fbpx
ย้อนอดีตเทรนด์ LGBTQ+ กับปรากฏการณ์ Will & Grace

ย้อนอดีตเทรนด์ LGBTQ+ กับปรากฏการณ์ Will & Grace

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ย้อนกลับไปในยุคเก้าศูนย์ แม้หลายคนจะคิดว่าเป็นยุคที่ ‘ก้าวหน้า’ พอสมควรในหลายด้าน รวมไปถึงเรื่องเพศในแวดวงวิชาการด้วย แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศแบบ ‘เมนสตรีม’ ต้องถือว่ายังไม่เปิดกว้างสักเท่าไหร่

ดังนั้น การถือกำเนิดขึ้นมาของ Will & Grace ซีรีส์แสนสนุกว่าด้วยความสัมพันธ์ของเกย์หนุ่มกับสาวสเตรท จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าย้อนกลับไปมองอย่างยิ่ง

Will & Grace เป็นซีรีส์แนวซิตคอมของ NBC ออกอากาศครั้งแรกในปี 1998 และกลายเป็นซีรีส์ฮิต ทำให้ได้สร้างต่อเนื่องยาวนานมาถึง 8 ซีซัน มาสิ้นสุดในปี 2006 แต่กระนั้น ในปัจจุบันก็มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนเกิดเป็นซีซันที่ 9 และ 10 ซึ่งก็เป็นที่ฮือฮาพอสมควร แต่ไม่ได้โด่งดังเป็นพลุแตกเหมือนในยุคเก้าศูนย์

สำหรับใครที่ไม่เคยดูหรืออยากลองดูซ้ำ ตอนนี้ Will & Grace มีฉายแบบสตรีมมิ่งอยู่ใน Netflix 8 ซีซันแรก ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูใหม่ เราจะเห็นอะไรหลายอย่างทีเดียว

ในปี 1997 ผู้สร้างสรรค์ Will & Grace คือ แม็กซ์​ มัตชนิค (Max Mutchnick) กับเดวิด โคฮาน (David Kohan) ซึ่งเคยร่วมงานกันในงานซิตคอมสั้นๆ เรื่อง Boston Common ในปี 1995 เกิดปิ๊งไอเดียอยากทำซิตคอมว่าด้วยชีวิตของคู่รักแบบรักต่างเพศ (heterosexual) สองคู่ กับอีกคู่หนึ่งเป็นความรักแบบไร้เพศสัมพันธ์ หรือ Platonic Love ของเกย์กับผู้หญิงที่เป็นสเตรท

พวกเขาไปนำเสนอกับประธานของช่อง NBC ในตอนนั้น คือวอร์เรน ลิตเติลฟิลด์ (Warren Littlefield) ซึ่งก็โชคดีมาก เพราะจังหวะในการนำเสนอประจวบเหมาะอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านั้น 15 ปี ลิตเติลฟิลด์เคยมีไอเดียจะทำซีรีส์ที่มี ‘ชื่อเล่น’ ว่า He’s gay, she’s straight เพื่อเสนอกับ NBC มาก่อน แต่ช่องไม่อนุมัติให้ทำ ด้วยเหตุผลที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ นั่นคือสังคมไม่น่าจะยอมรับได้

ดังนั้น พอเจอกับไอเดียของคนรุ่นใหม่ (ในขณะนั้น) ที่เหมือนกันเปี๊ยบกับไอเดียที่เขาเคยอยากทำ ลิตเติลฟิลด์จึงอนุมัติ และเสนอว่าให้ตัดคู่รักที่เป็นรักต่างเพศออกไปเสีย แล้วพุ่งเป้ามาที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกย์หนุ่มกับสาวสเตรทไปเลยตรงๆ

แม้จะมีประธานบริษัทสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าซีรีส์นี้จะผ่านฉลุย เพราะต้องส่งให้คณะกรรมการตัดสินเลือกอีกทีหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเงิน ว่าปล่อยออกไปแล้วจะสร้างเสียงฮือฮาในด้านบวกหรือลบออกมา

ต้องบอกว่า ในช่วงนั้น สังคมอเมริกัน (และที่จริงก็สังคมโลกด้วย) กำลังเริ่มตื่นตัวกับความหลากหลายทางเพศมากทีเดียว

ปี 1997 น่าจะถือได้ว่าเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของเรื่องนี้ เพราะเป็นปีที่มีหนังอย่าง My Best Friend’s Wedding ออกฉาย และเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ ทั้งที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ คือ รูเพิร์ต เอเวอเร็ต (Rupert Everett) ซึ่งตัวจริงของเขาก็เปิดเผยว่าเป็นเกย์ด้วย หนังเรื่องนี้เป็นโรแมนติกคอเมดี้ที่แม้จะมีพระเอกอย่าง เดอร์ม็อต มัลโรนีย์ (Dermot Mulroney) มานำแสดงคู่กับนางเอกอย่างจูเลีย โรเบิร์ตส์ (Julia Roberts) แต่คนที่ ‘ขโมยซีน’ (ทั้งที่มีซีนไม่มากนัก) ไปอย่างขาดลอย ก็คือเอเวอเร็ตผู้รับบทเพื่อนเกย์แสนหล่อเหลานั่นเอง

หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้มีเกย์เป็นนักแสดงนำ แต่ก็มีบทบาทสำคัญ และส่งบทบาทเกย์เข้าสู่หนังแบบเมนสตรีมเป็นเรื่องแรกๆ โดยที่ไม่ได้มีภาพของเกย์แบบเดิมๆ เช่น มีปัญหากับความรัก หรือเล่นบทตลกขบขัน

นอกจาก My Best Friend’s Wedding แล้ว ปี 1997 ยังเป็นปีที่นักแสดงสาวคนหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศตัวว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนด้วย แน่นอน — นักแสดงคนที่ว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอลเลน เดอเจนเนอเรส (Ellen DeGeneres) ซึ่งในตอนนั้นเธอเล่นซิตคอมเรื่องหนึ่งอยู่ คือซิตคอมเรื่อง Ellen

ในซิตคอมเรื่องนี้ ตัวละครชื่อ เอลเลน มอร์แกน (Ellen Morgan) ลุกขึ้นมา ‘คัมเอาต์’ หรือไม่ปกปิดเพศสภาพของตัวเองอีกต่อไป ซึ่งก็ปรากฏว่า เอลเลนทำให้การคัมเอาต์นี้เป็นทั้งของตัวละครและเป็นทั้งของตัวเธอเองไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งก็กลายเป็นข่าวใหญ่สนั่นวงการ เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน

ที่น่าสนใจก็คือ เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อขนานใหญ่ เกิดการโต้แย้งและตำหนิเธอ จนทำให้ในช่วงนั้น เอลเลนงานหดหาย และเธอถึงขั้นมีอาการซึมเศร้า แม่ของเอลเลนเองก็ตกใจกับการคัมเอาต์ แต่กระนั้นก็สนับสนุนลูกเป็นอย่างดี กว่าเอลเลนจะ ‘กลับ’ มาได้ ก็ต้องใช้เวลาพักหนึ่ง แต่กระนั้น นี่ก็เป็น ‘มูฟ’ สำคัญ ที่เป็นเสมือนฉากหลังให้กับกำเนิดของ Will & Grace

Will & Grace ออกอากาศตอนนำร่องครั้งแรกในวันที่ 21 กันยายน 1998 ท่ามกลางความใจหายใจคว่ำของ NBC ว่าจะถูกวิจารณ์จากสาธารณชนอย่างไรบ้าง แต่ปรากฏว่า ซีรีส์นี้ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรจากโฆษณา หรือถูกประณามจากกลุ่มคริสเตียนขวาจัดแต่อย่างใด ทั้งยังได้รับคำยกย่องชมเชยจากนักวิจารณ์ แถมยังมีเรตติ้งดีอีกด้วย

พอเป็นแบบนี้ ก็เลยมีการย้ายเวลาไปอยู่ในช่วงที่ดีขึ้น และส่งผลให้ Will & Grace ไปอยู่ใน 20 อันดับแรกของซีรีส์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในอเมริกาในซีซันปี 1998-1999 ซึ่งต้องบอกว่าช่วงนั้นมีซีรีส์แนวซิตคอมในอเมริกามากมาย การจะประสบความสำเร็จได้ขนาดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พอถึงซีซัน 2 Will & Grace ก็ยิ่งโด่งดังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งที่ช่วงนั้นมีซีรีส์ดังๆ อย่าง Seinfeld หรือ Frasier คอยเป็นคู่แข่งอยู่

ตัวละครหลักใน Will & Grace ได้แก่ วิล (Eric McCormack) และเกรซ (Debra Messing) กับ แจ็ค (Sean Hayes) และแคเรน (Megan Mullally) ผู้ชมไม่ได้ชื่นชอบแค่วิลกับเกรซเท่านั้น แต่ความนิยมในบทบาทของแจ็คกับแคเรนทำให้แอร์ไทม์ของทั้งคู่นี้มีมากพอๆ กับแอร์ไทม์ของวิลและเกรซเลย

 

 

มีการศึกษาวิจัย สำรวจ หรือวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมทางเพศใน Will & Grace ค่อนข้างมาก เช่น งานของ Evan Cooper จาก Ithaca College) เรื่อง Decoding Will And Grace: Mass Audience Reception of a Popular Network Situation Comedy ซึ่งไปดูว่าผู้ชมชื่นชอบบทบาทไหนบ้าง และอารมณ์ขันที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศนั้น มีการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปอย่างไร

งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คืองานชื่อ Gay Characters in Conventional Spaces: Will and Grace and the Situation Comedy Genre ของ Kathleen Battles และ Wendy Hilton-Morrow ที่ใช้ทั้งเฟมินิสม์และทฤษฎีเควียร์มาเป็นฐานในการตรวจสอบซีรีส์เรื่องนี้

ประเด็นที่งานสองชิ้นนี้พยายามจะศึกษา ก็คือเพราะเหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่พูดถึงกันในแวดวงเล็กๆ แคบๆ หรืออยู่ในตลาดแบบ Niche Market พอนำมา ‘จับคู่’ เข้ากับอารมณ์ขันใน Will & Grace ที่มีรูปแบบแบบเมนสตรีม (หรือ conventional) ถึงได้เป็นที่นิยมได้

ที่จริงแล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุมมาก เช่นการเปรียบเทียบ ‘ความเป็นเกย์’ ของวิลและแจ็ค ที่มีบุคลิกแตกต่างกัน แจ็คดูเป็นเกย์ตามแบบและเบ้าทั่วไป คือตลก มีอารมณ์ขัน แต่ก็ตื้นเขินและยอมรับความตื้นเขินของตัวเองได้ตลอดเวลา จนบางคนวิจารณ์ว่า ตัวละครแจ็คนี่แหละ ที่แสดงออกถึงความ ‘โฮโมโฟเบีย’ ของผู้กำกับและผู้เขียนบท ในขณะที่ตัวละครอย่างแคเรน ก็แสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) อย่างชัดเจนในหลายเรื่อง เมื่อนำเสนอโดยใช้อารมณ์ขัน ภาพที่ปรากฏออกมากลับดูหลักแหลมและเสียดสี จนไม่มีใครรู้สึกในแง่ลบ เพราะไม่ได้เสียดสีแบบมืดหม่น แต่เป็นการเสียดสีที่ตลก สว่าง และเข้ากันได้กับ ‘ความเมนสตรีม’ อย่างสูง

แม้สื่อฝ่ายซ้ายอย่าง The New Republic เคยวิพากษ์วิจารณ์ Will & Grace (ตอนที่กลับมาสร้างใหม่ในปี 2017) ว่าเป็นซีรีส์ที่หยิบเรื่อง LGBTQ+ มาเล่น แต่ไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความอยุติธรรมทางเพศในสังคมเลย นอกจากนี้ บทความนี้ยังบอกด้วยว่า บทของซีรีส์ไม่เคย ‘ล้ำเส้น’ มาตรฐานศีลธรรมใดๆ คือไม่ได้ท้าทายเพื่อให้คนดูได้ปลดแอกตัวเองออกไปจากกรอบคิดต่างๆ และถ้าจะมีการทำให้เรื่องเกย์เลสเบี้ยนใดๆ ดูเป็นเรื่องปกติ The New Republic บอกว่าซีรีส์นี้ทำเพียงแค่บอกว่าในสังคมมีเกย์อยู่จริงๆ เท่านั้น แต่ทำโดยการ ‘พราง’ ไว้ใต้ ‘ความขาว’ (Whiteness) (คือมีแต่ตัวละครที่เป็นคนผิวขาว) การใช้จ่ายเงิน และเสื้อผ้ากับการแต่งบ้านสวยๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราติดตามซีรีส์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบซีซัน 8 เราจะเห็นได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงจุดโฟกัสของเรื่องไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและการยอมรับของสังคม เช่นในซีซันแรกๆ ซีรีส์จะโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างวิลกับเกรซมากหน่อย แต่ในตอนหลังๆ เมื่อสังคมเปิดกว้างกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น บทบาทระหว่าววิลกับแจ็คก็เพิ่มมากขึ้น วิลที่เคยมี ‘ความเป็นชาย’ (Masculinity) สูง ในตอนหลังๆ บทบาทก็เปิดให้เขาโอบรับความเป็นเกย์ (Gayness) มากขึ้น

แล้วไม่ใช่แค่เรื่องความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ถูกหยิบยกมาเล่น เกรซเองก็ ‘เล่น’ กับ ‘เส้น’ ในเรื่องเพศด้วยเหมือนกัน เช่น เธอเป็นผู้หญิงสเตรทที่ชอบไปบาร์เกย์ ชอบดูหนังโป๊เกย์ และเปิดเผยเรื่องเพศกับเพื่อนสนิทและสามีที่เธอแต่งงานด้วยในซีซันหลังๆ อย่างไม่อำพรางเหนียมอายใดๆ

หรือกับแคเรนซึ่งตอนแรกก็วางบทบาทให้เธอเป็นสเตรท แต่อยู่ไปอยู่มา เธอกลับมีความ ‘ข้ีเล่น’ ในทางเพศ (Kinkiness) มากขึ้นเรื่อยๆ จนอยากแลกลิ้นหรือสำรวจความสัมพันธ์ใหม่ๆ ทั้งกับชายและหญิง รวมไปถึงคนในเชื้อชาติต่างๆ เช่น คนเม็กซิกัน คนผิวดำ ฯลฯ ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็ทำให้เห็นว่ามีการ ‘เลื่อน’ (Shift) ของกรอบคิดในการนำเสนอซีรีส์นี้ไม่น้อย และทำให้ตัวละครอย่างแคเรน มีความเป็นเควียร์สูงกว่าตัวละครอื่นๆ

หนึ่งปีหลังจาก Will & Grace ออกฉาย ก็เกิดปรากฏการณ์ลือลั่นสนั่นวงการซีรีส์เมนสตรีมขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าใครเกิดทัน อาจพอจำได้ว่า คนทั้งอเมริกา (และบางทีอาจรวมถึงทั้งโลกที่เข้าถึงได้) รอดูฉากจูบกันระหว่างตััวละครที่เป็นเกย์สองคน คือแจ็คกับอีธาน โดยมีการประกาศว่าจะเกิดขึ้นในตอนหนึ่งของ Dawson’s Creek (ดูฉากนี้ได้ที่นี่) แต่ปรากฏว่า ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบอีกแบบหนึ่ง นั่นคือเป็นจูบที่เกิดขึ้นแบบผ่านๆ เร็วๆ ไม่ใช่จูบที่ ‘มีความหมายและทรงพลัง’ แบบเดียวกับจูบของรักต่างเพศทั้งหลาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สังคมอาจมีความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศไปไกลกว่าที่ผู้ผลิตซีรีส์เมนสตรีมทั้งหลายคาดเอาไว้

ถัดจากนั้นอีกสองปี ก็เกิดซีรีส์เกี่ยวกับเกย์ที่จริงจังมากขึ้นมา ได้แก่ Queer as Folk ซึ่งเริ่มต้นด้วยเวอร์ชันอังกฤษก่อน ตามด้วยเวอร์ชั่นอเมริกัน เวอร์ชันอังกฤษมีความ ‘แคบ’ หรือมีลักษณะที่เป็น Niche Market มากกว่า แต่พอเป็นเวอร์ชั่นอเมริกันแล้ว Queer as Folk กลับเป็นที่นิยมในวงกว้างจนเรียกได้ว่าเป็นซีรีส์เมนสตรีม

ในปี 2003 เกิดรายการใหม่ชื่อ Queer Eye for the Straight Guy ที่เกย์มาสอนผู้ชายแต่งตัว แล้วในปี 2009 หลัง  Will & Grace จบลงไปไม่กี่ปี ก็เกิดซีรีส์อย่าง Modern Family และ Glee ซึ่งมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงรายการแข่งขันของเหล่าแดร็กควีนอย่าง RuPaul’s Drag Race ด้วย

จะเห็นได้ว่า ต้ังแต่ยุคเก้าศูนย์เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในสื่อกระแสหลักไม่น้อยทีเดียว โดย Will & Grace ถือเป็นตัวผลักดันแรกๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นมา

 

อ้างอิง

https://www.csub.edu/~rdugan2/SOC%20577%20Pop%20Culture/decoding%20will%20and%20grace.pdf

https://pdfs.semanticscholar.org/f703/4c9cacc6de0c32338f7c3be27c5551744e55.pdf

https://www.yourtango.com/2018314472/impact-will-and-grace-lgbtq-culture-and-mainstream-media

https://www.eonline.com/news/883813/how-will-grace-paved-the-way-for-gay-characters-on-tv

https://newrepublic.com/article/145045/will-and-grace

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save