fbpx

ในสายธารการเคลื่อนไหว: มองการเมืองภาคประชาชน การเลือกตั้ง และความหวังต่อการเมืองในสภาฯ กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

ในห้วงเวลานี้คงไม่มีเรื่องใดที่คนไทยตั้งตารอไปกว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2023 นี้ บรรยากาศการหาเสียงของบรรดาผู้สมัคร ส.ส. ที่มาเคาะถึงหน้าประตูบ้าน หลากเวทีประชันวิสัยทัศน์ของตัวแทนแต่ละพรรคการเมือง ปลุกให้ประชาชนไทยมีชีวิตชีวาและมีความหวังต่ออนาคตของประเทศ

แน่นอนว่าการเลือกตั้งคือหมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย แต่การส่งผู้แทนเข้าสภาย่อมไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของวิถีประชาธิปไตย เพราะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังมีสิทธิมีเสียงใน ‘พื้นที่อื่น’ นอกเหนือจากการลงคะแนนเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะอยู่ในยุคของรัฐบาลใด เรามักเห็นปฏิบัติการทางการเมืองของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาท้าชนกับรัฐ ในยามที่ผู้แทนในสภาไม่ทำหน้าที่เป็นปากเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนที่เลือกเข้ามา ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งรัฐกลับออกนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่เอื้อผลประโยชน์ให้ชนชั้นนำที่มีเพียงหยิบมือเดียว ประชาชนจึงต้องออกมาแสดงสิทธิในการวิพากษ์ วิจารณ์ และมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยตรวจสอบการใช้อำนาจผ่านการลงถนนชุมนุมประท้วง ส่งหนังสือเรียกร้องตามกระบวนการ ไปจนถึงส่งเสียงในโซเชียลมีเดีย เป็นการเปลี่ยนยุทธวิธีไปตามยุคสมัยและบริบท

ในวาระที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา 101 พูดคุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BioThai) ผู้คลุกคลีกับการเคลื่อนไหวผลักดันนโยบายเพื่อพี่น้องเกษตรกรและคนไทยมาหลายสิบปี ไล่เรียงตั้งแต่ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ครอบคลุมไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และเป็นผู้ผลักดันการก่อตั้ง ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN)

ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ วิฑูรย์ผ่านอะไรมาบ้างในสายธารการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนไทย ‘อยู่ดี กินดี’ ในความหมายที่ว่านี่คือสิทธิพื้นฐานของประชาชน

จากการทำงานในภาคประชาสังคมมาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ยุคที่ประเทศไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งจนมาถึงยุคที่รัฐบาลมาจากคณะรัฐประหาร ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองไทยเหล่านี้ พวกเขาต่อสู้เรื่องอะไร-รูปแบบไหนมาบ้าง – รัฐบาล ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘เผด็จการ’ ต่างกันแค่ไหนในการฟังเสียงประชาชน และในเส้นทางการต่อสู้ของประชาชน ‘นอกสภา’ เราจะยังเชื่อมั่นการส่งเสียง ‘ในสภา’ ได้แค่ไหน อย่างไร

ในฐานะที่คุณทำงานผลักดันนโยบายและคะคานกับรัฐมาหลายสิบปี คิดเห็นอย่างไรกับการที่ภาพจำของภาคประชาสังคม หรือ NGO ในสายตาคนจำนวนมากคือองค์กรที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ มีกฎหมายอะไรออกมาก็ค้านลูกเดียว

ภาคประชาสังคมไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ เราเพียงแต่มองผลประโยชน์คนละมุม เราก็เลยต้องเรียกร้อง และจริงๆ เราไม่ได้คัดค้านอย่างเดียวนะครับ อย่างไบโอไทยก็ทำในเชิงรุกด้วย ไม่ใช่ว่าตั้งรับ รอจะคัดค้านนโยบายอย่างเดียว เราเสนอเชิงรุกด้วย เช่น การผลักดันนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนให้เข้าไปสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และแผน 12

ถ้าให้เล่าย้อนไป นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรกรรมมีหลากหลายมิติมาก ช่วงที่เราก่อตั้งเป็นช่วงที่ประเทศอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญมาก เช่น การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งหมายความว่าเราต้องยอมรับความตกลงที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมอย่างน้อย 2-3 เรื่องใหญ่ ตอนนั้นงานของเราเริ่มขึ้นอย่างขันแข็ง

อันที่หนึ่งก็คือไทยต้องเปิดรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะ WTO แต่ในช่วงหลังเกิดการเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ตามมา ในสมัยคุณทักษิณ เป็นช่วงที่ประเทศไทยเปิดการเจรจาการค้ากับต่างประเทศเยอะมาก หลาย FTA เกิดขึ้นในช่วงที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี เช่นการเจรจา FTA กับจีน การลงนาม FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเริ่มต้นเจรจากับญี่ปุ่น แต่อันหลังนี้ยังไม่สำเร็จคุณทักษิณก็ถูกผลักดันออกไปจากการเมืองเสียก่อน

ในยุคนั้น เราต้องทำงานกับรัฐบาลในสองมุม มุมแรกคือเราคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดเสรีและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย แน่นอนเรื่อง FTA เราต่อสู้กับรัฐบาลอย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่ใช่การต่อสู้ที่เรียกว่าอยู่ตรงกันข้ามกัน แต่เป็นการต่อสู้ที่เรียกว่ามองผลประโยชน์ของประเทศคนละมุมกัน ไม่ได้เป็นศัตรูกัน เช่น ตอนนั้นเราคัดค้านการเปิดตลาดที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ โคนม เป็นผลจากการที่ไทยทำ FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เชื่อไหมว่าวันที่รัฐบาลลงนาม FTA ไม่มีใครในประเทศ ประชาชน เกษตรกร หรือนักวิชาการรู้เลยว่าตัวความตกลงมีเนื้อหาเป็นอย่างไร ทุกคนมีโอกาสเห็นความตกลงก็ตอนลงนามกันเสร็จแล้ว เราถึงสามารถดาวน์โหลดเข้ามาดูข้อบทในความตกลงนั้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้กับการทำสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ แต่ว่าไม่มีใครรู้เลย ตอนนั้นไบโอไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้ง FTA Watch ด้วย เป็นเครือข่ายที่ยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ดูเหมือนว่าภาคประชาสังคมจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลอยู่มากทีเดียว?

ต้องย้ำจุดยืนอีกทีคือ ด้านหนึ่งเราคัดค้านรัฐบาลเรื่องการลงนามในความตกลงที่ส่งผลกระทบ แต่อีกด้านเราก็เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายที่จะสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมหรือประชาธิปไตยในการตัดสินใจนโยบาย แน่นอนว่าการต่อสู้นั้นใช้เวลานานมาก

เราขับเคี่ยวกับรัฐบาลคุณทักษิณ ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่งมาก ในท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องให้มีตัวกฎหมายเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ต้องมีการมีส่วนร่วมก็สำเร็จในยุคหลังจากนั้น ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 190 แต่เราอยากย้ำอีกทีว่าในการต่อสู้นี้เราไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐบาล

ขอยกตัวอย่างตอนที่มีการเจรจา FTA กับอเมริกา ซึ่งเป็น FTA ที่ตระหนักกันโดยทั่วไปว่าเป็นความตกลงการค้าที่อ่อนไหวมาก เพราะมีรายละเอียดของความตกลงที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบไปหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่เกษตร และประเด็นที่น่ากังวลก็ไม่ใช่แค่เรื่องเปิดตลาดอย่างเดียวแต่มีเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชด้วย ซึ่งเป็นข้อที่อเมริกาเรียกร้อง และเราต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา และอีกหลายเรื่องมาก

FTA Watch ตัดสินใจชุมนุมใหญ่ที่เชียงใหม่ ในระหว่างการเจรจา FTA รอบที่ 6 กับสหรัฐในช่วงต้นปี 2549 ซึ่งเป็นการเจรจาครั้งสำคัญมากที่สุด เพราะจะเป็นการหาข้อยุติในประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ด้วยเหตุที่รัฐบาลคุณทักษิณมีความเข้มแข็งมาก การเคลื่อนไหวและการชุมนุมของพวกเราก่อนหน้านั้น 2-3 ครั้ง แทบไม่เป็นข่าวในสื่อหลักใดๆ เลย ดังนั้นต้องทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยกระดับจากการต่อสู้ในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ หรือยกระดับเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องเกษตรหรือเรื่องสิทธิบัตรแค่นั้น เราปักธงประกาศจุดยืนว่าการเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของคนตัวเล็กตัวน้อย และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม

เป้าหมายการชุมนุมคือเราคัดค้านตัวความตกลง FTA แต่ไม่ได้คัดค้านรัฐบาล เราพบว่าในระหว่างชุมนุม เราได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณทักษิณอย่างล้นหลาม ท่าทีรัฐบาลตอนนั้นก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับเรา มีการให้ข่าวจากซีกรัฐบาลว่า การประท้วงของประชาชนเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองให้รัฐบาลด้วยซ้ำ ผลจากการชุมนุมครั้งนั้น กลายเป็นการเจรจารอบสุดท้ายของ FTA ไทย-สหรัฐฯ โพลบางสำนักระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการทำ FTA กับสหรัฐฯ และการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐต้องยุติลง เพราะว่าความไม่พอใจต่อรัฐบาลมีมากขึ้น มีแรงกดดันจากประชาชนหลายกลุ่ม

จากการคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในยุคนั้น NGO เลื่อนไหลไปสู่การเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทักษิณได้อย่างไร

หลังการเคลื่อนไหว FTA คราวนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวอื่นๆ ตามมา เช่น พวกรัฐวิสาหกิจที่มาต่อต้านการแปรรูป รวมถึงการชุมนุมของฝ่ายการเมืองอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน หลังการชุมนุมที่เชียงใหม่ คนของคุณสนธิติดต่อพวกเราให้ไปเข้าร่วมการชุมนุม แต่เรายืนยันว่าไม่เข้าร่วม ณ ตอนนั้น แต่ท้ายที่สุดหลังจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลคุณทักษิณขยายตัวกว้างขึ้น FTA Watch ก็เข้าร่วมด้วย อีกทั้งตอนนั้นนักวิชาการจำนวนมากก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ ผมว่าไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม NGO อย่างเดียวเท่านั้นนะ

กลุ่มต่อต้าน FTA เข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาลหลังจากมีการก่อตั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดให้ชัดเจนคือการต่อต้านรัฐบาลไม่ได้เกิดขึ้นช่วงที่เราเคลื่อนไหวเรื่อง FTA แต่เกิดขึ้นหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่า FTA Watch ตัดสินใจยุติการร่วมชุมนุมเมื่อมีการเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 (นายกฯ พระราชทาน) ในหมู่ผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อีกทั้งพอการเคลื่อนไหวมีการดึงสถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายทางการเมือง พวกเราก็ยุติบทบาทที่อยู่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนั้น

ตอนนั้นจำได้ว่าเราจัดประชุมระหว่างประเทศเรื่อง FTA มีการเชิญหลายองค์กรจากทั่วโลกมา แล้วเขาเห็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในประเทศ ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นคุณทักษิณลาออกแล้ว เพื่อนต่างประเทศก็ถามพวกเราว่าตำแหน่งแห่งที่ของเราต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร เราตอบว่า FTA Watch ถอนตัวจากการเข้าร่วมการชุมนุมแล้ว บทบาทและภารกิจในการคัดค้านเรื่อง FTA ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว เป้าหมายใหญ่ของเราคือการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมมีส่วนร่วม และรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่จู่ๆ ก็ไปลงนามกันเรียบร้อย โดยประชาชนไม่รับรู้อะไรเลย เนื้อหาในข้อบทความตกลงเป็นความลับ แบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นภารกิจของ FTA Watch ที่เป็นเครือข่ายหลวมๆ ของผู้คนที่เกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ถือว่าจบไปแล้ว

พอเป็นยุคที่ FTA Watch เฟื่องฟู การทำงานของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะ NGO ด้านสิ่งแวดล้อมดูจะ active มากๆ แล้วช่วงนั้นการเมืองไทยค่อนข้างผันผวน อยากให้คุณช่วยให้ภาพรวมว่าตอนนั้นทำงานกันอย่างไรบ้างในแต่ละรัฐบาล

จริงๆ เราก็ทำงานผลักดันกันนโยบายมาก่อนหน้านี้แล้ว ย้อนกลับไปหน่อย เราทำให้เกิดกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชขึ้นก่อนยุค FTA เสียอีก การผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ต้องมีหลักการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนเริ่มต้นในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายกฯ ตอนนั้นเป็นการเรียกร้องของสมัชชาคนจนและเครือข่ายเกษตรทางเลือกว่าเราไม่ต้องการกฎหมายแบบอเมริกัน

จำได้เลยว่ารัฐบาลคุณชวลิตเป็นรัฐบาลที่เปิดรับการเจรจากับคนจนมากที่สุดรัฐบาลหนึ่ง มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีสมัชชาคนจนและเกษตรกรรายย่อยเป็นกรรมการ มีการเจรจาผลักดันให้รัฐบาลจัดทำโครงการนำร่องเรื่องเกษตรยั่งยืน แต่กว่ากฎหมายและโครงการต่างๆจะแล้วเสร็จก็อยู่ในสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ แล้ว

โดยรวม ถ้าพูดถึงบทบาทของเราในการติดตามหรือพัฒนานโยบาย ในสมัยรัฐบาลชวลิต มีทั้งที่เป็นการต่อสู้กันในทางการเมือง แล้วก็มีความร่วมมือกันด้วย เมื่อเปลี่ยนมาเป็นยุคคุณทักษิณ เราคัดค้านการทำ FTA ที่ขยายอำนาจของบริษัทในเรื่องสิทธิบัตรเรื่องยา สิทธิบัตรพันธุ์พืช รวมทั้งการเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย แล้วก็ต่อสู้ไปมากกว่านั้น คือการเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

พอเป็นสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เราก็ต่อสู้กับรัฐบาลอีก เพราะรัฐบาลสุรยุทธ์มาสานต่อเรื่อง FTA ที่ค้างคาอยู่ เช่น FTA กับญี่ปุ่น ซึ่งมีประเด็นการขยายสิทธิบัตรไปครอบคลุมจุลินทรีย์ที่มาจากธรรมชาติ รวมทั้งขยายการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่มากไปกว่าความตกลงใน WTO

จำได้ว่าไปชุมนุมที่ iTV ตอนที่ยังไม่ถูกปิด เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลสุรยุทธ์หมาดๆ การชุมนุมครั้งนั้นเราเรียกร้องว่ารัฐต้องเปิดเผยข้อมูล สื่อโทรทัศน์ต้องนำเสนอข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชาชนด้วย ไม่ใช่ปิดปากประชาชน ท้ายที่สุดรัฐบาลก็เดินหน้าทำ FTA ต่อ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลเหมือนเดิม

ยกตัวอย่าง ก่อนรัฐบาลจะลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) เราเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยว่าความตกลงเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาตอบกลับมาคือ ให้เราส่งตัวแทนไป 5 คน แล้วให้เข้าไปอ่านเอกสารความตกลง FTA กับญี่ปุ่น ซึ่งมี 800 หน้า ไม่ได้ให้เอกสารมา แต่ให้เราหมุนเวียนเดินเข้าไปในห้องปิดเพื่อไปอ่านความตกลง อ่านแล้วก็เดินออกมา เฮ้ย! มันตลกมั้ย? เราถึงต้องต่อสู้ไงว่าจะทำ FTA  ต้องมีมาตรา 190 ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อสภาก่อน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จัดให้มีประชาพิจารณ์ ต้องเยียวยาหากเกิดความเสียหาย ให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ในภาคประชาสังคมเอง มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้บ้างไหม

พูดว่าเราสู้มิติอื่นมากขึ้นจะตรงกว่า ในสมัยของพลเอกสุรยุทธ์ เราสู้โดยใช้การฟ้องศาลปกครองด้วย เรียกร้องให้ยุติความตกลงด้วยเหตุที่ว่า ตอนนั้นรัฐธรรมนูญมีมาตรา 190 ออกมาแล้ว ซึ่งกำหนดว่าต้องรับฟังความคิดเห็น ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ แต่การจัดประชาพิจารณ์ของรัฐกลายเป็นการมาพูดฝ่ายเดียว เราไม่เห็นด้วย เลยฟ้องศาล แต่ว่าศาลตัดสินให้เราแพ้นะ ศาลตัดสินว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะสามารถตัดสินใจดำเนินการต่อได้ และเจตนาเราเหมือนเจตนาที่ต้องการฟ้องเพื่อล้มเรื่องความตกลง ไม่ได้มีเจตนาฟ้องเกี่ยวกับกระบวนการอะไรหรอก เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน  รู้สึกว่าศาลไม่ได้ตัดสินอย่างตรงไปตรงมา และสุดท้ายเราก็แพ้คดี

แต่ว่าถ้าจะให้สรุปเลยก็คือว่าช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ หรือแม้แต่รัฐบาลทหารสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นโยบายของประเทศในเรื่องการเปิดเสรีเรื่องเกษตร เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็เรื่องนโยบาย เช่น พืช GM ก็แทบไม่แตกต่างกัน มันมาจากการผลักดันของกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และส่วนหนึ่งก็ถูกผลักดันมาจากระบบราชการ ฉะนั้น ในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของคนเล็กคนน้อย เราแทบจะไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนเลย ทุกรัฐบาลคล้ายๆ กัน

นอกจากผลักดันให้มีมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนทำความตกลงระหว่างประเทศได้แล้ว ในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายภายในอื่นๆ ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน

ขยับจากสมัยคุณสุรยุทธ์ที่ให้เราไปอ่านเอกสาร 800 หน้าก็ถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีนโยบายที่เราเคลื่อนไหวอยู่บ้างเรื่องสารเคมี ที่จริงในยุคคุณอภิสิทธิ์มีบางกรณีที่เปิดพื้นที่ให้เราบ้าง เช่นในสภาพัฒน์ฯ มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าในช่วงนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการในเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งกฎหมายออกแบบให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน เพื่อไปคานกับข้าราชการซึ่งมีประมาณ 13 คน กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า 5 คนต้องมาจากองค์กรวิชาชีพ อีก 5 คนต้องมาจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ แต่ปรากฏว่าคนที่นั่งในโควต้าองค์กรสาธารณะประโยชน์เกษตรกรรมยั่งยืน ก็คือบริษัทสารเคมี

ท้ายที่สุดเราเห็นว่าโครงสร้างกฎหมายและนโยบาย ด้านหนึ่งเปิดพื้นที่ให้เราบางส่วน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้มีอำนาจอะไรหรอก เหมือนเราไปทำเรื่องแผนนโยบายแต่ว่ามันแทบไม่ได้เกิดผลอะไรในทางปฏิบัติ แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นโครงสร้างสำคัญที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แทนที่จะแต่งตั้งองค์กรสาธารณประโยชน์ไปนั่งเป็นปากเป็นเสียง เรากลับเห็นการตั้งบริษัทเอกชนไปนั่งอยู่ในนั้นแทนในโควต้าของเรา

ส่วนสมัยคุณยิ่งลักษณ์ นโยบายที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ ‘โครงการจำนำข้าว’ อันนี้เราก็วิจารณ์ แต่มองต่างจากกระแสสังคมตอนนั้นที่เพ่งเล็งเรื่องเอาภาษีไปให้ชาวนา เรามองคล้ายๆ งานที่ 101 Pub ทำอยู่ เราคิดว่า การ subsidise โดยที่รัฐใช้เงินจำนวนมากในการซื้อข้าว แล้วก็เป็นคนขายข้าวเอง นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำสองประเด็นใหญ่

ประเด็นแรกคือคนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดอาจจะไม่ใช่ชาวนา แต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการผลักดันเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว

ประเด็นที่สอง ระบบแบบนี้ไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืน เราเห็นว่าถ้าคิดคร่าวๆ จะใช้เงินประมาณ 900,000 ล้านบาท ใน 3 ฤดูเพาะปลูก แต่ใน 900,000 ล้านบาทนี้ขายข้าวไปด้วยจะได้มาประมาณ 400,000 ล้าน ฉะนั้นจะเหลือประมาณ 500,000 ถ้าเฉลี่ยสามฤดูจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านต่อฤดู กับการใช้งบมากขนาดนี้แต่ผลที่อยากได้ไม่บังเกิด เราเลยมีความเห็นต่อการจัดสรรงบ 1.5 แสนล้านใหม่

เราคิดว่าการใช้งบขนาดนี้ควรจะเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมไปสู่ความยั่งยืนเพื่อแก้ไขโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมกับชาวนาที่ไม่มีที่ดินและเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นจุดยืนของเรามาตลอด เหมือนที่เราเคยเสนอรัฐบาลพลเอกชวลิต ให้ใช้เงินเพื่อทำโครงการนำร่องเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นการเอาไปให้ชาวนาโดยตรงเลย ให้ชาวนาเป็นคนบริหารเงินและวางแผนโครงการ เชื่อไหมว่าตั้งแต่โครงการนี้เงินยังหมุนอยู่ในหลายพื้นที่แม้จะผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว พื้นที่เกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืนจำนวนมากที่ขยายไปได้ก็เกิดขึ้นในยุคนั้นนะ

แล้วในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ที่มาจากการรัฐประหารและมีการใช้อำนาจกับนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก นอกจากจะสู้กับรัฐแล้ว ดูเหมือนว่าคุณจะต้องสู้กับกลุ่มทุนด้วย ภาคประชาสังคมมีความท้าทายอย่างไรบ้างในการทำงานในยุคนี้ อยากให้ไล่เรียงตั้งแต่สมัยประยุทธ์ 1

ทันทีที่รัฐบาลประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนมากคือนโยบายเกษตรของรัฐบาลนี้ ‘เปิดให้กลุ่มทุนเข้ามาบริหารประเทศ’ เราสามารถใช้คำนั้นได้เลย วันแรกที่มีการจัดประชุม เขาทำอะไรรู้ไหม เขาตั้งคณะกรรมการและนโยบายว่าด้วยอาหารสัตว์และการนำเข้าอาหารสัตว์ ถัดมาไม่นาน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และต่อมาก็มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ สิ่งที่เขาทำในขณะนั้นก็คือการรับนโยบายของกลุ่มทุน โดยตั้งคณะกรรมการพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง กรรมการเหล่านี้ก็คือพวกบริษัทเอกชนทั้งหลาย คณะกรรมการนี้คือจุดเริ่มต้นของการก่อปัญหาฝุ่นพิษมาจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในมติจากคณะกรรมการชุดนี้ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง คือ การขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ในช่วง 3-4 ปีในสมัยประยุทธ์เป็นนายก พื้นที่ปลูกอ้อยขยายไปประมาณ 3 ล้านไร่ จากเคยปลูก 6 ล้านไร่กว่ากลายเป็น 9 ล้านไร่แล้ว เห็นชัดเจนเลยว่าตอนนั้นปัญหาเรื่องฝุ่นพิษเกิดขึ้นที่ภาคเหนืออยู่แล้ว แต่ว่าอันนี้ขยายมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่ามากกว่า 60% เป็นพื้นที่การเผา นี่เป็นตัวอย่างนโยบายที่เอื้อเฟื้ออุตสาหกรรมน้ำตาลโดยตรง ตอนนั้นคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ของมิตรผลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปเรื่องการเกษตรของรัฐบาลด้วย

แล้วตอนที่เขาตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ แล้วมีกรรมการย่อยๆ อีกประมาณ 12 คณะ มองเจาะลงไปใน 12 คณะนี้ เราจะเห็นว่าเต็มไปด้วยพวกกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ มีกลุ่มทุนเกษตร ทั้งซีพี  กลุ่มมิตรผล กลุ่มทุนค้าปลีก กลุ่มทุนธนาคาร กลุ่มทุนพลังงาน ขยายให้เห็นภาพกว่านี้ เช่น คณะกรรมการพัฒนาเรื่องเกษตรสมัยใหม่ คนที่นั่งเป็นประธานก็คือพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานคู่กับคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ แล้วเราจะเห็นคนจากซีพีเข้าไปนั่งอยู่ในกรรมการทุกชุด อย่างน้อย 1 คนต่อหนึ่งชุดคณะกรรมการ เราก็เลยได้เห็นโครงการประเภท ขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ลดดอกเบี้ย 0.01 % ให้กับคนที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ สัดส่วนองค์ประกอบของพวกกลุ่มทุนอยู่ที่ประมาณ 75% ของคนที่นั่งในกรรมการ แทบไม่มีภาคประชาชนเลย สัดส่วนนักวิชาการน่าจะเหลือสัก 4-5% ได้ ที่เหลือคือข้าราชการกับกลุ่มทุนที่นั่งอยู่ในกรรมการชุดนี้

อีกมติที่เป็นประเด็นใหญ่คือการผลักดันพืช GM อันนี้ก็มาในยุคนี้เช่นกัน โดยมีแรงสนับสนุนมาจากเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Monsanto บริษัทผลิตพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมรายใหญ่ของโลก พืชที่เขาต้องการผลักดันมากที่สุดก็คือข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดเม็ดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ถ้าเขาผลักดันพืช GM ได้สำเร็จ เขาก็สามารถขายพ่วงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย ซึ่งเจริญโภคภัณฑ์ก็เป็นผู้นำในตลาดสารเคมีไง พูดให้เข้าใจง่ายคือได้ขายทั้งเมล็ดพันธุ์และสารเคมี

นอกจากนี้ มีการผลักดันให้ปลูกพืช GM ในสมัยคุณฉัตรชัยเป็นรัฐมนตรี เราก็เคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องนี้ ในที่สุดเขาก็ทำไม่สำเร็จ ในสมัยคุณฉัตรชัยยังมีการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพันธุ์พืชด้วยให้เป็นไปตาม UPOV 1991 ซึ่งชัดเจนว่าต้องการผลักดันระบบกฎหมายที่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์  ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกเคลื่อนไหวคัดค้าน แม้กระทั่งจีนก็ยังไม่ยอมรับ UPOV1991 หรืออินเดียที่ปฏิเสธทุกเวอร์ชัน ตั้งแต่เราก่อตั้งไบโอไทยมา จุดยืนเราคือไม่ต้องการระบบกฎหมายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมแบบนั้น แต่เราต้องการระบบกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองสิทธิเกษตรกรให้สามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ ไม่ใช่การให้อำนาจผูกขาดกับบริษัท

สรุปความท้าทายที่มาพร้อมกันในยุคประยุทธ์ หนึ่งคือเรื่องการขยายพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว โดยสนับสนุนทุกวิถีทาง สองคือการผลักดันพืช GMO โดยการร่วมมือกันระหว่างเจริญโภคภัณฑ์และ Monsanto อันที่สาม ก็คือการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ถ้าจำไม่ผิด ช่วงที่มีการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายคือช่วงที่มีพระราชพิธีใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการเล่นทีเผลอ เราไม่ยอม และเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างที่เคยทำมา

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างว่าเจอ ‘ตอ’ อะไรบ้างเวลาเรามีข้อเสนอหรือผลักดันนโยบาย

ขอยกเรื่องสารเคมี จะได้ขยายภาพเชื่อมโยงกับรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง คือในช่วง 8 ปีของคุณประยุทธ์ เราผลักดันให้มีการแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ที่จริงข้อเสนอแรกเราคือให้แบนเฉพาะพาราควอต ซึ่ง 60 ประเทศทั่วโลกเขาแบนกันแล้ว และคลอร์ไพริฟอส  ในส่วนของไกลโฟเซต เราเรียกร้องให้จำกัดการใช้ในพื้นที่ที่สร้างผลกระทบ ในช่วงที่เราผลักดันเรื่องนี้ มีบราซิลซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกก็เตรียมที่จะแบนพาราควอต มีมาเลเซียก็แบนใกล้เคียงกัน ส่วนเวียดนามแบนมาก่อนนี้แล้ว จีน ทั้งที่ผลิตเองแต่ก็ห้ามประชาชนใช้ เราก็เคลื่อนไหวว่ามันจำเป็นต้องแบน

แต่สิ่งที่เราพบเลยก็คือในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เราพยายามทำทุกวิถีทางแล้วแต่ไม่สำเร็จ เรารู้เลยว่ามันไปติดที่โครงสร้างของรัฐบาลทหาร แม้กระทั่งรัฐบาลที่มาสืบทอดอำนาจ ถึงจะมีคนในสายวิชาการอย่างเช่น รัฐมนตรีสาธารณสุขตอนนั้นคือคุณหมอปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งมาจากสายหมอ เขาเห็นปัญหา เขาก็เชิญเราไปพรีเซนต์ที่กระทรวงสาธารณสุขเลย แล้วก็เรียกอธิบดีทุกกรมมาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นในปัญหาสารเคมี คุณหมอปิยะสกลเห็นข้อมูลทั้งหมดก็บอกว่ามันต้องทำอะไรสักอย่าง เป็นที่มาของการวางแผนว่า

อันดับแรก ต้องแบนตัวที่แบนได้ก่อนนะไม่อย่างนั้นเกษตรกรไทยแย่แน่ ตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุขช่วยเต็มที่นะ แต่ท้ายที่สุดก็ไปตายที่รัฐบาลคุณประยุทธ์ กรรมการที่ตั้งขึ้นมาชุดแรกบอกให้แบน แต่คุณประยุทธ์ก็ไปตั้งกรรมการอีกชุดนึง แล้วก็เอาพวกบริษัท กลุ่มทุนมานั่งกับพวกเรา มานั่งให้เท่ากันแล้วมาหาข้อยุติ เข้าใจไหมว่าเป็นการกระทำแบบเตะตัดขา นี่ขนาดว่าข้อมูลทั้งหมดจากหลายสถาบันด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีความเห็นแทบจะเป็นมติเอกฉันท์ว่ามันจำเป็นต้องแบน  แต่ก็ทำไม่ได้ ตอนนั้นเราเห็นแล้วว่า โอ้โห งานยาก

แล้วเรื่องการแบนสารเคมีดำเนินอย่างไรต่อในสมัยประยุทธ์ 2 ซึ่งถือว่ามาจากการเลือกตั้ง มีความแตกต่างอย่างไรบ้างกับรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่มาจากการรัฐประหาร

จุดเปลี่ยนที่ปูทางไปสู่ความสำเร็จในการผลักดันหลังการเลือกตั้ง 2562 ประการแรกคือประชาชน กระแสสังคม รวมถึงคนทำงานในแวดวงวิชาการเห็นตรงกันแล้วว่าจะต้องแบน ประการที่สองซึ่งสำคัญมากๆ คือพรรคการเมือง ซึ่งผมว่าต้องให้เครดิตเขาด้วย แต่ว่าเครดิตนั้นก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เมื่อกระแสสังคมตื่นตัว เขาก็จำเป็นต้องตอบสนอง เหมือนเรื่องฝุ่นพิษตอนนี้ที่สังคมกดดันพรรคการเมืองว่าคุณต้องมีนโยบายนะ ถ้านโยบายไม่ถูกใจนี่มีปัญหาแน่นอน

ตอนนั้นเราเห็นว่าพรรคเพื่อไทยยกเรื่องการแบนสารเคมีขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียงด้วย พรรคเศรษฐกิจไทยของคุณมิ่งขวัญ ก็มีเรื่องแบนสารเคมีเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง และยังมีอีกหลายพรรคที่พูดแตะเรื่องนี้ จริงๆ ก็มีพรรคที่ไม่ได้มีจุดยืนเรื่องแบนสารเคมีมาก่อน แต่ว่าในท้ายสุดก็ต้องต้องมาร่วมมือผลักดันให้เกิดการแบนก็มีอย่างน้อยสองพรรค อันนี้คือจุดเปลี่ยนเลยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

หลังจัดตั้งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านทั้งหมดก็มารวมกัน แล้วคิดว่าเรื่องแบนสารเคมีเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคฝ่ายค้านด้วย ซึ่งผมมองว่าตอนนั้นพรรคฝ่ายค้านเข้มแข็งมาก พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านกับอีก 6 พรรคการเมือง ไปเปิดตัวนโยบายนี้ที่ออฟฟิศของไบโอไทยเลย

กล่าวโดยสรุปก็คือในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ 2 ต่างกับสมัยประยุทธ์ 1 หรือรัฐบาล คสช.ในแง่ที่ว่า เราได้เห็นบทบาทของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่เรียกได้ว่าฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากแรงกดดันของสาธารณะที่ส่งพลังมาอย่างเข้มแข็ง ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย นำไปสู่การแบนพาราควอต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะตลาดสารเคมีไทยมีมูลค่าประมาณเป็นตัวเลขอย่างต่ำคือ 60,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่เขาประเมินกันอยู่ที่ 80,000 – 90,000 ล้านบาทต่อปี แค่พาราควอตตัวเดียวนี่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นราวๆ 20-25% ของตลาดเลยนะที่มันจะหายไปเพราะการแบน

แสดงว่าพรรคการเมืองเป็นอีกกำลังสำคัญที่จะทำให้การผลักดันเกิดขึ้นได้จริง

ใช่ๆ ผมตกผลึกว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องทำงานกับพรรคการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็คือคนเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ต้องฟังว่าใครจะเลือกเขาหรือไม่เลือก และคนเหล่านี้สามารถกำกับข้าราชการ ซึ่งระบบข้าราชการไทยเป็นระบบใหญ่มากๆ ที่เป็นพลังแฝงอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะทราบแน่นอนอยู่แล้วว่าพรรคการเมืองกับทุนอาจจะต้องสัมพันธ์กันอยู่แล้ว แต่ว่าท้ายสุดพรรคการเมืองมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหวังจะไปไกลกว่าการพึ่งระบบราชการแบบเดียวกับที่เราพยายามทำในรัฐบาล คสช. เราจำเป็นต้องทำงานกับพรรคการเมือง ทำงานกับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะพวกเขามีพลังในการกดดันให้ผู้แทนที่เขาเลือกต้องเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์

มันต่างกับช่วงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจกกการเลือกตั้งนะ ยกตัวอย่างตอนจัดการปัญหาฝุ่นพิษสิ รัฐเอาแต่โทษชาวบ้าน หรือขอให้ประชาชนช่วยๆ กัน ระบบแบบนี้มันคาดหวังความรับผิดชอบต่อประชาชนไม่ได้เลย ทหารก็ถือว่าเป็นข้าราชการรูปแบบหนึ่ง แล้วเมื่อเขาเข้าสู่การเมือง เขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนับสนุนจากกลุ่มทุนเพื่อให้เขาอยู่ในอำนาจต่อได้ เลยต้องฟังเสียงกลุ่มทุน ไม่ใช่เสียงประชาชนไง

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เราได้เห็นเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือพลังของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ผ่านโซเชียลมีเดีย จนในที่สุดรัฐบาลต้องพิจารณาประเด็นนี้ใหม่ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก ต้องเกริ่นก่อนว่า ก่อนหน้านี้การเคลื่อนไหวหลายเรื่องของกลุ่ม FTA Watch อิงอยู่กับฐานพลัง 2-3 กลุ่มด้วยกัน

อันที่หนึ่งคืออิงอยู่กับฐานเรื่องประโยชน์ของคนเล็กคนน้อย เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ  เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้าถึงยา เป็นต้น

ฐานที่สอง ต้องยอมรับว่ามีพลังจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องอธิปไตยของประเทศ เรื่องทรัพยากร เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีกลิ่นอายของการต่อต้านการครอบงำโดยตะวันตก กลุ่มเหล่านี้มักจะสนับสนุนแนวทางเกษตรกรรมเชิงนิเวศของเราด้วย มีจุดยืนบางอย่างร่วมกัน ฐานที่สามคือกระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในระดับสากลด้วย เช่น แม้กระทั่งในญี่ปุ่นก็มีการเคลื่อนไหวต่อต้าน TPP ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP หลังสหรัฐถอนตัว 

การเคลื่อนไหวของพลังเหล่านี้ ทำให้กระแสการคัดค้าน CPTPP เติบโตขึ้นในระดับที่รัฐบาลต้องฟัง คุณประยุทธ์ก็ต้องฟังด้วยเหมือนกัน แต่ถึงจุดหนึ่งถ้าฝั่งรัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมต้องการผลักดันเรื่องนี้ต่อ แรงผลักดันเท่านี้ย่อมไม่พอ แต่ด้วยความที่กล่าวแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสากล ที่มีการเคลื่อนไหวของผู้คนที่ตั้งคำถามกับบทบาทของบรรษัทในการเข้ามาครอบครองเมล็ดพันธุ์และทรัพยากรอื่นๆ เราเห็นกลุ่มคนที่ต่อต้านการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ในเรื่องเกษตรและอาหารในญี่ปุ่น ขนาดมาซาฮิโกะ ยามาดะ (Masahiko Yamada) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของญี่ปุ่นยังออกมาคัดค้านเรื่อง CPTTP ด้วยตัวเองเลย โดยยกประเด็นที่ว่า ญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่เข้มแข็ง ถ้าคุณเข้าไปสู่ระบบกฎหมาย UPOV ภายใต้ CPTPP เกษตรกรรมญี่ปุ่นจะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ใหญ่กว่า และที่สำคัญคือญี่ปุ่นมีกฎหมายเมล็ดพันธุ์ที่มีการ decentralize ในด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์มา 40-50 ปี โดยการพัฒนาเกิดขึ้นในระดับจังหวัด มีการออกออกกฎหมายเลยว่าแต่ละจังหวัดต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ธัญพืช เมล็ดพันธุ์ผักต่าง เวลาเราไปญี่ปุ่นเราจึงเห็นอุตสาหกรรมเกษตรหลากหลายมาก

นอกจากนี้ยังมีดารานักร้องญี่ปุ่นชื่อ โค ชิบาซากิ (Kou Shibasaki) ซึ่งโด่งดังมาก ยังออกมาทวีตต่อต้านรัฐบาลที่จะออกกฎหมายขยายอำนาจการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ด้วยนะ เธอตั้งคำถามว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบต่อจานอาหารของพวกเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคนะ

อยากให้ช่วยวิเคราะห์ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นกลุ่มที่ออกมาคัดค้านการเข้าร่วม CPTTP

ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มทุนกลุ่มอุตสาหรรมได้รับการสนับสนุนอุ้มชู แต่โอกาสของคนเล็กคนน้อยที่จะมีพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจหรือริเริ่มกิจการกลับถูกถูกปิดกั้นด้วยการผูกขาดหลายรูปแบบ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และการผูกขาดในระบบเกษตรกรรมและอาหารของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้วย

กรณีเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ในช่วงที่ในภาคเกษตรกรรมเราไปต่อไม่ไหว พี่น้องชาวนาเริ่มหมดแรง มันมีกระแสของคนรุ่นใหม่ที่พยายามแสวงหาทางออกโดยการทำเกษตรอินทรีย์  การเปิดตลาดใหม่ๆ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งก็มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ ยิ่งตอนโควิดมาใหม่ๆ คนจำนวนมาก รวมทั้งคนหนุ่มสาวกลับบ้านไปทำเกษตร  คนจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารและโอกาสของคนเล็กคนน้อยในการทำธุรกิจ เราเห็นคนรุ่นใหม่ เช่น เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ ก็ออกมาพูดเรื่องความยั่งยืน เรื่องสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าถ้าคนรุ่นใหม่ออกมาพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น และใช้ภาษาของตัวเอง มีวิธีการสื่อสารของตัวเอง  อันนี้เป็นจุดแข็งของเขาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่เราบางทีสื่อสารเป็นวิชาการไป การเข้าถึงก็จำกัด เราเห็นพวกเขาสื่อสารง่ายๆ ใช้อินโฟกราฟฟิกน่ารักๆ อธิบายว่าเมล็ดพันธุ์แพงจะทำให้อาหารในจานของทุกคนแพงได้อย่างไร ซึ่งน่าทึ่งมาก

ที่เห็นพลังคนรุ่นใหม่ได้ชัดเจนคือตอนแรก ลูกน้ำ-ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ทำแคมเปญคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ช่วงแรกแทบไม่มีคนมาลงชื่อเลยนะ แต่พอกระแสคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว ยอดลงชื่อในแคมเปญทะลุแสนในไม่กี่วัน ทวิตเตอร์มีเป็นล้าน จนปิดแคมเปญที่ราว 400,000 รายชื่อ พอคนคุยเรื่องนี้กันเยอะขึ้น สื่อต่างๆ ก็ต้องมามุง มาไล่ตามใช่ไหม สุดท้ายรัฐบาลที่ตอนแรกเตรียมจะดัน ยื่นจดหมายแสดงความจำนงของเข้าร่วม CPTPP อยู่แล้วก็ต้องชะงักไปก่อน

เห็นเลยนะว่ารัฐบาลกลัวอะไร รัฐบาลกลัวว่าคนรุ่นใหม่จะมารวมกับพวกเรา หากคนรุ่นใหม่  ซึ่งมีพลังเสริมจากสายการเคลื่อนไหว จากพรรคฝ่ายค้าน  จากกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มสิ่งแวดล้อม อะไรก็ตามแต่ อะไรที่เราไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น เช่น การที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัย พร้อมกับตัวแทนของสามองค์กรภาคเอกชน มานั่งประชุมกับ FTA Watch ที่สำนักงานของไบโอไทยหลังมีกระแส #NoCPTPP

เมื่อปีที่แล้วตอนที่มีการจัดประชุม APEC มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ที่บอกว่า BCG Model คือการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ นี่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ยังสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเกษตรและด้านอาหารอยู่ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้

ประเด็นเรื่องเกษตรและความมั่นคงทางอาหารดูเหมือนจะอยู่ในกระแสสังคมเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการคัดค้าน CPTPP ตอนที่มีม็อบต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ ประเด็น CPTPP ก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเรื่อยๆ มันสะท้อนว่าประชาชนจำนวนมากไม่ไว้ใจกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลชุดนี้

พอมาถึงเรื่อง BCG ที่ผลักดันในเวที APEC มีแนวคิดที่พูดถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว ถ้าไปดูต่างประเทศมันก็คล้ายๆ green economy นั่นแหละ แต่ที่เราใช้ BCG เพราะว่าพอมี Biodiversity มันขายได้อยู่แล้ว แต่ว่า C-Circular ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนมันมาตอบโจทย์ของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาล เราเลยเห็นมิตรผล (อีกแล้ว) มานั่งเป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ด้วย

ไปดูองค์ประกอบของกรรมการชุดนี้กับชุดสานพลังประชารัฐก่อนหน้าโน้น เหมือนกันเลยนะ มีกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ กลุ่มน้ำตาล และกลุ่มมันสำปะหลัง เข้ามาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน ก็คือมันเป็นเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม เอาผลิตผลพลอยได้ (by product) เข้ามาใช้ยกระดับเรื่องราคา จุดยืนของเราไม่ได้ต่อต้านเรื่องนี้ BCG ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะทำ แต่ว่าพอมาดูในรายละเอียดมันมีประเด็นที่ไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องมากๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวในช่วง APEC เช่น แผนที่จะทำเรื่องลดการปล่อยคาร์บอน สิ่งที่เขาจะทำจริงๆ ก็คือการให้บริษัทเอกชน รวมทั้งบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ไปใช้พื้นที่ของรัฐในการปลูกป่า แล้วก็ได้สิทธิในการขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งได้สิทธิที่คาร์บอนเครดิตนั้นจะถูกนำไปหักลบกับการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมตัวเองได้ด้วย มันกลายเป็นว่าคุณไปแย่งชิงทรัพยากรของรัฐ และถ้าไปดูพื้นที่ที่เขาจะอนุมัติให้มีการปลูกป่าในเชิงพาณิชย์เพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้เอกชนดำเนินการได้ เป็นป่าที่มีคนยากคนจนอาศัยอยู่  ซึ่งเชื่อมโยงกับความล้มเหลวของการปฏิรูปที่ดินในปัจจุบันรวมอยู่ด้วย การทำเช่นนั้นจึงเท่ากับการแย่งชิงทรัพยากรของคนจนไปให้กลุ่มทุนนั่นเอง

การพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียวแบบนี้ ฉากหน้าก็บอกว่ามุ่งมั่นจะลดการปล่อยคาร์บอน แต่การลดที่ว่านี้กลับเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถดำเนินธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนได้ต่อไป และยังได้สิทธิประโยชน์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐไปพร้อมกัน

ประเด็นที่พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนเกษตรกรรมแบบเดิมไปสู่เกษตรกรรมแบบใหม่ นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เราไปดูคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องนี้สิ มันเป็นกลุ่มทุนอาหารสัตว์ กลุ่มทุนมันสำปะหลัง และน้ำตาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเดินหน้าระบบเกษตรเชิงเดี่ยวต่อ  ไม่พูดสักคำเรื่องเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เราไปสแกนในเนื้อหายุทธศาสตร์ BCG กับแผนปฏิบัติการ แทบไม่มีสักคำไหนที่พูดถึงเกษตรกรรมเชิงนิเวศพวกนี้เลย กลายเป็นว่า BCG เป็นวาทกรรมเพื่อสนับสนุนระบบอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดกับรัฐให้ดำเนินต่อไปได้ ก็ไม่แตกต่างกับการที่เขาสร้างยุทธศาสตร์ 4 พืชเศรษฐกิจของคสช. ที่ในที่สุดแล้วก็ไปขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพด แล้วเกิดปัญหาฝุ่นพิษ และอื่นๆตามมา

สุดท้ายนี้ สำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึง ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน คุณมีความคาดหวังอย่างไรบ้าง การต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภายังเชื่อมั่นได้แค่ไหน

ในความเห็นผม ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างนโยบายที่มาจากประชาชน เราอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมานาน นี่คือช่วงเปลี่ยนผ่านการอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม ไปสู่การสถาปนาระบบที่ประชาชนมีสิทธิและเสียงมากขึ้น เพื่อคะคานกับระบบราชการ แม้จะต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุดที่เราเห็นว่าในช่วง 8 ปีของรัฐบาลทหารซึ่งหลายคนไม่คิดว่ามันจะกลับมาอีก แต่ดันกลับมาอีกหน ได้ทำให้คนจำนวนมากตาสว่างว่า ท้ายที่สุดแล้วระบบที่แย่ที่สุดคือระบบที่ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่ได้เลือกคนที่อยากให้เป็นตัวแทนของเรา ซึ่งพอไม่ได้มาจากประชาชน ก็ทำให้รัฐบาลไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่อยู่ได้จากการพึ่งพิงในระบบราชการและระบบอำนาจเดิม และอยู่โดยการสนับสนุนของกลุ่มทุนผูกขาดด้วย

จากประสบการณ์พวกเราเองในการเคลื่อนไหว เรามองว่าการแสดงบทบาทของพรรคการเมืองจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เราสามารถปฏิรูประบบ และสามารถนำเสนอนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่หวัง แต่ขีดเส้นใต้เลยว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องใช้สถาบันและกลไกทางการเมืองพวกนี้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง อย่างงานของเราที่เกี่ยวกับนโยบายเรื่องเกษตร สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และระบบอาหาร เราจำเป็นจะต้องทำงานกับพรรคการเมือง

ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องแบนสามสารเคมี เราทึ่งกับบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรมาก หลังการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา ซึ่งมาจากพรรคการเมืองทุกพรรค เราเห็นได้ชัดเลยว่า เมื่อองค์ประกอบทางการเมืองมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตรวจสอบ และติดตามเรื่องนี้ มันสามารถสร้างเจตจำนงทางการเมืองขึ้นมาได้ในหมู่สมาชิกรัฐสภาหรือนักการเมือง

ยกตัวอย่างตอนที่ยกร่างข้อเสนอเรื่องแบนสามสารเคมี มีข้อเสนอหนึ่งที่เป็นข้อเสนอทางเลือกว่าเราอยากเห็นประเทศเป็นแบบไหน เขาก็ให้เกียรติผมในฐานะที่ทำงานเรื่องนี้มานาน ให้ลองนำเสนอดู ผมก็เสนอว่าอย่างน้อยที่สุดในช่วงปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมาย SDGs ของโลก เราอยากผลักดันระบบเกษตรยั่งยืนให้ได้ครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อรองรับเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบเกษตรดั้งเดิมมันไปไม่รอดแล้ว เห็นอยู่ว่ามันตอบสนองต่อเป้าหมายการขจัดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ได้ แข่งขันก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ ส.ส.หลายคนในกรรมาธิการว่าเขาไม่เห็นด้วยกับผม เราก็ใจแป้ว  แล้วพวกเขาตอบกลับมาว่าเขาอยากให้เปลี่ยนเกษตรกรรมไทยให้เป็นเกษตรกรรมยั่งยืน 100% เขาอยากเห็นสิ่งนี้ในช่วงชีวิตของเขา

เวลา 7 ปีข้างหน้าก่อนจะถึงเป้าหมาย SDGs ซึ่งหลายคนจะแก่ตัวมากไปยิ่งกว่านี้  รายงานของกรรมาธิการชุดนี้ก็มีเนื้อหาว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ใช้สารเคมีมาสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งมีความหมายกว้างไม่ใช่แค่เกษตรอินทรีย์เท่านั้น แต่เป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืน 100% ในปี 2030 มีเนื้อหาที่ระบุว่าแนวทางการปรับเปลี่ยนต้องทำอย่างไร มีเป้าหมายแบบขั้นบันได

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผมต้องการสะท้อนว่าถ้ามีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม นักการเมืองเขาก็พร้อมที่จะสร้างวิสัยทัศน์แบบที่เราไม่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าผมไปคุยถึงความฝันนี้กับคนในกระทรวงเกษตรฯ จะไม่มีทางเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะการผูกติดอยู่ในระบบราชการแบบเดิมๆ

ฉะนั้น เราเล็งเห็นได้ว่าการทำงานกับพรรคการเมืองเพื่อเสนอบางเรื่องที่เป็นเรื่องยาก อย่างเช่นเรื่อง PM 2.5 การควบคุมบทบาทของบริษัทเอกชนเพื่อให้มาแสดงความรับผิดชอบ การจัดการเรื่องการผูกขาดในระบบเกษตรและอาหาร การแบนสารเคมี หรือการสร้างระบบเฝ้าระวังเพื่อให้คนไทยปลอดภัยมากขึ้นจากการบริโภค การสร้างระบบตลาดซึ่งมากไปกว่าระบบค้าปลีกสมัยใหม่ การจัดการกับระบบค้าปลีกที่รวมศูนย์ สามารถสร้างขึ้นได้จากการผลักดันหรือการต่อรองกับพรรคการเมือง

อยากส่งเสียงไปถึงผู้คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เห็นว่านี่คือโอกาส และเป็นหน้าที่ด้วยที่จะต้องทำงานกับพรรคการเมือง เพราะไม่ใช่แค่การเสนอนโยบายแล้วจบ แต่กระบวนการที่เราคุยกับนักการเมือง เป็นกระบวนการทางสังคมที่จะทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนจริงๆ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save