fbpx
ภัยเผด็จการ ภัยของสตรี

ภัยเผด็จการ ภัยของสตรี

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ไม่รู้เหมือนกันว่านักสิทธิสตรีทั้งหลายรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นนักการเมืองหญิงฝ่ายเผด็จการทหารรุมขย้ำนักการเมืองหญิงจากฝ่ายประชาธิปไตยแบบต่ำตม ไม่น่าปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ตั้งคำถามอะไรเลย

สิ่งหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือความเชื่อที่ว่าปัญหาความไม่ยุติธรรมทางเพศต่างๆ จะแก้ไขได้เมื่อมีจำนวนนักการเมืองผู้หญิงในระบบมากพอที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ได้  เป็นที่มาของความคิดเรื่องโควต้าหรือสัดส่วนหญิงชาย คือเชื่อว่าความเป็นผู้หญิงจะเป็นตัวเชื่อมให้ก้าวข้ามความแตกต่างทางการเมืองหรือต่างพรรคได้ และจะรวมตัวเป็นเสียงที่ช่วยส่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ต้องขอบคุณการเมืองน้ำเน่าที่เพิ่งผ่านไป ทำให้เห็นชัดเจนว่าความเชื่อเรื่องจำนวนนักการเมืองผู้หญิง หรือ ‘ความเป็นผู้หญิงด้วยกัน’ นั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงในระบบเผด็จการและในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก ในขณะที่นักการเมืองหญิงส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือลากตั้งก็มาจากผู้หญิงชนชั้นบนสุดของสังคม

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าจุดยืนทางการเมือง ผลประโยชน์ และชนชั้นของนักการเมือง สำคัญยิ่งกว่าการเป็นเพศอะไร

ถ้าคนทำงานเรื่องสิทธิสตรีมองไม่เห็นภัยของเผด็จการ ไม่เห็นว่าเผด็จการทหารซึ่งเชิดชูอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่จะยิ่งทำให้วัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศรุนแรงยิ่งขึ้น ก็จำเป็นต้องตั้งคำถามกับตนเอง

จริงๆ แล้วสัดส่วนหญิงชายหรือการเสริมพลังนักการเมืองหญิงเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีปัจจัยเอื้อให้เกิดขึ้น คือ ต้องมีระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมเสมอภาค เปิดกว้างให้สังคมเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกีดกันทางเพศ สามารถตั้งคำถามกับระบบได้ และก็ต้องมีฉันทามติในสังคมในการแก้ไขอยู่พอสมควร ผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาทในการเมืองก็ต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่มาจากกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมเท่านั้น จึงจะเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย

มาดูว่าบ้านเราเป็นอย่างไร

จะปฎิเสธได้อย่างไรว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมชนชั้น ไม่ใช่กีดกันแค่ยากดีมีจน แต่แบ่งแยกทั้งทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ สภาพร่างกาย ชนชั้นมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน จนชนะทุกประเทศในโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ

จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมอำนาจนิยมสุดขั้ว ระบบการศึกษาไม่ได้มีไว้ส่งเสริมการเรียนรู้หรือการตั้งคำถามเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่มีไว้เพื่อดำรงวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งฝังลึกอยู่ในทุกอณูของสังคม การถูกกีดกันทางเพศเป็นแค่มิติเดียวของการเป็นผู้หญิง ถ้ายากจน มีสถานะในสังคมต่ำกว่า อายุน้อยกว่า ไม่ใช่พุทธ ไม่ใช่เลือดไทย ทั้งๆ ที่ไทยแท้ไม่มีอยู่ในโลก หรือมีความพิการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะโดนกระทำซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก

สังคมแบบนี้ จะยอมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจังได้อย่างไร ส่วนใหญ่ที่เข้ามาได้ก็เพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมืองของครอบครัวตนเองเป็นส่วนใหญ่ มาจากอุดมการณ์จริงๆ นั้นมี แต่น้อย และต้องทำงานเลือดตาแทบกระเด็นเพื่อผลักดันนโยบาย

ก่อนการรัฐประหาร สัดส่วนผู้หญิงในสภาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกเกือบสองเท่า และตกฮวบมาอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้รัฐบาลทหารของนายพลประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในเอเซีย และน้อยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มเป็นประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาจากการเมืองที่เริ่มเปิดมากขึ้น แต่การโจมตีนักการเมืองหญิงฝ่ายก้าวหน้าจากนักการเมืองหญิงฝ่ายเผด็จการ ชี้ให้เห็นว่าถึงจะมีเสียงผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีทางจะมาร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาส่วนรวมของผู้หญิงหรือปัญหาอื่นได้เลย เนื่องจากความแตกแยกทางการเมือง ความไร้สาระของการโจมตี และทำให้สงสัยความสามารถในการเข้าใจปัญหาของนักการเมืองหญิงฝ่ายอำนาจด้วยซ้ำไป

การที่ผู้หญิงมีสัดส่วนน้อยมากในสภาและการเมืองในทุกระดับ ทำให้ประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมืองเป็นประเด็นสำคัญในการรณรงค์ตลอดมา โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมที่เป็นต้นเหตุเพียงพอ คิดเป็นเพียงสูตรสำเร็จว่าถ้ามีผู้หญิงเพิ่มขึ้น ปัญหาก็จะแก้ไขได้เอง อันมาจากความเชื่อว่ากฎหมายเป็นคำตอบสุดท้าย ถ้ามีกฎหมายดีแล้วปัญหาก็จะหมดไป

แน่นอน เราจำเป็นต้องมีกฎหมายดีๆ เพื่อยกมาตรฐานของสังคม แต่กฎหมายในไทยไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำ หรือการกดขี่ทางเพศได้ สาเหตุไม่ใช่แค่เพราะขาดการบังคับใช้ หรือเพราะมีการเรียกเบี้ยบ้ายรายทางจนคุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น แต่เป็นเพราะกฎหมายออกโดยคนที่อยู่ในอำนาจ จึงต้องรักษาอำนาจตัวเอง ประชาชนไม่มีส่วนร่วม  เมื่อคนออกกฎหมายและคนใช้กฎหมายเชิดชูระบบชายเป็นใหญ่ การตีความกฎหมายในขบวนการยุติธรรมจึงเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของตน จึงยากยิ่งที่จะเห็นการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสตรีอย่างตรงไปตรงมา

เราจึงเห็นสามีที่ตีภรรยาตายรอดคุกเพราะศาลเห็นใจว่าเป็นเพราะพิษรักแรงหึง หรือการแก้กฎหมายล่าสุดให้สามีที่ข่มขืนภรรยารอดคุกได้เช่นกัน

หลายคนถามว่า ถ้าสังคมไทยกีดกันผู้หญิงขนาดนี้ ทำไมจำนวนผู้บริหารธุรกิจหญิงของประเทศไทยจึงติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด เป็นที่หนึ่งในโลกก็เคยมาแล้ว

รายงานในปี 2019 ของ Grant Thornton ระบุว่า 33 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บริหารธุรกิจระดับสูงในประเทศไทยเป็นสตรี สูงที่สุดในอาเซียน และสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

สถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าวงการธุรกิจก้าวหน้ากว่าระบบราชการและการเมือง เพราะยอมรับความสามารถของสตรี แต่ก็เถียงไม่ได้เช่นกันว่าการเป็นธุรกิจครอบครัวก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ทายาทสตรีได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจการตัดสินใจในองค์กร

ถ้าเอาสถิติเป็นเกณฑ์ ดูเหมือนว่าผู้หญิงเราไม่มีปัญหาในเรื่องการมีส่วนร่วมในสังคมหรือการศึกษาแล้ว ถ้าไม่นับสังคมปิดของทหารและตำรวจแล้ว ผู้หญิงก็มีโอกาสในการศึกษาเหมือนกับผู้ชาย ผลการศึกษาในทุกระดับก็ดีกว่านักเรียนนักศึกษาชาย แต่เมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ผู้บริหารบนยอดปิรามิดของอำนาจก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี

หลายคนบอกว่าการที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะอคติทางเพศ แต่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเลือกเอง เพราะต้องการดูแลลูกดูแลครอบครัว เห็นครอบครัวสำคัญกว่างาน

แต่แรงกดดันทางสังคมที่บอกว่าผู้หญิงที่ดี ต้องเป็นลูกที่ดี เมียที่ดี แม่ที่ดี ต้องดูแลคนรอบข้าง ต้องเอาความรู้สึกความต้องการของตัวเองไว้ที่หลัง จนต้องปฏิเสธความก้าวหน้าทางวิชาชีพนั้น เราจะทำเป็นมองไม่เห็น หรือยกให้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเลือกเองเลยหรือ

การที่ผู้หญิงผู้ชายโดนเลี้ยงมาต่างกัน ให้ตีค่าตนเองและความสำเร็จต่างกัน เพศชายให้ยกความสำเร็จในการงานไว้เป็นที่หนึ่ง และเพศหญิงให้ยกครอบครัวไว้เหนือตนเอง แบบนี้ไม่ใช่อคติทางเพศหรอกหรือ

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือความเชื่อเรื่องการศึกษา

เมื่อ 30-40 ปีก่อน เด็กหญิงยากจนจำนวนมากจำเป็นต้องเข้าสู่ธุรกิจทางเพศ มีทั้งโดนหลอกลวง มีทั้งจำใจทำเพื่อช่วยครอบครัว สังคมเราก็เชื่อว่าการศึกษาคือคำตอบ ถ้าเด็กๆ เหล่านี้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ก็จะมีอาชีพที่ไม่ต้องเข้ามาในวังวนของธุรกิจทางเพศ ปัญหานี้ก็จะหมดไป

เมื่อมีนโยบายขยายการศึกษาภาคบังคับ เด็กหญิงไทยเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพวกพ่อเล้านายทุนก็ไปกวาดต้อนเด็กสาวในประเทศเพื่อนบ้านมาบำเรอกามของชายไทยแทน ในขณะเดียวกันก็เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่นไปจัดหานักเรียนนักศึกษาเป็นสินค้าใหม่ๆ มาบริการลูกค้า

เมื่อไม่เห็นว่าปัญหามาจากผู้ชายที่เที่ยวผู้หญิง มาจากวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้ชายเห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ส่งเสริมการเที่ยวผู้หญิงว่าเป็นเรื่องปกติของชายไทย และยังไปยกให้เป็นปัญหาของผู้หญิงเอง ที่ไร้การศึกษา หรือเป็นผู้หญิงไม่ดี ชอบงาน ‘ง่ายๆ’  หนำซ้ำธุรกิจทางเพศยังเป็นแหล่งเงินมหาศาลของคนในเครื่องแบบ จึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

เมื่อไม่แก้ที่วัฒนธรรมทางเพศที่กดขี่เพศหญิง เด็กชายจำนวนมากในปัจจุบันจึงเติบโตโดยยังมีค่านิยมที่เอาเปรียบ ไม่รับผิดชอบทางเพศ ไม่ให้เกียรติเพศหญิง ไม่ต่างไปจากเดิม

ธุรกิจทางเพศก็ยังเฟื่องฟูแบบเดิม

ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาและมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น ก็น่าที่จะมีความคิดเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้นในสังคม แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สตรีที่มีการศึกษามีความสำเร็จในหน้าที่การงาน มักพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีอย่างเย้ยหยัน พูดอย่างภูมิใจว่าที่ตนเองประสบความสำเร็จนั้นเพราะทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ส่วนคนอื่นนั้นยังพยายามไม่พอ ไม่ต้องมาอ้างว่าถูกกีดกันเพราะเป็นผู้หญิง

ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้จำนวนมากก็ยังตกอยู่ในกับดักผู้หญิงดี/ไม่ดี ไม่เห็นใจผู้หญิงที่มีโอกาสในชีวิตน้อยกว่า ยังปฎิบัติกับคนช่วยทำงานบ้านประหนึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย โดยไม่ตระหนักเลยว่าถ้าไม่มีผู้หญิงที่ยากจน ที่มีความจำเป็นต้องทิ้งบ้าน ทิ้งลูก เพื่อมาทำงานส่งเสียครอบครัว มาเลี้ยงลูกให้ มาทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าวให้ ตนเองจะมีโอกาสออกไปทำงานจนมีความสำเร็จหรือ

กฎหมายบอกว่าคนรับใช้ต้องมีกำหนดเวลาทำงาน มีวันหยุดประจำอาทิตย์ ประจำปี มีค่าล่วงเวลา แต่มีสักกี่บ้านที่ทำตามกฎหมาย

เดี๋ยวนี้สตรีมีการศึกษาและโอกาสในชีวิตมากขึ้นแล้ว ทำไมยังไม่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

คำตอบคือเพราะบ้านเรายังมีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง

ที่อื่นนั้น เมื่อสังคมมีความเท่าเทียม ยากที่จะไปหาผู้หญิงจนๆ ที่ไหนมาช่วยให้คุณผู้หญิงได้หนีงานบ้านที่น่าเบื่อหน่าย แล้วออกไปหาความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ เมื่อไม่มีคนช่วยงานบ้าน จึงเห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งเริ่มในครอบครัว จึงต้องตั้งคำถามเพื่อให้ฝ่ายชายเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการทำงานบ้าน ในการเลี้ยงลูก

ในสังคมไทยนั้น แม้เด็กสาวในชนบทส่วนใหญ่จะเข้าระบบการศึกษา โตขึ้นก็เข้าทำงานในโรงงานหมด ก็ยังไม่เป็นปัญหา เพราะคุณผู้หญิงก็ยังหาเด็กสาวจากประเทศเพื่อนบ้านที่หนีความยากจนหรือภัยการเมืองมาช่วยทำงานบ้านได้ง่ายๆ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศ ความคิดด้านสิทธิสตรีจึงชะงักชั

ลัทธิเผด็จการทหารจึงเป็นศัตรูของสิทธิสตรี

เพราะลัทธิทหารผดุงความเหลื่อมล้ำ ผดุงระบบอุปถัมภ์ ผดุงระบบชายเป็นใหญ่

การรณรงค์ส่งเสริมสิทธิสตรีจึงจำเป็นต้องมุ่งให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน การกระจายอำนาจ การเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับทุกมิติด้วย

ถ้าคนทำงานเรื่องสิทธิสตรียังเห็นดีกับเผด็จการ ทั้งแบบเต็มรูปและแบบแปลงร่างในปัจจุบัน ก็เท่ากับสนับสนุนลัทธิเผด็จการทหาร สนับสนุนให้มีความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยมและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ให้แข็งกล้ายิ่งขึ้น

ถ้าคนทำงานเรื่องสิทธิสตรีไม่เห็นภัยของลัทธิทหาร ก็ป่วยการที่จะรณรงค์การเพิ่มจำนวนนักการเมืองสตรีหรือความรุนแรงทางเพศอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ก็ได้กลายเป็นกองเชียร์ของเผด็จการไปเสียแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save