fbpx
อภิปรายไม่ไว้วางใจ (ภาคต่อ) กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

อภิปรายไม่ไว้วางใจ (ภาคต่อ) กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

การอภิปรายเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่มีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 เกิดขึ้นอย่างท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน ตัวเลขงบประมาณที่สวนทางกับความบอบช้ำจากโรคระบาด ทำให้เรื่องงบประมาณ 65 กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมขณะนี้

วัคซีนจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้หรือไม่ รัฐบาลจะพาประเทศก้าวผ่านวิกฤติทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปได้อย่างไร ความสมเหตุสมผลของงบประมาณปี 65 ที่จะช่วยรับมือกับการระบาดของโควิดมีมากน้อยเพียงใด

สนทนานอกสภากับกับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ว่าด้วยการจัดการด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ไปจนถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่กำลังถูกจับตา

YouTube video

:: วัคซีนล่าช้า เสี่ยงต่อภูมิคุ้มกันหมู่ที่ล่าช้า ::

ณ วันนี้ รัฐบาลมีท่าทีจริงจังในเรื่องการกระจายความเสี่ยงวัคซีนมากขึ้นกว่าตอนที่อภิปรายไปในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ยังรู้สึกว่าการนำเข้าวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า และตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่วัคซีนบางตัวได้รับการอนุมัติและนำเข้าอย่างรวดเร็ว แต่ทำไมวัคซีนอื่นๆ อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ถึงเกิดความล่าช้า ทั้งที่ถ้าจะทำให้เร็วก็ทำได้ อย่างเช่นวัคซีนของซิโนฟาร์มที่ใช้เวลาไม่นานในการผ่านอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.)

ความล่าช้าในการนำเข้าและกระจายวัคซีนที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ประเทศไทยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า ขณะนี้ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ขณะที่บางคนอาจได้รับแล้วครบ 2 เข็ม ตอนนี้อาจยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าเมื่อฉีดครบแล้วภูมิจะอยู่ได้นานขนาดไหน แต่ถึงอย่างไรเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จำเป็นต้องได้รับการบูสต์ด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 แต่ถ้าหากกระบวนการนำเข้าและกระจายวัคซีนยังคงล่าช้าอยู่ และคนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ได้รับเข็มที่ 3 ล่าช้าหรือไม่ได้รับ ก็เสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันจะหายจนมีสิทธิกลับมาติดเชื้อได้อีก กลายเป็นปัญหางูกินหาง

ท้ายสุดแล้ว หากประเทศไทยไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ทันท่วงทีและยังเต็มไปด้วยการติดเชื้อที่สูง ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาสาธารณสุข แต่ยังเชื่อมโยงถึงปัญหาเศรษฐกิจ เพราะไม่สามารถเปิดเมืองให้เกิดการท่องเที่ยวได้ ธุรกิจไม่กล้ากลับมาดำเนินการ สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะประสบภาวะชะงักงัน จะตายก็ไม่ตาย จะโตก็ไม่โต

:: การจัดสรรวัคซีนสับสนงงงวย ::

การปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นอาจต้องรอดูอีกระยะหนึ่งว่าจะราบรื่นหรือไม่ แต่ก็มีปัญหาที่พบคือมีการนัดหมายคนฉีดวัคซีนที่เกินกว่าโควต้าที่ได้รับการจัดสรร หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ปัญหาจะหมักหมมเป็นดินพอกหางหมู

ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คือแผนการส่งมอบวัคซีนที่ยังสับสนงงงวย เพราะขนาดโรงพยาบาลที่เป็นจุดฉีดวัคซีนเองยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะได้รับวัคซีนตอนไหนและจำนวนเท่าไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางการเอาระบบการจองคิวฉีดวัคซีนมาใช้เป็นตัวกำหนดการจัดสรรและกระจายวัคซีนลงไปแต่ละพื้นที่ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะบางจังหวัดใช้การกวาดต้อนรายชื่อ บางจังหวัดก็ใช้การข่มขู่ทางกฎหมาย ทำให้เกิดยอดจองฉีดวัคซีนที่เป็นอุปสงค์เทียม และเมื่อเอายอดนั้นมากำหนดการกระจาย จึงเกิดคำถามและข้อสังเกตว่า ทำไมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มได้วัคซีนน้อยกว่าบางจังหวัดที่การระบาดยังไม่หนัก

ในทางปฏิบัติ เราควรกระจายวัคซีนอย่างมียุทธศาสตร์ โดยดูจากดัชนีการระบาดของพื้นที่นั้น เช่น จำนวนเตียงว่าง จำนวนห้องไอซียู สถิติการเจ็บป่วย จำนวนชุมชนแออัด และความหนาแน่นของประชากร ถ้าพบว่าดัชนีเสี่ยงสูงก็ต้องกระจายวัคซีนไปมาก

:: รัฐต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ::

รัฐบาลชุดนี้มีศูนย์จัดการข่าวลือ แต่การจัดการข่าวลือไม่ควรเป็นการไล่จับประชาชนที่แชร์ข่าวลือ แต่ควรจัดการคนที่มีเจตนาปล่อยข่าวลือนั้นมากกว่า ที่ประชาชนปล่อยข่าวลือเป็นเพราะเขาเกิดกังวล อยากแจ้งข้อมูลให้คนที่เขารัก เนื่องจากข่าวสารจากรัฐไม่มีคนได้เสพมากเพียงพอ ถ้ามีข่าวรัฐมากเพียงพอ ข่าวลือจะไม่เกิด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีข่าวลือ ถ้าประชาชนที่รับทราบข่าวจากรัฐมีมากกว่า ก็จะเอาข่าวรัฐนั้นไปโต้เถียงกับคนที่ปล่อยข่าวลือได้

รัฐต้องมองตัวเองว่าทำไมถึงได้มีปัญหาข่าวลือเยอะ ซึ่งรัฐในประเทศที่เจริญแล้วจะไม่โทษประชาชน แต่จะมองมาที่ตัวเองว่าเขาทำอะไรบกพร่องหรือเปล่า ข่าวรัฐมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าลองดูที่ต่างประเทศ อย่างนิวยอร์กหรือแมนฮัตตันของสหรัฐฯ เขามีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลมาก แจ้งแม้กระทั่งเรื่องการเงิน ว่านำเอางบประมาณไปใช้กับอะไรบ้าง รวมถึงแจ้งอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่เจอทั้งหมดจากการฉีดวัคซีน

สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบการดูแลประชาชนหลังได้รับวัคซีน แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นรัฐบาลเปิดเผยว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร จะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร อย่างน้อยที่สุดควรเปิดเผยสต็อกยาที่จะต้องใช้ดูแลในกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรง ซึ่งเรามีข้อติติงต่อรัฐบาลในประเด็นนี้พอสมควร

อีกเรื่องที่มีปัญหาก็คือการทำสัญญาซื้อขายวัคซีน ซึ่งประชาชนก็อยากรู้ว่ามีข้อกำหนดอย่างไรในสัญญาบ้าง อย่างเช่น ถ้าบริษัทไหนจัดหาและส่งวัคซีนให้เราไม่ทันเวลา จะต้องรับผิดชอบอย่างไร ถ้าเป็นประเทศในแถบยุโรป ข้อมูลเหล่านี้สามารถเปิดเผยได้ ถึงขั้นที่ประชาชนสามารถเข้าไปโหลดไฟล์เอกสารในเว็บไซต์ได้เลย นี่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงอะไรขนาดนั้น

    

:: งบประมาณไร้สามัญสำนึก ::

หลังได้อ่านร่างงบประมาณก่อนเตรียมการอภิปราย ผมรู้สึกว่าเป็นงบที่ไม่มีสามัญสำนึกเลย เพราะงบของหน่วยงานที่รับมือกับการสกัดกั้นระบาดของโควิดอย่างกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงงบที่ใช้สำหรับการจัดการความเหลื่อมล้ำของสังคมที่เพิ่มขึ้น อย่างงบด้านการศึกษา งบสำหรับเด็กด้อยโอกาส กลับถูกตัดงบไป ที่ซ้ำร้ายคืองบถูกตัดไปมากกว่างบประมาณปี 2562 ที่ยังไม่เจอโควิด

ในส่วนงบกลาโหม ถึงแม้รัฐจะบอกว่าตัดแล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าดีแล้ว ตราบใดที่ยังมีงบไร้สามัญสำนึกซุกซ่อนอยู่ และอธิบายกับประชาชนไม่ได้ โดยสามัญสำนึกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง ต้องปรับลดด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาด่า แต่ปรากฏว่างบส่วนนี้ก็ยังอยู่ จึงต้องบอกว่าเป็นงบที่ไร้สามัญสำนึก

ด้านงบสาธารณสุข ถ้าย้อนไปดู พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่จัดสรรให้งานด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท เราพบว่ามีการเบิกจ่ายแค่ 7,103 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ขณะที่การเบิกจ่ายเพื่อใช้ในส่วนที่จำเป็นหลายอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่นเครื่องช่วงหายใจ และการอัพเกรดสถานพยาบาล จึงเกิดคำถามต่อระบบราชการ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามต่อระบบราชการว่ามีระเบียบอะไรที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า

:: จัดทำงบประมาณ ต้องทำบนพื้นฐานความเป็นจริง ::

การจัดทำงบประมาณปีนี้ไม่ได้เอาสถานการณ์โควิดในปี 65 มาพิจารณา และไม่ได้จินตนาการในแง่ร้ายเลย ที่จริงแล้ว การจัดทำงบประมาณท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เราต้องจินตนาการไม่ใช่แค่กรณีที่เลวร้ายที่สุด แต่ต้องเลวร้ายที่สุดในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดด้วยซ้ำไป แต่พวกเขากลับจัดทำงบประมาณเหมือนไม่มีโควิดเกิดขึ้น

การจัดงบประมาณอย่างนี้ไม่เรียกว่า New Normal แต่เป็น Familiar Abnormal เหมือนรัฐบาลพยายามบังคับให้ประชาชนคุ้นชินกับสภาพที่ไม่ปกติ เหมือนกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่คนไทยรู้สึกแย่มากเมื่อเจอสถานการณ์ปีแรกๆ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ทำอะไรอย่างมีนัยสำคัญ จนสุดท้ายประชาชนอาจคุ้นชินกับสภาพที่ไม่ปกตินี้ไปเอง ซึ่งผมไม่ต้องการสภาพแบบนั้น ผมไม่ต้องการให้การที่ประชาชนตาย 30-40 คนต่อวันเป็นเรื่องยอมรับได้

เราต้องไม่คิดแบบทหาร อย่ามองเป็นตัวเลข นี่ไม่เหมือนเวลาออกรบที่คุณจะมาคำนวณว่ากองกำลังจะตายได้กี่คน สำหรับผม ชีวิตประชาชน ไม่มีมาก ไม่มีน้อย ไม่ควรมีใครสมควรตาย ในสถานการณ์ที่เขามีโอกาสที่จะไม่ตาย ถ้ารัฐลดการเสียชีวิตได้ รัฐบาลต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ให้ประชาชนยอมรับ

การจะทำให้ร่างงบประมาณนี้สอดรับกับอนาคตอันสั้นนี้ เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงของคณะกรรมาธิการ โดยไม่ได้แบ่งว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่ต้องร่วมมือกัน เราต้องหาทางคืนงบประมาณให้กับหน่วยงานที่มีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือศึกษาธิการ และต้องเรียกร้องให้กรรมาธิการตัดงบกองทัพให้มากกว่านี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save