fbpx
‘บทบาทผู้หญิง' ในกระบวนการยุติธรรม: ผู้หญิงในฐานะเหยื่อ และผู้สร้างความยุติธรรม

‘บทบาทผู้หญิง’ ในกระบวนการยุติธรรม: ผู้หญิงในฐานะเหยื่อ และผู้สร้างความยุติธรรม

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง (Violence against women) เป็นปัญหาที่มีความเป็นสากลและพบได้มากที่สุดปัญหาหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้หญิงในหลายด้าน รวมถึงเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสิทธิต่างๆ ที่พวกเธอพึงได้รับ มีข้อค้นพบว่า ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเจอกับความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศ หรือแม้กระทั่งความรุนแรงในบริบททางด้านเศรษฐกิจ  ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผู้หญิงจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงไม่กล้าพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากความกลัว ความอับอาย หรือเพราะการที่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้คำนึงถึงมิติทางเพศภาวะเพียงพอ ทำให้มีคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงจำนวนมากที่อาจไม่ได้ถูกรายงาน

ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อบรรเทาปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่ได้ทำงานร่วมกับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) อย่างใกล้ชิด เพื่อต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และสนับสนุนให้เกิดมาตรการทางด้านเพศภาวะในระบบยุติธรรม

เพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดในการลดความรุนแรงต่อผู้หญิง TIJ ร่วมกับ UN Women จึงได้จัดงาน TIJ-UN Women Collaboration Ceremony and the Official Launch of TIJ Research ขึ้นในวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการนำเสนองานวิจัยของ TIJ ที่ได้รับการตีพิมพ์ 2 ชิ้น ได้แก่ ‘Women as Justice Makers’ และ ‘Towards Gender-responsive Criminal Justice: Good Practices from Southeast Asia in Responding to Violence against Women’ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พูดถึงมุมมองในการลดความรุนแรงต่อผู้หญิง และความท้าทายในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาค รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดวงเสวนา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาร่วมอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ต่อจากนี้คือการเก็บความจากงานดังกล่าว และเมื่ออ่านจบ เราอยากให้คุณลองมองรอบๆ ตัว ไม่แน่ว่าคุณอาจพบว่าตัวเองสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคสำหรับคนทุกเพศอย่างแท้จริงได้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง TIJ กับ UN Women ว่า เป็นความร่วมมือที่มุ่งกำจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญในการคำนึงถึงมิติของเพศภาวะ (Gender responsive) ในระบบยุติธรรม โดยปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาที่กระทบต่อผู้หญิงทั้งโลก เกิดขึ้นได้ทุกที่ และในทุกบริบท

มีการประมาณว่า ผู้หญิงมากกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลกต้องเจอกับปัญหาความรุนแรง และผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 28% ถูกกระทำรุนแรงจากคู่ครองของตน นอกจากนี้ ผู้หญิงจำนวนมากยังไม่กล้ารายงานเรื่องความรุนแรงนี้แก่เจ้าหน้าที่ เพราะความกลัว กระทั่งเจอกับความเฉยชาของเจ้าหน้าที่ ภาคส่วนต่างๆ จึงได้มาร่วมมือกันเพื่อช่วยกันจัดการปัญหานี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศภาวะ และก่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข เป็นสังคมสำหรับทุกคน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ต่อไป

Anna-Karin Jatfors

Anna-Karin Jatfors รักษาการผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงว่าเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมด้านเพศภาวะ แต่ทุกวันนี้ ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรงและการแสวงหาผลประโยชน์ ซ้ำร้าย เหยื่อความรุนแรงก็ไม่รู้จะไปหาความยุติธรรมจากที่ใด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชายขอบ ที่ต้องเจอกับอุปสรรคในเรื่องกฎหมายและกำแพงภาษา รวมถึงความกลัวว่าตนเองจะไม่ปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีความพยายามในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้แสดงความมุ่งมั่นในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และยังมีการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการที่เฉพาะเจาะจงจากปัจจัยทางเพศสภาพของผู้หญิง รวมถึงให้มีร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและปกป้องผู้หญิง ขณะที่ในระดับโลก ก็มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ห้า คือการสร้างความเท่าเทียมทางเพศภาวะ (Gender equality) เพื่อที่จะสร้างโลกที่คนทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน

เสียงของผู้หญิงในการคำนึงถึงมิติทางเพศภาวะ

ในวงเสวนา มีการเชิญผู้หญิงจากภาคส่วนที่หลากหลายมาร่วมอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยมี Dr. Matti Joutsen ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยในการเสวนารอบแรก จะเน้นเรื่องการคำนึงถึงมิติของเพศภาวะ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ‘Towards Gender-responsive Criminal Justice: Good Practices from Southeast Asia in Responding to Violence against Women’ เป็นหลัก

Eileen Skinnider ที่ปรึกษาด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพศภาวะ และสิทธิมนุษยชน ICCLR

(Eileen Skinnider ที่ปรึกษาด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพศภาวะ และสิทธิมนุษยชน ICCLR)

“องค์กรเกี่ยวกับงานยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือสำนักงานกฎหมายเอกชน ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการมาควบคู่กับสังคมชายเป็นใหญ่ หรือถูกครอบงำด้วยความคิดความเห็นแบบผู้ชาย ซึ่งเป็นผู้นำองค์กร หรือเป็นคณะผู้บริหารที่มีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความเสมอภาคและการคำนึงถึงความละเอียดอ่อนด้านเพศภาวะไม่เกิดขึ้นในระดับองค์กร”

Eileen Skinnider ที่ปรึกษาด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพศภาวะ และสิทธิมนุษยชน จาก สถาบันเพื่อการปฏิรูปและการส่งเสริมนโยบายทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (International Centre for Criminal Law Reform and Criminal Justice Policy – ICCLR) กล่าว และเสริมว่านักกฎหมายหญิงมักถูกผู้บริหารมองว่าสามารถทำงานบางอย่างได้ดีกว่าชาย เนื่องจากมีความละเอียดอ่อน เช่น คดีเด็กและครอบครัว แม้ในความเป็นจริงผู้หญิงสามารถทำคดีได้ทุกประเภทไม่ต่างจากชาย ทัศนคติดังกล่าวในองค์กรกลายเป็นกรอบที่ทำให้ผู้หญิงได้รับมอบหมายแต่งานเดิมๆ และไม่มีโอกาสเติบโตในอาชีพเท่าที่ควร ซึ่งหมายถึงการถูกจำกัดในแง่ประสบการณ์ทำงาน การขึ้นเงินเดือน และการมีบทบาทในทางบริหารด้วย

สำหรับความพยายามในการส่งเสริมแนวทางที่คำนึงถึงมิติทางเพศภาวะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น Alison Davidian ผู้เชี่ยวชาญโครงการ จากสำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก UN Women กล่าวว่า ไทยมีความพยายามในการทำ Workshop เพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว เช่น ทำงานร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในเรื่องการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในชุมชนตามแนวชายแดน และยังมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้คำนึงถึงมิติทางเพศภาวะในระบบยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการดูแลผู้เสียหาย เพื่อป้องกันการสร้างความบอบช้ำเพิ่มเติม

วงเสวนาขยับมาที่เสียงจากผู้หญิงในประเทศไทย โดย ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งทำงานในแวดวงยุติธรรมมานาน ได้ตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “เมื่อเราพูดถึงมิติทางเพศภาวะ คนจะคิดว่าเราเป็นพวกสตรีนิยม (Feminist) ต่อมา ก็มีคนตั้งคำถามอีกว่า ทำไมเราถึงนำประเด็นเหล่านี้มาสู่ศาล ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราไม่ได้พูดแค่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่เราพูดเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ซึ่งไม่ง่ายที่จะทำให้คนยอมรับความคิดของเรา อีกทั้งผู้ชายจำนวนมากอาจจะคิดว่า เรารักษาประโยชน์แต่ของผู้หญิง”

ผู้พิพากษาท่านนี้ยังเสริมอีกว่า จากการทำวิจัย เธอเห็นว่ายังมีศัพท์เทคนิคมากมายที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน เช่น การเหมารวม (Stereotyping) หรือการทำให้เป็นเหยื่อซ้ำ (Victimisation) แม้แต่ในคณะนิติศาสตร์ การศึกษาในระดับเนติบัณฑิต หรือแม้แต่สถาบันด้านตุลาการเอง ซึ่งทำให้เธอตระหนักว่า จะต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น แต่อุปสรรคอยู่ที่เวลา สถานที่ และการไม่มีช่องทางในการเรียนรู้ที่เพียงพอ

อีกหนึ่งเสียงที่สำคัญคือเสียงจากสื่อมวลชน โดย ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวจากสำนักข่าว ThaiPBS พูดถึงความเปลี่ยนแปลงและบริบทการพัฒนาของผู้หญิงว่า ในช่วงแรกเริ่มของกระแสสตรีนิยม (Feminism) จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ได้ทำงานนอกบ้าน ต่อมากระแสการพัฒนาของสตรีนิยมเริ่มปรากฏในบริบทอื่นๆ มากขึ้น เช่น ในบริบทของสังคมสื่อออนไลน์ (social media)

อย่างไรก็ตาม เธอเห็นว่าในประเทศไทยนั้น การสร้างความตระหนักรู้และการแสดงออกในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงยังมีข้อจำกัดอยู่ “ถ้าลองดูช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในต่างประเทศทั้งออสเตรเลียหรือเกาหลีใต้ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเรื่องนี้ แต่ในไทยยังเงียบอยู่ ไม่ได้มีพื้นที่ในข่าวกระแสหลักมากเท่าไหร่ คุณอาจจะเจอประเด็นพวกนี้ในสื่อสังคมหรือสื่อทางเลือกแทน”

ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวจากสำนักข่าว ThaiPBS

(ดร.ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการข่าวจากสำนักข่าว ThaiPBS)

สำหรับการเคลื่อนไหวในประเทศไทยเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ดร.ณัฎฐา ได้ยกตัวอย่างแคมเปญ ‘Don’t tell me how to dress’ ของ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ที่เป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิของผู้หญิง สิทธิการแต่งกายของผู้หญิง และเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเธอเห็นว่านี่เป็นก้าวย่างสำคัญที่บุคคลมีชื่อเสียงก้าวเข้ามาร่วมรณรงค์ในประเด็นนี้

“ในไทยมีประเด็นในเรื่องความกลัวและความเป็นส่วนตัว เพราะผู้หญิงมักมองว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว และต้องรักษาหน้าของตัวเอง ถ้าเกิดพวกเธอจะออกมาพูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ก็อาจจะโดนมองว่าเป็นเรื่องไม่ดีในสังคมไทย เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่ามีปัญหามากมายที่ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา แม้ว่าปัจจุบัน สื่อสังคมจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความอ่อนไหว และความไม่เสมอภาคทางเพศอยู่”

หนึ่งในกระแสการรณรงค์เกี่ยวกับผู้หญิงคือกระแส ‘#MeToo’ ซึ่งเป็นกระแสรณรงค์ให้หยุดการล่วงละเมิดทางเพศ กระแสดังกล่าวเริ่มต้นจากวงการฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา และได้แพร่กระจายมาจนเกิดเป็นกระแสที่แพร่หลายไปในทุกวงการของประเทศเกาหลีใต้ หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือ กระแสดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นในไทยบ้างหรือไม่

ดร.ณัฏฐา ตอบคำถามนี้ว่า ในไทยอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ เนื่องจากระบบไม่ได้อำนวยความสะดวก หรือเอื้อให้ผู้หญิงเกิดความกล้าหาญในการออกมาพูดเรื่องนี้ ส่วนตัวเธอมองว่า สื่อสังคมสามารถช่วยกระจายข่าวและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดย ดร.สุนทรียาได้เสริมในประเด็นนี้ว่า เธอเห็นผู้พิพากษาในเกาหลีใต้จำนวนมากพูดถึงและทำความเข้าใจกระแส #MeToo แต่ในไทยอาจจะยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้มากนัก

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจมาจาก ดร.สิตา สัมฤทธิ์ Assistant Director and Head of Poverty Eradication and Gender Division จากสำนักเลขาธิการอาเซียน

“ในการประชุมรัฐมนตรีระดับอาเซียนมีการประชุมว่าด้วยเรื่องผู้หญิง ที่ต้องการจะหยิบยกประเด็นเรื่องอำนาจทับซ้อน (intersectionality) ขึ้นมา เพราะในระบบยุติธรรมมีทั้งผู้หญิงหรือผู้พิการที่ต้องเจอกับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องความอ่อนไหวทางเพศภาวะ (gender sensitive) การมองแค่ในมุมมองของเพศชายและเพศหญิงจึงอาจไม่เพียงพอ”

ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามในการสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศสภาพ โดยมีคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการที่ทำงานเรื่องนี้ รวมถึงมีความพยายามในการสร้างกรอบการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังมีแรงต้านเกิดขึ้นบ้าง ดร.สิตา จึงสรุปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างความตระหนักรู้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามจากทุกๆ คน

ดร.สิตา สัมฤทธิ์ Assistant Director and Head of Poverty Eradication and Gender Division สำนักเลขาธิการอาเซียน

(ดร.สิตา สัมฤทธิ์ Assistant Director and Head of Poverty Eradication and Gender Division สำนักเลขาธิการอาเซียน)

ผู้หญิงในฐานะผู้สร้างความยุติธรรม

นอกจากผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง จะอยู่ในฐานะผู้ที่พึงได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมแล้ว อีกหนึ่งบทบาทของผู้หญิงคือการเป็นผู้สร้างความยุติธรรมเอง โดยปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากเข้ามาทำงานในสายงานยุติธรรมหรือสายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่กระนั้น ก็ยังมีปัญหาและความท้าทายมากมายที่พวกเธอต้องเผชิญ

“เรามีผู้หญิงที่มีประสบการณ์โดนเลือกปฏิบัติมาก่อนและพร้อมจะต่อสู้ เราอยากเห็นผู้หญิงในระบบยุติธรรมที่มีประสบการณ์ในฐานะแม่ แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือแม่ที่ต้องทำงาน มาร่วมกันสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวก เช่น การสนับสนุนให้ศาลมีพื้นที่ให้แม่ได้ปั๊มนม” ดร.สิตา กล่าว และเสริมว่า แม้แต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนเชื่อว่า การให้ผู้หญิงที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในระบบยุติธรรมน่าจะเป็นเรื่องดี และจะเป็นกลไกสำคัญในระบบยุติธรรมของภูมิภาคนี้

เรื่องการเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา คำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่งคือ เมื่อรัฐบาลใหม่มาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แล้วระบบยุติธรรมมีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร

สำหรับเรื่องนี้ ดร.ณัฏฐา ตอบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีแคนดิเดตเป็นผู้หญิงเยอะมาก เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้หญิงซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนี่ถือเป็นแรงผลักดันที่ดี อีกทั้งคนยังค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องของเพศทางเลือก (LGBT) ด้วย แม้การเปลี่ยนแปลงในรัฐสภาอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ส่วนตัวเธอมองว่า จะมีการผลักดันนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิงไปได้อีก รวมถึงนโยบายสำหรับกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มด้วย

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์

(ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์)

ดร.สุนทรียา ให้ข้อมูลต่อประเด็นนี้ว่า “ตอนนี้เรามีผู้พิพากษาหญิงคิดเป็น 27% และอาจจะขึ้นถึงครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาสำหรับผู้หญิงในการเข้าสู่สายงานนี้ แต่ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความอาวุโส กฎเกณฑ์ หรือคะแนน แต่ไม่ได้ขึ้นกับประเด็นเรื่องเพศภาวะแต่อย่างใด”

เธอยังเสริมอีกว่า ในประเทศไทยเริ่มมีคณะกรรมการตุลาการที่เป็นผู้หญิง ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงสามารถขึ้นสู่ระดับผู้นำได้ แต่อาจจะยังน้อยถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ที่มีผู้พิพากษาหญิงจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อพูดถึงระบบยุติธรรม ไทยมักจะคิดถึงแต่ผู้พิพากษาหรืออัยการ แต่ยังมีตัวแสดงอื่น เช่น ตำรวจ หรือผู้บัญชาการทัณฑสถาน ที่เป็นผู้สร้างความยุติธรรมในระบบเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไทยอาจจะขาดแพลตฟอร์มในการให้ตัวแสดงในระบบยุติธรรมมาเจอกัน และได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น

สำหรับความพยายามในการให้หน่วยงานหรือชุมชนต่างๆ ตระหนักถึงความจำเป็นในการมีผู้หญิงร่วมทำงานนั้น Alison กล่าวว่า “เรามีการทำงานร่วมกับ UNODC เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้ามาทำงานในหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมากขึ้น และยังมีการทำงานร่วมกับผู้พิพากษาในการสนับสนุนนโยบายต่างๆ เช่น ในอินโดนีเซีย มีการออกกฎห้ามไม่ให้ผู้พิพากษาใช้ความเห็นเชิงกีดกันทางเพศในศาล”

นอกจากนี้เธอยังเสริมอีกว่า นอกจากระบบยุติธรรมที่เป็นทางการ เช่น ศาล ยังมีความพยายามในการผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามาร่วมในระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นทางการ เช่น เข้ามาปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะทำให้พวกเธอตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

Alison Davidian ผู้เชี่ยวชาญโครงการ จากสำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก  UN Women

(Alison Davidian ผู้เชี่ยวชาญโครงการ จากสำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก  UN Women)

จะเห็นได้ว่า แม้ปัจจุบันผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทในระบบยุติธรรมมากขึ้น แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่มากนักที่จะสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ Eileen กล่าวว่า จากการศึกษาในแคนาดาและสหรัฐฯ พบว่า มีผู้หญิงน้อยกว่า 20% ที่สามารถขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของอาชีพได้ และมีเพียงแค่ 4% เท่านั้นที่เป็น managing partner นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจว่าผู้หญิง 80% ในสายงานด้านกฎหมาย ตัดสินใจออกจากงานเพื่อดูแลครอบครัว

อย่างไรก็ตาม Eileen ได้เสริมว่า ตอนนี้สถานการณ์น่าจะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว และเธอยังเสนอว่าในการศึกษาเรื่องนี้ เราต้องนำเอามิติทางด้านเพศสภาพเข้ามาร่วมด้วย คือมองว่าหญิงและชายมีความเท่าเทียมกันที่จะก้าวหน้าในอาชีพการงานของตน

ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาได้ตั้งคำถามหรือประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการร่วมยุติปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง แนวทางการผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ซึ่งวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้ตอบคำถามและทิ้งประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ ดังนี้

“เราต้องมีกลยุทธ์และมาตรฐานระหว่างประเทศในการคุ้มครองเหยื่อ ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรหรือสวีเดน ได้กำหนดเรื่องรูปแบบความรุนแรงในด้านต่างๆ ไว้ เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถพิสูจน์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ และสำหรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลง เราต้องสนับสนุนผู้ใช้กฎหมาย รวมถึงมีการดึงเอาภาคส่วนต่างๆ และสหวิชาชีพเข้ามาช่วยด้วย” Eileen เสนอแนะ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ดร.สุนทรียา สนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกับประชาชน โรงเรียน และคณะนิติศาสตร์มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคม (Social norm) ของพวกเขา ขณะที่ Alison กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะกับผู้หญิง และการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน (norm) ทางสังคมในการแก้อคติด้านเพศสภาพ

ทางฝั่งของผู้ที่เห็นความเคลื่อนไหวทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอย่าง ดร.สิตา ชี้ว่าปัจจุบันมีการนำประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Headquarter) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้ อันจะเป็นการต่อยอดในการทำความเข้าใจกับประชาชนในประเทศของตนเองต่อไป แต่ยังมีบางประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว ทำให้ต้องมีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อน แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้คนเริ่มพูดถึงการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อผู้หญิงแล้ว และนี่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ปิดท้ายด้วยเสียงจากคนในแวดวงสื่อ ดร.ณัฏฐา ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราจะต้องพยายามผลักดันเรื่องความอ่อนไหวทางเพศภาวะ (Gender sensitive) ให้มากขึ้น แม้จะเป็นงานที่ยากมาก บางคนยังพูดราวกับว่าข่าวข่มขืนเป็นเรื่องตลกอยู่ ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับคุณในการลุกขึ้น แล้วพูดบางอย่างออกมา แสดงจุดยืนว่านี่เป็นความอคติทางเพศ และพวกเราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้คงอยู่ต่อไปไม่ได้”

TIJ-UN Women Collaboration Ceremony and the Official Launch of TIJ Research

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

[box]

ดาวโหลด รายงานวิจัยได้ที่

[/box]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save