fbpx

นักเรียนหญิง สาวเครือฟ้า และการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไร้เพศ? : ผ่ามายาคติกดทับความเป็นหญิง ผ่านเรื่องเล่าของผู้หญิง

ประเด็นเรื่องผู้หญิงและสิทธิสตรีถูกพูดถึงทุกยุคทุกสมัย แม้ในปัจจุบันสิทธิสตรีซึ่งรวมไปถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศจะดูมีที่ทางขึ้นแล้ว และเหมือนว่าจะมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับในอดีต แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ผู้หญิงยังถูกคุกคาม โจมตี หรือถูกทำให้เป็นสิ่งของเพราะความเป็นหญิง เช่นที่ประเทศเม็กซิโก มีผู้หญิง 10 คนถูกสังหารในแต่ละวัน ส่งผลให้ผู้หญิงรวมตัวกันประท้วงต่อต้านความรุนแรง ซึ่ง 90% ของอิตถีฆาต (femicide) ในเม็กซิโกเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้ถูกนำตัวมาลงโทษ[1]

ในสังคมไทยเอง แม้ว่าจะมีการยอมรับความเป็นผู้หญิงมากขึ้น แต่ในระหว่างบรรทัดเรากลับพบเรื่องราวหลากหลายที่ซ่อนอยู่

ในงานเสวนา ‘เรื่องเล่า ผู้หญิง สิทธิมนุษยชน กับการเขียนเปลี่ยนโลก’ ณ ร้านหนังสือ Book Re:public เมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา เปิดพื้นที่ให้เรื่องเล่าของ ‘ผู้หญิง’ ในมุมมองที่แตกต่างกัน จากประเด็น ‘สิทธิ’ ที่แต่ละคนได้พบเจอ ซึ่งเกิดขึ้นจากมุมมองของทั้ง 3 คนที่มีประวัติชีวิตและบริบทที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย มุมมองจากนักกิจกรรมเยาวชนของ เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม คนรุ่นใหม่ที่ต้องการพูดในสิ่งสามัญธรรมดาอย่างเรื่องการศึกษา และไม่อยากถูกจับตาแค่เรื่องความเป็นเด็กผู้หญิงของเธอ

มุมมองจากนักเขียน เปีย วรรณา นักเขียนจากภาคเหนือที่มีมุมมองต่อผู้หญิงเหนือสวนกระแสจากภาพที่ถูกผลิตซ้ำผ่านเรื่องเล่าและละครโทรทัศน์

และคนสุดท้าย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่ ที่เสนอให้เห็นว่าประเด็นเรื่องธรรมชาติและการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมีเพศอยู่เสมอ ดำเนินการเสวนาโดยอาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี จากภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ภาพจากร้านหนังสือ Book Re:public

นักเรียนหญิง โบว์สีขาว ชูสามนิ้ว และการถูกจดจำว่าเป็นเด็ก

เมนูสุพิชฌาย์ ชัยลอม

ภาพจากร้านหนังสือ Book Re:public

วันที่เราตัดสินใจขึ้นไปพูดเรื่องราวที่เราอยากสื่อสาร คือเรื่องการศึกษา พอกลับมาทบทวน ทุกๆ ครั้งที่ปราศรัย สิ่งที่เราสื่อคือสิ่งลึกๆ ในใจที่อยากเล่าให้พ่อแม่เราฟัง ภาพใส่ชุดนักเรียนด้านหลัง เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากการเป็นเด็กนักเรียนและการเป็นเด็กผู้หญิงก็คือ คนติดแค่สองภาพนั้น

ทุกคนโฟกัสที่เด็กผู้หญิงใส่ชุดนักเรียนที่ออกมาพูดถึงปัญหา แต่ไม่มีใครพูดต่อว่าปัญหาที่คนนั้นพูดคืออะไร ต้องการสื่ออะไรให้สังคม อะไรคือความเจ็บปวดที่เขาเจอ ประเด็นที่เราต้องการสื่อถูกลดทอนด้วยคำว่า ‘นักเรียนหญิง’ ซึ่งไม่ได้มีเรื่องเพศอย่างเดียวนะที่ทำให้การสื่อสารหายไป แต่การเป็นคนอายุน้อยนั้นมีภาพลักษณ์ของการเป็นเด็กนักเรียน เป็นผู้บริสุทธิ์

วันแรกที่ปราศรัยเราไม่ได้เปลี่ยนชุดเพราะเปลี่ยนไม่ทัน เราไม่ต้องการโชว์ภาพลักษณ์ของการเป็นนักเรียนเลย สิ่งที่เราต้องการแสดงออกต่อหน้าเวทีคือ เราก็เป็นประชาชน เป็นมนุษย์เหมือนกับคุณ แค่อายุน้อยกว่าเท่านั้นเอง สิ่งที่สื่อไปก็เป็นแบบนั้นมาตลอด ซึ่งเรารู้สึกว่ายังไม่ใช่ปัญหาหนักอะไร จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วที่เราโพสต์รูปเราและคำบรรยายภาพว่า power of people หลังจากนั้นมีดราม่าที่ทุกคนน่าจะคุ้นกัน คือดรามา ‘หอม’ ที่มีการเว้นวรรค และดราม่า ‘ขอบคุณครับ’ ที่มีการเว้นวรรคเหมือนกัน

ในฐานะนักกิจกรรม เรารู้สึกว่าโพสต์นั้นไม่ได้มีเนื้อหาที่อยากให้คนชมหรือหยอกล้อ เราไม่ค่อยโอเค ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก เราก็ใช้อารมณ์โพสต์ไปว่าเราไม่โอเค จนเริ่มมีการถกเถียงเกิดขึ้น และมีคำที่อันตรายมากขึ้น เช่น men are trash เรารู้สึกว่าควรหยุด เลยพิมพ์ไปบอกว่ารู้สึกไม่ดีกับคำนี้ อยากให้ทุกคนหยุดพิมพ์ก่อน ตอนนั้นเราไม่รู้วิธีปิดคอมเมนต์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงคอมเมนต์เพิ่ม 8,000 กว่าคอมเมนต์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับสารในรูปเลย

จากตรงนี้เราตระหนักได้ว่าสิ่งที่เราเจอเริ่มอันตราย ทุกคนสนใจสิ่งอื่นมากกว่าที่เราสื่อ เราลุกขึ้นมาเวที ไม่ใช่เพราะต้องการแสง เราแค่ต้องการพูดสิ่งที่ไม่เคยพูดออกมา สิ่งที่เราอยากพูดกับพ่อแม่ กับผู้ใหญ่ กับทุกคน แต่สุดท้ายทุกคนโฟกัสว่าน้องเมนูแต่งตัวอย่างไร แต่ไม่ได้โฟกัสว่าเรื่องที่เราพูดจะนำไปสู่อะไรต่อ

และด้วยความที่เราเป็น ‘น้อง’ เรารู้สึกว่าคำนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างมาก ช่วงนั้นเหมือนผิดพลาดไปหมด สภาพจิตเราไม่ดี สิ่งที่เราสื่อไปช่วงนั้นเราคิดอย่างเดียวเลยว่าเราผิดที่โพสต์อย่างนั้น ก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ เข้าจิตบำบัด และกลับมาอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราอาจจะยังโตไม่พอ ตอนนี้เราโตขึ้น กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และกลับมามองบาดแผลนั้น

พอมองการเรียกร้องความเท่าเทียมของสังคมไทยตอนนี้ เรารู้สึกว่ายังไม่ใช่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ยังเป็นความเท่าเทียมที่ไม่ได้มีการตระหนักในส่วนอื่นๆ ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็ยังมีคนพูดถึงแต่ไม่เชิงกว้างขนาดนั้น ยังมีคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้บ้าง หรือแม้แต่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สมรสเท่าเทียม ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจัง รวมถึงสิ่งที่เราเจอคือเรื่องความเกลียดชังในเพศหญิง

สิ่งที่เราเจอบั่นทอนจิตใจมาตลอด ถ้าคุณคอมเมนต์ในสิ่งที่เราเป็นหรือพูดความจริงเราไม่ว่าเลย แต่สิ่งที่เราเจอคือการเอาเราไปแขวน ซึ่งนั่นทำให้เราเกือบจะพักความเคลื่อนไหว ซึ่งก็เปลี่ยนมาทำงานหลังบ้านเมื่อปีที่แล้ว

เราทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสังคมด้วยการเชื่อมโยงเด็กกับองค์กร แล้วกลับมามองภาพรวมของการเคลื่อนไหวมากขึ้นว่าในสายการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่มีอุดมการณ์ เราเรียกร้องประชาธิปไตยความเท่าเทียม แต่เรารู้สึกว่าไม่มีใครสร้างพื้นที่ตรงนั้นขึ้นมา พื้นที่ที่ทุกคนยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่เราเรียกร้องเรื่องการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมแต่พื้นที่นั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงๆ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการสื่อสารสำคัญมาก ซึ่งการสื่อสารของเรายังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากพอ และยังไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

จนเราได้มาแลกเปลี่ยนกับหลายๆ คน อย่างพี่รุ้ง-ปนัสยา ก็เห็นว่าสิ่งเดียวที่จะเริ่มสร้างสังคมประชาธิปไตยได้ ต้องเริ่มจากการที่เรามีพื้นที่ปลอดภัย แต่คือพื้นที่ที่เรารับฟังกันได้โดยไม่ตัดสินกัน พยายามจะเข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น พื้นที่ที่เราเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ยั่งยืนได้

สิ่งที่เราตกผลึกจากที่เราเจอ วันนี้ครบรอบ 1 ปีที่เราโพสต์เรื่องฝังยาคุม สิ่งที่เราเจอสะท้อนภาพในสังคมได้เยอะเลย ด้วยความที่เป็นผู้หญิง เป็นเด็ก เป็นนักเรียน มารีวิวการคุมกำเนิดก็เลยกลายเป็นกระแสอีกรอบหนึ่ง ซึ่งเราดีใจที่มีคนเห็นด้วยเยอะมาก เรานั่งอ่านทุกคอมเมนต์ หนึ่งปีที่ผ่านมา เป้าหมายของโพสต์นั้นคือการที่มีรัฐสวัสดิการเรื่องนี้อยู่

นักเขียน สาวเหนือ ภาพจำคนละด้านจากสายตาของชาวกรุง

เปีย วรรณา

ภาพจากร้านหนังสือ Book Re:public

จริงๆ เราเขียนงานในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิหรือเรื่องการละเมิดยังไม่ค่อยมาก ส่วนหนึ่งที่ได้คุยกับอาจารย์เหมียว (วราภรณ์ เรืองศรี) อาจจะเป็นเพราะว่าตัวเองเป็นผู้หญิงบ้านนอก โตมาในสังคมชนบท เรามองญาติมิตรพี่ป้าน้าอาเป็นผู้หญิงเก่ง ผู้หญิงทางเหนือในสังคมบ้านนอกเป็นผู้นำ ผู้ชายให้สิทธิ ผู้ชายในสังคมชนบทอยู่กับวัด พิธีกรรม ผู้หญิงทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้ค่อนข้างดี ซึ่งภาพสาวเครือฟ้า ผู้หญิงสวยหวาน อ่อนแอ ถูกผู้ชายมาทำให้ผิดหวังในหน้าสื่อ เลยค่อนข้างผิดจากความเป็นจริงของผู้หญิงชนบท

พอเรามาเขียนงาน พล็อตเรื่องต่างๆ ก็ค่อนไปในเชิงที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายกระทำด้วยซ้ำ เรื่องสั้นที่เก็บมาจากเรื่องจริง มีเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับแม่ม่ายหมายตาพระหนุ่มในวัด ผู้หญิงเลยปูทางและวางแผนให้ได้ดังที่ตัวเองต้องการ ผู้หญิงสามารถจัดการหลอกพระไปที่วิหาร ขืนใจพระได้ ซึ่งในสังคมอาจดูเป็นเรื่องไม่ค่อยจริง บางครั้งเราเขียนไม่ให้เป็นเรื่องจริงเกินไป ผู้อ่านอาจจะไม่เชื่อก็ได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า

อีกเรื่องหนึ่งเราเขียนเป็นสารคดี กลัวคนอ่านคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องของเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนคนหนึ่งแม่ตาย เลยลงไปทำงานกรุงเทพฯ เพื่อนจะระมัดระวังตัวมากเพราะคนกรุงเทพฯ มักคิดว่าผู้หญิงเหนือปล่อยตัวปล่อยใจ รักใครง่ายๆ ดังนั้นเขาจะรอคนที่รักจริงหวังแต่ง ไม่ให้ใครมาหลอกฟันง่ายๆ จนมีผู้ชายคนหนึ่งมาแต่งงานกับเขา แต่สุดท้ายแล้วเงินที่เอามาจัดงานคือเงินที่กู้มา มาบอกคืนวันแต่งงาน และต้องอยู่กัน 3 คนผัวเมียด้วยนะ คือผู้ชายแต่งงานแล้ว ซึ่งผู้ชายคิดว่าผู้หญิงต้องยอม แต่ฝ่ายหญิงไม่ยอม ฝ่ายชายจะปล้ำ ผู้หญิงก็ชกผู้ชายเลย เช้านั้นตี 5 เขาก็ไล่ออกจากบ้านไปเลย วันรุ่งขึ้นชาวบ้านในหมู่บ้านจะมาช่วยกันเก็บกวาด เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ซึ่งถ้าเขียนเป็นเรื่องแต่ง คนก็คงจะไม่เชื่อ

ในหลายๆ ครั้งเราก็ไปอ่านเจอพล็อตนิยายหรือเรื่องสั้นแบบที่เราเบื่อ ผู้ชายผู้หญิงรักกัน ผู้ชายมีคนที่ 2-3 ท้ายที่สุดผู้หญิงก็ต้องยอมให้อภัย เริ่มต้นกันใหม่ เรามีความรู้สึกว่าถ้าผู้ชายคนไหนมาทำอะไรฉันแบบนี้ ฉันถีบส่งเลยนะ แต่อยากรู้ว่าทำไมผู้หญิงส่วนใหญ่ในเรื่องเล่าถึงยอมถูกละเมิดหรือถูกกระทำ ซึ่งสำหรับเรา ในภาพรวม ผู้หญิงในสังคมชนบททางภาคเหนือมีความมั่นคงพอประมาณ และถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ค่อนข้างน้อย

เราเขียนหนังสือมา 20 กว่าปี แต่พอจะแตะประเด็นการเมืองหรือโครงสร้างอำนาจนำ-อำนาจเผด็จการ เหมือนว่างานไม่ไปในจุดที่เราคิดว่าควรจะไป อย่างที่คุยกับเพื่อนๆ ว่า มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เรื่องสั้นที่เคยส่งไปไม่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งเพื่อนก็บอกว่ามีคำบางคำที่เราเขียนไปและทำให้เราไม่ผ่าน หรือบางครั้งเราก็ได้รับการวิจารณ์เหมือนกันว่างานของเราหนัก เครียด ไร้ทางออก

มีผู้ใหญ่อีกคนที่วิจารณ์งานเรา ซึ่งแนวคิดเขาอาจเรียกได้ว่าอนุรักษนิยม เขาใช้วิธีไม่วิจารณ์ แต่ให้กำลังใจด้วยคำชมไปในเชิงว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนี้ บางทีเราก็ตงิดใจ กับอีกอันหนึ่งคือความเป็นผู้หญิง ที่ก็รู้สึกเหมือนกันว่ามีข้อจำกัดบางประการในการเขียนงาน ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นข้ออ้าง บางครั้งความเป็นผู้หญิงที่ต้องดูแลลูกและสามี ซึ่งนักเขียนผู้ชายอาจจะไม่ต้องมีตรงนี้ก็ได้ อย่างผู้ชายถึงมีลูกมีเมียแล้ว เขาก็อาจจะเดินทางท่องเที่ยวเก็บข้อมูล 3 เดือน 6 เดือนได้ แต่ผู้หญิงอาจจะไม่ได้ ความเป็นผู้หญิงก็มีข้อจำกัดบางประการอยู่

ประเด็นการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อเพศจริงหรือ?

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ก่อนที่จะพูดในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอเพศ หรือไม่มีเพศหรือไม่? อยากให้ทุกคนลองเก็บไปคิดถึงมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างของคุณเมนูและคุณเปีย ถึงความขัดกันระหว่างการรู้สึกไม่มีอำนาจของคุณเมนูที่ถูกสร้างภาพจำว่าเป็นเด็กนักเรียนหญิงและการถูกโจมตีเรื่องการฝังยาคุม และคุณเปียที่มองว่าผู้หญิงทางเหนือดูเหมือนมีอำนาจ ต่อกรได้ ว่าคำถามสำคัญของสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า และถ้าเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะเข้าใจภาวะการขัดกันตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง

โดยตัวผู้หญิงไม่สามารถผลิตสร้างอำนาจเข้ามาคุ้มครองตัวเองได้ ลำพังผู้หญิงที่มีอำนาจในการต่อรองนั้นอาศัยความกล้าหาญอย่างเดียวไม่เวิร์ก ประเด็นอาจจะเถียงกับคุณเปียหน่อยว่า แม้ว่าผู้หญิงมีอำนาจทางเศรษฐกิจ สามารถปลดแอกตนเองออกจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจได้ แต่คำถามคือสามารถปลดแอกตนเองออกจากอำนาจของเพศวิถีได้หรือไม่?

ยกตัวอย่างเช่น ประกาศตนว่าฉันคุมกำเนิดตัวเองเมื่อฉันยังเป็นเด็กหรือเยาวชน ในสถานภาพที่ฉันเป็นนักเรียนหญิง คุณสู้กับจารีตแบบเพศวิถีในสังคมที่มองว่า เพศหญิงที่เป็นนักเรียนหญิงนั่นหมายถึงยังบริสุทธิ์อยู่นั้น ต้องไม่ข้องแวะกับเซ็กซ์ได้หรือไม่ นี่คือคำถามใหญ่

ส่วนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราอาจจะมองว่าไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เราอาจใช้มุมมองเรื่องสตรีนิยมเข้าไปมองได้อย่างในกรณีของจะนะ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การต่อสู้ของชาวบ้านจะนะ ผู้ที่มาชุมนุมประท้วงจนถูกคนของรัฐเข้าจับกุมจะเป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ เช่นเดียวกัน ถ้าใครนึกย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน กรณีปากมูล กลุ่มที่ออกมาค้านหรือเคลื่อนไหวประท้วงส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้ผลักดันให้สร้างนิคมจะนะเป็นทั้งกลุ่มทุน นักวิชาการ ผู้บริหาร หน่วยงานราชการ หรือวิศวกร ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเพศชาย

ที่ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะว่าในทุกๆ เรื่องของกระบวนการต่อสู้ ในทุกๆ เรื่องของสิทธิ ในทุกๆ ความสัมพันธ์ทางอำนาจล้วนมีเรื่องเพศเสมอ แต่เรามักทำให้เป็นเรื่องอเพศหรือมีความเป็นกลางทางเพศ ซึ่งเป็นตรรกะที่ไม่ต่างไปจากการทำให้ธรรมชาติเป็นวัตถุที่แตกต่างไปจากการมีชีวิตและความสัมพันธ์

ถ้าเราเอามิติทางเพศเข้ามาทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จะช่วยให้เรามองกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อมว่าเป็นปิตาธิปไตยแบบหนึ่งหรือไม่ ปิตาธิปไตยที่กดทับผู้หญิง และช่วยทำให้เราเข้าใจว่าเวลาพูดถึงสิทธิสตรี ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิในการไม่เป็นนางสาว ไม่เป็นนาย หรือปลดแอกตัวเองในเรื่องเพศวิถีอย่างเดียว แต่ดิฉันอยากจะเชิญชวนให้มองประเด็นเรื่องสิทธิสตรีว่า ขบวนการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นขบวนการสิทธิสตรีได้ด้วย – ไม่ใช่ได้ด้วย มันเป็น – แต่ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเฟมินิสต์ในไทยไม่นับเรื่องพวกนี้ว่าเป็นขบวนการเหมือนกัน

ถ้าขยายประเด็นมาทำความเข้าใจกรณีเรื่องจะนะ ประเด็นแรกเรื่องธรรมชาติ ไครียะห์ ระหมันยะ เด็กสาวอายุ 19 ปี จากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เธอเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนตั้งสมญานามให้เธอว่าเป็นลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” แต่จริงๆ ไม่ว่าใครจะเป็นคนตั้งสมญานามให้ ไม่สำคัญเท่าข้อเท็จจริงที่ว่าเธอลุกมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่แม่ๆ ทั้งหลาย ในการปกปักรักษาทะเลจะนะ ไม่ต่างไปจากลูกสาวที่ปกป้องบุพการีของตนเองจริงๆ การถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับทะเลในนามของเครือญาติ ในนามของสายเลือด ในกรณีนี้คือลูกสาวกับพ่อแม่

มันเป็นการท้าทายโต้แย้งกับวิธีคิดในการมองธรรมชาติแบบจักรกลนิยมของทุนนิยมในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ของโลกในทางธรรมชาติก่อนที่การปฏิวัติวิทยาศาสร์จะเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ก่อนหน้านี้โลกเป็นโลกแห่งอินทรียภาพ เป็นโลกของผู้หญิง เราจะได้เห็นได้จากคำพวก Mother God, Mother Earth, Living Female Earth คำเหล่านี้เป็นคำที่มีเพศ โลกมีเพศ แผ่นดินก็มีเพศ วิทยาศาสตร์ได้ประกอบสร้างความหมายใหม่ให้ธรรมชาติให้กลายเป็นสิ่งไร้ชีวิต ไร้จิตวิญญาณ และไม่อาจกระทำการใดใดได้ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เพียงรอคอยการควบคุมจากมนุษย์เท่านั้น

กรอบคิดจากวิทยาศาสตร์จักรกลได้แบ่งแยกธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ กำหนดหน้าที่เฉพาะทางและสร้างความรู้ให้กับองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกจำแนกให้ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ธรรมชาติทันสมัยปฏิเสธและเบียดขับด้านที่เป็นอวิทยาศาสตร์ออกไป ไม่ว่าจะเป็นอินทรียภาพ ศีลธรรม ความรู้สึก ภาพลักษณ์ของความเป็นหญิงและธรรมชาติ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้หญิงกับธรรมชาติ ตลอดจนความผูกพันที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติถูกทำลาย สิ่งนี้ดำเนินไปภายใต้ปิตาธิปไตยของเหตุผลนิยม ระบบทุนนิยมแปลงธรรมชาติให้กลายเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์ และมีเพียงสถานะของอรรถประโยชน์นิยมเท่านั้นที่ถูกอนุญาตให้สัมพันธ์กับมนุษย์ได้

เขื่อน โรงงานขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมหนัก ตลอดจนนวัตกรรมระดับเมกะทั้งหลาย ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น แท่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นจากการคว้านเอาอวัยวะภายในของร่างกายของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหรือท้องทะเลออก เพื่อถมให้เป็นพื้นที่โล่งว่างเปล่า ไม่ว่าจะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แปลงให้เป็นท่อน้ำทิ้งโสโครกขนาดใหญ่ หรือลานจอดเรือขนส่งขนาดใหญ่ เป็นชัยชนะของวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมของความเป็นชายเหนือธรรมชาติ ในฐานะผลผลิตของวิศวกรรมยุคทันสมัย

การใช้เทคโนโลยีเข้าควบคุมท้องทะเล แม่น้ำ ร่างกาย ชีพจร และการเคลื่อนไหวของเธอ บังคับให้เธอศิโรราบเพื่อนำเธอไปรับใช้การพัฒนาและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม การบีบบังคับขืนใจธรรมชาติด้วยกำลังอำนาจที่เหนือกว่าเป็นการทารุณกรรมประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นโดยใช้กำลังเข้าหักหาญโดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจ ไม่ต่างไปจากการใช้อำนาจของปิตาธิปไตยที่มีกำลังมากกว่าเข้าทำการข่มเหงน้ำใจของเพศหญิง

ในกรณีของจะนะ ดิฉันเคยใช้อุปมาในการข่มเหงไว้ว่าเป็นการข่มขืนท้องทะเล เพราะมันก็เป็นกระบวนการเช่นนั้นจริง ถ้าการเคลื่อนไหวปกป้องท้องทะเลจากการถูกทำให้เป็นท่อน้ำทิ้งโสโครกของกรณีจะนะที่มีมิติทางเพศ ไม่ว่าจะโดยอุปลักษณ์ หรือความสัมพันธ์ที่เพศหญิงมีต่อธรรมชาติ เราจะเข้าใจความหมายธรรมชาติในมิติทางเพศได้อย่างไร

ธรรมชาติในทัศนะของชนชั้นนำชาย ไม่ว่าจะรัฐหรือกลุ่มทุนมีนัยไม่ต่างกัน หากท้องทะเลสำหรับนักลงทุนคือเพศที่อ่อนแอ ไร้ประโยชน์ ดังนั้นต้องนำมาให้เกิดประโยชน์แล้ว ป่าเป็นอะไรสำหรับเพศชาย? ป่าสำหรับเพศชายเป็นตัวแทนของ wilderness เป็นแหล่งแห่งที่เพื่อการผจญภัย เติมเต็มความเป็นชาย เป็นปริมณฑลที่ช่วยให้เพศชายค้นพบตัวเอง กระตุ้นเตือนถึงพลังอำนาจทางเพศของตนเอง กระทั่งฟื้นฟูธรรมชาติของเพศชายที่ถูกกลืนหายไปในวิถีแบบเมือง หรือวิถีแบบชนชั้นธุรกิจที่นั่งออฟฟิศทุกวันที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปในแต่ละวัน การพิชิตสัตว์ร้ายในป่าดงดิบทำให้ความดิบเถื่อนของเพศชายได้รับการกระตุ้นฟื้นฟู

ในการต่อสู้เรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรในระดับพื้นฐาน ถามว่าเรากำลังสู้กับอะไร? ดิฉันคิดว่าเป็นการต่อสู้กับอุดมการณ์อเพศ ที่ปิดซ่อนปิตาธิปไตยที่กดขี่ธรรมชาติเอาไว้ เราหลีกเลี่ยงที่จะไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เท่าเทียมกันที่ปรากฏให้เห็นชัดในกรณีสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ถ้าเราทำเช่นนั้นก็เป็นการปิดตาต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ความผูกพันต่อธรรมชาติสั่งสมประสบการณ์ที่มีตัวตนทางเพศ ไม่ว่าจะชายหรือหญิงแล้วแต่ แต่บังเอิญเพศชายสั่งสมเส้นทางชีวิตที่มุ่งแต่จะทำคอนกรีตเอามาถมทะเล ในขณะที่ผู้หญิงสั่งสมประสบการณ์การให้กำเนิดและการเลี้ยงดูชีวิตผ่านการมองธรรมชาติที่ไม่ใช่วัตถุ สำหรับดิฉัน สิทธิที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติต้องมีมิติทางเพศ ซึ่งแตกต่างจากกรอบคิดว่าด้วยเรื่องสิทธิกับเสรีนิยมที่ใช้กรอบคิดว่าด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในการอธิบายความสัมพันธ์มนุษย์กับธรรมชาติ

เวลาเราบอกว่าเราจะไปให้พ้นจากการที่มนุษย์ทำลายธรรมชาติ หันมาให้ความเป็นธรรมกับธรรมชาติ เราก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่ามนุษย์เพศไหน เพศใดที่มีอำนาจในการสถาปนาความเป็นศูนย์กลาง และการคืนความเป็นธรรมต่อธรรมชาติ เราจะให้ความเป็นธรรมที่ไปให้พ้นจากความเป็นเพศที่กดขี่ได้อย่างไร

เรื่องเล่าจากทั้ง 3 คนฉายให้เห็นประเด็นที่หลากหลาย ทั้งมุมมองเรื่องความเป็นเด็กผู้หญิง ภาพสาวเครือฟ้า ผู้หญิงอ่อนหวานในชนบท และปิตาธิปไตยในประเด็นสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่มีศักดิ์ศรีและมีสิทธิของตนเอง ธรรมชาติก็มีสิทธิของตัวเองได้เช่นกัน – มีสถานะเป็นบุคคล ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ใครจะมาประเมินค่าและนำไปทำอะไรก็ได้



ภาพการแสดงเปิดงาน ในชื่อ ‘Continuous Noise’ จากลานยิ้มการละคร Solo Performance โดยประภัสสร คอนเมือง ว่าด้วยแรงสั่นสะเทือนของเสียงกับการเคลื่อนไหวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

References
1 จากเพจ Amnesty International Thailand

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save