fbpx
คน vs หุ่นยนต์ : ความหวังและข้อกังวลบนโลกอนาคต

คน vs หุ่นยนต์ : ความหวังและข้อกังวลบนโลกอนาคต

จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

-1-

 

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์สามารถจดจำใบหน้า ทำความเข้าใจกับรูปภาพ เข้าใจคำสั่งด้วยเสียง แปลภาษา รวมทั้งสามารถเอาชนะผู้เล่นโกะที่เก่งที่สุดได้

หลายคน (รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขาด้วย) คาดการณ์ไม่ถึงว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป มีปัจจัยเบื้องหลังสองประการใหญ่ๆ ที่เอื้อต่อพัฒนาการนี้

ข้อแรก คอมพิวเตอร์พัฒนาประสิทธิภาพแบบทวีคูณ กอร์ดอน มัวร์ อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี ค.ศ.1965 ว่าจำนวนทรานซิสเตอร์ (อุปกรณ์พื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ดิจิทัล) ภายในหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ สองปี  ภายใต้การพัฒนาแบบทวีคูณนี้ เราจะพบว่าเมื่อพิจารณาคุณสมบัติของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมไปถึงสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ไม่ว่าด้านประสิทธิภาพในการคำนวณ ขนาดความจุของฮาร์ดดิสก์ หรือขนาดหน่วยความจำ ล้วนแต่มีคุณสมบัติสูงกว่าอุปกรณ์เดียวกันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาแบบไม่เห็นฝุ่น

พัฒนาการแบบทวีคูณนี้ เมื่อมองระยะสั้นจะพบว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ไม่ต่างจากกรณีพลังของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนทบต้น มนุษย์เรามักคาดการณ์ผลของการเปลี่ยนแปลงระยะยาวจากพัฒนาการแบบทวีคูณได้ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก

ข้อสอง เทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูลสมัยใหม่ ทั้งการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้มีข้อมูลดิบจำนวนมหาศาลที่นักวิจัยสามารถนำมาใช้ฝึกสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ทำงานต่างๆ ได้ เช่น การแปลภาษา หรือการจดจำรูปภาพ พบว่าความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ จะเริ่มอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้เมื่อมีข้อมูลฝึกสอนที่มากพอถึงระดับหนึ่งเท่านั้น

เมื่อข้อมูลในการฝึกสอนมีมากพอ พร้อมๆ กับที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการประมวลผลเริ่มมีประสิทธิภาพที่สูงพอ การปฏิวัติด้านปัญญาประดิษฐ์ก็เริ่มต้นขึ้น และแทบไม่มีใครมองเห็นปลายทางของการเปลี่ยนแปลงนี้ในระยะอันใกล้

 

-2-

 

เมื่อเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ดีพอ และต้นทุนในการบำรุงรักษาลดลงมากพอ ความจำเป็นทางธุรกิจจะผลักดันให้มีความพยายามในการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนมนุษย์  นอกจากนี้เครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ยังมีบทบาทในการขยายโอกาสในการเข้าถึงความชำนาญบางอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์มีจำนวนไม่มากพอ ยกตัวอย่างเช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่วิเคราะห์โรค โดยอาศัยการอ่านข้อมูลจากสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เพิ่มเติมราคาถูก อาจช่วยให้มีผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

ขอบเขตความสามารถของคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ขยายออกไปเรื่อยๆ งานที่มีความซ้ำซากจำเจ และมีขั้นตอนที่ชัดเจน มักเป็นเป้าหมายระดับต้นๆ ของการถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่งานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น งานของแพทย์ที่วินิจฉัยโรคจากฟิล์มเอกซ์เรย์ รวมถึงงานที่ถูกจัดว่าใช้ความคิดสร้างสรรค์ระดับสูง เช่น การประพันธ์เพลง ก็ยังอยู่ในกลุ่มที่อาจถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่องานไม่ยากเกินความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ และเมื่อเงื่อนไขทางธุรกิจเหมาะสม ก็ยากจะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นถ้ามองไปในอนาคตข้างหน้า อาจพูดว่าไม่มีงานใดปลอดภัย

 

-3-

 

แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จนในไม่กี่ปีข้างหน้ามนุษย์จะกลายเป็นแค่ถ่านไฟฉายชีวภาพผลิตไฟฟ้าให้กับเครื่องจักร

แม้แต่ในโกดังหนังสือของบริษัทที่พยายามลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด เช่น Amazon ก็ยังไม่สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่หยิบจับหนังสือบรรจุลงกล่องได้ดีเท่ากับมือของพนักงานมนุษย์ หุ่นยนต์ในโกดังดังกล่าวจึงทำหน้าที่โยกย้ายชั้นหนังสือ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์ในการหยิบสินค้าลงบรรจุกล่อง ในปัจจุบันนี้ ความสามารถและความยืดหยุ่นในการทำงานเชิงกลไกของร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทดแทนได้ ขณะที่โลกของการคิดและให้เหตุผล ปัญญาประดิษฐ์ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาอีกมาก

แม้ว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘วัตสัน’ จากบริษัทไอบีเอ็ม จะชนะการแข่งขันตอบคำถามในเกมโชว์ Jeopardy แต่เราจะพบว่า แม้วัตสันจะมีความแม่นยำด้านข้อมูลมาก วัตสันก็มีปัญหาในการเข้าใจบริบทหรือความรู้ที่อยู่ในโลก เช่น เมื่อถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาของนักกีฬายิมนาสติกคนหนึ่ง ถึงวัตสันจะมีข้อมูลเกี่ยวกับนักกีฬาคนดังกล่าว แต่มันกลับไม่เข้าใจว่าการไม่มีขาเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับมนุษย์

ในปี 1954 นักจิตวิทยา พอล มีล ได้ยกตัวอย่างการคาดการณ์โดยใช้สถิติ ซึ่งอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดว่า มีคนคนหนึ่งไปชมภาพยนตร์ทุกๆ วันศุกร์มาโดยตลอด ถ้าพิจารณาจากสถิติ เราก็มักจะทำนายว่าในวันศุกร์นี้ คนคนนั้นก็น่าจะไปชมภาพยนตร์เช่นเคย อย่างไรก็ตาม ถ้ามนุษย์ทราบว่าเธอขาหัก มนุษย์แทบทุกคนก็น่าจะเปลี่ยนการทำนายว่าเธอจะไม่ไปชมภาพยนตร์ในวันศุกร์นี้แล้ว เมื่อพิจารณาจากมุมของนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ การให้เหตุผลของมนุษย์ในกรณีนี้ ใช้ความรู้ความเข้าใจหลายอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำนายว่าเธอจะไปชมภาพยนตร์หรือไม่ ความเข้าใจเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มนุษย์ได้มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริงๆ ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์อาจยังไม่ทราบว่าจะไปหามาโดยตรงได้อย่างไร

เมื่อเราจินตนาการถึงอนาคต เราอาจนึกถึงปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และเรียนรู้รอบด้านไม่ต่างจากมนุษย์ เมื่อเทียบกับปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะทาง ระบบที่มีความสามารถรอบด้านดังกล่าวจะถูกเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไป (Artificial General Intelligence หรือ AGI)

แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์แบบเฉพาะทางจะแสดงศักยภาพที่น่าตกตะลึง นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ยังมีความเห็นตรงกันว่า ในปัจจุบันสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ทำได้ ยังอยู่ห่างไกลจากปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไปมากนัก รวมทั้งนักวิจัยหลายกลุ่มก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ไปในทิศทางดังกล่าวด้วย

ในแบบสอบถามที่ให้นักวิจัยแนวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์คาดการณ์ว่า เมื่อใดที่ปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถระดับมนุษย์ คำตอบที่ได้มีขอบเขตตั้งแต่อีก 10 ปีข้างหน้า จนถึง 200 ปีข้างหน้า โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่อีก 80 ปีข้างหน้า

 

-4-

 

ดังนั้น ในอนาคตที่พอจะมองเห็นกันได้นี้ แม้ว่ามนุษย์เราจะยังไม่ต้องกังวลกับปัญญาประดิษฐ์แบบทั่วไปมากนัก แต่ลักษณะการทำงานของมนุษย์จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

มนุษย์จะเริ่มทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ในการทำงานร่วมกันนี้ปัญญาประดิษฐ์จะมีระดับการตัดสินใจที่มากขึ้น โดยอาจจะมีอำนาจในการตัดสินใจใกล้เคียงมนุษย์ที่ทำงานด้วย งานที่มีความเสี่ยงและน่าเบื่อแต่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรมากขึ้นเรื่อยๆ

มนุษย์อาจต้องนิยามชีวิตและการทำงานใหม่ ยุคสมัยที่เรียนเพื่อประกอบอาชีพเดียวตลอดชีวิตน่าจะหมดสิ้นไปแล้ว ชีวิตการทำงานอาจต้องนับรวมช่วงเวลาที่ใช้เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อย้ายตนเองไปมาภายในตลาดอาชีพ มนุษย์จะต้องเรียนรู้และเรียนที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เรียนที่จะปรับตัวในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลง ทิ้งร่องรอยของความพยายามในการปรับตัวให้กับเรา ยังไม่มีใครทราบว่าในชั่วชีวิตหนึ่งมนุษย์ทั่วไปจะเปลี่ยนตนเองไปมาได้กี่ครั้ง ไม่มีใครกล้ารับประกันว่าเมื่อเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งถัดๆ ไปจะง่ายหรือยากขึ้น

 

-5-

 

คำถามที่สังคมอาจต้องเริ่มคิดแล้ว ก็คือเราจะเคลื่อนตัวสู่อนาคตโดยประคองคนในสังคมให้ก้าวไปด้วยกันได้อย่างไร

อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า ไม่มีงานใดไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ในวันที่ความเหลื่อมล้ำของสังคมสูงมากจนทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และบางคนอาจได้รับความลำบากทางอาชีพอย่างสาหัส เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

ในโลกที่ผลิตภาพ (productivity) สูงขึ้นเรื่อยๆ เราอาจพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก และเราอาจต้องเริ่มจินตนาการถึงสังคมที่มนุษย์เริ่มทำงานน้อยลง แต่ใช้เวลาเพื่อสิ่งอื่นๆ ที่มีประโยชน์และคุณค่ามากกว่างานประจำ โลกดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้คนมีเวลาที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนความชำนาญ และเพื่อเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมกับความถนัดและตลาดงาน

บางครั้งเหล่านักเทคโนโลยีก็แอบฝันว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคตอันใกล้ อาจพาสังคมไปสู่สถานการณ์ที่มีทางออกไม่มากนัก นอกจากการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แทนที่จะเป็นกลจักรสร้างความเหลื่อมล้ำเช่นปัจจุบัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save