fbpx
Winter Is Not Coming! : เมื่อโลกร้อนแผดเผาวงการแฟชั่นจนยอดตก!

Winter Is Not Coming! : เมื่อโลกร้อนแผดเผาวงการแฟชั่นจนยอดตก!

เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ใครคิดจะห่มเฟอร์หน้าหนาวไปเดินกลางสยามให้ดู ‘น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ไฮแฟชั่น’ คงจะต้องโดนมองแรงมิใช่น้อย แต่ในประเทศที่หนาวจริงหนาวจัง โลกแฟชั่นก็สร้างเสื้อผ้าสำหรับฤดูกาล Fall/Winter เอาไว้ให้ช็อปกันหนาวแบบเรียบหรูดูมีสไตล์

แต่หลังจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปีๆ จากภาวะโลกร้อน ไม่ใช่แค่หมีขั้วโลกที่ต้องร้องไห้เพราะไม่มีน้ำแข็งไว้ให้เกาะ เหล่าคนในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็กำลังเผชิญปัญหาหนักเช่นเดียวกัน

 

หกเดือนแรกของปี 2016 เป็นช่วงเวลาที่สถิติใหม่ของอุณหภูมิผิวโลกได้ถูกบันทึกไว้ องค์การนาซ่ารายงานว่านี่คือหกเดือนที่โลกร้อนขึ้นถึง 1.3 องศาเซลเซียส เทียบกับการวัดครั้งแรกเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19

ฤดูร้อนแสนยาวนาน กับหน้าหนาวที่รอแล้วรออีกก็ยังมาไม่ถึง (แถมมาแล้วก็ยังสั้นนิดเดียว) ทำให้สินค้าที่ยอดขายขึ้นอยู่กับการมาถึงของฤดูกาลอย่างอุตสาหกรรมแฟชั่นได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เห็นได้ชัดจากยอดขายเสื้อผ้าฤดูหนาวปลายปีที่ผ่านมาของบรรดาแบรนด์แฟชั่นทั้ง H&M, Uniqlo และ Gap ที่ลดลงจากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นในช่วงหน้าหนาว เมื่อคนไม่เห็นความจำเป็นจะต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ คอลเล็กชั่นใหม่ๆ จึงเหลือเต็มชั้นวางของ

ยอดขายลดยังไม่เท่าไหร่ แต่ห้างดังอย่าง Macy’s ถึงกับต้องเลย์ออฟพนักงานไปกว่า 4,500 ตำแหน่งเพราะยอดขายที่ลดลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึง 80% ในช่วงเทศกาลหยุดยาว ทั้งที่ตามปกติคนจะต้องออกมาช็อปเสื้อโค้ต สเว็ตเตอร์ ผ้าพันคอ และแอคเซสเซอรี่กันหนาวเก๋ๆ ที่ออกมาใหม่

แต่ปีที่ผ่านมา แฟชั่นแบรนด์ทั้งหลายได้แต่ยืนมองกองผ้าไม่เป็นเช่นเคย ฤดูหนาวไม่มีเธอ (มาช็อป)

ฝั่งดีมานด์จากผู้บริโภคว่าหนักแล้ว ซัพพลายในสายพานการผลิตของโลกแฟชั่นก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบรรดาแฟชั่นแบรนด์ไฮเอนด์ที่ต้องการวัตถุดิบคุณภาพสูง

รายงานผลการศึกษาของ Kering บริษัทแม่ของแบรนด์อย่าง Gucci, Balenciaga, Alexander McQueen ฯลฯ ที่ทำร่วมกับ Verisk Maplecroft บริษัทคอนซัลต์สัญชาติอังกฤษ ทำให้เราเห็นถึงภาวะขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตสินค้าแฟชั่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จากความแปรปรวนทางสภาพอากาศ อุทกภัย พายุ ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำ รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะทำให้คุณภาพวัตถุดิบลดลงจนอาจเกิดวิกฤติสำหรับสินค้าแฟชั่นไฮเอนด์

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือผลกระทบกับการปลูกฝ้าย วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตผ้าฝ้ายสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า ปกติแล้วปริมาณและคุณภาพของฝ้ายที่ผลิตได้จะขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน อุณหภูมิ และปริมาณน้ำ

ผลกระทบจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ในปี 2014 ผลผลิตฝ้ายในออสเตรเลียลดลงถึง 35% จากภาวะแล้ง ปี 2015 ในแคลิฟอร์เนียลดลง 26% จากปัญหาขาดแคลนน้ำ และในอนาคต ประเทศในแถบอเมริกาใต้และเอเชียที่ร้อนและแล้งขึ้นก็มีสิทธิ์ทำให้ปริมาณฝ้ายที่ใช้ได้ดีลดลงด้วย

ส่วนวัตถุดิบชนิดอื่นๆ ที่เราอาจไม่คิดว่าจะได้รับผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็เช่น หนังวัว หนังลูกแกะ ผ้าแคชเมียร์จากขนแพะ ฯลฯ ที่ความแล้งและอากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อการสภาพชีวิต การเติบโต และปริมาณอาหารที่อาจขาดแคลนจนการแปรสภาพเป็นวัตถุดิบได้ไม่เพียงพอ

 

แต่จะบอกว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นเหยื่อของภาวะโลกร้อนอย่างเดียวก็คงจะไม่ใช่ เพราะในขณะที่ตัวเองขายไม่ออกเพราะอากาศร้อนขึ้นๆ การผลิตเสื้อผ้านี่แหละที่เป็นหนึ่งในตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอน รั้งอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยตัวเลข 10% ของคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่บรรยากาศของโลก

สาเหตุมาจากกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่มาไวไปไว ผลิตกันให้คนซื้อแบบใส่ทิ้งขว้างก็ไม่ต้องไปเสียดาย ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเทอร์ในแต่ละปี ใช้ไปทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาร์เรล / ต้นไม้เกิน 70 ล้านต้นถูกตัดไปในแต่ละปีเพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นใยผ้าบางชนิด / เส้นใยบางชนิดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่ทำลายบรรยากาศรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 200 เท่า / ฯลฯ

ความรวดเร็วและเทคโนโลยีการผลิตทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตเสื้อผ้าออกมากว่า 150 ล้านชิ้น หากลองคำนวณดูแล้ว ทุกๆ คนบนโลกจะได้เสื้อผ้าใหม่คนละ 20 ชิ้นในทุกๆ ปี หากน้ำแข็งไม่ละลายจนน้ำท่วมโลกเหมือนในหนังธรรมชาติถล่มโลกมนุษย์ไปเสียก่อน

เมื่อเห็นกงเกวียนกำเกวียนอยู่ตรงหน้า แฟชั่นแบรนด์หลายรายจึงพยายามหาทางอยู่รอดและทางออกที่ยั่งยืนให้กับความร้อนของโลกที่กระทบกับธุรกิจโดยตรง

บ้างก็แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดตัวเสื้อผ้าแหวกปฏิทินโลกแฟชั่น จากที่ปกติเสื้อผ้าฤดูหนาวจะมีให้เลือกซื้อในฤดูร้อน เพื่อให้เหล่าแฟชั่นนิสต้าได้ซื้อไปกอดเล่นก่อนใส่ ก็เปลี่ยนมาเป็นรอให้ถึงฤดูนั้นแล้วค่อยเปิดตัวพร้อมขายเลยทีเดียว ตัดปัญหาขายไม่ออก หรือบางแบรนด์ก็แก้ปัญหาในกระบวนการผลิต เลือกชูจุดขายความอีโค่ เลือกใช้เส้นใยที่ดีต่อโลก ขายภาพลักษณ์ไปด้วย ช่วยโลกไปด้วยในเวลาเดียวกัน

แต่ถ้าให้เราลองเดาเล่นๆ โอกาสที่จะเห็นคอลเล็กชั่น ‘Warm Winter’ ออกมาเรียกเงินจากกระเป๋าเหล่าแฟชั่นนิสต้าในอนาคตอันใกล้ก็น่าจะเป็นไปได้สูง

หนาวแต่ร้อน… เรียบแต่โก้… ไฮแฟชั่น!

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ 2016 Climate Trends Continue to Break Records จาก NASA, July 19, 2016

-บทความ How climate change affects the luxury fashion industry ของ Simone Preuss จาก Fashion United, November 16, 2015

-บทความ Making Climate Change Fashionable – The Garment Industry Takes On Global Warming ของ James Conca จาก Forbes, Dec 3, 2015

-บทความ How Global Warming Is Already Changing The Fashion Industry ของ Mark Wilson จาก Fastcodesign, Jan 1, 2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save