fbpx

ทำไมเศรษฐกิจรัสเซียถึงไม่ล่มสลาย แต่กลับกลายเป็นดีกว่าที่คาด?

นาทีที่รัสเซียส่งทหารเพื่อบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหล่ามหาอำนาจฟากตะวันตกก็สวนกลับโดยแสดงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจโดยประกาศคว่ำบาตรครั้งใหญ่ผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่การห้ามเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของเหล่ามหาเศรษฐีชาวรัสเซีย การห้ามผู้มีอิทธิพลที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเดินทางเข้าประเทศ การจำกัดการนำเข้าสินค้า เช่น วัตถุดิบและเชื้อเพลิงจากรัสเซีย พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้รัสเซียเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีด้านความมั่นคงและสารสนเทศล้ำสมัย รวมถึงการ ‘ลอยแพ’ ระบบการเงินของรัสเซีย โดยตัดธนาคารออกจากสารบบ SWIFT และการห้ามไม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของชาติตะวันตก

ในฟากฝั่งภาคเอกชนเอง แม้รัฐบาลจะไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออกจากรัสเซีย แต่หลายแบรนด์ต่างพร้อมใจยุติการดำเนินการหรือตัดสายสัมพันธ์กับรัสเซียโดยสมัครใจ ตั้งแต่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ รองเท้ากีฬา ร้านฟาสต์ฟูด ร้านเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงบริษัทรถยนต์ชั้นนำ

การจับมือโจมตีเศรษฐกิจรัสเซียครั้งนี้มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว คือสร้างแรงกดดันให้รัสเซียถอนกำลังทหารจากยูเครน และยุติความขัดแย้งที่รัสเซียเป็นฝ่ายเริ่ม

มหกรรมคว่ำบาตรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะร่วงหล่นสู่ภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง โดยในปีนี้จีดีพีของรัสเซียจะหดตัวลงสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ข้าวของภายในประเทศจะแพงขึ้น 20-25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินลงทุนจากต่างชาติจะลดลง 25-28 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรทั้งหลายกลับไม่ได้ผลอย่างที่คิด ล่าสุดไอเอ็มเอฟปรับประมาณการณ์ตัวเลขจีดีพีเป็นหดตัวเพียง 3.3-3.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะอยู่ที่ราว 12 เปอร์เซ็นต์ แม้ตัวเลขดังกล่าวจะถือว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นเรียกได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนในด้านเงินลงทุนจากต่างชาติคาดว่าจะลดลงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชวนให้อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่าทำไมเศรษฐกิจรัสเซียถึงไม่ล่มสลายแต่กลับกลายเป็นดีกว่าที่คาด?

หลากหลายปัจจัยที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ไม่ยอมล้ม

ถ้าประเทศไหนจะขึ้นแท่นผู้เชี่ยวชาญในการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ รัสเซียก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น

หากพิจารณา 25 ปีให้หลัง รัสเซียเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งหลายคราด้วยกันด้วยกัน ตั้งแต่การผิดนัดชำระหนี้ภาครัฐในปี 1998 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2008 การถูกคว่ำบาตรเนื่องจากการผนวกรวมพื้นที่ไครเมียในปี 2014 และราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปี 2020 ส่วนชาวรัสเซียคนไหนที่อายุเกิน 40 ปีก็คงจะมีความทรงจำอันเลวร้ายจากวิกฤติภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่เงินกลายเป็นเศษกระดาษ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันและทักษะในการรับมือและเอาตัวรอดเมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียโดนคว่ำบาตรจากมหาอำนาจโลกตะวันตก นับตั้งแต่การผนวกรวมพื้นที่ไครเมียในปี 2014 รัสเซียทราบดีว่าตนเองเสี่ยงจะโดนคว่ำบาตรในอนาคตจึงเดินหน้าเตรียมพร้อมสร้าง ‘ป้อมปราการ’ ทางเศรษฐกิจ ทั้งการสะสมเงินสดสำรองระหว่างประเทศมูลค่ามหาศาล การลดการพึ่งพาสินเชื่อจากชาติตะวันตก การโดดเดี่ยวบางอุตสาหกรรมให้อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า รวมถึงการสร้างระบบธุรกรรมระหว่างประเทศของตนเองที่ชื่อว่า SPSF เพื่อเป็นโครงข่ายหลังบ้านธนาคารที่สามารถใช้ทดแทนระบบ SWIFT ที่รัสเซียอาจถูกตัดขาดเพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ในมือพันธมิตรชาติตะวันตก แม้ว่าหลายมาตรการอาจต้องแลกมาด้วยการเติบโตที่ต่ำ แต่ก็ทำให้การถูกโดดเดี่ยวจากการคว่ำบาตรไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศมากนัก

นอกจากนี้ การกีดกันไม่ให้รัสเซียนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตก็ยังได้ผลเพียงช่วงแรกเท่านั้น เพราะไม่นานหลังจากโลกตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตร มูลค่าสินค้านำเข้าจากประเทศที่ยังคงทำมาค้าขายกับรัสเซีย อาทิ จีน เบลารุส และตุรกี ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวชี้วัดที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่ารัสเซียสามารถหาลู่ทางนำเข้าสินค้าจำเป็นจากตลาดแห่งใหม่ คือมูลค่าผลผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เดิมทีมีค่าเท่ากับ 0 ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังรัสเซียเผชิญการคว่ำบาตร แต่ปัจจุบันสามารถฟื้นกลับมาสู่ระดับปกติ

ส่วนการกีดกันสินค้าส่งออกของรัสเซียก็ยิ่งไร้ประสิทธิผล แม้ว่าหลายประเทศจะยุติการซื้อสินค้ารัสเซีย แต่น้ำมันและแก๊สธรรมชาติซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจกลับแทบไม่ถูกแตะต้อง ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งทำให้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในปีนี้รัสเซียมีรายได้จากการส่งออกร่วม 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องน่าขันขื่นที่คู่ค้าคนสำคัญคือสหภาพยุโรปยังต้องพึ่งพาแก๊สธรรมชาติปริมาณมหาศาลจากรัสเซีย

ตัวเลขการนำเข้าที่ลดลงแต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ดุลการชำระเงินของรัสเซียในปีนี้สูงที่สุดในรอบหลายปี เมื่อประกอบกับมาตรการควบคุมเงินตราระหว่างประเทศ และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง สามปัจจัยนี้ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง แม้ว่าช่วงแรกของการคว่ำบาตรค่าเงินรูเบิลจะอ่อนยวบจากราว 70 รูเบิลต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐเป็นร่วม 140 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนได้กลับมาอยู่ที่ 60 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อาจไม่ใช่ผู้นำที่ขึ้นชื่อเรื่องความเก่งฉกาจในการจัดการเศรษฐกิจ แต่เขาไว้ใจให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างเอลวีร่า เนบิอูลลิน่า (Elvira Nabiullina) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งรัสเซียที่มีอำนาจในการจัดการแบบเต็มมือ หลายต่อหลายครั้งที่นโยบายของเธอ เช่น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองเท่าตัวในชั่วข้ามคืน ย่อมทำให้สาธารณชนชาวรัสเซียไม่พอใจ แต่ผลลัพธ์ก็เป็นสิ่งยืนยันว่านโยบายเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจพังทลาย

แล้วเมื่อไหร่จะได้เห็นผลกระทบจากการคว่ำบาตร?

แน่นอนว่าการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกย่อมมีผลกระทบ แต่ผลกระทบที่ว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามวันและทำให้ให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนทันทีอย่างที่หลายคนต้องการ ในอดีต การคว่ำบาตรที่ประสบความสำเร็จเช่นการกดดันให้ประเทศลิเบียยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก็ยังต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าจะผลิดอกออกผล การกดดันทางเศรษฐกิจของชาติที่มีทรัพยากรมหาศาลอย่างรัสเซียก็คงต้องใช้เวลายาวนานไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของรัสเซียจะค่อนข้างสดใส แต่ความจริงแล้วไม่ต่างจากการกวาดสารพัดปัญหาแล้วซุกเอาไว้ใต้พรม

เรื่องแรกคือค่าเงินรูเบิล แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะนับว่าแข็งแกร่ง แต่ทั้งหมดคือภาพลวงตา เพราะความจริงแล้วมูลค่าเงินรูเบิลพุ่งขึ้นมาได้ขนาดนี้เพราะสารพัดมาตรการของธนาคารกลางในการควบคุมค่าเงิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ขายสกุลรูเบิลได้ยากขึ้น หรือการบังคับให้บริษัทภาคเอกชนในรัสเซียต้องขายสกุลเงินต่างชาติมาซื้อรูเบิลเท่านั้น อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันจึงอาจไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของพื้นฐานเศรษฐกิจรัสเซียอย่างที่หลายคนคิด

เรื่องที่สองคือ ถึงแม้รัสเซียจะสามารถนำเข้าสินค้าสำคัญจากตลาดแห่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่วัสดุอุปกรณ์บางอย่างก็อาจยังไม่เพียบพร้อมเช่นในอดีต รัสเซียต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางประการ เช่น การติดตั้งถุงลมนิรภัยและระบบเบรกกันล้อล็อกเพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไปต่อได้ อุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบรุนแรงคือเหล่าบริษัทที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ศูนย์ข้อมูล ระบบคลาวด์ ระบบชำระเงิน รวมถึงการขุดเจาะน้ำมัน ขณะที่อุตสาหกรรมการบินอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโดนยกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานและสัญญาบำรุงรักษา รวมทั้งไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ

เรื่องที่สามคือการส่งออกน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนจุดแข็งของรัสเซีย แต่ก็อาจกลายเป็นปัญหาสำคัญในระยะกลางและระยะยาว หลังจากที่ลูกค้ารายใหญ่อย่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรสามารถหาพลังงานแหล่งอื่นมาใช้ทดแทนแก๊สธรรมชาติได้ในอนาคต แม้เมื่อถึงตอนนั้นรัสเซียจะสามารถหาคู่ค้ารายใหม่ได้ แต่ก็จำเป็นต้องขายต่ำกว่าราคาตลาดเพราะอำนาจต่อรองที่ด้อยกว่า ยังไม่นับต้นทุนเรื่องการประกันภัยขนส่งที่อาจมีราคาสูงลิ่วเนื่องจากชาติตะวันตกที่เป็นเจ้าใหญ่ในตลาดเตรียมพร้อมที่จะคว่ำบาตรรัสเซียไม่ให้เข้าถึงอุตสาหกรรมดังกล่าว

ดังนั้นการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกใช่ว่าจะไร้เขี้ยวเล็บ แต่การทลายป้อมปราการทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่เตรียมพร้อมเผชิญหน้าวิกฤติครั้งนี้ย่อมไม่ง่ายและจำเป็นต้องใช้เวลา ในระยะสั้น รัสเซียจึงแทบไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แรงกดดันทางเศรษฐกิจให้ถอนกำลังจากยูเครนจึงนับว่าเบาบาง ชาติตะวันตกจึงต้องทำการบ้านอีกมากหากต้องการยุติสงครามด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ


เอกสารประกอบการเขียน

Why the Russian economy keeps beating expectations

As Europe falls into recession, Russia climbs out

Western sanctions will eventually impair Russia’s economy

Russia’s economy appears to be back on track

Why sanctions against Russia aren’t working — yet

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save