fbpx
วิกฤตโรคอุบัติใหม่กับการค้าสัตว์ป่า

วิกฤตโรคอุบัติใหม่กับการค้าสัตว์ป่า

เพชร มโนปวิตร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

กลายเป็นโรคระบาดที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งโลกกับไวรัสโคโรนาที่มีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 5 พันคนและมีผู้เสียชีวิตทะลุ 100 คนไปแล้ว (29 ม.ค.) นาย Fu Gao อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรคของจีนออกมายอมรับว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019-nCoV มีต้นกำเนิดมาจากตลาดค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเมืองอู่ฮั่น ที่มีประชากรราว 11 ล้านคน จนทำให้จีนต้องออกมาประกาศปิดตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วประเทศชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอย่างหนัก

ยังไม่ชัดเจนว่าต้นกำเนิดของไวรัสมาจากสัตว์ชนิดไหน งานวิจัยแรก ระบุว่างูน่าจะเป็นแหล่งต้นตอของไวรัสชนิดนี้ ในขณะที่บางงานวิจัยชิ้นต่อมาพบว่าเชื้อไวรัสมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมงกุฎเทาแดงในสกุล Rhinolophus แต่ไม่ว่าจะเป็นงู หรือค้างคาว ความจริงปัญหาของโรคอุบัติใหม่ไม่ได้อยู่ที่สัตว์ป่า เพราะเราทราบกันมานานแล้วว่ามีไวรัสมากมายที่อาศัยอยู่ในสัตว์ป่าโดยไม่ได้เป็นอันตรายต่อตัวสัตว์ หรือสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การนำสัตว์ป่าต่างสายพันธุ์มาไว้รวมกันอย่างผิดธรรมชาติของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำให้เชื้อไวรัสมีการถ่ายทอดไปมาระหว่างสัตว์พาหะชนิดต่างๆ (Zoonotic transmission) และมีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับมนุษย์ จนเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นโรคระบาดคร่าชีวิตมนุษย์มากมายในที่สุด แน่นอนว่านี่ไม่ใช่กรณีแรก และจะไม่ใช่กรณีสุดท้ายหากเรายังปล่อยให้มีการใช้ประโยชน์สัตว์ป่าในลักษณะเช่นนี้ต่อไป

มีคำกล่าวในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติว่าประเทศจีนคือหลุมดำที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของโลก สำหรับผู้ที่ติดตามปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ คำกล่าวดังกล่าวเป็นจริงอย่างที่สุด เพราะหากติดตามดูเส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าหลักๆ ทั้งหมดดูแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่าถนนทุกสายล้วนมุ่งหน้าสู่ประเทศจีน

“ความเชื่อและค่านิยมที่ฝังลึกมาเป็นพันๆ ปีของคนจีนในการบริโภคสัตว์ป่า และการใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่ามาทำยาแผนโบราณ บวกกับจำนวนประชากรภายในประเทศกว่าพันล้านคน คือสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความต้องการใช้สัตว์ป่าในปริมาณมหาศาล ตัวอย่างเช่น ลิ่นนับหมื่นๆ ตัวที่ขนมาจากมาเลเซีย งูและเต่าน้ำจืดเป็นตันๆ ส่งทางเครื่องบินจากอินโดนีเซีย งาช้างแกะสลักจากไทย กระดูกเสือจากพม่าและจีน หูฉลามและม้าน้ำจากทั่วโลก จุดหมายปลายทางแทบทั้งหมดของสินค้าเหล่านี้อยู่ที่เมืองจีน ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าที่นี่เป็นตลาดค้าขายสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ดร.อลิซาเบธ เบนเนตต์ รองประธานฝ่ายอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) กล่าว

เศรษฐกิจของจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของคนจีนเติบโตตามไปด้วย และนั่นก็ยิ่งเป็นแรงหนุนให้ตลาดค้าสัตว์ป่าทั้งในส่วนที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายคึกคักเป็นพิเศษ และทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่มีราคาสูงเช่น เสือโคร่ง เต่าทะเล งาช้าง และหัวนกเงือก ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้สัตว์หลายชนิดแทบจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเช่นกรณีของนกชนหิน (Helmeted Hornbill) นกเงือกหายากที่ถูกไล่ล่าจนแทบหมดป่าเพราะถูกนำหัวไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและเครื่องบูชา

“องค์ประกอบหลักที่ทำให้การค้าสัตว์ป่าในจีนเฟื่องฟูมาก เป็นเพราะนโยบายหลักของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งผู้บริหารและผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างไม่สนใจที่จะควบคุมการค้าสัตว์ป่า ทำให้พ่อค้าหรือตัวแทนนำเข้าสัตว์ป่าดำเนินการกันอย่างได้ใจ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภคก็ไม่ได้รู้สึกว่าการกินสัตว์ป่า สัตว์แปลก หรือยาแผนโบราณจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศได้อย่างไร” ฮอง ฟาน อาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งอธิบาย

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่าโรคระบาดคร่าชีวิตอันเป็นผลจากการค้าสัตว์ป่า ได้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่คุกคามความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสุขอนามัยของคนทั่วโลก” แมรี่ เพิร์ล เจ้าหน้าที่ประจำองค์กร Wildlife Trust แห่งสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็น

การแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือโรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome – SARS) เมื่อปี 2003 ทำให้มีผู้ติดเชื้อใน 26 ประเทศกว่า 8,000 รายและมีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจทั่วโลกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นเครื่องยืนยันที่สำคัญว่าการค้าสัตว์ป่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคร้ายคร่าชีวิตชนิดใหม่ๆ เพราะมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเชื้อโรคซาร์ส มีต้นตอการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมาจากค้างคาว โดยมีสัตว์ในกลุ่มชะมดอีเห็นเป็นตัวกลางที่ส่งต่อเชื้อโรคจากค้างคาวมายังมนุษย์อีกทอดหนึ่ง เพราะยังมีการค้าขายชะมดอีเห็นเพื่อการบริโภคในประเทศจีนอย่างแพร่หลายแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม

ในกรณีไข้หวัดนกก็เช่นกัน องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศทำการควบคุมตลาดค้านกป่าผิดกฎหมาย และการนำเข้านกจากต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าตลาดค้านกป่าเหล่านี้นี่เองที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อไวรัสอันตราย เพราะมีการจับนกในธรรมชาติมากักขังรวมกันอย่างหนาแน่นในสภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมชาติ จึงเป็นโอกาสให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในนกแต่ละชนิดมีการแลกเปลี่ยนและกลายพันธุ์เป็นเชื้อโรคที่อันตรายได้

แมรี่ยกตัวอย่างเสริมว่า “นอกจากโรคซาร์ส (ติดจากชะมด) เอดส์ (ติดจากชิมแปนซี) และอีโบล่า (ยังไม่รู้ต้นกำเนิด แต่คาดว่าติดจากลิงที่เป็นพาหะ) ที่เรารู้จักกันดีแล้ว ย้อนกลับไปเมื่อปี 1999 การค้านกจากประเทศแถบตะวันออกกลางยังเป็นตัวการทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสเวสไนล์อย่างรุนแรงในสหรัฐอเมริกาโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค ตอนนี้เชื้อโรคดังกล่าวได้ระบาดไปทั่วประเทศ และเริ่มกระจายลงไปถึงอเมริกากลางแล้ว ที่ผ่านมาเชื้อเวสไนล์ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 500 รายจากจำนวนผู้ติดเชื้อโรคกว่า 12,000 คนในสหรัฐอเมริกา”

นักอนุรักษ์ชั้นนำและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยอีก 10 ประเทศได้เคยออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล และองค์การนานาชาติ ให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดในยุคปัจจุบัน โดยได้เรียกร้องให้

 

  • มีการให้ความรู้แก่สาธารณชนอย่างทั่วถึงเกี่ยวความสัมพันธ์ของการค้าสัตว์ป่าและการแพร่ระบาดของโรค
  • มีระบบการตรวจสอบสภาพสัตว์ป่าที่ถูกค้าขาย และเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ป่า
  • เพิ่มมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ
  • ปรับปรุงกฎหมายให้เข้มแข็ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อปราบปรามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า
  • สนับสนุนงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสัตว์ชนิดต่างๆ

 

กลุ่มองค์กรอนุรักษ์ที่ทำงานในประเทศจีนเห็นว่ายุทธศาสตร์สำคัญเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในระยะยาวต้องเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก นอกจากนี้ก็พยายามเน้นการควบคุมจุดที่เป็นการค้าสัตว์ป่าแหล่งใหญ่เช่น แหล่งจำหน่ายยาแผนโบราณ และตลาดขายสินค้าตามแนวชายแดนตั้งแต่บริเวณที่เชื่อมต่อกับอินเดีย เนปาล พม่า ลาว เวียดนาม ไปจนถึงรัสเซียทางตอนบน

แม้จะเป็นงานที่ต้องอาศัยความพยายามอย่างหนัก แต่จากกรณีการระบาดของโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนกในอดีต จนมาถึงกรณีโรคไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นรัฐบาลจีนสั่งปิดตลาดค้าสัตว์ป่าหลายแห่งอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าการควบคุมขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากรัฐบาลจีนเล็งเห็นความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจัง

“ถ้าเราหยุดความต้องการของจีนได้ ปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่เหลือก็ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันโรคอุบัติใหม่ แต่ยังช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติทั่วโลก” ดร.อลิซาเบธ เบนเนตต์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่ผ่านมานักอนุรักษ์พยายามชี้ให้ทุกคนเห็นถึงผลกระทบของการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่มีต่อระบบนิเวศ ต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่ามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ กรณีวิกฤติโรคระบาดร้ายๆ เช่นไวรัสโคโรนาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด และทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาจัดการกับปัญหาเรื้อรังนี้เสียที เพราะถึงที่สุดแล้วผลกระทบจากขบวนการค้าสัตว์ป่านั้นใกล้ตัวกว่าที่คุณคิดมาก

 

อ้างอิง

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย สงครามไม่รู้จบ. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 236 ตุลาคม 2547

China’s CDC says coronavirus linked to illegal wildlife trade. Sustainability Times. 22 Jan 2020

China temporarily bans wildlife trade in wake of outbreak. Washington Post. 26 Jan. 2020

Discovery of a novel coronavirus associated with the recent pneumonia outbreak in humans and its potential bat origin. BioRxiv 23 Jan 2020

Homologous recombination within the spike glycoprotein of the newly identified coronavirus may boost cross‐species transmission from snake to human. Journal of Medical Virology. 22 Jan 2020

It’s time to permanently ban wildlife trade. China Daily. 27 Jan 2020

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save