fbpx
จะมีลูกไปทำไมกัน!

จะมีลูกไปทำไมกัน!

รัฐออกมาสนับสนุนให้คนมีลูก แต่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยบอกว่าไม่! เราจะไม่มีลูกเป็นอันขาด เปล่านะที่รัก ไม่ได้ไม่อยากแต่งงานกับคุณ แต่แค่ไม่อยากมีลูกเท่านั้นแหละ ได้โปรดเข้าใจด้วย!

 

ปรากฏว่า-อีกฝ่ายก็เข้าใจอย่างดียิ่ง คือไม่มีฝ่ายไหนอยากมีลูกเลย โดยเฉพาะคนที่อยู่ใน ‘เจนวาย’ ซึ่งไม่ได้แปลว่าทั้งเจนเนอเรชันนี้จะเป็นหมันกันไปหมดแต่ประการใด เพียงแต่โดยเฉลี่ย คนรุ่นนี้มีลูกน้อยลง และในคนที่มีลูก ก็มีลูกช้าลงกว่าเดิมเยอะ

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

เหตุผลมีเยอะเลย อย่างแรกสุด ไอ้เจ้าคำว่า ‘ครอบครัว’ ในแบบเดิมๆ นั้น มันมี ‘บทบาทหญิงชาย’ แบบเดิมๆ มาเป็นกรอบกำหนดอยู่ด้วย เช่น เป็นผู้หญิงพอแต่งงานก็ต้อง ‘เป็นเมีย’ และ ‘เป็นแม่’ แต่ปัจจุบันคนไม่ได้คิดแบบนั้นกันแล้ว ผู้หญิงก็ต้องทำงานหาเงินงกๆ และต้อง ‘สร้างอาชีพ’ ของตัวเองขึ้นมาเหมือนกัน ผลก็คือ คนรุ่นใหม่เลยไม่ค่อยอยากแต่งงานหรือมีลูกสักเท่าไหร่ เพราะพูดตรงๆ -ลูกมีส่วนขัดขวางความก้าวหน้าในการงาน และถ้าชายหญิงไม่ได้เสมอภาคกันในเรื่องการดูแลลูก ความอยากมีลูกก็จะลดลง

ทีนี้พอไม่คิดจะมีลูก ก็ต้องทำมาหาเลี้ยงตัวเก็บเงินไว้ใช้สอยในตอนแก่ ทำให้เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไปเป็นการพึ่งพาตัวเอง ไม่ได้คิดจะให้ลูกมานั่งเลี้ยงยามแก่ ก็ยิ่งทำให้ภาวะไม่อยากมีลูกรัดแน่นขึ้น เพราะการมีลูกจะไปกระทบเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต เพราะก็ต้องยอมรับกันจริงๆ ว่า การมีลูกเป็นเรื่องที่ ‘แพง’ มากๆ

ถ้ามีลูก คนเจนวายนั้นเลี้ยงลูกไม่เหมือนคนสมัยก่อน เพราะสังคมเน้นการแข่งขันมากขึ้น ถ้าคิดจะมีลูก คนเจนวายจึงมักจะต้องเลี้ยงลูกให้เป็นเลิศ มีลูกน้อย (เช่นมีคนเดียวก็พอ) แต่ต้องเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ ทีนี้พอจะเลี้ยงอย่างมีคุณภาพ ก็แปลว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องสูงลิบลิ่วเป็นธรรมดา การมีลูกจึง ‘แพง’ และเป็น ‘ความแพง’ นี้เองที่ทำให้หลายคนไม่อยากมีลูก หรือไม่ก็ต้องรอให้พร้อมเสียก่อน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่!)

อ้าว! แล้วถ้าเป็นแบบนี้ รัฐควรจะทำยังไงให้คนเจนวายอยากมีลูกกันล่ะนี่?

คำตอบไม่ง่ายเลย เพราะการจะกระตุ้นให้คนมีลูก คือการยัดเยียดสภาวะแบบหนึ่งที่ไม่ได้เหมาะสมอะไรเลยกับ ‘วิถีชีวิต’ ของคนรุ่นใหม่

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ออกมาพูดว่ารัฐสนับสนุน หรือสนับสนุนโน่นนั่นนี่เล็กๆ น้อยๆ แล้วคิดว่าจะได้ผล แต่ต้องทำเป็นระบบ

มีงานวิจัยของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เสนอทางออกเป็นรูปธรรมเอาไว้ว่า ถ้ารัฐอยากให้คนมีลูกมากขึ้น ควรจะทำต่อไปนี้

หนึ่ง ให้คนเป็นแม่ได้ลาคลอดจริงจัง เช่น ลาได้ถึง 6 เดือน (ซึ่งก็นะ-จะเป็นไปได้หรือ)

สอง แม่ลายังไม่พอ ต้องให้พ่อลาได้ด้วย แต่อาจจะไม่ได้ลาได้ยาวนานเท่าแม่ แล้วการลาที่ว่า ก็ไม่ใช่ไปจำกัดอยู่เฉพาะคนที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น เพราะคนเจนวายจำนวนมากก็อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสอะไร

สาม นอกจากลาคลอดแล้ว ยังควรจะลาไปดูแลลูกได้เพิ่มด้วย เพราะลูกเพิ่งเกิดใหม่ ก็อาจจะเจ็บป่วยโน่นนั่นนี่ได้ พ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกต้องการเวลาในการดูแลลูกเพิ่มขึ้น

สี่ จัดศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่ดีมีคุณภาพให้ครอบคลุม พ่อแม่เจนวายส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวขยายมีพี่ป้าน้าอามาช่วยเลี้ยง ถ้ารัฐอยากให้คนมีลูก ก็ต้องทำเรื่องนี้ให้จริงจัง และต้องเข้าใจด้วยว่าคำว่า ‘มีคุณภาพ’ ต่างจากโรงทานอย่างไร

ห้า ไปผลักดันเอกชนด้วยให้สนับสนุนเรื่องนี้

หก จัดตั้งกองทุนครอบครัว ทำให้คนได้ ‘ประโยชน์’ ที่เป็นตัวเงินจากการมีลูก ในหลายประเทศ ลูกได้เรียนฟรี รัฐออกค่าใช้จ่ายหลายอย่างให้ ถ้าในไทยไม่ได้คิดทำเรื่องแบบนี้ให้เป็นระบบและมีแรงจูงใจมากพอ การอยากให้คนมีลูกเพิ่มก็เหมือนฝัน

 

ที่สำคัญ ทุกอย่างต้องไปด้วยกันแบบสอดประสาน ไม่ใช่หน่วยงานหนึ่งทำทีอีกหน่วยงานหนึ่งทำอีกที สุดท้ายก็จะไม่มีอะไรสำเร็จ

 

อ่านเพิ่มเติม

-งานวิจัย สกว. ไขปริศนา ทำไมคนเจนวายไม่อยากมีลูก จาก Knowledge Farm, 26 ตุลาคม 

-งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ โดย มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2559

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022