fbpx

เมืองที่มองไม่เห็นคนกว่าครึ่ง

สิ้นปี พ.ศ. 2564 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5.52 ล้านคน เป็นประชากรชาย 2.59 ล้านคน และประชากรหญิง 2.93 ล้านคน จึงกล่าวได้ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่ง (53%) ของจำนวนประชากรในกทม. เป็นผู้หญิง

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ที่ใกล้จะมาถึงในปีนี้ เรามาดูกันว่าชีวิตของผู้หญิงใน กทม. เมืองที่มีผู้หญิงกว่ากึ่งหนึ่งนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

จากการประมวลผลข้อมูลสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) ของคนในประเทศไทย ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2563 สุขภาพจิตของคน กทม. อยู่ที่ 32.28 คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตของคนทั่วประเทศ (33.53 คะแนน) โดยผู้หญิงใน กทม. มีคะแนนสุขภาพจิต 32.27 คะแนน ต่ำกว่าผู้ชาย (32.29 คะแนน) ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2558 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้หญิงใน กทม. มีสุขภาพจิต (ความสุข) ต่ำกว่าชาย และประชากรทั่วประเทศมากว่าหกปีแล้ว

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยอธิบายถึง กทม. ไว้ว่าเป็นเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเดินเท้า โดยการเป็นเมืองที่เดินไม่ได้นั้นเป็นข้อจำกัดต่อผู้หญิงมากกว่าชายซึ่งมีโอกาสเข้าถึงพาหนะส่วนตัวมากกว่า จากข้อมูลใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รวมจักรยานยนต์ สามล้อ และรถเครื่องยนต์อื่น) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยกลุ่มสถิติการขนส่ง กรมการขนส่งทางบก พบว่า ใน กทม. มีใบอนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 4.6 ล้านใบ เป็นใบอนุญาตที่ออกให้ผู้หญิง 1.5 ล้านใบ หรือเพียงแค่ 32% เท่านั้น สะท้อนว่าผู้หญิงใน กทม. ต้องพึ่งพาการเดินเท้าและรถขนส่งสาธารณะมากกว่าชาย

ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 (MICS 2019) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 71.8% ของผู้หญิงใน กทม. รู้สึก ‘ปลอดภัย’ เมื่อต้องเดินในชุมชนตามลำพังในเวลากลางคืน ซึ่งต่ำกว่าผู้ชายใน กทม. (84.2%) และสัดส่วนผู้หญิงใน กทม.ที่ตอบว่ารู้สึก ‘ปลอดภัยมาก’ ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศด้วย (7% ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 13.8%) สะท้อนว่า กทม. ยังเป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในการเดินเท่าไรนัก

โดยในปี 2562 ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงทำโครงการ ‘ปักหมุดจุดเผือก’ พื้นที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 600 จุด พบว่าพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด ได้แก่ ทางเดินและซอย 39% สะพาน 16% และริมถนน 15% โดยลักษณะพื้นที่จุดเสี่ยงเป็นจุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23% ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23% และจุดอับสายตา 15% เป็นต้น

นอกจากนี้ ในฐานะผู้ดูแลสมาชิกในบ้าน ผู้หญิงมักจะต้องพาเด็กหรือผู้สูงอายุเดินทางไปด้วย และมักมีรูปแบบการเดินทางแบบแวะหลายต่อ เช่น จากบ้านไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วจึงเข้าที่ทำงาน และจากที่ทำงานไปรับลูกที่โรงเรียน จากโรงเรียนไปตลาดเพื่อซื้อกับข้าวหรือรับผ้าที่ส่งซักรีดแล้วจึงกลับเข้าบ้าน ซึ่งต่างจากรูปแบบการเดินทางของผู้ชายที่มักเป็นเส้นตรงจากบ้านไป-กลับที่ทำงาน และมักเป็นรูปแบบวิธีคิดค่าโดยสารของระบบขนส่งในเมืองใหญ่รวมทั้ง กทม. ที่คิดราคาแบบเป็นเที่ยว แปลว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมากกว่า เช่น หากนั่ง BTS จากสะพานใหม่ตรงไปลงสยามจะเสียค่าตั๋ว 44 บาท แต่หากต้องแวะส่งลูกที่เนิร์สเซอรี่ที่อารีย์จะมีค่าใช้จ่าย 26 บาท และจากอารีย์ไปสยามอีก 33 บาท รวมเป็นเงิน 59 บาท หรือแพงกว่าถึง 15 บาท

นอกจากนี้ การต้องพาเด็กและผู้สูงอายุเดินทางไปด้วยนั้น ผู้หญิงยังต้องการรูปแบบการเดินทางที่ออกแบบสำหรับทุกคน (Universal Design – UD) ไม่ว่าจะเป็นทางเท้าที่เรียบและกว้างพอสำหรับรถเข็น ปลอดภัยจากการถูกเฉี่ยวชน รวมถึงการขึ้นลงรถโดยสารสาธารณะที่สะดวกและไร้รอยต่อ ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการขนส่งรถโดยสารสาธารณะใน กทม.

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2560 เครือข่ายเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิงพบว่า 45% ของผู้หญิงที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจ เคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าประสบมาในช่วงหนึ่งปีก่อนการสำรวจ ประเภทของขนส่งสาธารณะที่พบเจอการคุกคามทางเพศมากที่สุด ได้แก่ รถเมล์ 50% มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 11.4% รถแท็กซี่ 10.9% รถตู้ 9.8% และรถไฟฟ้าบีทีเอส 9.6% จึงกล่าวได้ว่า กทม. ที่เป็นเมืองเดินไม่ได้แบบนี้ ส่งผลให้ผู้หญิงใช้ชีวิตยากลำบากกว่า

ในด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล ผลการสำรวจของ MICS 2019 พบว่า 94.8% ของผู้หญิงอายุ 15-49 ปีในกทม. มีประกันสุขภาพ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (97.7%) และต่ำกว่าทุกภูมิภาค การที่ผู้หญิงใน กทม. ที่ไม่มีประกันสุขภาพใดคุ้มครองเลยมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิงทั่วประเทศอาจสะท้อนว่าผู้หญิงใน กทม. มีความเปราะบางมากกว่า

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนของผู้หญิงใน กทม. ที่มีประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน (53.7%) และประกันสุขภาพจัดโดยนายจ้าง (2.7%) สูงกว่าผู้หญิงในภูมิภาคอื่น สะท้อนว่าผู้หญิงใน กทม. เข้าถึงการจ้างงานในระบบได้มากกว่าผู้หญิงในพื้นที่อื่น แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ยังน้อยกว่าผู้ชายใน กทม. ซึ่งมีประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน 54.5% และมีประกันสุขภาพจัดโดยนายจ้าง 3%

ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนว่าแม้ผู้หญิงใน กทม. มีโอกาสในการทำงานในระบบสูงกว่าผู้หญิงที่อยู่ในภูมิภาคอื่น แต่ก็ยังมีโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งสาเหตุอาจไม่ใช่เพราะคุณสมบัติด้านระดับการศึกษา ข้อมูล MICS 2019 ระบุว่าผู้หญิงอายุ 15-49 ปีใน กทม. ที่มีสัดส่วนการศึกษาสูงกว่ามัธยมคิดเป็น 46.6% ซึ่งสูงกว่าผู้ชายที่ 40.4% และผู้หญิงยังมีแนวโน้มต้องการพัฒนาตัวเองมากกว่า ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่ปี 2560-2564 ผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปใน กทม. มีสัดส่วนที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถมากกว่าชาย การที่ผู้หญิงยังเข้าถึงการจ้างงานในระบบน้อยกว่าจึงสะท้อนว่าอาจยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง โดย MICS 2019 ยังพบว่า ผู้หญิงใน กทม. ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าทุกภาคและค่าเฉลี่ยของประเทศ (กทม. 86.1% เทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศ 88.7%)

สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้หญิง คือ การตั้งครรภ์ ซึ่งช่วงที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์ คือ 20-35 ปี มักเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งระดับสูงที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น การต้องรับบทบาทผู้ดูแลครอบครัวไปพร้อมกับความรับผิดชอบในการทำงานเป็นภาระที่หนักสำหรับผู้หญิงใน กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีคนช่วยแบ่งเบาดูแลบุตร จึงไม่น่าแปลกใจที่ กทม. จะมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในกทม. 70,973 คน ลดลงจากปีก่อนหน้า 8.2% (77,312 คน ในปี 2562) แนวทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมในการทำงานของผู้หญิง คือ การมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่สะดวกและใกล้กับที่ทำงานหรือแหล่งพักอาศัย

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจ MICS 2019 พบว่า ใน กทม. มีเด็กวัย 36-59 เดือน ที่กำลังเรียนในหลักสูตรปฐมวัย มีสัดส่วนน้อยกว่าในภูมิภาคอื่น โดยอยู่ที่ 71.2% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 86.3% สะท้อนว่าการมีอยู่ของสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนใน กทม. อาจยังมีไม่เพียงพอ

เมืองสำหรับผู้หญิง คือเมืองสำหรับทุกคน

เป็นเวลาเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน กทม. ไม่เคยมีผู้ว่าราชการที่เป็นผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ กทม. แทบไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงซึ่งเป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งใน กทม. อย่างที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดี นโยบายพัฒนาเมืองที่มองเห็นความต้องการของผู้หญิงสามารถมาจากผู้ว่าที่เป็นเพศใดก็ได้ โดยหากใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดก็พอจะเห็นว่าอย่างน้อยต้องมีนโยบายดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาให้เป็นเมืองที่เดินได้ โดยยึดหลัก UD เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเดิน และเดินพร้อมกับผู้สูงอายุและเด็ก เช่นเดียวกับการยกระดับความปลอดภัยในการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟฟ้า โดยจุดรอรถและรอบเส้นทางเดินต้องมีไฟส่องสว่าง อยู่ในที่คนพลุกพล่าน มีเจ้าหน้าที่ออกตรวจตรา จุดรับแจ้งเหตุ และกล้องวงจรปิดที่เพียงพอ

ทั้งนี้ งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Monash พบว่า ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยหากมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง มากกว่าการมี CCTV ซึ่งจะได้ใช้ประโยชน์ก็เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นแล้ว และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะนำไปสู่การตามจับผู้ก่อเหตุได้ ในขณะที่การมีอยู่ของเจ้าหน้าที่นั้นจะสามารถระงับเหตุตรงหน้าได้ทันที ดังนั้น การจะนำเทคโนโลยีอย่าง CCTV มาแทนที่พนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อลดการจ้างงานลง อาจไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของ กทม. เท่าไรนัก

2. การวางผังเมืองสำหรับผู้หญิงคือ การวางผังเมืองสำหรับครอบครัว เช่น การส่งเสริมให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับที่เพียงพอ และจะดีที่สุดหากอยู่ในย่านสถานประกอบการหรือในแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย เพราะผู้หญิงสามารถนำเด็กและผู้สูงอายุไปฝากไว้ก่อนออกเดินทางไปทำงานได้

ตัวอย่างของเมืองที่ออกแบบผังเมืองตามความต้องการของผู้หญิงคือ กรุงเวียนนา เมืองหลวงประเทศออสเตรีย มีการพัฒนาย่าน Aspern โดยให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการออกแบบ เริ่มจากการพัฒนาอาคารชุด 357 ยูนิต ภายใต้โครงการ Frauen-Werk-Stadt (Women-Work-City) ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่เอื้อต่อการอาศัยของคนทุกกลุ่มและช่วงวัย มีเนิร์สเซอรี่และลานทำกิจกรรมสาธารณะที่ทุกยูนิตสามารถมองเห็นและช่วยกันสอดส่องความปลอดภัยได้ เพื่อนบ้านมีส่วนช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว ความสำเร็จของการพัฒนาย่าน Aspern ทำให้มีการพัฒนาย่านอื่นตามมา จนกรุงเวียนนาได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองต้นแบบความเท่าเทียมระหว่างเพศ (gender-equal city)

3. หาก กทม. จะมองเห็นความต้องการของผู้หญิงที่เป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของเมืองได้ ก็จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงที่เพียงพอและครอบคลุมหลายด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ สาเหตุหนึ่งที่การพัฒนาเมืองใน กทม. ส่งผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมต่อผู้หญิงเช่นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด อันตราย และราคาแพง รวมถึงการขาดการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานที่มั่นคงและแบ่งเบาภาระในการเป็นผู้ดูแลหลักของบ้าน เป็นผลจากการมองไม่เห็นผู้หญิงอยู่ในแผนการพัฒนาเมือง หรือการมองว่านโยบายสาธารณะอย่างการพัฒนาเมืองนั้นมีความเป็นกลางทางเพศ (gender neutral) ซึ่งไม่เป็นความจริง การมองไม่เห็นความต้องการที่แตกต่างของกลุ่มประชากรนี้ยังส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการจัดสรรงบประมาณ เช่น การจัดสรรงบพัฒนาขยายถนนสำหรับรถยนต์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งที่กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรคือผู้หญิงนั้นมีสัดส่วนการใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save