fbpx
สำรวจหลักนิติธรรมของไทย ผ่านดัชนี WJP Rule of Law

สำรวจหลักนิติธรรมของไทย ผ่านดัชนี WJP Rule of Law

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ในโลกยุคใหม่ หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รับรองความเป็นธรรมในสังคมในการเข้าถึงโอกาสและสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักพื้นฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนิยามของหลักนิติธรรมนั้นไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเรื่องของตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม เป็นธรรม และมีกระบวนการตรวจสอบการใช้กฎหมายอีกด้วย

101 ชวนมาสำรวจหลักนิติธรรมของไทยว่าอยู่ตรงจุดไหน อะไรเป็นจุดแข็ง อะไรที่เป็นความท้าทาย ผ่านดัชนีที่เรียกว่า ‘WJP Rule of Law’

The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index จัดทำโดยกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เป็นชุดรายงานประจำปีที่ใช้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดยวัดจากประสบการณ์และการรับรู้ของสาธารณชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ

หลักนิติธรรมที่ WJP ใช้เป็นกรอบในการจัดทำ WJP Rule of Law Index ตั้งอยู่บน 4 หลักการ ได้แก่ การตรวจสอบได้ (Accountability) กฎหมายที่เป็นธรรม (Just Law) รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government) และ กระบวนการจัดการความขัดแย้งการเข้าถึงได้และความเป็นกลาง (Accessible and Impartial Dispute Resolution )

WJP Rule of Law Index 2019 แสดงผลการสำรวจดัชนีหลักนิติธรรมจาก 126 ประเทศ โดยแสดงผลเป็นคะแนนแต่ละประเทศ และจัดอันดับแต่ละประเทศ เก็บข้อมูลจากการสำรวจมากกว่า 120,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญอีก 3,800 คน

แม้ว่าหลักนิติธรรมจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมที่สงบเรียบร้อย แต่ข้อท้าทายในการพัฒนาหลักนิติธรรมคือความยากในการนิยาม และการวัดระดับของหลักนิติธรรม วิธีหนึ่งที่ใช้วัดหลักนิติธรรมได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด ก็คือการวัดที่ผลลัพธ์ (Outcome) ของการมีหลักนิติธรรมในสังคม เพราะผลลัพธ์เหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมที่ซับซ้อนของกรอบความคิดเรื่องหลักนิติธรรม โดย WJP ก็ได้นำผลลัพธ์เหล่านี้มาใช้ในการสร้างเกณฑ์วัด WJP Rule of Law Index

เกณฑ์การวัด WJP Rule of Law Index ประกอบด้วย 8 เกณฑ์ ได้แก่ การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

กรอบความคิดของ WJP Rule of Law Index ประกอบด้วย 8 ปัจจัยหลัก ที่แยกออกเป็น 44 ปัจจัยย่อย ดังนี้ (ให้คะแนนจากปัจจัยเหล่านี้)

1. การจำกัดอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers)

  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายตุลาการ
  • อำนาจของรัฐถูกจำกัดโดยฝ่ายองค์กรตรวจสอบอิสระ
  • เจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษ (sanction) จากการประพฤติมิชอบ (misconduct)
  • อำนาจของรัฐอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ
  • การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

2. การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption)

  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายบริหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายตุลาการ ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

3. รัฐบาลที่โปร่งใส (Open Government)

  • เผยแพร่กฎหมายและข้อมูลของรัฐ
  • ให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
  • ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม
  • มีกลไกการรับข้อร้องเรียน

4. สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights)

  • มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • มีการรับประกันสิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล
  • มีกระบวนการออกกฎหมายที่เป็นธรรม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อ
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
  • มีการรับประกันเสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะหรือสมาคม
  • มีการรับประกันเสรีภาพในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน

5. ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security)

  • มีการควบคุมอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ
  • มีการจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
  • ประชาชนไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ (ศาลเตี้ย) เพื่อการแก้แค้นส่วนบุคคล

6. การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement)

  • มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กฎระเบียบถูกประยุกต์ใช้และบังคับใช้โดยปราศจากอิทธิพลใดๆ ครอบงำ
  • การบริหารงานเป็นไปด้วยความไม่ล่าช้า
  • ขั้นตอนการทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างตรงไปตรงมา
  • รัฐบาลไม่เวนคืนทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายและการชดเชยที่เพียงพอ

7. กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice)

  • ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการทางแพ่งได้
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการแบ่งแยก
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากการคอร์รัปชัน
  • กระบวนการทางแพ่งปราศจากอิทธิพลครอบงำจากรัฐบาล
  • กระบวนการทางแพ่งไม่เป็นไปด้วยความล่าช้าที่เกิดจากเหตุผลอันไม่สมควร
  • กระบวนการทางแพ่งถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทแบบทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นกลาง

8. กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice)

  • ระบบการสืบสวนสอบสวนทางอาญามีประสิทธิภาพ
  • ระบบการพิพากษาคดีอาชญากรรมมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับเวลา
  • ระบบราชทัณฑ์มีประสิทธิภาพในการลดการกระทำที่เป็นอาชญากรรม
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการแบ่งแยก
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากการคอร์รัปชัน
  • ระบบยุติธรรมทางอาญาปราศจากอิทธิพลครอบงำของรัฐบาล
  • มีกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายและประกันสิทธิของผู้ต้องหา

จากการสำรวจในปี 2019 ประเทศไทยได้คะแนนรวม 0.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 โดย 1 คือคะแนนสูงสุด และ 0 คือคะแนนต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับกับสำรวจในปี 2017-2018 คะแนนรวมของไทยไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม อันดับของไทยในปี 2019 อยู่ในอันดับ 76 ตกลงมาจากการสำรวจครั้งก่อน 1 อันดับ (ในปี 2017-2018 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จาก 113 ประเทศ ในปีนี้อยู่ที่อันดับที่ 76 อย่างไรก็ตาม ถือว่าประเทศไทยมีคะแนนตกลงมาเพียง 1 อันดับตามเกณฑ์คะแนนของ WJP โดยเปรียบเทียบเฉพาะ 113 ประเทศจากปีก่อนหน้าเท่านั้น)

เมื่อเปรียบเทียบอันดับ WJP Rule of Law Index ของไทยกับประเทศในอาเซียน พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 ตามหลังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่ไทยมีอันดับดีกว่าประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา และกัมพูชา

ปัจจัยหลักที่ไทยอยู่ในอันดับดีที่สุดคือปัจจัยด้านการปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) โดยอยู่ในอันดับ 56 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจัยย่อยของปัจจัยหลักด้านการปราศจากการคอร์รัปชันที่ไทยได้คะแนนมากที่สุดคือ ปัจจัยย่อยด้านเจ้าหน้าที่รัฐในฝ่ายตุลาการไม่ใช้สาธารณสมบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยได้คะแนน 0.67 คะแนน

การวัดคะแนนจากปัจจัยย่อยนี้ วัดจากการที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ปฏิเสธหรือเอื้อให้เกิดการรับสินบนเพื่อการทำหน้าที่ หรือเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นหรือไม่ และวัดจากการที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล องค์การนอกภาครัฐ หรือองค์การอาชญากรรมหรือไม่

ส่วนปัจจัยหลักที่เป็นความท้าทายของไทยคือปัจจัยด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) โดยอยู่ในอันดับ 89 จาก 126 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจัยย่อยของปัจจัยหลักด้านสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไทยได้คะแนนน้อยสุดคือ ปัจจัยย่อยด้านสิทธิส่วนบุคคล ได้คะแนน 0.37 การวัดคะแนนปัจจัยย่อยนี้วัดจากตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ค้นตัวประชาชนโดยปราศจากหมายจับหรือไม่ และวัดจากการดักฟังการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลโดยปราศจากอำนาจศาลหรือไม่

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม WJP Rule of Law Index ได้ที่ : https://worldjusticeproject.org/


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save