fbpx

“คนหากิน-สัตว์หากิน” สร้างเมืองใหญ่ที่ทุกชีวิตอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนกัน

สัตว์ในเมือง

… เมืองนั้นมีความศิวิไล เมื่อมีป่าไม้ต้นน้ำลำธาร

มีนกกาหากินบินว่อน เหลือแม่ลูกอ่อนมีนมให้ลูกกิน

คนหากินสัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

ต้นไม้งามคนงดงาม งามน้ำใจไหลเป็นสายธาร

ชุบชีวิตทุกฝ่ายเบิกบาน มีคนมีต้นไม้ มีสัตว์ป่า”


เพลงชีวิตสัมพันธ์ ของคาราบาวเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แต่จนถึงบัดนี้เนื้อหาก็ยังร่วมสมัย

มันพูดถึงความงดงามของธรรมชาติในอดีตที่ปัจจุบันกำลังเสื่อมถอยแห้งเหี่ยวด้วยฝีมือมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างป่าไม้ สัตว์ ไปจนถึงคนเมือง ซึ่งผูกโยงพึ่งพาอาศัยกัน แฝงไว้ด้วยความสำคัญของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อ ‘ชุบชีวิต’ ทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเบิกบาน

ผ่านไปหลายสิบปี สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยโดยรวมไม่ได้ดูดีขึ้นสักเท่าไหร่ คล้ายว่าอาณาเขตเมืองยังคงขยายตัวรุกรานดินแดนป่าไม้และถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ต่อเนื่อง ทำให้สัตว์บางส่วนถ้าไม่ล้มหายตายจาก ก็จำต้องโยกย้ายเข้ามาอาศัยในป่าคอนกรีตอย่างไม่มีทางเลือก — จำเพาะเจาะจงแค่ในเมืองหลวงเช่นกรุงเทพฯ ภาพนกพิราบเดินรวมกลุ่มบนทางเท้า กระรอกวิ่งพล่านตามสายไฟ ตัวเงินตัวทองว่ายในลำคลอง กลายเป็นหนึ่งในภาพชินตาของชาวเมืองกรุงไปตั้งแต่เมื่อใดก็มิอาจทราบ

เมื่อพื้นที่ในเมืองทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่มนุษย์เป็นเจ้าของ แต่ยังมีสารพันสัตว์เข้ามาร่วมจับจอง ขอแบ่งปันเป็นประชากรส่วนหนึ่ง 101 จึงตั้งคำถามสามข้อใหญ่ ชวนคิดชวนคุยกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว และ รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่าและกรรมการสมาคม Save Wildlife Thailand (SWT) ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์สัตว์ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เหตุผลที่เราต้องหันมาใส่ใจสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ และเมืองแบบไหนที่จะโอบรับความหลากหลายต่างเผ่าพันธุ์

ในวันที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญความแปรปรวนของธรรมชาติชนิดไม่มีใครสามารถคาดการณ์อนาคต ไม่แน่ว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์อาจเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ รอบบ้านเราก็ได้

รุจิระ มหาพรหม และ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

คำถามที่ 1 – สัตว์ในเมืองกรุง คุณนึกถึงอะไร?


“เวลาพูดถึงสัตว์ในเมือง หลายคนอาจจะบอกว่าคิดถึงเหี้ยไหม คิดถึงนกพิราบ คิดถึงกระรอกไหม เราอยากจะบอกว่าก็คิดถึงทั้งหมด” แม้คำตอบในใจสรณรัชฎ์จะมีหลายอย่าง แต่ถ้าให้เลือกตัวที่เป็น ‘ดาวเด่น’ ก็คงหนีไม่พ้น ‘ตัวเหี้ย’

“ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ เหี้ยนี่กระโดดขึ้นมาก่อนเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัตว์สัญลักษณ์ ไอคอนของกรุงเทพฯ ที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน เราคิดว่ามันเจ๋งมากที่เรามีสัตว์ที่ทั่วโลกพูดถึงมันว่าเป็นมังกร เหมือนโคโมโดดรากอน แต่นี่เป็นบางกอกดรากอน”



สรณรัชฎ์กล่าวก่อนเสริมว่าอันที่จริง กรุงเทพฯ ยังมีสัตว์อื่นๆ ที่น่าสนใจมากมาย ลำพังแค่นกก็มีทั้งนกกางเขน นกเค้า นกแสก นกตีทอง กระทั่งนกแก้วที่เหลือน้อยมากในเมืองหลวง หรือถ้าพูดถึงปลา ตัวที่โดดเด่นและน่าเสียดายมากคือปลากระโห้ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดเกล็ดใหญ่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เดิมมีถิ่นที่อยู่ประจำกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันกลับสูญพันธ์จากเมืองหลวงไปแล้ว

“เราเกิดและโตมาในใจกลางเมือง ย่านพร้อมพงศ์-ทองหล่อเคยเป็นทุ่งนา มีบ้านเดี่ยวๆ อยู่กระจัดกระจายกันไป มีบึงบัว หนองน้ำ มีปลาและงูหลากหลายชนิดมาก ตอนเด็กๆ เราอาจจะไม่มีความรู้มากพอจะตอบได้ว่ามีกี่ชนิด แต่จากประสบการณ์ตรง เรารู้สึกว่าเมื่อก่อนมีสัตว์มากมายยิ่งกว่านี้”

ความรู้สึกว่าสัตว์ทั้งหลายมีจำนวนลดน้อยลงของเธอถูกยืนยันด้วยการสังเกตจำนวนแมลงชีปะขาวใกล้บ้าน  “ชีปะขาวจะชอบอยู่ในน้ำสะอาด พอกลายเป็นแมลงมีปีกก็จะบินขึ้นมาจับคู่ผสมพันธุ์ มันจะบินพรึบเต็มไปหมด ขับรถไปจะเจอชีปะขาวปะทะเต็มกระจก แต่ ณ วันนี้ กระจกรถสะอาด แสดงให้เห็นว่าแมลงต่างๆ ลดจำนวนลง เราใช้ประสบการณ์ตรงเป็นตัวบ่งชี้คร่าวๆ อย่างหนึ่งเรียกว่า ‘กระจกรถ index’”  

แน่นอน ไม่ใช่แค่กระจกรถ แต่สรณรัชฎ์ยังสังเกตว่าซากสัตว์ที่ถูกล้อรถทับเช่น งู กบ คางคก ยังลดจำนวนลงจากอดีตเช่นกัน – ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าสัตว์รอดตายมากขึ้น แต่หมายถึงจำนวนสัตว์ในเมืองกำลังลดน้อยลงไปจนไม่เหลือออกมาป้วนเปี้ยนแล้วเสียต่างหาก

“บางอย่างก็ถือว่ามีมากขึ้นในกรุงเทพฯ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือนกขนาดใหญ่ เช่น แถวทุ่งลาดกระบัง ซึ่งปัจจุบันตัวทุ่งอาจน้อยลง พื้นที่ชุ่มน้ำอาจหดหายไปเยอะ แต่เราเห็นว่ามีนกกาบบัวเพิ่มขึ้น เพราะคนไม่ค่อยยิง ไม่ค่อยล่ากันแล้ว นกขนาดใหญ่เลยกลับมาอยู่กับเรามากขึ้น” สรณรัชฎ์เล่า

ด้านรุจิระเองก็เห็นด้วยว่าจำนวนสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนน้อยลง ทุกวันนี้สัตว์ที่ยังอยู่ได้คือผ่านการปรับตัวมาแล้ว เช่น ตัวเหี้ย เป็นสัตว์กินซากและอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ ก็ปรับตัวมาอยู่ตามคูคลอง กินสัตว์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเต่า ปลา หรือกระทั่งตัวเหี้ยด้วยกันเอง



“สัตวพวกนี้มักไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่สีเขียว ทั้งสวนสาธารณะหรือว่าพื้นที่สีเขียวในบ้านคนอื่น เพราะนั่นเป็นแหล่งอาศัยเดิมของเขา การเป็นเมืองมากขึ้น มีคนอาศัยมากขึ้น ทำให้เราอาจเจอสัตว์พวกนี้ได้บ่อยขึ้น แต่มันคงไม่ได้มีมากขึ้น

“การพัฒนาเมืองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สัตว์หายไป” รุจิระกล่าว “เมื่อก่อนหรือแม้แต่เดี๋ยวนี้เรายังมีสัตว์ที่อยู่ใกล้เมืองมาก มีนาก มีเสือปลา อยู่แถวสมุทรสาคร เพชรบุรี กระทั่งประจวบฯ แถวสามร้อยยอดก็มี แต่การที่เมืองพัฒนาไปมากขึ้น ซึ่งบางครั้งไม่ใช่แค่เมือง แต่มีพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วย ทำให้สูญเสียพื้นที่เดิมของสัตว์ สัตว์พวกนี้ก็เริ่มทยอยหายไป”

รุจิระมองว่าโครงสร้างพื้นฐานหลักของเมืองอย่างถนน เป็นปัจจัยหลักที่ทำลายความหลากหลายของสัตว์ เพราะเมื่อถนนตัดผ่านไปที่ใด เท่ากับว่ารถยนต์ก็ตามไปที่นั่น “สัตว์ที่ตายจากถนนที่เราใช้ไม่รู้ว่ามีเยอะขนาดไหน เรายังไม่เคยเก็บข้อมูล ประเทศไม่เคยศึกษาว่าการใช้ถนนกระทบกับสัตว์ข้างๆ ถนนมากน้อยแค่ไหน แต่ผมคิดว่าน่ากระทบค่อนข้างเยอะ

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องมลพิษหลายๆ อย่าง” สรณรัชฎ์เล่าเพิ่มเติม “อย่างมลพิษทางน้ำ แน่นอนว่าทำให้สัตว์ที่ต้องการน้ำสะอาดอยู่ไม่ได้ มลภาวะเสียงที่กระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ แล้วยังมีมลพิษของแสง เป็นเรื่องที่ทั่วโลกเพิ่งจะเรียนรู้ไม่นานมานี้ว่าผลกระทบของมันรุนแรงขนาดไหน แสงสว่างทำให้สัตว์กลางคืนหลงทาง เช่น นกฮูก นกเค้า นกหลายชนิดที่อพยพกันตอนกลางคืน ธรรมดาสิ่งที่เขาใช้นำทางคือแสงจันทร์ แสงดาว แต่พอเจอแสงสีในเมืองที่พร่าไปหมด ก็ชนอาคารต่างๆ ตาย ที่อเมริกาเก็บสถิติแล้วพบว่าจำนวนนกที่ชนกระจกอาคารตายมีมากถึงพันล้านตัวต่อปี

“หิ่งห้อย ผีเสื้อกลางคืน แมลงต่างๆ ที่เราต้องอาศัยเขาผสมเกสรก็ได้รับผลกระทบเยอะ กระทั่งค้างคาวที่เราอาจคิดว่าใช้คลื่นเสียงโซนาร์นำทาง ก็ยังมีค้างคาวบางชนิดที่ใช้สายตาตอนกลางคืนเช่นกัน”



เมืองคงไม่อาจนับว่าเป็นถิ่นที่น่าอยู่ของสรรพสัตว์มากนัก หลายครั้งที่แสง สี เสียง กระทั่งกิจกรรมของชาวเมืองกระทบวิถีธรรมชาติของพวกมัน และในทางกลับกัน บางครั้งพฤติกรรมของสัตว์ก็รบกวนความเป็นอยู่ของพวกเรา

กระนั้น ข้อเสนออย่างการกำจัดสัตว์ให้หมดไปจากเมืองของมนุษย์คงไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดยามที่เมืองยังคงเติบโตแผ่ขยาย เพราะนอกจากจะเป็นคำตอบที่เป็นไปไม่ได้ (หรือได้ แต่อาศัยการลงทุนและทรัพยากรจัดการมากมายจนอาจไม่คุ้มค่า) สองนักวิชาการยังยืนยันว่าสัตว์ – หรือความหลากหลายในเมืองช่างสำคัญต่อมนุษย์เราอย่างยิ่งยวด

เป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องปกป้องสัตว์น้อยใหญ่ให้ยังดำรงอยู่ได้ในป่าคอนกรีต   

สัตว์น้อยใหญ่ของกรุงเทพฯ ในอดีต

หากย้อนกลับไปหลายสิบหลายร้อยปี ก่อนกรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองใหญ่เช่นทุกวันนี้ ที่นี่เคยอุดมด้วยสิงสาราสัตว์หลากประเภท เช่น แรด ช้าง จระเข้ และสมัน ดังที่สรณรัชฎ์เล่าให้ฟังว่า :

“กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม (flat plain) เป็นทุ่งที่น้ำท่วม คำว่าทุ่งนี้หมายความว่ามีทั้งทุ่งหญ้าและป่า ทั้งป่าละเมาะแถวดอนเมือง ป่าน้ำท่วมที่มีไม้ตะเคียน คล้ายกับป่าดิบ ป่าพรุ แต่เป็นป่าพรุที่มีน้ำขึ้นน้ำลง ไม่ใช่น้ำขังตลอดเวลา ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำท่วมตามฤดูกาล

“พื้นที่ของกรุงเทพฯ อาศัยแม่น้ำหลายสายพัดพาตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ลงมาทับถมกันเรื่อยๆ ตั้งแต่อยุธยาลงมา ดังนั้นจึงเป็นดินค่อนข้างใหม่ และมีสารอาหารมาก ในเชิงภูมิศาสตร์ ยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ อย่างอ่าวไทย ซึ่งเป็นแนวชายฝั่งที่มีเอกลักษณ์มากๆ ของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ และอยู่ในจุดที่เป็นสะพานเชื่อมไปถึงแนวเส้นศูนย์สูตร กรุงเทพฯ จึงเป็นทางผ่านที่สำคัญมากของสัตว์ที่ต้องอพยพ

“ถ้าอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์จากบันทึกของฝรั่ง พวกมิชชันนารี หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เขาจะบอกว่าโอ้โห นกที่นี่เยอะมาก เดินทางมาทั่วโลกไม่เคยเห็นนกเยอะเป็นล้านๆ ตัวขนาดนี้มาก่อน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ หาจากที่อื่นไม่ได้ คือสมัน เป็นกวางอาศัยอยู่ในทุ่งกว้าง ต่างจากกวางในป่า เพราะมีเขาหลายชั้น นับว่าเป็นกวางที่เขาสวยที่สุดในโลก แต่มันก็ถูกล่าจนสูญพันธ์ไป น่าเสียดายมากเพราะมีแห่งเดียวเท่านั้นในโลก”

คำถามที่ 2 – ทำไมเราต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับสัตว์ในเมือง?


“ขอแบ่งเป็นเรื่องก็แล้วกัน” สรณรัชฎ์แจง “เรื่องแรกเลย เป็นเรื่องสุขภาพของเราเอง”

“ตอนนี้เราพบว่าเรามีปัญหากับชีวิตที่ถูกตัดขาดจากธรรมชาติ การที่เติบโตมาแล้วไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ รอบตัวหรือพื้นที่ธรรมชาติ มันส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ สุขภาพจิตของเรา”

หากพิจารณาว่าตั้งแต่อดีตกาล มนุษย์หรือโฮโมเซเปียนส์วิวัฒนาการมาจากลิงชิมแปนซีด้วยการคลุกคลีอาศัยในธรรมชาติร่วมกับสรรพชีวิตอื่น ร่างกายพัฒนามาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากว่าสองแสนปี แต่แล้วห้าสิบปีให้หลัง กลับตัดขาดจากสรรพสัตว์และธรรมชาติเพราะอิทธิพลของเทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรมรูปแบบใหม่ แน่นอนว่ามนุษย์เราย่อมมิอาจปรับตัวได้ทัน  

“คนก็เป็นสัตว์นะครับ” รุจิระเสริม “ลองสังเกตดูว่าทำไมเวลาคนเหนื่อยๆ ถึงอยากเข้าป่า อยากเข้าหาต้นไม้ ไปเที่ยวธรรมชาติ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณเดิมของสัตว์”

ที่สำคัญ ระบบนิเวศในธรรมชาติ ดิน หิน ต้นไม้ต่างๆ ยังเป็นแหล่งเติม ‘จุลชีพ’ ปรับสมดุลแก่ร่างกายของมนุษย์อีกด้วย ตามที่สรณรัชฎ์อธิบายว่า

“ตอนนี้เราตระหนักแล้วว่าในร่างกายของเราไม่ได้มีแต่เซลล์เท่านั้น มันยังมีจุลชีพ หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่นแบคทีเรีย หรือแม้แต่ไวรัสอยู่กับเรา ข้างในตัวเราเหมือนทะเลฉบับย่อที่ขึ้นมาเดินได้บนบก เป็นระบบนิเวศที่อาศัยจุลชีพที่หลากหลายเหล่านี้ช่วยให้เซลล์ของเราขับเคลื่อนกลไกการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ พอเราขาดความหลากหลายของจุลชีพ ก็เริ่มมีอาการป่วยไข้ ฟังก์ชันต่างๆ ของร่างกายไม่ดีเท่าเดิม”

ในทางการแพทย์จึงเริ่มมีการดูแลรักษาใหม่ๆ เช่น การสกัดจุลชีพจากอุจจาระคนสุขภาพดีมาทำเป็นยา “ทีนี้ เราอยากจะมีสุขภาพดีด้วยการกินอุจจาระคนอื่นหรือไปคลุกคลีกับธรรมชาติล่ะ” สรณรัชฎ์หัวเราะ


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์


เธอเล่าเพิ่มเติมอีกว่า การสัมผัสธรรมชาติ นอกจากช่วยเติมจุลชีพช่วยให้กลไกในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ยังเกี่ยวโยงแนบแน่นกับสุขภาพจิต เพราะการได้ใช้ประสาทสัมผัสอันละเอียดอ่อนตอบสนองต่อพื้นดิน หิน กลิ่นต้นไม้ใบหญ้า อากาศดีๆ สามารถลดความเครียดและเติมเต็มความรู้สึกของเรา ทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ธรรมชาติและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองเพื่อให้คนเมืองได้มีโอกาสเติมจุลชีพและเยียวยาจิตใจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พ่วงมากับประเด็นเรื่องสุขภาพและสารพันสัตว์คือโรคระบาด จากปรากฏการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาซึ่งเชื่อกันว่ามีต้นตอมาจากสัตว์นั้น กลายเป็นความกังวลของสังคมว่าถ้าปล่อยให้สัตว์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากเกินไป จะไม่เกิดวิกฤตโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่อีกหรือ

สรณรัชฎ์ให้คำตอบต่อความกังวลนี้ว่า “จริงๆ ถ้าคุณมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดี มีความสมดุลทางระบบนิเวศ จะสามารถช่วยสกัดกั้นโรคระบาดได้

“ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่อเมริกา เขามีไวรัสระบาดเรียกว่าโรค West Nile Disease เป็นไวรัสจากทางแอฟริกาแพร่เข้ามาโดยมียุงเป็นพาหะ พอระบาดไปเยอะ เขาก็พบว่าเมืองที่มีป่าในเมือง เป็นป่าจริงๆ นะ ไม่ใช่สวนสาธารณะแบบต้นไม้ไอติม จะไม่ค่อยระบาดเมื่อเทียบกับเมืองที่ไม่มีป่า”.. ซึ่งทางการทราบเหตุผลภายหลังว่าความหลากหลายของนกในเมืองมีส่วนสำคัญต่อการยับยั้งโรคระบาดมาก กล่าวคือไวรัส West Nile เป็นไวรัสในเลือดนกร็อบบินส์ เมื่อยุงกัดนกชนิดนี้ แล้วไปกัดคนต่อ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมา

ทว่า ในเมืองที่มีนกหลากหลาย ย่อมมีนกบางชนิดที่เลือดมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว เช่น นกบาทหลวง เมื่อยุงที่กัดนกร็อบบินส์มากัดนกบาทหลวง ไวรัสก็จะถูกระงับการแพร่เชื้อหรือหายไปในที่สุด



“เราจึงเชื่อยิ่งกว่าเชื่อว่าความหลากหลายทางชีวภาพจะช่วยรักษาสมดุลให้เอง การรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นประโยชน์แก่เรา มันช่วยไม่ให้อะไรมีมากเกินไป อย่างโรคระบาดหรือเชื้อโรคต่างๆ ช่วยได้แน่นอน” การทำลายความสมดุลของระบบนิเวศต่างหากที่จะทำให้โรคระบาดหลุดรอดมาถึงคน สรณรัชฎ์คิดเช่นนั้น

และนั่นนำมาสู่เหตุผลข้อที่สองว่าทำไมเราต้องใส่ใจสัตว์ในเมือง – เพื่อการรักษาประสิทธิภาพของระบบนิเวศ

“ความหลากหลายทางชีวภาพไม่ต่างกับอาชีพต่างๆ ในเมืองใหญ่ หรืออวัยวะต่างๆ ในตัวเรา ที่ประกอบกันแล้วจะทำให้ขับเคลื่อนระบบต่างๆ อย่างลื่นไหลต่อไปได้ แต่ ณ วันนี้เราทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ จนอยู่ในภาวะการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ของโลกครั้งที่ 6 ซึ่งครั้งสุดท้ายเป็นครั้งที่อุกกาบาตชนโลกแล้วไดโนเสาร์สูญพันธุ์ร่วมกับชีวิตหลายๆ อย่าง ตอนนี้เราเป็นผู้ทำให้เกิดการสูญพันธุ์นั้น โลกเราเปรียบเสมือนคนขาขาด ที่อยู่ได้ แต่แน่นอนว่าคุณภาพชีวิตไม่ดี ประสิทธิภาพไม่เจ๋งเท่าเดิม” สรณรัชฎ์กล่าว “แต่มันยังไม่สายเกินไป”

“มันยังไม่สาย มันหมายความว่าเราต้องเริ่มฟื้นฟูธรรมชาติ ความหลากหลายชีวภาพ สรรพชีวิตที่อยู่ร่วมกับโลก เพื่อให้เขาเป็นพลังขับเคลื่อนวงจรแร่ธาตุ สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อต่อชีวิต นี่คือความสำคัญของสัตว์ในเมือง เราไม่สามารถมีสัตว์เป็นแห่งๆ เฉพาะในอุทยานแห่งชาติแล้วล้อมรั้วปิด ไม่ได้ เราต้องฟื้นฟูธรรมชาติทุกหนทุกแห่งเท่าที่เราทำได้ตามสภาพเหมาะสม”

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์ความรู้การพัฒนาตนเองและสังคม สรณรัชฎ์ยืนยันหนักแน่นว่าการตัดขาดจากธรรมชาติและสรรพชีวิตอื่นๆ เท่ากับมนุษย์ตัดขาดจากขุมปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

“ตอนนี้เรามาถึงทางตันของการเรียนรู้จากคนด้วยกันเองแล้ว” เธอแสดงความเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นถัดไปต้องเจอในอีกหลายสิบปีต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นขยะ มลภาวะหลากหลายด้าน โลกร้อน สัตว์และพืชทยอยสูญพันธุ์ “มันเป็นโจทย์ให้คนรุ่นใหม่ว่าควรจะทำยังไงกับภาวะที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จะแก้ไขมันยังไง ซึ่งไม่มีทางที่คุณจะไปเอาปัญญาจากคนรุ่นก่อนได้ เพราะเราไม่เคยเจอ สิ่งนี้ทำให้เราต้องเริ่มไปหาปัญญาจากธรรมชาติ จากสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ”

สรณรัชฎ์ยกตัวอย่างถึงแนวคิดเทคโนโลยี ‘ชีวลอกเลียน’ หรือ biomimicry ที่เป็นหนึ่งในการเรียนรู้ภูมิปัญญาอันน่าทึ่งจากสัตว์ – คุณรู้หรือไม่ว่าแมงมุมสร้างใยแข็งแรงและเหนียวทนทานขนาดที่ว่าถ้าหนา 1 เซนติเมตร สามารถใช้ขึงและหยุดเครื่องบินซึ่งกำลังลงจอดได้ หรือในขณะที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลระเบิดหินปูนมาเป็นวัตถุดิบของปูนซีเมนต์ ปะการังกลับสร้างปูนซีเมนต์ได้สบายๆ โดยแทบไม่ต้องใช้พลังงาน

“มันมีความลับมากมายที่รอให้เราไปค้นพบ” สรณรัชฎ์เน้นย้ำ “แต่เราจะไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ถ้าเราไม่คิดถึงมัน ไม่สนใจมันเลย ถ้าคนถูกตัดขาดจากธรรมชาติ เด็กที่เติบโตมาจะได้สังเกต ได้เคารพ ได้ทึ่ง ได้ว้าวกับสิ่งรอบตัวจากไหน”



ในสังคมเมืองที่มีประชากรจำนวนมากจนพื้นที่อาศัย ‘แนวราบ’ ไม่เพียงพอและสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้คนซื้อบ้านเป็นของตนเองเท่าไหร่นัก หลายครอบครัวมักเปลี่ยนไปอาศัยในพื้นที่ ‘แนวตั้ง’ อยู่ในคอนโดสูงๆ ที่กินพื้นที่น้อยกว่าและตอบโจทย์กำลังทรัพย์มากกว่า สิ่งที่ตามมาคือการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น ‘เด็กคอนโด’ หรือเด็กที่เติบโตมาในห้องสี่เหลี่ยมบนตึกสูง ทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลงเพราะข้อจำกัดเรื่องสถานที่และการเดินทาง ว่าจะส่งผลต่อทักษะการใช้ชีวิตและการเรียนรู้เปลี่ยนไปหรือไม่

หากคิดตามมุมมองของสรณรัชฎ์ว่าการได้สัมผัสธรรมชาติ และมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย เยียวยาจิตใจ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย เช่นนั้นแล้วการรักษาระบบนิเวศและปกป้องสารพันสัตว์ในเมืองก็คงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องหันมาริเริ่มให้ความใส่ใจ – เริ่มตั้งแต่เลิกเข่นฆ่าหรือขับไล่ ทำความเข้าใจพฤติกรรมสัตว์ ไปจนถึงออกแบบเมืองใหม่ที่จะเกื้อกูลทุกชีวิตให้อยู่ได้

คำถามที่ 3 – เมืองแบบไหนที่ทำให้คนและสัตว์อยู่ร่วมกันได้?


ก่อนสนทนาถึงภาพใหญ่เรื่องการออกแบบเมือง เราทิ้งคำถามเล็กๆ ไว้ว่าคนกับสัตว์ควรมีเส้นแบ่งของการอยู่ร่วมกันหรือไม่ เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่ ‘แฮปปี้’ กับสัตว์ทุกชนิด

“จริงๆ แล้วผมว่ามันไม่ควรแบ่งนะ มันควรอยู่ร่วมกันได้” รุจิระแสดงความเห็น เขายกตัวอย่างบางบ้านที่มีสวนหรือปลูกต้นไม้ก็อาจพบเจอสัตว์เข้ามาขอพึ่งพิงเป็นปกติ ซึ่งถ้าเข้าใจในนิสัยและพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นจะพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย

“แต่เข้าใจว่าคนสมัยใหม่ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากอาจจะรู้สึกกังวล ผมจึงมองเรื่องการให้องค์ความรู้แก่คนทั่วไป หรือปรับให้มีการเรียนการสอนเรื่องสัตว์รอบตัวเราตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม เช่น ถ้ามีงูเข้าบ้าน เหี้ยเข้าบ้าน เราไม่ต้องทำอะไร แค่เปิดประตูทิ้งไว้เดี๋ยวเขาก็เลื้อยผ่านไป เพราะเขาหลงทาง เขาไม่รู้หรอกว่านี่เป็นบ้านคน ทุกที่มันเป็นที่ของเขาดั้งเดิม” รุจิระยังเพิ่มเติมด้วยว่าการเรียนรู้ธรรมชาติ ตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นทักษะสำคัญที่ทุกวงการอาชีพเริ่มให้ความใส่ใจ


รุจิระ มหาพรหม


ขณะเดียวกัน สรณรัชฎ์ก็เห็นพ้องว่าการให้การศึกษาจะเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากเมืองที่ไม่แคร์สัตว์ กลายเป็นเมืองที่อยู่ร่วมกับสัตว์ได้

“อย่างที่อินเดีย ความคิดและทัศนคติของคนอินเดียให้เกียรติสัตว์มาก มหาตมะคานธีบอกว่าตัวชี้วัดว่าประเทศไหนมีอารยธรรมมากน้อยแค่ไหนให้สังเกตว่าเราปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร[1] เวลาเราไปอินเดียจึงสนุกมาก มีนกแก้วเต็มไปหมด แถมมุมไบยังเป็นเมืองที่มีเสือดาวอยู่ ซึ่งเราก็หวั่นๆ นะ แต่ประเทศเขาก็ใช้วิธีอย่างที่เบสต์ (รุจิระ) ว่า คือให้การศึกษาแก่ประชาชน” สรณรัชฎ์เล่า อย่างไรก็ตาม เธอเข้าใจว่าการมีเสือในกรุงเทพฯ ออกจะเป็นเรื่องเกินตัวอยู่บ้าง

“แน่นอนว่าเมืองเป็นพื้นที่ของคน เราคงอยากออกไปเดินได้โดยไม่โดนเสือกัด ดังนั้นอาจไม่ถึงขั้นอยู่ร่วมกันแบบนั้น ยังมีแนวทางอีกหลายด้านที่เราทำได้ เช่น ที่เนเธอร์แลนด์ตอนนี้มีกฎหมายว่าถ้าคุณจะสร้างอาคารใหม่ ต้องมีการออกแบบอาคารที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกับสัตว์ชนิดต่างๆ ถือว่าก้าวหน้ามาก หรือนึกถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งเขาน้อมรับธรรมชาติมาอยู่ในเมืองในระดับปลอดภัย ยังมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าดีมากๆ”

มาถึงการออกแบบกรุงเทพฯ สรณรัชฎ์มองว่าโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตกอย่างแรกคือกรุงเทพฯ เป็นเมืองแบบไหน “กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่น้ำท่วมตามฤดูกาลโดยธรรมชาติ พลังขับเคลื่อนสำคัญคือพลังของน้ำ ถ้าตีโจทย์แตกว่าเราต้องอยู่เป็นเมืองสะเทินน้ำสะเทินบก แล้วออกแบบโดยน้อมรับพลังธรรมชาติแทนที่จะลงทุนต้านธรรมชาติที่ไม่ว่ายังไงเราไม่มีทางชนะ เราก็จะได้สิ่งที่เรียกว่านิเวศบริการ ได้น้ำดีๆ ได้ความเย็น ได้พลังงานจากการไหล” สรณรัชฎ์อธิบาย

“ดังนั้นเราควรจะมีคูคลอง แก้มลิง ซึ่งเวลาพูดถึงแก้มลิงต้องไม่ใช่แค่ที่กักเก็บน้ำเฉยๆ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีความลาดชัน มีพืชต่างๆ ให้เป็นบ้านของสัตว์” นอกจากใช้โจทย์ภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้งแล้วตามด้วยเรื่องสิ่งมีชีวิต เราอาจคำนึงถึงพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตก่อนออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ได้ด้วยเช่นกัน สรณรัชฎ์ยกตัวอย่างถึงปลากระโห้ที่สูญพันธุ์จากกรุงเทพฯ ไปแล้วว่าโดยปกติ ปลาชนิดนี้จะวางไข่บนพื้นที่ชุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายใหญ่ในฤดูน้ำท่วม หลังน้ำลดจะเหมาะเจาะพอดีกับที่ลูกปลาฟักตัว และว่ายกลับไปอยู่ในแม่น้ำได้ การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำจึงสามารถช่วยรักษาพันธุ์ปลาอันหลากหลายของกรุงเทพฯ และทำให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำ ซึ่งสามารถซับน้ำท่วม รวมถึงระบายออกได้อย่างรวดเร็ว

ด้านรุจิระเล่าข้อมูลเพิ่มเติมว่าคูคลองของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันมีจำนวนมากถึงหลักพัน แต่ระยะหลังกลับมุ่งพัฒนารอบข้างกลายเป็นแท่นปูนแทนตลิ่งตามธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น “แต่ถึงพัฒนาเป็นปูนแล้วน้ำก็ยังเหมือนเดิม นั่นต้องหาคำตอบแล้วว่าเพราะอะไร” รุจิระกล่าว

“ถ้าเราฟื้นฟูหรือแบ่งส่วนให้พื้นที่ริมคลองกลายเป็นพื้นที่สีเขียว สัตว์หรือความหลากหลายทางชีวภาพจะเพิ่มขึ้นตามคูคลองเหล่านี้ เหมือนในไต้หวัน ริมคลองของเขาพัฒนาให้มีทุ่งหญ้าข้างๆ สัตว์ก็มาใช้ประโยชน์ คนก็มาท่องเที่ยวได้ และคลองจำนวนมากควรเชื่อมกันทั้งหมด เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักด้วย”



การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นประเด็นที่รุจิระเน้นย้ำให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงจะมอบประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่คนเมืองด้วย เขาเชื่อว่ายังเหลือพื้นที่ในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งที่สามารถปรับภูมิทัศน์ให้มีต้นไม้มากขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นการเพิ่มต้นไม้บริเวณใต้ทางด่วน หรือทำเป็นเสาต้นไม้คู่ทางด่วนเหมือนประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถึงแม้ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านพืชพันธุ์เฉพาะด้านและการลงทุนอยู่บ้าง แต่รุจิระคาดว่าถ้าทำสำเร็จ นี่จะเป็นหนทางเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวในเมืองเข้าด้วยกัน และทำให้กลายเป็น ‘Green Urban’ ได้ในที่สุด

อนึ่ง นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น แนวคิดการแบ่งปันพื้นที่สีเขียวเช่นสวนสาธารณะให้สัตว์ใช้ร่วมกับมนุษย์ด้วยการแบ่งเขต (zoning) ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงแนวทางไว้สองแบบ – แบบแรกคือแบ่งพื้นที่ หากเป็นพื้นที่ที่เน้นให้มนุษย์ใช้งาน ก็อาจปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะกับกิจกรรมของมนุษย์ อย่างการตัดแต่งหญ้าให้เป็นระเบียบเหมาะแก่การนั่งปิกนิก การวิ่ง ขณะที่พื้นที่สำหรับสัตว์อาจมีพืชพันธุ์หลากหลายตั้งแต่พืชคลุมดิน ไม้พุ่ม ไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้เกิดนิเวศที่สมบูรณ์

แบบที่สองคือแบ่งช่วงเวลา – ทั้งแบ่งกลางวันกลางคืน และแบ่งเวลาในรอบหนึ่งปี ตอนกลางคืนบางที่อาจปิดไฟเพื่อให้สัตว์ได้ใช้เวลาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามธรรมชาติโดยไม่ถูกรบกวน และบางฤดูเช่นฤดูนกอพยพ เราอาจปิดการใช้งานพื้นที่บางส่วนเพื่อเอื้อเฟื้อให้สัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์ พักผ่อนระหว่างการเดินทางอันยาวไกล หรือเข้ามาวางไข่ขยายพันธุ์


กนกวลี สุธีธร


ในทำนองเดียวกัน ดังที่สรณรัชฎ์เล่าไว้ก่อนหน้านี้ – อเมริกามีนกบินชนอาคารตายจำนวนมากเพราะแสงไฟเรื่อเรืองของเมือง เธอจึงสนับสนุนให้มีการควบคุมมลภาวะแสงอย่างเร่งด่วน

“ที่สิงคโปร์จะมีแผนแม่บทในการออกแบบแสงไฟในเมือง เขาจะควบคุมไม่ให้แสงพร่าเกินไป ซึ่งแสงพร่าหมายถึงแสงที่ฟุ้งขึ้นไปบนท้องฟ้า ไม่ได้ส่องเฉพาะสิ่งที่เราต้องการเห็น กลายเป็นการเสียพลังงานไปเปล่าๆ ทำให้เราไม่เห็นดาว กระทบกับสุขภาพ นาฬิกาชีวิตคน โดยเฉพาะตอนนี้มีการพบว่าแสงไฟฟุ้งเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมกับผู้หญิงด้วย สัตว์เองก็แย่

“ถ้าเราจัดแสงไฟให้ดี คุมให้มันส่องเฉพาะสิ่งที่เราต้องการเห็น เราจะประหยัดพลังงานมหาศาล ลดคาร์บอน เป็นแนวทางที่ทำได้ทันทีและไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องผู้มีส่วนได้เสีย เพราะทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันหมด และนอกจากการออกแบบควบคุมไฟให้เราเห็นสิ่งที่ต้องการ ยังมีพื้นที่บางโซนที่เราคิดว่าไม่ควรมีไฟประดิษฐ์เลย เพื่อเป็นพื้นที่ให้สัตว์กลางคืนอยู่อย่างสงบ”



ท้ายที่สุดแล้ว สรณรัชฎ์กล่าวว่าการทำให้เมืองกลายเป็น ‘บ้าน’ อันน่าอยู่สำหรับทุกๆ คน (และทุกๆ ตัว) คงต้องใช้กลไกทางการเมืองและกลไกทางสังคมที่มีอยู่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน พัฒนาไปพร้อมกันทั้งการศึกษา กฎหมาย การสร้างความตระหนักในชุมชน รวมถึงมีกระบวนการให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างเมือง สะท้อนถึงปัญหาและความต้องการของตนเอง

“เราต้องการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และต้องการเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง ไม่ใช่แค่เมืองกรุงเทพฯ แต่ควรเป็นทุกหนทุกแห่ง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แม้ว่าอาจจะแก้ไม่ได้ง่ายๆ สักที่ แต่อย่างน้อยมันก็จะก้าวไปข้างหน้า”


หากจะมีอะไรสักอย่างเป็นจุดร่วมกันของคนเมืองและสัตว์ในป่าคอนกรีตอันแสนวุ่นวาย

เราทายว่าสิ่งนั้นน่าจะเป็นภาพเมืองในฝัน ที่ทำให้ทุกชีวิตอยู่ได้ – และอยู่ดี




[1] The greatness of a nation and its moral progress can be judged by the way its animals are treated (https://www.peta.org/features/gandhi/)

สัตว์ในเมือง

สัตว์ในเมือง

สัตว์ในเมือง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save