนึ่งมันเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการใช้กฎหมาย ซึ่งบังเอิญเป็นเรื่องที่ผมเรียนมาและพอมีความรู้อยู่ ผมก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นแบบที่เป็นอยู่นี้

ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงแรกที่ผมกลับมาจากต่างประเทศ ผมก็สอนหนังสือ ทำวิจัย ให้สัมภาษณ์ในประเด็นกฎหมายบ้าง ต่อมาในยุครัฐประหาร 2549 ก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มห้าอาจารย์ออกแถลงการณ์วิจารณ์มากขึ้น

ถัดจากนั้นพอถึงช่วงปี 2553 ผมรู้สึกว่ามันน้อยเกินไปสำหรับการเป็นฝ่ายติดตามวิจารณ์ตามสถานการณ์ แล้วตอนนั้น สื่อมวลชนเรียกว่าเป็นห้าอาจารย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ มันถูกยึดโยงกับคณะ ซึ่งอาจารย์บางคนในคณะที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราก็อาจจะไม่ชอบ เพราะมันเหมือนกับการเอาชื่อคณะไปใช้ ทั้งที่ความจริงสื่อตั้งให้เอง เราไม่เคยตั้งชื่อ

เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น ก็ตั้งชื่อแล้วกัน จึงเกิด ‘นิติราษฎร์’ ขึ้นมา แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของนิติราษฎร์ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในปี 2553 อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราอยากให้กระแสความคิดทางวิชาการกฎหมายไม่ใช่เป็นแบบเดียวอย่างที่ครอบงำสังคมอยู่ เราจึงทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ไม่ได้วิพากษ์ตามประเด็นข่าว เช่น คำพิพากษาศาลหรือการใช้กฎหมายขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างสมัยเมื่อเป็นกลุ่มห้าอาจารย์ แต่เราจะนำสังคมทางความคิดในแง่มุมกฎหมายมากขึ้น รวมทั้งเปิดประเด็นถกเถียงสาธารณะ เช่น ข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112

เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมา การทำงานที่เกี่ยวกับสาธารณะของผมน่าจะแบ่งเป็นสามช่วง คือ ช่วงให้สัมภาษณ์ประเด็นกฎหมายทั่วไป ช่วงกลุ่มห้าอาจารย์ ซึ่งมีการออกแถลงการณ์วิจารณ์การใช้กฎหมายของศาลและองค์กรอิสระ ถ่วงดุลกับฝ่ายสนับสนุนตุลาการภิวัตน์ และช่วงนิติราษฎร์ ซึ่งพยายามนำความคิดในทางกฎหมายออกสู่สังคม โดยเฉพาะการให้ความรู้และทัศนะทางกฎหมายต่อประชาชน อธิบายในสิ่งที่ถูกต้องให้คนทั่วไปฟังอย่างตรงไปตรงมาเท่าที่ทำได้ ช่วงหลังนี้พอจะพูดได้ว่าจบไปตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557

หลังรัฐประหารปี 2557 นิติราษฎร์โดนกระทำเยอะ เว็บไซต์ถูกปิด สาวตรี สุขศรี ถูกเรียกรายงานตัว ผมถูกเรียกรายงานตัวและมีคดี เราก็ทำอะไรไม่ได้ถนัด ที่ทำได้บ้างก็คือการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปออกเสียงประชามติ และการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนั้น แต่ก็ทำไม่ได้เต็มที่ ทุกวันนี้นิติราษฎร์ไม่ได้เลิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็หมดบทบาทไปโดยสภาพ ซึ่งผมก็ไม่ได้เสียดายอะไร เพราะในเวลาที่เราควรทำ เราก็ได้ทำอะไรไว้เต็มที่เท่าที่ทำได้แล้ว อันที่จริงแล้วในช่วงหลังๆ การทำกิจกรรมก็ยากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้สถานที่ หรืออื่นๆ บางทีผมก็อดคิดไม่ได้ว่าระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้นี้เริ่มเห็นว่านิติราษฎร์เป็นเชื้อโรคอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็เลยมีปฏิกิริยาต้านในรูปแบบต่างๆ กัน

อันที่จริงในแง่ของการทำงานที่เกี่ยวพันกับสาธารณะ ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดกับตัวผมเหมือนกัน แม้ว่าตอนที่เป็นนิติราษฎร์ ผมจะพยายามจำกัดการทำงานไว้ที่วิชาการเป็นหลักแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นประเด็นทางการเมือง และประชาชนให้ความสนใจเยอะ ก็ทำให้คนคาดหวังการกระทำทางการเมือง ซึ่งผมไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังเหล่านั้นได้ เพราะเราไม่ใช่พรรคการเมือง และเราก็เล็กมาก มีกันแค่เจ็ดคนเท่านั้น

จนมาถึงจุดที่มีคนถามว่านิติราษฎร์ควรพัฒนาต่อไปเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ ผมก็เบรก เพราะรู้สึกว่ามันไกลกว่าที่ผมคิดไปมาก โดยส่วนตัวตอนตั้งนิติราษฎร์ ผมคิดถึงเฉพาะแต่เรื่องการพูดถึงเรื่องราวทางกฎหมายในทางวิชาการเป็นหลัก ถ้ามันจะมีผลกระทบทางการเมืองก็ให้มันเป็นไป แต่ผมไม่ได้คิดถึงการทำอะไรทางการเมืองโดยตรง

ถ้าถามว่าแล้ววันนี้ยังไงต่อ ผมก็ยังไม่ได้คิดอะไร ช่วงที่สี่ของผมอาจจะยังมาไม่ถึง และถ้ามันจะมาไม่ถึงเลยก็ปล่อยมันไป ตอนนี้ผมกลับไปเขียนหนังสือ เพราะว่าในสภาวะที่ถูกกระทำแบบนี้ เราก็ต้องกลับไปทำในสิ่งที่เราทำได้ และคิดว่าไม่ว่าอย่างไรมันก็คงมีประโยชน์ในระยะยาวอยู่นั่นเอง

นักคิดฝ่ายซ้าย เช่น มาร์กซ มองประวัติศาสตร์เป็นเส้นทางที่มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์คิดว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นแบบนั้นหรือเปล่า 

ผมไม่แน่ใจว่าเราควรจะมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบไหนดี แต่การมองอันหนึ่งที่อาจมองได้ และไม่ทอนกำลังใจของเรามากเกินไปนัก คือมองว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นเกลียวที่หมุนขึ้นไปช้าๆ ตอนนี้หลายคนอาจรู้สึกเหมือนเราย้อนกลับไปในอดีต แต่จริงๆ แล้ว การย้อนอดีตในขณะนี้ก็ไม่ใช่การกลับไปในยุคสฤษดิ์ ด้วยความที่มันเป็นเกลียว บางจังหวะมันเลยหมุนย้อนกลับ อาจจะไปคล้ายกับเรื่องในอดีต แม้ว่ามันจะถูกดึง ถูกหน่วง ย้อนไปทับวงของอดีตบ้าง แต่โดยรวมผมคิดว่ามันน่าจะหมุนขึ้น มันหมุนขึ้นไปอยู่ เพียงแต่ว่ามันช้าไปหน่อย และบางจังหวะมันอาจมีหมุนกลับบ้าง

ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรรมนูญ กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวรณรงค์โหวตโนเสียใจมาก ผมบอกพวกเขาว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้นเกิดขึ้นในสนามที่ไม่ยุติธรรม มันไม่ใช่การพ่ายแพ้จริงๆ หรอก เราไม่ควรทอนกำลังใจตัวเอง ความพ่ายแพ้แต่ละครั้งจะทำให้สังคมมีบทเรียนของมันเอง มันเหมือนคุณขึ้นชกมวยภายใต้กฎกติกาที่ไม่เสมอกัน ถ้าคุณไม่ขึ้น ก็แปลว่ายอมแพ้แต่แรก แต่การตัดสินใจขึ้นชกก็ยังสามารถพูดได้ว่าเราพยายามสู้แล้ว

เราต้องชี้ให้เห็นถึงกติกาในการทำประชามติที่ไม่เป็นธรรม และใช้สิ่งนี้เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลักของราษฎรในอนาคต ทุกวันนี้ยังมีคนถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์ประชามติ ดังนั้นคนที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรมเพราะผ่านการทำประชามติแล้ว คุณไม่สามารถอ้างได้แบบภูมิใจจริงๆ และไม่อาจอ้างความชอบธรรมจากตัวเลขของผู้มาออกเสียงประชามติรับรัฐธรรมนูญจริงๆ ได้ เพราะประชามติไม่ได้ถูกจัดขึ้นตามมาตรฐานสากลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญถูกบังคับใช้ ประชาชนจะเห็นเองว่ามันมีปัญหาอะไรเยอะแยะไปหมด

ผมไม่ปฏิเสธว่า การเมืองไทยมีส่วนที่ถอยหลังลงไปเหมือนกัน แต่มันถอยแบบหมุน ในอีกด้านหนึ่ง มันยังมีแรงบางอย่างที่ดันไปข้างหน้าอยู่ด้วย แรงดันนี้เมื่อถึงเวลา มันจะแสดงตัวของมันออกมา ตอนนี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เพราะยังไม่มีกำลังเนื่องจากถูกตรึงอยู่ กำลังทางกายภาพไม่ได้อยู่ในฝั่งที่จะผลักให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ฝ่ายนี้แพ้อยู่ บางคนต้องลี้ภัย บางคนโดนคดี แต่ในภาพรวมมันไปข้างหน้า คนจำนวนมากมองเห็นว่ารัฐประหารทำให้ประเทศชาติถอยหลังกันมากขึ้นๆ หรือสถานะของศาลในตอนนี้กับในช่วงก่อนความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนกันไหม คำตอบก็คือไม่ คนดีในยุคนั้นกับในยุคนี้นิยามก็ไม่เหมือนกัน มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในสังคม

มันมีช่วงถอยหลังอยู่จริง แต่โดยรวมมันเดินหน้าอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในเชิงคุณภาพอยู่ เพียงแต่ยังไม่แสดงตัวออกมา แม้ว่าในอนาคตอันใกล้ ผมยังไม่เห็นอะไรมากนัก ก็ยังคิดเสมอว่าวันหนึ่งมันจะผลิบานออกมา อาจจะเบ่งบานไปเลยหรือค่อยๆ บานอย่างช้าๆ ก็ได้.

หมายเหตุ: อ่าน บทสัมภาษณ์ ‘มอง 2019’ ชุด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ ของ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครบทั้งสามตอนได้ตามลิงก์ด้านล่าง

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 1 : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 2 : “ถึงเวลาหาคำใหม่ ใช้แทน ‘รัฐธรรมนูญ’ ”

ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร คาบที่ 3 : “ยุทธศาสตร์คือเรียกร้องศาลให้ต่อต้านรัฐประหารเชิงรับ”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save