fbpx
วูดโรว์ วิลสันกับความโหดร้ายของประวัติศาสตร์

วูดโรว์ วิลสันกับความโหดร้ายของประวัติศาสตร์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ข่าวผู้บริหารมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันตัดสินใจปลดชื่อประธานาธิบดีวิลสันตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่นั่นแล้วเปลี่ยน Woodrow Wilson School of Public and International Affairs อันเคยทรงเกียรติภูมิ มาเป็น Princeton School of Public and International Affairs โดยความเห็นร่วมกันว่า การตัดสินใจนี้จะเป็นการรักษาแบบอย่างของสถาบันการศึกษาอันสง่างามในการพิทักษ์รักษาหลักการอันถูกต้องเอาไว้  ทำให้ผมเกิดความรู้สึกนึกคิดหลายอย่างขึ้นมาพร้อมกัน

ความสนใจของผมต่อวิลสันส่วนหนึ่งมาจากสังกัดทางวิชาการที่อยู่ในรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งถือวิลสันว่ามีสำคัญในระดับผู้วางรากฐานอย่างน้อยใน 2 สาขาวิชาด้วยกัน คือ Public Administration และ International Affairs ดังที่พรินซ์ตันนำชื่อเขามาเป็นเกียรติแก่สำนักที่ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาและวิจัยใน 2 สาขานี้  ในสาขาแรก วิลสันเป็นคนสำคัญที่วางรากฐานในการแยกการบริหารงานภาครัฐและการดำเนินนโยบายสาธารณะออกมาเป็นศาสตร์เฉพาะทาง และเป็นต่างหากจากการศึกษาการเมืองและปัญหาทางรัฐธรรมนูญ การแยกรัฐประศาสนศาสตร์ออกมาเป็นสาขาหนึ่งอย่างเป็นเอกเทศเช่นที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ รวมทั้งการแยกการตัดสินใจทางการเมืองออกจากการตัดสินใจทางการบริหาร แยกมติมหาชนและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายออกจากการจัดการและบริหารให้เกิดผลตามนโยบายโดยเทคโนแครต ล้วนได้ชุดเหตุผลจากบทความคลาสสิกปี 1887 ของวิลสัน “The Study of Administration” เป็นจุดตั้งต้น

ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพแวร์ซายส์ 14 ข้อของวิลสันไม่เพียงแต่จะช่วยวางรากฐานให้แก่การศึกษาการเมืองระหว่างประเทศในแนวทางเสรีนิยม แต่ยังส่งผลสะเทือนหลายทางกว้างไกลและสืบเนื่องต่อหลักการจัดระเบียบและพลวัตของการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนแนวทางการดำเนินนโยบายทั้งระดับมหาอำนาจ และส่วนที่ตกอยู่ในสภาวะอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม  คู่เทียบอิทธิพลแข่งกับวิลสันในส่วนนี้ ได้แก่ เลนิน  ดังเช่นขบวนการ 4 พฤษภาคมในจีนนั้นส่วนหนึ่งปะทุขึ้นมาด้วยความหวังจากหลักการ 1 ใน 14 ข้อของวิลสันเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองตนเองและด้วยความผิดหวังรุนแรงเมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามหลักการที่วิลสันประกาศไว้  เปิดทางให้อิทธิพลความคิดของเลนินเข้ามาแทนที่  แต่เมื่อเกิดคลื่นประชาธิปไตยลูกที่ 3 และการเคลื่อนไหวในปี 1989 หลายคนก็เห็นว่านี่เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าวิลสันเหนือกว่าเลนิน และพากันชื่นชมในชัยชนะของเสรีนิยมในการเมืองระหว่างประเทศกันใหญ่

แต่นอกจากแนวทางเสรีนิยมแบบ Wilsonian แล้ว  สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังใช้วิลสันสำหรับการเรียนรู้ในอีกแนวทางหนึ่งด้วย นั่นคือ การศึกษาการเมืองระหว่างประเทศตามแนวทางจิตวิทยา ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพ ทัศนคติ สภาวะทางอารมณ์และจิตวิทยาของตัวบุคคลเกี่ยวกับการรับรู้ การคิดและการใช้เหตุผล กับการตัดสินใจของผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบาย อันที่จริง การศึกษาผู้นำในแง่มุมทางจิตวิทยาเช่นนี้มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมีการตื่นตัว หรือจำกัดวงอยู่แต่ในสาขาวิชาการทางสังคมศาสตร์เท่านั้น  เพราะแม้แต่ในหมู่ผู้นำด้วยกันเอง เมื่อพวกเขามาเจอกันในสนามการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการเผชิญหน้ากันหรือมาทำงานร่วมกัน การจับตาสังเกตเพื่อค้นหาทำความเข้าใจบุคลิกตัวตนของอีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นวิธีการที่พบได้เป็นปกติวิสัยในคลังเครื่องมือของผู้นำที่ชาญฉลาด

ในบรรดานายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 20  David Lloyd George เป็นผู้นำ 1 ใน 2 คนที่ได้ชื่อว่ามีความสามารถชาญฉลาดที่สุด  บทวิเคราะห์บุคลิกภาพที่ลอยด์ จอร์จถ่ายทอดข้อสังเกตของเขาเกี่ยวกับวิลสันและเอ็ดเวิร์ด เฮาส์ผู้เป็นมือขวาของวิลสันออกมาได้อย่างแจ่มชัด จากการที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันระหว่างการเจรจาข้อตกลงสันติภาพที่ปารีสจึงน่าสนใจเป็นพิเศษ และนับเป็นงานต้นแบบอันควรแนะนำแก่ผู้สนใจได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงานในแวดวงการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ควรพลาดที่จะพิจารณาวิธีที่ลอยด์ จอร์จศึกษาวิลสัน รวมทั้งภาษาเขียนเรียบเรียงอันเกลี้ยงเกลาของเขา [1]

ส่วนในทางวิชาการ มีงานของ Alexander L. George & Juliette L. George (1956, 1964) เรื่อง Woodrow Wilson and Colonel House: A Personality Study ที่จัดว่าเป็นงานบุกเบิกสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง  เพราะไม่เพียงแต่ George & George จะผสมทฤษฎีด้านจิตวิเคราะห์กับข้อมูลประวัติศาสตร์และการเขียนชีวประวัติผู้นำการเมืองออกมาเป็นงานต้นแบบในทางวิธีวิทยา  แต่ชีวิตการงานของวิลสันเอง ที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดจนถึงระดับเป็นผู้นำโลกในการกำหนดระเบียบระหว่างประเทศหลังมหาสงคราม กับบุคลิกภาพที่มีข้อบกพร่องฉกรรจ์ของเขา จนตัวเขากลายเป็นศัตรูสำคัญที่สุดของตัวเองที่มาทำลายความสำเร็จอันควรยิ่งใหญ่ทั้งหมดนั้นลงไป ก็ทำให้การศึกษาวิลสันตั้งแต่ต้นจนปลายที่ลงท้ายด้วยความล้มเหลวหมดสิ้นนั้น เหมือนพาเราให้มาเห็นตัวละครเอกในโศกนาฏกรรมของ Sophocles

การตัดสินใจของพรินซ์ตันในจังหวะเวลาครบรอบ 110 ปีที่วิลสันออกจากตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นมา จึงเหมือนกับมาเติมความเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตและผลงานของวิลสันซ้ำลงไปอีก  และเมื่อคำนึงถึงความบกพร่องติดตัวในบุคลิกลักษณะในวิธีคิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเขาซึ่งไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้วในตอนนี้   คำถามที่ผุดขึ้นมาเมื่อผมเห็นข่าวการตัดสินเรื่องวิลสันของพรินซ์ตันก็คือ  มันจำเป็นต้องลงเอยแบบนี้ไหม?

ข้อเรียกร้องให้ถอดชื่อวิลสันออกจากทุกส่วนของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเกิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 2015  จากการย้อนค้นข่าวเก่ามาอ่านอีกครั้ง ผมพบที่  Associated Press รายงานคำตอบของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเมื่อเกิดข้อเรียกร้องขึ้นมาทีแรกนั้นว่า การจะตัดสินใจทางใดทางหนึ่งลงไปในเรื่องนี้ “สำคัญมากทีเดียวที่จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความคิดเหยียดสีผิวของวิลสันและดูว่ามันเลวร้ายอย่างไร โดยเทียบกับคุณูปการที่เขาได้ทำให้แก่ประเทศชาติ”

ในแง่หนึ่ง คำตอบนี้ดูจะบ่งให้คนฟังคิดถึงคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของพรินซ์ตันคือ “In the Nation’s Service and the Service of Humanity” คำขวัญครึ่งแรกนั้นเป็นคำของวิลสันเอง  คำตอบของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในปี 2015 จึงดูเป็นการเชิญชวนให้นักศึกษาทั้งหลายคิดถึงวิลสันในด้านที่เป็นคุณูปการของเขา   และถ้าคำนึงถึงหลักการ 14 ข้อที่วิลสันเสนอเป็นรากฐานของระเบียบระหว่างประเทศใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบด้วยแล้ว  ก็คงนับว่าเขาเป็นผู้นำที่อยู่ในข่ายมีคุณูปการต่อมวลมนุษย์ได้กระมัง

นอกจากนั้น คำตอบของผู้บริหารมหาวิทยาลัยข้างต้นบอกความจริงอยู่ในตัวว่า ความรู้เกี่ยวกับวิลสันในส่วนที่เป็นด้านลบของเขา ทั้งทัศนะและความคิด ทั้งบุคลิกภาพและพฤติกรรมการแสดงออก ทั้งการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และผู้บริหารประเทศในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ไม่ใช่เรื่องปกปิดไม่เป็นที่รับรู้กัน  มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันยิ่งรู้จักวิลสันอย่างลึกซึ้ง ทั้งความสำเร็จที่เขาทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับแนวหน้าของประเทศในระหว่างที่เขาเป็นอธิการบดี และส่วนที่เป็นความล้มเหลวใหญ่ในการบริหารงานอันมีเหตุมาจากจุดอ่อนในบุคลิกวิธีคิดของวิลสันเอง

วิลสันเป็นคนมีความคิดแบบ racist ใช่ไหม?  แน่นอน ไม่มีข้อกังขาในเรื่องนั้น  แล้วตอนเขาเป็นประธานาธิบดีเขาดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้การแบ่งแยกและเหยียดสีผิวเลวร้ายลงใช่ไหม?  ก็ใช่อีก  คนที่รู้ประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบาย segregation ในสหรัฐฯ ที่แบ่งแยกกีดกันคนผิวดำมิให้ใช้สถานที่และบริการต่างๆ ร่วมกับคนผิวขาว ทราบดีว่าประธานาธิบดีวิลสันเป็นคนอนุมัติให้นำนโยบายแบ่งแยกสีผิวเช่นนี้กลับมาใช้ใหม่ในหน่วยงานภาครัฐ ความเลวร้ายของการตัดสินใจแบบนี้ทำให้ในกิจการไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่อาจแยกปฏิบัติภารกิจกับคนร่วมงานผิวขาวคนอื่นๆ  ต้องถูกบังคับให้เข้าไปนั่งทำงานอยู่ในกรงที่ล้อมคอกเขาไว้  และนี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในหลายๆ มาตรการที่เป็นการกีดกันคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างที่วิลสันเป็นประธานาธิบดี  การฉายไฟส่องเข้าไปเห็นจุดดำมืดทางความคิดและการดำเนินนโยบายแบบ racist ของเขาจึงทำให้พรินซ์ตันไม่อาจเก็บวิลสันไว้คู่กับการดำรงอัตลักษณ์ที่ยึดมั่นใน  “In the Nation’s Service and the Service of Humanity” ของมหาวิทยาลัยต่อไปได้

และไม่เพียงแต่พรินซ์ตัน หลักการเสรีนิยมในการเมืองระหว่างประเทศที่มี Wilsonianism เป็นรากฐานก็ถูกเงาของ racism ทาบทับลงมาด้วย  แต่ความจริง racism เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครมองในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่ามันจะอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่ต้น แต่พอเป็นแบบนี้ มันก็เลยเห็นกันโจ่งแจ้งขึ้นมา  เมื่อพรินซ์ตันตัดสินใจไปแล้ว  ก็น่าติดตามต่อว่า หลังจากนี้สถานะของ Wilsonianism ในการเมืองระหว่างประเทศ และใน tradition ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป?  แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้มีอยู่ว่า ด้วยวิธีคิดเหยียดสีผิวแบบ White Supremacist ของวิลสัน  ถ้าหากผมซึ่งไม่ได้เป็นคนอเมริกัน เกิดมีทางบังเอิญย้อนกลับไปเจอกับเขาได้ในระหว่างการเจรจาสันติภาพที่ปารีส  ผมก็รู้ตัวว่าเขาและบางทีจะรวมถึงผู้นำร่วมสมัยนั้นอีกหลายคน ก็คงมองเห็นที่ผิวเหลืองของผมก่อนที่จะเห็นอะไรอื่นแน่

พอคิดมาถึงตรงนี้ ผมก็พบอีกคำถามอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ ใครบ้างที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการปฏิเสธวิลสันและความคิดของเขา?

การคิดถึงคนผิวเหลืองกับคำถามใหม่ที่เกิดขึ้นมา ยังทำให้ผมนึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งต่อมา  การเหยียดผิวเหลืองต่อคนเอเชียนอเมริกันในสหรัฐฯ ขยายตัวจากที่มีอยู่ก่อนแล้วมากขึ้นมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐฯ เข้าสงครามกับญี่ปุ่น  ถ้า FDR จะเรียกวันที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ว่าเป็น “a date which will live in infamy”  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1942 ที่เขาลงนามใน Executive Order 9066 สั่งจับคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเข้าค่ายกักกัน ทั้งที่พวกเขากว่าแสนสองหมื่นคนที่ถูกกวาดจับมาโดยคำสั่งนี้ ไม่ได้มีความผิดอะไรเลย นอกจากผิดที่มีบรรพบุรุษมาจากญี่ปุ่น ก็เป็นวันที่มีนักประวัติศาสตร์เสนอให้เป็น “a date which will live in infamy” ได้เหมือนกัน

แต่ในเวลาต่อมา เหยื่อและทายาทของเหยื่อที่ถูกคำสั่งของรัฐละเมิดชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาอย่างร้ายแรงในระหว่างสงครามได้เลือกตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง  ในทางที่ไม่ได้เป็นการเรียกร้องถึงขั้นลบเกียรติคุณและคุณูปการมหาศาลของ FDR ที่มีต่อสังคมอเมริกัน แต่ขอให้สังคมอเมริกันร่วมกันจดจำความหมายของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ไว้เป็น Day of Remembrance เพื่อระลึกถึงความผิดพลาดในอดีตสำหรับเป็นบทเรียนให้แก่อนาคตต่อไป

เมื่อได้ความเข้าใจออกมาอย่างนี้ ผมก็คิดว่าผมได้คำตอบให้ตัวเองว่า เหยื่อของความอยุติธรรม ซึ่งในกรณีของวิลสันคือเหยื่อความอยุติธรรมอันเกิดจากการเหยียดสีผิว คือคนที่มีสิทธิอันชอบธรรมเต็มที่ ที่จะปฏิเสธและเรียกร้องสังคมให้ปฏิเสธวิลสันและความคิดแบบนี้ของเขา

นักประวัติศาสตร์บางคนมองเห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นโหดร้าย แต่ผมได้ความคิดจากกรณีวิลสันและ FDR ที่เกิดขึ้นมาแล้วว่า ประวัติศาสตร์อาจพอจะลดความโหดร้ายลงไปได้บ้าง ถ้าหากปัจจุบันจะอนุญาตให้เหยื่อของความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมอันเกิดขึ้นมาในสมัยใด หรือเกิดขึ้นในเงื่อนไขแบบใด  มีโอกาสนำความอยุติธรรมที่เขาหรือบรรพบุรุษของเขาได้รับ มาเผยให้สังคมรับรู้และรับฟังคำเรียกร้องและการตัดสินของพวกเขาอย่างใส่ใจ รวมทั้งเปิดรับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นเข้ามาไว้เป็นความทรงจำร่วมกันของสังคม ที่แม้จะเป็นส่วนที่เจ็บปวดก็จริง แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นความเจ็บปวดที่จะช่วยให้ตัวตนส่วนรวมของสังคมนั้นมีวุฒิภาวะสูงขึ้นได้จากการได้รับความเข้าใจที่แจ่มชัดขึ้นว่า อคติและข้อจำกัด ทั้งจากความขาดพร่องและเกินเลย ที่สั่งสมมาในอุปนิสัยใจคอ ในค่านิยม ในธรรมเนียมประเพณี ในวิธีคิดวิถีปฏิบัติ หรือในกฎหมาย ได้หล่อหลอมสภาวะในสังคมนั้นขึ้นมาให้เป็นอย่างไร และสร้างความอยุติธรรมแบบไหนขึ้นมาบ้าง

เมื่อคนที่ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมมีโอกาสพูดถึงความเลวร้ายที่เขาหรือบรรพบุรุษของเขาได้รับมา  เราจะเห็นตัวตนเราแจ่มชัดขึ้นในความจริงนั้นด้วยเหมือนกันว่า ตลอดมานั้น ตัวเราเองตกเป็นเหยื่อของอคติแบบใดอยู่ ที่ทำให้เราไม่เห็น ไม่ได้ใส่ใจ หรือไม่รู้สึกต่อชะตากรรมความเลวร้ายที่เกิดขึ้นมาแล้ว

แต่ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์จะยิ่งโหดร้ายได้มากขึ้นมาก ถ้าหากปัจจุบันไม่เพียงแต่จะไม่รักษาคำให้การของคนที่ตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรมในอดีต แต่ยังกลับตาลปัตรความหมายของเสียงเรียกร้องถึงความอยุติธรรมนั้นแล้วเปลี่ยนความเข้าใจของปัจจุบันต่อคนที่ตกเป็นเหยื่อไปในทางตรงข้าม หรือเรียกร้องการให้อภัยเอาจากคนที่ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมอย่างง่าย ๆ เพื่อให้สังคมสามารถเดินหน้าต่อไปได้  โดยไม่ได้คิดมากพอว่า การให้อภัยนั้นเป็นของที่ทำได้ยากเพียงใด

ผมอ่านงานของ Svend Brinkmann [2] เขาพูดถึงความคิดเรื่องการให้อภัยว่าเป็นหนึ่งในคุณค่าอันควรทำเพราะเหตุว่ามันเป็นสิ่งดีโดยตัวของมันเอง แต่มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด การอภัยที่เขาพูดถึงนี้ไม่ใช่การอภัยให้แก่การทำผิดต่อกันทั่วๆ ไป ที่เป็นเรื่องซึ่งอาจขอโทษและยกโทษให้กันได้ไม่ยาก  ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่การอภัยในความหมายที่  Brinkmann เสนอให้พิจารณา การให้อภัยในความหมายที่ Brinkmann กล่าวถึงนี้เป็นความคิดของ Derrida ที่เสนอว่า “Forgiveness forgives only the unforgivable.”  การให้อภัยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการขอร้องเพราะถ้าเป็นเรื่องที่อภัยกันได้ การขอให้อภัยกันก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดเลย  แต่ในเรื่องที่ไม่อาจอภัยได้ต่างหาก ที่การให้อภัยจึงจำเป็น แต่เป็นเรื่องที่บุคคลผู้ถูกกระทำนั้นเองจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอภัยหรือไม่อภัย ต่อเรื่องหรือต่อคนทำเรื่องที่ไม่อาจอภัยให้ได้   ในเรื่องที่อภัยให้ไม่ได้แบบนี้คนอื่นจะไปขอให้เขาที่เป็นผู้ถูกกระทำให้ให้อภัยแก่คนกระทำจะไม่มีทางสำเร็จ  การให้อภัยต่อสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้เป็นการตัดสินใจของคนที่ตกเป็นผู้ถูกกระทำ ที่ใครอื่นไม่อาจก้าวก่าย

แต่พร้อมกันนั้น ผมก็เคยเห็นมาว่า ถ้าหากทำอย่างที่ Derrida เสนอไม่ได้ คือในที่สุดแล้วไม่สามารถจะให้อภัยในเรื่องที่ไม่อาจอภัยให้ได้นี้ ก็ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องโหดร้ายต่อกันต่อเนื่องมาได้อีก  ผมขออนุญาตยกข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือชีวประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เขียนโดย อ. พิบูลสงครามบุตรชายคนใหญ่ของท่านจอมพลมาวางไว้ให้พิจารณา หนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกหลังจากท่านจอมพลถึงแก่อสัญกรรมแล้วในราวหนึ่งทศวรรษ นั่นคือตีพิมพ์ออกมาในปลายทศวรรษ 2510  ต่อมาตระกูลพิบูลสงครามได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2540 ในวาระครบ 100 ปีของท่านจอมพล  ข้อความที่ผมยกมานี้ได้มาจากเล่ม 2 ในฉบับการพิมพ์ครั้งหลัง

 

อ. พิบูลสงครามเขียนว่า [3]

อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะระงับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยนักนั้นคงไม่ใช่สาเหตุประการเดียวเป็นแน่ที่ทำให้ “นักประชาธิปไตย” ท่านปรีดี พนมยงค์ ถึงกับจำต้องใช้กำลังจากพลพรรคกองโจรแห่งขบวนการ “เสรีไทย” และกำลังทหารเรือพรรคนาวิกโยธินเข้ามาทำการกบฏจลาจลบีบบังคับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะนั่นไม่ใช่วิธีการที่เขากระทำกันในประเทศภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ดูคล้ายเป็นวิธีการของลัทธิมาร์กซิสท์-เลนินนิสท์-เมาเซตุงมากกว่า  ยิ่งกว่านั้น ใครๆ ซึ่งมีจิตใจบริสุทธิ์ยุติธรรมก็ย่อมตระหนักดีว่านักกีฬาประชาธิปไตยอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามน่ะหรือ จะยอมนิ่งดูดายเหมือนคนหมดชั้นเชิง ยอมปล่อยให้ผู้ใดทำอะไรก็ได้เพื่อบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยให้เฉไฉออกไปนอกลู่นอกทาง และไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยนี้ดอกหรือที่หลายครั้งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านสามารถปกป้องรักษาไว้ได้ด้วยการเอาชีวิตของท่านเข้าเป็นประกัน

ข้าพเจ้าตอบคำถามของตัวเองไม่ได้จริงๆ ว่าการที่ฝ่ายศักดินาปฏิกิริยาประชาธิปัตย์ได้ประชาธิปดในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” อันเป็นข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์ หรือการที่ท่านปรีดี พนมยงค์ได้จัดตั้งขบวนการ “เสรีไทย” ขึ้นแล้วข่มขู่บังคับสภาฝ่ายนิติบัญญัติให้ล้มแผนเพชรบูรณ์ของคณะฝ่ายบริหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นความผิดฐานกบฏในพระราชอาณาจักร ทั้งสองประการนี้จะเป็นเหตุใหญ่ได้หรือไม่ที่บังคับให้ท่านปรีดี พนมยงค์ต้องหาทางออกด้วยวิธีทำการกบฏวังหลวง แทนที่จะรอคอยด้วยความทรมานใจไปอีกยี่สิบปีให้คดีขาดอายุความทั้งที่ท่านก็ทราบดีว่านั่นคือการทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และยังเป็นปฏิปักษ์โดยตรงอีกด้วยต่อจอมพลป. พิบูลสงครามผู้เคยเป็นมิตรร่วมตายของท่านเองในอดีต

การกบฏวังหลวงเป็นผลให้หัวหน้าแห่งขบวนการ “เสรีไทย” ท่านปรีดี พนมยงค์ต้องหลบหนีกฎหมายโดยกระเจิดกระเจิงออกไปพำนักอยู่นอกประเทศ ส่วนพรรคพวกที่เป็น “เสรีไทย” คนสำคัญก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว อาทิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรืองและนายทองเปลว ชลภูมิ เป็นต้น ทั้งสี่คนต้องจบชีวิตลงโดยถูกสังหารตายอย่างน่าอนาถตามแบบวิธีของมาร์กซิสท์-เลนินนิสท์-เมาเซตุงซึ่งพวกเขาได้ลอกเลียนนำมาใช้กระทำการกบฏวังหลวงนั่นเอง … สิ้นสุดกันทีสำหรับพลพรรคกองโจรแห่งขบวนการ “เสรีไทย” ที่ได้คุยโวไว้นักหนาว่าพร้อมจะสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดกันทีเสี้ยนหนามสำคัญของแผ่นดินอันเป็นต้นตอก่อกวนความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองให้เป็นที่เดือดร้อนเสียหายแก่อาณาประชาราษฎร  ที่เหลือยังไม่สิ้นสุดทีเดียวก็ได้แก่จำพวกปากหอยปากปูซึ่งมีแต่ปากกับมือสำหรับพูดกบฏเขียนกบฏซ้ำซากน่าเบื่อเพื่อบ่อนทำลายสถาบันของระบอบประชาธิปไตยกันต่อไปจนกว่าชีวิตจะพบกับจุดจบอย่างรุนแรงน่าอนาถตามแบบวิธีที่พวกเขาคิดค้นขึ้นเอง

 

ความโหดร้ายของประวัติศาสตร์แบบนี้ที่ผมเห็นว่าทำให้เรื่องที่ไม่อาจอภัยให้ได้ เป็นเรื่องที่ยากแก่การตัดสินใจให้อภัยจริง ๆ แต่เพราะเป็นเรื่องที่อภัยให้ได้ยากแบบนี้นี่เองที่ Derrida เสนอและ Brinkmann ช่วยให้ผมเข้าใจความหมายของ “Forgiveness forgives only the unforgivable.”

ในแง่นี้    ผมจึงยกย่องหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ผู้เป็นประจักษ์พยานและเป็นเหยื่อการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมของรัฐในยุคสมัยที่ผ่านเลยไปแล้ว  ที่เลือกบันทึกความอยุติธรรมทางการเมืองของช่วงเวลานั้นไว้ในบทละคร The Emerald’s Cleavage [4]  ซึ่งสันนิษฐานกันว่าคุณชายนิมิตรมงคลแต่งในระหว่างต้องโทษเป็นครั้งที่ 2 จากการถูกกวาดล้างทางการเมืองเพราะตกเป็นผู้ที่อำนาจรัฐสงสัยว่าเป็นภัยคุกคาม ในตอนท้ายของบทละคร ตามความเข้าใจของผม คุณชายนิมิตรมงคลใช้การสื่อความหมายผ่านมรกตที่มีรอยร้าวเพื่อแสดงความหมายของการอภัยให้แก่มนุษย์ที่ไม่มีใครดีพร้อมสมบูรณ์แบบ

แต่ในฐานะของคนตกเป็นเหยื่อการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมโดยศาลพิเศษมา คุณชายนิมิตรมงคลเลือกบันทึกผ่านบทเจรจาของตัวละครไว้อย่างนี้

Ara:      … You have also made me understand that, even without proof, this Nai Ton is undoubtedly going to do harm to our country, and punishment can only be fair. And thus the Special Court, on the principle of sticking to truth and not to proofs displayed on hearing, is to do its duty of maintaining justice in the real sense of the word.

Dilok:   That is where I have been wrong. The Special Court is not the Court of Justice, however: it is more like a stage than a court.  In this case, as I am convinced, we are going to stage a farce which will turn out at last to be a tragedy by a massacre of the spectators through the name of Justice. We, who have hands in this massacre, openly or secretly, are no better than ordinary criminals. …

ผมคิดว่าถ้าเราไม่ฟังเสียงผู้ตกเป็นเหยื่อและเป็นประจักษ์พยานที่พบเห็นความอยุติธรรมที่กระทำในนามของอำนาจรัฐมาก่อนด้วยความใส่ใจจริงจัง  เรายังมีทางจะได้เจอกับ “a farce which turn out to be a tragedy”  อีกหลายครั้ง ถ้าไม่ใช่ในฐานที่เป็นเหยื่อ ก็ในฐานที่เป็นผู้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะโดยเปิดเผย หรือในทางลับ ไม่ว่าจะเป็นการที่ทำโดยตั้งใจ หรือเป็นเพราะขาดความใส่ใจอย่างเพียงพอ และไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็ทำให้เราไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าคนร้ายที่พบเห็นได้ทั่วไปเลย และบางที เรื่องอันน่าขบขันชวนหัวแล้วมาเล่าให้กลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ก็ไม่ได้เปลี่ยนเรื่องนั้นให้เป็นโศกนาฏกรรมกรีกขึ้นมาได้  แต่มันคือเมโลดรามาธรรมดา ๆ นี่เอง

 

 


อ้างอิง

[1] อ่านบทวิเคราะห์บุคลิกภาพของวิลสันและเฮาส์อันยอดเยี่ยมของเดวิด ลอยด์ จอร์จ ได้ที่นี่ :  http://www.puww.us/PDFs/H-09-TheTruthPeaceTreaties.pdf

[2] Svend Brinkmann, Standpoints (Cambridge: Polity Press, 2018), pp. 100-109.

[3] อ. พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่มสอง, พิมพ์ครั้งที่ 2  (ตระกูลพิบูลสงคราม 2540), 259 – 260.

[4] หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน, รอยร้าวของมรกต ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปล, ชัยอนันต์ สมุทวณิช คำนำ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524), 82.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save