fbpx
การเดินทางครั้งใหม่ของนกเสรี ‘วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์’

การเดินทางครั้งใหม่ของนกเสรี ‘วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์’

เมื่อครั้งที่ ‘วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์’ ตัดสินใจถอดหมวกผู้บริหาร อสมท ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เขาเปรียบเปรยตนเองว่าเหมือนนกเสรีได้ขยับปีกอีกครั้ง

ในฐานะคนข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนาน อาจไม่มีอะไรสนุกและสุขใจยิ่งไปกว่าการได้หยิบจับประเด็นมาบอกเล่า ตั้งคำถาม และวิเคราะห์เหตุการณ์ใหม่ๆ ของสังคมผ่านการสนทนากับผู้คนหลากหลาย วิสุทธิ์ตัดสินใจ ‘โผบิน’ ครั้งใหม่ในเส้นทางของสื่ออิสระ เพื่อทำงานโดยปราศจากข้อจำกัดมาถ่วงรั้ง

แต่การเดินทางครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน อะไรคือแรงผลักดันสำคัญ และจากประสบการณ์ที่เขาเก็บเกี่ยวจากการเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อและประธานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เขามีหลักคิดการทำงานสื่อแบบไหน

โลกของสื่อที่นกตัวนี้มองเห็นจากเส้นทางบินผ่านมาจะเป็นอย่างไร บรรทัดนับจากนี้ไปคือคำตอบ


พลิกบทบาทจากผู้บริหารสู่สื่ออิสระ


ชีวิตของผมเริ่มต้นจากการทำงานสื่อ แล้วมาเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อที่ทำทั้งเนื้อหาคอนเทนต์ ดูเรื่องกำไรขาดทุนอยู่หลายปี มาตอนนี้ผมวางงานบริหารทั้งหมด กลับมาทำงานสื่ออย่างเต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นสื่ออิสระที่ทุ่มเวลาให้กับการสร้างเนื้อหา คุยกับคนฟังคนดูโดยตรงผ่านวิทยุ ทีวี และออนไลน์ 

ผมเรียกว่าเป็นการเดินทางครั้งใหม่ของนกเสรีในวัยใกล้เกษียณ ก็รู้สึกท้าทายนะ ตัดสินใจอยู่พักหนึ่งเลยว่าจะเอาจริงหรือเปล่า วัยนี้ควรพักผ่อนแล้วไหม นี่มาเริ่มต้นครั้งใหม่ แต่ผมคิดว่าตัวเองสั่งสมประสบการณ์ บทเรียน ความรู้ในวิชาชีพมากพอจะก้าวเดินต่อไปได้ ถ้าลองแล้วล้มก็ลุก เจ็บก็รักษาสักพัก ผมเลยมาทดลองทำงานฟรีแลนซ์ได้เดือนสองเดือน ก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง  

ที่เรียกว่านกเสรี ผมหมายความตามนั้นจริงๆ เวลาอยู่ในองค์กร จะใหญ่หรือเล็กก็ล้วนมีสังกัด ต้องทำตามที่หัวหน้าหรือองค์กรสั่ง มันจะมีกรงบางอย่าง เช่น ห้ามเสนอข่าวบางเรื่องสำหรับบางสื่อ หรือต้องโจมตีคนคนนี้ องค์กรนี้ ยิ่งสื่อยุคนี้ซับซ้อนมากขึ้น บางสื่อเลือกข้างชัดเจน ต่อให้คุณไม่อยากทำแต่ก็ต้องทำ ดังนั้นไม่ว่าอยู่องค์กรไหนก็เหมือนนกที่อยู่ในกรง อย่ากระนั้นเลย ผมแก่แล้ว ในวัยนี้ก็ขอออกจากกรงเถอะ ขอเป็นนกที่ไม่ต้องฟังสังกัดไหน ทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น

ตอนนี้บทบาทใหม่ของผม ผมทำรายการวิทยุอยู่ที่คลื่น 101 News&Talk อัปเดตข่าวและสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เป็นบุคคลในกระแส รู้ลึกรู้จริง ช่วงเที่ยงถึงบ่าย ห้าโมงเย็นก็ขึ้น 101 เป็นคอมเมนเตเตอร์ วิเคราะห์ประเด็นสังคมรอบด้านในรายการ คมวิสุทธิ์ กับวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

ส่วนสื่อออนไลน์ ผมทำรายการใหม่ของไทยพีบีเอส คือ The Active Talk จันทร์ถึงศุกร์ สามทุ่มถึงสี่ทุ่ม เป็นรายการทอล์กสบายๆ ลึก รอบด้าน แต่สนุก กันเอง เพิ่งเริ่มมาได้ไม่นาน เราเน้นเอาเรื่องยากมาย่อยให้ง่าย และคุยกับบุคคลที่น่าสนใจ มีสีสัน ตอนนี้นอกจากเป็นรายการออนไลน์บนเฟซบุ๊ก พอจบรายการแล้วเราย้ายไปคุยต่อบน ClubHouse ก็มี สนุกสนานมาก

อีกรายการหนึ่งเป็นรายการทีวีชื่อ คุยให้คิด เป็นรายการที่คนข่าวรุ่นเก๋า ทั้งสุทธิชัย หยุ่น วีระ ธีรภัทร กับผมมาคุยด้วยกัน ที่จริงเคยทำมาก่อนในชื่อรายการคุยรอบทิศ เป็นรายการที่ฮิตติดตลาดมาก แต่ย้ายจากช่อง 9 มาเริ่มใหม่ที่ไทยพีบีเอสทุกวันเสาร์


ผู้นำองค์กร vs คนทำงานสื่อ


ถ้าเราเป็นคนทำงานสื่อ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหน นักข่าว บก. รีไรท์เตอร์ ช่างภาพ คนสัมภาษณ์ ฯลฯ เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้มีคนดู มีคนฟัง ติดตาม วิจารณ์ ซึ่งก็จะเน้นหนักไปที่เนื้อหา วิธีการนำเสนอ แต่เมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว สิ่งที่คุณต้องมองคือองค์รวมขององค์กร ของหน่วยงาน คำถามแรกของการเป็นผู้บริหารคือจะต้องทำอย่างไรให้องค์กรอยู่รอด หรือก็คือเรื่องกำไร

จริงๆ ผู้บริหารองค์กรสื่อในยุคนี้ไม่ค่อยต่างจากผู้บริหารธุรกิจอื่นๆ คือคิดเรื่องกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด แต่สิ่งที่เราต้องใส่ลงไปด้วยคือคนทำงานต้องมีความสุขที่สุด อันนี้เป็นหลักคิดง่ายๆ ที่สำคัญ และองค์กรสื่อไม่เหมือนธุรกิจอื่นที่ซื้อมาขายไป สื่ออาจต้องคิดเรื่องมีกำไร ขาดทุนน้อย ต้นทุนต่ำ แต่ก็ต้องคิดเรื่องคุณค่า ประโยชน์ต่อคนดู คนอ่าน คนฟังด้วย เพื่อให้คนสนับสนุน มีสปอนเซอร์เข้ามา ดังนั้นสื่อที่ดีต้องมีเรื่องดีมีสาระ สนุก และมีคุณค่าต่อสังคม ไม่เป็นพิษภัยต่อคนที่ตาม ไม่งั้นเขาไม่เรียกว่าสื่อ ผู้บริหารเองก็ต้องเข้ามาทำงานตรงนี้มากหน่อย จะเห็นว่าเวลาหมดไปกับเรื่องเหล่านี้เยอะ หลายคนพอเป็นผู้บริหารก็ไม่มีเวลามาจัดรายการหรือทำเนื้อหาต่างๆ

แต่ส่วนตัวผม อย่างไรก็ขอให้ได้ทำงานสื่อ ต่อให้ต้องบริหารอย่างไรก็ขอให้ได้มีเวลาไปจัดรายการ ทำคอนเทนต์ให้ได้ พอไม่มีเวลามาทำงานที่เราชอบก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกลาออกจากตำแหน่งผู้บริหาร ผมอยากทำงานบริหารให้ดีนะ แต่ก็ไม่อยากทิ้งงานสื่อเหมือนกัน พอมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร เขาอยากให้ผมดูงานอื่นๆ นอกเหนือจากความรับผิดชอบโดยตรงอย่างวิทยุ โทรทัศน์ ถ้าเลือกได้เลยขอเลือกเป็นคนข่าวดีกว่า 

การทำงานสื่อควบคู่งานบริหารก็ได้บทเรียนเหมือนกัน นอกจากเรื่องทำคอนเทนต์ให้ดี ให้คนติด ก็ได้เห็นมุมที่ต้องคิดเรื่องกำไรขาดทุน ต้องแก้ปัญหาเรื่องคน และการเป็นผู้บริหารทำให้เราได้มองเห็นอะไรตามความเป็นจริง บางทีการเป็นสื่อเราอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ใครก็ได้ ออกความเห็นอย่างไรก็ได้ แต่พอเป็นผู้บริหารแล้ว มันเป็นสิ่งที่ท้าทายว่าจะวางบทบาทอย่างไรต่อคนทุกฝ่าย



มองสื่อเก่าและใหม่ หัวใจของรายการข่าว


การทำงานสื่อผมว่าแตกต่างกันแค่รูปแบบ บนออนไลน์เราเน้นโปรดักชันไม่ใหญ่ รายการต้องคอนเทนต์แน่น แต่ไม่เครียด ง่าย มีสีสัน กันเอง แต่ถ้าเป็นทีวีจะมีความเป็นทางการมากกว่า ต้องทักทายผู้ชม แต่งหน้าแต่งตัวให้ดี ต้องระวังคำพูด ภาพสีหน้าที่อาจจะหลุด เพราะมีคนดูเยอะ เราก็อาจจะเกร็งนิดหน่อย ส่วนวิทยุก็แล้วแต่สไตล์รายการ

สำหรับผม หลักการทำงานทุกสื่อ คือข้อมูลต้องเป็นจริง รู้ลึก รอบด้าน และมีอารมณ์ขันสนุกสนาน

นี่เป็นมิติใหม่เหมือนกันสำหรับข่าว เมื่อก่อนเราดูข่าวแล้วอาจจะต้องซีเรียส เคร่งเครียด เพื่อให้คนตั้งใจฟัง แต่ยุคนี้ถ้าอยากให้คนฟังข่าวได้ต้องสนุกก่อน กันเองก่อน ถึงอย่างนั้นรายการข่าวก็ไม่ใช่รายการตลก หัวเราะได้ ยิ้มได้ สนุกสนานได้ แต่ไม่ใช่เล่าข่าวกลายเป็นโจ๊กเฮฮา ช่วงที่มีทีวีดิจิทัลใหม่ๆ คนกระโจนลงมาทำข่าวทีวีกันเยอะมาก บางคนก็เล่าเสียจนเตลิดเปิดเปิง ไม่ได้เอาสาระเป็นหลัก เอาคนที่ไม่เข้าใจในข่าวมาเล่นกันจนไม่มีคนดู ต้องเลิกกันไปหลายรายการ คือไม่ว่าอย่างไรข่าวต้องมีสาระเป็นหลัก ห้ามทิ้งเรื่องข้อมูล รู้ลึกรอบด้าน รู้มากกว่าคนอื่น แล้วค่อยเติมความสนุก


ความฝันของเด็กช่างสงสัย


ผมมีความฝันอยากเป็นคนข่าวตั้งแต่มัธยม สมัยเรียนผมอาจจะเป็นคนที่แก่เกินวัย ปกติเด็กๆ วัยนั้นมักจะติดเล่นกัน แต่ผมไม่ค่อยเล่น ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ทีวีก็ไม่ค่อยมีให้ดู ตอนเด็กๆ ยังต้องไปร้านค้าข้างๆ บ้าน ไปซื้อขนมเพื่อให้เขาเปิดทีวีให้ดู เผอิญเจ้าของร้านชอบดูข่าว เราเลยได้ดูตามนั้น ตอนฟังวิทยุเราก็ชอบฟังข่าว ฟังเพลงบ้างนิดหน่อย และเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบหาว่ามีหนังสืออะไรขายในกรุงเทพฯ ก็ไปสั่งซื้อให้ส่งไปรษณีย์มา

พอยิ่งอ่าน ยิ่งดู ยิ่งฟัง เราก็รู้สึกว่ามีหลายอย่างที่อยากรู้คำตอบ กลายเป็นมนุษย์ชอบตั้งคำถาม ขี้สงสัยจนเป็นนิสัย ตอนเรียนก็คิดว่ามีอาชีพอะไรบ้างที่ตอบโจทย์เราได้ สมัยก่อนคณะนิเทศศาสตร์ยังมีไม่มาก ผมอยากเรียนนิเทศฯ แต่ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเหมือนเด็กเดี๋ยวนี้ ก็อาศัยถามน้าๆ ลุงๆ ว่านิเทศศาสตร์ทำอะไร เขาบอกว่าเป็นดีเจ เปิดเพลง ทำหนังสือพิมพ์ เราก็คิดว่าไม่น่าใช่ เราอยากได้มากกว่านั้น แต่ถ้าเป็นคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่ดังๆ เราก็คงสอบไม่ติด เลยมองหาว่ามีวิชาไหนอีกบ้างที่เปิดโอกาสให้เราตั้งคำถามได้ พอรวมกับการที่เราสนใจการเมืองอยู่บ้าง เลยไปเข้าคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ปรากฏว่าพอไปอยู่แล้วก็ตอบโจทย์เรานะ เพราะเราได้ไปกิจกรรมอาสาสมัครบ้าง มีกลุ่มเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดบ้าง เช่น วันนี้มีข่าวอะไรเด่นก็นำมาถกกัน มีเรื่องที่น่าสนใจก็มาคุยกัน หรือประเด็นใกล้ตัวอย่าง มช.จะสร้างกระเช้าลอยฟ้าจากตีนดอยขึ้นไปบนดอย นักศึกษาก็ถกกันว่าควรจะมีหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราได้ขบคิด และเป็นสิ่งที่ผมได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนนิเทศศาสตร์

นอกจากนี้ ผมยังเริ่มตั้งคำถามเรื่องการเมืองมากขึ้น เช่น ทำไมนักการเมืองทำงานได้ไม่ตอบโจทย์ประชาชน จบออกมาเลยตั้งเป้าว่าจะเป็นนักข่าว แทนที่จะไปเป็นปลัดอำเภอ ทำงานเทศบาลเหมือนคนอื่นๆ ในสมัยนั้น จนในที่สุดก็ได้เข้าวงการข่าว ไปทำงานหนังสือพิมพ์ วิทยุ มีโทรทัศน์บ้าง และเคยได้ทำ podcast ด้วย เรียกว่าครบสูตร

ผมมองว่าวิชาสื่อมวลชนมีเสน่ห์ คุณไม่รู้เรื่องอะไรก็ไปถามคนเอาได้ อาชีพอื่นคุณทำไม่ได้นะ ถ้าคุณอยากคุยกับนายกฯ อยากคุยกับชาวนายากจน คนเป็นหนี้ล้นพ้นตัว ถ้าไม่ใช่นักข่าวทำไม่ได้หรอก แต่ต้องให้เกียรติแหล่งข่าวที่ถามด้วย และข้อดีของการทำงานสื่อมวลชนคือไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์ก็เป็นได้ ถ้าไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ทั้งหาด้วยตัวเองและหาผ่านคนอื่น คือถ้าจบโดยตรงได้ก็ดี จะได้เรียนรู้เทคนิค เครื่องมือต่างๆ แต่สิ่งสำคัญของนักข่าวสำหรับผมคือการใฝ่หาความรู้ การตั้งคำถาม โดยที่ถามตัวเองด้วยว่าสิ่งที่คุณนำเสนอ คนอ่านได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่คุณเขียน คนฟังได้อะไรจากสิ่งที่คุณเล่า คุณวิเคราะห์ทุกสิ่งอย่างโดยปราศจากอคติหรือเปล่า ใครก็เป็นสื่อได้ถ้ามีทักษะเหล่านี้ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอ และคิดถึงคุณค่าที่คุณนำเสนอต่อสังคม



งานของประธานสภาวิชาชีพสื่อ


ผมเคยทำงานเป็นประธานองค์กรวิชาชีพสื่อสององค์กร องค์กรแรกคือเป็นนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกว่าเป็นศูนย์กลางคนประกอบวิชาชีพสื่อที่เน้นเรื่องโทรทัศน์และวิทยุเยอะหน่อย เราดูแลเรื่องสิทธิและหน้าที่ของสื่อ เช่น ถ้าสื่อโดนรัฐคุกคาม เราก็ต้องออกมาปกป้องเสรีภาพของสื่อ เพื่อให้นักข่าวในสังกัดสามารถทำงานได้อย่างมีจริยธรรม

งานในองค์กรนี้ไม่ยากเท่าไร แต่ที่ยากคืองานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะเน้นดูเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณ ซึ่งมันจับต้องไม่ได้ชัด การตัดสินว่าอะไรถูกผิดจึงเป็นงานที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะช่วงสงครามเสื้อสี การตัดสินว่าสื่อละเมิดเส้นบางๆ ระหว่างเขียนข้อเท็จจริงกับเขียนเชียร์คนหรือไม่ การเขียนแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือรับเงินมา หรือกระทั่งการตัดสินว่าสื่อเขียนข้อมูลฝั่งเดียว พาดหัวข่าวให้คนหรือองค์กรเสียหายไหม เป็นสื่อเลือกข้างหรือเปล่ามันยาก ไม่มีอะไรชี้วัดได้แน่นอน แต่ก็มีความพยายามกันอยู่

บางเคสก็อาจจะเห็นได้ชัดว่าไม่เหมาะสม เช่น เคสการเสียชีวิตของปอ ทฤษฎี ที่มีภาพนักข่าวเข้าไปรุมถ่ายภาพ คนก็บอกว่าสื่อไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต สื่อบางคนอาจจะบอกว่าถ้าไม่ยื้อแย่งเข้าใกล้จะได้ภาพเหรอ หรือการถ่ายภาพผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ที่มาแถลงข่าว ไปเขียนข่าวว่าเขาผิด ประจานใบหน้า ทั้งๆ ที่ยังเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย พอมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นแต่ละครั้ง สื่อก็ต้องกลับมาคิดกันมากขึ้น บางเรื่องต้องพูดคุยกำหนดขึ้นมาใหม่ เพราะบางเรื่องนอกจากผิดจริยธรรมแล้วยังผิดกฎหมาย หรือจริงๆ ต่อให้ไม่ผิดกฎหมาย แต่คุณก็ต้องมีจรรยาบรรณ เช่น ไม่ควรนำเสนอชื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่อยู่ หรือชื่อพ่อแม่ก็ไม่ได้ มันเป็นสำนึกที่คนทำข่าว องค์กรข่าวต้องตระหนัก

แต่บางครั้งก็ยากตรงที่สภาวิชาชีพสื่อมีองค์กรต้นสังกัดนักข่าวเป็นสมาชิก ไม่ใช่ตัวบุคคลเหมือนสมาคมนักข่าวที่มีนักข่าวเป็นสมาชิกเอง เวลาสภาวิชาชีพต้องตัดสินว่าเคสไหนละเมิดจริยธรรมหรือไม่ละเมิดจึงเป็นงานหนัก เพราะบางองค์กรก็ไม่ยอม ยกตัวอย่างว่าผมเป็นเจ้าของสำนักข่าว นำเสนอข่าวแล้วมีคนบอกว่าละเมิดจริยธรรมนะ ก็ต้องมีกรรมการพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวเหมาะไม่เหมาะ ผมอาจจะไม่ยอม ไปล็อบบี้ หรือต่อรองว่าจะถอนตัวออกจากฐานะสมาชิก ฉะนั้นผมจึงคิดว่าหน้าที่ในตำแหน่งนี้ยาก เพราะมันเทาๆ ไปหมด เรื่องหนึ่งอาจจะผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม บางเรื่องไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม จะทำอย่างไรให้คนในวงการสื่อทั้งหมดมีสำนึกเรื่องความถูกต้องและจริยธรรมจรรยาบรรณในตัว


วิกฤตสื่อไทยในปัจจุบันกาล


วิกฤตสื่อสำหรับผม มองว่าจากจุดยืนของสื่อ ถ้าคุณทำงานออกสู่สายตาสาธารณชนแล้วไม่มีข้อเท็จจริง ไม่น่าเชื่อถือ รับใช้นายทุน นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลหรือใครสักคนแบบสุดโต่ง นั่นคือวิกฤตครับ เพราะคนจะไม่เชื่อถือสื่อ และถ้าสื่อหล่อเลี้ยงด้วยคนมีอิทธิพล เมื่อหมดอิทธิพลสื่อก็จะอยู่ไม่ได้

เรื่องที่สองที่เป็นวิกฤตสื่อ คือตอนนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็ทำได้สารพัด ผมว่าอาจจะต้องแยกแยะนิดนึงระหว่างสื่ออาชีพกับสื่อสมัครเล่นหรือคนที่ใช้สื่อในมือ ผมไม่ได้โจมตีนะ แต่สื่อวิชาชีพที่มีรายได้เงินเดือน เลี้ยงชีพด้วยการทำสื่อ ผมมองว่าข้อมูลยังได้ผ่านการกลั่นกรองก่อนเผยแพร่ แต่สำหรับคนอื่น ข้อมูลที่ออกมาอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องแยกให้ออกและเข้าใจ

อีกวิกฤตหนึ่งในตอนนี้คือการอยู่ได้ อยู่รอดขององค์กรสื่อ พอเจอเรื่องเศรษฐกิจแย่ โควิด-19 กระหน่ำ เมื่อก่อนธุรกิจสื่อกำไรมหาศาล มาตอนนี้ก็ขาดทุน เจ๊ง อยู่ไม่ได้ โละพนักงาน เป็นธรรมดา แต่ที่มากไปกว่านั้นคือพอเกิดวิกฤตเรื่องรายได้ ก็มีนายทุนเข้ามาซื้อสื่อทำสื่อ ซึ่งบางคนอาจไม่ได้ทำด้วยใจรัก แต่ทำเพราะอย่างน้อยสื่อก็มีอิทธิพล คิดว่าทำสื่อไม่ต้องลงทุนมาก เป็นบริษัทเล็กๆ ในเครือเท่านั้น แล้วเอาโฆษณามาลงสื่อของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การนำเสนอเนื้อหาข่าวหรือประเด็นต่างๆ บิดเบี้ยวไปเพราะต้องตามใจนาย คนทำงานถึงไม่เห็นด้วยก็ต้องทำ ไม่งั้นจะตกงาน งานก็หาไม่ง่าย นี่เป็นวิกฤตใหญ่ที่ตามมากับวิกฤตเศรษฐกิจ พอสื่ออยู่ไม่ได้ คุณภาพของสื่อก็ได้รับผลกระทบด้วย ความเที่ยงตรง ชัดเจน มันก็บิดเบี้ยวไปในที่สุด

เรื่องการนำเสนอประเด็นการเมืองในตอนนี้ ผมยังไม่คิดว่าถึงขั้นวิกฤตสื่อนะ แต่สื่อเองก็ต้องกลับมาคิดว่าจะนำเสนออย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม สภาวะตอนนี้การเคลื่อนไหวของประชาชนอาจถูกปิดกั้น มีแต่ข่าวจากฝั่งรัฐค่อนข้างเยอะ แต่เพราะสังคมปัจจุบันมีช่องทางเสพสื่อได้หลากหลายขึ้น ดังนั้นปริมาณการนำเสนออาจเป็นปัญหา แต่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่สุด ผมมองว่าบางครั้งสื่อไม่ได้ไม่นำเสนอนะ แต่นำเสนอแบบเลือกข้าง เพราะสื่อแข่งกัน คนเลือกเสพสื่อแต่ที่ตัวเองชอบด้วย 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่สื่อหลักไม่นำเสนอบางประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ข้อเรียกร้องของการชุมนุมภาคประชาชนบางข้อ ผมก็คิดว่าถ้าคุณเป็นสื่อจริง คุณควรจะนำเสนอ มันนำเสนอด้วยวิธีการที่เป็นมืออาชีพได้ เป็นไปได้ไหมที่สื่อทุกสื่อจะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปได้ที่คนเสพสื่อจะฟังข้อมูลทั้งสองด้านแล้วตัดสินใจเอาเอง เราไม่ได้ชี้นำ

อย่างไรก็ตาม เรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับผมตอนนี้เป็นเรื่องการบิดข่าว บิดเบือนข้อมูล ใส่ความเท็จบนความจริงเพราะรู้ว่ามีคนชอบ มีคนเสพข่าวเท็จใส่ไข่ ผมว่าเรื่องนี้ต้องช่วยกันทั้งคนทำสื่อ คนเสพสื่อ องค์กร นักวิชาการและภาคประชาชนทั่วไป ช่วยๆ กันสะท้อนเสียงเพื่อช่วยให้ข้อมูลข่าวสารเป็นจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้



ความสุขของคนข่าวรุ่นเก๋า


อาชีพสื่อแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือยิ่งแก่ยิ่งเก๋านะ แวดวงวิชาชีพสื่อมีทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และรุ่นเก่า ซึ่งถ้าเป็นอาชีพอื่นๆ คนรุ่นเก่าต้องปลดระวางเพราะมีคนรุ่นใหม่มาแทนที่ แต่อาชีพสื่อเป็นข้อยกเว้น ถ้าคุณมีเรี่ยวมีแรง ยิ่งเก๋าก็ยิ่งข้อมูลแน่น ลูกเล่นลีลาเยอะกว่า คอนเนคชั่นรู้จักคนเยอะกว่า ผ่านโลกมาเยอะกว่า เห็นแง่มุมในการวิเคราะห์มากกว่าคนที่มีประสบการณ์น้อย

ถ้าคุณเก่งจริง รู้จริง มั่นใจว่าคนอื่นเลียนแบบคุณไม่ได้ คุณก็ยังทำงานสื่อได้เรื่อยๆ ยกตัวอย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น เด็กรุ่นใหม่มีใครไม่รู้จักบ้าง อายุ 70 กว่าแล้ว แต่อยู่ในวงการได้ ทำทั้งสื่อออนไลน์ ทีวี Podcast นี่แหละคนอายุมากที่เก๋าพอเป็นสื่อตัวอย่างได้

ส่วนตัวผม ผมคิดว่าการเป็นสื่อมันอยู่ในสายเลือดตัวเอง คนที่อยู่ในแวดวงนี้ต่อให้ไม่มีสังกัด แต่แค่คุณมีโซเชียลมีเดีย ได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารความรู้มุมคิด คุณจะมีความสุขมากถ้ามีคนมาตามคุณ จะเห็นด้วยเห็นต่างไม่เป็นไร แค่ทำประโยชน์ให้สังคมได้โดยความรู้ที่เรามี พอคิดแบบนี้คนทำงานสื่ออย่างผมก็ไม่อยากเกษียณตัวเองไว ออกจะมีความสุขด้วยซ้ำไป



หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ  PRESSCAST EP.16 : การเดินทางครั้งใหม่ของนกเสรี ‘วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save