fbpx

การต่อสู้ของ ‘เหล่ามะ’ ในจะนะ: ผู้หญิงบนพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างคนกับรัฐ

1

กลางดึกของวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่เดินทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรจากจังหวัดสงขลามายังหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อันหมายรวมถึงโครงการสร้างท่าเรือ-โรงไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งมวล

พวกเขาออกเดินทางจากบ้านเกิดขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อทวงถามสัญญาที่ครั้งหนึ่ง รัฐบาลใน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมอบให้พวกเขา และคำตอบที่ได้รับมีเพียงการสลายการชุมนุมกลางค่ำคืนโดยปราศจากการแจ้งเตือนใดๆ

แทบไม่มีบันทึกเหตุการณ์การเข้าสลายการชุมนุมในค่ำคืนนั้น เหตุผลหลักเป็นเพราะผู้สื่อข่าวถูกไล่ออกจากพื้นที่จนหมด ชาวบ้านที่เหลือถูกยึดอุปกรณ์สื่อสาร อุ้มขึ้นรถโดยไม่อาจทราบชะตากรรมตัวเองได้ว่าเบื้องหน้าจากนี้ต้องเจออะไร และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนใส่ใจอยากให้คำตอบต่อกลุ่มคนที่พวกเขากระชากลากถู อุ้มขึ้นรถขับพากลืนหายไปกับความมืดมิดของถนน

หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานว่ามีคนโดนดำเนินคดีทั้งสิ้น 37 คน ในจำนวนนี้ 31 คนเป็นผู้หญิง

เวลานี้ บรรดา ‘มะ’ เหล่านี้กลับบ้านที่จะนะ พร้อมรับมือกับการประท้วงและการดำเนินคดีในลำดับถัดไป แววตาใต้ฮิญาบของพวกเธอฉายแววเจ็บช้ำเท่ากันกับที่มุ่งมั่น สว่างไสวยิ่งกว่าอนาคตของประเทศ

2

ชนวนเหตุของการรวมตัวกันเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารไปยังคณะรัฐมนตรีของชาวจะนะนั้นผูกโยงเป็นปมยาวเหยียด

จะนะเป็นพื้นที่รุ่มรวยทรัพยากรที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ติดทะเล ชายหาดยาวร่วม 29 กิโลเมตรกับที่ดินอีกกว่าหนึ่งหมื่นไร่ จึงไม่เพียงแต่จะเป็น ‘แผ่นดินทอง’ สำหรับชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงมาหลายชั่วอายุคน ลำพังสามตำบลอย่างพื้นที่ตลิ่งชัน, สะกอมและนาทับ ก็ทำรายได้จากการเกษตรตกปีละ 300-400 ล้าน พร้อมกันกับอาชีพอื่นๆ ที่งอกเงยขึ้นมาตามการขยายตัวของการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เรื่อยไปจนถึงคนถักอวน ขยับไปจนถึงปลายน้ำอย่างคนทำครัว และสุดท้ายคือผู้บริโภค

เท่ากันกับที่มันเป็นแผ่นดินทองของชาวบ้าน มันก็เป็นพื้นที่ล่อตาสำหรับนักลงทุน โครงการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความวาดหวังจะสร้างจะนะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอีกแห่งในไทยที่จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนจากการทำงานโรงงานหรือท่าเรือของโครงการ ท่ามกลางสายตากังขาของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่แล้วต่างก็ ‘มีงาน’ และ ‘อาชีพ’ ที่ผูกโยงอยู่กับดินแดนอันสมบูรณ์ติดชายทะเลแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว โครงการอุตสาหกรรมจึงถือเป็นเรื่องไม่จำเป็น

มากกว่าไม่จำเป็น มันอาจสร้างผลเสียต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

อันที่จริงหากเรานึกกันให้ดี นี่ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่จะนะและชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาไม่ได้เรียกร้อง ก่อนหน้านี้ จะนะคือสมรภูมิระหว่างคนท้องถิ่นและกลุ่มทุนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และเช่นทุกครั้ง ภายใต้การต่อสู้และคัดง้างกันทางอำนาจ เราจะพบผู้หญิง -ซึ่งเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นคนถักอวน- อยู่แถวหน้าของการต่อสู้อยู่เสมอ

เรื่องราวของ สุไรด๊ะ โต๊ะหลี เริ่มขึ้นจากตรงนั้น

3

ก่อนหน้าจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จะนะเคยเป็นเป้าหมายใหญ่ในการสร้างนิคมมาตั้งแต่ต้นปี 2540

การ ‘เปิดดีล’ ครั้งใหญ่ที่นับเป็นหมุดหมายแรกของการต่อสู้ของชาวบ้านที่จะนะคือ โครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในปี 2541 ภายใต้การลงนามของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นอย่าง ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีไทยและ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ท่ามกลางสายตากังขาของชาวบ้านที่มองดูการตกลงทำสัญญาอันปราศจากความเห็นชอบของพวกเขา

สุไรด๊ะคือหนึ่งในแกนนำที่เดินหน้าคัดค้านโครงการนี้จนโดนคดีติดตัว ต้องขึ้นศาลต่อสู้กันยาวนานนับสิบปี ไม่นับว่าถูกกระบองหนาหนักของเจ้าหน้าที่เมื่อยี่สิบปีก่อนฟาดเข้าให้หลายต่อหลายครั้งเมื่อเธอรวมตัวชุมนุมกับชาวบ้าน

สุไรด๊ะ โต๊ะหลี

“เขาเรียกจะนะว่าเป็น เมืองแม่ม่าย” สุไรด๊ะยิ้ม ปัจจุบันเธออายุเกือบ 70 ปีแล้วและยังมารวมตัวกับเหล่าชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอย่างสม่ำเสมอ น่าเศร้าที่คนในชุมชนยังต้องคัดง้าง ต่อสู้กับรัฐและทุนอยู่เรื่อยมาหลังการต่อสู้ของเธอเริ่มต้นเมื่อสองทศวรรษก่อน

“ไม่ใช่ว่าผู้หญิงเป็นม่ายอะไรแบบนั้นหรอก คือผู้ชายเขาไปออกเรือ ออกทะเลหาปลา บางฤดูเขาก็ออกไปไกลเหลือเกิน ไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง เลยเหลือแต่ผู้หญิงอยู่โยงกับบ้าน” สุไรด๊ะอธิบาย “พอมีการประท้วง ผู้หญิงเขาถึงออกไปสู้กันแถวหน้าไง”

เมื่อพื้นที่ของผู้ชายคือการออกทะเลหาปลา -จะใกล้จะไกลแต่มันก็ย่อมหมายความว่าพวกเขาไม่ได้อยู่บ้าน- พื้นที่ของผู้หญิงที่อยู่ในชุมชนจึงกินความตั้งแต่การถักอวน ดูแลลูก ดูแลบ้านและไล่เรื่อยมาจนถึงดูแลชุมชน

ในเมื่อรัฐกับทุนไม่เคยเลือกวันเวลาในการจะเข้ามากลืนกินจะนะ บ่อยครั้งในห้วงยามที่ผู้ชายพากันออกทะเลและผู้หญิงอยู่บ้าน สมรภูมิเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ของพวกเธอเสมอ นับตั้งแต่ยุคของสุไรด๊ะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดทั้งมวลยึดโยงอยู่กับแกนการรักษาชุมชนที่คล้ายจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับบทบาทหน้าที่การดูแลบ้านเรือน

“ยี่สิบปีก่อน มะก็สู้แบบนี้ เป็นผู้หญิงแล้วก็ไปชุมนุมแบบนี้” สุไรด๊ะเล่า แล้วพาเราย้อนกลับไปยังชนวนขัดแย้งเริ่มแรกระหว่างรัฐกับจะนะอย่างโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

4

โครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอันเป็นชนวนสำคัญให้สุไรด๊ะและชาวจะนะต้องลุกขึ้นสู้เมื่อสองทศวรรษก่อน มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนจะนะให้เป็น ‘มาบตาพุด’ อีกแห่ง พร้อมคำสัญญามอบงานมอบอาชีพให้คนในชุมชนซึ่งสุไรด๊ะและอีกหลายชีวิตจับจ้องมันด้วยสายตากังขา

“มะได้ยินว่าเขามีแผนจะพัฒนาภาคใต้ ให้คนได้มีงานทำ ไม่ต้องไปทำงานที่โรงงานไกลๆ แล้ว” เธอบอก “เราไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไรก็เลยอยากทำความเข้าใจก่อน เขาว่าถ้าสร้างท่อส่งก๊าซได้ ชาวบ้านก็จะได้ก๊าซต่อท่อไปใช้ฟรีที่บ้านได้เลยนะ ว่าอย่างนี้เลย”

ยี่สิบปีก่อน สุไรด๊ะทำงานเชิงสังคมด้วยการเป็น อบต. สามสมัย เป็นสตรีอาสาพัฒนาดูแลชาวบ้านพร้อมกันกับที่เป็นกระเป๋ารถโดยสาร เธอเป็นหัวเรือหลักในการออกโรงตั้งคำถามต่อโครงการนี้ “มะก็ชอบการพัฒนานะ แต่ก็อยากรู้ว่าเขาพัฒนาแล้วเป็นอย่างไร ขอรู้ก่อนได้ไหม”

ยิ่งเมื่อมีการโหมประชาสัมพันธ์ว่า โครงการพัฒนาดังกล่าวมีหมุดหมายเพื่อทำให้จะนะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เทียบเท่ากับมาบตาพุด จังหวัดระยอง ความสงสัยก็ผลักให้สุไรด๊ะออกเดินทางจากบ้านเกิดไปอีกฝั่งหนึ่งของประเทศทันที “มะเห็นแต่เหล็ก ไม่เห็นต้นไม้เลย ผู้คนที่นั่นถ้ายังอยู่ในมาบตาพุดก็เป็นผื่น ลูกหลานเด็กเล็กไม่สบาย ต้องใส่หน้ากากไปโรงเรียนเพราะอากาศมันไม่ดี ถ้าสร้างอุตสาหกรรมกับโรงงานขึ้นมาก็เท่ากับว่าเราตายผ่อนส่งแล้วใช่ไหม แล้วมะก็เห็นว่าเพื่อจะตั้งโรงงานนี้ เขาเลยต้องย้ายโรงพยาบาล ย้ายโรงเรียนด้วย มะเลยกลับมาจะนะ บอกพี่น้องในชุมชนว่าไม่ได้การแล้ว หากให้สร้างเราจะไม่มีที่อยู่เอาได้” เธอเล่า “คนมีที่แล้วขายทิ้งเขาก็ไปอยู่กินที่ไหนก็ได้ แต่คนอื่นๆ ในชุมชนล่ะจะทำอย่างไร”

ในระยะทางของการต่อสู้ มีการทำประชาพิจารณ์ รวมตัวชุมนุมและถูกสลายการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง ฝั่งผู้สนับสนุนก็เชื่อว่าหากอุตสาหกรรมต่อเนื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง จะมีโรงงานจำนวนมากเกิดขึ้นมากมายอันจะสร้างเม็ดเงินให้พื้นที่จะนะและจังหวัดสงขลากว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท ยังไม่นับการจ้างงานผู้คนที่จะเกิดตามมาอีกหลายตำแหน่ง ขณะที่คนที่ต่อต้านคัดค้าน -เช่นสุไรด๊ะ- ก็ยืนกรานว่าคนในจะนะมีที่ทำกินอยู่แล้ว และเป็นอาชีพที่หากินได้หลากหลาย ยืดหยุ่นกว่าที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมอบให้มากนัก

“เวลาเขารับคนไปทำงานในโรงงาน เขาก็รับแค่อายุสามสิบเท่านั้นแหละ” เธอเล่า “จากนั้นไปจะไปทำอะไรกัน แต่นี่ ทุกวันนี้มะก็แก่แล้วแต่ยังไปกรีดยาง ไปทำมาหากินอะไรในจะนะได้อยู่เลย ไม่ต้องสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องอะไรด้วย”

การต่อสู้ของสุไรด๊ะมาถึงจุดงวดกระชั้นในเดือนเดียวกันกับที่คนรุ่นหลานเธอต้องเผชิญในเวลานี้ 20 ธันวาคม 2545 นายกรัฐมนตรี -ซึ่งเวลานั้นผลัดเปลี่ยนยัง ทักษิณ ชินวัตร- จัดประชุม ครม.สัญจรที่โรงแรมเจบี ชาวบ้านรวมทั้งสุไรด๊ะจึงรวมตัวกันไปเพื่อยื่นหนังสือการคัดค้านสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่กลับถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจนทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บรวมทั้งถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือสุไรด๊ะ

“หลังจากนั้นนี่ถลกผ้าถุงด่าตำรวจเลย” เธอเล่า “ก็เอาสิวะ มาสร้างอุตสาหกรรมแล้วลูกหลานในอนาคตเขาจะอยู่ จะกินกันยังไง”

กินเวลาอีกสิบปี กว่าที่ศาลปกครองจะชี้ว่าตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 มีความผิดและต้องชดใช้เป็นเงินหนึ่งแสนบาท ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่มีใครชดเชยช่วงเวลาของการถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามถึงบ้าน ตามสอดส่องพฤติกรรมของสุไรด๊ะและผู้ต้องคดีคนอื่นๆ มากไปกว่านั้น มันยิ่งน่าเศร้าที่ในอีกหลายปีต่อมา ลูกหลานที่เธอหวังจะให้เติบโตมามีอนาคตที่ดีกว่าเธอในวัยสาว ยังต้องออกมาต่อสู้และโดนจับกุมด้วยสาเหตุเดียวกัน ภายใต้โครงการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

5

มาดิย๊ะ มะเสาะ เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบที่หน้าทำเนียบในวันที่ 6 ธันวาคม และเป็นหนึ่งในคนที่โดนคดีโดยไม่ทันตั้งตัว

“มะเป็นแม่ครัวในม็อบด้วยนะ อร่อยไหม” เธอบอกเราเช่นนั้น ขณะคะยั้นคะยอให้เราลองกินขนมรวมมิตรพร้อมส่งยิ้มพราวระยับมาให้ การประกอบอาชีพเป็นคนถักอวน เป็นแม่บ้าน เป็นแม่ครัวมาเกือบห้าทศวรรษทำให้เครื่องเคียงทุกสิ่งอย่างเลื่อนไหลเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิต

และในขวบปีที่ 56 ของชีวิต รัฐไทยก็มอบคดีความและการสลายการชุมนุมเป็นของขวัญให้เธอ

มาดิย๊ะผูกพันกับเรือและอวนตั้งแต่ยังสาว ชีวิตชาวทะเล เมื่อผู้ชายออกเรือผู้หญิงก็ถักอวน เธอถักอวนได้ทุกประเภท อวนปู อวนกุ้ง อวนปลา -ปลาอะไร หลากชนิดแค่ไหน เธอรู้ขนาดของมันหมด- ทุกสิ่งอย่างจำขึ้นใจเหมือนไหลเวียนพร้อมเลือด สูบฉีดเข้าร่าง ผ่านหัวใจ ไม่เคยมุ่งหวังจินตนาการชีวิตแบบอื่นเพราะที่มีก็ดีอยู่แล้ว “มะไม่เคยต้องกินกุ้งที่เขาแช่น้ำแข็งเลย” เธอเล่า “หิวเมื่อไหร่ก็ไปจับกุ้งจากทะเล เอาขึ้นมากิน”

“คนกรุงเทพฯ เคยไหม เคยกินปลากินกุ้งที่ไม่ต้องแช่น้ำแข็งไหม”

โครงการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจทำให้เธอตั้งคำถามต่อท่าทีของรัฐและการเข้ามาของทุนใหญ่ และยิ่งชวนขนหัวลุกเมื่อเห็นภาพบ้านเกิดอันอุดมสมบูรณ์ของตัวเองอาจต้องกลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่สองของประเทศไทย เธอเคยเห็นสภาพในพื้นที่แห่งนั้น ชาวบ้านเจ็บป่วย โรงเรียน วัด โรงพยาบาลถูกโยกย้ายเพื่อนำไปสร้างให้เป็นชุมชนโรงงาน

สำหรับมาดิย๊ะและบรรดามะทั้งหลาย นี่ไม่เพียงสั่นคลอนแนวคิดที่ว่า พวกเธอต้องดูแลบ้านและชุมชนอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังสะเทือนไปยังความเชื่อทางศาสนาที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นจิตวิญญาณของชุมชนไปแล้ว

“มุสลิมมีสิ่งวากัฟ หมายถึงการคงไว้ซึ่งสภาพดั้งเดิมของสิ่งสร้างหรือทรัพย์สินนั้นๆ แล้วที่มาบตาพุด มะก็เห็นเขาย้ายโรงเรียน ย้ายโรงพยาบาลเพื่อสร้างโรงงาน” เธอว่า “แล้วถ้าเราปล่อยให้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม จะท่าเรือหรือโรงไฟฟ้า จะห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายอย่างไรไหว”

“มุสลิมนั้น แม้แต่เมื่อเม็ดทรายจากทะเลติดรองเท้าเรามา เราก็ต้องเคาะออกเสียก่อน จะไปเอาอะไรที่ไม่ใช่ของเรากลับบ้านมาไม่ได้ เอาไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ หากเกิดการย้ายมัสยิดเพื่อสร้างโรงงานอย่างที่เขาย้ายวัดที่มาบตาพุดแล้ว เราจะตอบพระเจ้าว่าอย่างไร”

เธอจึงออกเดินทางไปคัดค้านไกลถึงที่ทำเนียบ กรุงเทพฯ เพื่อจะพบว่าไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เธอจะถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง รวดเร็วและไม่มีใครได้ทันตั้งตัว

“มะไปชุมนุมนะ ลำบากอย่างไรมะก็จะไป จะให้มะไปนอนข้างถนน กินข้างต้นไม้ ไม่มีห้องน้ำห้องท่าห้าวันมะก็อยู่ได้” เธอบอก “บ้านเรานะ ที่ว่างตรงไหนเราก็นั่งได้ แต่กรุงเทพฯ ที่ว่างทุกที่มีเจ้าของหมดเลย เขามาไล่ มากระชากเราออกไป แล้วเราก็จะไปด้วยกันนั่นแหละ แค่นี้มะทนได้”

ท้ายประโยคเสียงหาย แทนที่ด้วยน้ำตาเม็ดโตของคนเล่า

6

สิ่งที่เป็น ‘ระหว่างบรรทัด’ เมื่อเราได้พบเหล่ามะที่เผชิญหน้าการสลายชุมนุมในวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาคือ พวกเธอเกือบทุกคนยังคงรู้สึก traumatized หรือจิตใจได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์วันนั้น หลายคนยังพูดเรื่องนี้ไม่ได้

เป็นอย่างที่มะวัย 70 คนหนึ่งบอกเรา ภายหลังยื่นผลหมากรากไม้ให้ผู้มาเยือน ใครสักคนถามเธอถึงประสบการณ์ในค่ำวันนั้น เธอยกมือปิดหน้า

“มะแหลงเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นมะจะร้องไห้”

ไม่ทันขาดคำ เราเห็นแววน้ำตาหยดแรกไหลลงอาบแก้ม มะที่นั่งข้างๆ น้ำตาไหลตาม แล้วมาดิย๊ะจึงเป็นคนเล่าถึงเรื่องราวในวันนั้น -แน่นอนว่าทั้งน้ำตา- “ตอนนั้นเราเพิ่งทำดุอาอ์ (การร้องขอสิ่งที่ต้องการจากอัลเลาะห์) กัน เราอ้อนวอนขอให้สันติสุขบังเกิด เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พวกเขาก็บุกเข้ามา”

“มะก็นั่งนิ่งๆ อยากรู้ว่าถ้าเราไม่ลุกตามที่เขาบอก เขาจะทำอะไรมะ พวกเราก็คล้องแขนกัน เอาเพื่อนเราไปเราก็จะไปด้วย แต่เขามากระชากมือมะออก แล้วมะก็เห็นเพื่อนถูกอุ้มไป”

เรื่องจบตรงนั้น เธอเล่าต่อไม่ได้

ใต้น้ำตา ใต้ความเจ็บช้ำ มันคือคำถามที่มีต่อเจ้าหน้าที่และรัฐว่าเหตุใดต้อง ‘รุนแรง’ ต่อกันถึงเพียงนี้ เป็นคำถามที่ด้านหนึ่งแฝงฝังความเจียมเนื้อเจียมตัว นั่งประท้วงกันเงียบเชียบในพื้นที่โล่งหน้าทำเนียบ อธิษฐานและขอพรอยู่ภายใต้ความไม่แยแสของรัฐ

“พวกเราไม่ได้ทำอะไรเลย” เธอบอก และในความ ‘ไม่ได้ทำอะไรเลย’ นี้เอง เธอจึงไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐต้องรุนแรงถึงเพียงนั้น ความจำเป็นในการใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของคนที่ปักหลักอย่างสงบนั้นคืออะไร

มวลอารมณ์ทะลักทลาย ผสมปนเปมากับความเจ็บช้ำมันคือความไม่เข้าใจสายตาที่รัฐไทยมองประชาชนอย่างพวกเธอ -พวกเรา

7

จะนะกลางเดือนมกราคมต้อนรับเราด้วยแดดกล้าและลมแรง พร้อมรอยยิ้มสว่างไสวของคนในพื้นที่ซึ่งต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนจากหนึ่งพันกิโลเมตร

มองแดด มองคน มองท่วงท่าคล่องแคล่วฉับไวของคนเจนพื้นที่เมื่อเตรียมต้องจัดสำรับอาหารคาวหวานให้คนกลุ่มใหญ่จากเมืองอื่น ยากจะเชื่อว่าแค่เมื่อไม่กี่นาทีก่อน เจ้าของรอยยิ้มกว้างกับประกายแววตาพร่าวระยับจะเป็นคนเดียวกันกับเจ้าของคราบน้ำตากับประโยคที่กลั่นออกมาจากเบื้องลึกของทุกความรู้สึก

“จะกี่คดีฉันก็ไม่กลัวหรอก ฉันเก็บกระเป๋ารอไว้แล้ว เตรียมโดนดำเนินคดี เราจะสู้ จะจบแบบไหนก็จะสู้”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save