fbpx

ย้อนดูบทบาทและชีวิตของ ‘ภรรยาคณะราษฎร’ ที่ประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตยไม่เคยกล่าวถึง

ประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์สยามเมื่อครา 2475 และการเมืองการปกครองไทยในยุคสมัยของคณะราษฎรในความรับรู้ของบุคคลทั่วไป รวมถึงในหนังสือตำราเรียนประวัติศาสตร์ ล้วนกล่าวถึงเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎรที่ขับเคลื่อนไปด้วยบทบาทของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้ที่มีส่วนทำให้การปฏิวัติ การต่อสู้เพื่อทวงคืนอำนาจอธิปไตย การสร้างสายธารแห่งประชาธิปไตย และการเอาตัวรอดท่ามกลางเหตุบ้านการเมืองที่พลิกผันไปของเหล่าคณะราษฎรนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ 

ในขณะที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวถึงบทบาทของนักปฏิวัติชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จและชัยชนะในหน้าประวัติศาสตร์ ต่างมีผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้นไม่มากก็น้อย รวมถึงการเมืองการปกครองหลังการอภิวัฒน์สยามก็มีผู้หญิงหลายต่อหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมกับเกมการเมืองและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภรรยาของคณะราษฎร’ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการเมือง และมีใจยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่น้อยไปกว่าสามีของพวกเธอ

การที่เรามักจะเห็นเพียงแค่บุรุษเพศเท่านั้นที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทย สะท้อนเป็นนัยว่าเราไม่เพียงแต่กำลังต่อสู้อยู่กับระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชนอยู่เท่านั้น ทว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับระบบปิตาธิปไตยที่แทรกซึมในทุกอณูของสังคมอยู่เช่นกัน และตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าสตรีไทยจะมีบทบาททางการเมืองโดยตรงหรือโดยอ้อม การกระทำนั้นย่อมมีคุณค่าให้ได้รับการกล่าวถึงไม่แพ้บทบาทของเพศชาย และเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจถูกลดทอนคุณค่าหรือมองข้ามได้ เพราะหากประวัติศาสตร์และการเมืองการปกครองผูกติดอยู่กับเพศใดเพศหนึ่งเป็นสำคัญ เราคงไม่อาจเรียกสังคมนั้นว่า ‘ประชาธิปไตย’ ได้อย่างแท้จริง

“ผู้หญิงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” วลีที่บิดเบือนความจริงที่สุดในประวัติศาสตร์ฉบับปิตาธิปไตย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2400 เป็นต้นมา คือช่วงเวลาสำคัญที่เกิดกระบวนการสร้าง ‘ผู้หญิงสมัยใหม่’ อย่างเด่นชัด จากการที่กรุงเทพฯ เริ่มมีสถาบันการศึกษาให้ราษฎรเพศหญิงได้เล่าเรียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะแบบราษฎรชาย การศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตกในยุคนั้นจึงสลายคุณค่าแบบเก่าที่พร่ำสอนให้ผู้หญิงต้องยอมศิโรราบต่อผู้ชายในทุกๆ ทาง และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้หญิงยุคจารีตไปสู่ผู้หญิงสมัยใหม่ที่ตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ สิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง ค่านิยมผัวเดียว-เมียเดียว มีความสนใจในเรื่องกฎหมายและการเมืองการปกครองมากขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนโครงสร้างทางสังคมแบบปิตาธิปไตยที่กดทับหญิงไทยให้เคยมีสถานภาพเป็นเพียงนางบำเรอของผู้ชายมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงในยุคสมัยดังกล่าวจึงตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเพศชาย ทั้งนี้ เนื่องจากกรอบสังคมชายเป็นใหญ่ในสมัยนั้นยังไม่ได้ถูกกะเทาะเปลือกมากเท่าสังคมในยุคปัจจุบัน การแสดงออกทางการเมืองของผู้หญิงจึงจำกัดอยู่ภายในพื้นที่ปิดเป็นส่วนใหญ่ เราจึงจะเห็นผู้หญิงไทยแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการหรือมีสังกัดพรรคเมืองไม่มากนัก เช่นเดียวกันกับภรรยาของเหล่าคณะราษฎรหลายๆ คนที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตแบบสามี

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของคณะราษฎรไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในชั่วข้ามคืน ทว่าย่อมมีการตระเตรียมแผนการ เจรจาต่อรอง สร้างเครือข่ายการเมือง ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ หรือแม้แต่ต้องลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ‘ผู้หญิง’ ก็มีส่วนร่วมทั้งในทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาของเหล่าคณะราษฎรที่คอยช่วยเหลือสามีอยู่เบื้องหลังเสมอ เพียงแต่ประวัติศาสตร์ฉบับชายเป็นใหญ่นั้นได้ลดทอนคุณค่าความสำคัญของภารกิจเหล่านี้ให้กลายเป็นเพียงงานบ้านงานเรือนธรรมดาๆ ที่ภรรยาจำต้องปรนนิบัติรับใช้ผู้เป็นสามี

พูนศุข พนมยงค์ – เพราะชีวิตของภรรยานักปฏิวัติไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถูกตำรวจจับกุมในปี 2495 / ที่มาภาพ: ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงปรีดี พนมยงค์ ที่มาภาพ: คลังภาพปรีดี-พูนศุข

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หญิงไทยสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก คู่ชีวิตของปรีดี พนมยงค์ หัวหอกสำคัญของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ท่านผู้หญิงพูนศุขเปิดเผยว่าก่อนเกิดการปฏิวัติ 2475 ในวันที่ 23 มิถุนายน ปรีดีได้มาพูดคุยว่าจะขอไปบวชที่อยุธยาบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งเธอก็ตอบรับด้วยความยินดี โดยหารู้ไม่ว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเองที่เคยเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งมาเป็นภริยาคู่ชีวิตของนักปฏิวัติภายในชั่วข้ามคืน

“ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองฉันไม่ทราบเรื่องที่มีข่าวปฏิวัติ เพราะยังเด็กไม่สนใจอะไร และนายปรีดีไม่เคยเล่าให้ฟัง และไม่ได้มีท่าทีครุ่นคิดหรือวิตกกังวลให้เห็น ทุกอย่างเป็นปกติดี”

ครั้นหลังการอภิวัฒน์สยาม ปรีดีขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเต็มตัว ท่านผู้หญิงพูนศุขถือเป็นบุคคลสำคัญที่คอยช่วยเหลือปรีดีทั้งในชีวิตส่วนตัวและในส่วนของงานด้านการเมือง โดยเฉพาะวิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญของไทยในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทยขณะนั้นยินยอมเข้าร่วมวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาและเข้าเป็นพันธมิตรของฝ่ายอักษะเพื่อคอยให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่นายปรีดีต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลแปลก จนนำมาซึ่งการก่อตั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ 

ในครานั้น ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการเสรีไทย โดยเธอมีหน้าที่ฟังข่าววิทยุจากสถานีต่างประเทศเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายสัมพันธมิตรและข่าวการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เพราะท่านหญิงพูนศุขมีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ทั้งยังช่วยถอดรหัสและคัดลอกด้วยลายมือแทนพิมพ์ดีดเพื่อติดต่อสื่อสารกับฝ่ายสัมพันธมิตร 

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาอันแสนยากลำบากที่ปรีดีจำต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ เมื่อครั้งเหตุการณ์ ‘กบฏวังหลวง’ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ปรีดีพร้อมด้วยผู้ร่วมขบวนการประชาธิปไตยพยายามยึดอำนาจการปกครอง และได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง ทว่าสุดท้ายก็ถูกปราบปรามโดยฝ่ายรัฐบาล ทำให้ปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และถึงแม้ท่านผู้หญิงพูนศุขจะไม่เคยรับรู้เรื่องราวของขบวนการประชาธิปไตยนี้มาก่อน แต่การลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนของปรีดีในครั้งนี้ ปรีดีมอบหมายให้ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้หาวิธีเดินทางออกนอกประเทศให้แต่เพียงผู้เดียวด้วยความไว้วางใจ

ชีวิตในต่างแดนของครอบครัวพนมยงค์ยังอาศัยรายได้หลักจากท่านผู้หญิงพูนศุขที่มีมรดกจากตระกูล ณ ป้อมเพชร เงินก้อนจากการขายบ้าน และรายได้จากหอพักที่เธอเป็นผู้จัดการ ปรีดียังเผยว่านับตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพข้าราชการ เขาอาศัยการอุปถัมภ์ของครอบครัวภรรยามาโดยตลอด 

ในฐานะคู่ชีวิตของนักปฏิวัติคนสำคัญ ท่านผู้หญิงพูนศุขจำต้องระหกระเหินไปกับสามีอยู่บ่อยครั้ง แต่จวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของปรีดีลาลับไป ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ยังคงเป็นคู่ชีวิตที่คอยปกป้องเกียรติยศและความบริสุทธิ์ของผู้เป็นสามีอยู่เสมอ จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือร้อยคนร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส ท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวถึงปรีดีไว้ว่า 

“ในชีวิตของเรานั้นมีมรสุมถาโถมเข้ามาเป็นระลอก ครั้งแรกเห็นจะเป็นเรื่องที่นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ท่านเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ อยากให้บ้านเมืองเจริญ แต่กลับถูกเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส”

“ต่อมาคือกรณีสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการลอบปลงพระชนม์ หลายสิบปีต่อมา นายปรีดีได้ฟ้องผู้กล่าวร้ายต่อศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งศาลได้ประกาศความบริสุทธิ์ของนายปรีดี”                                                

แม้ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดีจะไม่เคยเล่าถึงแผนการปฏิวัติให้ท่านผู้หญิงพูนศุขได้ทราบ แต่หลังจากการปฏิวัติไปแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุขถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนปรีดีในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองผันผวนและปรวนแปร ทั้งยังเป็นเสาหลักในการโอบอุ้มครอบครัวให้ข้ามผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตที่สุดในชีวิตไปได้

“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว” คำกล่าวนี้ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่เขียนไว้ในหนังสือ 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ นับเป็นคำพูดที่สะท้อนภาพชีวิตของท่านหญิงพูนศุข ภรรยานักปฏิวัติผู้ไม่ยอมศิโรราบต่อมรสุมชีวิตใดๆ ได้เป็นอย่างดี

ละเอียด พิบูลสงคราม – หญิงแกร่งผู้เรืองอำนาจที่สุดแห่งยุคสมัย

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม / ที่มาภาพ: สำนักงานเลขารัฐสภา
จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม / ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หากจะพูดถึงหญิงไทยที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ย่อมเป็นชื่อแรกๆ ที่ได้รับการกล่าวถึง ด้วยบทบาททางการเมืองที่เด่นชัดและอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาผู้หญิงสมัยใหม่ยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อแปลก พิบูลสงคราม ผู้เป็นสามีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย อิทธิพลทางการเมืองของท่านผู้หญิงละเอียดยิ่งแผ่ขยายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ แปลกยังเขียนบทความยกย่องภรรยาของตนว่าเป็นดั่งผู้หญิงในอุดมคติของรัฐ และเน้นย้ำว่าเขามาถึงจุดนี้ได้เพราะมีท่านผู้หญิงละเอียดคอยสนับสนุนและปลอบประโลม เสมือนครูที่คอยเตือนสติให้เขาสามารถประพฤติตนแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง

บทบาทหน้าที่ทางการเมืองของท่านผู้หญิงละเอียดนั้นโดดเด่นและเรืองอำนาจมากที่สุดในบรรดาภรรยาคนอื่นๆ ของคณะราษฎร ดังจะเห็นได้จากการที่เธอก่อตั้ง ‘สโมสรสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง’ ทั้งยังเป็นประธาน ‘สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง’ นำมาซึ่งอำนาจในการคุ้มครองข้าราชการหญิงในระบบราชการทั้งหมด ซึ่งสถาบันทางการเมืองดังที่กล่าวมานี้ของท่านผู้หญิงละเอียดมีอำนาจเหนือหน่วยงานราชการอื่นๆ และมีสิทธิแทรกแซงหน่วยงานราชการอื่นใดที่มีผู้หญิงรับราชการอยู่ กล่าวได้ว่าท่านผู้หญิงละเอียดมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงภาพจำเดิมระหว่างประชาชนเพศหญิงกับรัฐ ทำให้หญิงไทยมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองมากขึ้น สั่นคลอนภาพจำที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ผลักดันภาพ ‘ผู้หญิงในอุดมคติของรัฐ’ ตามความประสงค์ของรัฐบาลจอมพล ป. ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง ทว่าต้องเป็นบทบาทแบบ ‘รัฐนิยม’ ที่ศรัทธา เลื่อมใส และเทิดทูนรัฐบาลอย่างยิ่งยวด 

อิทธิพลทางการเมืองอันเข้มแข็งของท่านผู้หญิงละเอียดยังมีส่วนช่วยในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลของแปลก และสร้างเครือข่ายทางการเมืองให้กับสามี โดยบทสุนทรพจน์ของท่านผู้หญิงละเอียดในหลายๆ ครั้งนั้นแฝงไปด้วยนัยที่สื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาล ปลุกใจให้หญิงไทยแสดงความกตัญญูต่อรัฐบาลและอุทิศตนเพื่อชาติ

“ท่านพี่น้องหญิงควรจะได้ทราบคุณค่าอันประเสริฐของสิ่งที่อยู่ในพานทองนั้น และเตรียมประดับตนให้สะอาดผ่องใส สวยงาม สมแก่การจะรับสิ่งอันมีเกียรติมีค่ายิ่งกว่าชีวิตนั้น ท่านควรจะทำตนให้พร้อมที่จะแสดงความกตัญญูต่อท่านชาย ด้วยการใช้สิ่งอันล้นค่านั้นให้เป็นประโยชน์แก่การครองตน ครองครอบครัว เพื่อหน้าที่พลเมืองดี อันเป็นกำลังของประเทศชาติสืบไป” ข้างต้นคือบทสุนทรพจน์ของท่านผู้หญิงละเอียดในพิธีเปิดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงประจำจังหวัด

นอกจากหน้าที่ในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนแล้ว ชีวิตหลังม่านของท่านผู้หญิงละเอียดยังแฝงไปด้วยบทบาทหน้าที่ทางการเมือง อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลของแปลกเข้าสู่สภาวะตึงเครียด ท่านผู้หญิงละเอียดได้ใช้เสน่ห์ปลายจวักมาเป็นเครื่องมือทางการทูตในงานเลี้ยงต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฮิเดกิ โตโจ โดยเธอช่วยบรรเทาความกดดันและตึงเครียดในการเจรจาทางการเมือง และแทนที่ด้วยบรรยากาศแห่งการสานสัมพันธไมตรีบนโต๊ะอาหาร รวมถึงอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มที่ใช้เลี้ยงต้อนรับแขกเหรื่อของสามีก็ล้วนมีท่านผู้หญิงละเอียดเป็นผู้จัดเตรียมทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านผู้หญิงละเอียดจะเป็นสตรีที่เรืองอำนาจที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย แต่เธอเองก็ต้องเผชิญกับความลำบากจากค่านิยมของสังคมปิตาธิปไตยที่ยังคงมองว่าการเมืองการปกครองนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายเป็นหลัก รวมถึงความไม่เคยชินของคนในสังคม เนื่องจากไม่เคยมีผู้หญิงขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะแบบท่านผู้หญิงละเอียดมาก่อน เธอจึงมักถูกโจมตีจากหลายๆ ฝ่ายว่าเป็นผู้บงการการทำงานของสามี ถูกติเตียนว่าเข้ามายุ่งกับภาระงานของแปลกมากเกินไป ทั้งยังถูกพาดพิงตามสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง 

ไม่ว่าคำกล่าวหาเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ ในแง่หนึ่ง คำครหาต่างๆ ที่มีต่อท่านผู้หญิงละเอียดก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในสมัยนั้นยังคงขับเคลื่อนไปด้วยโครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่ที่ยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงแบบมีเงื่อนไข ยังคงเลือกปฏิบัติ และมีอคติเชิงลบต่อผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอยู่ดี

บุญหลง พหลพลพยุหเสนา – หน้าที่สุดท้ายคือการรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ครอบครัวพหลพลพยุหเสนา / ที่มาภาพ: สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1
ท่านผู้หญิงบุญหลงและพระยาพหลพลพยุหเสนา / ที่มาภาพ : สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1

กว่าการอภิวัฒน์สยาม 2475 จะอุบัติขึ้น ในใจของนักปฏิวัติทุกคนย่อมรู้ดีว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรมีโอกาสเพียงครั้งเดียว หากพ่ายแพ้เสียท่า ปลายทางสุดท้ายคือความตายในฐานก่อกบฏเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แผนการตระเตรียมการปฏิวัติทุกอย่างจึงต้องปกปิดเป็นความลับ ไม่อาจเอื้อนเอ่ยบอกใครได้แม้กระทั่งครอบครัวของตนเอง แต่ถึงกระนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรก็เลือกที่จะแหกกฎเหล็กข้อนี้ และตัดสินใจบอกความจริงนี้ให้ภรรยารับรู้ 

ก่อนย่ำรุ่งของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านผู้หญิงบุญหลงในฐานะภรรยาของหัวหน้าคณะราษฎร แม้จะหวาดหวั่นนึกกลัวอนาคตที่จะเกิดขึ้นถึงเพียงใด แต่เธอก็ไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจจนมีพิรุธให้คนอื่นสงสัย อีกทั้งเมื่อการปฏิวัติเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สหายคนสนิทของพระยาพหลฯ ทราบข่าวและเดินทางมายังบ้านของครอบครัวพหลโยธินเพื่อถามความเป็นไป คุณหญิงบุญหลงก็ไม่ยอมปริปากบอกว่าบอกว่าสามีไปทำอะไรและอยู่ที่ไหน สุดท้ายพระยาศรีสิทธิสงครามจึงได้รู้ความจริงว่าเพื่อนของตัวเองไปเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจากการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ตอนบ่ายวันนั้น

“ถ้าจะกล่าวถึงบทบาทผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ท่านผู้หญิงบุญหลง ภรรยาของพระยาพหลพลพยุหเสนา น่าจะนับเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง เพราะถึงแม้จะล่วงรู้ความลับเรื่องแนวคิดและแผนการปฏิวัติที่สุ่มเสี่ยงอันตราย แทนที่เธอจะมัวทอดถอนใจหรือท้อถอยเสียใจ กลับทำตนประหนึ่งผู้ร่วมช่วยเหลือภารกิจให้สำเร็จลุล่วง หาใช่แค่เพียงชงโกโก้หนึ่งถ้วยให้สามีดื่ม!” อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ กล่าวถึงท่านผู้หญิงบุญหลง ภรรยาของพจน์ พหลโยธิน หรือพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้หญิงที่ล่วงรู้อนาคตของประเทศก่อนใคร ทั้งยังมีส่วนร่วมทางการเมืองเคียงคู่กับสามีมาโดยตลอด

แม้ว่าท่านผู้หญิงบุญหลงจะไม่ได้มีบทบาททางการเมืองเด่นชัดจนเป็นที่กล่าวขวัญของสาธารณชน และไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอันใหญ่โตแบบสามี แต่บทบาทอันสำคัญยิ่งของท่านผู้หญิงบุญหลงคือการรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์และเจตจำนงอันบริสุทธิ์ของคณะราษฎร แม้ในตอนที่พระยาพหลฯ จากโลกนี้ไป และเป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎรถูกทำให้บิดเบือนมากขึ้นทุกที ท่านผู้หญิงบุญหลงเป็นคนหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องไว้ซึ่งอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยนี้

“มีคนวิจารณ์คณะราษฎรต่างๆ นานา บางคนก็ว่าคณะราษฎรไม่มีดีเลย ฉันเองฟังแล้วก็ทนไม่ได้ เคยโต้กับเขามาหลายหนแล้ว ปริญญาโทจากเมืองนอกก็เคยโต้กัน ฉันอยากให้เขาวิจารณ์กันด้วยความเป็นธรรม ชี้ข้อผิดข้อถูกอย่างยุติธรรม อะไรเป็นความจริง เป็นสัจธรรมคนเราก็รู้อยู่” คือคำยืนยันจากท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลหยุหเสนา

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านผู้หญิงบุญหลงยังเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่าแม้พระยาพหลฯ จะเป็นถึงหัวหน้าคณะราษฎรและเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย แต่แท้จริงแล้วสามีของเธอเป็นเพียงนักปฏิวัติจนๆ คนหนึ่งเท่านั้น ทั้งยังไม่เคยสะสมทรัพย์สินเงินทองใดๆ ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยบ้านหลวงและมีเงินเดือนใช้จ่ายไปเป็นเดือนๆ  และเมื่อสามีเสียชีวิตลง เธอแทบไม่มีเงินมาจัดงานศพ ซ้ำยังต้องขายบ้านและที่ดินมาจุนเจือครอบครัวต่อไป ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้เป็นการย้ำเตือนว่าพระยาพหลฯ รวมถึงสมาชิกคณะราษฎรนั้นไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อแย่งชิงเอาทรัพย์สมบัติจากราชวงศ์ เพียงแค่ต้องการทวงคืนอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนพึงมีเพียงเท่านั้น

หากเปรียบการปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นเสมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ภาพแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเหล่าคณะราษฎรที่เราเห็นอยู่ ‘เบื้องหน้า’ ในประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้น คงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากบุคคลที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ การต่อสู้ในครั้งนี้ เช่นเดียวกับความจริงที่เกิดขึ้น แม้ว่าบทบาทหน้าที่ของภรรยาคณะราษฎรที่ผู้เขียนหยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้จะไม่ได้เป็นการต่อสู้ที่เอาชีวิตและเลือดเนื้อเข้าแลก ซ้ำยังไม่ได้รับการพูดถึงในตำราเรียนประวัติศาสตร์ เป็นเพียงบทบาทที่เกิดขึ้นหลังฉากแห่งการต่อสู้เท่านั้น หากแต่เพียงเพราะสิ่งต่างๆ ที่พวกเธอทำไม่ได้เด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา ก็ไม่ได้หมายความเราจะสามารถตัดเรื่องราวอันสำคัญยิ่งของพวกเธอออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยได้เช่นกัน


อ้างอิง

กุหลาบ สายประดิษฐ์. (2557) เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิ่งมิตร

ชานันท์ ยอดหงษ์. (2564). หลังบ้านคณะราษฎร ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน

พูนศุข พนมยงค์. (2551). ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ตถาตา พับลิเคชั่น

ภาณุมาศ ภูมิถาวร. (2550). ท่านผู้หญิงพูนศุข คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แม่คำผาง

จีรวัสส์ ปันยารชุน (บรรณาธิการ). (2540) ชีวประวัติและผลงานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์

เพียงโกโก้ถ้วยเดียวของพระยาพหล. อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save