fbpx

ตั้งหลักใหม่ภาคเกษตรไทย: เกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวมากกว่าที่รัฐคิด – วิษณุ อรรถวานิช

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม!!

ประโยคข้างต้นแม้จะทำให้ภาคเกษตรไทยดูยิ่งใหญ่ ทว่านอกจากการมีเกษตรกรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ แล้ว ก็แทบไม่มีอะไรให้อวดอ้างได้อีก ผลิตภาพต่ำ มูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย แข่งขันไม่ได้ แรงงานถดถอย และคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจนี้ส่วนใหญ่ล้วนคือคนยากจน – นี่คือข้อเท็จจริงของภาคเกษตรไทย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นจุดอ่อนใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเลยก็ย่อมได้

กระนั้น การเป็นประเทศเกษตรกรรมก็มีความหมายด้านกลับด้วยว่า หากสามารถยกระดับภาคเกษตรได้ ประเทศย่อมถูกยกระดับตามไปด้วย และย่อมหมายรวมถึงคุณภาพของครัวเรือนกว่า 8.02 ล้านครัวเรือนและแรงงานกว่า 10 ล้านคนที่อยู่ในภาคเกษตร

ที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มงบประมาณให้กับภาคเกษตรอยู่ไม่น้อย เฉพาะ 5 ปีหลัง (2559 – 2565) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนล้านบาท จัดเป็น 1 ใน 8 ‘กระทรวงเกรดเอ’ ที่ได้รับงบประมาณสูงและทำนโยบายสำคัญของประเทศ ด้วยทรัพยากรขนาดนี้ หากตั้งหลักถูก – ตั้งโจทย์เป็น การยกระดับภาคเกษตรไทยย่อมสามารถเป็นไปได้

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือนักเศรษฐศาสตร์ที่หลงใหลการวิจัยในภาคเกษตร และมีผลการศึกษาวิจัยในภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ วิษณุยังป็นเจ้าของรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2562 และยังสนใจศึกษาปัญหาการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง) และปัญหามลพิษอีกด้วย

จุดเด่นอย่างยิ่งของวิษณุคือการทำงานวิจัยเชิงนโยบายที่อยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อนำเสนอนโยบายที่นำไปสู่การแก้ปัญหาภาคเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระยะยาวได้จริง

“ผมเชื่อว่า ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพที่จะดีกว่านี้ได้อีกมาก”

‘วิษณุ อรรถวานิช’ บอกกับ 101 ระหว่างที่เราชวนเขาสนทนาเพื่อตั้งโจทย์ใหม่เพื่อยกระดับภาคเกษตรไทย ในวันที่เกษตรกรไทยดูไร้อนาคต


คุณทำวิจัยภาคเกษตรมาต่อเนื่องหลายปีโดยใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนหลายล้านครัวเรือนเป็นฐานในการวิเคราะห์ การส่องลึกเข้าไปในระดับครัวเรือนช่วยสะท้อนให้เห็นหน้าตาของโครงสร้างภาคเกษตรไทยในปัจจุบันอย่างไร

งานวิจัยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากทะเบียนเกษตรกรและสำมะโนเกษตร ซึ่งครอบคลุมครัวเรือนเกษตรเกือบทั้งหมดทั่วประเทศในช่วงเวลา 14 ปี และยังมีข้อมูลสถิติอื่นประกอบด้วย

ในภาพใหญ่ ภาคเกษตรยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เพราะมีการจ้างแรงงานสูงกว่า 34% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนถึง 8.02 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรโดยรวมกลับมีสัดส่วนคิดเป็นแค่ประมาณ 9% ของจีดีพีเท่านั้น และเป็นภาคที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงทั้งในแง่ของผลิตภาพ (productivity) และรายได้ อีกทั้งยังมีความเปราะบางสูง เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว หากแรงงานภาคเกษตรมีสัดส่วนเท่าไหร่ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด มูลค่าเพิ่มในภาคเกษตรต่อจีดีพีก็จะอยู่ในระดับที่ไม่ต่างกันมาก แต่ของไทยอยู่ที่ 10% ถ้าเอาจำนวนคนในภาคเกษตรมาหารก็จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า คนส่วนใหญ่ในภาคเกษตรคือคนที่มีทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น

ในรายละเอียดข้อมูลชี้ว่า ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านทุนมนุษย์ แม้เกษตรกรไทยจะมีการศึกษาที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โดยมีคนที่จบมัธยมปลายเพิ่มขึ้นจาก 12.1% ในปี 2546 เป็น 21.5% ในปี 2556 และเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ แต่เกษตรกรไทยมีการศึกษาน้อยโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตร

นอกจากการศึกษาน้อยแล้ว ภาคเกษตรไทยยังเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าภาคอื่นๆ ด้วย สัดส่วนของแรงงานเกษตรสูงอายุที่มีอายุ 40–60 ปี เพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2546 เป็น 50% ในปี 2563 เช่นเดียวกับสัดส่วนของแรงงานที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่เพิ่มขึ้นด้วยจาก 13% ในปี 2546 เป็น 20% ในปี 2563 (ค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีประชากรอายุ 40–60 ปี และมากกว่า 60 ปี ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% และ 14% ตามลำดับ) ในทางกลับกัน สัดส่วนของแรงงานอายุน้อย (15–40 ปี) ในภาคเกษตรกลับลดลงอย่างมาก 48% ในปี 2546 เป็น 30% ในปี 2563ในขณะที่ประชากรอายุน้อยในประเทศมีสัดส่วน 51%)

สมัยเรียนหนังสือเมื่อสัก 20 ปีก่อน หนังสือจะบอกเลยว่าข้าวเป็นพืชหลักของเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันยังเป็นแบบนั้นไหม

ใช่ครับ แม้จำนวนชาวนาจะลดลงมาก แต่ครัวเรือนเกษตรกร 3.5 ล้านครัวเรือนจาก 8 ล้านครัวเรือนปลูกข้าวเป็นหลัก และถ้านับรวมพื้นเศรษฐกิจอีก 5 ชนิดคือ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และ ก็คิดเป็นประมาณ 90% ของเกษตรกรไทยทั้งหมดแล้ว จากการศึกษาของเราพบว่า เกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นหลักและมีแนวโน้มมากขึ้นมาตลอด

ผลที่ตามมาคือความเสี่ยง โดยทฤษฎีถ้าปลูกพืชหลากหลายก็จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า ปีนี้ข้าวราคาไม่ดี แต่พืชอื่นยังพอไปได้ ก็เฉลี่ยกันไป งานศึกษาเชิงประจักษ์ที่เราทำก็ยืนยันเรื่องนี้ โดยพบว่า 92% ของเกษตรกรที่ปลูกพืชหลากหลาย เช่น ปลูกข้าวและข้าวโพด หรือข้าวและอ้อย จะมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวอย่างเดียว

แต่ในต่างประเทศ เกษตรกรล้วนแต่ทำฟาร์มขนาดใหญ่ที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวกันทั้งนั้น

ในต่างประเทศเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ควบคุมปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ได้ดี แต่เรากำลังพูดถึงเกษตรกรไทยที่ยังพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ไม่มีเทคโนโลยี และอำนาจการต่อรองน้อย คงเทียบกันไม่ได้

เดิมเรามักพูดกันว่า เกษตรกรไม่มีทุนในการผลิต ภาพนี้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

ภาคเกษตรไทยยังมีปัญหาเรื่อง ‘ทุน’ หรือทรัพย์สินทางการเกษตรด้วย อย่างแรกคือน้ำ เกษตรกรไทยเข้าถึงแหล่งน้ำน้อยมาก มีครัวเรือนแค่ 26% เท่านั้นที่เข้าถึงระบบชลประทาน ถ้านับรวมแหล่งน้ำทั้งหมด อย่างแหล่งน้ำส่วนตัว ก็มีประมาณเพียง 40% การเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำทำให้เกษตรไทยเปราะบางมากๆ และจะยิ่งเปราะบางมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้ภัยแล้งทั้งรุนแรงและถี่ขึ้นในอนาคต

อย่างที่สองคือที่ดิน เกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดเล็ก ราวครึ่งหนึ่งของเกษตรกรไทยมีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ ยิ่งถ้าใช้เกณฑ์ 20 ไร่ ตัวเลขจะสูงถึง 80% ที่สำคัญคือ ขนาดที่ดินทำกินมีแนวโน้มลดลงมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพ เพราะที่ดินขนาดเล็กทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ หรือหากได้ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะต้นทุนจะสูงมาก ถ้าพูดแบบเศรษฐศาสตร์คือ ไม่ได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ถ้าทำฟาร์มขนาดใหญ่ การลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อขยายการผลิตจะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยถูกลง แต่ฟาร์มเล็กจะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้ เมื่อเข้าถึงเครื่องจักรสมัยใหม่ไม่ได้ ผลิตภาพการผลิตก็ต่ำ

เวลาเราได้ยินเรื่องของภาคเกษตรก็มักจะบอกกันว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ก็หันมาใช้เครื่องจักรกันหมดแล้ว เช่น ไม่มีใครใช้ควายไถนากันแล้ว หันมาใช้รถไถนากันหมด ทำไมข้อมูลจึงชี้ว่า เกษตรกรไทยไม่ใช้เครื่องจักรและผลิตภาพยังต่ำอยู่

ในโลกของการเกษตรสมัยใหม่ เครื่องจักรสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ ‘เครื่องจักรแบบดั้งเดิม’ กับ ‘เครื่องจักรสมัยใหม่’  เครื่องจักรแบบดั้งเดิมเป็นเทคโนโลยีเดิมๆ ที่มีการใช้อยู่แล้ว และมักจะมีประโยชน์แค่การใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รถไถนา ซึ่งแทบจะมีการใช้กันเป็นปกติทั่วประเทศแล้วเหมือนที่ถามแย้งมา แต่รถไถนาทำได้อย่างเดียวเลยคือไถนา และอาจปรับประยุกต์ใช้อื่นๆ ได้บ้าง แต่ก็จำกัดมาก แต่เครื่องจักรสมัยใหม่จะมีความเอนกประสงค์ เช่น รถแทรกเตอร์ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ได้หลายรูปแบบมาก เอาไปพ่วงท้ายกับเครื่องเตรียมดิน ตัดหญ้า ไถนา พ่นยา เก็บเกี่ยว อีกตัวอย่างหนึ่งคือเครื่องเก็บเกี่ยวข้าวที่เก็บเกี่ยวอย่างเดียว ก็จะจัดให้เป็นเครื่องจักรดั้งเดิม ในขณะที่เครื่องนวดข้าวสามารถทำได้ทั้งเก็บเกี่ยวและสีข้าวด้วย ก็จะถือว่าเครื่องจักรสมัยใหม่มากขึ้น

สรุปได้เลยไหมว่า เกษตรกรที่มีที่ดินแปลงใหญ่ เข้าถึงเครื่องจักรสมัยใหม่ คือกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้ดี

โดยส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น ยิ่งที่ดินมีขนาดใหญ่และไม่ได้เช่าที่ดินทำกิน ถ้าเข้าถึงเครื่องจักรสมัยใหม่ได้ดี จะยิ่งได้ผลประโยชน์ต่อขนาดมาก และรายได้สุทธิก็มักจะดีกว่า เพราะปริมาณผลผลิตมากกว่าและต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่า ในทางตรงกันข้าม เกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย เดิมมักจะยากจนอยู่แล้ว เมื่อลงทุนแล้วผลิตภาพต่ำ ต้นทุนสูง ก็จะเจอปัญหาความเปราะบางของรายได้สุทธิ หากมีเหตุไม่คาดคิดเมื่อไหร่สิ่งที่ตามมาก็คือหนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกรรายย่อยที่งานวิจัยพบเจอ

ที่ผ่านมาเคยได้ยินเรื่องนโยบายการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่อยู่ ในทางปฏิบัติจริงทำได้มากน้อยแค่ไหน

การที่เกษตรกรแต่ละคนมีที่ดินน้อย การรวมให้เป็นแปลงใหญ่ไม่ใช่เรื่องงายเลย แม้จะพยายามส่งเสริมกัน แต่ผลสัมฤทธิ์ก็ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม ที่ดินแปลงใหญ่และเครื่องจักรสมัยใหม่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหา ผลิตภาพที่ต่ำยังเป็นผลมาจากการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ไม่เพียงพอด้วย ยกตัวอย่างกรณีข้าวไทย ในบรรดาผู้ผลิตข้าวทั้งหลาย ผลิตภาพการผลิตข้าวไทยอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุด ผลผลิตข้าวของเราเพิ่มขึ้นช้ามาก แต่ผลิตภาพของการปลูกข้าวของเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกับเพิ่มเอาๆ  ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนว่า ภาครัฐไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยพันธ์ุข้าวน้อยมาก สายพันธุ์ข้าวเลยไม่หลากหลายและขาดแคลน

ผมเคยทำงานวิจัยเรื่องการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตรพบว่า สาเหตุสำคัญของการขาดแคลนพันธ์ุข้าวในไทยคือการไม่มีงบประมาณมาวิจัยอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ มีการให้ทุนวิจัยอยู่บ้าง แต่ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยขาดแคลนนักวิจัยพันธ์ุข้าวด้วย เพราะค่าตอบแทนไม่ได้ดึงดูดนักวิจัยให้เข้ามาทำงานและงบวิจัยก็น้อย เรียกกันแบบสนุกๆ คือ เป็นอาชีพที่ไม่มีการเติบโตในหน้าที่การงานและการเงิน (หัวเราะ) สุดท้ายแล้วคนที่เป็นกำลังสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเลยมีน้อย

เรื่องนี้สำคัญมาก ลองคิดดูว่า อุตสาหกรรมข้าวส่งออกเป็นมูลค่าหลักแสนล้านบาท แต่งบวิจัยน้อยมาก เพราะฉะนั้นอนาคตก็คงต้องปรับ ไม่อย่างนั้นในระยะยาวจะไม่สามารถแข่งได้เลย

ภายใต้โครงสร้างของภาคเกษตรแบบนี้ หากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่ ไม่มีการแทรกแซงเชิงนโยบายใดๆ เพื่อให้คนได้ ‘ปรับตัว’ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

ประการแรก สินค้าเกษตรไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ผลิตภาพของภาคเกษตรไทยเพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เวียดนามที่ผลิตภาพรวมของการผลิตในภาคเกษตรแซงหน้าเราไปแล้ว

ประการที่สอง เมื่อสูญเสียความสามารถในการแข่งขันย่อมเสียตลาด นั่นหมายความว่า รายได้ของเกษตรที่ปลูกสินค้าส่งออกย่อมลดลง ข้าวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ ถ้าลองย้อนกลับไปดู จะเห็นแนวโน้มว่ามูลค่าการส่งออกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายข้าวในตลาดโลกยังคงเติบโตอยู่

ประการที่สาม ผลิตภาพในภาคเกษตรที่ลดลงหมายความว่า ไทยอาจกำลังสูญเสียความมั่นคงทางอาหารตามไปด้วย ประเด็นนี้ แม้ไม่ใช่ประเด็นเชิงเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อนาคตจะลำบากแน่นอน 

แม้ผลิตภาพของภาคเกษตรไทยจะลดลงและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้น้อยลง แต่ที่สุดแล้ว ในอุตสาหกรรมข้าวก็ยังมีเจ้าสัวอยู่ดี ที่ผ่านมางานวิจัยในอุตสาหกรรมข้าวก็มักจะบอกว่า กลุ่มผู้ส่งออกและโรงสีไทยถือว่ามีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะยังสามารถทำกำไรได้จากโครงสร้างภาคเกษตรแบบที่เป็นอยู่

ผมทำงานวิจัยเรื่องโครงสร้างตลาดข้าวพบว่า ตลาดข้าวในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่เหมือนกัน ในงานวิจัย เราวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวส่งออกกับราคาข้าวที่เกษตรกรได้รับพบว่า ราคาขยับขึ้นลงไม่เท่ากัน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ราคาในประเทศกับราคาตลาดโลกจะต้องวิ่งสูสีกัน ในทางกลับกัน ความหนืดของราคาในประเทศและราคาตลาดโลกก็สะท้อนว่าตลาดข้าวไม่ใช่ตลาดที่ใกล้เคียงตลาดแข่งขันสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูในเชิงพื้นที่ด้วย ในภาคกลางมีโรงสีค่อนข้างมาก การแข่งขันก็จะสูงหน่อย แต่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่โรงสีจำนวนน้อยอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำนาจผูกขาดของโรงสีอาจจะสูงหน่อย เป็นต้น

นอกจากตลาดผลผลิตแล้ว ยังต้องเจาะลึกไปที่โครงสร้างตลาดปัจจัยการผลิตด้วย ตลาดปัจจัยการผลิตเป็นตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย ควบคุมราคาได้ ดังนั้นราคาปัจจัยการผลิตจึงมีแนวโน้มที่จะขึ้นตลอด ซึ่งต่างจากราคาในตลาดผลผลิตที่มีขึ้นมีลง นี่คือสิ่งที่เกษตรกรต้องเผชิญ ดังนั้นต่อให้ในตลาดผลผลิตจะยังมีอำนาจต่อรองบ้าง แต่ในตลาดปัจจัยการผลิตกลับไม่มีอำนาจเลย พูดอีกแบบคือรายรับเปราะบาง ผันผวน กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตลอด ดังนั้นช่องว่างของกำไร (margin) เลยเปราะบางมาก และสุดท้ายแนวโน้มใหญ่คือขาดทุน

ผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิตคือบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพในการมองการณ์ไกล เขาไม่เล็งเห็นเลยหรือว่ากลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลักกำลังอ่อนแอ กำลังซื้อถดถอย หากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อภาคเกษตรโดยรวม และนั่นย่อมหมายถึงตัวผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิตเองด้วย

ผมเชื่อว่า เขามองการณ์ไกลนะ แต่โจทย์ของเขาเป็นโจทย์ในเชิงธุรกิจ ซึ่งมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด ดังนั้นภาพที่เราเห็นคือ การแบ่งรายได้ให้เกษตรกรในระดับที่ทำให้เกษตรกรไม่อยากจะออกจากธุรกิจ เกษตรกรจะยังคงมีรายได้ระดับหนึ่ง แต่จะไม่รวยและยกระดับคุณภาพชีวิตได้มากพอที่จะออกจากวงจรความยากจนแบบถาวร

แล้วผู้ส่งออกข้าวล่ะ เขากังวลกับความสามารถในการแข่งขันที่น้อยลงของภาคเกษตรไหม เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

การส่งออกข้าวต้องแข่งขันกันที่ราคา ผู้ส่งออกไทยมีอยู่ไม่กี่ราย เขาถูกบีบจากราคา เขาก็มาบีบตลาดภายในประเทศต่อ คนที่ถูกบีบมากที่สุดคือ คนที่อำนาจต่อรองน้อยที่สุด ซึ่งก็คือเกษตรกร ดังนั้นถ้าถามว่านายทุนส่งออกกังวลไหม เขาอาจจะกังวลที่ส่งออกได้ยากขึ้นและเสียประโยชน์ แต่ในภาพรวม ส่วนแบ่งของกลุ่มนี้ยังสูงมาก ในขณะที่เกษตรกรคือผู้เสียผลประโยชน์มากที่สุด

ดังนั้นการพัฒนาภาคเกษตรจึงต้องมองทั้งห่วงโซ่ อย่ามองว่าใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์เพียงอย่างเดียว ต้องหาโจทย์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันและเกลี่ยผลประโยชน์ให้เป็นธรรม

บทบาทหนึ่งของกลุ่มทุนที่เราเห็นในกรณีต่างประเทศคือ การเป็นผู้ลงทุนวิจัยและพัฒนาในเรื่องสายพันธ์ุ เป็นไปได้ไหมที่กลุ่มทุนไทยจะเล่นบทบาทนี้

ตอบยาก เพราะการที่กลุ่มทุนหรือเกษตรกรจะมีพฤติกรรมอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทั้งหมด ในประเทศพัฒนาแล้ว โครงสร้างภาคเกษตรที่เราคุยกันมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทุนมนุษย์ ทรัพย์สินในทางเกษตร น้ำ ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานต่างจากของไทยมาก ผมเคยไปเก็บข้อมูลที่ Corn Belt ที่สหรัฐฯ​ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ เกษตรกรลงทุนสร้างไซโลเก็บผลผลิตเองเลย ถ้าราคาไม่ดีก็เก็บเข้าไซโล ไม่ขาย ไม่เอามาเสี่ยงกับราคาตลาด หรือในบางพื้นที่ เกษตรกรมีโรงสีเป็นของตัวเองเลย อำนาจต่อรองสูงมาก ประเด็นคือถ้าโครงสร้างภาคเกษตรเป็นแบบนี้ พฤติกรรมของกลุ่มทุนก็ต้องต่างออกไป ของที่กลุ่มทุนจะขายได้ก็ต้องเป็นเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นเขาก็ต้องวิจัยและพัฒนา

ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มักจะมีการพูดถึง โลกหลังโควิด-19’ แต่เรายังไม่ค่อยเห็นประเด็นนี้ในภาคเกษตรมากนัก ในฐานะที่คุณศึกษาภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง พอมองเห็นบ้างไหมว่า โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนภาคเกษตรไทยอย่างไร

ผมทำงานชุดงานวิจัยให้กับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization: FAO) ในประเด็นนี้อยู่ โดยงานชิ้นแรกที่ทำคือการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเกษตร ปัญหาแรกและรุนแรงที่สุดที่พบคือ อำนาจการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ปัญหาที่สองคือ การขาดช่องทางขนส่งเนื่องจากการคมนาคมถูกจำกัด ผลที่ตามมาคือ สินค้าเหลือล้นตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลกระทบในเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะเจอเข้าไปพร้อมกันสองเด้ง

ปรากฏการณ์หนึ่งที่ยังต้องจับตากันอยู่คือเรื่องแรงงาน ในแง่หนึ่ง โควิด-19 ทำให้แรงงานหนุ่มสาวที่เคยทำงานภาคบริการในเมืองกลับเข้าสู่ภาคเกษตร ในแง่นี้ถือว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบในแง่ดีต่อภาคเกษตร แต่โจทย์ใหญ่คือ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นแล้ว จะดึงคนให้อยู่ต่อ ไม่กลับเข้าไปทำงานในเมืองได้อย่างไร

อีกหนึ่งข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ โควิด-19 ช่วยเร่งให้เกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ในปี 2563 ข้อมูลชี้ว่า ครัวเรือนเกษตรไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพียงแค่ 27% เท่านั้น แต่ในปี 2564 ตัวเลขขยับเพิ่มขึ้นเป็น 40% อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีในเชิงคุณภาพก็ยังไม่เต็มศักยภาพ โดยทีมวิจัยแยกเทคโนโลยีดิจิทัลออกเป็นสองประเภทคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการเกษตรแบบธรรมดากับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางการเกษตรแบบแม่นยำ ซึ่งในแบบหลังยังมีแค่ราว 6% ของครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น

พูดได้ไหมว่า โควิด-19 เปิดโอกาสให้ยกระดับภาคเกษตรไทยอยู่เหมือนกัน

โควิด-19 เป็นแค่ตัวเร่งให้มีการใช้เทคโนยีดิจิทัลมากขึ้น แต่โจทย์ที่ยากกว่าคือจะยกระดับการใช้เทคโนโลยีอย่างไร ถึงที่สุดคนใช้ก็สำคัญกว่าอุปกรณ์ ต่อให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ล้ำๆ อย่างโดรนได้ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ สิ่งที่เราต้องทำก็คือส่งเสริมเรื่องของการเข้าใจดิจิทัล (digital literacy) บ้านเรายังน้อยอยู่ ถ้าคนรู้ก็สามารถประยุกต์ได้หลากหลาย งานวิจัยที่ได้ทำไปพบว่า ครัวเรือนเกษตรที่ใช้ดิจิทัลมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ต่อปีถึงกว่า 1 แสนบาท ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายรายลงมาเล่นตลาดนี้กันมากขึ้น เพราะถ้าทำสำเร็จผลตอบแทนจะสูง ตลาดยังมีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก

ในส่วนของแรงงาน ภาครัฐต้องถือโอกาสออกแบบแพ็กเกจนโยบายดีๆ ที่จะดึงคนให้อยู่ในภาคเกษตรได้ ทำให้คนที่กลับมาเห็นว่าอาชีพเกษตรกรยังมีอนาคต เพียงแต่ต้องการการยกระดับการผลิต ดังนั้นการคิดแพ็กเกจนโยบายต้องคิดให้ครบ ต้องออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจให้คนที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในภาคเกษตรให้ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน แต่เป็นไปได้

คุณพูดถึงแพ็กเกจนโยบายที่คิดให้ครบและให้ความสำคัญกับการออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจให้คนปรับตัว แสดงว่านโยบายเกษตรแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ค่อยคิดเรื่องนี้หรือเปล่า

นโยบายภาคเกษตรปัจจุบันเน้นให้ความช่วยเหลือเกษตรกร แต่ไม่ได้ทำให้เกษตรกรอยากปรับตัว เพราะนโยบายการให้เงินช่วยเหลือเป็นลักษณะของการเยียวยาให้เปล่าไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ล้วนแต่เป็นนโยบายตั้งรับที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพมากนัก ในต่างประเทศ นโยบายที่ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวจะเป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข เช่น ถ้าปีนี้ปลูกข้าวเจ๊ง ปีหน้าต้องไม่ซ้ำรอยเดิม ต้องปลูกด้วยวิธีอื่น หรือเปลี่ยนชนิดพืช เป็นต้น

การให้ความช่วยเหลือก็ควรเลือกช่วยเฉพาะคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนที่ปรับตัวได้เองหรือทำได้ดีอยู่แล้วรัฐก็ไม่ต้องไปยุ่ง นอกจากนี้การช่วยเหลือก็ไม่ควรช่วยแบบถาวร ในบางประเทศจะกำหนดไว้เลยว่าจะช่วยเป็นระยะเวลากี่ปี เป็นการช่วยในตอนตั้งต้นเพื่อให้ตั้งตัวได้เท่านั้น หลักการของการช่วยเหลือแบบนี้อยู่บนฐานคิดที่ว่า การปรับตัวในภาคเกษตรมีต้นทุนและความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือเลยจะเปลี่ยนผ่านยากมาก เช่น ถ้าต้องเปลี่ยนจากข้าวไปปลูกข้าวโพด ต้นทุนในการเรียนรู้จะสูงมาก ค่าใช้จ่ายสำหรับปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรต่างๆ ก็ต้องต้องลงทุนใหม่ ไม่ใช่แค่ตัวเงินเท่านั้น ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับตัวจะมีระบบพี่เลี้ยงคอยช่วยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย เวลาพูดว่าเป็นแพ็กเกจคือต้องคิดให้ครบจริงๆ

ทุกวันนี้เราเสียโอกาสไปมากมายแล้ว หากไม่รีบปรับนโยบายจะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง งบประมาณด้านการช่วยเหลือเกษตรกรจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก จากการเสียโอกาสจะกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่น่ากังวล

นโยบายแบบไหนที่จะช่วยดึงคนหนุ่มสาวให้กลับสู่ภาคเกษตร

ไต้หวันและเกาหลีใต้มีนโยบายดึงดูดคนหนุ่มสาวเข้าสู่ภาคเกษตรด้วยการให้เงินทุนก้อนและสินเชื่อราคาถูกแก่นักศึกษาที่จบปวช. ปวส. หรือปริญญาตรีด้านเกษตร ให้เข้าไปก่อร่างสร้างตัวด้วยอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะ นอกจากจะให้ทุนแล้ว ยังให้หลักประกันด้วย โดยมีข้อกำหนดเลยว่าหากประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐจะช่วยสนับสนุนอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งแนวนโยบายเช่นนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีเลยจากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่พบว่า ‘หลักประกัน’ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกษตรกรกล้าเปลี่ยนแปลง

การบอกว่านโยบายรัฐต้องช่วยให้เกษตรกรปรับตัว ถ้าการปรับตัวนั้นหมายถึงการเลิกเป็นเกษตรกรล่ะ

ถ้าเขาอยากเลิกก็ควรให้เลิก ถ้าเขาอยากเป็นและมีศักยภาพก็ต้องส่งเสริม เราควรต้องมองข้อเท็จจริงเป็นหลัก เกษตรกรมีหลายกลุ่ม กลุ่มที่พยายามปรับตัวและมีศักยภาพ กลุ่มที่พยายามปรับตัวแต่ไม่มีศักยภาพ กลุ่มที่ไม่พยายามปรับตัวเลย ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การปรับตัวของแต่ละคนมีขีดจำกัด บางคนอาจปรับตัวจนรอดแล้วในวันนี้ ก็ใช่ว่าจะรอดได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะต้องปรับตัวอยู่แล้ว ถ้าเกษตรกรคนไหนทำอะไรแล้วขาดทุน หรือมีกำไรน้อยลง อย่างไรเสียเขาก็ย่อมหาทางที่จะทำให้ตัวเองกำไรมากขึ้น ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงเป็นเรื่องของการสร้างระบบนิเวศของภาคเกษตร ทำอย่างไรให้ภาคเกษตรมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี การวิจัยพัฒนาสายพันธ์ุและความรู้ ระบบชลประทาน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้เป็นหน้าที่ภาครัฐ คนธรรมดาทำไม่ได้

ในระยะหลังเทรนด์หนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากว่าจะเป็นอนาคตของภาคเกษตรคือ ‘การทำเกษตรแม่นยำ’ (precision agriculture) เราเห็นเทรนด์นี้ในประเทศไทยบ้างไหม และแนวทางนี้จะเป็นคำตอบให้ภาคเกษตรไทยได้ไหม

ภาคเกษตรไทยยังทำเรื่องนี้น้อยมาก อาจมีแค่ไม่ถึง 6% ของทั้งหมด แต่ผมอยากชวนคิดว่า แค่เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ข้อมูล และความรู้ให้มากกว่านี้และมีคุณภาพกว่านี้ก็จะช่วยยกระดับภาคเกษตรได้มากแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เรื่องการบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทาน บ้านเราชอบเกิดปรากฏการณ์ที่พอพืชชนิดไหนราคาดี คนจะแห่กันไปปลูกเยอะมาก สุดท้ายอุปทานก็ล้นตลาด ราคาก็ไม่ได้สูงอย่างที่ตั้งใจ แต่ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา USDA จะคำนวณแบบเรียลไทม์เลยว่า พืชชนิดไหนควรปลูกกี่ไร่ ปัจจุบันปลูกไปเท่าไหร่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ความต้องการของตลาดเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น เขายังทำการวิเคราะห์ระดับโลก พยากรณ์เลยว่าแต่ละประเทศจะปลูกเท่าไหร่อย่างไร

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลและวางแผนบริหารจัดการได้ว่าตนเองจะลงทุนปลูกเท่าไหร่ อย่างไร บางคนอาจจะแย้งว่า ประเทศไทยทำแบบนี้ไม่ได้ ไม่มีงบประมาณ แต่ผมแย้งว่าเป็นเรื่องของการลำดับความสำคัญของนโยบาย อันที่จริงเราสามารถใช้ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้วได้ด้วยเหมือนกัน ขาดตรงไหนเราก็ทำเพิ่ม นี่เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องบริการ

ผมมีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ USDA มา แน่นอนว่าเขาใช้ดาวเทียมในการทำข้อมูล แต่เชื่อไหมว่าสิ่งที่เขาพึ่งพามากที่สุดในการบริหารอุปสงค์และอุปทานคือ เจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่ที่สำรวจข้อมูลและส่งข้อมูลมาให้ส่วนกลางประมวลผล ดาวเทียมใช้เป็นส่วนเสริมเพื่อตรวจสอบให้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่าภาครัฐไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ เพราะเรามีเกษตรตำบลอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องปรับบทบาท หลายท่านที่ผมลงพื้นที่ไปพูดคุยก็บ่นว่า มีเวลาลงพื้นที่คุยกับชาวบ้านน้อย ส่วนใหญ่ต้องทำภารกิจเร่งด่วนตามนโยบายรัฐ งานออฟฟิศก็เยอะ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ทำอะไรได้จำกัด เทคโนโลยีดิจิทัลตัวช่วยก็มีน้อย

ภายใต้โครงสร้างและข้อจำกัดแบบที่เราเผชิญอยู่ อะไรคือโจทย์แห่งอนาคตของภาคเกษตรไทย และเราควรตั้งหลักเรื่องนี้กันอย่างไร

โจทย์แรกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคเกษตรไทยเจอความเสียหายมากขึ้นทุกปีๆ เราขาดความพร้อมเชิงระบบและภูมิคุ้มกันด้านนี้อยู่มาก สิ่งแรกที่ต้องคิดก็คือทำอย่างไรให้ครัวเรือนเกษตรเข้าถึงแหล่งน้ำได้มากที่สุด หากแก้โจทย์นี้ได้ นอกจากจะทำให้เปราะบางน้อยลงแล้ว ยังช่วยยกระดับการทำเกษตรด้วย เพราะถ้าน้ำเพียงพอก็จะสามารถทำเกษตรได้ปีละหลายครั้ง จากที่ทำได้ปีละหนึ่งฤดูกาล

การจัดการน้ำในปัจจุบันใช้งบประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่งบประมาณจะกระจุกอยู่ในพื้นที่ที่มีเขตชลประทานอยู่แล้ว ซึ่งครอบคลุมครัวเรือนเกษตรราว 26% เท่านั้น ผมเสนอว่าต้องเปลี่ยนแนวทางจัดสรรใหม่โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งครอบคลุมครัวเรือนเกษตรอีก 74% ให้มากขึ้น นอกจากนี้ วิธีการจัดการน้ำก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการลงทุนในแหล่งน้ำสาธารณะใหม่ และการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินเพื่อให้กักเก็บน้ำได้ การจัดการน้ำต้องมองทั้งระบบ เห็นความเชื่อมโยงของแม่น้ำลำคลองทั้งหมด

โจทย์ใหญ่เรื่องที่สองคือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลทางการเกษตร ซึ่งมีความเป็นไปได้หลากหลายมาก การตรวจสภาพดิน ตรวจน้ำ ถ่ายรูปแล้วเห็นแมลงเกาะ วิเคราะห์โรคและสถานการณ์ได้เลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่ประโยชน์สูงมาก หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงคุณภาพ การเพิ่มทักษะและความรู้ดิจิทัลให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ รัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย เพื่อให้ต้นทุนในการใช้เทคโนโลยีไม่สูงจนเกินไป ทุกวันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตของเราถูกออกแบบมาให้ใช้ในเมืองที่เป็นบ้านหรือออฟฟิศเป็นหลัก ซึ่งทำให้การนำไปใช้ในฟาร์มขนาดใหญ่มีต้นทุนสูงมาก ในต่างประเทศมีการพัฒนา inclusive sim card ซึ่งเหมาะกับการใช้ในฟาร์ม โดยซิมนี้จะส่งข้อมูลเป็นช่วงๆ เช่น ทุก 10 นาที ไม่ได้ส่งถี่เหมือนซิมที่เราใช้กันในปัจจุบัน นี่เป็นตัวอย่างการออกแบบระบบเพื่อรองรับภาคเกษตร

การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกรก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ ซึ่งภาครัฐไม่ควรทำเอง แต่ต้องให้เอกชนมีบทบาทนำ โดยภาครัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนด้านข้อมูลให้ถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที และมาตรการส่งเสริมบางส่วน ทุกวันนี้หน่วยงานรัฐไทยชอบทำแอปพลิเคชันกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยยึดผู้ใช้เป็นตัวตั้งเท่าไหร่ สร้างขึ้นมาเพราะผู้บริหารอยากได้ (หัวเราะ) ออกมาแล้วก็ทั้งไม่มีคนใช้และใช้งานได้จำกัด ไม่ใช่แค่นั้น ทุกหน่วยงานต่างคิดแอปฯ ของตัวเองกลายเป็นงานซ้ำซ้อนอีก

เวลาพูดเรื่องดิจิทัลกับนักเศรษฐศาสตร์ คำตอบก็จะคล้ายกันหมดคือต้องทำโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนมีบทบาทนำในการพัฒนานวัตกรรม มีตัวอย่างรูปธรรมของนโยบายที่เหมาะกับภาคเกษตรบ้างไหม

เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ หากทำได้สำเร็จ เกษตรกรก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องจักรสมัยใหม่อย่างรถตัดอ้อยหรือรถเก็บเกี่ยวข้าวได้ แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกไม่ใหญ่มาก สมมติผมเป็นเกษตรกร มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก อยากใช้โดรน ก็ใช้แอปฯ หาคนมาบินให้ได้ด้วยค่าบริการที่ถูกลงและเหมาะกับขนาดของตัวเอง ไม่ต้องซื้อโดรนตัวละกว่าแสนบาท นอกจากนี้ การทำ sharing economy ไม่ใช่การแบ่งให้เช่าเครื่องจักรเท่านั้น แต่ยังทำให้ความรู้กระจายด้วย เพราะคนที่เป็นเจ้าของเครื่องจักรก็มี know how สามารถให้คำแนะนำกับผู้เช่าได้โดยตรง

พูดแบบภาษาเศรษฐศาสตร์คือ รัฐต้องส่งเสริมตลาดเช่าบริการ ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเข้าไปประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่ยังไม่มีตลาดเช่าบริการ อาจจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร ต้องลองออกแบบกันดู หากพื้นที่ไหนที่มีคนให้บริการอยู่แล้ว รัฐก็ต้องเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ส่งเสริมให้บริษัทแข่งขันกันและสามารถมีกำไรระดับหนึ่งที่เหมาะสม เรื่องนี้เทคโนโลยีเรามีพร้อมแล้ว แค่ต้องการตัวช่วยจากภาครัฐ ที่ผ่านมางานวิจัยพบว่า ตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเดินไปได้ดีด้วยตัวของมันเองระดับหนึ่ง ข้อมูลพบเลยว่าตลาดนี้ช่วยให้เกษตรกรไทยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่มากขึ้นและช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยธรรมชาติตลาดไปอยู่แล้ว รัฐเพียงแค่เข้าไปช่วยเสริมเท่านั้น

สถาบันด้านเกษตรอย่างสหกรณ์ หรือการรวมกลุ่มกัน จะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบสำหรับโลกอนาคตไหม

ยังคงเป็นคำตอบนะ! การรวมกลุ่มยังมีความสำคัญมาก การศึกษาที่ผ่านมาก็ชี้ชัดเจนว่า ไทยทำเรื่องนี้ได้สำเร็จระดับหนึ่งเพียงแต่ไม่ได้เข้มแข็งทุกกลุ่ม ความท้าทายในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องการทำให้การรวมกลุ่มเข้มแข็งทุกกลุ่ม เพราะหากทำสำเร็จจะช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องอำนาจการต่อรอง

ความยั่งยืนก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ ที่ผ่านมาความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรไทยมักยึดติดกับผู้นำกลุ่มเป็นหลัก ไม่ได้ยึดกับระบบ สหกรณ์ไหนมีผู้นำที่ดี สหกรณ์นั้นก็รุ่งโรจน์ แต่พอเปลี่ยนผู้นำความเข้มแข็งก็ลดน้อยลง หากต้องการให้สถาบันเกษตรมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ก็จำเป็นต้องมีระบบที่ดีด้วย ระบบที่ทำให้ทุกคนอยากมารวมตัวกัน มองเห็นว่าการรวมตัวแล้วทุกคนได้ผลประโยชน์และมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่รวมตัวกันแล้วมีแต่ผู้นำที่ได้ประโยชน์ หรือไม่ก็ต้องเสียสละทำงานส่วนรวมโดยไม่ได้อะไรเลย

ระบบสหกรณ์ในต่างประเทศน่าทึ่งมาก เกษตรกรที่ขายผลผลิตได้ต้องหักเงินเข้าส่วนกลางทุกกิโลกรัม สหกรณ์ก็จะมีเงินก้อนไว้สำหรับเป็นค่าตอบแทนคนทำงาน และสามารถลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ดึงผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ มาช่วยคนในกลุ่ม ไม่ต้องรอรัฐบาล ประเด็นที่สมาชิกไม่มีองค์ความรู้ก็ไปหาคนมาช่วยอบรมและฝึกสอนได้

อะไรเป็นมายาคติที่คนนอกมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาคเกษตร

เกษตรกรส่วนใหญ่พร้อมปรับตัว พวกเขาคิดและตัดสินใจภายใต้โครงสร้างแรงจูงใจที่ตัวเองเผชิญไม่ต่างจากคนในภาคการผลิตอื่นๆ อะไรที่คิดว่าทำแล้วคุ้มค่า เขาทำแน่นอน ดังนั้นก้าวแรกของการปรับภาคเกษตรคือการมีนโยบายที่สามารถจูงใจให้เขาปรับได้ ทำให้มั่นใจว่าการปรับตัวจะทำให้กำไรมากขึ้น

ในภาคเกษตรไม่ได้มีข้อมูลมากมาย ระบบของเกษตรกรไทยคือการมองหาความสำเร็จจากคนที่อยู่ใกล้ตัว เช่น แปลงข้างๆ หรือคนในพื้นที่เดียวกัน หากมีโชว์เคสที่ทำให้เห็นได้ว่า ถ้าทำตามแล้วมีโอกาสได้ผล เขาก็พร้อมจะทำ ที่สำคัญคือการเรียนรู้จากคนที่อยู่ใกล้ทำได้ง่ายกว่า ภาษาที่ใช้สื่อสารกันจะเป็นภาษาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่เขาเข้าใจกันและที่สำคัญคือเชื่อใจกัน ในแง่นี้ รัฐต้องทำให้เกษตรกรเห็นให้ได้ว่าการปรับตัวแต่ละครั้งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ต้องทำให้เขามั่นใจและเชื่อใจว่าการปรับตัวจะมีคนคอยช่วยสนับสนุน ให้คำแนะนำ และไม่ทิ้งเขาหากว่าการปรับตัวนั้นล้มเหลว


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023