fbpx
นิทรรศการศิลปะและชีวิตของ William Blake - Rebel, Radical, Revolutionary

นิทรรศการศิลปะและชีวิตของ William Blake – Rebel, Radical, Revolutionary

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ

 

Tyger Tyger, burning bright,

In the forests of the night;

What immortal hand or eye,

Could frame thy fearful _________ ?

 

พนันได้เลยว่าครั้งแรกที่เห็นกลอนบทนี้ ไม่มีใครเดาถูกว่าคำสุดท้ายคืออะไร

คำตอบคือ “symmetry” และพนันได้เช่นกันว่าเมื่อรู้คำตอบแล้ว คุณก็จะคับข้องใจกับกลอนนี้ต่อไปเพราะ “eye” ไม่สัมผัสคล้องจองกับคำว่า “symmetry” ดังเช่นผู้อ่านคนอื่นๆ และผู้ศึกษาวรรณคดีหลายยุคหลายสมัยที่อภิปรายและตีความกลอนบทนี้มานานกว่า 200 ปี นี่หรือคือบทกวี หรือว่าในสมัยนั้นสองคำนี้ออกเสียงคล้องจองกัน คนที่เรียกตัวเองว่ากวีควรแต่งกลอนโดยที่สัมผัสคล้องจองไม่ลงตัวอย่างนี้หรือ แล้วทำไม “Tyger” จึงสะกดอย่างนี้ แถมยังใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้ง 2 จุด แปลก แปลก และแปลก

กลอนบทนี้ชื่อ “The Tyger” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1794 ในหนังสือรวมบทกวีของ William Blake ชื่อ Songs of Experience ซึ่งต่อมามักพิมพ์ร่วมกับกลอนชุดที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้และใช้ชื่อว่า Songs of Innocence and of Experience

“The Tyger” นับว่าเป็นบทกวีของเบลกที่คนรู้จักมากที่สุด ในชั้นเรียนวรรณคดีมักสอนคู่กับ “The Lamb” เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะและภาพลักษณ์ของสัตว์ทั้งสองชนิดและเปรียบเทียบกลอนทั้งสองบท “The Lamb” ซึ่งเป็นตัวแทนของความอ่อนโยนและไร้เดียงสา ต่างจาก “The Tyger” ที่ดุร้าย แข็งแกร่ง และน่าเกรงขาม แต่ทว่าภาพเสือที่ประกอบกลอนบทนี้ไม่มีวี่แววดุร้ายแม้แต่น้อย กลับดูคล้ายสัตว์เลี้ยงหรือตัวการ์ตูนเสียด้วยซ้ำ

 

The Tyger
ที่มา : Online Collection ของ British Museum

 

กลอนสองบทนี้เป็นตัวอย่างซึ่งแสดงถึงปรัชญาและสไตล์ของเบลกได้อย่างดี เบลกเห็นคู่ตรงกันข้ามในธรรมชาติของสรรพสิ่งและจิตวิญญาณของมนุษย์ ความแตกต่างนี้ไม่ได้ขัดแย้งหรือต่อสู้กัน ไม่มีสิ่งใดดีกว่าหรือด้อยกว่า แต่อยู่คู่กัน มือที่สร้าง “The Lamb” ที่ไร้เดียงสา คือมือเดียวกันกับที่สร้าง “The Tyger” ที่น่าเกรงขาม

วิลเลียม เบลก (1757-1827) เป็นคน ‘แปลก’ แหวกแนว ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เขาเป็นกวีและศิลปิน แต่งกลอนและวาดภาพประกอบหนังสือด้วยตนเอง นอกจาก Songs of Innocence and of Experience ที่กล่าวถึงข้างต้น ตัวอย่างหนังสือที่เบลกเขียนและวาดภาพประกอบเอง ได้แก่ America a Prophecy, The First Book of Urizen, และ Jerusalem: The Emanation of the Giant Albion นอกจากนี้ เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักวาดภาพพิมพ์โลหะด้วยกรด (etching) ประกอบหนังสือของกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Divine Comedy ของ Dante Alighieri, Paradise Lost ของ John Milton, Eulogy Written in the Country Churchyard ของ Thomas Gray และ The Pilgrim’s Progress ของ John Bunyan

เบลกเข้าเรียนศิลปะที่ Royal Academy of Art ในลอนดอนปี 1779 แต่เขาไม่เหมาะกับสถาบันแห่งนั้น เพราะที่นั่นฝึกให้ศิลปินวาดภาพตามขนบของปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคเรเนสซองส์ เช่น ไมเคิลแองเจโล และราฟาเอล เขาไม่เห็นด้วยกับการสอนแบบนั้นและพยายามสร้างผลงานที่มีรูปแบบของตนเอง นอกจากนี้เขายังมองว่าศิลปินในราชบัณฑิตสถานเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มุ่งสร้างชื่อเสียงและหารายได้เป็นใหญ่ เบลกต้องการที่จะสร้างผลงานศิลปะที่เสนอภาพลักษณ์และข้อคิดเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน เขามักวาดภาพเกี่ยวกับฉากและตัวละครจากประวัติศาสตร์ วรรณคดีและคำภีร์ไบเบิล

 

 

Tate Britain จัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของเบลก ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2019 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 เล่าเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านผลงานกว่า 300 ชิ้น โดยจัดแบ่งเป็น 5 ห้อง ตามลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของเบลก แต่ละ ‘ห้อง’ ใช้สีผนังต่างกันเพื่อแยกโซนตามหัวข้อ คำว่า ‘ห้อง’ ในนิทรรศการนี้จึงไม่ใช่ผนังสี่ด้าน แต่หมายถึงโซนหรือพื้นที่ที่จัดแบ่งตามหัวข้อ แต่ละหัวข้อมีห้องย่อย 3-4 ห้อง เรียงตามลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของเบลก

 

William Blake ณ Tate London
ทางเข้าชมนิทรรศการ

 

ห้องแรก เล่าถึงชีวิตของเบลกในฐานะศิลปินหน้าใหม่และนักเรียนที่ Royal Academy of Arts มีการแสดงผลงานของเพื่อนร่วมรุ่นจาก Royal Academy of Arts และผลงานของเบลกที่แสดงถึงอิทธิพลจากประติมากรรมและจิตรกรรมแบบคลาสสิก ในช่วงต้น เขาวาดภาพด้วยหมึกและสีน้ำ มักเป็นรูปของวิญญาณหรือภาพจินตนาการ ยากที่จะตีความเรื่องราวและความหมาย รวมทั้งท่าทางของตัวละครในภาพ

ห้องที่ 2 เล่าถึงการทำงานหาเลี้ยงชีพของเบลกด้วยการทำแม่พิมพ์ภาพประกอบหนังสือ หรือที่เรียกว่า “engraving” เขาเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการพิมพ์ภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า “relief etching” ซึ่งช่วยให้พิมพ์ทั้งภาพและข้อความในหน้าเดียวกันได้ แม้ว่าเนื้อหาของภาพและบทกวีอาจไม่เกี่ยวข้องกัน เบลกเริ่มพิมพ์หนังสือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองในสมัยนั้น เช่น การปฏิวัติ เสรีภาพทางเพศ และการค้าทาส

นอกจากนี้นิทรรศการส่วนนี้ยังจัดแสดงผลงานของเบลกเทียบกับภาพพิมพ์ประกอบละคร King Lear ฝีมือของ Henri Fuseli ศิลปินชาวสวิสที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่เบลกชื่นชม ทั้งยังมีหลายหน้าจาก Songs of Innocence and Experience และ American A Prophecy ด้วย

 

หน้าปก American A Prophecy
หน้าปก American A Prophecy

 

ห้องที่ 3 เล่าถึงความสัมพันธ์ของเบลกกับผู้อุปถัมภ์ เช่น Rev. Joseph Thomas, Thomas Butt และ William Hayley ผู้ว่าจ้างให้เบลกวาดภาพประกอบผลงานของมิลตันและเชคสเปียร์ แม้ว่าผู้อุปถัมภ์เหล่านี้จะชื่นชอบผลงานและแนวคิดของเบลก ทั้งยังมอบความมั่นคงทางการเงินให้ แต่เบลกไม่ชอบการเป็นลูกจ้างและการชี้นำจากคนเหล่านี้ ความสัมพันธ์ของเขากับนายจ้างจึงไม่สู้ดีนัก เบลกมองว่าคนเหล่านี้ ‘ตาไม่ถึง’ และไม่ทราบซึ้งถึงอัจฉริยภาพที่แท้จริงของเขา ในนิทรรศการจัดแสดงภาพวาดใบหน้าของกวีชื่อดังก้องโลกอย่างมิลตัน ดันเต และเชคสเปียร์ ซึ่ง William Hayley จ้างให้เบลกวาดเพื่อนำไปประดับห้องหนังสือที่บ้านของเขา แต่เบลกเกลียดผลงานชุดนี้มาก

ห้องที่ 4 จำลองนิทรรศการแสดงผลงาน ‘เดี่ยว’ แบบ one-man show ของเบลกที่บ้านในโซโหในปี 1809 เขาโฆษณาว่าเป็นการนำเสนอศิลปะชั้นสูง “ศิลปะที่แท้จริง” ตามแบบราฟาเอล และดูเรอร์ ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจผิดๆ ตามแบบของรูเบนส์ เรมบรันต์ และทิเชียน ห้องจัดแสดงอยู่บนชั้นสองเหนือร้านถุงเท้าและเครื่องแต่งกายของน้องชายเขา

 

ห้องจำลองนิทรรศการ William Blake ปี 1809
ห้องจำลองนิทรรศการ ปี 1809

 

ผลงานที่น่าสนใจจากงานนิทรรศการปี 1809 ของเบลกคือภาพของพลเรือเอกโฮราชิโอ เนลสัน (ภาพชื่อ “The Spiritual Form of Nelson Guiding Leviathan”) และภาพของนายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ (“The Spiritual Form of Pitt Guiding Behemoth”) นำเสนอวีรบุรุษประจำชาติซึ่งเป็นผู้นำอังกฤษในสงครามกับฝรั่งเศสในรูปของเทพโบราณ เบลกมีความใฝ่ฝันทะเยอทะยานที่จะเห็นผลงานสองชิ้นนี้บนผนังตึกสูง 30 เมตร เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แด่วีรบุรุษทั้งสอง และต้องการได้รับความสนใจจากประชาชนและการสนับสนุนจากรัฐ เบลกมองว่าศิลปะสามารถมีบทบาททางการเมืองดังที่เขากล่าวใน Descriptive Catalogue ของงานนิทรรศการในครั้งนั้นว่า “The times require that every one should speak out boldly; England expects that every man should do his duty, in Arts, as well as in Arms, or in the Senate.” (ยุคสมัยของเราเรียกร้องให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็น อังกฤษคาดหวังให้ชายทุกคนทำหน้าที่ของตน ในงานศิลปะ เช่นเดียวกับในการสู้รบ หรือในสภา) แต่ทว่าเขาต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อรัฐและกษัตริย์ไม่สนับสนุนงานศิลปะ ศิลปินจำต้องทำงานฟรีแลนซ์และรับใช้ตลาด

ในห้องถัดไปของส่วนนี้ มีการฉายภาพของเนลสันและพิตต์แบบโคลสอัพ ขยายใหญ่เท่าขนาดที่เบลกเคยฝันไว้ แสดงให้เห็นทุกรายละเอียดของภาพ อีกฝั่งหนึ่งของห้องจำลองภาพวาดของเบลกบนฉากหลังแท่นบูชาในโบสถ์ตามที่เบลกเคยฝันอยากเห็นภาพ “fresco” ขนาดใหญ่ของเขาในโบสถ์

 

นิทรรศการ William Blake

 

เมื่อเรื่องราวชีวิตของเบลกดำเนินมาถึงจุดนี้ คนสมัยปัจจุบันที่ทราบถึงกิตติศัพท์ของเบลกคงคิดว่าเขามีชีวิตการงานที่รุ่งโรจน์ แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม ความฝันและความทะเยอทะยานของเขาไม่เป็นจริง นายจ้างก่อนหน้านี้ก็ทำให้เขาผิดหวัง ทั้งนิทรรศการในปี 1809 ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เบลกจึงเก็บตัวเงียบอยู่หลายปี แต่ในช่วงท้ายเขาได้รับกำลังใจจากเพื่อนกลุ่มใหม่และ ‘สาวก’ ที่เรียกว่ากลุ่ม “Ancients” ซึ่งชื่นชมผลงานของเขาและศึกษาเป็นแบบอย่าง เขาจึงกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

ห้องสุดท้ายแสดงผลงานช่วงท้ายๆ ของเบลก มีภาพประกอบส่วนหนึ่งจาก Divine Comedy ของดันเต โดยทั้งหมดในเล่มมี 120 ภาพและภาพพิมพ์อีก 7 แผ่น แต่ผลงานชุดนี้ยังไม่สมบูรณ์ ภาพในนิทรรศการแสดงถึงระดับความสมบูรณ์ของผลงาน บางภาพมีสีสันแต่บางภาพมีเพียงลายเส้นและรายละเอียดคร่าวๆ นอกจากนี้ยังมีชุดภาพประกอบหนังสือ The Pilgrim’s Progress ของ John Bunyan และ Jerusalem ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดในชีวิตเบลก

 

นิทรรศการ William Blake

 

นิทรรศการ William Blake
ภาพบรรยากาศภายในนิทรรศการ มีผู้เข้าชมจำนวนมาก เทียบกับห้องจัดแสดงถาวรซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี (ห้องแสดงผลงานของ Turner)

 

นิทรรศการ William Blake

 

นิทรรศการจบลงด้วยภาพสุดท้ายที่เบลกวาด นั่นคือภาพ “The Ancient of Days” ที่นำมาประกอบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ เบลกเคยกล่าวว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดของเขาและเป็นภาพดังที่สุดภาพหนึ่งของเขาเช่นกัน ในภาพคือ Urizen ตัวแทนของเหตุผลและกฎเกณฑ์ กำลังวัดขนาดโลกเบื้องล่างด้วยวงเวียนทอง การทำเช่นนี้เป็นภัยต่อเสรีภาพทางความคิด จินตนาการและความสร้างสรรค์

ภาพยูริเซนมีส่วนคล้ายกับภาพของนิวตัน นักวิทยาศาสตร์เอกของอังกฤษ นิวตันนั่งอยู่บนโขดหินตรงก้นบึ้งมหาสมุทร เบลกมองว่านิวตันไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของจักรวาลหากเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณของมนุษย์

 

นิทรรศการ William Blake ณ Tate Britain London

 

 

นิทรรศการผลงานของวิลเลียม เบลก แสดงให้เห็นศิลปินผู้ดิ้นรนกระเสือกกระสน ผจญปัญหาทางเศรษฐกิจ และต้องการการยอมรับในฐานะศิลปิน แสดงให้เห็นเบลกในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อปากท้องและงานศิลปะที่เขาเชื่อมั่น แม้ทะเยอทะยานหรือหลงตัวเองไปหน่อย ซึ่งเป็นธีมที่คนสมัยนี้ยังเชื่อมโยงได้ แม้ว่านิทรรศการนี้ใกล้จบลงแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเบลกจะกลับมาอีกในรูปแบบของงานนิทรรศการและอิทธิพลต่อศิลปินในปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save